“Sawasdee krab Bangkok”
โพสต์แรกของบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรม ‘onibuscoffee_bkk’ เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นให้คอกาแฟและนักท่องเที่ยวที่เคยไปจิบกาแฟของร้าน ONIBUS ที่โตเกียวกันไม่น้อย จำนวนผู้ติดตามพุ่งทะยานทะลุพันไปอย่างง่ายดายแม้ยังไม่ได้เปิดร้านหรือบอกโลเคชันด้วยซ้ำ
ONIBUS คือร้านกาแฟ Specialty และโรงคั่วกาแฟเจ้าแรก ๆ ในโตเกียวตั้งแต่ยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟกรุบกริบให้กินสักเท่าไหร่ และได้รับความนิยมเรื่อยมา จนตอนนี้นับว่าเป็นตัวท็อปที่ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติชื่นชอบ เรียกได้ว่านิตยสารเล่มไหนทำเรื่องกาแฟ ต้องได้เห็นชื่อ ONIBUS ในนั้น นอกจากจะคั่วเอง ขายเอง ยังรับเป็นที่ปรึกษาให้ร้านกาแฟและคั่วกาแฟส่งร้านในญี่ปุ่นมากกว่า 120 แห่ง และส่งคาเฟ่ต่างประเทศด้วย
ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีทั้งหมด 7 สาขา ต่างประเทศ 3 สาขา ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน และไทย ซึ่ง ONIBUS สาขากรุงเทพฯ เปิดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ณ ชั้น 1 ของ Once Again Hostel ย่านประตูผี
ก่อนแวะไปชิม มาทำความรู้จักกับ ONIBUS ให้มากขึ้นผ่านมุมมองของ Atsushi Sakao ผู้ก่อตั้งกันดีกว่า

Konnichiwa Coffee จุดเริ่มต้นของ ONIBUS
Atsushi เปิดสาขาแรกที่ย่าน Okusawa ในปี 2012 ซึ่งเป็นทั้งโรงคั่วและคาเฟ่ ความสนใจในกาแฟของเขาจุดประกายขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อ 15 ปีก่อนตอนไปเที่ยวแบ็กแพ็กระยะยาว ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่เขาได้อยู่ที่นั่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมการกินกาแฟของออสเตรเลียกับญี่ปุ่นสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเปิดร้านแบบนั้นบ้าง
“ร้านกาแฟที่โน่นมักมีคนในชุมชนมานั่งกินทุกวัน บาริสต้ากับลูกค้าได้คุยกันจนรู้จักกันและกลายเป็นคอมมูนิตี้ ผมว่าเรื่องนี้ดีมาก ซึ่งสมัยนั้นที่ญี่ปุ่นยังไม่มีร้านแบบนี้” เจ้าของหนุ่มเริ่มเล่า
เมื่อกลับญี่ปุ่น Atsushi เลยตั้งใจศึกษาเรื่องกาแฟจริงจังจนเชี่ยวชาญก่อนเปิดร้านและโรงคั่ว ความประทับใจในความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกิดขึ้นผ่านกาแฟถูกนำไปขยายต่อเป็นคอนเซปต์หลักของร้านด้วย Atsushi บอกเราว่า ชื่อร้าน ONIBUS เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า รถบัสสาธารณะ เพราะเขาอยากให้ร้านกาแฟเป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงผู้คนเอาไว้ด้วยกันเหมือนรถบัสสาธารณะนั่นเอง ส่วนวิสัยทัศน์ของแบรนด์คือ ‘Coffee enriches our life as well as our cities’

“ทุกสาขามีคอนเซปต์เดียวกันครับ คืออยากให้ร้านกาแฟทำให้ผู้คนในชุมชนนั้น ๆ มีความสุขมากขึ้น โดยที่เมืองก็เจริญยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังอยากให้คนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน มีแนวคิดใกล้เคียงกันได้แวะมาชิม ได้พูดคุยกัน จนกลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ
“อาจจะพูดเรื่องคอมมูนิตี้บ่อย แต่จริงๆ แล้วไม่เชิงว่าอยากสร้างคอมมูนิตี้นะครับ ผมมองว่าร้านกาแฟที่เราแวะไปได้ทุกวันเป็นสถานที่ที่ดี เพราะการได้พูดคุยกับผู้คนอย่างตรงไปตรงมา ได้แบ่งปันเรื่องราวในชีวิตของกันและกันจนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้เกิดชุมชนที่ดีครับ”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารมาก
“คาเฟ่เป็นสถานที่ที่ถ้าอยู่แถวบ้าน เราแวะไปได้บ่อย ๆ จริงมั้ยครับ อาจจะอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง เจอกันจนคุ้นหน้า อาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นเพื่อนกัน แต่อย่างน้อยก็ได้รู้จักกัน ผมเลยอยากให้พนักงานทักทาย พูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เกิดความสัมพันธ์ ลดระยะห่างระหว่างเรากับลูกค้า”
แนวคิดนี้ทำให้ ONIBUS ได้มาเปิดที่ประเทศไทยด้วยนะ
“จริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยเน้นว่าต้องเป็นประเทศไหน ขึ้นอยู่กับว่าได้เจอพาร์ตเนอร์ที่อยากทำงานร่วมกันรึเปล่าครับ สิ่งสำคัญคือต้องมีแนวคิด ค่านิยมสอดคล้องกัน เช่น ให้ความสำคัญกับชุมชน คุณภาพ และ Traceability


“อีกอย่างคือผมว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟที่คนในชุมชนแวะไปกินได้บ่อย ๆ อาทิตย์ละ 3 – 4 วันจนคุ้นหน้า รู้จักกันจนกลายเป็นคอมมูนิตี้ ซึ่งร้านแบบนั้นมีที่ออสเตรเลียหรือสแกนดิเนเวียเยอะแล้ว ผมคิดว่าไปเปิดในที่ที่ยังไม่มีชุมชนแบบนั้นเท่าไหร่ดีกว่า”
หลังจากมีคนแนะนำให้รู้จักทีม Once Again Hostel และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันพอสมควร Atsushi ก็มั่นใจว่า รถบัสจากญี่ปุ่นคันนี้พร้อมออกเดินทางสู่ประเทศไทย
“ผมเคยมาเที่ยวประเทศไทยอยู่เดือนกว่า ๆ ตอนปี 2006 ทำให้ชอบที่นี่มาก แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจว่าจะมาเปิดร้าน คือการได้โอกาสทำงานร่วมกับคนที่เราชื่นชมและมีแนวคิดคล้ายกันครับ”

หัวใจสำคัญ : Quality, Sustainability & Traceability และ Hospitality
“Quality, Sustainability & Traceability, Hospitality 3 อย่างนี้คือแกนหลักในการทำร้าน ONIBUS ครับ คุณภาพกาแฟต้องไม่ลดลง ต้องส่งเสริมความยั่งยืน การปลูกกาแฟต้องไม่ทำลายป่า ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง อีกอย่างคือการดูแลลูกค้าและการสื่อสารกับลูกค้า ผมให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งนี้มากครับ” ผู้บริหารหนุ่มเน้นย้ำ
เรื่องความใส่ใจลูกค้า ผู้บริหารหนุ่มเล่าให้ฟังไปบ้างแล้ว มาดูเรื่องคุณภาพและความยั่งยืนกันบ้าง
80% ของกาแฟที่ ONIBUS ใช้ ทีมงานเดินทางไปยังไร่ปลูกกาแฟในประเทศต่าง ๆ และซื้อกาแฟคุณภาพดีโดยตรงจากเกษตรกรเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน ในอนาคตตั้งเป้าว่าจะใช้กาแฟที่เดินทางไปยังไร่เอง 100% เพื่อควบคุมคุณภาพ นอกจากนี้ยังใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมตามจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย เช่น แก้วกระดาษและหลอดกระดาษสำหรับซื้อกลับบ้านย่อยสลายได้ทั้งหมด


ร้าน ONIBUS COFFEE สาขา Yakumo ใช้ไม้จากถังบ่มสาเกเก่าทำชานไม้หน้าร้าน และใช้ประตูไม้อายุ 100 ปี สาขา Jiyugaoka ก็ไม่น้อยหน้า ใช้ไม้จากการตัดขยายระยะป่าเพื่อลดความหนาแน่น (Thinning) ในจังหวัดชิซูโอกะสำหรับตกแต่งร้าน นอกจากนี้ยังทดลองนำกากกาแฟ 9,000 แก้วมาอัดเป็นพื้นของร้านสาขา Nasu ด้วย เก้าอี้ในร้านที่ดูเป็นท่อนไม้ก็ใช้ไม้จากต้นซากุระที่ล้มลงมาเพราะแรงพายุหรือฟ้าผ่า
ความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ สมเป็นร้านญี่ปุ่นจริง ๆ

ONIBUS กับสาขาทั้ง 7 (และน้องใหม่ที่กรุงเทพฯ)
ONIBUS ทั้ง 7 สาขาที่ญี่ปุ่นแบ่งเป็น 2 แบรนด์ คือ ONIBUS 5 สาขา และ About Life Coffee Brewers 2 สาขา ถ้าแฟนคลับเคยแวะไปมากกว่า 1 ที่ จะพบว่าร้านให้บรรยากาศคล้ายคลึงกัน แต่รายละเอียดการตกแต่งไม่ได้เหมือนกันมากนัก
แต่ละที่มีธีมที่แตกต่างกันออกไป เช่น สาขายอดฮิตอย่าง Nakameguro นอกจากอยู่ในโลเคชันดีมาก เพราะใกล้สถานีรถไฟ ชั้น 2 มองเห็นวิวซากุระและรถไฟแล่นผ่านเพลิน ๆ ยังเลือกนำบ้านเก่าแก่ของญี่ปุ่นมารีโนเวตให้สวยสะอาด โดยยังคงกลิ่นอายของบ้านเก่าเอาไว้ สาขา Jiyugaoka รับบทเป็นคาเฟ่เต็มตัวสาขาแรกที่มีทั้งอาหารและของหวานจัดเต็ม ส่วน About Life Coffee Brewers สาขา Dogenzaka เป็น Coffee Stand ที่มีพื้นที่แค่ 5 ตร.ม. เท่านั้น แต่เก๋กรุบจนขึ้นปกนิตยสารหลายเล่ม และมียอดขายมากกว่า 3 ล้านแก้ว นอกจากแนวเอิร์ธโทน About Life Coffee Brewers สาขา Shibuya 1 Chome ยังดูสดใสจากการใช้กระเบื้องสีเขียวสด ซึ่งคอลแล็บกับ Mikkeller คราฟต์เบียร์ชื่อดังจากเดนมาร์ก
ความหลากหลายเหล่านี้ทำให้เราสนใจมากว่า ONIBUS กำหนดธีมแต่ละร้านอย่างไร แล้วร้านสาขากรุงเทพฯ จะพกเกอิชาหรือแมวกวักมาประกาศความเป็นญี่ปุ่นรึเปล่านะ คำตอบจาก Atsushi ทำให้เราประหลาดใจเลยทีเดียว
“จริง ๆ แล้วคอนเซปต์เหมือนกันครับ ไม่ว่าจะเปิดร้านที่ไหน เราเน้นเรื่องบรรยากาศมากกว่า หลัก ๆ คือทำให้สวย สะอาด ตอนทำร้านที่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีธีมชัดว่าต้องทำเป็นแนวไหน เน้นสร้างบรรยากาศที่ดีที่ผู้คนในชุมชนแวะมากินกาแฟได้อย่างรื่นรมย์


“ส่วนร้านที่กรุงเทพฯ ตอนไปเมืองไทย ผมรู้สึกว่าไทยมีคาเฟ่แนว Industrial ค่อนข้างเยอะ เลยพยายามไม่ให้เหมือนกัน เน้นความเป็นธรรมชาติ ความเรียบง่าย และไม่ได้เน้นขายว่าเราเป็นร้านกาแฟมาจากญี่ปุ่นครับ”
ความเป็นญี่ปุ่นอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่บอกเล่าผ่านแนวคิด แต่ที่แน่ ๆ คนญี่ปุ่นก็น่าจะอยากมาลอง ONIBUS Bangkok กันบ้างล่ะ เพราะมีทั้งกาแฟที่คุณภาพเหมือนร้านที่ญี่ปุ่นเป๊ะ และมีกาแฟไทยที่คัดมาแล้วด้วย

ONIBUS COFFEE = ความเรียบง่าย
ในขณะที่บ้านเรามีกาแฟโอเลี้ยงและเอสเย็น ญี่ปุ่นเองก็มีร้านกาแฟที่เรียกว่า Kissaten ซึ่งเป็นรูปแบบร้านกาแฟเก่าแก่ที่มีมานาน กาแฟจะเข้มขมสุด ๆ ต่างจากกาแฟ Specialty แม้ปัจจุบันเราจะเห็นร้านกาแฟ Specialty ทั่วญี่ปุ่น แต่ตอน ONIBUS เปิดร้านใหม่ ๆ กาแฟแบบนี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยมนัก
“การสื่อสารให้คนเปิดใจลองกาแฟคั่วอ่อน ช่วงแรกถือว่าเหนื่อยเหมือนกันครับ ร้านเราใช้กาแฟ Specialty Coffee แบบคั่วอ่อน แต่ที่ญี่ปุ่นมีคนชอบกาแฟคั่วแบบเข้มเยอะเหมือนกัน ลูกค้าอาจจะขอใส่น้ำตาลบ้าง หรือคนที่บอกว่ากินอะไรก็ได้ ขอให้เป็นกาแฟก็มี แต่คิดว่าทุกประเทศก็เจอปัญหานี้คล้าย ๆ กันนะครับ”
ด้วยเหตุนี้ ก่อนโควิดระบาด ONIBUS จึงจัดเวิร์กช็อปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้ผู้คน ในเว็บไซต์เองก็มีข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟและการคั่วกาแฟมากมาย ยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมสอนชงกาแฟ คนยิ่งให้ความสนใจ เพราะคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยชงกาแฟกินเองที่บ้าน
ส่วนที่กรุงเทพฯ ก่อนจะเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ONIBUS ขอลองแนะนำตัวกับคนไทยด้วยการจัดอีเวนต์ Cupping และนำเสนอความเรียบง่ายของกาแฟ
“ผมเห็นแต่ละคาเฟ่ที่ประเทศไทยมีเมนูเยอะเลยนะครับ แต่เมนูของร้านเราส่วนมากเรียบง่าย มีไม่กี่อย่าง แค่ไซซ์ต่างกัน เราเน้นเรียบง่าย อธิบายความอร่อยของกาแฟให้ลูกค้าฟัง
“ตอนนี้เพิ่งเปิดที่กรุงเทพฯ อาจจะยังตอบไม่ได้นะครับว่าจะมีเมนูพิเศษเฉพาะที่ไทยไหม แต่ก่อนอื่นผมอยากให้คนไทยได้ลองชิม Specialty Coffee ลองกินกาแฟที่เรียบง่ายแต่อร่อยของเราครับ”

สุดท้ายนี้ เราขอให้เขาฝากอะไรถึงชาวไทยหน่อย
“ผมว่าวัฒนธรรมการกินกาแฟในไทยน่าจะยังเติบโตอีกมาก ก่อนอื่นผมอยากให้มีคนชอบ Specialty Coffee มากขึ้น หรือถ้ามีคนหันมาสนใจกาแฟแบบนี้เพราะได้ลองกาแฟ ONIBUS ก็จะดีใจมากครับ”
รถบัสมาจอดรอแล้ว ถ้าอยากรู้จักกาแฟของ ONIBUS มากกว่าตัวหนังสือก็แวะไปได้เลย
