ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา มีปัญหาสังคมและความเดือดร้อนมากมายที่เผยให้เห็นว่า ถ้าเรามีเทคโนโลยีที่ดี สถานการณ์หลายอย่างจะได้รับการแก้ไข เยียวยา อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าที่เคยเป็น
ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฉีดวัคซีน ไฟไหม้โรงงาน น้ำท่วม การศึกษาของเยาวชน และอื่น ๆ ที่เราเห็นกันตามหน้าข่าวไม่เว้นวัน แม้ยังแก้ไม่ได้ดีทั้งหมดและเป็นเพียงจิ๊กซอว์ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนสังคมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ กลับกลายเป็นความจำเป็นและมาตรฐานขั้นต่ำ
แต่ย้อนกลับไป 14 ปีก่อน ในวันที่โลกเพิ่งรู้จักไอโฟนเป็นครั้งแรก มีกลุ่มคนริเริ่มองค์กรหนึ่งขึ้นมาเพื่อภารกิจด้านสังคมโดยเฉพาะตั้งแต่ตอนนั้น อาศัยพลังของเทคโนโลยีที่พวกเขาเชี่ยวชาญเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
องค์กรนั้นคือ Opendream ร่วมก่อตั้งโดย เก่ง-ปฏิพัทธ์ สุสำเภา
“จริง ๆ เราไม่ได้เสียสละตัวเองเพื่อโลกขนาดนั้นนะ ทุกวันนี้เราทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น มีเงินพอเลี้ยงตัวเองและคนรอบข้าง แม้จะเป็นทางอ้อมกว่าการทำงานปกติ แต่เราชอบความท้าทายแบบนี้” เก่งกล่าวอย่างถ่อมตัว
ผลงานที่ผ่านมาของ Opendream มุ่งเน้นด้านสุขภาพและการศึกษา ทำงานร่วมกับองค์กรที่ขับเคลื่อนในประเด็นนั้น ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น แอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลสุขภาพ DoctorMe ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิหมอชาวบ้าน, PODD ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, แพลตฟอร์มการระดมทุน เทใจดอทคอม, สบายดี แชทบอตให้ข้อมูลการรับมือกับโควิด-19 และ 606 เกมให้ความรู้เรื่องเฟคนิวส์ เป็นต้น
พอเวลาผ่านไป 14 ปี โลกของเทคโนโลยีและปัญหาสังคมซับซ้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การทำธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสมรภูมิอันดุเดือด พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปควบคู่กันไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงนัดหมายเก่งมาเพื่อพูดคุย สอบถามถึงการปรับตัวและเติบโตของเขาและ Opendream ก่อนเขาขึ้นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Social Enterprise Thailand Forum 2021 ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“รูปแบบการดำเนินงานเปลี่ยนไปบ้าง และเราก็คงไม่เหมือนเดิมอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป้าหมายของเรายังคงเดิม” เก่งเน้นย้ำจิตวิญญาณที่ยังคงเดิมขององค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว ก่อนเริ่มบทสนทนา
จากฝันกลายเป็นจริง
Opendream คือความฝันที่เป็นจริงจากจังหวะเวลา ผสมกับความสนใจที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ของเก่ง
ตอน พ.ศ. 2547 เก่งคือบัณฑิตจบใหม่จากภาควิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ย้ายเข้ามาทำงานในบริษัทใหญ่ที่กรุงเทพฯ เมื่อทำงานไปสัก 3 ปี เขาเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ตอบโจทย์ชีวิตและไม่ได้มีอะไรให้จดจำเป็นพิเศษ จึงลาออกมารับงานอิสระ แม้มีรายได้งดงาม แต่ทิศทางชีวิตเขายังไม่ชัดเจนนัก
จนกระทั่งเพื่อนสนิทจากองค์กรที่ผลักดันนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่าง ChangeFusion พูดประโยคเปลี่ยนชีวิตให้เขาฟังว่า จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยี การพัฒนาสังคม และความอยู่รอดของคนทำงาน เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้
“เราสามารถใช้เทคโนโลยีที่เราถนัดสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม พร้อมทั้งเลี้ยงตัวเองไปด้วย มีตัวอย่างให้เห็นจากหลายที่ในโลก ตอนนั้นเทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหาในหลากหลายอุตสาหกรรมแล้ว ทำไมเราไม่ลองเอามาแก้ปัญหาสังคมดูล่ะ” เก่งเล่าความคิดช่วงก่อนก่อตั้งบริษัท
เมื่อมุมมองนี้ปรากฏขึ้นในความคิดเขา Opendream จึงเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว
โมเดลของ Opendream แบ่งเป็น 2 รูปแบบหลัก คือการรับจ้างและร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ความไฟแรงในช่วงแรกเริ่มทำให้พวกเขารับงานจากหลากหลายภาคส่วน โดยพิจารณารับงานจาก 3 เกณฑ์หลักคือ ผลกระทบ (Impact) กำไรทางธุรกิจ และกำไรที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การพัฒนาของทีม
การมุ่งเน้นที่ด้านสังคมโดยเฉพาะ ทำให้องค์กรที่มีพันธกิจเรื่องนี้อยู่แล้วติดต่อเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ แต่เมื่อเติบโตขึ้นและงานเริ่มล้นมือ เก่งเลือกนำบริษัทให้โฟกัสไปที่ 2 ประเด็นหลักที่พวกเขามีพลังพอจะขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรที่มี
“เราเคยทำงานกับองค์กรหนึ่งที่แลกเปลี่ยนกันว่า มนุษย์อาจสูญพันธุ์ด้วยห้าปัจจัยหลักคือ อาวุธนิวเคลียร์ น้ำหมด สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และโรคระบาด ซึ่งคิดตามแล้วสี่เรื่องแรกอาจเกินตัวเราไปหน่อย แต่เรื่องโรคระบาด เราเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่บริษัทมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“ช่วง พ.ศ. 2552 มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มูลนิธิหนึ่งบอกเราว่า เรื่องโรคระบาดจะเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรมีคนทำงานในภูมิภาคนี้ เราจึงทำงานร่วมกับพี่ ๆ หน่วยงานสาธารณสุขที่จังหวัดมุกดาหาร สร้างเครื่องมือให้คนรายงานอาการป่วยของตัวเองแล้วนำมาทำเป็นแผนที่ ปรากฏว่าจัดการโรคระบาดในพื้นที่ได้ดีมาก” เก่งอธิบายสาเหตุที่ประเด็นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะโรคระบาดและการหยุดยั้งความเจ็บป่วย เป็นเรื่องที่อยู่ในใจเขาเสมอมา ก่อนหน้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิบปี
ส่วนเรื่องการศึกษา คุณพ่ออย่างเก่งมองว่าต่อไปในอนาคต โลกจะต้องการคนที่มีทักษะการแก้ไขปัญหาและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมายังไม่อาจปลูกฝังให้คนทั้งประเทศได้อย่างครอบคลุม
“เราอยากสร้างเครื่องมือและกลไกเกมที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูกเราเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือมีเศรษฐสถานะแบบใดก็ตาม ถ้ามนุษย์มีสองทักษะนี้ เราจะไม่ทำลายตัวเองและคนอื่น ไม่ต้องแก้ปัญหาสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญมากพอที่จะทำ
“อยู่มาเกินครึ่งชีวิตมนุษย์ทั่วไปแล้ว เหลือเวลาอีกไม่เท่าไร เลยคิดว่าอุทิศชีวิตที่เหลือเพื่อทำสองเรื่องนี้แหละ” เก่งเล่าความตั้งใจ แต่เสริมด้วยว่าพวกเขายังทำงานโปรเจกต์เสริมสนุก ๆ ตามความสนใจอยู่เหมือนกัน ใครมีโจทย์ด้านสังคมอะไร ลองติดต่อเข้าไปดูก่อนได้เลย
ฝันร่วมกัน
ความสำเร็จของโปรเจกต์ที่ Opendream ทำ นอกจากจะต้องใช้ทักษะเชิงเทคนิคที่พวกเขาฝึกปรือกันแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่าง ๆ
หนึ่งในโปรเจกต์เด่นที่แสดงเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัดคือ PODD (Participatory One Health Disease Detection หรือเรียกว่า ‘ผ่อดีดี’) เครื่องมือเฝ้าระวังโรคระบาดจากสัตว์ในชุมชน ที่เดิมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและวิจัยด้านนี้อยู่แล้ว โดย Skoll Global Threats Fund ผู้ให้ทุนกับ Opendream เป็นผู้ประสานงานให้เกิดการพบปะกันขึ้น
ตอน พ.ศ. 2555 การทำงานของ PODD ยังไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีมากนัก กว่าจะรู้และจัดการโรคระบาดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ทีม Opendream จึงนำเทคโนโลยีที่เคยพัฒนามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ แทนที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นคนเก็บข้อมูล พวกเขาเปิดให้ชาวบ้านทั่วไปรายงานการแพร่ระบาดเข้ามา เช่น มีสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของเชื้อโรคเสียชีวิต เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่ออย่างมีประสิทธิภาพ
ความท้าทายคือ ไม่ใช่ชาวบ้านทุกคนจะรู้จักวิธีการใช้แอปพลิเคชันใหม่ ๆ กลุ่มเป้าหมายในบางแห่งเป็นพี่น้องชนเผ่าที่ไม่ถนัดการใช้ภาษาไทย เป็นผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นชินกับโทรศัพท์ การออกแบบระบบจึงต้องคำนึงถึงการรองรับความหลากหลายเหล่านี้ด้วย
แต่นั่นยังไม่ใช่ความยากทั้งหมด สิ่งที่ท้าทายไม่แพ้กันคือ ทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วมในการใช้งาน ซึ่งเป็นจุดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยแนะนำให้ทีมได้เป็นอย่างดี จากการเข้าใจบริบทของพื้นที่
“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยกางออกมาให้เราเห็นว่าการแก้ปัญหาชุมชน แค่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องช่วยสร้างโครงสร้างหรือกลไกการมีส่วนร่วมบางอย่างด้วย
“เช่น เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจว่าทำไมการทำงานเหล่านี้จะต้องมีพิธีเปิด ถ่ายรูป ให้เกียรติบัตร แต่มันเป็นคุณค่าของชุมชน เป็นความรู้สึกที่ว่าพวกเขาได้รับการมองเห็น ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ก็คือ เครื่องหมาย Verified สีฟ้าบนอินสตาแกรม หรือยอดไลก์ ยอดแชร์นั่นแหละ เราแค่มีเครื่องมือในการแสดงออกแตกต่างกัน
“เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง แต่กลไกสำคัญจริง ๆ คือ คน เราต้องเอื้อเฟื้อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย งานนี้เป็นบทเรียนให้เราเห็นว่าเวลาแก้ปัญหา ต้องมองให้ครบทุกมุม อย่ามองแค่จากมุมตัวเอง” ซอฟต์แวร์เดเวลอปเปอร์ประสบการณ์เกือบ 20 ปีเผย
จากการผสมผสานทักษะทางเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาด และความเข้าใจพื้นที่ พวกเขาพัฒนาเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและทำให้คนรับรู้ ช่วยตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ภายใน 12 ชั่วโมง เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยเท่า ลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นไปมาก และล่าสุด แพลตฟอร์มนี้เตรียมขยายการใช้งานไป สปป.ลาว กัมพูชา และประเทศในทวีปแอฟริกา
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ความร่วมมือทำให้ผลลัพธ์ขยายไปได้กว้างขึ้นและตรงจุดคือ Judies แอปพลิเคชันที่ให้คนเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยผ่านเกมง่าย ๆ สอดแทรกความรู้ระหว่างทาง จากการเห็นปัญหาว่าเยาวชนขาดความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาอย่างยิ่ง จะกี่ปีก็มีแต่คนถามคำถามเดิม ๆ ประจวบเหมาะกับมีพาร์ตเนอร์อย่าง ChangeFusion, กองทุน BKIND และ UNFPA (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ) เข้ามาทำงานร่วมกัน
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนพัฒนาเกมที่ต้องระบุให้ได้ก่อนว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย UNFPA ที่ทำงานเรื่องสุขภาพของผู้หญิงอยู่แล้ว แบ่งปันว่าผู้หญิงและผู้ชายมีแนวคิดเรื่องเพศศึกษาไม่เหมือนกัน ผู้หญิงมักจะเปราะบางกว่า เนื่องจากอำนาจทางสังคมที่กดทับ เกมในตอนต้นจึงออกแบบมาเพื่อเน้นสนับสนุนผู้หญิงเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงค่อยขยายไปเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น
เมื่อเริ่มมีผู้เล่นเข้ามาจากทั่วโลก รวมแล้วกว่า 5 แสนคน พวกเขาได้รับฟังความคิดเห็น และเจอกลุ่มคนที่อยากแบ่งปันว่าเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยควรเป็นอย่างไร อยากสร้างให้เกิดชุมชนที่ถามและคุยเรื่องนี้ได้ แต่ก็ยังเคอะเขิน อายกันอยู่บ้าง Opendream จึงเก็บความคิดเหล่านั้น พัฒนาเป็นแชทบอตให้คนเข้ามาถามและโต้ตอบ (ปัจจุบันโปรเจกต์นี้หยุดพัฒนาไปก่อน แต่เก่งบอกว่าอยากหยิบมาพัฒนาต่อในอนาคต)
โปรเจกต์อื่น ๆ ที่ Opendream ทำก็เป็นลักษณะเดียวกันคือ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายผล ทำงานร่วมกับเจ้าของประเด็นและผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างใส่ใจพวกเขา
ฝันนี้ยังรอการเติมเต็ม
14 ปีถือเป็นเวลายาวนานในโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน มีบริษัทใหม่ ๆ ล้ำสมัยเกิดขึ้นทุกชั่วโมงจนตามกันไม่ทัน แต่ถึงอย่างนั้น เก่งบอกว่าตลาดที่ Opendream ทำงานอยู่ยังค่อนข้างเหงาและต้องการเพื่อนร่วมทางอีกเยอะ เมื่อเทียบกับปัญหาสังคมที่มีทุกวันนี้
“ทุกวันนี้ธุรกิจอาจเร็วขึ้น มีคู่แข่งเยอะขึ้น แต่เรามองว่าตลาดนี้ยังใหญ่และมีพื้นที่อยู่มาก ไม่รู้เรียกว่าโชคดีหรือโชคร้าย แต่อาจเพราะการทำงานตรงนี้มันรวยยากด้วย (หัวเราะ)
“จริงอยู่ที่ว่าผู้บริโภคที่คุ้นชินกับดิจิทัลวันนี้อาจคุยกันเรื่อง Blockchain หรือ NFT แต่ปัญหาหลายอย่างและกลุ่มคนที่ประสบปัญหาจริง ๆ ในท้องที่ที่เราทำงานด้วย ไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ล้ำขนาดนั้น สิ่งที่เราทำตอนนี้คือ การสร้างเครื่องมือที่อาจดูพื้นฐานมาก ๆ แต่ช่วยแก้ไขปัญหาที่พวกเจอได้เร็วและดีขึ้นจริง ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น สุดท้ายต้องดูที่บริษัทด้วย”
ต่อให้เทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน เรายังต้องการคนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์และยินดีจะทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย เหมือนอย่างกรณี PODD ที่สอนพวกเขาอย่างชัดเจน
“ก่อนหน้านี้ เราเคยไม่เห็นคุณค่าของประสบการณ์คนยุคก่อนหน้าเรา ดูแคลนความแอนะล็อก คิดว่าทำไมไม่ใช้เครื่องมือนี้ล่ะ เป็นเด็กดื้อที่บ้าบอ โวยวาย ขาด Human Skills สุด ๆ โชคดีมากที่พาร์ตเนอร์ตอนที่เรายังเด็ก เมตตาและเปิดพื้นที่ให้เราทำอย่างนั้น (หัวเราะ) มองย้อนกลับไป เราเรียนรู้เลยว่าการเคารพพาร์ตเนอร์และความแตกต่างสำคัญมาก เพื่อให้ทำงานร่วมกันให้ถึงเป้าหมาย”
เก่งยังเน้นย้ำด้วยว่า ต่อไปปัญหาในอนาคตจะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก การมองด้วยเลนส์แบบเดียวอาจไม่พอแล้ว ต้องหาพาร์ตเนอร์ที่ต่างกับเรา แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเหมือนคนที่ศีลเสมอกัน เพื่อให้มองได้อย่างรอบด้าน แม้ว่าระหว่างทางจะเกิดความไม่สบายใจขึ้นบ้างก็ตาม แต่เพื่อการเรียนรู้และผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับสังคม
พาร์ตเนอร์และหน่วยงานร่วมสนับสนุนแบบนี้อาจตามหาได้ยากเย็นแสนเข็ญในสมัยก่อน เนื่องจากคนยังไม่ค่อยเข้าใจและยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้จากธุรกิจเพื่อสังคมมากพอจะลงทุนสนับสนุน แต่ปัจจุบัน ธุรกิจที่คิดคำนึงถึงสังคมเริ่มได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนเริ่มมองเห็นแล้วว่าธุรกิจกับสังคมไม่อาจแยกขาดออกจากัน
“แต่ก่อนไม่ค่อยมีโครงสร้างการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมแบบเจาะจง เราต้องเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ตามปกติ ใช้หลักทรัพย์ของตัวเองหรือคนรอบข้างบ้าง แต่อย่างเมื่อปีก่อน เรามีโอกาสเข้าร่วมเครือข่าย SE Thailand (สมาคมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย) ที่ร่วมมือกับธนาคาร ให้ธุรกิจในเครือข่ายเข้าเข้าถึงองค์ความรู้ แหล่งเงินทุน และสินเชื่อสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะ
“Opendream ได้รับการสนับสนุนตรงนี้ ช่วยให้เรามีกระแสเงินสดไว้ทำงานต่อ โครงการลักษณะนี้ถือเป็นความกล้าหาญในการลองสนับสนุนธุรกิจด้านสังคม ซึ่งอาจต่างจากรูปแบบธุรกิจทั่วไปที่คุ้นเคยกัน และหวังว่าจะเกิดการขยายผลร่วมกันแบบนี้ต่อไป” เก่งกล่าว
งานด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมยังมีพื้นที่ว่าง รอให้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้ามาสุมหัวรวมตัว แลกเปลี่ยน ถกเถียง ช่วยเหลือกัน และคุณก็อาจเป็นคนคนนั้นที่ใครสักคนตามหาอยู่
Opendream
นับจนถึงปัจจุบัน Opendream ทำงานที่สร้างอิมแพคให้สังคมไปหลายสิบหรืออาจจะหลักร้อย เก่งเองก็จำตัวเลขไม่ได้แล้ว เขามองว่าสิ่งสำคัญคือ คุณค่าที่แต่ละโปรเจกต์มอบให้สังคมมากกว่าเชิงปริมาณ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเขาเพียงลำพัง แต่เป็นการร่วมแรงร่วมใจของพนักงานที่เชื่อในพันธกิจเดียวกัน ราว 24 ชีวิต ณ ปัจจุบัน
“เราคิดว่าคนที่นี่อยากใช้ความสามารถของตัวเองในการแก้ปัญหาที่พวกเขาสนใจและเลี้ยงชีพตัวเองไปด้วย รู้สึกขอบคุณทุกคนมากที่อยากมาทำงานนี้เพราะอยากทำกัน” เก่งเอ่ยถึงทีมงานเบื้องหลัง
ระหว่างทาง นอกจากทีมที่เติบโตขึ้นแล้ว เก่งเองก็พัฒนาขึ้นในฐานะผู้บริหาร เคยผ่านมาทั้งวิกฤตจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา และปัจจัยภายใน เช่น ความรู้สึกของตัวเอง
“เราเคยอาจหาญ รีบขยายทีม ไปเปิดออฟฟิศที่เชียงใหม่ แต่ปรากฏว่ามันใหญ่เกินไป พังเละเทะครับ ตอนนั้นจำเป็นต้องกำจัดอีโก้ตัวเองทิ้ง แล้วยอมรับว่าเราจัดการไม่ไหว ต้องปิดออฟฟิศที่นั่น เจ๊งก็เป็นบทเรียนให้เรา ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่บริษัทขนาดเล็กต้องเผชิญ และจัดการให้เดินหน้าไปได้”
แต่ไม่ว่าจะเจออะไรมา ความรู้สึกและเป้าหมายของเขายังคงเดิมเหมือนวันแรกไม่มีเปลี่ยน
“ไม่เคยมีคำถามว่าตัวเองทำงานนี้ทำไม หรือจะกลับไปทำงานที่รวยกว่านี้ดีไหม อาจมีพูดขำ ๆ บ้างว่าไม่รวยก็เพราะทำงานอย่างนี้ แต่ตอนนี้ยังสนุกและแฮปปี้อยู่”
ถ้าใครอยากก้าวเข้ามาทำงานแบบเก่ง สิ่งที่เขาแนะนำคือการมองการณ์ไกลและใช้ความอดทน
และอย่าลืมความสนใจหรือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ในวันแรก
“การเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนเกมระยะยาว ใช้เวลาเป็นหลักปีถึงจะเห็นแสงสว่าง จุดสำคัญคือความคงเส้นคงวา ถ้าอยากแก้ปัญหา ต้องลุยกันต่อไป บางทีบุกป่าฝ่าดงไปอาจตกเหวก็ได้ ต้องรีบปีนขึ้นมาแล้วบุกที่อื่นต่อ เจ๊งให้เร็ว ลุกให้เร็ว แล้วก็ลุยไปเรื่อยๆ” เก่งทิ้งท้าย ก่อนแยกย้ายไปทำงานตามความฝันต่อ
Social Enterprise Thailand Forum 2021 คือฟอรั่มสำหรับทุกคนที่เชื่อว่าธุรกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่รวบรวมหน่วยงานสนับสนุนมากมายเพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564
ติดตามกิจกรรมดีๆ ต่อจากนี้ได้ที่ goodsociety.network/goodsociety/ หรือ เฟซบุ๊กของ Good Society