แม้ปีนี้สถานการณ์ COVID-19 ทำให้การไปเยี่ยมบูทสำนักพิมพ์โปรด และต่อคิวขอลายเซ็นนักเขียนในดวงใจต้องขยับออกไปอีก Online Book Market ศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 24 ชั่วโมง จึงเกิดขึ้นเอาใจหนอนหนังสือ ก่อนหยิบถุงผ้าใบโตตามไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 เช่นเคย

นี่คือ 10 รายชื่อหนังสือที่พวกเราหยิบเข้าตะกร้าในช่วงนี้ และอยากแนะนำต่อ 

อย่าไปมองกองดองกองเดิม มาเติมเล่มใหม่เข้าตู้ ลองเลือกดู ถ้าชอบเล่มไหน เราก็ปักลายแทงไว้ให้พร้อมแล้ว

หมวด วรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยาย

01 ด้วยรักและผุพัง

ด้วยรักและผุพัง
ผู้แต่ง : นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์
สำนักพิมพ์ : Salmonbooks
จำนวนหน้า : 288 หน้า
ผู้แนะนำ : ปาริฉัตร คำวาส
พิกัด : https://bit.ly/3euwhvz

11 เรื่องสั้นคล้ายหนังชีวิตที่สะท้อนความเป็นจีน จากผู้เขียนลูกครึ่งจีนแคะ-จีนกวางตุ้ง ทุกเรื่องไม่ใช่การก่นด่า จำนน ศิโรราบ หากแต่เป็นการมองอย่างทะลุปรุโปร่งถึงด้านที่ลูกหลานชาวจีนไม่เคยพูดถึง ล้วนแต่เป็นเรื่องสามัญที่เรียกอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก ทั้งการกดทับทางสังคมชายเป็นใหญ่ ความอาทรที่มาพร้อมความกดดันเพราะอยากเห็นลูกหลานได้ดี พิธีกรรมในวันมงคลที่ซ่อนความจริงอันร้าวราน ไปจนถึงความรักและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

ถึงจะเล่าความเป็นจีน แต่คนไทยอย่างเราอ่านแล้วก็อิน-เข้าใจในบริบทสังคมของพวกเขามากขึ้น

และถึงจะผุพังอย่างไร แต่ความรักในรากเหง้าที่เราสัมผัสได้ ยังมั่นคงแข็งแรง

02 วันที่แม่ไม่อยู่

วันที่แม่ไม่อยู่
ผู้แต่ง : ชินคยองซุก (Shin Kyung-sook)
ผู้แปล : วิทิยา จันทร์พันธ์
สำนักพิมพ์ : แพรว
จำนวนหน้า : 248 หน้า
ผู้แนะนำ : สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี
พิกัด : https://bit.ly/2QhH6sP

แม่ (น.) หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน

นั่นคือนิยามศัพท์ตามหลักราชบัณฑิตยสถาน แต่นิยามคำว่าแม่ในหนังสือ วันที่แม่ไม่อยู่ อาจให้คุณค่ากับคำนี้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยถึงปานกลาง เพราะวรรณกรรมแปลเรื่องดังจากเกาหลีใต้เล่มนี้ จะพาคุณไปพบกับเรื่องแม่ๆ ตั้งแต่แบบแสนธรรมดาสามัญ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่กระทบได้ทั้งใจและต่อมน้ำตา เพื่อเน้นย้ำว่าการมีอยู่ของมนุษย์เพศหญิงที่มีคำว่า ‘แม่’ สลักหลังนั้นสำคัญขนาดไหน 

อาจมีหญิงสาวที่อุทิศทั้งชีวิตให้กับการดูแลเด็กน้อยคนหนึ่ง และแลกความสุขเล็กๆ กับความทุกข์ของตัวเอง หญิงวัยกลางคนที่มีคำติดปากว่า ‘ขอโทษ’ ทั้งที่ไม่เคยทำผิด ไปจนถึงหญิงชราที่เราอาจพบว่าเธอสำคัญ ในวันที่หายจากโลกนี้ไปแล้ว

โชคดีที่วันนี้แม่ยังอยู่

03 Cat on a Cold Flesh Heart

Cat on a Cold Flesh Heart
ผู้แต่ง : อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัด
จำนวนหน้า : 50 หน้า
ผู้แนะนำ : ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ
พิกัด : https://bit.ly/3xubOPT 

นี่คือหนังสือแห่งการบอกรัก

เมื่ออ่านชื่อหนังสือ Cat on a Cold Flesh Heart ทีแรกก็หวาดเสียว ว่าเจ้าแมวเหมียวที่มีหัวใจเย็นเฉียบเป็นเช่นไร อาจจะเป็นเรื่องราวแมวสยองขวัญ แล้วมันจะเป็นหนังสือรักไปได้อย่างไรกัน (คิดไปเองนานาจิตตัง) แต่เมื่ออ่านคำโปรยที่ปกหลัง กลับพบว่านวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้คือยาชั้นดี ที่ช่วยปลอบประโลมความเจ็บปวด 

เรื่องราวเริ่มต้นจากการพบกันในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสของชายหญิงคู่หนึ่ง มีบทสนทนาต่อกัน แต่แล้วหนังสือเล่มนี้ก็พาเราไปไกลกว่านั้น สานต่อความรู้สึกลึกซึ้ง จนทำให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจได้ภายในระยะ 50 หน้ากระดาษ และคงไม่กล่าวเกินไป หากจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสือแห่งความรัก ความใส่ใจ ซึ่งใช้บอกรักใครสักคนได้

04 สาวไห้

สาวไห้
ผู้แต่ง : วิตต์ สุทธเสถียร
สำนักพิมพ์ : แซลมอน
จำนวนหน้า : 256
ผู้แนะนำ : นิรภัฎ ช้างแดง
พิกัด : https://bit.ly/3aLgOWE

78 คือจำนวนขวบปีที่ สาวไห้ นวนิยายจากปลายปากกาของ วิตต์ สุทธเสถียร ทอดระยะห่างจากการตีพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง นี่จึงไม่ใช่หนังสือใหม่แกะกล่องชวนว้าว แต่เป็นหนังสือเก่าทรงคุณค่าที่น่าหลงใหล

สาวไห้ เล่าเรื่องราวชีวิตรักของ ยายจุ๋ง-กรรณิการ์ บุษราคัม แม้ใช้ตัวละครหญิงดำเนินเรื่อง คล้ายนวนิยายจำนวนไม่น้อย แต่ความคิดก้าวหน้าผิดสมัย ทั้งเรื่องบทบาททางเพศและการปฏิเสธคุณค่าทางศีลธรรมของโลกเก่า ซึ่งเป็นรสชาติแห่งยุคสมัยที่วิตต์ใส่ลงไปอย่างกลมกล่อม ทำให้ สาวไห้ โดดเด่นออกมาจากเรื่องอื่นๆ ในบรรณพิภพ และส่งกลิ่นอายของสังคมไทยช่วงสองทศวรรษสุดท้ายก่อนกึ่งพุทธกาลได้อย่างสมบูรณ์

“อิสระเสรีภาพ ประตูชัยแห่งชีวิต ความสุขสำราญที่อุ่นเหมือนแดดอ่อน-เหล่านี้อยู่ในกำมือที่เราสามารถจะบังคับมันได้ทั้งสิ้น แต่ความรักกลับฉวยโอกาสมัดมือเราเสีย-”

ยิ่งได้ลีลาฉวัดเฉวียน กลวิธีการเล่าเรื่องตัดสลับฉากระดับเซียน ชวนฉงนแต่ไม่งงงวย เส้นทางรักของยายจุ๋งก็ยิ่งสนุกเร้าใจมากขึ้น แม้เจือกลิ่นนมเนยอยู่บ้าง แต่กลับทำให้หอมหวนชวนทาน ไม่มันเลี่ยนจนกินไม่ลง

สาวไห้ ทำให้เรารู้ว่า “น้ำตามีสองชนิด ชนิดที่เราหลังโดยเปิดเผยและชนิดที่หลั่งเงียบๆ -น้ำตาที่ไหลย้อยลงมาตามแก้มและที่ไหลกลับลงไปสู่ขั้วหัวใจ”

05 So Close yet So Far ระยะห่าง ระหว่างเรา

So Close yet So Far ระยะห่าง ระหว่างเรา
ผู้แต่ง : จิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao)
ผู้แปล : อนุรักษ์ กิจไพบูลย์ทวี
สำนักพิมพ์ : Piccolo
จำนวนหน้า : 148 หน้า
ผู้แนะนำ : ทรงกลด บางยี่ขัน
พิกัด : https://bit.ly/2SjbFic

นี่คือหนังสือที่แฟนๆ ของจิมมี่ เลี่ยว ไม่ควรพลาด นิยายภาพที่มีชื่อภาษาจีนว่า ‘เดี๋ยวใกล้ เดี๋ยวไกล’ เล่มนี้ คล้ายภาคต่อของนิยายสุดคลาสสิกตลอดกาลของจิมมี่ เลี่ยว อย่าง ‘ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา’ ในแง่ของการเป็นเรื่องรักที่พูดถึงความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวที่มีบ้านอยู่ตรงข้ามกัน เห็นกันตั้งแต่เด็ก และเติบโตมาด้วยกัน ใกล้กัน ห่างกัน เหมือนจะรักกัน และเหมือนจะไม่รักกัน เราจะได้เห็นการเติบโตของความสัมพันธ์ตั้งแต่รักแบบลูกหมาในวัยเยาว์ จนถึงรักแบบผู้ใหญ่ในวัย 30 กว่า

ในแง่การเป็นเรื่องรัก เลยไม่ใช่หนังสือรักหวานจ๋อย หรือเรื่องที่ตัวละครจมจ่อมอยู่กับความเปลี่ยวเหงาและผิดหวัง แต่เป็นการพาคนอ่านไปเจอกับความรู้สึกที่หลากหลายของความรัก และชวนให้เราตั้งคำถามมากมายกับความรัก

ท้ายที่สุด นิยายภาพที่เขียนเมื่อ ค.ศ. 2016 เล่มนี้ คล้ายกับการรวมฮิตตัวละครดังๆ และฉากดังๆ จากหนังสือมากมายของจิมมี่ เลี่ยว ไว้ด้วยกัน สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของนักวาดชาวไต้หวันผู้นี้ รับรองว่าจะสนุกกับการมองหาตัวละครที่คุ้นเคย และการทดสอบความจำว่า ภาพนี้หรือฉากนี้เคยอยู่ในหนังสือเรื่องไหน

สุดท้ายคุณอาจจะหลงรักประโยคที่เขียนย้ำไปย้ำมาอยู่ทั้งเล่มว่า “บ้านของเขาอยู่แค่ตรงข้ามบ้านของเธอ ห่างกันเพียงเดินเท้าสามนาที” เพราะมันมีความหมายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดทั้งเล่ม

06 คิดถึงทุกปี

คิดถึงทุกปี
ผู้แต่ง : บินหลา สันกาลาคิรี
สำนักพิมพ์ : KOOB
จำนวนหน้า : 336 หน้า
ผู้แนะนำ : ปาริฉัตร คำวาส
พิกัด : https://bit.ly/3vLfhYD

สารภาพว่าเราเป็นคนซื้อหนังสือจากปก รองจากชื่อผู้เขียน

‘คิดถึงทุกปี’ ฉบับพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ KOOB เล่มนี้ออกแบบปกโดย Wrongdesign ออกแบบภาพประกอบปกโดย นรา ซองจดหมายเล่มหนา ถูกหย่อนลงตะกร้าทันทีที่เปิดพรีออเดอร์ ด้วยเหตุผลในบรรทัดแรก

สำหรับแฟนเหนียวแน่นของ บินหลา สันกาลาคีรี คงเคยผ่านตา 9 เรื่องสั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2536 – 2540 ที่เคยรวมเล่มเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สำหรับเรา หนังสือของบินหลาเปิดโลกการอ่าน เป็นดั่งครูและเพื่อนยามเดินทางของเราเสมอ บอกไม่ได้ว่าชอบตอนใดเป็นพิเศษ เพราะความคิดถึงซึ่งซ่อนในตัวอักษร ความงดงามในภาษา สะท้านหัวใจทุกบรรทัด หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเห็นว่ามนุษย์ช่างซับซ้อน ความคิดถึงมันช่างละเอียดอ่อน การได้คิดถึงและถูกคิดถึง เป็นความสุขง่ายๆ การถูกคิดถึงโดยปราศจากความรักก็ไม่ใช่ความทุกข์ เผลอๆ อาจมองความสัมพันธ์ที่มีอยู่เปลี่ยนไป ไม่เข้าใจมากขึ้น ก็เข้าขั้นปลง และคงจะกลับมาคิดถึงทุกปี ทุกทีที่อ่าน

ที่โคตรพิเศษ มีความคิดถึงให้ผู้เขียนมาพร้อมกับจดหมายปิดผนึกจากมิตรน้ำหมึก ศุ บุญเลี้ยง และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ 

แม้เคยมีเล่มก่อน เราว่าควรเก็บเล่มนี้เพิ่ม

หมวดความรู้ ประวัติศาสตร์

07 100 Social Innovations from Finland

100 Social Innovations from Finland
บรรณาธิการ : อิลค์ก้า ไทพาเล (Ilkka Taipale)
ผู้แปล : กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
สำนักพิมพ์ : Sidea 
จำนวนหน้า : 456 หน้า
ผู้แนะนำ : ทรงกลด บางยี่ขัน
พิกัด : https://bit.ly/3gDTaiR

เราเคยได้ยินคนพูดกันในหลายวงการว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศต้นแบบที่มีระบบและแนวคิดในการจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงเรื่องพวกนั้นในทุกมิติ ทั้งการเมือง สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม สุขภาพ เทคโนโลยี การใช้ชีวิตประจำวัน แต่ละเรื่องเล่าสั้นๆ ว่า ฟินแลนด์สร้างนโยบายต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้ยังไง อะไรคือเหตุผลเบื้องหลัง และทำให้เกิดขึ้นได้ยังไง 

นโยบายจำนวนมากเกินขึ้นตั้งแต่ยุค 50 – 60 ซึ่งมีเสียงต่อต้านจำนวนมาก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเสียงชื่นชม และกลายเป็นต้นแบบของโลกแล้ว แต่ละเรื่องเขียนโดยคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นที่สุดของฟินแลนด์ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ คนทำงานภาคสังคม นี่จึงเป็นหนังสือที่ทูตฟินแลนด์มอบให้ตัวแทนประเทศต่างๆ เพื่อแนะนำตัวว่า ฟินแลนด์มีดีอะไร และเราจะร่วมงานอะไรกันได้บ้าง ไทยเราก็หยิบเอาหลายนโยบายดีๆ หลายอย่างมาใช้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ (ซึ่งก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เหมือนที่ฟินแลนด์เจอเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน) 

หนังสือเล่มนี้เปรียบได้กับแสงเทียนสำหรับคนที่รู้สึกหมดหวังกับปัญหาสังคมมากมาย

08 A History of Reading โลกในมือนักอ่าน

A History of Reading โลกในมือนักอ่าน
ผู้แต่ง : อัลเบร์โต แมนเกล (Alberto Manguel)
ผู้แปล : กษมา สัตยาหุรักษ์ และ ดนยา กนกระย้า
สำนักพิมพ์ : Bookscape
จำนวนหน้า : 568 
ผู้แนะนำ : ปาริฉัตร คำวาส
พิกัด : https://bit.ly/32WZVUA

การอ่านมีประวัติศาสตร์

แม้เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1996 และเพิ่งแปลไทยครั้งแรกปีนี้ แต่เนื้อหาในนั้นกลับพาเราหมุนย้อนอดีตไปกว่า 6,000 ปี ถอดความหมายที่กล่าวไว้ว่าหนังสือและโลกต่างเป็นเงาสะท้อนกันและกัน การกำเนิดของศาสตร์การถอดความหมายผ่านดวงตา การกำเนิดของนักอ่านที่สร้างความกลัวทุกรูปแบบของสังคม เช่น วงการสถาปัตยกรรมที่เกิดความเชื่อว่า หนังสือฉบับพิมพ์จะเข้ามาแทนที่และทำลายหนังสือฉบับก่อสร้าง ก่อนค้นพบว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะถัดมาในยุคกลาง สิ่งพิมพ์ทำให้เขาถึงความรู้ของสถาปนิกในยุคกลางได้ การกำเนิดหอสมุดยุคโบราณ ไปจนถึงประวัติศาตร์การทำงานของการอ่านและอำนาจของนักอ่าน บวกกับเรื่องเล่าสนุกๆ ของบุคคลและสถานที่จริงอันเกี่ยวพันกับโลกของการอ่าน ซึ่งนักอ่านขี้สงสัยอย่างคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

09 Sapiens เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก: กำเนิดมนุษยชาติ (เล่ม 1)

09 Sapiens เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก: กำเนิดมนุษยชาติ (เล่ม 1)
ผู้แต่ง : ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari), เดวิด แวนเดอร์มิวเลน (David Vandermeulen), แดเนียล คาสซาแนฟ (Daniel Casanave)
ผู้แปล : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
จำนวนหน้า : 256
สำนักพิมพ์ : ยิปซี
ผู้แนะนำ : ทรงกลด บางยี่ขัน
พิกัด : https://bit.ly/2RaFMbi

Sapiens เป็นหนังสือที่พูดถึงกันเยอะมากในหมู่ผู้อ่านชาวไทยช่วง 3 ปีมานี้ ด้วยเหตุผลว่าอธิบายที่ไปที่มาของมนุษยชาติตั้งแต่ยังเป็นสัตว์เซลล์เดียว จนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ได้แบบหมดจด รวมไปถึงความหนาที่ท้าทายเวลาและสมาธิของมนุษย์นักอ่านด้วย 

สำหรับคนที่แพ้หนังสือเล่มหนา ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ผู้เขียนก็ไปชวนนักวาดการ์ตูนชื่อดังของยุโรปอย่าง เดวิด แวนเดอร์มิวเลน และ แดเนียล คาสซาแนฟ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา มาแปลงเนื้อหาส่วนแรกของหนังสือให้เป็นนิยายภาพที่เล่าเรื่องผ่านตัวละครและฉากต่างๆ ทำให้เราเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ง่าย และน่าติดตามมาก 

นี่ไม่ใช่หนังสือเรื่องหนักๆ ที่ไกลตัว แต่เล่าง่ายเกี่ยวกับมนุษย์ผ่านคำถามที่น่าสนใจมากเลย และชวนให้เราคิดตามไปว่า ทฤษฎีไหนน่าจะเป็นจริงที่สุด ถ้าใครอยากรู้ว่า แรกเริ่มมนุษย์มี 6 สปีชีส์ แล้วอีก 5 สูญพันธุ์ไปตอนไหน เราเคยผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์กันไหม พลังของการเล่าเรื่องทำให้เราพัฒนาตัวเองต่างจากสัตว์จนมาถึงวันนี้ได้ยังไง รวมไปถึงมนุษย์ยุคโบราณคือฆาตกรที่ทำให้สัตว์ขนาดยักษ์จำนวนมากสูญพันธุ์จริงไหม ต้องลองอ่านดู

10 รวมบทความของฮิโตะ ชไตเยิร์ล

10 รวมบทความของฮิโตะ ชไตเยิร์ล
ผู้แต่ง : ฮิโตะ ชไตเยิร์ล (Hito Steyerl)
ผู้แปล : อธิป จิตตกฤษ์, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, พนา กันธาจุฑาสุวรรณมงคล
จำนวนหน้า : 392 หน้า
สำนักพิมพ์ : ซอย press
ผู้แนะนำ : ภาสินี ประมูลวงศ์
พิกัด : https://bit.ly/33oIFrQ

“แด่มีม ภาพกาก ภาพจร เทคโนโลยีดิจิทัล

และดอกไม้ทุกดอกที่ร่วมก่อร่างสร้างสารอันท้าทาย III”

นี่เป็นคำรองปกหนังสือเกี่ยวกับศิลปะของ ฮิโตะ ชไตเยิร์ล ลืมการพูดถึงศิลปะอย่างภาพวาด ประติมากรรม ภาพพิมพ์แบบหนังสือเรียนที่มีแต่คำชื่นชมและประวัติแห้งเป็นหางว่าวไปได้เลย เพราะฮิโตะมาเพื่อพูดถึงศิลปะแบบที่เราคิดไม่ถึง อย่างไฟล์ภาพขนาด Low Res บอทดาราหนังโป๊ และวิดีโอเกม 

 ฮิโตะ ชไตเยิร์ล เป็นนักทำภาพยนตร์ นักทำภาพเคลื่อนไหว นักปฏิบัติการศิลปะ และนักเขียน งานของเธอทั้งเฉียบแหลม คมคาย และกวนโอ๊ย เธอนำเสนอมุมมองต่อศิลปะที่ท้าทายการให้คุณค่าแบบเดิมๆ งานของชไตเยิร์ลมักมีประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี สังคม และสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘เทสต์แย่’ หรือ ‘ไม่ใช่ศิลปะ’ แต่เมื่อเราอ่านหนังสือของเธอจบ เราจะได้แนวคิดใหม่ๆ ต่อการมอง Aesthetic (ความงาม) เสมอ เราจึงดีใจมากที่สำนักพิมพ์ SOI แปลบทความของชไตเยิร์ลรวมเล่มเมื่อปีที่แล้ว
ศิลปะของชไตเยิร์ลเป็นเรื่องของวันนี้ ของสิ่งที่เราเห็นตามอินเทอร์เน็ต ของตัวเราเอง สิ่งที่เราคิด และสิ่งที่หล่อหลอมความคิดนั้นของเราขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราเองจึงอ่านแล้วทั้งหัวเราะและพยักหน้าหงึกๆ ตามไปด้วยแทบทุกหน้า

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน