เช้าตรู่วันเสาร์ที่มุมไบ ประเทศอินเดีย รถแท็กซี่สีดำตัดเหลืองคันกะทัดรัดจอดตรงหน้าบันไดสูงตระหง่าน เหนือขึ้นไปมีตึกใหญ่สีขาวสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก มีเสาเรียงรายเด่นเป็นสง่า หน้าบันเขียนว่า ‘The Asiatic Society, Mumbai 1804 – State Central Library – Town Hall’

แล้วการเดินทางใน ‘มุมไบ’ มหานครอันเอิกเกริกเกริกไกรที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียใต้ของเราก็เริ่มต้นจากตรงนี้ มองมุมไบในมุมใหม่ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย ในมหานครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งเอเชียใต้ จะเป็นอย่างไร ติดตามพร้อมกันนะครับ 

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia

จากหมู่เกาะถึงปราสาท 

หลายคนคงไม่ทราบว่า เมื่อ 700 กว่าปีก่อน ‘มุมไบ’ หรือที่คนรุ่นเก่าก่อนรู้จักกันในชื่อ ‘บอมเบย์’ ประกอบด้วยหมู่เกาะกลางทะเลอาหรับ 7 เกาะ ได้แก่ เกาะมาฮีม (Mahim) เกาะวอร์ลี (Worli) เกาะมาสกาโอน (Mazagaon) เกาะพาเรล (Parel) เกาะบอมเบย์ (Bombay) เกาะโคลาบา (Colaba) และเกาะหญิงชรา (Old Woman’s Island) หรือโคลาบาน้อย (Little Colaba)

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
ภาพแสดงหมู่เกาะบอมเบย์ 
ภาพ : วิกิพีเดีย

เกาะทั้งเจ็ดเดิมปกครองโดยสุลต่านแห่งคุชราต ต่อมาโปรตุเกสมายึดครองไว้เพื่อใช้เป็นสถานีการค้าในภูมิภาค โดยเรียกเกาะที่ใหญ่ที่สุดว่า ‘Bom Bahia’ ซึ่งแปลว่า ‘The Good Bay’ อย่างไรก็ตาม โปรตุเกสก็มิได้พัฒนาเกาะเหล่านี้มากไปกว่าการสร้างป้อมปราการและสถานีการค้า

จนกระทั่งปี 1662 เมื่อเจ้าหญิงแห่งโปรตุเกส พระนาม คาทารีนาแห่งบรากันซา (Catarina de Bragança) อภิเษกสมรสกับ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ หมู่เกาะบอมบาเฮียของโปรตุเกสจึงตกเป็นของอังกฤษตามผลแห่งสนธิสัญญาอภิเษกสมรส และเปลี่ยนชื่อเป็น บอมเบย์ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ไม่ทรงปรารถนาจะปกครองหมู่เกาะบอมเบย์ จึงพระราชทานให้บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของอังกฤษ เช่าทำเป็นสถานีการค้า เสียค่าเช่ารายปีเป็นทองคำปีละ 10 ปอนด์เท่านั้น

เมื่ออังกฤษเข้าครอบครอง จึงสร้าง ‘ปราสาทบอมเบย์ (Bombay Castle)’ ขึ้นในบริเวณบ้านริมทะเล Manor House ของ การ์เซีย เดอ ออร์ต้า (Garcia de Orta) แพทย์และนักธรรมชาติวิทยาชาวโปรตุเกส

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
ภาพวาดปราสาทบอมเบย์ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเนเธอร์แลนด์
ภาพ : World History Encyclopedia

ปราสาทบอมเบย์มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ประกอบด้วยจวนของข้าหลวงใหญ่ (Governor) สถานที่ราชการ ป้อมปราการ คลังสรรพาวุธ ถังน้ำขนาดใหญ่ เรือนจำ ท่าเรือ โรงพยาบาล โบสถ์ ห้างร้าน และบ้านเรือน โอบล้อมด้วยกำแพงขนาดมหึมา

ต่อมา เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น อังกฤษจึงขยายเมืองโดยถมทะเลเพื่อเชื่อมเกาะต่างๆ และรื้อกำแพงเมืองทิ้ง ย้ายจวนข้าหลวงใหญ่ออกไปนอกเมือง ปราสาทบอมเบย์จึงค่อย ๆ หมดความสำคัญ และกลายเป็นฐานทัพเรืออินเดียภาคตะวันตก ซึ่งอยู่ด้านหลังอาคาร The Asiatic Society จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี กองทัพเรืออินเดียก็ยังคงดูแลรักษาถาวรวัตถุต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคปราสาทบอมเบย์อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบ้าน Manor House ที่ผนวกรวมเป็นอาคารกองบัญชาการ รวมทั้งป้อมค่ายและประตูภายในฐานทัพเรือ ก็ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เนื่องจากฐานทัพเรือเป็นเขตหวงห้าม จึงเข้าไปชมโบราณสถานไม่ได้ เว้นแต่อาคาร Lion Gate ริมถนนสายหลักเท่านั้น

ที่แห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลง

จาก The Asiatic Society เราเดินลงบันไดซึ่งทอดลงสู่ถนน แล้วข้ามไปยัง ‘วงเวียนฮอร์นิแมน (Horniman Circle)’ วงเวียนสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยตึกสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนที่สร้างตีโอบตามแนวถนน ตัวตึกเซาะร่องตามผนังและประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นโดยรอบ ส่วนด้านล่างเป็นช่องทางเดินในร่ม อย่างที่เรียกว่าอาเขต (Arcade) ให้ผู้คนสัญจรผ่านไปมา

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
ตึกบริเวณวงเวียน Horniman Circle
เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
ตึกสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนและสถาปัตยกรรมเอ็ดเวอร์เดียน หันหลังให้กันที่วงเวียน Horniman Circle

ตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราช กระแสชาตินิยมทำให้ชื่อบ้านนามเมืองทั่วประเทศถูกแปลงจากชื่ออังกฤษเป็นชื่อบุคคลสำคัญของอินเดียทั้งสิ้น ชื่อเมือง บอมเบย์ ซึ่งมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยม ก็มีอันต้องเปลี่ยนไปเป็นชื่อ ‘มุมไบ’ ในปี 1995 คำว่า มุมไบ นั้นมีที่มาจาก ‘มุมบาเทวี’ หรือพระเสื้อเมืองตามความเชื่อของคนมุมไบตั้งแต่ยุคมราฐา

สถานีรถไฟกลางวิกตอเรียและพิพิธภัณฑสถานเจ้าชายแห่งเวลส์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช (Chhatrapati Shivaji Maharaj)’ อันเป็นพระปรมาภิไธยของปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิมราฐา ซึ่งมีขอบขัณฑสีมาในรัฐมหาราษฏระและอินเดียฝั่งตะวันตกเป็นส่วนมาก ทั้งยังเป็นต้นแบบของแนวคิดชาตินิยม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ มหาตมะ คานธี และขบวนการชาตินิยมในเวลาต่อมา

ในขณะที่วงเวียนนี้ ซึ่งแต่เดิมชื่อว่า Elphinstone Circle อันเป็นนามของอดีตข้าหลวงใหญ่คนหนึ่ง กลับเปลี่ยนชื่อเป็น Horniman Circle ซึ่งเป็นชื่อชาวอังกฤษเพียงหนึ่งเดียว และเป็นชื่อสถานที่สำคัญกลางใจเมือง ด้วยตั้งชื่อตาม Benjamin Guy Horniman หรือ B.G. Horniman บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Bombay Chronicle หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีสำนักงานอยู่บริเวณวงเวียนนี้

B.G. Horniman และอาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ The Bombay Chronicle ปัจจุบันครอบครองโดยหนังสือพิมพ์ Mumbai Samachar เป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย โดย B.G. Horniman เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย ทั้งในฐานะรองประธานสัตยาเคราะห์สภา (Satyagraha Sabha) ก่อตั้งโดยมหาตมะ คานธี และเป็นผู้ตัดสินใจตีพิมพ์ข่าวการสังหารหมู่คนอินเดียโดยทหารอังกฤษที่อมฤตสาร์ จนตนเองถูกรัฐบาลบริติชอินเดียสั่งเนรเทศ ซึ่งการลงข่าวการสังหารหมู่ในหนังสือพิมพ์ The Bombay Chronicle กลายเป็นชนวนสำคัญของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย นำไปสู่จุดจบของจักรวรรดิอังกฤษในเวลาต่อมา 

ชาวอินเดียเห็นว่า แม้ B.G. Horniman จะเป็นชาวอังกฤษ แต่ในเมื่อมาอาศัยแผ่นดินอินเดีย จึงพยายามกระทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อตีแผ่พฤติกรรมอันเลวร้ายของเจ้าอาณานิคมและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวอินเดีย จึงให้ชื่อวงเวียนใหญ่แห่งนี้ว่า Horniman Circle เพื่อระลึกถึงผู้มีคุณแก่ประเทศชาติ

จาก Horniman Circle เรามาหยุดตรงหน้า ‘วิหารนักบุญโทมัส (St.Thomas Cathedral)’ อาคารสถาปัตยกรรมนีโอกอธิก ศูนย์กลางคริสต์ศาสนิกชนนิกายแองกลิคัน ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ยุคปราสาทบอมเบย์ ภายในประดับกระจกสีภาพคริสต์ประวัติ มีแท่นบรรณฐาน (Lectern) และอ่างบัพติศมา สร้างด้วยหินอ่อนแกะสลัก และเมื่อครั้งเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ที่ตรงนี้ยังเคยเป็นจุดกิโลเมตรที่ศูนย์ของมุมไบ ภายในวิหารนักบุญโทมัสอีกด้วย 

ไม่ไกลจากวิหารวิหารนักบุญโทมัส คือพื้นที่สำคัญแห่งนึ่งของมุมไบ นามว่า ‘กาฬโกดา (Kala Ghoda)’ แปลว่า ม้าดำ ตั้งชื่อตามพระบรมรูปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงม้าสีดำที่เคยตั้งอยู่บริเวณนี้

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
รูปปั้นม้าสีดำ สัญลักษณ์ของย่าน Kala Ghoda ที่สร้างขึ้นใหม่แทนรูปปั้นเดิมที่ถูกรื้อย้ายออกไป

กาฬโกดา เป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน เต็มไปด้วยเหล่าอาคารสถาปัตยกรรมวิกตอเรียน นีโอคลาสสิก กอธิก และอินโด-ซาราเซนิก อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมอินเดีย  

ตึกเก่าในย่าน Kala Ghoda

ตึกเหล่านี้เป็นทั้งอาคารราชการ สถานศึกษา โรงแรม และห้างร้านซึ่งพ่อค้าวาณิชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปาร์ซี เชน และยิว ต่างมาจับจองพื้นที่ในย่านนี้ตั้งห้างร้านของตน โดยเฉพาะแขกปาร์ซี ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ปาร์ซี ฟันเฟืองเศรษฐกิจของมุมไบ อินเดีย และโลก

ชาวปาร์ซีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอิหร่าน นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นลัทธิบูชาไฟ เนื่องจากในศาสนสถานของโซโรอัสเตอร์มีดวงไฟจุดอยู่ตลอดเวลา ต่อมาหลังจากพ่ายสงครามศาสนาระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสตนาโซโรอัสเตอร์ ชาวปาร์ซีจึงอพยพมาตั้งรกรากในอินเดีย โดยเฉพาะในมุมไบตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 

ชาวปาร์ซีมีรูปพรรณสัณฐานกระเดียดไปทางชาวตะวันตก ทั้งผิวขาว จมูกโด่ง ส่วนมากประกอบอาชีพพ่อค้า แพทย์ หรือครูอาจารย์ มีความเป็นอยู่ดี ฐานะมั่งคั่ง 

ดังจะเห็นได้จากครอบครัวปาร์ซีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของอาณจักรธุรกิจข้ามชาติระดับอภิมหานายทุน คือ ‘ตระกูลทาทา (Tata)’ นั่นเอง

อร่อยแบบปาร์ซี

ธุรกิจหนึ่งของชาวปาร์ซีที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญที่สุดและอยู่ยั้งยืนยงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือร้านอาหาร ในมุมไบมีร้านอาหารของชาวปาร์ซีหลายร้านให้เลือกแวะเข้าไปลองลิ้มชิมรส ไม่ว่าจะเป็นร้าน ‘Leopold Cafe’ ซึ่งมีอายุเก่าแก่สืบไปได้ 100 กว่าปี และเป็นร้านที่มีกลิ่นอายประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเป็นหนึ่งในจุดเกิดเหตุก่อการร้ายใหญ่เมื่อปี 2008 หรือจะเป็นร้าน ‘Cafe Mondegar’ ซึ่งมีบรรยากาศแบบเรโทร มีตู้เพลงยุค 50 – 60 ที่ยังคงใช้การได้ ร้านเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั้งในย่านกาฬโกดาและย่านโคลาบา (Colaba)

ซ้าย-บรรยากาศภายในร้าน Leopold Cafe ขวา-ร่องรอยกระสุนที่กระจกร้าน Leopold Cafe

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
Akuri ไข่คนแบบปาร์ซี จากร้าน Cafe Mondegar

เมื่อเข้าร้านคาเฟ่ปาร์ซี จานอร่อยที่ไม่ควรพลาด คือเมนูไข่ เช่น ‘ไข่อาคูริ (Akuri Egg)’ ซึ่งเป็นไข่คนปรุงรสด้วยเครื่องเทศ ใส่ชีส นม เนย เนื้อสัมผัสจะคล้ายคีช (Quiche) โปะหน้าขนมปังปิ้ง กินเคียงกับมันฝรั่งทอด เป็นอาหารเช้าของชาวปาร์ซีที่หากินไม่ได้ง่าย ๆ นอกมุมไบ

Bombay and Bangkok แตกต่างแต่เหมือนกัน

จากย่านกาฬโกดา เมื่อเดินผ่านเกาะกลางถนนซึ่งเป็นที่ตั้ง ‘น้ำพุเทพีฟอลร่า (Flora Fountain)’ จะเข้าสู่ย่าน ‘Churchgate’ ซึ่งตั้งชื่อตามประตูเมืองเก่าด้านที่ตรงสู่วิหารนักบุญโทมัส ที่ตรงนี้เมื่อมองตรงไปจะเห็นสนามหญ้ากว้างใหญ่รูปวงรี มีต้นปาล์มรายล้อม เรียกว่า ‘Oval Maidan’ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สันทนาการของเจ้าอาณานิคม

ซ้าย-น้ำพุเทพีฟลอร่ายามค่ำคืน ขวา-Oval Maidan

ฝั่งหนึ่งของ Oval Maidan เป็นกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกซึ่งน่าดูชมทั้งสิ้น ไล่เรียงมาตั้งแต่อาคาร ‘ศาลสูงบอมเบย์ (High Court of Bombay)’ ได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแห่งหนึ่งในเยอรมนี กลุ่มอาคารเรียนสถาปัตยกรรมเวเนเชียน-กอธิกของมหาวิทยาลัยมุมไบ ทั้งอาคารหอประชุมที่มีหอบันไดวนเป็นเอกลักษณ์ และ ‘หอนาฬิการาจาไบ (Rajabai Clock Tower)’ ซึ่ง เปรมจันทร์ รอยจันทร์ นักธุรกิจและนักการกุศลเชื้อสายเชน สร้างเพื่อเป็นอุทิศแก่ นางราจาไบ ผู้เป็นมารดา ประดับลวดลายปูนปั้นอ่อนช้อย และมีหุ่นแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในมุมไบตั้งอยู่ตามเหลี่ยมมุม

เที่ยวมุมไบใน 1 วัน สำรวจบ้านเมือง สืบเสาะชื่อสถานที่ ของมหานครยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง South Asia
อาคารศาลสูงบอมเบย์ (Bombay High Court)

หอนาฬิการาจาไบและอาคารหอประชุมของมหาวิทยาลัยมุมไบ

เดินผ่านไปอีกฝั่งของ Oval Maidan คือกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค ซึ่งสร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่อยมาจนถึงยุค 50 อันเป็นส่วนหนึ่งในโครงการขยายเมืองโดยถมทะเลฝั่งอ่าว Back Bay ตั้งแต่ 100 กว่าปีที่แล้ว

ซ้าย-โรงแรมแอมบาสเดอร์ ขวา-โรงภาพยนตร์อีรอส

โดยเฉพาะริมฝั่งถนน Marine Drive เลียบชายทะเล มีตึกอาร์ตเดโคอยู่ตลอดเส้นทางเกือบร้อยตึก ใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งอะควาเรียม สนามคริกเก็ต โรงแรม โรงภาพยนตร์ อะพาร์ตเมนต์ อาจเรียกว่าเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคมากที่สุดในเอเชียก็ได้

เมื่อคิดดูแล้ว ก็รู้สึกเหมือนเดินอยู่แถวสนามหลวง ที่มีพระบรมมหาราชวัง ศาลฎีกา ธรรมศาสตร์ ศิลปากร ไปจนถึงตึกอาร์ตเดโคริมถนนราชดำเนิน ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว

ตึกอาร์ตเดโคหลากหลายลีลาเรขาคณิตริมถนนเลียบทะเล

ใครดีใครอยู่ ก็ให้มันรู้กันไป

จาก Oval Maidan เราเดินย้อนกลับเข้ามาที่ย่านกาฬโกดา ผ่านตึกเก่าโครงสร้างเหล็กหล่อ สภาพเรื้อร้างหายใจรวยรินท่ามกลางตึกรุ่นใกล้เคียงกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า Westside หอสมุด David Sassoon และวิทยาลัย Elphinstone College ที่ดูสดใสสวยงาม

สำรวจ ‘มุมไบ’ อินเดีย จากหมู่เกาะสู่มหานครแห่งเอเชียใต้ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย

ตึกนี้คือตึกเดิมของ ‘โรงแรมวัตสัน (Watson Hotel)’ สร้างขึ้นโดยนักธุรกิจค้าผ้าม่านชาวอังกฤษ เคยเป็นโรงแรมชั้น 1 ของมุมไบในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นสถานที่แรกที่มีการฉายภาพยนตร์ในอินเดีย ก่อนเสียแชมป์ให้โรงแรมของมหาเศรษฐีทาทาในเวลาต่อมา

กรณีนี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า โรงแรมวัตสันเป็นที่สงวนไว้สำหรับชาวตะวันตก จึงมีป้ายติดไว้ว่า  ‘Dogs and Indians not allowed’ (ห้ามสุนัขและคนอินเดียเข้า)

ดังนั้น เมื่อ จัมเซตจี ทาทา (Jamsetji Tata) อภิมหาเศรษฐีใหญ่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าโรงแรม จึงหมายมั่นปั้นมือสร้างโรงแรมให้ยิ่งใหญ่อลังการกว่าโรงแรมวัตสัน และให้บริการแก่คนทุกระดับไม่แบ่งแยกชาติเชื้อ

สำรวจ ‘มุมไบ’ อินเดีย จากหมู่เกาะสู่มหานครแห่งเอเชียใต้ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย
รูปปั้นครึ่งตัวของ จัมเซตจี ทาทา (Jamsetji Tata) ที่โรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ

ในที่สุดความฝันของมหาเศรษฐีทาทาก็เป็นความจริง เมื่ออาคารสถาปัตยกรรมอินโด-ซาราเซนิก 7 ชั้น ริมอ่าวในย่านโคลาบา มีโดมขนาดใหญ่เป็นสง่าของ ‘โรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ (Taj Mahal Palace Hotel)’ ตระหง่านขึ้นมา กลายเป็นโรงแรม 5 ดาวชั้น 1 ของมุมไบจนถึงทุกวันนี้

สำรวจ ‘มุมไบ’ อินเดีย จากหมู่เกาะสู่มหานครแห่งเอเชียใต้ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย

โรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ นับว่าเป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของมุมไบ ด้วยเป็นสถานที่แรกในมุมไบที่มีไฟฟ้าใช้ ลิฟต์แรก อ่างอาบน้ำแรกในมุมไบก็เกิดขึ้นที่นี่ และได้รับรองอาคันตุกะสำคัญจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งพระประมุข ประมุขรัฐ หัวหน้ารัฐบาล เศรษฐีใหญ่ นักร้อง นักแสดง ก็ต้องมาพำนักที่นี่

ภายในโรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ (Taj Mahal Palace Hotel)

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2008 โรงแรมนี้ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba อาคารโรงแรมถูกระเบิดและเผาทำลายจนเสียหายหลายส่วน และมีหลายชีวิตบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวจารึกไว้เป็นอนุสรณ์ในโถงใหญ่ของโรงแรม

ทุกวันนี้โรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ ยังคงเป็นโรงแรมหมายเลขหนึ่งของมุมไบที่มีชีวิตชีวาและมีเอกลักษณ์ เช่น มีกลิ่นเฉพาะของโรงแรมที่หอมฟุ้งตั้งแต่ล็อบบี้เข้าไปถึงด้านในสุด มีการบริการเป็นเลิศ มีแม้กระทั่งขบวนปี่กลองแห่นำแขกขึ้นไปพักบนห้อง เป็นเสน่ห์ของมุมไบที่ทุกคนต้องถวิลถึงอย่างแน่นอน

มาทางไหน ก็ไปทางนั้น ​(That’s the Gateway)

ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในโลกนี้ หากได้ลงมือค้นหารูปภาพ Mumbai ใน Google แล้ว ภาพแรกที่จะขึ้นมาให้คุณเห็น คือถาวรวัตถุยิ่งใหญ่ 2 แห่ง หันหน้าเข้าหาทะเลที่มีเรือจอดอยู่มากกว่า 7 ลำ

ทางซ้าย คือโรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ ซึ่งได้พาไปชมแล้วเมื่อสักครู่

ถัดมาทางขวา เป็นถาวรวัตถุสถาปัตยกรรมแบบอินโด-อิสลามแบบคุชราต ลักษณะเป็นประตูชัยขนาดใหญ่สร้างด้วยหินบะซอลต์ มีเสาสูงประกบ 4 มุม และมีปีกเป็นประตูขนาดย่อมกว่า 2 ข้าง

สำรวจ ‘มุมไบ’ อินเดีย จากหมู่เกาะสู่มหานครแห่งเอเชียใต้ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย
สำรวจ ‘มุมไบ’ อินเดีย จากหมู่เกาะสู่มหานครแห่งเอเชียใต้ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย

ถาวรวัตถุแห่งนี้สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดียของ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และ สมเด็จพระราชินีแมรี จักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งอินเดียบนที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อปี 1911 บริเวณท่าอะพอลโล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ถมทะเลออกไปเพื่อขยายเมือง โดยเริ่มก่อสร้างในปี 1913 และสำเร็จบริบูรณ์ในปี 1927

ในปี 1948 ทหารกองพันที่ 1 กรมทหารราบซอมเมอร์เซต (Somerset Light Infantry) ซึ่งเป็นกองพันทหารสุดท้ายของบริติชราชในอินเดีย เดินผ่านประตูชัยนี้ไปลงเรือกลับบ้าน หลังจากที่อินเดียประกาศเอกราช อันเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดบริติชราชภายใต้อังกฤษอย่างสมบูรณ์ (อย่างที่เรียกว่า มาทางไหน… ไปทางนั้น)

อีก 60 ปีต่อมา ตรงนี้เป็นจุดที่กลุ่มผู้ก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba เทียบเรือที่ปล้นมาได้กลางทะเล แล้วยกกองกำลังขึ้นบก เข้าบุกยึดสถานที่สำคัญ ก่อวินาศกรรมสะเทือนฟ้าดิน

ใช่แล้ว ที่นี่คือ ‘Gateway of India’ ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศตลอดทั้งวันและทั้งคืน

สำรวจ ‘มุมไบ’ อินเดีย จากหมู่เกาะสู่มหานครแห่งเอเชียใต้ ผ่านแบบแผนบ้านเรือน ชื่อบ้านนามเมือง และอาหารจานอร่อย

ตั้งแต่ที่รถแท็กซี่มาส่งหน้าตึก The Asiatic Society เมื่อเช้าตรู่ เราเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอย ชมตึกรามบ้านช่อง ถ้าท้องร้องโครกครากเมื่อไรก็แวะนั่งกินของอร่อยให้พยาธิในท้องสงบระงับ ไม่ว่าจะเป็นจานอร่อยจากร้านปาร์ซี แผงขายชาร์วาร์มาไก่ กาแฟ และน้ำผลไม้สดชื่นใจในร้านคาเฟ่ หรือชุดน้ำชายามบ่ายที่ห้อง Sea Lounge โรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ หรือใครจะลองเคี้ยวหมากหวานให้เย็นฉ่ำหรือหมากเผ็ดใส่ยาบุหรี่ที่อาจทำให้ ‘ยันหมาก’ จนสาแก่ใจแบบวิถีคนอินเดีย ก็ย่อมได้ 

จนถึงเวลานี้ก็ใกล้เย็นย่ำ เริ่มอ่อนระโหยโรยแรงกันเต็มที อย่ากระนั้นเลย 

เรามุ่งกลับไปที่ย่านกาฬโกดา สำหรับมื้อเย็นตามแบบฉบับเมืองชายทะเลอย่างมุมไบที่ร้าน ‘Trishna’ คงจะดีไม่น้อย

จานอร่อยจากทะเลมุมไบ

มุมไบเป็นเมืองท่า มีหมู่บ้านชาวประมงและสะพานปลาหลายแห่ง โดยเฉพาะแถบโคลาบาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ชาวประมงเหล่านี้จะออกเรือไปหาของทะเลกันตั้งแต่ค่ำถึงเช้า

ผลผลิตจากทะเลมุมไบที่ใคร ๆ ต้องมาลิ้มลอง คือปูทะเลตัวยักษ์ ซึ่งร้าน Trishna เอาปูทะเลเป็น ตัวโต มาลวกน้ำร้อน แล้วราดซอสหลายชนิดตามแต่จะสั่ง คิดราคาตามน้ำหนัก

ปูทะเลราดซอสเนยกระเทียม ปูทะเลสด เนื้อแน่นขาวอวบ ราดซอสเนยสีเหลืองทองใส่กระเทียมสับละเอียด แทบไม่ต้องพึ่งพาน้ำจิ้มใด ๆ หรือใครใคร่จะบีบมะนาว ใส่หัวหอมแดงซอยลงไป หรือน้ำจิ้มสะระแหน่รสแซ่บก็ไม่ผิดกติกา

อีกอย่างที่ต้องห้ามพลาด คือซุปเนื้อปูแกะ ทำอย่างซุปเสฉวนใส่ไข่ขาว สีอ่อนแต่รสเข้มข้น กินหมดถ้วยไม่รู้ตัว

นอกจากปูทะเล ยังมีอาหารหลากหลายทั้งจีนและแขกให้บริการ ร้านแม้จะเล็กอยู่ในตรอกแคบ ๆ หน้าอาราม Knesset Eliyahoo Synagogue ของศาสนายูดาย แต่มีลูกค้าแวะเข้ามาไม่ขาดสายตลอดวัน

มุมไบแค่ 1 วัน แม้จะเห็นภาพรวมของเมือง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเข้าไปทำความรู้จักมุมไบในแง่มุมอื่น ๆ

ไม่ว่าจะสถานีรถไฟฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช (Chhatrapati Shivaji Maharaj Terminus) หรือสถานีรถไฟวิกตอเรีย (Victoria Terminus) เดิม ซึ่งเป็นสถานีรถไฟมรดกโลกที่งดงามอลังการที่สุด และเป็นชุมทางชีวิตของคนอินเดียวันละหลายหมื่นหลายแสนคน และเป็นที่ทำงานของเหล่าดับบาวาลา (Dabbawala) ต้นฉบับของ Food Delivery ที่เราใช้บริการทุกวัน 

พิพิธภัณฑสถานฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช (Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya) และพิพิธภัณฑ์ ดร.เภา ดาจิ ลาด (Dr. Bhau Daji Lad Museum) ซึ่งแสดงประวัติความเป็นมาของอินเดียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีโบราณวัตถุชิ้นเอกจัดแสดงจำนวนมาก

หรือแม้แต่สลัมซักผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง โดบีฆาต (Dhobi Ghat) และตลาดโจร (Chor Bazaar) ที่จะทำให้เห็นชีวิตคนมุมไบได้ในมิติที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้น

เท่าที่จาระไนมานี้ ก็คงจะรู้แล้วว่า เพียงมุมไบใน 1 วัน คงจะไม่พอเสียแล้วล่ะครับ

ขอขอบคุณ
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
  • คุณดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
  • คุณนวลแพร บุนนาค กงสุล
แหล่งข้อมูลและภาพ
  • ภารตวิทยา ของ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย 
  • Mumbai, A city through objects – 101 Stories from Dr. Bhau Daji Lad Museum, edited by Tasneem Zakaria Mehta
  • Ten Heritage Walks of Mumbai, Fiona Fernandez

Writer & Photographer

วรเมธ โกศัลวัฒน์

วรเมธ โกศัลวัฒน์

ข้าราชการหนุ่มใหญ่ ใจดี สปอร์ต ผู้ที่เชื่อโดยสุจริตว่าตนรู้ทุกอย่างนอกจากงานในหน้าที่ และอยู่ทุกที่ยกเว้นที่ทำงาน