ลมหนาวและมวลหมอกปกคลุมดอยหลวงเชียงดาว เป็นภาพความทรงจำเมื่อหลายปีก่อนของเรา จนกระทั่งมีกลุ่มคนตัวเล็กสร้างมุมมองใหม่ให้เชียงดาวไม่ได้มีดีแค่การท่องเที่ยว แต่โลกอาหารก็น่าทำความรู้จักไม่แพ้กัน เราตัดสินใจไม่นานในการต่อสายสนทนากับกลุ่ม OLD.lab การรวมตัวกันของคนเมือง (กรุง) และคนเมือง (เหนือ) ที่สนใจวัตถุดิบท้องถิ่น และทดลองแปรรูปหลากหลายแบบจากผลผลิตที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นมากกว่าอาหารที่คุ้นเคย 

ด้วยความผูกพัน พวกเขาเริ่มต้นปักหมุดสำรวจพืชพันธุ์และอาหารในอำเภอเชียงดาวก่อน

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

การทำงานของ OLD.lab แบ่งเป็นเวิร์กช็อปขึ้นเขาลงห้วยเรียนรู้ที่มาของวัตถุดิบกับคนท้องถิ่น และตลาดออนไลน์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่สนับสนุนและกระจายผลผลิตของเกษตรกร พร้อมส่งมอบพืชผลปลอดภัยให้ถึงมือผู้รับทั่วประเทศไทย ความพิเศษคือชุดคิทที่จะทำให้คุณสนุกกับการแปรรูปวัตถุดิบฉบับโฮมเมดได้เองถึงห้องครัว

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

เราเชื่อว่าการเฟ้นหาวัตถุดิบมาประกอบอาหารทำเองก็ย่อมได้ แต่สิ่งที่ OLD.lab กำลังทำ คือการสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ที่คนทั่วไปหาซื้อไม่ได้ การลงมือทำด้วยตนเองยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากขึ้น

OLD.lab

OLD.lab กลุ่มคนเล็กๆ ที่เชื่อในวัตถุดิบท้องถิ่น พวกเขาหยิบวัตถุดิบในเชียงดาวมาทดลองทำเอง ไม่ว่าจะยีสต์ โคจิ ไซรัป น้ำปลา เพื่อจดบันทึกข้อมูลไว้เป็นองค์ความรู้สำหรับส่งต่อให้กับคนที่สนใจและเชื่อในสิ่งเดียวกัน 

“ถ้าพูดถึงโลคอลอาจไม่ใช่แค่ของประจำถิ่น แต่เป็นของที่คนถิ่นนั้นเขาทำอยู่ เชียงใหม่มีพืชต่างถิ่นเยอะพอสมควร เช่น ไร่ชา ส่วนหนึ่งเป็นพืชจากพื้นที่อื่น เป็นสายพันธุ์ที่บริษัทหรือองค์กรสนับสนุนให้ปลูก พอชาวบ้านได้อยู่กับวัตถุดิบนั้นเยอะขึ้น เขามีองค์ความรู้การทำเกษตรแบบชาวบ้านทำ การจัดการวัตถุดิบในแบบชาวบ้านกิน

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“อย่างใบชา คนเหนือเอามาทำเมี่ยง แต่ชาติพันธุ์บางกลุ่มเอาไปยำกับเครื่องเทศสมุนไพร บ้างก็เอาไปทำน้ำพริก ความรู้สึกของเราต่อคำว่าโลคอล มันค่อนข้างผสมผสานและหลากหลายกว่าโลคอลที่เคยเข้าใจและรู้สึกมา”

จากประสบการณ์ที่ทีม OLD.lab ได้ทดลองทำแบบคนเมืองทำเอง  ทำให้พวกเขามีชุดความรู้หลายอย่างเก็บรวบรวมเอาไว้ ส่วนหนึ่งกลายมาเป็น Waang pi เวิร์กช็อปที่พาคนเมืองเก็บบ๊วย นวดชา ฯลฯ และตามหาที่มาของวัตถุดิบกับคนท้องถิ่น ส่วนหนึ่งถูกส่งต่อในรูปแบบคู่มือพร้อมสินค้าท้องถิ่นจากชุมชนในนาม OLD.minimarkets 

ว่างไป

Waang pi อ่านว่า ว่างไป เวิร์กช็อปรับคนเมืองขึ้นดอยมาเรียนรู้และออกเดินทางตามหาวัตถุดิบในพื้นที่เชียงดาว พร้อมแพ็กเกจอาหารและที่พักท่ามกลางลมหนาวบนดอยสูง ตลอดจนการแปรรูปที่กลับไปทำเองได้

คนต้นเรื่องเห็นว่ายังมีคนที่สนใจวัตถุดิบท้องถิ่น แต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่างทำให้เขาเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ประกอบกับเชียงดาวมีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบ มีพืชพันธุ์น่าสนใจและวัตถุดิบบางอย่างที่คนเมืองกำลังให้ความนิยม เช่น โกโก้ บ๊วย ชา เต้าหู้ ฯลฯ เลยเกิดเป็นเวิร์กช็อปขึ้นมา โดย OLD.lab ชวนชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ในเชียงดาวมาร่วมเป็นวิทยากร (มือใหม่) ทุกคลาสจัดตามฤดูกาลเป็นหลักและรับคนร่วมกิจกรรมไม่เกิน 10 คน

เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“เราจัดนอกฤดูกาลไม่ได้ เพราะเราตั้งใจให้คนเข้าไปในพื้นที่จริง ให้เขาเห็นธรรมชาติของเชียงดาวในฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว มีบางหมู่บ้านที่เราเข้าไปหาเขาทุกฤดู เช่น ป่าโหล เราเก็บชากับเขาช่วงหนึ่ง เก็บกาแฟช่วงหนึ่ง เก็บบ๊วยช่วงหนึ่ง คนที่เคยเข้าคลาสบางคนมาหมู่บ้านเดิม บ้านหลังเดิม แต่คนละช่วงเวลา เขายังรู้สึกว่าไม่ซ้ำ
“เขาได้เห็นชาวบ้าน สภาพป่า และอาหารในแต่ละฤดูกาลที่ต่างกัน บางทีไปแล้วร้อนมาก เขาก็ได้เห็นต้นบ๊วยในฤดูร้อน เห็นใบชาในฤดูฝน ความรู้สึกที่เขาได้รับก็จะเปลี่ยนไป” ปลายสายอธิบายความงามที่ฤดูกาลเป็นตัวกำหนด

เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“การเข้าไปของเราทำให้ชาวบ้านได้เจอคนพื้นที่อื่น อาจมีรายได้เข้ามาบ้าง และคนที่มาคลาสเขาได้เจอคนขายจริงๆ คนขายก็ได้เจอคนซื้อจริงๆ ว่าคนซื้อหน้าตาแบบนี้นะ ช่วยให้ชาวบ้านรู้สึกดีขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ หลายบ้านเขามีวัตถุดิบ เริ่มมาติดต่อเรา บ้านป้ามีมันฝรั่งนะ บ้านป้ามีถั่วเหลืองนะ ป้าไม่ใส่สาร เอาไปทำอะไรได้บ้าง กลายเป็นว่าชาวบ้านเริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่เขาทำมากขึ้น สิ่งนี้เราไม่ได้คาดหวังไว้ตั้งแต่แรกว่าจะได้รับ” 

เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

อีกหนึ่งหัวใจหลักที่ OLD.lab อยากจะสื่อสาร คือวัตถุดิบท้องถิ่นในบ้านเราทำอะไรได้มากกว่าอาหารที่เราคุ้นเคย หลังจากลงพื้นที่ ผู้เข้าร่วมคลาสจะได้กลับมาทดลองแปรรูปวัตถุดิบด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง โกโก้ คนทั่วไปคุ้นเคยกับการเปลี่ยนโฉมเป็นช็อกโกแลต จากการทดลองของ OLD.lab พวกเขาเอาเปลือกโกโก้มาทำชา เอาโกโก้นิบส์ผสมกับกาแฟสกัดเย็น ผสมกับใบชาดำกระบวนการดั้งเดิม และโกโก้บางส่วนก็เอามาทำยีสต์ได้ด้วย แค่ฟังก็สนุก! 

ข้าวไร่ ใบชา น้ำปลา เต้าหู้ 

หากมองลึกกว่าการตามหาที่มาของวัตถุดิบ OLD.lab กำลังชวนเราศึกษาประวัติศาสตร์อาหารแบบย่อยง่าย มีวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นเครื่องมือเชื่อมวัฒนธรรม คน และสถานที่ รวมถึงความงามของธรรมชาติกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“เราพาคนเมืองไปดูข้าวไร่ เป็นข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช้น้ำ คล้ายการปลูกข้าวโพด คนที่มาเขาแปลกใจ นอกจากเราจะได้พูดเรื่องสายพันธุ์ข้าว ยังเชื่อมกับวิธีการปลูกข้าวของคนในพื้นที่ การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เห็นหน้าตาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ได้รู้ว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้างและเป็นต้นทางของอาหารอะไรในปัจจุบัน” 

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

นอกจากข้าวไร่ ยังมีเรื่องใบชาที่พวกเขาขึ้นไปหาชาวลาหู่ เพื่อเอาองค์ความรู้ วิธีการ และเทคนิคดั้งเดิมมาศึกษา และดัดแปลงกับเทคนิคที่พวกเขาค้นพบ รูปแบบเวิร์กช็อปเลยไม่ได้พาคนเมืองมาเรียนรู้กับชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องที่พวกเขาอยากแบ่งปันด้วยเช่นกัน หรือการทำน้ำปลา (เราชอบมาก) แม้คลาสจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เพราะเลยผ่านฤดูกาลมาแล้ว บวกกับสถานการร์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ปลายสายยินดีเล่าให้ฟัง

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“บนเชียงดาวยังมีแหล่งน้ำ ลำห้วยที่เขาเก็บรักษาไว้ ใครจะเชื่อว่าน้ำประมาณหน้าแข้ง ยังมีปลาตัวใหญ่ประมาณแขนหรือขา คนมาร่วมคลาสก็เกิดคำถาม ทำไมชาวบ้านยังรักษาระบบนิเวศหรือวิถีชีวิตแบบนี้ไว้ได้ เวิร์กช็อปนั้นเราอาจไม่ได้พูดถึงน้ำปลาในเชิงรสชาติอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย”

ความสนุกของการลงพื้นที่คือชาวบ้านที่เป็นวิทยากรมือสมัครเล่น ล้วนเป็นผู้รู้จริงและมีวิธีการแปรรูปอาหารไม่เหมือนกัน เพราะเชียงดาวมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีการจัดการกับวัตถุดิบและอาหารต่างกัน บางสูตรส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นด้วยวิธีการดั้งเดิม อย่างการทำเต้าหู้หมักของชุมชนชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ในอรุโณทัย

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“ที่อรุโณทัย คนไปกินบะหมี่ยูนนานแล้วก็กลับ แต่ในหมู่บ้านยังมีป้าๆ ที่ทำเต้าหู้หมัก เต้าหู้เหม็น และเต้าหู้ขน (Hairy Tofu) คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้น หนึ่งปีทำได้ครั้งเดียว เพราะต้องรออากาศเย็น ถ้าอากาศร้อนเต้าหู้จะเน่า พออากาศเย็นได้ที่จะมีเชื้อราประเภทหนึ่งขึ้นมาบนเต้าหู้ กลิ่นจะหอม เราเอามาทอดแล้วกลิ่นเหมือนปลาสลิดเลย” 

เหมือนว่ากลิ่นที่คุ้นเคยจะลอยมาเตะจมูกทันที ไม่น่าเชื่อว่าอาหารจะเชื่อมคนใกล้กับคนไกลได้เหมือนกัน

เปิดแผงจิ๋วบนตลาดออนไลน์

OLD.minimarkets เป็นพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตปลอดภัยของชาวบ้าน ในสถานการณ์ที่การชวนคนมาทำเวิร์กช็อปต้องหยุดชะงัก ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังคงปลูกพืชพันธุ์ทุกอย่างเหมือนเดิม ผลผลิตยังคงมี เช่น บ๊วย แม้จะมีราคาถูกมาก กลับไม่มีคนขึ้นไปรับจากชาวบ้านมาขาย ด้วยระยะทางไกลและเส้นทางลำบาก เพื่อให้ชาวบ้านยังพอมีรายได้อยู่บ้าง ทีม OLD.lab เลยทำหน้าที่รับซื้อผลผลิตบางอย่างจากชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลเอาไว้

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ๊วยออกเยอะมาก ถ้าเราไม่ขึ้นไปบ๊วยคงเน่า และปกติเรารับซื้อมาทำเองอยู่แล้ว แต่ถ้าคนไกลเข้าถึงวัตถุดิบได้เหมือนกันคงจะดี เลยทำ OLD.minimarkets ขึ้นมา เราวางคอนเซปต์ว่า O คือ ออร์แกนิก เป็นวัตถุดิบปลอดภัยจากชาวบ้านที่เรารู้แหล่งที่มา L คือโลคอล เราสนับสนุนเกษตรกรและชาวบ้านที่เขาผลิตอาหาร วัตถุดิบเอง และ D คือ Do it เราตั้งใจอยากเห็นคนทางบ้านได้ลงมือทำวัตุดิบหรือสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง”

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว
OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

ผลผลิตจากชาวบ้านถูกจัดทำเป็นชุดคิท พร้อมคู่มือจากองค์ความรู้ที่ OLD.lab รวบรวมไว้ แนบไปในกล่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างชุดยอดฮิต OLD. jar เอาใจคนรักบ๊วย มีให้เลือกทำทั้ง Umesyrup และ Umeshu ที่บอกวิธีการทำละเอียดยิบ ชุด BLACK TEA THE BASIC ชุดทำชาด้วยตัวเอง ในกล่องมีใบชาสดปลอดสารจากป่า พร้อมคู่มือนวดชาด้วยมือแบบดั้งเดิม แถมด้วยวิดีโอขนาดสั้นเกี่ยวกับการเก็บชาไว้ดูประกอบการทำ

“เราได้ไอเดียจากการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในอีเกียแล้วเขามีคู่มือการประกอบสินค้ามาให้ด้วย วิธีการของเราเหมือนยกเวิร์กช็อปให้เขาทำถึงบ้าน เวลาเขาได้ลงมือทำอะไรก็ตามด้วยตนเองจะมีความผูกพันกับวัตถุดิบนั้นมากขึ้น” 

ห้องทดลองบนยอดดอย

“OLD.lab เป็นโปรเจกต์ที่เรายังทำไม่สมบูรณ์ ความตั้งใจเราอยากทำให้สำเร็จ จะได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์วัตถุดิบในบ้านเรา ถ้าตามจินตนาการ เราคงมีเว็บไซต์รวบรวมข้อมูล มีคอนเทนต์ที่เราได้ไปสัมผัส แบ่งปันให้คนอื่นเห็นว่าเราเจออะไรบ้างระหว่างทำงาน มีเวิร์กช็อป มีผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านที่เขาส่งให้เรา และเราส่งต่อให้คนเมืองได้ลอง

“อนาคตเราอยากมีแล็บ ที่ไม่ใช่คลาวด์ แล็บในจินตนาการ เป็นพื้นที่แสดงงานที่เราทดลองทำ เช่น เราดองน้ำปลาจากปลาห้าชนิด เขาก็เข้ามาลองชิม มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น คิดมากไปกว่านั้นคือเขาเอาวัตถุดิบที่มีมาทดลองกับเรา ชวนกันมาเล่นกับวัตถุดิบในบ้านเรา ให้คนได้สัมผัสว่าของบ้านเรายังทำเป็นอะไรได้อีกหลายอย่าง”

OLD.lab เวิร์กช้อปอาหารที่มีห้องแล็บอยู่บนดอยและมีครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงดาว

แล้วช่วงนี้แล็บของ OLD.lab ทดลองอะไรสนุกๆ บ้างมั้ย เราถาม

“เราทดลองแต่เรื่องเหล้า” เสียงชายหนุ่มหัวเราะร่วน “เรากำลังลองทำเหล้าลิ้นจี่ แล้วก็เชื้อโคจิ เอาไว้สำหรับทำสาเก มิโซะ เลี้ยงยีสต์เองด้วย จากวัตถุดิบที่มีในบ้านเรา ส่วนน้ำปลาก็กำลังอยู่ในกระบวนการ เพราะบางวัตถุดิบไม่มีขาย เราเลยต้องทำเอง ส่วนหนึ่งก็ตื่นเต้นกับการทำเองแล้วมันกินได้” เชื่อแล้วว่าห้องทดลองบนดอยมีจริงๆ

การเกิดขึ้นของ OLD.lab เพียงหนึ่งปี เป็นเสมือนการเปิดประตูบานใหม่ให้เชียงดาว มากไปกว่าการตามหาที่มาของวัตถุดิบและจดบันทึกความรู้เพื่อส่งต่อ คือชาวบ้านในชุมชนกลับมาเห็นคุณค่าของวัตถุดิบในบ้านเขาเอง 

เราเชื่อว่าพลังของคนตัวเล็กจะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ไม่นานเราคงเห็น OLD.lab เกิดขึ้นทุกภาคทั่วไทย

ภาพ : OLD.minimarkets และ Waang pi


ติดตาม OLD.lab ได้ทาง

Facebook : OLD.minimarkets

Facebook :  Waang pi

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก