อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส คือนักแสดงมากความสามารถทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

เธอเป็นนักเขียน บรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ ที่มีแนวทางชัดเจนว่าอยากพูดเรื่องการใช้ชีวิตในรูปแบบหนึ่ง ถ้าให้คำจำกัดความแบบเห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ใช้ชีวิตแบบทางเลือก

เรื่องที่เธอเล่า ไม่ใช่แนวคิดหลักของโลกในช่วงนั้น แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยในหลายเมืองทั่วโลกกำลังคิดและเคลื่อนคล้ายกับเธอ

อุ้มแต่งงานกับ คริสโตเฟอร์ มาร์ควอร์ท (เธอตั้งชื่อไทยว่า สมคิด) สามีชาวอเมริกัน แล้วย้ายไปใช้ชีวิตครอบครัวแบบเรียบง่ายที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา นับเวลาได้เฉียด 10 ปี

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

พอร์ตแลนด์เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยการใช้ชีวิตแบบทางเลือกซึ่งก้าวหน้าที่สุดในอเมริกา ช่วงแรกอุ้มยังสื่อสารเรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจของพอร์ตแลนด์มาให้แฟนๆ อ่านผ่านตัวหนังสือ

ด้วยความประทับใจในสายตาและฝีมือ เธอจึงเป็นคอลัมนิสต์คนแรกๆ ที่ผมทาบทามมาเขียนให้ The Cloud

อุ้มมีลูกคนแรก น้องเมตตา ตอนอายุ 39 ปี และมีลูกคนที่สอง น้องอนีคา ตอนอายุ 42 ปี หลังจากมีลูกคนที่สอง ชีวิตการเป็นแม่เต็มตัวก็เริ่มกินเวลามากขึ้น การมีลูก 2 คนก็ใช่

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าก็คือ น้องอนีคามีปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพตั้งแต่เกิด และเป็นปัญหาที่ใหญ่ขนาดต้องรักษาไปตลอดชีวิต

ด้วยเวลาและพลังที่ลดน้อย ทำให้อุ้มขอถอยจากการเขียนหนังสือ

เดือนนี้อุ้มออกหนังสือใหม่พร้อมกัน 2 เล่ม นั่นคงเป็นสัญญาณว่า เธอน่าจะมีชีวิตที่ลงตัวขึ้น

เล่มแรกชื่อ Alternative Parenting เลี้ยงลูกทางเลือก ว่าด้วยทฤษฎีการเลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่อุ้มทั้งอ่าน ทั้งเรียน ทั้งลอง แล้วเอามาถ่ายทอดให้ฟัง

อีกเล่ม เป็นการแปลนวนิยายเรื่อง ผมเรียกเขาว่าเน็กไท

นับเป็นวาระอันดีที่จะชวนอุ้มมาคุยเรื่องชีวิตการเป็นแม่ทางเลือกที่พอร์ตแลนด์

อย่าเพิ่งคิดว่าเธอจะมาเล่าเรื่องเก๋ๆ 

ชีวิตการเป็นแม่ของเธอหนักหนากว่าที่หลายคนคิด

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

ตอนท้องเตรียมตัวเยอะแค่ไหน

โอ้โห บ้าเลือดมากค่ะ เป็นแม่เป็นอาชีพ ประหนึ่งเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ต้องเตรียมข้อมูล วางแผน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ เวลาทำสื่อเราวางแผนแล้วก็เป็นไปตามนั้น มีเดดไลน์ชัดเจน แต่พอมีลูกนี่มีความคาดเดาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ต้องอาศัยการเอาตัวรอดเยอะกว่าทุกงานที่เคยทำมาในชีวิต อยู่ใน Survival Mode (หัวเราะ) แต่เป็นประสบการณ์ที่พัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพขึ้นมาก

คนพอร์ตแลนด์เขาเลี้ยงลูกกันแบบไหน

มีตั้งแต่แบบ Free-range แบบเดียวกับที่เขาใช้เรียกไก่ ปล่อยลูกวิ่งเท้าเปล่าตามสวนสาธารณะ วิ่งมานี่คราบดินเกรอะกรัง แต่แม่เขามีฐานะมีการศึกษานะ ไปจนถึงแบบ Helicopter ลูกจะทำอะไรพ่อแม่ต้องเข้าไปควบคุมทุกอย่าง พ่อแม่บางกลุ่มที่นี่ก็ต่อต้านการบ้าน ครูให้การบ้านมาพ่อแม่ไม่ให้ทำ บอกไม่สนับสนุน อุ้มเคยเจอแม่คนหนึ่งบอกว่าจะไม่บังคับให้ลูกพูดคำว่าขอโทษหรือขอบคุณ ต้องให้รู้สึกเองถึงพูด เหวอเนอะ (หัวเราะ) โรงเรียนก็มีตั้งแต่สอนแบบวอลดอร์ฟ มอนเตสซอรี่ ไปจนถึงโรงเรียนประถมที่เหมือนโรงเรียนทหาร หลักสูตรจริงจัง เข้มงวด รูปแบบการเลี้ยงลูกที่นี่กว้างมาก บางทีแค่ไปสนามเด็กเล่นแถวบ้านก็จะเห็นหลายแบบเลย

แล้วคุณเลือกเป็นแม่แบบไหน

แบบอุ้มนี่แหละ (หัวเราะ) เพิ่งคุยกับเพื่อนเมื่อวันก่อนว่า เพิ่งรู้สึกตัวว่าเราเป็นเอเชียนอเมริกันเมื่อไม่นานนี้เอง เป็นฐานันดรหนึ่ง ไม่ใช่แค่เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัย แต่เป็นอเมริกันแบบเอเชียน มีวัฒนธรรมของเราเองที่ติดตัวมาด้วย ทำยังไงลูกจะไม่ใช้เท้าชี้สิ่งต่างๆ เพราะมันหยาบคาย ในขณะที่เพื่อนทั้งโรงเรียนชี้หมดเลย หรือการเล่นหัวพ่อแม่ซึ่งที่นี่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะบอกยังไงว่า ไม่ได้ค่ะ นี่เป็นของสูงนะ ลูกก็จะงงๆ เราเลยต้องหาความพอดี เลือกเอาแต่สาระที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับการเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสากลแบบที่เขากลับไปอยู่เมืองไทยก็ยังใช้ได้

ความเป็นแม่ของอุ้มมันมาเป็นแพ็กเกจ มีองค์ประกอบคือเป็นแม่ตอนอายุเท่านี้ กับสามีคนนี้ และที่พอร์ตแลนด์ ออริกอน ถ้าอุ้มแต่งงานกับคนอื่นแล้วอยู่ที่เมืองไทย ก็อาจจะไม่ได้เป็นแม่แบบนี้

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

ถ้าคุณมีลูกคนแรกตอนอายุสามสิบ คิดว่าจะเลี้ยงลูกต่างจากตอนนี้ยังไง

ต่างมากเลยนะ สามสิบนี่ยังแสดงเป็นแม่พลอย หน้ากลมๆ อยู่เลย มานึกดูตอนนี้ก็รู้สึกว่าตอนนั้นเรายังไม่ค่อยมีวุฒิภาวะเท่าไหร่ ช่วงที่ทำงานหนักที่สุดในชีวิตคือตั้งแต่เรียนจบถึงอายุสามสิบต้นๆ อุ้มเขียนไว้ในคำนำหนังสือว่า สมัยวัยรุ่นอยากมีลูกคนแรกตอนอายุยี่สิบแปด ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ จะไม่มีหนังสือเล่มนี้แน่ๆ เลี้ยงลูกทางหลักแน่ๆ (หัวเราะ) มันคงออกมาเป็นหนังสืออีกแบบหนึ่ง

ตอนอายุสามสิบเก้าก็ผ่านชีวิตมาประมาณหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าต้องมุ่งมั่นสร้างฐานะ หรือดิ้นรนจะประสบความสำเร็จในการงานเท่าไหร่แล้ว เลยมีเวลาทุ่มเทให้กับการเป็นแม่ มีอนีคาตอนอายุสี่สิบสอง แก่เนอะ (หัวเราะ) แต่บังเอิญว่าบ้าพลัง เลยยังพอไหว แล้วประสบการณ์ก็ช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วย

คุณหัดเลี้ยงลูกจากอะไร

หลักๆ คืออ่านหนังสือ แล้วก็ไปเข้ากลุ่ม ไปคลาสเท่าที่ทำได้ เราอยู่ที่นี่กันสองคน ไม่มีปู่ย่าตายายให้ถาม หรือไม่ได้เห็นว่าคนอื่นที่เมืองไทยเลี้ยงลูกกันยังไง ก็เรียนรู้ด้วยตัวเองกันไป

ช่วงที่มาอยู่พอร์ตแลนด์ใหม่ๆ คุณสนุกสนานกับการออกไปทำกิจกรรมและพบเจอคนทั่วเมือง พอมีน้องเมตตาชีวิตยังเป็นแบบนั้นอยู่ไหม

เรื่องความใกล้ชิดธรรมชาติยังคงเหมือนเดิม มีเมตตาไม่กี่อาทิตย์เราก็พากันไปเดินป่าขึ้นเขาแล้ว หลังบ้านเรามีเขา สิบนาทีก็ถึงป่า แต่กิจกรรมอื่นๆ ที่ทำเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ จากที่เคยไปเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยก็กลายเป็นไปเรียนภาษามือสำหรับเด็กทารก จากที่เคยไปกลุ่มเล่นอูคูเลเล่ก็กลายเป็นไปคลาสดนตรีเด็กเล็ก

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network
อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะช่วง Baby Hour แทนเวลาปกติ คือวันอังคารสิบโมงเช้าซึ่งพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างว่าง เขาเปิดให้พ่อแม่เอาเด็กเล็กๆ ใส่เป้ไปเดินดูงานศิลปะ ลูกยังไม่เข้าใจหรอก แต่พ่อแม่ได้ออกไปทำอะไรที่มันเจริญหูเจริญตาบ้าง ไม่ใช่อยู่แต่บ้าน ถ้าพาไปสถานที่อื่นๆ ก็กลัวลูกร้องไห้เสียงดัง แต่นี่คือช่วงเวลาที่พ่อแม่ทุกคนพาลูกมา เวลาพักทุกคนก็เอาลูกวางเปลี่ยนผ้าอ้อมกลางพิพิธภัณฑ์ แล้วก็เปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ ไปแต่ละครั้งก็จะเจองานที่ไม่ซ้ำกัน

ไปเรียนภาษามือเพื่ออะไร

เป็น Baby Sign Language หรือภาษามือสำหรับเด็กเล็ก เพราะกว่าเด็กจะพูดได้สื่อสารได้จริงจังก็ต้องสองขวบไปแล้ว แต่เด็กมีความรู้สึกนึกคิด มีความต้องการตั้งแต่แรกเกิด เพียงแต่ยังสื่อสารไม่ได้ จะทำยังไงให้พ่อแม่ลูกเข้าใจกัน ง่ายที่สุดก็คือใช้ภาษามือ ลองนึกถึงเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เราใช้ภาษามือ เด็กก็เหมือนกัน ภาษามือที่ไปเรียนนี่ดัดแปลงจากภาษามือของ American Sign Language แต่ทำให้ง่ายขึ้น สอนคำที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันอย่าง นม น้ำ ขออีก พอแล้ว เด็กกินอาหารวันละสามเวลา เราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกอิ่มหรือยัง ถ้าเขาไม่บอก แม่ก็อาจจะป้อนไปเรื่อยหรือเลิกป้อนโดยไม่ได้สื่อสารกัน

มันเป็นพื้นฐานสำคัญที่เราปฏิบัติกับเขาตั้งแต่ยังเล็กในฐานะของคนที่มีปากมีเสียง เราฟังเขา เขาก็จะรู้ว่าแม่ฟังเรา สิ่งที่เราพูดมีความหมาย เขาก็จะเคารพตัวเอง และเข้าใจว่าภาษาคือสัญลักษณ์และการสื่อสาร แล้วก็กลายเป็นคำพูดต่อไป ไม่ต้องกลัวว่าสอนภาษามือแล้วเด็กจะไม่พูด ลูกอุ้มนี่พูดเป็นต่อยหอยเลย

สอนแม่หรือลูก

สอนไปด้วยกัน สอนลูกและสอนแม่ เพราะต้องสื่อสารกัน สอนผ่านการร้องเพลง เล่นเกม ฟังไปด้วย ทำท่าไปด้วย บูรณาการ ตอนแรกเพื่อนบอกว่าให้เปิดวิดีโอแล้วทำตาม แต่ลูกอุ้มดูแล้วไม่ทำเลย เราเลยเข้าใจว่าปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับจอมันไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้เท่ากับเรียนจากการเจอหน้ากันจริงๆ

ชีวิตที่มีเมตตาสนุกขึ้นยังไงบ้าง

พูดจริงๆ เลยนะ ถามว่าสนุกไหม ไม่ได้สนุกขนาดนั้นนะ (หัวเราะ) อุ้มไม่มุสา ความรู้สึกของการมีลูกมีทั้งสุขใจ เหนื่อย ขำ เศร้า หนักอกหนักใจ มีความหวัง และชื่นใจ รู้สึกปนๆ กัน แต่ไม่ใช่ โอ๊ย สนุกจังเลย (หัวเราะ) คือเราใช้สัญชาตญาณในการเลี้ยงลูกมากซะจนไม่ได้มานั่งคิดว่า การเป็นแม่คนให้อะไรกับเราบ้าง ดียังไง เหมือนเรายังอยู่ในภาวะอะไรสักอย่างที่ยังไม่พ้นไป ตอนนี้อุ้มเพิ่งเป็นแม่มาได้เจ็ดปี เอาไว้ตอนลูกเข้ามหาวิทยาลัยกันหมดแล้วเรามาคุยกันอีกทีดีไหม (หัวเราะ) จะได้มองย้อนกลับไปว่า เราได้สร้างชีวิตคนยังไง

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

ตอนมีอนีคาชีวิตเปลี่ยนเยอะไหม

โอ้โห หัวทิ่มเลยค่ะ มันเหมือนกับเราจะคิดว่าทุกอย่างจะเป็นปกติหรือเหมือนกับที่เคยเป็น เมตตาออกมาปกติทุกอย่าง ไฝสักเม็ดยังไม่มีเลย แข็งแรงดี เจอหมอปีละหนตอนฉีดวัคซีนประจำปี ไม่ค่อยป่วยด้วย เราก็คิดแบบนั้นตอนจะไปคลอดอนีคา ดูในอัลตร้าซาวนด์ก็ไม่เจอความผิดปกติอะไรเลย จนอนีคาคลอดออกมาก็พบภาวะไม่ปกติที่เกิดน้อยมาก นางพยาบาลทำคลอดมายี่สิบห้าปีก็ไม่เคยเจอ หมอเคยเจอครั้งหนึ่งตอนเป็นนักเรียนแพทย์

พอลูกออกมาอย่างแรกอุ้มดูว่าเป็นเพศอะไรก่อน (หัวเราะ) แล้วค่อยดูหน้า พอมองหน้าก็เห็นเลยว่า ม่วงไปทั้งหน้า มีแค่รอบตาซ้ายเท่านั้นที่เป็นผิวปกติ ถามใครก็ไม่มีใครรู้ เดากันว่าเป็นรอยช้ำเดี๋ยวก็หาย แต่พอหมอมาถึงรู้ว่าเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งของ Sturge-Weber Syndrome เป็นความผิดปกติของยีน มีโอกาสเกิดหนึ่งในห้าหมื่น และจะเป็นไปตลอดชีวิต

ทีแรกเห็นแค่ปาน มีความหวังนิดหน่อยว่าไม่เป็นไรมั้ง แต่วันต่อมาก็เห็นต้อหินที่ตาขวา ภาวะของอนีคาคือ มียีนตัวหนึ่งทำงานผิดพลาดตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เลยกระตุ้นให้เซลล์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเส้นเลือดฝอยผิดปกติ กลายเป็นปานที่หน้า และเส้นเลือดฝอยที่ตาขยายตัวผิดปกติทำให้มีน้ำในตาเยอะมาก ระบายไม่ทันก็เลยกลายเป็นต้อหิน อีกเรื่องคืออาจจะส่งผลกับพื้นผิวสมองด้วย อาจจะต้องไปทำ MRI แต่ตอนนั้นหมอบอกให้รอก่อน

ตอนที่อุ้มนั่งอยู่กับลูกสองคนในห้องพัก จ้องหน้าลูก น้ำตาก็ไหลออกมา มันจะเป็นยังไงต่อไป อุ้มวันนี้กับอุ้มก่อนหน้านี้เป็นคนละคนกันแล้ว และอุ้มในอนาคตก็จะกลายเป็นอุ้มอีกคน

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

คุณหมอแนะนำให้รักษายังไง

หมอส่งไปหาหมอตาเฉพาะทางของเด็ก หมอวินิจฉัยว่าต้องผ่าตัด ตอนนั้นอนีคาอายุสามวัน ต้องทำเรื่องนัดผ่าตัด พออายุสิบวันก็ผ่าตัดครั้งแรก รักษาต้อหินในเด็กแรกเกิดนี่ยากที่สุด เพราะรักษาไปมันก็จะกลับมาใหม่ ร่างกายมนุษย์พยายามซ่อมแซมตัวเองตลอดเวลา ต้องรักษาไปเรื่อยๆ เป็นการต่อสู้ที่หนักมาก เพราะต้องเปิดตาเด็กไว้แล้วรักษา เด็กไม่ยอมให้ทำอยู่แล้ว ต้องวางยาสลบ แรกๆ ไปเดือนละสองหน

วิธีการรักษามีหลายแบบมาก ตอนนี้อนีคาโดนฝังวาล์วเล็กๆ ไว้ในตาเพื่อช่วยระบายน้ำและทำเลเซอร์ทำลายเส้นเลือดในตาบางส่วน แต่ว่าไม่จบเท่านี้ เพราะหมอบอกตั้งแต่แรกว่า เขาจะเป็นไปตลอดชีวิต การรักษาคือรักษาตามอาการ แรงดันขึ้นก็รักษา นั่นเป็นด่านหนึ่ง

ทำเลเซอร์ที่หน้าก็อีกด่านหนึ่ง ทุกครั้งที่ทำก็ต้องวางยาสลบอีกเหมือนกัน ครั้งล่าสุดที่ทำนี่เป็นครั้งที่เจ็ด ปกติก่อนจะส่งเข้าห้องผ่าตัดต้องให้เขากินยาตัวนึงทำให้เขาเบลอๆ ก่อนวางยาสลบ จะได้จำรายละเอียดต่างๆ ไม่ได้ ทีนี้อุ้มไปได้ยินมาว่าถ้าเราเข้าไปในห้องผ่าตัดด้วยไม่ต้องกินยานี้ก็ได้ อุ้มก็เลยขอหมอว่าอยากลองดู แต่กลายเป็นว่าเข้าไปแล้วเราต้องเป็นคนกดตัวอนีคาไว้เพราะเขาดิ้นไม่หยุด แล้วให้หมอใส่หน้ากากดมยาสลบ

จริงๆ คงเป็นแบบนี้ทุกครั้ง แต่อุ้มไม่เคยเห็น ครั้งนี้อุ้มเข้าไปด้วยถึงเห็น พอเสร็จออกมาหน้าห้อง อุ้มเข้าห้องน้ำปิดประตูร้องไห้อยู่นานมาก เพราะนี่คือครั้งที่ยี่สิบที่เขาโดนยาสลบ

ก่อนหน้านี้พยายามแยกความรู้สึกว่า เราจะอ่อนแอให้ลูกเห็นไม่ได้ ลูกจะได้สบายใจ แต่ครั้งนี้มันปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ครั้งที่ยี่สิบแล้วนะ (เน้นเสียง) แต่ก่อนนี้ลูกยังเล็กก็ไม่รู้ว่าเขาจำอะไรได้บ้าง แต่เดี๋ยวนี้พูดเก่งแล้ว พอออกมาก็บอกว่า หนูไม่อยากไปหาหมอคนนี้แล้ว หนูกลัว แม่อยู่กับหนูตลอดเลยได้ไหม ก่อนเข้าไปในห้องเขาก็ถามตลอดว่า เขาจะไม่ทำหนูเจ็บใช่ไหม แล้วอุ้มจะบอกได้ยังไงล่ะว่า ไม่หรอกลูก เพราะเขาจะทำ ออกมานี่หน้าเยิน เป็นจุดๆๆ สีม่วง เหม็นไหม้ ดูไม่ได้เลย

มันไม่ง่ายนะ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะมีตัวอย่างจากที่เราเห็นมาว่าคนอายุสามสิบสี่สิบที่ไม่ได้เลเซอร์ อาจจะเพราะเมื่อก่อนนี้เลเซอร์ไม่ได้ก้าวหน้า หรือไม่ได้ทำ ตอนนี้จากปานแดงกลายเป็นสีดำหนาเป็นปื้น แล้วหน้าผิดรูปไปเลย มันเป็นสิ่งที่ไม่ทำไม่ได้ ส่วนเรื่องต้อหิน ถ้าไม่ผ่าตัดตาก็จะตาบอดแน่ๆ ก็ต้องคอยไปให้หมอตาเช็กตลอด ไม่รู้ว่าต้องฝังวาล์วอีกอันหรือเปล่า แล้วก็อาจจะมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เพราะเราทำอะไรกับลูกตาเยอะ บางคนในที่สุดก็ต้องผ่าตัดเอาลูกตาออกแล้วใส่ตาเทียม คือเรารู้สึกเหมือนหลังชนฝาตลอดเวลา

ปัญหาของอนีคาทำให้ชีวิตคุณหม่นหมองลงไหม

มันผ่านช่วงดิ่งสุดๆ ไปแล้ว ตอนนั้นโกรธทุกคน ทุกคนที่ไม่มีปาน คนที่ตาดีสองข้างไม่ต้องใส่แว่น ไม่ต้องถูกวางยาสลบทุกเดือน ไม่ต้องหยอดยาห้าหกชนิดหลังผ่าตัด แต่ผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไปนะ (เว้นจังหวะ) ก็ได้เห็นว่าเรามีอารมณ์แบบนี้ เห็นใครเข็นลูกหน้าใสตาสีฟ้าผ่านมานี่แบบอารมณ์เสีย (หัวเราะ)

ช่วงนั้นยังเป็นช่วงทำใจ อนีคายังเล็กมาก เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสมอง จะเป็นลมชักไหม ถ้าชักก็ไม่รู้จะมีผลข้างเคียงอะไรตามมา บางคนเป็นเป็นอัมพาต บางคนชักจนควบคุมไม่ได้ต้องผ่าตัดสมองออกครึ่งหนึ่ง หรือพัฒนาการล่าช้า พิการไปเลยก็มี เดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น มีความเป็นไปได้หลายอย่างมาก

ตอนอนีคาเล็กๆ เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อนีคาชอบยักไหล่ เราก็ตกใจนึกว่าชัก รีบหยิบโทรศัพท์ เพราะหมอบอกว่าถ้าชักให้ใช้โทรศัพท์ถ่ายวิดีโอไว้ จะได้ให้หมอดูอาการและจับเวลาไว้ด้วย เหมือนเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะมีแผ่นดินไหว ไม่รู้ว่าจะไหวเมื่อไหร่ กี่มาตราริกเตอร์ เราต้องวางแผน ซ้อม คิดสถานการณ์ร้อยแปดที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องซ้อมกับเมตตาด้วย คุณแม่จะเอาน้องวางตรงนี้นะ เมตตาวิ่งไปหยิบยาตรงชั้นมาให้แม่ แล้ววิ่งไปบอกเพื่อนบ้าน อะไรแบบนี้

คุณผ่านช่วงนั้นมาได้แล้ว

ผ่านช่วงที่กังวลมากๆ มาแล้ว ตอนนี้ผ่อนคลายขึ้นประมาณหนึ่ง แต่ความกลัวลึกๆ ไม่หายไป แล้วก็มีความกังวลใหม่คือ อนีคาเริ่มเข้าโรงเรียน เขาจะเป็นยังไงในสังคมใหม่ แต่ดีที่อนีคาเป็นคนร่าเริง ตอนนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติอะไรจากคนรอบตัว

อนีคาทำให้อุ้มได้ฝึกฝนตัวเอง ได้เรียนรู้ชีวิต เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเราอย่างมาก เห็นเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาเป็นคนสบายๆ เป็นธรรมชาติ หัวเราะร่าเริง ไม่ย่อท้ออะไรง่ายๆ ได้เห็นว่าเราทุกข์กว่าลูกอีก

เมตตารู้ไหมว่าน้องมีปัญหาสุขภาพ

เขาอาจจะไม่รู้เพราะเขาเป็นเด็ก อาจจะไม่ได้คิดมาก เมตตาเคยพูดว่า เวลาอนีคาไม่ใส่แว่นดูแปลกๆ เนอะ เวลาวาดรูปอนีคาต้องมีแว่น แล้วก็แก้มแดงๆ

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

คริสโตเฟอร์ช่วยอะไรคุณบ้าง

เขาขอมีเอี่ยวทุกเรื่อง เขาชอบมีส่วนร่วม ช่วยทุกอย่าง ตั้งแต่ตั้งใจร่วมกันที่จะมีลูก เรานั่งคุยกันเยอะมากว่าอยากปลูกฝังอะไรในตัวลูก พอลูกเกิดมาก็ช่วยทำทุกอย่างยกเว้นให้นมกับพาไปโรงพยาบาลซึ่งเขาไม่ค่อยชอบ นอกนั้นเขาทำทุกอย่าง

อยากปลูกฝังอะไรในตัวลูก

อยากให้เป็นคนเข้มแข็ง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รับผิดชอบต่อสังคม มีสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความสามารถอะไร แล้วก็แบ่งปันสิ่งนั้นกับโลก เขาเกิดมาควรจะทำให้โลกนี้ดีขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วก็เป็นหน้าที่ของเราสองคนพ่อแม่ที่ต้องทำให้โลกนี้ดีขึ้นด้วยการเลี้ยงเด็กสองคนนี้ให้เป็นคนที่มีคุณภาพต่อโลก ไม่เบียดเบียน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องตัวเองด้วย

ยุคนี้คนจำนวนมากไม่อยากมีลูกเพราะไม่อยากให้ลูกเกิดมาเจอโลกที่โหดร้าย คุณคิดว่ายังไง

มีคนบอกว่าสังคมแย่เพราะคนดีท้อถอย ถ้าเรามีกำลัง มีความพร้อม มีสติปัญญาที่เราเชื่อว่า จะเลี้ยงลูก สร้างครอบครัว สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพได้ ทำไมเราจะไม่ทำ ถ้าเหลือแต่คนที่มีลูกโดยไม่คิดอะไร เลี้ยงแบบตามมีตามเกิด เราก็จะได้สังคมที่กระพร่องกระแพร่ง

อุ้มว่านี่คืองานของอุ้ม ณ ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่งานในสื่อ แต่เป็นงานในโลก ซึ่งไม่ได้เห็นผลในระยะสั้น แต่ทุกวันนี้เขาเป็นเด็กสองคนที่เริ่มสร้างสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบตัวได้บ้างแล้ว

มีเพื่อนคนหนึ่งกำลังจะคลอด เราคุยกันเรื่องโคโรนาไวรัส สถิติคนคุ้มคลั่งจากยาเสพติดในพอร์ตแลนด์ อุ้มถามว่าเขารู้สึกยังไงที่ลูกคุณกำลังจะออกมาดูโลกในช่วงเวลาที่โลกเหมือนจะวิกฤต ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด เขาบอกว่า เขาทำงานกับโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคจิต เชื่อเถอะว่า โลกนี้มีคนที่พยายามจะแก้ปัญหา มีคนคิดดีทำดีมากกว่า ไม่งั้นสังคมอยู่ไม่ได้หรอก อุ้มก็เชื่อแบบนั้น

เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เรามอบให้ลูก คือสิ่งที่เขาอยากได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้

ไม่รู้เลยจนกว่าจะให้ลอง ถ้าลองแล้วชอบก็ส่งเสริมต่อไป สิ่งที่เราทำได้คือให้โอกาสและชี้นำ เลี้ยงลูกแบบ Free-range ก็สุดโต่งเกินไป ให้อิสระกับเด็กในการเรียนรู้ตัดสินใจเป็นสิ่งดี แต่จะปล่อยวิ่งไปทั่วแย่งของคนอื่นเล่น แล้วบอกว่าให้ลูกหัดยุติความขัดแย้งในสนามเด็กเล่นด้วยตัวเองตั้งแต่ยังพูดไม่ชัดนี่ก็ไม่ใช่เรื่องแล้ว เด็กเล็กต้องการการชี้นำด้วย แต่ก็ไม่ใช่โอบอุ้มมากเกินไป ทีนี้ถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไรแน่ อุ้มว่าก็ต้องให้เขาทำไปจนถึงจุดหนึ่ง อุ้มไม่เชื่อเรื่องแบบ ไม่ชอบก็ไม่ต้องทำแล้วลูก นั่นก็ไม่ใช่

เมตตาไปเรียนบัลเลต์ตั้งแต่สามขวบ มีช่วงหนึ่งทุกวันเสาร์ต้องลงไปดิ้นกับพื้นจะไม่ไปเรียน แต่พอไปก็ชอบนะ แค่ไม่อยากออกจากบ้าน อุ้มก็กัดฟันสู้เพราะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัลเลต์ แค่เราต้องก้าวพ้นประตูให้ได้ เราต้องมีช่วงดำอึด ไม่ใช่ว่าลองโน่นลองนี่ ไม่ชอบนิดหนึ่งก็เลิก ต้องใช้ความพยายามจนถึงที่สุดด้วย ตอนนี้เมตตาอายุจะเจ็ดขวบแล้ว เขาชอบบัลเลต์มาก อุ้มเลยพาไปดูการแสดงเป็นเรื่องเป็นราว คุยกับเขาว่าอยากแสดงไหม ถ้าอยากขึ้นไปอยู่บนเวทีก็ต้องเริ่มตั้งเป้าหมาย ไม่ใช่เรียนๆ เล่นๆ ไปเรื่อยๆ

อีกอย่างที่ให้เล่นคือฟุตบอล เพราะจะได้รู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น ตอนใหม่ๆ ก็มีลงไปดิ้นเหมือนกัน แต่ผ่านไปหลายปี พาไปดูแข่งฟุตบอลที่สนามด้วย ตอนนี้เมตตาเป็นดาวยิงเลย แต่ก็รู้จักส่งบอลให้เพื่อน แล้วชั่วโมงหนึ่งนี่วิ่งไม่หยุด คือได้ฝึกทั้งเรื่องความพยายามและความสามารถเพิ่มมาอีก สุดท้ายถ้าเรารู้ว่าให้ลูกลองทำอะไรเพราะอะไร เราเองจะมั่นคงและส่งเสริมในสิ่งที่ถูกต้อง

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

เวลามีลูกน่ารักๆ หลายคนชอบอวดลูกลงโซเชียลมีเดีย แต่คุณกลับทำตรงข้าม

อุ้มเลิกเล่นเฟซบุ๊กเมื่อสองปีที่แล้ว เพราะไปพิมพ์คำว่าน้องเมตตา รูปเมตตาก็ขึ้นมาเต็มอินเทอร์เน็ตเลย เราไม่ได้ขอลูกเลยว่าโพสต์ได้ไหม ที่ผ่านมาเราเลี้ยงลูกด้วยความคิดว่า เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของเขา แต่กลับโพสต์เฟซบุ๊กเอาๆ มันก็ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ เลยเลิกเล่นดีกว่า

การที่โลกออนไลน์รู้จักลูกเรา หลายคนก็มองในแง่ดีว่าเป็น Influencer นะ

อุ้มไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้ไง (หัวเราะ) คือบ้านไกล เดินทางลำบาก (หัวเราะ) ก็เลยไม่ได้มีปัจจัยนั้น คิดเล่นๆ ว่าถ้าเมตตาอนีคากลับเมืองไทย แล้วอยู่ดีๆ มีคนเดินมาทัก ลูกคงจะงงมากๆ

ตอนนี้รูปตัวเองคุณก็ไม่ได้โพสต์แล้ว

สุดท้ายเราอาจจะเป็นคนขี้รำคาญก็ได้ เรื่องหยุมๆ หยิมๆ คนก็ยังทักกันเรื่องอ้วนเรื่องผอม เป็นปัญหาของอุ้มเอง ก็ไม่เล่นดีกว่า โพสต์สุดท้ายที่ลงรูปครอบครัว ซึ่งเราก็รู้สึกว่าค่อนข้างดูดีแล้วนะ แต่คนก็บอกว่า ทำไมอุ้มโทรมจัง คือเขาเอาไปเทียบกับตอนอายุสามสิบที่เล่นเป็นแม่พลอย ตอนนี้อุ้มอายุสี่สิบหกแล้ว ขอโทษด้วยที่แก่ (หัวเราะ) แต่มันช่วยไม่ได้จริงๆ ที่แก่ขึ้นสิบหกปีจากตอนเป็นแม่พลอย

หรือคนยังติดภาพคุณในวงการบันเทิงที่ทุกคนต้องดูดีตลอดเวลา

อุ้มเชื่อว่ารูปนั้นอุ้มดูดีนะ (หัวเราะ) บางคนก็บอกว่าหน้าตาสดใส มีความสุขจังเลย ครอบครัวน่ารักจังเลย แต่บางคนก็บอกว่าหน้าโทรมจังจำแทบไม่ได้ คือเอาจริงๆ มันก็ไม่ใช่รูปอุ้มหรอกที่คนเห็น แต่เป็นเสียงสะท้อนจากในจิตใจคนที่เห็นรูปเรามากกว่า คือเฟซบุ๊กมันสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนต้องมีปฏิกิริยากับรูปที่เห็นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ คือเปิดมาแล้วต้องรู้สึกหรือต้องทำอะไรสักอย่าง กดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ อะไรก็ว่าไป อุ้มแค่รู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้นอีกต่อไปแล้วก็เลยเลิกเล่น นานๆ ทีก็ส่งรูปไปให้คุณตาคุณยายดูบ้าง

คุณไม่อยากมีสถานะเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว

ท้ายที่สุดคนเราจะเป็นคนสาธารณะหรือไม่มันอยู่ที่เราเลือกว่าจะเป็นหรือไม่เป็น อุ้มก็อยู่ของอุ้มเงียบๆ ที่นี่มาแปดเก้าปีแล้ว ถ้าจะมีความผูกพันกันก็ผูกพันเรื่องผลงานดีกว่า จริงๆ ก็อยากให้เป็นแบบนี้มาตลอดนะ อุ้มชอบการแสดง แต่ไม่ชอบชีวิตของการเป็นดารา ที่ผ่านมาไม่เคยทำตัวถูกเลย อุ้มเป็นคนที่เรียกว่า Outgoing Introvert เป็นคนเก็บตัวที่กล้าแสดงออก คนทั่วไปหรือเพื่อนจะบอกว่าเราเป็นมิตร เข้ากับคนง่าย แต่โดยธรรมชาติอุ้มไม่ชอบอะไรเยอะๆ บางคนชอบเจอคนเยอะๆ แต่อุ้มชอบคุยกับเพื่อนคนสองคนแล้วคุยกันลึกซึ้งจริงจัง ไม่ใช่ไปเฮฮากับคนเยอะๆ แล้วกลับบ้านมาโดยที่รู้สึกเหมือนไม่ได้คุยกับใครเลย

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

เราจะได้เห็นคุณในวงการบันเทิงอีกไหม

(คิดนาน) ไม่รู้จริงๆ ค่ะ มีคนติดต่อมาเหมือนกันจะให้กลับไปเล่นบทแม่ในซีรีส์เรื่องหนึ่ง ทีแรกเกือบจะกลับไปเล่นอยู่แล้ว แต่พอดีลูกเปิดเทอม (หัวเราะ) เลยไม่ได้ไป ถ้ามีจังหวะเหมาะๆ ก็อยากเล่นนะ อยากเล่นอะไรที่นี่ด้วย อยากรู้ว่าการทำงานในธุรกิจบันเทิงที่นี่เป็นยังไง แต่ต้องถ่ายแต่ตอนกลางวันนะ กลางคืนต้องเอาลูกเข้านอน (หัวเราะ)

หลังจากหายจากวงการหนังสือไปนาน กลับมาออกหนังสืออีกครั้งรู้สึกยังไงบ้าง

โอ๊ย (ลากเสียง) ชื่นใจ เราเป็นสื่อนะ มันอยู่ในสันดาน อุ้มสนุกกับการสื่อสารกับคนจำนวนมาก สื่อสารในกลุ่มคนเล็กๆ ก็สนุก ชอบคุยกับคน แล้วก็ชอบทำอะไรที่มันออกไปถึงวงกว้างด้วย ถ้ามีอะไรดีต้องบอกต่อ ปากโป้ง (หัวเราะ)

แปลว่าเราจะได้เห็นหนังสือของคุณอีกเรื่อยๆ

ตอนนี้กำลังแปลอีกเล่มหนึ่ง เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เขียนจากเรื่องจริงช่วง ค.ศ. 1930 – 1950 เกี่ยวกับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เมมฟิส รัฐเทนเนสซี มีการลักพาตัวเด็กเป็นพันๆ คน หยิบไปจากข้างถนนเลย เอาไปขายให้คนรวย เป็นอีกแนวหนึ่ง ไม่เหมือน ผมเรียกเขาว่าเน็กไท ที่จะเป็นแนวนามธรรมเท่ๆ

ช่วงนี้สนใจเรื่องอะไรบ้าง นอกจากเลี้ยงลูก

สนใจที่จะไม่ป่วย เป้าหมายชีวิตสั้นมาก พยายามไม่คิดอะไรที่ผูกมัดหรือผูกพันยาวนาน ยังไม่เริ่มต้นทำธุรกิจแน่ๆ เพราะยังคาดเดาอะไรไม่ได้ เคยอยากสอนทำอาหารไทยมังสวิรัติที่นี่ แต่ยังคิดอยู่ว่าทำในรูปแบบไหน นี่ก็เป็นการสื่อสารอีกเรื่องของอุ้มนะ เราโตมากับครกกับเตาถ่านในครัวของคุณย่า คืออาหารไทยแท้ๆ อุ้มรู้สึกว่าร้านอาหารที่นี่ถ้ามีเมนูที่เขียนว่าไทยอะไรสักอย่าง ต้องใส่น้ำจิ้มสะเต๊ะ (Peanut Sauce) มันใช่เหรอ (หัวเราะ)

อยู่พอร์ตแลนด์มา 9 ปี อะไรคือสิ่งที่คุณเปลี่ยนไปมากที่สุด

หนังหนาขึ้นมั้งคะ (หัวเราะ) คืออยู่เมืองไทยก็รู้สึกเป็นคนนอกประมาณหนึ่ง แต่มาอยู่ที่นี่คือเป็นคนนอกแบบสมบูรณ์ แต่อยู่ได้ไม่เดือดร้อน อีกอย่างคือไม่วัตถุนิยม ก็ยังต้องใช้วัตถุอยู่นะ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับยี่ห้อ อันนี้หายไปโดยสิ้นเชิง เอากระเป๋าแบรนด์เนมมาถือแถวนี้นี่เด๋อมากเลย การแต่งตัวที่น่าสนใจของที่นี่คือ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ไม่ใช่น่าสนใจเพราะแพง แล้วอุ้มก็ออกไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติเยอะขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว ต้องแตะโดนสีเขียว ต้องอยู่ในที่ที่มีสีเขียวสม่ำเสมอ

อาจเป็นเพราะคริสโตเฟอร์ พอร์ตแลนด์ แล้วก็การเป็นแม่คน สามอย่างนี้ทำให้อุ้มเป็นคนเคารพกฎ คิดเยอะ คิดถึงผลกระทบจากการกระทำของเรา กล้าลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำไม่ว่าจะผิดหรือถูก คริสโตเฟอร์เป็นคนที่ยอมหักไม่ยอมงอ เขาไม่หยวนๆ น่า กฎก็คือกฎ อุ้มต้องปรับตัวพอสมควร ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกด้วย ที่นี่ถ้าทำผิดจะโดนลงโทษแพง จอดรถเกินไปหกนาทีโดนปรับไปสองพันกว่าบาท

มีครั้งหนึ่งขับรถในเขตชุมชนแล้วลืมลดความเร็ว ใบสั่งมาที่บ้านโดนปรับไปเกือบเจ็ดพันบาท ภาพถ่ายที่ส่งมามีเมตตานั่งอยู่ในรถด้วย ตอนที่ไฟแฟลชถ่ายรูปสว่างวาบขึ้นมา เมตตาตกใจมาก ถามว่าแม่ทำอะไรผิด ก็บอกเขาไป หลังจากนั้นเมตตาจะคอยเช็กความเร็วตลอด แม่ยี่สิบห้าแล้ว สามสิบห้าแล้ว เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสมองเขาแล้วว่าห้ามขับรถเกินความเร็วที่กำหนด มีการควบคุมจริงจัง ค่าปรับสูงพอที่ทำให้รู้สึกว่าแพง ทำให้อุ้มไม่เคยลืมถนนเส้นนั้นเลย มันได้ผลมากในการเปลี่ยนพฤติกรรมคน แล้วกรณีอุ้มนี่เปลี่ยนทีสองรุ่นเลย

อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท คุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกแบบทางเลือกที่พอร์ตแลนด์ผู้เลิกใช้ Social Network

คุณสอนความเป็นไทยอะไรให้ลูกบ้าง

สอนรำไทย ตอนเด็กอุ้มเรียนรำไทย ก็อยากให้เขาได้เรียนจะได้เปรียบเทียบว่าต่างจากบัลเลต์ยังไง อุ้มอ่านบทสัมภาษณ์พิเชษฐ กลั่นชื่น เขาบอกว่าให้ลูกไปเรียนบัลเลต์ก่อน เพราะพื้นฐานตะวันตกแน่นมาก ของไทยเป็นเรื่องความสง่างาม อ่อนช้อยสวยงาม อุ้มเห็นด้วยนะ อีกอย่างที่รู้สึกคือ รำไทยมีจริตจะก้านมากกว่า เวลารำมีการลอยหน้าลอยตา ซึ่งการแสดงออกของบัลเลต์จะเป็นอีกอย่าง

สอนภาษาไทยไหม

อุ้มพูดกับลูกด้วยภาษาไทยตลอดตั้งแต่เขาเกิด เขาเลยเข้าใจทุกอย่างแต่พูดตอบเป็นภาษาอังกฤษ คงเพราะคนรอบตัวเกือบทั้งหมดพูดโดยเฉพาะพ่อไม่ได้พูดภาษาไทย แต่คริสโตเฟอร์ไปเอเชียมาเยอะ แล้วก็เคารพความเป็นเอเชีย เขาก็เห็นด้วยเวลาอุ้มสอนเรื่องกิริยามารยาทต่างๆ เราสวดมนต์ด้วยกันทุกคืนก่อนนอน แล้วก็กินอาหารไทยเยอะ สอนเมตตาทำไข่พะโล้ด้วย เขาทำเป็นแล้วนะ อุ้มโตมากับคุณย่าด้วยการทำอาหาร ลูกสองคนก็ต้องทำอาหารจะได้ความรู้นี้ไปด้วย เมตตาชอบกินไข่พะโล้ ถ้างั้นต้องทำให้เป็น จะได้ทำกินได้ หกขวบเขาก็ทำอาหารได้แล้ว อย่าคิดว่าเด็กเกินไป ถ้าเขาสนใจก็ส่งเสริมได้เลย อนีคานี่ชอบเข้าครัวอยู่แล้ว เดี๋ยวโตอีกหน่อยก็จะให้หัดทำกับข้าวเหมือนกัน

วันนี้ สิริยากร พุกกะเวส คือใคร

คือ สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท ที่มีลูกสองคน เพิ่งออกหนังสือสองเล่ม นี่คือปัจจุบันที่สุดของอุ้มแล้ว ตัวเราก็คือปัจจุบันและสิ่งที่ทำมาทั้งหมดในอดีต สิริยากร พุกกะเวส คืออุ้มที่เกิดมา มาร์ควอร์ทที่เพิ่มเข้ามาคือครอบครัวใหม่ที่อุ้มสร้าง อยู่ที่นี่แทบไม่มีใครรู้เลยว่าอุ้มชื่อ สิริยากร ไม่ได้บอกด้วยซ้ำ สงสารเขา แค่ออกเสียงชื่ออุ้มยังยากจะแย่อยู่แล้ว อยู่ที่นี่อุ้มคือ อุ้ม มาร์ควอร์ท

แฟนๆ The Cloud จะได้อ่านคอลัมน์คุณภาพชีวิต ของคุณอีกครั้งเมื่อไหร่ คุณหายไปปีกว่าแล้วนะ

โดนทวงงาน (หัวเราะ) ทีแรกอยากเขียนถึงเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องถ้วยอนามัย ที่นี่เริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีแต่คนพูดเรื่องผ้าอ้อมทิ้งห้าร้อยปีไม่ย่อยสลาย แต่ผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยนานกว่าเด็กใช้ผ้าอ้อมเป็นสิบๆ ปี ถ้วยอนามัยช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะมาก เอาเรื่องนี้ไหม

เอาครับ

ลงในวาระวันสตรีสากล อาทิตย์นี้เลยไหม

แต่มันอีกสองวันเองนะ จะเขียนทันเหรอ ปกติใช้เวลาเขียนคอลัมน์หลายวันอยู่นะ

น่าจะทัน ลองดู

* หลังจากสิ้นสุดการสัมภาษณ์ 12 ชั่วโมงต่อมา เธอก็ส่งต้นฉบับเรื่องถ้วยอนามัยมาให้ด้วยความรวดเร็ว จากที่ตั้งใจจะปิดท้ายบทสัมภาษณ์นี้ว่า ให้รออ่านคอลัมน์ตอนใหม่ของอุ้ม เลยต้องเปลี่ยนจบลงตรงที่ ถ้าใครคิดถึงเธอ ขอเชิญเข้าไปอ่านคอลัมน์ คุณภาพชีวิต ที่เธอเขียนส่งตรงมาจากพอร์ตแลนด์ได้เลย

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์