อันเกิดมาจากความอยู่ไม่สุข

เรื่องคือ ไปซื้อตุ้มหูมา 2 คู่ค่ะ ชอบมาก ใส่อยู่นั่น

แล้ววันหนึ่งก็มารู้ว่า มันทำจากวัสดุสังเคราะห์ชื่อ Polymer Clay หรือดินปั้นชนิดหนึ่ง ที่เอาไปอบแล้วจะแข็งแต่ยืดหยุ่น เหมือนปั๊ดติก (ชื่อเดิมพลาสติก เป็นญาติกับปีเนียม ที่ชื่อเดิมคืออะลูมิเนียม และเป็นญาติห่าง ๆ กับเลียวมะหลิด ที่ชื่อเดิมคือเรอัลมาดริด)

ความคันบังเกิด แล้วความงกก็ตามมา

จะไปเสียเงินอีกทีละ 40 เหรียญซื้อตุ้มหูคู่ใหม่ทำไม

ทำเองสิยู…

ก็เลยไปซื้อ Polymer Clay มา 10 กว่าสี ลองทำเองมั่ว ๆ

ตุ้มหูคู่แรกออกมาปุปะมาก แต่ก็เอาไปใส่นะ ง่อย ๆ อย่างนั้นแหละ

เสร็จแล้วก็มาดูยูทูบอย่างสาหัสสากรรจ์ คือดูเหมือนจะเอาไปสอบ ดูทุกอย่างที่ขวางหน้าเกี่ยวกับการทำตุ้มหูจากโพลีเมอร์เคลย์ เลยได้รู้ว่าเขาฮิตกันมาพักใหญ่แล้วนะ หล่อนน่ะเพิ่งออกมาจากภูเขาสิเลยเพิ่งตื่นเต้น

ลองใหม่ค่ะ คราวนี้อุปกรณ์ถูกต้อง วิธีการดีกว่าเดิม

สวยเลยอ้ะ!

เอาไปใส่อีก ทีนี้เริ่มมีคนชม ก็เลยคิดจะขายขึ้นมา!

ประสบการณ์ทำธุรกิจตุ้มหูขายจริงจังในอเมริกาของ อุ้ม สิริยากร แบรนด์ OomPDX

คือต้องเล่าย้อนไปนิดหนึ่งค่ะ ว่าเรื่องชอบขายของนี่ เป็นมาตั้งแต่อยู่มัธยมแล้ว คุณย่าทำมะขามแก้วให้เอาไปแจกเพื่อน ดิฉันก็เอาไปขาย 3 เม็ดบาท (ก็ตอนนั้นโรงเรียนไม่มีขนมขายนิ) แล้วก่อนมิสทีนจะมา จำแคตตาล็อกเอว่อนได้มะคะ นั่นล่ะดิฉันก็ขายมาแล้ว ขายเพื่อนในห้องนั่นละค่ะ ขายดีด้วย แต่ก็ถูกเพื่อนโกงไม่จ่ายเงินไปเป็นพันเลย จนสุดท้ายต้องเลิกไป คือจะล้มละลายตั้งแต่เด็กก็ดูไม่ดีนะ

แต่ความเป็นแม่ค้ามันคงอยู่ในสายเลือดน่ะค่ะ โตมาถึงได้เรียนนิเทศเอกโฆษณา แล้วก็ผ่าไปชอบวิชามาร์เก็ตติ้งของคณะบัญชีเขาอีก มาทำงานเล่นละครสบาย ๆ ก็ไม่เอา หาเรื่องจะทำบริษัทขึ้นมาอี๊ก เพราะชอบคิดงาน ชอบประชุม ชอบออกไปหาลูกค้า สนุก (แอนด์ปวดกบาล) ดีจังเลยทำธุรกิจเนี่ย

ก็เลยไม่แปลกที่อยู่ดี ๆ จะหาเรื่องขายตุ้มหู

ประสบการณ์ทำธุรกิจตุ้มหูขายจริงจังในอเมริกาของ อุ้ม สิริยากร

ทีนี้การจะเป็น Maker หรือคนทำงานฝีมือขายที่ประเทศอเมริกานี่ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ที่ว่าง่าย เพราะมันมีระบบต่าง ๆ รองรับเยอะ เช่น จะจดชื่อเว็บไซต์ก็เข้าไป GoDaddy จะเปิดร้านออนไลน์ขายของก็มีทั้ง Etsy มี Shopify ระบบจ่ายเงินที่ฮิต ๆ ก็มี PayPal, Venmo, Clover และ Square ทั้งหมดมีเท็มเพลตให้เข้าไปใช้ได้ง่าย ๆ โดยมีค่าธรรมเนียมให้ต้องจ่ายแค่นิด ๆ หน่อย ๆ คือไม่ต้องมีฝีมือทำเว็บระดับพระกาฬ ก็พอจะทำร้านออนไลน์หน้าตาไม่แย่ได้แล้ว

ประสบการณ์ทำธุรกิจตุ้มหูขายจริงจังในอเมริกาของ อุ้ม สิริยากร
ประสบการณ์ทำธุรกิจตุ้มหูขายจริงจังในอเมริกาของ อุ้ม สิริยากร

หรือถ้าจะจดทะเบียนบริษัท ก็เข้าไปจดในเว็บไซต์ของรัฐ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ทำคนเดียวแบบนี้ เขาก็จะจดกันเป็น Sole Proprietor (อ่านว่าโซลโพรไพรอะเตอร์) หรือ LLC (Limited Liability Corporation) ซึ่งหลัก ๆ คือต่างกันตรงถ้าไปก่อหนี้ LLC จะป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้มายึดทรัพย์สินส่วนตัวของเราได้

แต่เดี๊ยนจะขายตุ้มหูคู่ละ 30 – 40 เหรียญ คงไม่มีใครตามมายึดบ้านยึดรถหรอกนะ ก็เลยจดเป็น Sole Proprietor ค่ะ เพราะวุ่นวายน้อยที่สุด

เสร็จแล้วก็ต้องไปจด Assumed Business Name หรือชื่อกิจการ เพราะใช้ชื่อว่า OomPDX ไม่ได้มีชื่อนามสกุลจริงตามกฎหมายอยู่ในชื่อร้าน เช่น ถ้าขายลูกชิ้นแล้วชื่อว่า เขียวสุริยะลูกชิ้นดึ๋ง อันนี้ก็ไม่ต้องจด ABN แต่ถ้าขายชานมไข่มุกแล้วชื่อร้าน ศรีตึ๋ง (มีจริง ๆ ไม่ได้เม้า) อันนี้ถ้าอยู่ที่อเมริกาก็ต้องไปจด ABN

ได้ ABN มาแล้วก็เอาไปจดทะเบียนผู้เสียภาษีกับเทศบาลเมืองพอร์ตแลนด์ อันนี้ก็จดในเว็บไซต์ได้อีกเหมือนกัน

เชื่อไหมคะว่าอุ้มลงทะเบียนทุกอย่าง ตั้งบริษัท จดชื่อเว็บไซต์ และมีร้านออนไลน์ภายในไม่ถึง 2 ชั่วโมง! แล้วนับจากที่ซื้อ Polymer Clay ชุดแรกมาจนถึงวันที่จดทะเบียนบริษัท คือ 33 วัน มันเร็วม้าก!

ประสบการณ์ทำธุรกิจตุ้มหูขายจริงจังในอเมริกาของ อุ้ม สิริยากร

แต่จากนั้นก็มาถึงส่วนที่ยาก

คือจะทำยังไงให้ของที่ขายดูดีแตกต่าง ตั้งราคาเท่าไหร่ดีถึงจะมีกำไรและคนไม่คิดว่าแพงเว่อร์ อิ Shopify นี่จะทำยังไงให้มี 3 คอลัมน์และดูคลีน ๆ (ทุกวันนี้ยังงมอยู่) และสุดท้ายคือจะโปรโมตให้คนรู้จักและอยากซื้อของเราด้วยวิธีไหนดี

ปัญหาระดับโลกเลยนะนี่ (รีบไปคุ้ยตำรา 4P สมัยเรียนมาดูด่วน)

อุ้ม สิริยากร กลับมาทำธุรกิจอีกครั้งกับตุ้มหูแบรนด์ OomPDX พร้อมเล่าทุกขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกิจในอเมริกา ที่จบได้ใน 30 วัน

เรื่องของนี่อุ้มไม่ค่อยห่วงมาก เพราะค่อนข้างมั่นใจในสิ่งที่ทำ เราเป็นคนชอบใส่ตุ้มหูอยู่แล้ว รู้ว่าแบบไหนใส่สบายและสวยมีคนชมแน่ ๆ ยิ่งไปขายของที่ร้าน ก็ยิ่งได้เห็นว่าคนที่นี่เขาชอบตุ้มหูประมาณไหนกัน

เรื่องตั้งราคาก็ต้องใจแข็ง ๆ เพราะอุ้มไปดู TED Talks อันหนึ่งมา เขาบอกว่าคนทำงาน (โดยเฉพาะผู้หญิง) มักจะตั้งราคาสินค้าหรือบริการของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะกลัวถูกปฏิเสธ แต่ถ้าเราคำนวณค่าของค่าแรงบวกกำไรมาดีแล้ว (อย่าลืมต้นทุนบริหารจัดการอื่น ๆ อย่างค่าเว็บไซต์ ภาษีที่ต้องจ่ายปลายปี ฯลฯ) ตั้งไปเลยค่ะ คนที่เขาเห็นค่างานฝีมือและชอบของเราจริง ๆ ยังไงก็จะยอมจ่าย

ส่วนเรื่องโปรโมตให้คนรู้จักแบรนด์ อุ้มไปคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่นี่มาค่ะ เพราะอุ้มเห็นตั้งแต่เขาเริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อ Silly Daisy เมื่อหลายปีก่อน จนตอนนี้มีคนรักทั่วบ้านทั่วเมือง และขยับขยายไปมีหน้าร้านขายของแต่งบ้านเพิ่มมาอีกด้วย (เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังตอนหน้า)

อุ้ม สิริยากร กลับมาทำธุรกิจอีกครั้งกับตุ้มหูแบรนด์ OomPDX พร้อมเล่าทุกขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกิจในอเมริกา ที่จบได้ใน 30 วัน

ทีนี้กลับมาที่แบรนด์ตุ้มหูของตัวเองบ้าง

อุ้มรู้สึกว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของการทำอะไรที่ไม่เน่าไม่เสียแบบนี้ ก็คือไม่มีความกดดันมาก ต้นทุนก็ไม่ได้สูงเกินไป วัตถุดิบหาได้เรื่อย ๆ สม่ำเสมอ (คือสั่งออนไลน์กับไปซื้อที่ร้านขายของแถวบ้านได้ตลอดเวลา) แล้วถ้าทำของให้ดูแพง ก็จะตั้งราคาได้สูงประมาณหนึ่ง เวลาส่งไปรษณีย์ก็เบา ๆ ส่งง่าย ไม่ต้องยักแย่ยักยันแบกลังไปขนส่งเอกมัยหมอชิตอะไรแบบนี้

อุ้ม สิริยากร กลับมาทำธุรกิจอีกครั้งกับตุ้มหูแบรนด์ OomPDX พร้อมเล่าทุกขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกิจในอเมริกา ที่จบได้ใน 30 วัน
อุ้ม สิริยากร กลับมาทำธุรกิจอีกครั้งกับตุ้มหูแบรนด์ OomPDX พร้อมเล่าทุกขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกิจในอเมริกา ที่จบได้ใน 30 วัน

อุ้มจดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ผ่านไป 1 เดือน ใช้วิธีบอกปากต่อปาก กับเอาตัวเข้าแลกใส่ตุ้มหูเสนอหน้าตามที่ต่าง ๆ ไปก่อน ยังไม่ได้ทุ่มเทโปรโมต เพราะอยากฟังฟีดแบ็กจากคนที่รู้จักรอบ ๆ ตัว คือเรียกว่ายังอยู่ในช่วง Soft Launch อยู่เลย แต่เท่านี้ก็ขายไปได้ 30 กว่าคู่ มีรายได้ประมาณ 800 เหรียญแล้ว ลูกค้าก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล เพื่อน ๆ และญาติโยมแถวนี้นี่เอง คือแค่ตอนนี้ก็ได้เงินทุนตั้งต้นคืนมาแล้วอะค่ะ แถมยังมีวัตถุดิบ และตุ้มหูที่ทำเก็บไว้ในสต็อกอีกเกือบร้อยคู่ เพราะปลายเดือนนี้จะไปออกบูทเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนของเมตตาอนีคา กะคร่าว ๆ ว่าน่าจะขายได้อีกสัก 25 – 30 คู่ นี่มีลิสต์ของเพื่อน ๆ และคนรู้จักที่จะแมสเสจไปบอก กับงานขายของที่จะไปตั้งบูทตอนซัมเมอร์กับปลายปีอยู่ในมือแล้ว คือถ้าบริหารจัดการดี ๆ น่าจะมีรายได้เข้ามาทุกเดือน แล้วถ้าคนรู้จักมากกว่านี้ ก็จะเอางานไปเสนอร้านเก๋ที่เล็งเอาไว้ จะได้มีออเดอร์ขายส่งเป็นเงินก้อนเข้ามาช่วยหมุนเวียนธุรกิจด้วย

อุ้ม สิริยากร กลับมาทำธุรกิจอีกครั้งกับตุ้มหูแบรนด์ OomPDX พร้อมเล่าทุกขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกิจในอเมริกา ที่จบได้ใน 30 วัน
อุ้ม สิริยากร กลับมาทำธุรกิจอีกครั้งกับตุ้มหูแบรนด์ OomPDX พร้อมเล่าทุกขั้นตอนการขออนุญาตทำธุรกิจในอเมริกา ที่จบได้ใน 30 วัน
ภาพ : instagram.com/OomPDX

ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้นเลยนะเนี่ย เป้าหมายต่อไป คืออยากมีรายได้เดือนละ 1,500 เหรียญ ซึ่งบางคนบอกว่าต่ำเตี้ยมาก แต่นั่นคือชั้นต้องขายตุ้มหูเกือบ 50 คู่เชียวนะ! ยิ่งถ้าขายส่งก็ได้เงินแค่ครึ่งเดียวอีก

มาลุ้นกันค่ะว่าจะทำได้ไหม เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ปีหน้าเดือนเมษาฯ จะมาเล่าเรื่องธุรกิจขายตุ้มหูนี่อีกครั้ง ไม่รู้ป่านนั้นจะเป็นคุณนายหรือกินแกลบแทนข้าวอยู่ แต่ก็สู้ต่อไปนะทาเคชิ! (จบงงแต่ไม่อายด้วย ฮ่า ๆ)

หมายเหตุ ตอนนี้กำลังศึกษาวิธีตั้งระบบให้ส่งขายต่างประเทศได้อยู่ แฟน ๆ ชาวไทยอดใจรออีกนิดนะคะ ถ้าใครสนใจก็ติดตามกันได้ที่ Instagram : OomPDX และเว็บไซต์ www.oompdx.com ค่า

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์