จากบันทึกของลูกชายในตอนที่แล้ว ชีวิตเด็ก ป.1 ญี่ปุ่นของผม ที่ต้องเรียนและเล่นในบ้าน จนถึงวันใส่หน้ากากไปโรงเรียน 

ตอนนี้คุณแม่จะขอเล่าภาคต่อว่า ชีวิตของนักเรียนญี่ปุ่นหลังจากเปิดเทอมแล้ว นักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครอง ต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ยังไงบ้าง

บ้านเราอยู่ในอำเภอเล็กๆ นอกตัวเมือง เมื่อถึงเวลาที่โรงเรียนเปิดอีกครั้ง คุณครูก็แจ้งมาตรการที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องช่วยกันปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เช็ดแอลกอฮอล์ วัดไข้ก่อนไปเรียนทุกเช้า ถ้านักเรียนหรือคนในครอบครัวมีไข้ ขอให้หยุดอยู่บ้าน

นอกจากนั้น มีการขออาสาสมัครผู้ปกครองไปช่วยทำความสะอาดห้องเรียนหลังเลิกเรียน โดยปกติแล้วการดูแลทำความสะอาดห้องเรียนประจำวันเป็นหน้าที่ของนักเรียนและครู (โรงเรียนที่ญี่ปุ่น ไม่มีนักการภารโรงนะคะ คุณครู นักเรียน และอาจจะมีเจ้าหน้าที่ทั่วไปสัก 1 คน ช่วยกันดูแลความสะอาดเรียบร้อยโดยรวมในทุกวัน ในหนึ่งภาคเรียนอาจจะมี 1 หรือ 2 ครั้งที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองอาสาสมัครมาช่วยทำความสะอาดใหญ่) 

แต่ในช่วงโควิด-19 ทางโรงเรียนต้องเพิ่มการเช็ดโต๊ะเก้าอี้นักเรียนและอุปกรณ์ในห้องเรียนด้วยแอลกอฮอล์ คุณครูคงทำทั้งหมดไม่ไหว จึงขอความช่วยเหลือจากพ่อๆ แม่ๆ ที่พอมีเวลา

เมื่อช่วงเวลาโควิด-19 ผ่านไป สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนที่งดไปก็เริ่มกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง แต่ต้องลดทอนให้สั้นลงและมีผู้ร่วมงานน้อยลง เช่น งานกีฬาสีของโรงเรียน จากเดิมจัดเต็มวันก็ลดเหลือแค่ 3 ชั่วโมง ผู้ปกครองมาดูเฉพาะช่วงเวลาที่ลูกของตัวเองทำกิจกรรม เมื่อจบแล้วให้กลับเลย หรือวันดูการเรียนการสอนและประชุมผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะมาเข้าชมแค่ครั้งละครึ่งห้อง และจบในเวลา 1 ชั่วโมงจากเดิมที่ใช้เวลาครึ่งวัน

รร.ประถมญี่ปุ่นเตรียมตัวเรียนออนไลน์แบบไหน และปรับโรงเรียนหลังโควิดยังไง
รร.ประถมญี่ปุ่นเตรียมตัวเรียนออนไลน์แบบไหน และปรับโรงเรียนหลังโควิดยังไง

แม่มีโอกาสไปช่วยงานกิจกรรมของโรงเรียนอนุบาลแถวบ้านในช่วงโควิด ตอนนั้นสถานศึกษามีมาตรการว่า ไม่อยากให้นักเรียนส่งเสียงดังหรือตะโกน เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อ ปกติทุกปีจะมีกิจกรรมร้องเพลงและมีเต้นประกอบ แต่พอเสียงดังไม่ได้ สิ่งที่ครูอนุบาลหาทางเลือกคือ เปิดเทปแล้วให้เด็กๆ ร้องเพลงเป็นภาษามือแทน ดูแล้วก็อมยิ้มกับการแสดงของเด็กตัวน้อย และยิ่งประทับใจในความพยายามของเหล่าคุณครูที่พยายามทำให้ชีวิตของเด็กๆ เป็นปกติในช่วงเวลาที่ไม่ปกติเอาเสียเลย

เมื่อผ่านชีวิตกับเจ้าไวรัสไปจนเกือบสิ้น ค.ศ. 2020 ทางโรงเรียนมีจดหมายมาแจ้งว่า จะแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนทุกคนภายในเทอมนี้ โดยทางอำเภอเป็นผู้จัดหาและมอบกับเด็กนักเรียนทุกคนในเมือง โครงการแจกแท็บเล็ตนี้อยู่ในแผนมาก่อนหน้าแล้ว แต่ยังไม่ได้บทสรุปเพื่อดำเนินการ การมาถึงของโควิด-19 ทำให้โครงการนี้ได้รับการอนุมัติเร็วยิ่งขึ้น

ขออธิบายเพิ่มเติมนิดนะคะ ที่ญี่ปุ่นอำนาจการปกครองของประเทศ จังหวัด และอำเภอ ค่อนข้างจะมีอิสระจากกัน การนำคำสั่งหรือนโยบายต่างๆ ไปบังคับใช้จึงไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ (นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าเมือง และนายอำเภอ ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้ง การปฏิบัติ นโยบายท้องถิ่นต่างๆ จึงต้องฟังความเห็นของคนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย) 

ถ้ารัฐบาลบอกว่า ในอีก 3 ปีอยากให้เด็กเรียนเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านแท็บเล็ต ทางจังหวัดก็รับนโยบายแล้วส่งต่อมาที่อำเภอ อำเภอจะเก็บข้อมูล วางแผน และเตรียมงบประมาณ โดยจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร เป็นเรื่องความพร้อมของแต่ละอำเภอ หรืออาจจะไม่ทำ ถ้าคนในท้องถิ่นไม่เห็นด้วย บางที่อาจติดเรื่องงบ บางที่อาจจะไม่ผ่านที่กลุ่มผู้ปกครอง เช่น เมื่อทำแบบสอบถาม พ่อแม่บางคนอาจจะบอกว่า เด็กชั้น ป.1 หรือ ป.2 ยังเล็กเกินไปที่จะมีแท็บเล็ตเป็นของตัวเอง ถ้าอย่างนั้น เด็กชั้นไหนถึงควรจะมี ถ้าเป็นชั้นเด็กเล็กจะให้ใช้ร่วมกันเป็นของส่วนกลางหรืออะไรยังไง ต้องมาปรึกษาหาข้อตกลง เพราะฉะนั้น ความช้าเร็วในแต่ละที่จะไม่เท่ากัน หรือบางพื้นที่อาจจะมีมติว่าไม่จำเป็นต้องจัดหาให้ก็ได้

รร.ประถมญี่ปุ่นเตรียมตัวเรียนออนไลน์แบบไหน และปรับโรงเรียนหลังโควิดยังไง

ตอนปิดโรงเรียนคราวก่อน ทางโรงเรียนได้ถามความคิดเห็นเรื่องการเรียนออนไลน์ แต่ติดปัญหาหลักคือ หลายบ้านมีอุปกรณ์ไม่พร้อม รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากกับเรื่องสิทธิความเสมอภาคขั้นพื้นฐาน ถ้าในอนาคตสถานการณ์โควิดรุนแรงจนถึงขั้นต้องปิดโรงเรียนอีกครั้ง การเรียนออนไลน์คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำให้นักเรียนทุกคนมีอุปกรณ์ในการเรียนจากบ้านคงเป็นอาวุธที่ดีที่สุด อำเภอเรามีมติเช่นนั้น แท็บเล็ตจึงถูกแจกให้เด็กๆ ทุกคน โรงเรียนก็เริ่มสอนการใช้งานต่างๆ แก่นักเรียน สอนเด็กแล้วยังเชิญพ่อแม่ไปสอนด้วย เพื่อกันความผิดพลาด รอบคอบสมเป็นญี่ปุ่น

เรียนกันไปจนจบ ป.1 แล้วต่อ ป.2 จนปิดเทอมแรกที่มาพร้อมกันกับกีฬาโอลิมปิกและไวรัสเดลต้าที่น่าสะพรึง คาดกันว่าจากนี้ต่อไปคลื่นไวรัสลูกที่ 4 ต้องมาแน่นอน แล้วก็เป็นตามนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเพิ่มจากเดิมเป็น 3 – 4 เท่า แต่เมื่อมันเป็นเวฟที่ 4 แล้ว ผู้คนก็เริ่มเคยชิน ไม่ได้หวาดกลัวเหมือนตอนไวรัสมาแรกๆ รัฐก็ใช้มาตรการต่างๆ แต่เหมือนว่ามันจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ คาดว่าประเทศคงต้องอยู่กับไวรัสนี้ไปอีกนาน ถ้าอย่างนั้นจะอยู่ร่วมกับมันยังไงดี ทางที่ดีที่สุดให้ญี่ปุ่นรอดไปได้อย่างยืนยาว คือการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

ถึงจะออกนโยบายฉีดให้เร็วให้เยอะ แต่ก็ยังเจอข้อจำกัดคือ บุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ คนป่วยก็ต้องดู วัคซีนก็ต้องฉีด แรกๆ ก็ถือว่าออกตัวช้าไปหน่อย ในการจัดสรรวัคซีนจะทำตามลำดับ แรกสุดคือบุคลากรทางการแพทย์ ต่อมาเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนอยู่เยอะเลยใช้เวลานานหน่อย แล้วค่อยๆ ไล่อายุลงมา อาจจะมีขอแทรกคิวตามความจำเป็นต่างๆ หรืออย่างปัจจุบันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อบ่งบอกว่าสัดส่วนใหญ่คือวัยรุ่น 10 กว่า 20 – 30 ปี ทางการก็จัดศูนย์ฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ มาฉีดเพื่อลดการแพร่เชื้อ หรือบริษัทขนาดใหญ่สามารถเหมาวัคซีนไปดำเนินการฉีดให้พนักงานเองโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง

กลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งทะยาน จนมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายจังหวัดรวมทั้งจังหวัดของเราด้วย สิ่งที่คนเป็นแม่กังวลเยอะนิดหนึ่ง เพราะใกล้จะเปิดเทอมแล้ว ก็คือโรงเรียนจะปิดไหม โรงเรียนในเมืองใหญ่หรือพื้นที่สีแดงก็แจ้งเลื่อนเปิดเทอมไป 1 อาทิตย์ แต่ของอำเภอเรายังไม่มีประกาศอะไร ทางโรงเรียนก็ดี คอยแจ้งข่าวคราว แผนการปฏิบัติ มาตรการมาให้เราได้อัปเดตอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือ ก่อนเปิดเรียน 7 วัน ขอให้นักเรียนทุกคน (และครอบครัว) วัดไข้และบันทึกข้อมูลทุกวันในแอปพลิเคชันบนมือถือ และทำยาวมาถึงตอนเปิดเรียนเลย (โรงเรียนในเขตนี้ใช้แอปพลิเคชันเดียวกันทั้งหมด)

ในอีเมลฉบับหนึ่งจากโรงเรียนบอกว่า ภายใต้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นและการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทางอำเภอและโรงเรียนได้วางมาตรการป้องกันเพิ่มเติมคือ ให้คุณครูและบุคลากรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน รวมถึงจัดหาชุดตรวจโควิดให้บุคลากรเพื่อทดสอบเป็นประจำ ในสถานการณ์อันลำบากนี้ โรงเรียนจะมีบทบาทในการให้หลักประกันว่าเด็กๆ จะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยทั่วถึง พร้อมทั้งให้ความมั่นใจในการดูแลสุขภาพกายและใจ จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยกัน แต่เพื่อเป็นทางเลือกให้กับครอบครัวที่อาจวิตกกังวลเรื่องการแพร่กระจายของไวรัส และยังไม่อยากมาเข้าเรียนในห้องเรียน เด็กๆ เลือกเรียนออนไลน์ที่บ้านได้ แต่การเรียนออนไลน์อาจจะทำไม่ได้ครบถ้วนในทุกวิชา แต่โรงเรียนจะพยายามที่สุดให้ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างราบรื่น 

รร.ประถมญี่ปุ่นเตรียมตัวเรียนออนไลน์แบบไหน และปรับโรงเรียนหลังโควิดยังไง

เห็นอีเมลนี้ แม่ก็มั่นใจแล้วว่าโรงเรียนคงจะเปิดตามกำหนดเดิม ได้ความดังนั้น แม่ก็เลยถามความสมัครใจลูกชายว่าจะเลือกแบบไหน (แต่แม่ก็รู้คำตอบอยู่แล้วนะ) เด็กชายบอกว่า ไปโรงเรียนสิฮะแม่ ไม่ได้เจอเพื่อนตั้งนานแล้ว ค่ะ ตามนั้น ลูกชายอยากไปโรงเรียนเพื่อไปเล่นกับเพื่อน ไม่ได้อยากไปเรียนแต่อย่างใด

เริ่มไปโรงเรียน สัปดาห์แรกคุณครูจะใช้เวลาให้นักเรียนทดลองเรียนออนไลน์เสมือนในห้องเรียน ฝึกการใช้แท็บเล็ตมากขึ้น เผื่อว่าวันไหนเกิดภาวะปิดโรงเรียนกะทันหัน เด็กๆ จะได้พร้อมเรียนออนไลน์จากบ้านได้เลย

ในแต่ละพื้นที่หรือแม้แต่อำเภอเดียวกัน แต่คนละโรงเรียน มีแผนการรับมือภาวะโควิดแตกต่างกัน ตามแต่ละโรงเรียนจะเห็นสมควร โรงเรียนของลูกชายทุกอย่างค่อนข้างดำเนินตามปกติ แต่เคร่งครัดในหลักปฏิบัติการป้องกัน ยังมีช่วงพัก มีให้วิ่งเล่น มีเรียนพละ แต่อย่างโรงเรียนข้างๆ ที่มีจำนวนนักเรียนเยอะกว่า ช่วงพักไม่ให้นักเรียนวิ่งเล่นข้างนอก ไม่มีชั่วโมงพละ เริ่มเวลาเข้าเรียนช้าลง กลับบ้านเร็วขึ้น รวมๆ คือ ย่นระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนให้สั้นลง แม่ของเด็กโรงเรียนข้างก็บ่นว่าเด็กๆ เครียด ไม่ได้เล่นกันเลย แต่ก็ยังดีที่ได้ไปโรงเรียนแหละค่ะ

ตามที่เห็น ส่วนใหญ่ถ้าเป็นโรงเรียนประถมชั้นเล็ก ป.1 – 4 จะพยายามคงสภาพการไปโรงเรียน โดยเลือกเรียนออนไลน์ได้ตามความสมัครใจ (โดยบางจังหวัดจัดหาอุปกรณ์หรือแท็บเล็ตให้เลย แต่บางจังหวัดก็ไม่ได้ให้นะคะ) ป.5 – 6 มีทั้งเปิดเรียนเลย หรือเปิดเรียนแต่แบ่งมาครั้งละครึ่งห้องสลับเช้าบ่ายหรือสลับวัน หรือบางที่ใช้เรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระบาดหนักเลย เพราะถือว่าเป็นเด็กโตหน่อยแล้ว สามารถดูแลการเรียนเองได้

การส่งลูกชายชั้นประถมเข้าเรียนของคุณแม่ชาวไทยในญี่ปุ่น เมื่อไวรัสร้ายยังอยู่ แต่โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว

การตัดสินใจอนุญาตให้เปิดโรงเรียนได้นั้น นายอำเภอและคณะทำงานไปเอาความมั่นใจมาจากไหนกัน แม่ว่าเขาน่าจะดูจากตัวเลขสถิติทั้งหลายที่รายงานอยู่แบบวันต่อวัน สิ่งที่ต้องขอชื่นชมญี่ปุ่นคือ การเก็บตัวเลขค่าสถิติต่างๆ ถูกต้อง น่าเชื่อถือและนำไปใช้ได้จริง ตัวเลขเหล่านี้สำคัญอย่างไร  

อันนี้ขอยกตัวอย่างในจังหวัดเราเองนะคะ ทุกวันในรายการข่าวภาคค่ำ ของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นประจำจังหวัด นอกเหนือจากข้อมูลภาพรวมประเทศ รวมทั้งข้อมูลเชิงวิเคราะห์อัปเดตตามข่าวสารเว็บไซต์ต่างๆ แล้ว จะมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดประจำวัน แยกตามอำเภอ ผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน ผู้เสียชีวิตและตัวเลขจำนวนเตียงโควิดที่ถูกใช้อยู่ (เปอร์เซ็นต์)

ทุกวันคนในชุมชนจะทราบว่า ในพื้นที่เราสภาวะโควิด-19 อยู่ในระดับไหน เหลือเตียงอีกเท่าไหร่ และในเว็บไซต์ศูนย์โควิด-19 ญี่ปุ่นเรายังเช็กตัวเลขผู้ติดเชื้อ (เปอร์เซ็นต์) แบ่งตามเพศ แบ่งตามสัดส่วนอายุ แบ่งตามสภาพการติด เช่น ติดในครัวเรือน ติดในที่ทำงาน ติดจากการทานอาหารสังสรรค์ หรืออย่างในแอปพลิเคชันที่ใช้บันทึกข้อมูลการวัดไข้ของเด็กทุกวัน เมื่อเขตของเราใช้แอปพลิเคชันเดียวกัน ข้อมูลของเด็กในโรงเรียนทุกคนในเขตนี้จะรวมอยู่ที่เดียว บนมือถือเราสามารถมองแนวโน้มช่วงความเสี่ยงในการมีไข้ (เสี่ยงติดไวรัส) ของนักเรียนในเขตนี้ได้ตลอดเวลา

เมื่อมีข้อมูลที่ถูกต้องและละเอียด วิเคราะห์ต่อได้ เช่น ช่วงโควิดแพร่เชื้อแรกๆ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ จึงทำให้ช่วงนั้นโรงพยาบาลต้องทำงานหนักมาก เพราะผู้สูงอายุเมื่อป่วย อาการจะหนักต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ต่อมาเมื่อเริ่มการฉีดวัคซีน โดยให้ผู้สูงอายุได้รับไปจนมีภูมิป้องกันแล้ว สัดส่วนผู้ติดเชื้อส่วนมากจะกลายมาเป็นคนทำงานวัยรุ่นและเด็ก ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากกว่าครึ่งที่รักษาโดยรับประทานยาดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ หรือหายเอง โรงพยาบาลจึงยังเหลือที่พอให้ได้ใช้งาน

กลับมาเรื่องโรงเรียนที่เมืองเรานะคะ คณะทำงานดูข้อมูลทุกสิ่ง ประมวลผลว่าในพื้นที่ ถึงเปิดเรียนแล้วจะมีการติดเชื้อ สาธารณสุขยังรับมือได้ เพราะการติดเชื้อในเด็กมีผลต่อสุขภาพน้อย และถ้าเด็กติดแล้วกลัวจะไปแพร่ให้คนในบ้าน เมื่อปู่ย่าตายายได้รับวัคซีนแล้ว วัยพ่อแม่ก็กำลังได้รับครบเสร็จในต้นเดือนตุลาคม (ค.ศ. 2021) เพราะฉะนั้น สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรง

ที่สำคัญมากๆ คือ บทเรียนจากการปิดโรงเรียนปิดเมืองไป 2 เดือนเมื่อตอนโควิด-19 มาครั้งแรก มีผลกระทบในด้านลบเยอะมากๆ ทั้งทางครอบครัว ทางสภาพจิตใจ ทางร่างกาย ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ (ข้อมูลนี่ก็มาจากการเก็บสถิติตัวเลขแบบสอบถามทั้งคนทำงาน ผู้ปกครอง ครูและเด็กในช่วงนั้นๆ) ทำให้ อันนี้แม่คิดเองนะคะว่า หลังจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นปักธงที่ความสำคัญของสังคมและเศรษฐกิจมาก่อน ทำให้นโยบายโควิดหลังจากนั้นค่อนข้างผ่อนปรนขึ้น ไม่มีล็อกดาวน์เบ็ดเสร็จแบบครั้งแรก

การส่งลูกชายชั้นประถมเข้าเรียนของคุณแม่ชาวไทยในญี่ปุ่น เมื่อไวรัสร้ายยังอยู่ แต่โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว

เมื่อโรงเรียนพร้อมใจกันเปิดด้วยวิธีการเรียนแบบต่างๆ ที่จะหาทำได้ สิ่งที่ตามมาคือ จะเกิดการรวมหมู่ของเยาวชน ดังนั้น ทางคณะการศึกษาญี่ปุ่นก็ปล่อยคู่มือการรับมือโควิด-19 ในโรงเรียนให้มาเป็นแนวทาง สิ่งหนึ่งที่อยู่ในนั้นคือ ถ้ามีนักเรียนติดโควิด-19 ในโรงเรียนต้องทำยังไง ง่ายๆ เลยค่ะ

ข้อ 1 หากเจอคน (หรือมีสัญญาณอาการ) ในห้อง ปิดห้องเรียนนั้น

ข้อ 2 เจอการติดในหลายห้องของชั้นเรียนเดียวกัน ปิดชั้นเรียนนั้น

ข้อ 3 เจอการติดกระจายในหลายชั้นเรียนให้ปิดทั้งโรงเรียน ระยะเวลาปิด 5 – 7 วัน ส่วนการนำไปใช้จริงก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่หน้างานที่จะตัดสินใจได้เอง

สภาพที่ออกมาหลังเปิดเรียนไปแล้วก็คือ มีนักเรียนติดโควิด-19 ในโรงเรียน แต่จำนวนไม่ได้ถึงกับเยอะมากจนน่าเป็นห่วง ยังรับได้ ก็ทำตามไกด์ไลน์ไป ปิดแล้วก็เปิดเรียนใหม่ ดังนั้น ชีวิตนักเรียนก็คงดำเนินต่อไป

ขอเพิ่มเติมในส่วนมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ปีที่แล้วทั้งปี ในปีที่ 2 เริ่มผ่อนปรนให้เข้าเรียนในวิชาที่จำเป็นหรือวิชาภาคปฏิบัติ แต่ต้องจำกัดจำนวนคนในแต่ละคาบ และมาตรการต่างๆ จะเข้มงวดมากกว่าโรงเรียน และในเดือนพฤศจิกายน (ค.ศ. 2021) นี้ คาดว่าจะเปิดห้องเรียนเต็มรูปแบบ แต่ต้องมีสำรองออนไลน์ไว้ด้วยให้นักศึกษาเลือกได้ 

สาเหตุที่มาตรการเข้มข้น ก็เพราะในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนักศึกษาและอาจารย์มีการข้ามพื้นที่ ข้ามจังหวัดมาเรียนมาสอน จึงง่ายในการแพร่กระจายของเชื้อโรค ในขณะที่โรงเรียน นักเรียน (และคุณครู) เกือบทั้งหมด คือบ้านอยู่ในพื้นที่ (จัดโรงเรียนใกล้ที่อยู่อาศัย) จึงควบคุมการเดินทางของเชื้อโรคได้ดีกว่า

อ่านกันมาถึงตรงนี้ อาจจะมีคำถามว่า ทำกันเท่านี้พอเหรอ แล้วไม่กลัวกันเหรอ ตอบยากนะคะ แต่ในเมื่อเรายังกำจัดมันไปไม่ได้ ถ้าจะต้องตีกรอบขีดเส้นไปเสียทุกสิ่ง เราคงกระดิกตัวทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อพวกเราก็ดูแลตัวเองและครอบครัวอยู่บนวินัยเคร่งครัดแล้ว ที่เหลือบางอย่างมันก็ต้องเสี่ยงกัน แต่อย่างที่อธิบายว่า เราเสี่ยงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์ มันควรจะทำให้เราดำเนินชีวิตประจำวันไปได้ ถึงแม้จะเป็นแบบไม่ปกติจนกลายเป็นเรื่องปกติ ไปจนกว่าจะถึงวันที่เราจะร่ำลาแบบถาวรกับเจ้าไวรัสวายร้ายตัวนี้ และโลกกลับมาเป็น Old Normal เหมือนเดิม 

การส่งลูกชายชั้นประถมเข้าเรียนของคุณแม่ชาวไทยในญี่ปุ่น เมื่อไวรัสร้ายยังอยู่ แต่โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

ปองทิพย์ วนิชชากร

แม่บ้านไทย-ญี่ปุ่น-ลาดพร้าว รักจะ slow life เลยชอบ write slow slow