ธุรกิจ : สิ่งทอ (ผ้าผืน)

ประเภทธุรกิจ : การผลิตและส่งออก

อายุธุรกิจ : 42 ปี

ผู้ก่อตั้ง : เอกอมร ทองวัฒนาวณิช

ทายาทรุ่นสอง : ณรงค์ศักดิ์ ทองวัฒนาวณิช

หนุ่ม-ณรงค์ศักดิ์ ทองวัฒนาวณิช คือทายาทรุ่นสองของโรงงานทอผ้าที่เติบโตมาจากตลาดสำเพ็ง เป็นธุรกิจรับผลิตสินค้าหรือที่เรารู้จักกันดีว่า OEM (Original Equipment Manufacturing) ในสมัยที่อุตสาหกรรมสิ่งทอยังเฟื่องฟูมากในประเทศไทย

เขาเข้ามารับช่วงต่อท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจพร้อมหนี้สิน 590 ล้านบาท

ใช่ค่ะ คุณอ่านไม่ผิด 590 ล้านบาท คือตัวเลขที่หนุ่มในวัยยี่สิบต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจครอบครัวต่อ ใจหนึ่งอยากทิ้งไว้ตรงนั้น อีกใจก็อยากรับผิดชอบหนี้สินให้หมดสิ้น

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

แต่นั่นไม่ใช่โจทย์ใหญ่ข้อเดียวในการปรับธุรกิจโรงทอผ้าของพ่อ เพราะในวันนี้ที่ธุรกิจ OEM แข่งกันด้วยกลยุทธ์ราคาและมีคนพร้อมที่จะรับผลิตแทนตลอดเวลา หนุ่มต้องใช้กลยุทธ์อื่นเพื่อให้อยู่ในธุรกิจสิ่งทอต่อไปอย่างมั่นคงให้ได้

OMT หรือ OneMoreThing คือทางออกของเขา แบรนด์สินค้าผ้าทอที่มีตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน ด้วยความแตกต่างในเชิงดีไซน์ รายละเอียดในการทอจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมกว่า 40 ปี และการร่วมงานกับศิลปินไทยหลายคน ทำให้แบรนด์นี้มีเอกลักษณ์และแต้มต่อเชิงราคาในแบบที่โรงงานทอผ้า OEM ไม่เคยเป็นมาก่อน

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

เขาคือทายาทที่ชอบแหกคอก คิดนอกกรอบ มองธุรกิจอย่างที่มันเป็นโดยไม่ต้องปรุงแต่งเพื่อปลอบใจตัวเอง และปรับตัวทันทีที่เห็นช่องทางโดยเตรียมใจว่ามันอาจจะสำเร็จหรือไม่ก็ได้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นโอกาสในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้คงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

Since 1979

หนุ่มเกิดในครอบครัวคนจีน ปู่ของเขาอพยพถิ่นฐานมาอยู่ประเทศไทยในรูปแบบที่เรียกให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ยุคนั้นการอยู่ในประเทศจีนเป็นเรื่องลำบาก เพราะความยากจนและความไม่อุดมสมบูรณ์ของภูมิประเทศ  ชาวจีนหลายคนตัดสินใจนั่งเรือมาเสี่ยงโชคที่เมืองไทย บ้างทำมาค้าขาย บ้างก็รับจ้างใช้แรงงาน

ภาพจำของคนจีนในตอนนั้นคือขยันขันแข็ง ต่างจากคนไทยที่เติบโตมาบนแผ่นดินที่ปลูกอะไรก็ขึ้น เราจึงเห็นนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ประสบความสำเร็จหลายคนเริ่มต้นจากการทำงานใช้แรงมาก่อน

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

“รุ่นอากงเขานั่งเรือมาขึ้นที่ท่าแถวราชวงศ์ เพราะตรงนั้นมันเป็นศูนย์กลางการค้าขายในสมัยก่อน อากงก็เริ่มจากงานจับกัง จนเสียชีวิตตอนพ่อผมอายุสิบเก้าปี พ่อเป็นคนโต ไม่รู้จะหาเลี้ยงอาม่ากับน้องอีกห้าคนยังไง ก็รับจ้างทั่วไป ลำบากมาก พ่อเลยพยายามถีบตัวเองเพื่อให้ครอบครัวสบายขึ้น แล้วมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าอยากรวยต้องเข้าสำเพ็ง เพราะสำเพ็งสมัยนั้นเป็นดินแดนแห่งการค้าในทุกๆ อุตสาหกรรม”

สิ่งแรกที่พ่อของหนุ่มทำคือเก็บเงินก้อนหนึ่งไปซื้อรถเวสป้า ไม่ใช่เพราะสวย เท่ หรือคลาสสิกแบบที่หลายคนคิด แต่เพราะรถยี่ห้อนี้แข็งแรง รับน้ำหนักได้เยอะ ทำให้ขนของได้เยอะกว่า

“พ่อส่งของทุกอย่าง จับฉ่าย อะไรก็ได้ จนรู้จักเถ้าแก่หลายๆ ท่านที่ให้โอกาส เริ่มต้นจากการโป้วสินค้าที่ร้านหนึ่งต้องการ พ่อจะไปหาซื้อจากอีกร้านในราคาที่ถูกกว่า ก็ได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ จากตรงนั้น จนได้กู้เงินเปิดร้านในสำเพ็งบทถนนมังกร ใครมีคูหาตรงนั้นถือว่าโชคดีมาก วันนี้น่าจะราคาถึงร้อยล้านแล้ว ทำไปทำมาเพื่อนพ่อคนหนึ่งก็แนะนำว่าให้ทำผ้าขึ้นมาเองเลย เป็นจุดเริ่มต้นของโรงทอผ้าใน ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) ที่ยังมีมาถึงทุกวันนี้”

ฐานการผลิตสิ่งทอที่สำคัญของโลก

เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าประเภท OEM (Original Equipment Manufacturing) หรือการผลิตสินค้าตามคำสั่งให้ลูกค้านำไปติดแบรนด์ตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ ไม้ อาหาร จนถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่มีตัวเลขส่งออกสูงอันดับต้นๆ ของประเทศ 

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

สมัยหนุ่มเด็กๆ เสื้อยืดมีทั้งแบบ Made in USA หรือ Made in Japan อย่างเสื้อยี่ห้อ GAP ที่เขาเล่าให้ฟังว่าผลิตในนิวยอร์ก ทำให้ราคาขายปลีกสูงถึงตัวละ 3,000 บาท แต่หลังจากเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เทคโนโลยีที่ใช้ก็เริ่มกระจายมายังภาคพื้นอื่นๆ ของโลก ในยุคที่ประเทศเพื่อนบ้านยังอยู่ในภาวะสงคราม ส่วนผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็ยังไม่เปิดประเทศ ไทยจึงเป็นศูนย์กลางของการผลิตสิ่งทอของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะค่าแรงถูกกว่าที่อื่น และเป็นยุคที่โรงทอผ้าของพ่อรุ่งเรืองมาก

“คนสมัยนั้นมีความคิดว่า ถ้าอยากรวยต้องเป็นเถ้าแก่ ต้องสร้างโรงงาน คิดแต่จะผลิต ซื้อเครื่องพิมพ์มาพิมพ์ ซื้อเครื่องทอมาทอ ซื้อเครื่องพลาสติกมาฉีด เพราะสเกลการผลิต OEM ในตอนนั้นมันใหญ่มาก อย่างประเทศไทยเคยรับจ้างผลิตเสื้อให้ Walmart ห้าล้านตัวต่อ 1 ออเดอร์ แล้วค่าแรงบ้านเราถูกกว่าที่อื่นมาก

“จนเวลาผ่านไป เวียดนามเข้ามาในอุตสาหกรรม จีนเปิดประเทศ จากที่เคยเห็น Made in Thailand เยอะๆ มี Made in China, Made in Cambodia, Made in Vietnam เข้ามาเพราะค่าแรงของเขาถูกกว่าเราลงไปอีก หลายแบรนด์ใหญ่ตอนนี้ก็มีสินค้า Made in Bangladesh, Made in Pakistan เยอะเหมือนกัน”

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

จากที่ไทยเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตสิ่งทอในระดับสากล ก็ค่อยๆ สูญหายไปเพราะต้นทุนราคาที่แพงขึ้น และในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาจากการใช้เวลา 3 เดือนในการส่งจดหมายข้ามชาติ สู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันใจเพียงแค่คลิก ทำให้ลูกค้าย้ายไปผลิตที่อื่นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเวลาให้เตรียมตัวเตรียมใจ  

“แต่ตลาดมันไม่ได้หายไปไหน” หนุ่มย้ำ

“มันแค่เคลื่อนตัว”

เขาเปรียบเทียบให้ฟังแบบนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 มาจนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2020 จำนวนประชากรโลกมีแต่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับทรัพยากรที่ถูกมนุษย์ใช้สอยไปทุกวัน อุตสาหกรรมยังสำคัญมาก เพียงแต่มันไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว ธุรกิจใกล้เคียงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเส้นใยถึงผ้าเสื้อผ้าก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป

ตกสวรรค์

ธุรกิจโรงงานทอผ้าของพ่อที่เคยเฟื่องฟูดำเนินงานมาเรื่อยๆ ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่ค่อยๆ ย้ายออกจากประเทศไทยไปทีละนิด เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หนุ่มกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีชีวิตหรูหรา

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

“เราไม่รู้ว่าสถานการณ์การเงินของโรงทอผ้าเป็นยังไง จนวันหนึ่งฟ้าผ่ามาไม่รู้ตัว เราไปเรียนหนังสือปกติ ตอนนั้นอยู่ปีสอง แม่โทรมาบอกให้รีบกลับบ้าน ครอบครัวเราอยู่บ้านนี้ไม่ได้แล้ว ต้องย้ายไปอยู่บ้านเช่าหลังเล็กๆ ขายหมดทุกอย่าง พระ นาฬิกา รถ ทอง มาจ่ายหนี้ ตอนนั้นคือ พ.ศ. 2539 ฟองสบู่แตก จากที่พ่อใช้วิธีหมุนเงินมาตลอดก็ไม่สามารถจัดการได้ ผลประกอบการมีภาระหนี้มากเกินไป ทำให้ธุรกิจเข้าสู่ NPL (Non-Performing Loan) หรือภาวะหนี้เสีย พ่อจ่ายเงินธนาคารไม่ได้”

หนุ่มเปลี่ยนจากเรียนมหาวิทยาลัยภาคกลางวันมาเรียนภาคค่ำ ชีวิตตกต่ำจากที่เคยเฟื่องฟูหรูหรา เขานิยามว่ามันคือการตกสวรรค์ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเองเห็นสัจธรรมชีวิต ในขณะที่โรงงานทอผ้าก็ยังดำเนินต่อไปได้อยู่ เขาตัดสินเลิกตามความฝันที่จะเป็นนักชีววิทยาหรือสร้างภาพยนตร์สารคดีของตัวเองขึ้นมา แล้วเข้ามารับช่วงต่อพร้อมกับหนี้ 590 ล้านบาท

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

หนี้ 590 ล้านบาท

แค่ต้องนึกภาพตัวเองเป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปีที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจทั้งที่ยังเรียนไม่จบ ก็แทบจะไม่เห็นภาพ ยิ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปีที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจที่มีหนี้ติดมาถึง 590 ล้านบาท ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถามหนุ่มในวันนี้เขาเองก็ตอบไม่ได้เต็มปากว่าผ่านมาได้อย่างไร รู้แต่ว่าหนัก 

“ตอนนั้นเรามีหลายไอเดียมาก จะช่างแม่งเลยดีไหม เพราะนี่กูไม่ได้เริ่มจากศูนย์นะ กูติดลบ ป๊ากับม้าคงไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเริ่มใหม่ หรือฆ่าตัวตายหนีไปเลย อายเขา หรือจะชักดาบเจ้าหนี้ เป็นคนเลวไปเลยดี เราคิดทุกอย่าง สับสนไปหมด วนๆ คิดอยู่ในอากาศ แต่สุดท้ายก็กลับมามองโรงทอผ้าแล้วพบว่ามันก็ยังทำต่อไปได้ พนักงานก็ยังเกาะกลุ่มอยู่กับเรา

“การที่เราเลิกจ้างพนักงานหนึ่งคน มันอาจจะกระทบกับอีกสามคนที่บ้านเขา แล้วเราอยากพิสูจน์ว่าจริงใจ ยืมเงินใครมาก็ต้องคืนเงินเขาเท่าที่สถานการณ์การเงินของเราจะทำไหว เจ้าหนี้เขาอาจจะไม่ได้รวยเหมือนกับเรานี่แหละ เขาอาจจะมีปัญหาเดือดร้อนเหมือนกัน”

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

กลยุทธ์ที่พ่อและหนุ่มใช้คือการไล่ชำระหนี้บุคคลก่อน เริ่มจากญาติ เพื่อน คนใกล้ตัว เพราะมองว่าเวลาตัวเองเดือนร้อนเขายื่นมือมาช่วย ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องกลับไปช่วย แล้วค่อยจ่ายธนาคารทีหลัง เพราะธนาคารมีหลักทรัพย์และทรัพย์สินของธุรกิจค้ำประกันอยู่ และเพิ่งจ่ายหนี้จนครบทั้งหมดเมื่อ 4 ปีก่อน

แต่การรับช่วงต่อไม่ได้มีแค่เรื่องหนี้อย่างเดียว ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างและระบบธุรกิจ การซื้อใจพนักงานเก่าแก่ สำหรับพ่อ หนุ่มเข้ามาทำธุรกิจในฐานะผู้จัดการ แต่สำหรับเขาคือผู้รับช่วงต่อที่มีบทบาทเหมือนกับพ่อทุกอย่าง

“เราไม่ได้เข้าไปตีลังกาบริษัท แต่เข้าไปเสริมในส่วนที่ขาด หลายอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนั้นถูกและดีแล้ว แต่เราก็เข้าไปปรับปรุงให้ดีขึ้น วิธีการทำงานหลักๆ ของพ่อที่เรายังใช้อยู่จนทุกวันนี้มีสามอย่าง คือ หนึ่ง ขยัน พ่อทำงานตลอดเวลา ขยันมาก คิดแต่เรื่องงาน สอง ซื่อสัตย์ พ่อพูดอะไรคำไหนคำนั้น และสาม อดทน สามสิ่งนี้ดูเบสิกนะ แต่การทำต่อเนื่องเป็นเวลาสี่สิบห้าสิบปีมันไม่ใช่แค่คำพูดแล้ว ทำจริงมันยากมาก

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

“ธุรกิจนี้คือชีวิต มันมีขึ้น มีลง มีดราม่า มีอะไรเต็มไปหมด Colorful สุดๆ พนักงานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่กับพ่อตั้งแต่หนุ่มๆ จนเดินไม่ไหว เขาเห็นเรามาตั้งแต่ฟันน้ำนมยังไม่ขึ้น ถ้าเข้าไปเป็นบอสสั่งการชี้นิ้ว ยังไงเขาก็ต่อต้าน เราต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้พนักงานเห็นว่าเราจะเป็นหัวหน้าที่ดีได้ คอยสังเกตว่าแต่ละคนนิสัยเป็นยังไง คนที่เราทำงานด้วยบ่อยๆ เป็นยังไง สำคัญที่สุดคือเราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นผู้นำที่ดีได้ มีทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง

“ส่วนพ่อกับเราทะเลาะกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มุมมองเราไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายเดียวคืออยากใช้หนี้ สร้างความแข็งแรงให้องค์กรและครอบครัว ระหว่างทางอาจจะคิดไม่เหมือนกันเยอะ พ่ออยากทำอาร์ตเวิร์กแบบนี้ เราอยากทำอีกแบบหนึ่ง เวลากินข้าวครอบครัวนี่จะนานมาก กินตั้งแต่สิบเอ็ดโมง เสร็จอีกทีสี่โมงเย็น สำหรับพ่อยังไงเราก็เป็นลูก เราจะทำดีที่สุดยังไงเราก็ยังเป็นลูก เป้าหมายของเราจึงเป็นการทำให้พ่อยอมรับ เขาภูมิใจแหละ แค่ไม่ได้พูดออกมา”

ทายาทรุ่นสอง

ความโชคดีของทายาทรุ่นสองคนนี้ แม้อุตสาหกรรมสิ่งทอจะค่อยๆ ย้ายไปประเทศอื่น แต่ช่วงที่เข้ามาเป็นช่วงเดียวกับที่ค่าเงินบาทลอยตัว จากที่เคยส่งออกได้เงินจำนวนหนึ่ง ก็ได้มากขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า

แต่นั่นไม่ได้ทำให้สถานการณ์ของธุรกิจ OEM ตึงเครียดน้อยลง Disruption สำคัญของโรงทอผ้าแห่งนี้ คือต้นทุนค่าแรงในต่างประเทศที่ถูกกว่ากันครึ่งๆ ธุรกิจอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันค่อยๆ ปิดตัวลง บางธุรกิจเปลี่ยนสภาพ คำว่า Globaliazation ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจแทบทุกฉบับ  มีการควบรวมกิจการข้ามทวีป 

“ธุรกิจเราใหญ่ในประเทศไทย แต่เราเล็กในโลก แค่ในฮ่องกงเรายังเล็กกว่าเลย ขณะเดียวกัน ราคาต่อออเดอร์ OEM ก็ถูกลงเรื่อยๆ มีการเอาราคาแต่ละโรงงานไปเปรียบเทียบกัน แล้วมาบีบให้กดราคาต่ำลงไปอีก มันคือ Price War ที่ไม่ต้องอาศัยทักษะด้านอื่นเลย ใช้กลยุทธ์การขายกับราคาอย่างเดียว ในวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ นิสัยของการซื้อคือต้องซื้อให้ถูกลงเสมอ ถ้าคุณไม่มีจุดเด่นอื่นๆ คุณไม่มีทางอัพราคาได้เลย สมมติ ตีราคาลูกปิงปองนี้ให้ผมหน่อย”

หนุ่มยื่นลูกปิงปองสีส้มแบบที่เล่นกันในวิชาพละสมัยมัธยมให้

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

“สองบาท” เราตอบเขา แล้วเขาก็ยื่นให้นักศึกษาฝึกงานที่ไปด้วยกัน

“หนึ่งบาทก็ได้ครับ”

“เอาแบบนี้เลยนะ ทำให้เหมือนเจ้าสองบาทเลย อย่าลดคุณภาพ ถ้าเอาพร้อมลงออเดอร์เลย แต่เดี๋ยวนะ มีคนขอเทียบราคา คิดหนึ่งบาทเท่ากันเลย งั้นขอแปดสิบสตางค์ได้ไหม ถ้ารับเดี๋ยวสั่งเลย” 

นั่นคือตัวอย่างสถานการณ์ที่นักธุรกิจเจ้าของธุรกิจ OEM ต้องเจอในทุกวัน มันคือข้อจำกัดของการผลิตสินค้าที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ และมีคนอื่นพร้อมจะเข้ามาแทนที่ตลอดเวลา

มันน่าเบื่อ-เขาว่า

“โรงงานหันไปมีแต่ค่าใช้จ่าย เราเปิดสวิตช์ ไฟวิ่งก็เป็นเงินแล้ว ถ้าธุรกิจคุณไม่มีข้อได้เปรียบใดๆ คุณก็ต้องอยู่ในโลกที่น่าเบื่อแบบนี้ตลอดไป คนรุ่นใหม่ๆ ถึงเบื่อ ไม่อยากทำ มันไม่มีอะไรใหม่ ธุรกิจเรามันเคยพีกไปแล้ว เมื่อถึงจุดพีกแปลว่ามีแต่ทางลงแล้ว ค่าแรงเพิ่มขึ้น จะซื้อไข่ฟองหนึ่งก็ใช้เงินมากขึ้น เดี๋ยวนี้กะเพราจานละห้าสิบบาทเป็นเรื่องธรรมดา รุ่นเราก๋วยเตี๋ยวเรือห้าบาท กินได้สามคำ เดี๋ยวนี้สิบบาทแต่กินได้คำเดียว

“เราทำธุรกิจเหมือนเดิม ขยันเหมือนเดิม เหนื่อยเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ได้มันน้อยลง ยากขึ้น ทำไมมันลำบากอย่างนี้ ลูกค้าในไทยก็เลิกกิจการ สู้ไม่ไหว คู่แข่งที่เหลืออยู่ก็ลดราคาจนจะสู้ไม่ไหว ไหนยังมีตลาดในเมืองจีนที่ใหญ่และถูกมากๆ ฝรั่งก็ไปสั่งโน่นหมด

“ดูๆ แล้ว ถ้าไม่ปรับตัว กูตายรอบสองแน่นอน” เขาพูดติดตลก

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

OMT โปรเจกต์หนีตาย

“กูต้องสร้างแบรนด์” ความคิดนี้แล่นเข้ามาในหัวหนุ่มเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ไล่เลี่ยกับที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้คนทำแบรนด์มากขึ้น แต่คนที่รับจ้างผลิตมาทั้งชีวิตจะทำแบรนด์อะไร คือคำถามที่เขาหาคำตอบไม่ได้จนเมื่อ 3 ปีก่อน

“คำตอบคือทำทุกอย่างให้เป็นผ้าทอ เรากวาดสายตาไปให้จักรวาลเห็นสินค้า พบว่าโลกนี้มันเต็มไปด้วย Product เยอะแยะไปหมด แต่จะเริ่มยังไงดี เราทำคนเดียวไม่เป็น ไม่เก่งด้านดีไซน์ ไม่มีความรู้เรื่องแบรนดิ้ง เลยชวน โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา มาเป็นหุ้นส่วน คอยดูแลเรื่อง Creative Direction ส่วนเราก็รับผิดชอบเรื่องการผลิตที่ตัวเองทำมาตลอด”

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

OMT คือแบรนด์เล็กที่คิดใหญ่ ซึ่งเข้ามา Disrupt ธุรกิจโรงทอผ้าเดิม 3 เรื่องหลักๆ หนึ่ง ดีไซน์ หนุ่มเข้ามาแหกคอกและออกนอกกรอบการดำเนินงานที่เคยมีอยู่ และไม่ได้มองว่า OMT คือแบรนด์ผ้า แต่เป็นแบรนด์พื้นผิวที่เกิดจากการทอเส้นใย แบบที่เขาเรียกว่า Eccentric Surface Brand สอง วัสดุ จากที่เคยใช้แต่ Polyester ก็มีการหาโอกาสกับวัสดุใหม่ๆ ทั้งแบบสังเคราะห์และธรรมชาติ ที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้สินค้า และสาม เครื่องจักร ปรับเปลี่ยนให้รองรับการทอลายที่ละเอียดมากๆ หรือสีสันที่เพิ่มขึ้น คนในโรงงานก็ต้องปรับ เวลาฝ่ายผลิตเจอ Material แปลกๆ ก็ต้องปรับตัว ปรับวิธีการ”

OMT เปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week ที่ Warehouse 30 เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 ด้วยสินค้าผ้าทอ ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์ที่ลวดลายไม่เหมือนใคร ทำให้ยอดขายสูงถึง 1.2 ล้านบาทในเวลาเพียง 10 วัน หลังจากนั้น หนุ่มก็ทำงานร่วมกับศิลปินไทยอีกหลายท่าน อาทิ Pomme Chan, Luck Maisalee, Meaw Prakit และ Tae Pradipat เพราะเชื่อว่างานศิลปะไม่ควรอยู่แค่บนผ้าแคนวาส แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก
OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

จุดเด่นของ OMT คือการทอละเอียดราวกับการสกรีนผลงานศิลปินลงบนผ้าอย่างไรอย่างนั้น นอกจากนี้ เขายังพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ มาสร้างความแตกต่างให้แบรนด์ของตัวเองและตอบโจทย์ผู้ใช้งาน อย่างผ้าม่านประหยัดไฟที่จะลดอุณหภูมิห้องได้ 4 – 5 องศาเซลเซียส หรือผ้าลดเสียงที่กำลังทดลองทำอยู่ด้วย

ความเสี่ยง หรือ ความหวัง

OMT เป็นทั้งความเสี่ยงและความหวังของหนุ่ม

“ไม่ใช่ว่ามีโรงงานแล้วจะสร้างแบรนด์ได้ การสร้างแบรนด์ต้องใช้เงิน คนที่มีเงินมากกว่าอาจจะมีโอกาสมากกว่า แต่การมีโอกาสมากก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จ จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องทำแบรนด์ก็ได้ อยู่ในโลกของ OEM ไปเรื่อยๆ จำเรื่องปิงปองได้ใช่ไหม แต่เราไม่อยากเป็นแบบนั้น 

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

“วันนี้ที่เราคุยกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นช่วง COVID-19 ระบาด OMT อาจจะล้มเหลวก็ได้ แต่ก็เป็นความหวัง เพราะถ้าสำเร็จ มันอาจจะกลายเป็น Off-White ของประเทศไทย เหมือนที่ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) เป็น Hermes of Thailand เราอาจจะเห็นสินค้าของเราวางขายอยู่บนถนนฌ็องเซลิเซ่ในปารีส หรือกรุงนิวยอร์ก หรืออาจจะเป็น Little Prada ก็ได้นะ แต่ถ้าเราไม่ปรับ ไม่ทำอะไรเลยวันนี้ ปลายทางชัดเจนคือเจ๊งแน่นอน

“เราตั้งใจจะเกษียณตอนอายุห้าสิบห้า ปีนี้เราสี่สิบสี่ เหลือเวลาอีกสิบเอ็ดปีในการพา OMT ไปที่ไหนก็ได้ โลกนี้เต็มไปด้วย Disruption เมื่อเช้าเพิ่งอ่านข่าวแกรมมี่ปิด GMM Channel เพราะถูก Disrupt โดยเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมของคนทำธุรกิจและผู้บริโภค ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ได้ยากมาก เนื่องจากโลกหมุนไว เราก็ต้องหมุนตามให้ทัน พอมีอะไรเกิดขึ้นมาเราก็ต้องปรับตัว อีกสิบเอ็ดปีข้างหน้าอาจจะต้องมาคุยกันอีกรอบว่าเราพาแบรนด์ไปเป็น Off-White หรือเราเจ๊งไปแล้ว”

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

วันนี้ OMT มีร้านของตัวเอง มีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่ง และมีตัวแทนอยู่ที่เมือง Toulouse ประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายของเขาคืออยากเห็นแบรนด์นี้วางจำหน่ายอย่างน้อย 10 หัวเมืองใหญ่ทั่วโลก อาทิ นิวยอร์ก ปารีส โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ธุรกิจครอบครัวของเขาเดินทางจากโรงงานทอผ้า OEM คุณภาพดีที่ยังไม่มีการสร้างเอกลักษณ์ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่โดดเด่นเรื่องฝีมือและลวดลายละเอียดที่พร้อมจะขยายกลุ่มลูกค้าไปยังต่างประเทศ 

โจทย์หินข้อต่อไปของเขา คือการส่งต่อองค์ความรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ลูกในฐานะทายาทรุ่นสาม เราถามหนุ่มก่อนจากกันว่า วันนี้ OMT เป็นความเสี่ยงหรือความหวังมากกว่ากัน 

“ความเสี่ยงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ความหวังแปดสิบเปอร์เซ็นต์” เขาตอบแบบไม่ต้องคิด

OMT จากโรงงานรับจ้างทอผ้าของพ่อ สู่แบรนด์สินค้าผ้าทอที่ตั้งใจวางขาย 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล