“เราจะรักษาสมดุลระหว่างการทำกำไรกับการทำธุรกิจที่ดีได้อย่างไร”
นี่เป็นคำถามที่ผู้ประกอบการหลายท่านถามดิฉัน เวลาที่เราคุยกันเรื่องการทำธุรกิจที่ดี หรือการสร้างริเน็น (ปรัชญาธุรกิจ)
ก่อนอื่น… ‘ธุรกิจที่ดี’ คืออะไร
ธุรกิจที่ดี ไม่ใช่ธุรกิจที่ปลูกป่า สร้างโบสถ์ บริจาคเงินให้หน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมากเพียงอย่างเดียว
ธุรกิจที่ดี คือธุรกิจที่สร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นผ่านสินค้าและบริการตนเอง
มีธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นมา (แบบงงๆ) ได้ 5 ปี แล้วยังไม่มีบริษัทใดกล้าเลียนแบบ และยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บริษัทนั้นคือ บริษัท Omatsuri Japan (อ่านว่า โอะ-มัต-สึ-ริ-เจแปน)
จากนักออกแบบบริษัทผักดองสู่เจ้าของบริษัทเทศกาล
ประเทศไทยมีงานเทศกาลสำคัญๆ เช่น ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟของจังหวัดสุโขทัย ประเพณีวิ่งควายของเมืองชล หรือเทศกาลบั้งไฟพญานาคของภาคอีสาน
ญี่ปุ่นก็มีงานเทศกาลเช่นกัน และมีจำนวนมากด้วย ตั้งแต่งานแห่ศาลเจ้า งานจุดพลุ หรืองานเทศกาลเล็กๆ ตามศาลเจ้า ว่ากันว่าใน 1 ปีมีงานเทศกาลทั่วเกาะญี่ปุ่นกว่า 300,000 งาน เทศกาลใหญ่ๆ เช่นเทศกาลแห่โคมเนบุตะที่อาโอโมริ มีคนมาประมาณ 2.6 แสนคน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
งานเทศกาลหรือโอมัตสึรินี้เองที่ทำให้คนในหมู่บ้านร่วมมือร่วมใจกันจัด สนุกด้วยกัน และยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น
ยูโกะ คาโต้ เป็นหนึ่งในคนที่ชื่นชอบงานเทศกาลเหล่านี้ หลังเรียนจบด้านศิลปะ คาโต้เลือกทำงานที่บริษัทผักดองแห่งหนึ่ง เพราะสนใจงานที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาโบราณของญี่ปุ่น เธอรับหน้าที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก
วันหนึ่งพ่อของคาโต้ซึ่งเป็นกรรมการจัดงานเทศกาลประจำเมือง ขอให้เธอช่วยออกแบบโปสเตอร์ และอุปกรณ์ตกแต่ง คนในเมืองชื่นชอบผลงานออกแบบของคาโต้มาก นั่นทำให้เธอเริ่มเข้าไปช่วยออกแบบโปสเตอร์และอุปกรณ์ให้เทศกาลในเมืองใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปี 2011 เกิดภัยพิบัติสึนามิ ภูมิภาคแถบโทโฮขุได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่ 5 เดือนให้หลัง ชาวเมืองอาโอโมริก็ยังจัดงานเทศกาลโคมเนบุตะขึ้น ซึ่งคาโต้ก็มีโอกาสไปร่วมงานในปีนั้นเช่นกัน
ภาพที่เธอเห็นคือ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเยอะมาก แต่คนในเมืองก็ยังร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ผู้ประสบภัยที่พลัดพรากจากกันไปก็มาพบกัน กอดคอกันร้องเพลงและเต้นรำด้วยกันในงานนี้
“งานเทศกาลทำให้ผู้คนกลับมามีความสุข มีพลัง อีกครั้ง” นั่นคือสิ่งที่คาโต้สัมผัส

เมื่อคาโต้เข้าไปช่วยงานเทศกาลหลายแห่งเข้า เธอก็พบว่าแทบทุกงาน ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน คือขาดคนหนุ่มสาวเข้ามาร่วม ขาดเงินทุน หรือการจัดงานแบบเดิมทุกปีทำให้ขาดความแปลกใหม่
คาโต้เลยตั้งใจเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ ด้วยปณิธานว่า “จะทำให้ญี่ปุ่นคึกคักด้วยงานเทศกาลให้ได้!” เธอตั้งชื่อบริษัทว่า ‘โอมัตสึริเจแปน’ ในปี 2014
เป้าหมายของบริษัทคือ การทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นแขกที่เข้าร่วม คนในท้องถิ่น บริษัทสปอนเซอร์ มีความสุข
เธอฝันอยากเห็นคนสนุกกับการไปงานเทศกาล เหมือนกับการไปดูหนังหรือชวนกันไปสวนสาธารณะ
สร้างรายได้จากการจับคู่
พ่อของคาโต้เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน สมาชิกครอบครัวไม่ได้มีเงินยื่นให้เธอไปทำธุรกิจมากนัก ในปีแรกคาโต้จึงเจียดเงินเก็บจำนวน 300,000 บาท มาเป็นทุนเริ่มต้น และมีพนักงานคือตนเองเพียงคนเดียว
คาโต้พบว่ามีบริษัทเอกชนหลายแห่งอยากเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนงานเทศกาล เพราะแต่ละงานมีคนมาเข้าร่วมหลักหมื่นหลักแสน เป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์บริษัทที่ดี แต่บริษัทเหล่านี้ไม่ทราบว่า งานเทศกาลแต่ละแห่งจะจัดที่ไหน เมื่อไหร่ และมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง
ส่วนฝั่งผู้จัดงานในเมืองก็ขาดความคิดใหม่ๆ ขาดเงินทุน ขาดแรงงาน
คาโต้จึงพา 2 ฝ่ายนี้มาเจอกัน เธอทำหน้าที่เหมือนบริษัทที่ปรึกษาและรับทำอีเวนต์ มีเทศกาลฮาโลวีนที่เมืองหนึ่ง เดิมมีผู้เข้าร่วมงานเพียง 1,000 คน แต่คาโต้ช่วยคิดกิจกรรม เช่น การเดินพาเหรด การเล่นเกม และช่วยโฆษณางานเทศกาลนี้ ทำให้มีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นถึง 16 เท่า
มีงานเทศกาลหนึ่ง ชื่อ ‘เทศกาลปลาซัมมะแห่งเมกุโระ’ จัดทุกเดือนกันยายนของทุกปีติดต่อกันมา 24 ปีแล้ว ผู้จัดเป็นกลุ่มร้านค้าในเขตเมกุโระ เมืองโตเกียว

ลักษณะงานคือมีการย่างปลาซัมมะให้กินกันสดๆ มีการเชิญนักแสดงตลกมาเล่นตลกให้ชม และมีกิจกรรมบนเวทีต่างๆ ปีหนึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน
ในช่วงหลัง ผู้จัดงานประสบปัญหาประการหนึ่งคือ รัฐบาลญี่ปุ่นเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงต้องจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยมาช่วยดูแล แต่ค่าแรงเหล่านี้สูงมาก จนเกรงว่าจะขาดทุน
โอมัตสึริเจแปนจึงเข้ามาช่วยกอบกู้งานเทศกาลแสนสนุกนี้
อันดับแรก ทางบริษัทไปหาสปอนเซอร์บริษัทเอกชน พวกเขาพบ 2 บริษัท ที่เหมาะสมกับงานเทศกาลนี้มาก
บริษัทแรกคือบริษัทนากาทานิเอน บริษัทผลิตผงโรยข้าวโอฉะซึเกะ (ข้าวราดน้ำชาร้อน คล้ายข้าวต้ม)

ทางบริษัทเพิ่งออกผงโรยข้าวตัวใหม่ที่กินกับข้าวแช่เย็นๆ ได้ และต้องการทราบเสียงตอบรับจากลูกค้า คาโต้และทีมจึงแนะนำให้บริษัทตกแต่ง Food Truck และมาเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายข้าวแช่ชนิดใหม่ในงานเทศกาล


คาโต้ช่วยบริษัทเก็บแบบสอบถามด้วยการสอบถามความพึงพอใจของลูกค้าที่มาซื้อข้าวแช่นี้ ด้วยความที่งานเทศกาลนี้มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทีมงานเก็บแบบสอบถามจำนวน 100 ฉบับ ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนข้าวแช่ก็ขายหมดเกลี้ยง เรียกได้ว่าบริษัทได้ทั้งรายได้จากการขายข้าวแช่ และได้ข้อมูลความพึงพอใจจากลูกค้าจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ
อีกบริษัทที่เข้าร่วมคือบริษัทเครื่องดื่มที่ต้องการทดสอบตลาด บริษัทนี้มาเช่าพื้นที่ตั้งบูทให้ลูกค้ามาเข้าแถวชิมเครื่องดื่มผสมวุ้นผลไม้สีสดใสตัวใหม่ และสอบถามความชอบต่างๆ

พนักงานบริษัทเครื่องดื่มเองก็ได้ฟังเสียงจากลูกค้าสดๆ ทั้งลูกค้าเด็กและผู้ใหญ่ หากเป็นการเก็บแบบสอบถามทั่วไป พนักงานอาจไม่มีโอกาสยืนคุยกับลูกค้าเป็นระยะเวลานาน หรือในบรรยากาศที่สนุกสนานเป็นกันเองเช่นนี้
โอมัตสึริเจแปนนำเงินจากผู้สนับสนุนเหล่านี้ไปมอบให้ผู้จัดงานเทศกาล ทำให้ผู้จัดไม่ขาดทุนในที่สุด
เติบโตเพื่อช่วยเหลือ
รายได้ของบริษัทโอมัตสึริเจแปนนี้มาจากการช่วยจัดงาน การช่วยหาผู้สนับสนุน การจัดทัวร์เที่ยวงานเทศกาล หรือช่วยวางแผนจัดกิจกรรมโปรโมตบริษัทในงานเทศกาลต่างๆ
นอกจากนี้ คาโต้ยังหาเงินสนับสนุนเพิ่มเติมด้วยการเข้าประกวดแผนธุรกิจ และได้รับรางวัลเป็นเงินทุนจากบริษัทและองค์กรหลายแห่งอีกด้วย
ตอนนี้เธอเปิดแพลตฟอร์มใหม่ชื่อ Omatsuri Japan Leaders สำหรับผู้จัดงานเทศกาลทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา เมืองต่างๆ ต้องวิ่งหาที่เช่าอุปกรณ์ต่างๆ เอง หรือพยายามหาคนมาทำโปสเตอร์เอง แต่ตอนนี้ทุกคนเข้ามาเช่าอุปกรณ์จัดงานเช่นเต็นท์ผ้าใบจากแพลตฟอร์มนี้ได้
เมืองที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์จัดงานแล้ว ก็ปล่อยให้เมืองอื่นเช่าต่อได้เช่นกัน
คาโต้ติดต่อบริษัทพนักงานรักษาความปลอดภัย ทำให้ได้ส่วนลดพิเศษหากติดต่อผ่านทางหน้าเว็บ
นอกจากนี้ คาโต้ยังทำเทมเพลตโปสเตอร์บนเว็บ เผื่อเมืองไหนต้องการออกแบบโปสเตอร์โปรโมตงานเทศกาลแต่ไม่มีนักออกแบบ เพียงแค่อัพโหลดรูปภาพ พิมพ์รายละเอียดงานเล็กน้อย ก็ทำโปสเตอร์สวยๆ เองได้เลย (แต่ถ้าอยากพิมพ์ใบปลิว บริษัทก็มีบริการเช่นกัน)
นอกจากจะเชื่อมผู้จัดงานเทศกาลกับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้สนับสนุนแล้ว คาโต้ยังเชื่อมโยงผู้จัดงานเทศกาลเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้แต่ละเมืองแบ่งปันความรู้หรือประสบการณ์ให้กันและกันได้ง่ายขึ้น คาโต้เองก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับงานเทศกาลต่างๆ ไปเสนอบริษัทเอกชนได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ในอนาคต บริษัทโอมัตสึริเจแปนตั้งใจจะพัฒนาระบบการซื้อขายออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันที่จองทริป จองที่นั่ง จองบูทในงานเทศกาลต่างๆ ได้ เพื่อให้ผู้คนไปร่วมงานเทศกาลสะดวกขึ้น และสนุกยิ่งขึ้นไปอีก พวกเขากำลังพลิกโฉมงานเทศกาลในญี่ปุ่นไปในทางที่ดีขึ้น และสืบทอดต่อไปในอนาคต
“ตอนที่ดิฉันทำบริษัทมาได้ปีครึ่ง ดิฉันยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะกลายมาเป็นธุรกิจหรือเปล่า แต่ดิฉันก็ลองทำดู และไม่ล้มเลิก ช่วงแรกก็ลำบากนะ แต่พอทำๆ ไปก็เริ่มได้รับความสนใจ และดิฉันก็ได้เจอเพื่อนเพิ่มขึ้น” คาโต้กล่าว
โอมัตสึริเจแปนค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และช่วยให้ญี่ปุ่นยังคงมีเทศกาลประจำเมืองดีๆ เช่นนี้ต่อไป ใครที่คิดอยากทำอะไรเกี่ยวกับงานเทศกาล ก็จะนึกถึงโอมัตสึริเจแปนเป็นที่แรก
สิ่งที่คาโต้และโอมัตสึริเจแปนทำ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ชาวเมืองก็ได้สนุกกับงานเทศกาลต่อไป
งานเทศกาลดีๆ ก็ไม่สูญหายไปจากประวัติศาสตร์
ผู้จัดงานเทศกาลก็เอาชนะปัญหาขาดแคลนเงินทุน
บริษัทผู้สนับสนุนก็ได้ข้อมูลลูกค้าอย่างใกล้ชิด หรือได้โปรโมตบริษัท
ส่วนบริษัทโอมัตสึริเองก็มีรายได้มาหล่อเลี้ยงให้พวกเขาไปช่วยงานเทศกาลต่างๆ ต่อไป
เพราะฉะนั้น บริษัทที่ดี ไม่ได้แปลว่าบริษัทที่ทำ CSR หรือต้องบริจาคเงินเข้าสาธารณกุศลเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มได้จากการคิดสินค้าหรือบริการดีๆ มาแก้ไขปัญหาผู้คน
ดิฉันคิดว่า ธุรกิจที่ดี คือธุรกิจที่มีคน ‘ดีใจ’ กับสินค้าหรือบริการของเรา ยิ่งธุรกิจดีมาก ก็จะยิ่งช่วยผู้คนได้มาก (แบบมีกำไร) ค่ะ