หลังเสียงเครื่องยนต์ของยานพาหนะคู่ใจดับสนิท เจ้าบ้านมาดเข้มออกมาทักทายและเชื้อเชิญให้เรานั่ง พร้อมรินคราฟต์โซดาซู่ซ่าเป็นการต้อนรับ บ่ายแก่ๆ ในฤดูหนาวเงียบสงบ จนทำให้เสียงฟองอากาศและน้ำแข็งที่กระทบกันอยู่ในแก้วดังเป็นพิเศษ จากมุมที่เราหย่อนกาย ถ้าทอดสายตาออกไปจะมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวชัดแจ๋วทั้งลูก
ใครจะคิดว่าวันหนึ่งภูเขาลูกนี้จะพาชายคนตรงหน้ากลับมาที่นี่อีกครั้ง

วันก่อน
“การทำที่พักไม่ได้อยู่ในลิสต์ของชีวิตเลย แต่ดอยหลวงพาเรามาอยู่ที่นี่”
วันหนึ่งภูเขาลูกนี้พา อุ๋ย-จิราทิตย์ สอาดเอี่ยม กลับมาที่นี่อีกครั้ง
“เราปีนดอยหลวงมาสามปีติดกัน ตอนแรกเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดา ไม่ได้ชอบขึ้นเขาเป็นทุนเดิม แต่ชอบระหว่างทางที่ได้เจอคนนั้น คนนี้ เดินสวนทักทายกัน เราว่าภูเขาเชียงดาวมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มันมีเรื่องราวอยู่ในนั้น
“พื้นที่ตรงนี้เคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน แล้วถูกดันขึ้นมา ข้างบนเลยมีทรายกับเปลือกหอย สวยนะ สูงด้วย เหมือนเรายืนอยู่ระดับเดียวกับเมฆเลย รู้สึกว่าอีกนิดจะออกนอกโลกแล้ว” เขาเล่าเรื่องระหว่างเขากับเขาให้เราฟัง

อุ๋ยโลดแล่นในวงการภาพยนตร์โฆษณานับ 10 ปี ก่อนตัดสินใจเป็นเจ้าของที่พักเล็กๆ ในเชียงดาว
“ตอนนั้นเรามีเงินอยู่หนึ่งก้อน คิดอยู่ว่าจะเอาไปซื้อทีวีไว้ดูหนัง เพราะเราเป็นคนทำหนังโฆษณา แต่ไม่เคยมีทีวีดูเลย ดูแต่ในคอมพิวเตอร์ พอสถานการณ์ COVID-19 เริ่มหนักขึ้น เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง พอดีมีคนรู้จักเปิดรีสอร์ตที่เชียงดาว เขาใช้วิธีเช่าที่ เราเพิ่งรู้ว่าเช่าได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินล้านไปซื้อ เราชอบเชียงดาวอยู่แล้วด้วย ก็เลยลองดู”
อุ๋ยชักชวนเพื่อนในวงการภาพยนตร์-โฆษณา อีก 3 คน มาร่วมปลุกปั้นที่นี่ด้วยกัน
ปุ๊-ณัฐฤพงศ์ รุ่งนิเวศน์, อุ๊-ชญณัฏฐ์ สิริโรจน์ปัญญา และ ปอนด์-พันธุ์เทพ ราวินิต
“ตอนแรกตั้งใจทำแคมป์ เคยคุยกับเพื่อนว่า เดี๋ยวเอาเต็นท์สักหลังมาตั้งแล้วปล่อยเช่า เรายังไม่รู้จักคำว่าแกลมปิ้ง (Glamping) พออ่านประวัติของนอร์ดิกถึงรู้ว่า มันคือการแคมปิ้งที่การบริการสะดวกสบายเท่ากับรีสอร์ต”
และทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก อุ๋ยหยิบไอเดียนั่น ผสมนี่ จนได้แบบแกลมปิ้งที่พอใจ เขาลงมือเขียนแปลนง่ายๆ ลงสมาร์ทโฟน และตระเวนตามหาช่างในเชียงดาวที่จะเนรมิตรภาพความฝันให้ออกมาเป็นจริงอย่างใจคิด
“ทำที่ไหน” เป็นคำถามที่ซันนี่ หญิงเจ้าของร้านไม้เอ่ยถามหลังจากดูแปลนของอุ๋ย
เขาตอบตามตรงว่ายังไม่มีที่ดินสำหรับแปลนที่ว่าเสียด้วยซ้ำ
ซันนี่อาสาขับรถพาอุ๋ยตระเวนหาที่ในอำเภอเชียงดาวอยู่แรมเดือน จนกระทั่งมาเจอที่นี่ อุ๋ยว่านั่นเป็นที่ดินผืนสุดท้ายที่ตั้งใจไปดู หากยังไม่ใช่ เขาเตรียมใจพับแผนการทั้งหมด ตีตั๋วกลับกรุงเทพฯ ไปกำกับโฆษณาตามเดิม
โชคดีที่เรื่องราวไม่เป็นเช่นนั้น
“คนเชียงดาวเขาบอกว่าที่เลือกคน” อุ๋ยบอกกับเรา
ที่ดินผืนนี้เป็นเนินเขาเล็กๆ ในหมู่บ้านยางปู่โต๊ะ ด้านหน้าลาดลงไปเป็นป่าสักที่องค์กรจากเยอรมนีเช่าไว้ เพื่ออนุรักษ์ให้ป่าทำหน้าที่เป็นปอดของโลก ถ้าทอดสายตาไกลสุดลูกหูลูกตาจะเห็นดอยหลวงเชียงดาวชัดเจน

พื้นที่ตรงนี้เป็นทำเลทอง นักธุรกิจเข้ามากี่รายเจ้าของที่ก็ส่ายหน้าปฏิเสธ จนกระทั่งอุ๋ยเข้ามา เขากลายเป็นผู้เช่าที่ดินผืนนี้แต่เพียงผู้เดียว เราไม่แน่ใจว่าชายคนนี้พกของดีมาด้วยหรือเปล่า แต่คงจริงอย่างเขาว่า ‘ที่เลือกคน’
“เรารู้จักการเลือกทำเลจากการทำหนัง มันเหมือนตอนทำหนังที่มีการบล็อกช็อต เป็นการเอาตัวละครมาบล็อกกิ้ง แล้วเอากล้องมาเล็ง ตาเราก็ดูเฟรม เราจะรู้ว่าช็อตไหนสวย ช็อตไหนไม่สวย” เขาเล่าพลางประกบนิ้วเป็นกรอบสี่เหลี่ยมพร้อมยกขึ้นมาแล้วเล็งไปที่วิวตรงหน้า “สำหรับเรา การทำที่นี่มันคล้ายกับขั้นตอนการทำหนัง ยิ่งเป็นหนังโฆษณาต้องยิ่งขายของ เรารู้ว่าอะไรควรขาย ไม่ควรขาย พื้นที่ตรงนี้เราขายดอยหลวง ทางช้างเผือก และดวงดาว”
ถ้าชีวิตเป็นหนังสักเรื่อง
เขาคงไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีฉากที่ตัวเองยืนหน้าเต็นท์สีขาว เบื้องหลังเป็นทิวเขาสลับทับซ้อนอย่างวันนี้
วันหนึ่ง
วันหนึ่งเป็นที่พักแบบ Glamping ตั้งอยู่อย่างเรียบง่ายบนเนินเขาในหมู่บ้านยางปู่โต๊ะ หมู่บ้านเล็กๆ ไม่ไกลจากเมืองเชียงดาว สองข้างขนาบด้วยป่า เบื้องหน้าเป็นดอยหลวงเชียงดาวที่สูงตระหง่านจนยอดกลืนไปในมวลเมฆ
เจ้า Glamping เกิดจากการรวมคำว่า Glamorous ที่แปลว่าหรูหรา กับคำว่า Camping ที่แปลว่าการตั้งแคมป์ กลายเป็นการพักผ่อนที่นั่งๆ นอนๆ สัมผัสธรรมชาติแบบแคมปิ้ง แต่พ่วงความสะดวกสบาย ไม่ต้องก่อไฟหุงข้าว แต่มีอาหารเสิร์ฟพร้อมหมอกยามเช้า ตกเย็นจะปาร์ตี้บาร์บีคิว ย่างหมูกระทะ หรือปิ้งมันหวานก็น่ารักไปอีกแบบ
ความหรูหราที่ถูกใจสายอินสตาแกรมเมอร์คงเป็นอ่างอาบน้ำใบใหญ่ที่วางเคียงกับเต็นท์ ควรค่าแก่การนอนแช่น้ำมองฟ้ากว้างเย้ยอากาศเย็นๆ เป็นที่สุด แถมห้องน้ำยังมีหน้าต่างใสบานใหญ่ที่ชมวิวทิวเขาได้ 180 องศา

ที่นี่มีเต็นท์หลังเดียวและเป็นไพรเวตแกลมปิ้งที่รับแขกครั้งละกลุ่มเท่านั้น (สูงสุด 6 คน)
เดิมทีที่ดินตรงนี้เคยเป็นสวนลำไยมาก่อน ทำให้มีต้นลำไยยื่นกิ่งหยักๆ เข้ามาริมรั้วของวันหนึ่ง
“เราสร้างที่นี่โดยทำลายทรัพยากรให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนแรก ส่วนพื้นเรายังยกลอย เพราะคิดว่าอนาคตไม่แน่นอน หากวันหนึ่งปิดตัวลง แล้วต้องรื้อทั้งหมดออก ทุกอย่างต้องเหมือนเดิม ขนาดต้นไม้บางต้นยืนต้นตาย เจ้าของที่เขาอยากจะตัดให้ เราบอกว่าไม่ต้อง ทิ้งไว้แบบนี้ก็สวยดี มันเป็นเครื่องประดับให้เราได้
“เราไม่ได้ปรับ ไม่ได้ขุดอะไรเลย แค่ทำดินให้เป็นบันไดแล้วเอาไม้ครอบ ถ้าสังเกตต้นลำไยตรงริมรั้ว เราไม่ได้ตัดทิ้งแค่ทำรั้วครอบกิ่งไม้เอาไว้ เราไม่ได้บอกช่างให้เขาทำแบบนั้นนะ แต่ช่างที่นี่เขาเว้นกิ่งไม้พวกนี้เอาไว้เอง เหมือนเขาสอนเราว่า อุ๋ย มึงมาทีหลังลำไยต้นนี้ กิ่งที่มึงตัดมันจะออกผลให้มึงกินนะ” อุ๋ยอธิบายให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะ

เมื่อพ้นธรณีประตูไม้เข้ามา จะเห็นว่าพื้นที่ของวันหนึ่งถูกแบ่งอย่างเป็นสัดเป็นส่วน
ส่วนแรก คือลานดูดาวกลางแจ้ง กว้างพอสำหรับชวนกลุ่มเพื่อนมานั่งล้อมวงและเริ่มต้นบทสนทนาดีๆ รอบกองไฟ หลังพระอาทิตย์ตกดินลานไม้จะมืดสนิท มีเพียงแสงสลัวจากไฟทางเดินที่สว่างพอให้เห็นขอบพื้นไม้เท่านั้น

“ลานตรงนี้มืดมาก แทบไม่มีแสงไฟรบกวน เลยมองเห็นดาวชัดมาก มีครั้งหนึ่งลูกค้าชวนดูดาวตก เราหันไปมองแล้วตกใจ เพราะดวงใหญ่จนลังเลว่าดาวตกหรือจรวด” เจ้าบ้านเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนเฉลยว่าเขาตั้งใจให้ลานกว้างปราศจากไฟฟ้า เป็นการออกแบบแกมบังคับไม่ให้แขกเปิดไฟ แค่แสงจันทร์ก็สว่างไสวเพียงพอแล้วสำหรับที่นี่

บนลานไม้แผ่นเดียวกันมีชานยื่นออกไป เป็นที่ตั้งของเต็นท์ Nordiske สีขาวนวลตา ด้านในมีเตียงนอนนุ่มฟูขนาด 5 ฟุต พัดลมสีขาว ราวไม้สำหรับแขวน ทุกอย่างดูอบอุ่นเหมือนคิดมาแล้ว ตัวเต็นท์มีประตูสองฝั่ง ด้านหน้าติดกับลานดูดาวเป็นทางเข้า ด้านหลังมีระเบียงเล็กๆ ชวนให้ตื่นเช้ามานั่งหย่อนขาชมวิวดอยหลวงเชียงดาวตรงหน้า
เราชอบที่แต่ละมุมของวันหนึ่งไม่ต่างกับฉากสวยๆ ในภาพยนตร์

ต้นดอกหญ้าสีเขียวอ่อนขึ้นตามแนวเขาดูเข้ากันดีกับเต็นท์สีขาวและแผ่นไม้ดิบๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
“เรานั่งเลือกไม้ตามโรงไม้เองหมดเลย ทั้งหมดเป็นไม้มือสอง มันอิ่มมาแล้ว เวลาโดนแดดโดนฝนจะไม่เป็นอะไร แล้วซันนี่ เจ้าของร้านไม้คนดีคนเดิมเห็นแปลนของเราก็บอกว่า ไม่ต้องซื้อไม้จากหนู เขาแนะนำให้เราไปซื้อไม้มือสอง เพราะเข้ากับมู้ดแอนด์โทนที่เราตั้งใจจะทำ เสานี่ก็เป็นเสาบ้านเก่าของซันนี่” อุ๋ยชี้ให้เราดูไม้สีซีด เผยให้เห็นความเก่าบนผิวไม้ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านแดด ผ่านฝน จนกลายเป็นเสาของเฉลียงและพื้นทั้งหมดของลานไม้
ถัดจากลานกว้างมีทางเดินลาดเป็นเนินสั้นๆ ไปยังเฉลียงที่มุงด้วยหญ้าคา ตรงเสาที่อุ๋ยชี้ให้เราดูเมื่อครู่มีม่านสีขาวบางๆ ปลิวล้อกับแรงลม ด้านในโล่งโปร่งไม่มีผนังกั้น ตรงกลางเป็นเคาน์เตอร์ไม้ มีเตาแก๊สและซิงก์ล้างจานบิลด์อิน เหมาะกับการปรุงอาหารง่ายๆ เคล้าแสงอาทิตย์ตกดินหรือจะจิบกาแฟหอมๆ คลอหมอกขาวยามเช้า ก็ย่อมได้

นอกจากพักผ่อนในบรรยากาศแกลมปิ้งแล้ว อุ๋ยยังมีกิจกรรมพิเศษ ชวนผู้มาเยือนไปแช่น้ำร้อนธรรมชาติ และอาบป่าสัมผัสเชียงดาว ด้วยการเดินลัดเลาะตามภูเขาลูกเล็กๆ ผ่าน 3 เส้นทาง ที่แบ่งตามระยะทางใกล้-ไกล
ระยะทาง 3 กิโลเมตร : สถานีวิจัยดอยหลวงเชียงดาว
ระยะทาง 7 กิโลเมตร : สันกางจ้อง-ห้วยแม่มาด
ระยะทาง 13 กิโลเมตร : ป่าเมียง-สันคมพร้า


“ป่าที่เราเดินค่อนข้างดิบนะ สองรูตแรกมีแต่ป่า รูตที่สามมีจุดชมวิว ป่าที่อื่นอาจมีอุทยานทำทางเดินไว้ให้ แต่ที่นี่ชาวบ้านเป็นคนนำเดิน เพราะเราอยากกระจายรายได้เข้าชุมชนบ้างยางปู่โต๊ะด้วย” เขาเล่าด้วยความตื่นเต้น
วันหนึ่งก็มีวันหยุด
แกลมปิ้งหลังนี้จะเปิดให้เข้าพักเป็นช่วง จากตุลาคมปีที่แล้วถึงต้นเดือนมีนาคมปีนี้ สาเหตุที่ต้องเป็นแบบนั้นเพราะเจ้าบ้านเป็นห่วงเรื่องสภาพอากาศในช่วงวิกฤตหมอกควันที่ปกคลุมเมืองเชียงใหม่ จนตอนนี้เขายังลังเลว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงไหน อาจเป็นสักเดือนสองเดือนก่อนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่เขาหลงใหล
“เราชอบดอยหลวงตอนหน้าฝน ต้นไม้จะเขียว ส่วนสภาพอากาศเราชอบหน้าหนาว ที่นี่เคยหนาวสุดถึงเจ็ดองศาเซลเซียส แต่แปลกอยู่อย่าง หน้าฝนที่นี่เหงากว่าหน้าหนาวอีกนะ ถ้าตกดึกแล้วฝนตก ต้องเหงาแน่ๆ” เขาว่าอย่างนั้น
เราเองชักไม่มั่นใจว่าเขาเป็นคนขี้หนาวหรือขี้เหงากันแน่

วันนี้
“เงียบมั้ยล่ะ นี่อยู่ทุกวันจนจะบวชเป็นพระแล้วนะ”
อุ๋ยพูดขึ้นมาหลังจากเราต่างเว้นช่วงสนทนาเพื่อเงี่ยหูฟังเสียงลมพัดเอื่อยๆ
ห่างจากอาณาเขตของวันหนึ่งเพียงเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของกระท่อมไม้หลังเล็กๆ ของอุ๋ยและเพื่อน ยามต้องประจำการที่นี่ ด้านหน้าเป็นบาร์คราฟต์เบียร์ขนาดย่อมให้คนละแวกนั้นแวะมาเยี่ยมเยียนและพบปะพอให้คลายเหงา
“ลูกค้าเบื่อๆ ก็มานั่งที่บาร์ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มากางเต็นท์ข้างบน ความสนุกของเราคือรีแอคชันของลูกค้า สิ่งนี้เติมเต็มเราตลอดเลยนะ พอได้คุยกับเขา มันสนุก แต่ละคนมีสตอรี่ไม่เหมือนกัน ส่วนเรามีความสุขที่เขาชอบ”

แม้ไม่เคยมีประสบการณ์การบริหาร แต่อุ๋ยเรียนรู้จากลูกค้า ลุยเอง คุยเอง เลยทำให้ที่นี่เป็นกันเอง
“เราค่อยๆ เรียนรู้จากลูกค้าว่าขาดเหลืออะไรบ้าง ถ้าเกิดให้คนอื่นมาจัดการดูแลคงมีความเป็นหุ่นยนต์หน่อยๆ แต่ถ้าเป็นเรา เราคุยกับลูกค้าเอง เลยทำให้ที่นี่เป็นมากกว่าสถานที่ กลายเป็นบ้านที่เขาอยากกลับมาอีกครั้ง
“เคยมีลูกค้ามาพักต้นเดือนตุลา พอกลางเดือนตุลาเขากลับมาอีก เราว่าโรงแรมหลายที่ก็คาดหวังให้ลูกค้ากลับมาทั้งนั้น ตอนทำเราไม่รู้หรอกว่าทำยังไงให้ลูกค้าเก่ากลับมา แต่พอเราเปิด ก็ทำได้เลย มันมหัศจรรย์มาก”
ก่อนลงมือทำที่พัก เพื่อนแนะนำให้อุ๋ยอ่านหนังสือ เรื่องเล่าแบรนด์ของผม ของ ชาติ กอบจิตติ เป็นเล่มที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ว่าเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องแบรนด์และการทำธุรกิจได้สนุก แต่เขาเลือกไม่อ่าน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่ากลัวจิตตก
“เราคิดว่าถ้าศึกษาเยอะ เราจะไม่กล้าทำ เกิดไปอ่านความล้มเหลวของคนอื่นเข้ามันจะทำให้เรากลัว เลยต้องบู๊เอง แล้วการทำหลังเดียวก็เหมือนการทดลอง ว่าเราจะเจอปัญหาอะไรบ้าง ส่วนการตลาดไม่ต้องพูดถึง เรายังตอบเพื่อนไม่ได้เหมือนกันว่าจะขายห้องยังไง เอาเป็นว่าทำไปก่อนแล้วกัน สเต็ปบายสเต็ป” เจ้าบ้านมือใหม่ (มาก) เล่า

“เอาเข้าจริง ช่วงนั้นเหมือนเราได้ทบทวนตัวเองด้วยเหมือนกัน ตลอดสิบปีที่ทำหนังมา กราฟชีวิตเราก็ไม่ได้ขึ้นขนาดนั้น เลยลองทำอย่างอื่นดูบ้าง เพราะเราไม่ได้อยู่ในเกมเดอะซิมส์ที่ทำตามโปรแกรมเขียนไว้ แต่เราเป็นคน ทำได้อีกตั้งหลายอย่าง ด้วยความบ้าของเรา ก็ทำเลย การไม่วางแผนมันสอนให้เราไปต่อ ทางข้างหน้าค่อยว่ากัน”
ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งจะมีคนมาขอแต่งงานที่นี่-อิจฉาหนุ่มสาวที่มีดวงจันทร์และแสงดาวเป็นพยานรัก

“เคยมีคนมาขอแต่งงานและมีคนมาแต่งงานที่นี่ จำได้ว่าที่บ้านเขาไม่ให้จัดงานแต่ง เพราะตรงกับศุกร์ที่ 13 เขาเลยหาสถานที่หนีมาแต่งงานกันสองคน วันนั้นเราจุดพลุดวงใหญ่เซอร์ไพรส์ มีเราเป็นแขกคนแรกและคนเดียว
“เกิดคาดเหมือนกันนะ ตอนแรกตั้งใจทำที่พักที่มีคนมาพักแค่เดือนละสี่ห้าวันก็พอแล้ว แต่พอมันถูกจองจนเต็ม เราก็ดีใจมาก ยิ่งมีเรื่องราวแบบนี้อีก มันเกินคาดจนไม่รู้จะบรรยายยังไง” ชายตรงหน้าเล่าด้วยความสุข

วันหนึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา
“รู้สึกแฮปปี้มาก ถ้าเกิดเรื่องนี้เป็นหนัง น่าจะเป็นหนังที่ทำเงินและเป็นไวรัล”
เรานึกสงสัยจึงถามต่อ หนังที่ว่าเป็นหนังแบบไหน
“ไม่ดราม่าแน่นอน จะโรแมนติกก็ไม่ใช่เพราะไม่ได้เริ่มแบบนั้น มันมีหลายพาร์ต”
เขานึกอยู่สักพัก ก่อนเราจะลองเดาคำตอบหลังจากได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดเมื่อครู่
นี่คงเป็นหนังสารคดี
อุ๋ยเบิกตากว้างเป็นสัญญาณว่าเห็นด้วย
“Documentary! นี่คือ Documentary เราเป็นสายทำหนังสารคดี แล้วเราก็ชอบด้วย”
“โอโห้ เหมือนปลดล็อกตัวเอง” เขาทิ้งท้ายกับเราด้วยรอมยิ้มกว้าง

วันหนึ่ง (Onenueng)
ที่อยู่ : บ้านยางปู่โต๊ะ ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170 (แผนที่)
เบอร์โทรศัพท์ : 09 6880 8980
Facebook : Onenueng วันหนึ่ง
*เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ยังว่างนะ นัดหมายและจับจองแกลมปิ้งล่วงหน้า 20 วันก่อนเข้าพัก