ในคลาสริเน็น… การทำธุรกิจให้ยั่งยืนนั้น ดิฉันได้รับคำถามที่ท้าทายมากจากผู้อบรมท่านหนึ่ง และพยายามหาคำตอบมาตลอด 2 เดือน 

คำถามเธอง่ายมาก

“หนูทำบริษัทดีไซน์ บริษัทดีไซน์จะมีริเน็น (ปรัชญาธุรกิจ) ได้อย่างไรคะ” 

เมื่อดิฉันเล่าเรื่องธุรกิจญี่ปุ่นที่บริหารด้วยใจ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ดี พนักงานกลมเกลียวกันเหมือนเป็นครอบครัว และอยู่ด้วยกันไปตลอด แต่ในวงการดีไซน์นั้น ดีไซเนอร์แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นการยากที่จะนิยามว่า เอกลักษณ์ของบริษัทตนคืออะไร และยากยิ่งกว่าที่จะหาสิ่งยึดเหนี่ยวทุกคนไว้ด้วยกัน ส่วนพนักงานเด็กๆ ก็ปรารถนาจะออกไปเติบโตภายนอก ไม่ต้องการอยู่กับองค์กรนาน 

ในที่สุด ดิฉันก็ได้เจอบริษัทที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกศิษย์ท่านนี้ได้ และยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างองค์กรที่ทำให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ ‘พุ่งกระฉูด’ อีกด้วย 

บริษัทนี้ ชื่อ Omoshiro-hojin Kayac (โอโมชิโระ โฮจิน คายัคขุ) แปลว่า บริษัท Kayac มหาชนแห่งความสนุก แค่ชื่อก็ดูน่าสนุกแล้วนะคะ 

ผลงานอันสนุกสนาน (!?)

บริษัท Omoshiro-hojin Kayac (ชื่อย่อ : Kayac) นี้ เดิมเป็นบริษัทรับทำเว็บไซต์ ก่อตั้งโดยชายหนุ่ม 3 คนเมื่อ ค.ศ. 1998 ชื่อ Kayac (คายัคขุ) มาจากชื่อพวกเขา 3 คนรวมกัน คือ คาอิจิ ยานาซาว่า และคุบะ 

Kayac เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับยุคเฟื่องฟูทางอินเทอร์เน็ตในญี่ปุ่น ปัจจุบัน บริษัทรับทำเกม เว็บไซต์ อีเวนต์ ตลอดจนแอปพลิเคชันต่าง ๆ 

แล้วสนุกตรงไหนล่ะ 

มาดูผลงานพวกเขาก่อน

เมื่อเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2019 Kayac เป็นหนึ่งในทีมจัด Unko Museum หรือพิพิธภัณฑ์อุนจิที่โยโกฮาม่า ค่าตั๋วอยู่ที่ 1,600 เยน (ประมาณ 500 บาท)​ เป็นราคาที่ไม่ถูกเลย แต่มีผู้มาพิพิธภัณฑ์เฉพาะกิจแห่งนี้กว่า 4 แสนคน 

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ภาพ : unkomuseum.com/tokyo

คอนเซปต์ของพิพิธภัณฑ์อุนจินี้ คือการขับความน่ารักของอุนจิให้ออกมามากที่สุด! 

ทางเข้า เริ่มจากโซน My Unko Maker มีสุขภัณฑ์สีต่างๆ เรียงราย หากเรานั่งสักพัก จะมีอุนจิ (ปลอม) เด้งออกมา 

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ภาพ : www.walkerplus.com/article/200925
Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ผู้เข้าชมรับไม้เสียบอุนจิส่วนตัว และพาน้องเดินชมนิทรรศการไปตลอดงานได้ ภาพ : www.kayac.com/news/2019/03/unkomuseum

ในงานยังมีเกมต่างๆ ที่มีอุนจิเป็นพระเอก เช่น เกมรับอุนจิ มีอุนจิตกจากกล่องด้านบนลงมา ต้องคอยรับให้ดี หรือน้ำพุอุนจิ มีอุนจิยักษ์ส่องไฟเป็นลวดลายต่างๆ และเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ก็จะมีอุนจิจิ๋วพุ่งออกมาจากปลายอุนจิยักษ์ (คล้ายภูเขาไฟระเบิด) หรือเส้นทางเดินที่ให้เรากระโดดเหยียบอุนจิสีสันสดใสได้ 

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ภาพ : unkomuseum.com/tokyo/

ในห้องสุดท้าย เป็นนิทรรศการให้ความรู้เรื่องอุนจิ (แบบน่ารักๆ) และมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกแบบอุนจิ๊อุนจิด้วย ใครเข้ามาเที่ยวชมงานนี้ ก็ต้องตกหลุมรักอุนจิสุดน่ารักไปเลยทีเดียว 

เอ่อ.. หากท่านคิดว่า ผลงานชิ้นนี้ของ Kayac ดูสนุกสนานเกินไปสักนิด ลองมาชมตัวอย่างอีกงานที่จริงจังขึ้นเล็กน้อยก็ได้

ผลงานตัวนี้ ชื่อ ‘ดัมบ๊กโกะ คิทเช่น’ ดูผินๆ เหมือนนำลังกระดาษมาทำเป็นอุปกรณ์ครัว แต่จริงๆ แล้ว เป็นของเล่นที่ทำให้เด็กๆ สนุกกับการทำอาหารได้เสมือนจริงมาก

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ภาพ : danbokko.blue-puddle.com

วิธีเล่น คือ เปิดแอปฯ ในสมาร์ทโฟน เลือกเมนูอาหารที่เด็กๆ สนใจทำ จากนั้นนำสมาร์ทโฟนไปวางไว้ตรงช่องเขียง ช่องกระทะ ช่องหม้อ ตามกำหนด 

Makuake|Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ภาพ : www.makuake.com/project/danbokko

ความสนุก คือเมื่อเด็กๆ หั่นปลาจะมีเสียงเขียงหั่น เมื่อทอดไข่มีเสียงฉู่ฉ่า หากต้มผักก็มีเสียงปุดๆ ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีทำอาหารอย่างสนุกสนาน 

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
ภาพ : news.livedoor.com/article/detail/9717618

Kayac ทำอย่างไร ให้พนักงานคิดไอเดียสร้างสรรค์ ชวนอมยิ้มได้แบบนี้

บริษัท Kayac มหาชนแห่งความสนุก 

ไดสุเกะ ยานาซาวะ CEO ของบริษัท เคยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ 2 ปีกว่า ก่อนจะออกมาตั้ง Kayac 

ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มบริษัทของตนเอง เขาตัดสินใจยกเลิกสิ่งที่เขาไม่ชอบสมัยทำงานประจำออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการประชุมอัปเดตตอนเช้า จนถึงการออกกฎระเบียบหยุมหยิม 

“ผมอยากทำให้การไปบริษัทเป็นเรื่องน่าสนุกทุกวัน” 

ยานาซาวะแบ่งความสนุกเป็น 3 ด้าน อันดับแรก พนักงานต้องรู้สึกสนุกกับงานก่อน หากพนักงานไม่สนุกกับสิ่งที่ตนเองทำ เขาจะไม่มีทางทำให้ผู้อื่นรู้สึกสนุกได้เลย

ความสนุกของงาน เกิดจากการที่พนักงานคนหนึ่งได้รู้สึกว่าตนเองได้เป็นเจ้าของงานนั้น ไม่ใช่มีคนมาชี้นิ้วสั่ง ส่วนตนเองแค่นั่งทำตาม 

ที่ Kayac ไม่มีการแบ่งเป็นแผนกชัดเจน แต่แบ่งเป็นโปรเจกต์แทน พนักงานคนหนึ่งอาจดูทั้งโปรเจกต์แอปฯ มือถือ ควบคู่กับโปรเจกต์พิพิธภัณฑ์ได้ โครงสร้างเช่นนี้ ทำให้พนักงานทำงานกับโปรเจกต์หลากหลาย และได้เจอเพื่อนร่วมบริษัทเก่งๆ คนอื่น ตลอดจนได้เรียนรู้จากกันและกันมากขึ้น 

พนักงานมีอิสระในการเลือกทำโปรเจกต์ที่สนใจจะทำ หรือเลือกหัวหน้าที่อยากเข้าร่วมงานได้ในระดับหนึ่ง หัวหน้าโปรเจกต์ก็เลือกลูกทีมได้เช่นกัน เมื่อจบโปรเจกต์ จะมีการให้ฟีดแบ็กและเรียนรู้จากสมาชิกในทีมซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

ความสนุกอันดับสอง คือการทำให้ผู้อื่นบอกว่าตนเองป็นคนสนุก น่าสนใจ 

หากตัวเองสนุกเพียงคนเดียว แต่คนอื่นไม่รู้สึกสนุกด้วย นั่นอาจแปลว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้มีค่าหรือไม่ได้น่าสนใจในสายตาคนอื่น แต่หากเราบอกว่า “อยากทำพิพิธภัณฑ์อุนจิสนุก ๆ จัง” เพื่อนคนอื่นๆ รอบตัวก็คงรู้สึกสนใจไปด้วย 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ชาว Kayac จะทำ ต้องเป็นสิ่งที่ตนเองก็รู้สึกสนุกและเพื่อนๆ ก็น่าจะอยากสนุกไปด้วยกันกับงานของตนเอง

ส่วนอันดับที่สาม ขั้นสูงสุด คือการทำให้ชีวิตผู้อื่นสนุกสนานขึ้น หมายความว่าพนักงานต้องสร้างโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น 

ปรัชญาสำคัญที่ Kayac ยึดถือ คือ ‘การเพิ่มจำนวนผู้สร้าง’ 

ที่นี่ ร้อยละ 90 ของพนักงานมีชื่อตำแหน่งงานว่า Creator ทั้งวิศวกรและดีไซเนอร์ เพราะถือว่าทุกคนกำลัง ‘สร้าง’ อะไรสนุกๆ ดีๆ บางอย่าง เพื่อลูกค้าและสังคม 

หากมีผู้สร้างมากขึ้น คนในสังคมย่อมได้สัมผัสกิจกรรมสนุกๆ ได้ใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น 

นั่นทำให้ Kayac มิได้คิดจะเหนี่ยวรั้งพนักงานให้อยู่กับองค์กรตนเองไปตลอด แต่กลับส่งเสริมให้พนักงานลาออกไปสร้างบริษัทของตนเอง หรือออกไปทำโปรเจกต์อื่นๆ ที่ตนเองรู้สึกว่าเป็นประโยชน์กับคนในสังคม 

ในเว็บไซต์บริษัทมีการเขียนถึงประเด็นนี้ชัดเจนในหมวด ‘สิ่งที่ Kayac สัญญากับพนักงาน’ 

Kayac สัญญาว่า จะเป็นบริษัทที่ทำให้พนักงานไปสมัครงานที่อื่นได้ง่ายขึ้น จะทำให้กรรมการสัมภาษณ์ที่เห็นชื่อ Kayac ในใบสมัครรู้สึกสนใจในตัวพนักงานมากขึ้น หรืออยากเรียกมาสัมภาษณ์งานยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน Kayac มีเป้าหมาย Turnover Rate พนักงานอยู่ที่ร้อยละ 15 

การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ บริษัทจึงต้องสร้างสรรค์งานดีๆ ที่สนุกสนานออกมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง เมื่อบริษัทเปิดใจกับพนักงานเช่นนี้ พนักงานก็ย่อมทำเต็มที่ด้วยความเชื่อมั่นว่า สักวันตนเองจะออกไปเป็นผู้สร้างบางสิ่งบางอย่างดีๆ ให้กับสังคมนั่นเอง 

บริษัทไม่ได้พยายามยึดเหนี่ยวพนักงาน แต่เตรียมสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้พนักงานสนุกกับงานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังให้พวกเขารู้ว่า งานที่ดีไม่ใช่แค่เพื่อความสุขส่วนตนแล้วจบ แต่คือการสร้างสิ่งดีๆ อย่างสนุกสนานให้กับผู้คน 

กลไกเสริมสร้างความสนุกให้พนักงาน

Kayac สร้างกิจกรรม ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ หลายประการ เพื่อทำให้พนักงาน Kayac รู้สึกสนุกในการทำงาน และมีบรรยากาศที่เป็นกันเอง 

เริ่มจากนามบัตร สำหรับคนญี่ปุ่น นามบัตรเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้เป็นตัวแทนบุคคลคนนั้น ที่ Kayac นามบัตรของพนักงานทุกคนจะเป็นภาพการ์ตูนหน้าเหมือนของพนักงาน

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
นามบัตรของผู้บริหาร วาดโดยอาจารย์เรียวอิจิ อิเคงามิ
Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
เว็บไซต์แนะนำพนักงาน ก็มีหน้าของพนักงานทุกคนเป็นภาพการ์ตูนเช่นกัน ภาพ : www.kayac.com/team 

รางวัลใหญ่ประจำปี คือพนักงาน (ที่ได้รับคัดเลือก) จะเลือกนักวาดการ์ตูนที่ตนเองชื่นชอบให้มาวาดภาพเหมือนของตัวเองได้ แม้แต่ระดับปรมาจารย์อย่าง อาจารย์เรียวอิจิ อิเคงามิ ผู้วาดเรื่อง แซงจูรี่ ก็เคยมาวาดภาพเหมือนให้ชาว Kayac 

อีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งเป็นที่ฮือฮาในสังคมญี่ปุ่น คือการให้เงินเดือนตามแต้มลูกเต๋า พนักงาน Kayac ทุกคนจะต้องทอยลูกเต๋ายักษ์นี้ และจะได้เงินเดือนตามแต้มที่ทอยได้ 

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน

วิธีคำนวณคือ นำเงินเดือน x (หน้าลูกเต๋า) + ค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น หากพนักงานเงินเดือน 3 แสนเยน ทอยได้เลข 4 ก็จะได้รับเงินเดือน 3 แสน + 1.2 หมื่นเยน (3 แสน x 4 เปอร์เซ็นต์)

ยานาซาวะให้เหตุผลที่ใช้การทอยลูกเต๋าตัดสินเงินเดือนพนักงานนี้ว่า “มันสนุกดี”

การประเมินผลงานพนักงานทั่วไปนั้น หากเจ้านายอารมณ์ดี อาจประเมินดี หากอารมณ์ไม่ดี เขาอาจให้คะแนนลูกน้องไม่ดีก็ได้ ไม่มีอะไรยุติธรรม 

นี่เป็นการสอนพนักงานทางอ้อมว่า อย่าสนใจกับผลประเมินจนเกินไป แทนที่จะเสียเวลาโศกเศร้ากับมุมมองของเจ้านายที่มีต่อตนเอง จงไปสนุกกับงานให้เต็มที่จะดีกว่า 

Omoshiro-hojin Kayac บริษัทของ CEO อดีตมนุษย์เงินเดือนที่สร้างงานสนุกด้วยการสร้างความสุขให้พนักงาน
มีการจัดอันดับผู้โชคดีด้านการทอยลูกเต๋าด้วย ภาพ : www.kayac.com/team/dice

นอกจากนี้ Kayac ยังมีโครงการโบนัสรอยยิ้ม 0 เยน คือการให้พนักงานส่งข้อความชื่นชมพนักงานคนอื่นไปให้ฝ่ายบุคคล จากนั้นฝ่ายบุคคลจะนำชื่อโบนัสนั้นไปใส่ในสลิปเงินเดือน ตัวคนชมก็ต้องคิดชื่อโบนัสแบบสร้างสรรค์ เช่น โบนัส Zuckerberg แห่งญี่ปุ่น (สำหรับวิศวกรเก่งขั้นเทพ) โบนัสทำงานรวดเร็วระดับรถไฟชิงคันเซ็น ตัวพนักงานเองแทนที่จะได้รับคำชมลอยๆ ก็ได้รับคำชมที่จารึกมาในเอกสารสำคัญอย่างสลิปเงินเดือน (ถึงจะเขียนว่า 0 เยนก็เถอะ แต่ก็น่าภูมิใจ) 

ทุก 6 เดือน พนักงานกว่า 200 ชีวิต ต้องไปเข้าค่าย CEO กล่าวคือ ทุกคนต้องสวมบทบาทเป็น CEO ของ Kayac และร่วมกันคิดไอเดียใหม่ๆ ร่วมกัน

บริษัทจะแบ่งพนักงานเป็นทีม ให้ทุกทีมออกไอเดีย ตลอดจนวิสัยทัศน์ในอนาคต ทีมใดชนะ จะได้แต้มลูกเต๋าเพิ่มเป็น 2 เท่า 

นอกจากนี้ ยังมีช่วงเวลาทบทวนปรัชญาบริษัท แม้ปรัชญาของ Kayac จะเรียบง่ายแค่ ‘การเพิ่มจำนวนผู้สร้าง’ เรียบง่ายจนพนักงานบางคนบอกว่า ฉันไม่เข้าใจเลยว่ามันดีอย่างไร แต่ทุกคนก็จะล้อมวงคุยกัน 

บางคนเล่าว่า หลังจากได้สร้างโปรแกรมบางอย่าง แล้วลูกค้าดีใจ เขาก็เริ่มภูมิใจกับการเป็นผู้สร้างของตนเอง บางคน ก็เลือกเล่าความฝันว่า เขาฝันจะสร้างอะไร และปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่

อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งที่พนักงานจะได้รวมตัวกัน ได้นั่งคุยกัน ออกไอเดียกัน หัวเราะไปด้วยกัน เมื่อพนักงานยิ่งสนิทกัน ก็ยิ่งทำโปรเจกต์ได้ง่าย ยิ่งกล้าแสดงความเห็นต่อกัน และนั่นทำให้ไอเดียที่ออกมา ยิ่งสร้างสรรค์ขึ้นนั่นเอง 

กิจกรรมต่างๆ ของ Kayac นั้น ปรับเปลี่ยนไปบ้างตามฟีดแบ็กของพนักงาน และตามความรู้สึกสนุกของผู้บริหาร แต่ 2 สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการมุ่งเป็นองค์กรที่สร้างผู้สร้างที่ดี (และสนุกสนาน) ให้พวกเขาออกไปทำให้สังคมสนุกสนานขึ้น กับการดูแลสิ่งต่างๆ ให้พนักงานทำงานได้อย่างสนุกสนานที่สุดนั่นเอง 

พนักงานที่ ‘ติสต์’ อาจมีทักษะต่างกัน นิสัยต่างกัน แต่ Kayac ก็ได้หล่อหลอมให้พวกเขามีปณิธานคล้ายกัน คือ เป็นคนที่สนุกสนานกับการทำให้ชีวิตผู้คนสนุกสนานยิ่งขึ้นนั่นเอง 

Lesson Learned 

  1. Kayac วางทั้งโครงสร้างการทำงานที่แข็งแกร่ง (การทำงานเป็นโปรเจกต์) และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนรู้สึกสนุก (เช่น การทอยลูกเต๋า นามบัตรการ์ตูน) ร่วมกัน จึงทำให้พนักงานสนุกกับการทำงานได้ 
  2. การสร้างปรัชญาของ Kayac มาจากการคิดถึงคุณค่าที่ตนจะให้สังคม บริษัทมิได้เน้นว่า แก่นหลักของงานต้องหน้าตาแบบไหน (เช่น Minimalism หรือโทนสีนีออนเท่านั้น) แต่เน้นไปที่คุณค่าที่ต้องการให้ลูกค้าได้รับ ในกรณีนี้ คือ ‘ความสนุกสนาน’ เพราะฉะนั้น แม้พนักงานจะชอบดีไซน์ต่างกัน แต่หากผลงานนั้นยังสนุกสำหรับตนเองและผู้อื่น ก็จัดเป็นผลงานที่ดีในแบบ Kayac ได้ 
  3. ด้วยตัวอุตสาหกรรมเอง ทำให้รักษาพนักงานที่จะทำงานบริษัทเดิมๆ ไปตลอดได้ยาก ขณะเดียวกัน หากพนักงานอยู่ในบริษัทนานเกิน ความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ขององค์กรอาจลดลง Kayac จึงมิได้เน้นยื้อพนักงานให้อยู่กับตนเองนานๆ แต่เน้นสร้างประโยชน์ให้พนักงานที่ลาออกไปได้รับผลตอบแทนที่ดี และบริษัทก็มีเลือดใหม่ๆ เข้ามา

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย