เวลาพูดถึงคนทำงานเบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ เรามักจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับผู้กำกับ คนเขียนบท หรือไม่ก็โปรดิวเซอร์ แต่จริง ๆ แล้วในการผลิตภาพยนตร์ 1 เรื่อง มีคนตั้งแต่หลายสิบไปจนถึงหลายร้อย แล้วก็มี ‘คนเบื้องหลังของคนเบื้องหลัง’ อีกหลายตำแหน่ง 

เรื่องราวระหว่างทางที่ไม่ค่อยถูกเล่านี่แหละ สนุกไม่แพ้หนังที่เราได้ดูกัน

The Cloud เคยเล่าเรื่องสนุก ๆ ของคนเบื้องหลังของเบื้องหลังเอาไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตเบื้องหลังของ ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับหนังฮอลลีวูดชาวไทยที่ไม่เคยอยากเป็นผู้กำกับแม้แต่ครั้งเดียว หรือ หนอน ยุงไมเยอร์ Casting Director วัย 58 ผู้เฟ้นหานักแสดงให้หนังต่างประเทศมานานกว่า 29 ปี 

และวันนี้ เราก็อยากชวนทุกคนมารู้จักกับ ‘วันละภาพ’ เพจเล็ก ๆ ที่เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ที่เข้าถึงคนกลุ่มเล็ก ๆ จนวันหนึ่งก็กลายมาเป็นปากเสียงให้คนกลุ่มเล็ก ๆ นั้นผลักดันเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง 

พวกเขาไม่ใช่แกนนำในการจัดทำข้อเรียกร้อง แล้วก็ไม่ใช่พื้นที่ที่เรียกร้องความเห็นใจ แต่ วันละภาพ ตั้งใจสร้างความรู้จัก เพื่อเปิดประตูไปสู่ความเข้าใจและการดูแลกันและกัน ผ่านเรื่องเล่าเบื้องหลังสนุก ๆ สอดแทรกสาระความรู้ 

ส่วนหนึ่งจากข้อความทบทวนจุดยืนที่เพจวันละภาพเคยโพสต์ไว้เมื่อหลายปีก่อนบอกว่า

เพจ “วันละภาพ” เป็นเพจที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อ “ให้” โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์ เป้าหมายอื่นใด (นอกจากการโฆษณาแฝงรถห้องน้ำบ้างเป็นบางครั้ง) ทั้งนี้ ความตั้งใจก็เพื่อสร้าง “อนาคต” ให้กับวงการอันมีพระคุณ ซึ่งให้ “อาชีพ” ให้เรา “มีกินมีใช้” อยู่ทุกวันนี้ 

ด้วยรัก #วันละภาพ 

วันละภาพ เพจที่เล่าชีวิตคนกองถ่ายมาตลอด 5 ปี และได้ไปเรียกร้องสิทธิแรงงานหนังถึงในสภา

ติ๊ก-ษมาวีร์ พุ่มม่วง เจ้าของเพจ แนะนำตัวว่าเธอเป็นฟรีแลนซ์ รับงานในตำแหน่ง ‘Script Supervisor’ ซึ่งมักต้องอธิบายต่อว่ามีหน้าที่ดูแลความต่อเนื่องของทุกองค์ประกอบในภาพยนตร์ และดูแลภาพรวมให้เป็นไปอย่างที่ผู้กำกับตั้งใจ 

ด้วยความที่เป็นคนเห็นทุกองค์ประกอบในภาพยนตร์ ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ทุกเทคนิค ทุกเหตุการณ์ในกองถ่าย ทำให้ติ๊กนึกสนุกอยากเอางานทั้งของตัวเองและงานอื่น ๆ ในกองถ่ายมาเล่าให้คนอื่นฟัง 

“การทำเพจนี้ทำให้รู้ว่ากองถ่ายเป็นดินแดนสนธยา ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าคนในกองถ่ายมีใครบ้าง ทำอะไรกันบ้าง คนอ่านเขาสนใจ เพราะมันไม่ได้มีสื่อที่เล่าเรื่องพวกนี้ แต่ก็มีคนติดตามไม่มาก เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง”

วันละภาพ เพจที่เล่าชีวิตคนกองถ่ายมาตลอด 5 ปี และได้ไปเรียกร้องสิทธิแรงงานหนังถึงในสภา

ปัจจุบัน เพจวันละภาพมีผู้ติดตามอยู่ประมาณ 47,000 คน มีทั้งนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ คนชอบดูภาพยนตร์ คนในสถาบันการศึกษา รวมไปถึงคนในหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เนื้อหาในเพจมีทั้งเรื่องสนุก ๆ ที่ทำให้เห็นวิถีชีวิตของคนในกองถ่าย เทคนิควิธีการทำงาน การเล่าถึงงานในตำแหน่งต่าง ๆ ดูแล้วเหมือนจะเป็นเพจที่เล่าเรื่องอาชีพแปลก ๆ ของตัวเองอีกหนึ่งเพจ แต่ความไม่เหมือนใครของเพจนี้ที่เล่าจากคนในงานจริง ๆ การสื่อสารแบบมีตัวตนของ พี่แอด และความตั้งใจอยากเป็นแหล่งความรู้ให้คนรุ่นใหม่ ทำให้เพจวันละภาพเป็นสื่อที่มีพลังขับเคลื่อนเรื่องสำคัญในวงการจนเราอยากเอามาเล่าสู่กันฟัง

วันละภาพ เพจที่เล่าชีวิตคนกองถ่ายมาตลอด 5 ปี และได้ไปเรียกร้องสิทธิแรงงานหนังถึงในสภา

ติ๊กเล่าว่า จากที่คิดว่าจะทำเป็นงานอดิเรก มันกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่มีพลังมากกว่าที่คิด “ในอินบ็อกซ์มักมีคนมาถามนั่นถามนี่เรื่องการทำงาน ตั้งแต่ขอข้อมูลไปเขียนรายงานเรื่องอาชีพในฝัน หาที่ฝึกงาน ฝากหาคนทำงาน หานักแสดง หรือแม้แต่มาถามหาที่ซื้อลูกเทพก็มี ทำให้รู้ว่ามีคนหวังพึ่งพาสิ่งที่เราทำ ก็เลยรับบทเป็นตัวกลางเชื่อมคนในและนอกวงการให้ได้เจอกันด้วย บางเรื่องที่เราตอบเองไม่ได้ก็แนะนำแหล่งข้อมูลให้เขาไป”

เดี๋ยวๆๆๆๆๆ แกร!! ฉันไม่ใช่ตอบได้ทุกเรื่องนะเว้ย? #ข้าม (สมัยเจ๊ย์เรียนมหาลัยไม่มีสอนค่ะ เหตุผลคือ…

Posted by วันละภาพ on Wednesday, March 21, 2018

ยิ่งรู้ว่ามีคนพึ่งพาข้อมูลจากเพจมากเท่าไหร่ ติ๊กยิ่งตั้งใจหาข้อมูลมาเล่ามากขึ้น จนมีคนบอกเธอว่า เนื้อหาในเพจนี้ใช้ประกอบเอกสารทางวิชาการได้เลย เพราะเป็นเหมือนงานวิจัยที่บันทึกไว้โดยคนทำงานภาพยนตร์ซึ่งมีอยู่น้อยมากในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น 

Focus Puller – ถือเป็นตำแหน่งยอดๆพีรามิดของสายงานภาพ (ทีมกล้อง) รองๆจากผู้กำกับภาพ (director of photography )และ…

Posted by วันละภาพ on Tuesday, April 18, 2017

มีอะไรอยู่ที่ด้านหลังของ call sheet? 1. จำนวนทีมงานที่จะ on set ในแต่ละวันของแต่ละแผนก….

Posted by วันละภาพ on Saturday, November 25, 2017

Crew Call : คือเวลาเรียกกอง ในที่นี้หมายถึง ทีมงานทุกคนต้องมาถึงเรียบร้อยแล้ว และพร้อมทำงาน…

Posted by วันละภาพ on Saturday, April 29, 2017

เรื่องเล่าชีวิตคนกองถ่ายของเพจวันละภาพ ถูกเล่าผ่านประสบการณ์พิเศษที่ใช้เป็นหีบห่อเพื่อสื่อสารเรื่องสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่ติ๊กได้จากการทำงานในกองถ่ายต่างประเทศ ซึ่งมักเป็นหนังฟอร์มยักษ์ มีดาราดัง มีคนเบื้องหลังที่น่าสนใจ

quarantine talk : LIVE ประจำวันนี้ 8 เม.ย. / 3 ทุ่ม หัวข้อ life of คนทำหนังนอก + ไปเจอ thor มาเป็นไงบ้างพี่ with พี่ติ๊ก ณ เพจ วันละภาพ ว่างๆฟังกันได้นะ สนุกๆ ใครอยากรู้ว่ากองถ่ายหนังนอกเขามาทำไรกันที่นี่ ชีวิตในกองเป็นไงบ้าง มาฟังกันได้ และทิ้งคำถามกันได้ฮะ #quarantinetalk

Posted by Nawapol Thamrongrattanarit on Wednesday, April 8, 2020

ในขณะที่ผู้คนตื่นเต้นและสนใจเรื่องที่ประเทศไทยถูกเลือกใช้เป็นโลเคชันถ่ายภาพยนตร์ของแพลตฟอร์มชื่อดัง อันนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศมหาศาล สิ่งที่เพจวันละภาพถือโอกาสเล่าพ่วงไปกับกระแสนี้ คือ วัฒนธรรมการทำงานในกองถ่าย คนเบื้องหลังตำแหน่งต่าง ๆ โอกาสในการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และสิทธิของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ควรได้รับการสนับสนุนไม่ต่างจากการส่งเสริมให้กองถ่ายมาใช้สถานที่

ติ๊กขยายความว่า “ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานไหนที่ดูแลด้านนี้ตรง ๆ การดูแลกองถ่ายหนังต่างประเทศไปอยู่ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งผู้ที่มาดูแลก็มาจากสายงานพัฒนาการท่องเที่ยว การมีกองถ่ายต่างประเทศเข้ามาทำให้เราได้ประโยชน์แค่การใช้โลเคชัน ภาครัฐไม่ได้เข้าใจว่าในกองถ่ายทำงานกันยังไง มีผู้เกี่ยวข้องเป็นใครบ้าง”

ความไม่รู้นี้ไม่ได้สร้างแค่ความห่างเหิน และไม่ใช่ปัญหาแค่ในวงการหนังนอก เพราะเมื่อผู้มีอำนาจไม่รู้จักการทำงานในกองถ่าย จึงไม่มีนิยามที่เหมาะสมสำหรับอาชีพนี้ ส่งผลให้คนทำงานในกองถ่ายไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง หรือไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับอาชีพนี้จริง ๆ 

“ช่วงโควิดคือช่วงที่เห็นปัญหานี้ชัดมาก” ติ๊กเล่า 

“ทั้งเรื่องการนับกองถ่ายเป็นการรวมตัวทำกิจกรรม ไม่ใช่การประกอบอาชีพหรือการผลิตภาพยนตร์ จึงต้องอยู่ในข้อกำหนดห้ามรวมตัวกันเกิน 5 คน มันเป็นกฎที่ไม่สมเหตุสมผลเลย และคนทำภาพยนตร์ก็แทบจะไม่เข้าข่ายใด ๆ ในความช่วยเหลือที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอาชีพและธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงนั้น” 

ในช่วงสถานการณ์เปราะบาง คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องเผชิญกับความน่าหงุดหงิดรายวัน เพจวันละภาพจึงรับบทเป็นบอร์ดติดประกาศ คอยสื่อสารความคืบหน้าเกี่ยวกับการทำงานของวงการภาพยนตร์ และเริ่มหันมาพูดถึงเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย

วันละภาพ เพจที่เล่าชีวิตคนกองถ่ายมาตลอด 5 ปี และได้ไปเรียกร้องสิทธิแรงงานหนังถึงในสภา

“ช่วงนั้นคนทำงานกองถ่ายหรือแรงงานเริ่มเห็นว่าคุณภาพชีวิตพวกเขาค่อนข้างแย่และไม่ได้รับความช่วยเหลือ นักศึกษาที่เราได้ไปเจอเวลาไปพูดตามสถานศึกษาก็เริ่มอยากรู้มากขึ้นว่า ถ้าเขาเข้ามาทำแล้วจะเป็นยังไง สรุปแล้วเราเป็นแรงงานนอกระบบเหรอ แล้วจะต้องทำตัวยังไง เราเลยเริ่มพูดเรื่องอาชีพคนทำหนังเยอะขึ้น”

เมื่อเจอประเด็นปัญหาที่มีโอกาสให้ร่วมแก้ไขมาวางอยู่ตรงหน้า ติ๊กจึงขยายเนื้อหาจากการเล่าเบื้องหลังมาพูดถึงกฎหมายแรงงานและคุณภาพชีวิตของคนในกองถ่าย 

“พอได้ทำงานในกองถ่ายต่างชาติ จึงได้เห็นว่าคนทำงานต่างชาติเขามีระบบสหภาพที่เอาไว้ดูแลคุณภาพชีวิตและรักษาสิทธิให้คนทำงาน เราก็อยากให้ประเทศไทยมีแบบนั้นบ้าง” ติ๊กยอมรับว่ามันคือความอิจฉา

พอเป็นสื่อที่ทำประเด็นเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ติ๊กจึงได้รับคำชวนจาก สมาคม Films and Digital Crew Association (Thailand) ให้ไปเป็นตัวแทนยื่นจดหมายถึงคณะกรรมาธิการการแรงงาน เรื่องการเป็นแรงงานนอกระบบของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ถึงในรัฐสภา โดยมี กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้น เป็นคนช่วยดำเนินเรื่องให้ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ติ๊กบอกกับตัวเองว่า “นี่ก็มาไกลเหมือนกันนะ”

23 กันยายน 2563: คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับฟัง และหารือร่วมกับตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์…

Posted by วันละภาพ on Wednesday, September 23, 2020

บันทึกการเป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือและหารือกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

หลังจากการยื่นหนังสือครั้งนั้น ทำให้ติ๊กเห็นศักยภาพใหม่ของเพจวันละภาพ คือการเป็นพื้นที่รวมตัวของเหล่าฟรีแลนซ์และคนทำงานในวงการภาพยนตร์ให้เป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรง เพื่อส่งเสียงไปสู่ผู้มีอำนาจ

การเข้าร่วมและชักชวนคนในวงการให้เข้าร่วมกับ กลุ่ม CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ เพื่อร่วมผลักดันวาระต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่เพจวันละภาพมีส่วนขับเคลื่อน

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ จะเป็นคอมมูนิตี้ที่คนทำงานสร้างสรรค์มารวมตัวกัน อะไรเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการพูดคุย ก็จะถูกแลกเปลี่ยนกันทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เช่น มาตรฐานการทำงาน ค่าตอบแทน และสิทธิ สวัสดิการ ที่เทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ

“การมีสหภาพฯ จะทำให้การเจรจาต่อรองมีน้ำหนักมากขึ้น เช่น เรื่องชั่วโมงการทำงาน คุณภาพชีวิต รวมทั้งการร่วมออกแบบบรรทัดฐาน เพื่อให้คนทำงานและคนจ่ายเงินได้รับสิ่งที่ตัวเองควรได้รับอย่างเป็นธรรม” ติ๊กย้ำ

พ.ศ.นี้ ไม่มีสินค้าส่งออกตัวไหนที่หน่วยงานราชการหรือรัฐบาลจะหมายมั่นปั้นมือไปมากกว่า Soft Power ซึ่งมีกำลังผลิตหลักเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ติ๊กพูดถึงเรื่องนี้ว่า “พอเราทำเรื่องแรงงาน ก็คาดหวังอยากเห็นนโยบายที่พูดถึงคน ช่วยเหลือคนในวงการสร้างสรรค์ที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญของ Soft Power ด้วย ทุกวันนี้ทุกหน่วยงานมุ่งเป้าไปที่การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งทำให้เรื่องแรงงานมีปัญหา”

ติ๊กเล่าว่าการทำเพจวันละภาพมา 5 ปี และยังจะทำสิ่งนี้ต่อไปเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย เพราะเธอก็ยังต้องทำมาหากินอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ความขัดแย้ง เคลือบแคลง สงสัย เป็นสิ่งที่เธอต้องบริหาร แต่เธอก็ยังยืนยันว่าสิ่งที่ได้มายังดีกว่าสิ่งที่ต้องเสียไป 

ก่อนจากกัน เธอบอกเราว่า “สิ่งที่ชุบชูใจคือการที่ยังได้เล่าเรื่องนี้ให้สังคมรู้ อย่างน้อยเราก็ได้ทำอะไรสักอย่างให้คนรู้จักพวกเรามากขึ้น หรือได้ไปถึงหน่วยงานราชการ 

“ทุกวันนี้ก็เริ่มมีคนจากหน่วยงานราชการมาติดตามเพจแล้ว” ติ๊กพูดพร้อมยิ้มบาง ๆ

วันละภาพ เพจที่เล่าชีวิตคนกองถ่ายมาตลอด 5 ปี และได้ไปเรียกร้องสิทธิแรงงานหนังถึงในสภา

Facebook : วันละภาพ

ภาพ : วันละภาพ

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น