เป็นสื่อมานาน ปีนี้ The Cloud อยากเป็นศิลปินบ้าง

ยุคนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย ทำเพลงง่ายขึ้น ทีม The Cloud หลายคนชอบและอยากทำเพลงของตัวเอง อยากลองเดบิวต์ซิงเกิลกันสักครั้ง หรือทำเป็น EP. รวมเพลงก็ไม่เลว ตั้งชื่อเสร็จสรรพว่า The Cloud Record ทำเพลงประกอบบทความ สร้างแรงบันดาลใจผ่านการอ่านและฟังในเวลาเดียวกัน

คุยกันแป๊บเดียว ไอเดียพลุ่งพล่าน การเป็นศิลปินยุคนี้ช่างง่ายดาย ใคร ๆ ก็เป็นได้ ไม่ต้องสังกัดค่ายเพลงไหนก็ทำได้ 

แต่ก่อนจะเลยเถิดกว่านั้น มีคนแนะนำ (ด้วยความหวังดี) ว่า เราน่าคุยกับ โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ ผู้บริหารของ Gene Lab สักนิดก่อนทำอะไรมากกว่านี้

เส้นทางของโอมน่าสนใจ จากเด็กเรียนกฎหมาย สู่ศิลปินวง Cocktail และผู้บริหารค่ายเพลง Gene Lab ในเครือ GMM Grammy โอมสนใจงานความคิดสร้างสรรค์ เขาบริหาร Gene Lab ด้วยความเชื่อว่า ค่ายเพลงควรทำหน้าที่เหมือนเอเจนซี่ทางดนตรี ต่อยอดคอนเทนต์เสียงไปสู่ความบันเทิงในรูปแบบใหม่ ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ เปิดกว้างต่อการร่วมมือธุรกิจใหม่ ไม่ได้ทำแต่เพลงอย่างเดียวอีกต่อไป

แนวคิดนี้ผ่านการคิดและทำมาไม่น้อย ตัวอย่างเด่น ๆ คือภาพปกอัลบั้ม ‘Fate’ และ ‘Omega’ ของ Cocktail ฝีมือของ Illusion CGI Studio บริษัททำภาพประกอบโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก อัลบั้ม ‘เพื่อชีวิตกู’ โดย ไททศมิตร มีแคมเปญโปรโมตที่น่าสนใจจนคว้ารางวัล Best of Show จากงาน Adman 2022 เทศกาลความคิดสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อปีที่แล้ว

แม้การทำเพลงทุกวันนี้จะง่ายดาย แต่โอมเชื่อว่าค่ายเพลงยังมีความสำคัญ มีข้อแม้ว่าต้องคิดใหม่ทำใหม่ สร้างความหมายใหม่ให้กับงานค่ายเพลง เรานำความคิดความเชื่อของเรามาถกเถียงและโต้แย้งกับหัวหน้า Gene Lab จนออกมาเป็นบันทึกการประชุมชิ้นนี้

นอกจากมาหาความหมายของค่ายเพลง บางคำตอบจากโอมยังบ่งชี้ว่า อนาคตของวงการดนตรีควรเติบโตไปในทิศทางไหน

หน้าที่ของคนทำค่ายเพลงคืออะไร 

คำตอบแรกของโอมคือ การนำเพลงออกไป ‘ขาย’ ทั้งในแง่การสื่อสารและกระตุ้นความสนใจให้คนเห็นว่า สิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับผู้ฟังคืออะไร นอกจากนี้ยังควรขยายโอกาสของศิลปินให้เขาเติบโตยิ่งขึ้น

โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ กับการบริหาร Gene Lab ให้เป็นเหมือนเอเจนซี่ทางดนตรี

ก่อนร่วมงานกับ Gene Lab ไททศมิตรมีค่าจ้างการเล่นต่องานราว 4 หมื่นกว่าบาท 

เพื่อชีวิตกู คืออัลบั้มที่ 2 ที่วงได้ร่วมทำกับค่ายตั้งแต่ต้นจนจบ (เพลงในอัลบั้มชุดแรกส่วนใหญ่เป็นงานที่วงทำเสร็จมาก่อนเข้าค่าย) 

โอมเล่าว่าในการประชุมครั้งแรก ๆ เขาเริ่มจากการคิดคอนเซปต์จากเพลงที่วงมีทั้งหมด เพื่อกำหนดทิศทางและอารมณ์ของเพลง ซึ่งจะมีผลกับการสื่อสารทั้งองคาพยพ

ด้วยชื่อและเนื้อหาที่โดดเด่น เพลง เพื่อชีวิตกู จึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นคอนเซปต์ แม้จะดูสุ่มเสี่ยงชวนเข้าใจผิด แต่โอมคิดว่านี่คือความหาญกล้าของวงที่ถูกเรียกว่า ‘เพื่อชีวิต’ ที่จะออกมาพูดถึงชีวิตอย่างตรงไปตรงมา ไม่โรแมนติกเกินงาม 

“กูในที่นี้หมายถึงทุกคนล้วนต้องทำหน้าที่ของตน ถ้าคุณเป็นตำรวจ หน้าที่คือการพิทักษ์ประชาชน ถ้าคุณขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หน้าที่คือรับส่งผู้โดยสาร ถ้าคุณเป็นพ่อ หน้าที่คือเลี้ยงดูภรรยาและครอบครัวให้ดีที่สุด ทั้งหมดนี้ทำเพื่อชีวิตกู เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเอง ใช้ชีวิตต่อไปในหน้าที่ที่พึงกระทำ เพื่อชีวิตกูยังมีความหมายว่า ถ้าเลี้ยงตัวเองไม่ได้แล้วจะเลี้ยงใครได้ อย่างน้อยก็ต้องให้ตัวเองมีชีวิตให้ได้ก่อน”

Gene Lab พยายามโปรโมตอัลบั้มเพื่อชีวิตกูด้วยวิธีใหม่ แนวคิดใหม่ หนึ่งในงานที่เราชอบคือ Fake Presenter แคมเปญที่ทำเหมือนไททศมิตรกำลังจะเป็นพรีเซนเตอร์เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ใหม่ มีการทำหนังโฆษณาและบิลบอร์ดแปะตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนมาเฉลยว่าเป็นการโปรโมตอัลบั้ม ชื่อของเครื่องดื่มนั้นคือ ‘กู’ มาจาก เพื่อชีวิตกู ซึ่งเป็นชื่อของอัลบั้มนี้

โอมมองตัวเองว่าเป็น Publicis มากกว่า Record Company เป็นบริษัทที่ทำงานสื่อสารหลายรูปแบบ การจะทำได้แบบนั้น โอมเชื่อว่าในการทำงานสื่อสาร ต้องมีท่าพิเศษ อย่าคิดและทำตามความคุ้นชินเพียงอย่างเดียว 

กัปตันทีม Gene Lab เล่าว่าเมื่อครั้งเจอวงนี้ใหม่ ๆ ไททศมิตรออกผลงานมาแล้ว 1 อัลบั้ม วงนี้มีฐานแฟนเพลงอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ค่ายเริ่มแสวงหาข้อเท็จจริงทางการตลาด วิเคราะห์ว่าไททศมิตรเป็นวงแบบไหน คนฟังเป็นใคร ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ พวกเขาเป็นคนแบบไหน จากนั้นก็ต้องตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ นี่เป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อมองตัวเองว่าเป็นเอเจนซี่ทางดนตรี

โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ กับการบริหาร Gene Lab ให้เป็นเหมือนเอเจนซี่ทางดนตรี

“ในเชิงการตลาด เราจะไม่คิดก่อน ต้องแสวงหาให้เจอว่าอะไรเป็นอะไร มันมีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่” โอมพูดถึงหลักการทำงานของไททศมิตร 

“ไททศมิตรจะจับกลุ่มผู้ฟังได้ยากกว่าคนอื่นตรงที่ว่า แฟนเพลงมีเกือบทุกที่ ที่ละนิด หลากมาก ๆ การบอกว่าเป็นวงเพื่อชีวิตไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ‘เพื่อชีวิต’ เป็นสิ่งที่เล่าอยู่ในเนื้อเพลง ไม่ใช่แนวเพลง วงเล่นทั้งโซล ป๊อป ร็อก แนวเพลงเขาไม่จำกัดด้วยซ้ำ 

“ไททศมิตรยังมีลักษณะเป็นวงแมสแบบเก่า คือเข้าถึงกลุ่มคนไม่เจาะ ‘นิวแมส’ สำหรับเราคือเป็นกลุ่มคนจำนวนมากอยู่รวมกัน แต่ยังมีคนกลุ่มย่อยหรือ Segment ซ่อนอยู่ ไททศมิตรมีความเป็นเซกเมนต์น้อยกว่าวงอื่นที่ผมดูแล 

“เป้าทางธุรกิจที่เราตั้งวันนั้นคือ ขยายการรู้จักของเขาให้มากที่สุด ให้คนเห็นเขาให้มากที่สุด แล้วลองดูซิว่ากลุ่มคนฟังที่มีเพอร์เซปชันต่อเขา ที่มันไปถึงเขา เลือกจะเก็บเขาไว้ในใจหรือไม่เก็บ เราจะได้มาเก็บข้อมูลกันอีกครั้งว่าเขาได้กลุ่มผู้ฟังแบบไหนบ้าง” โอมเล่า

เมื่อตั้งเป้าหมายชัดเจน งานก็เดินหน้า เบื้องหลังงานทุกชิ้นของเพื่อชีวิตกู จึงเป็นการขยายฐานคนฟังของไททศมิตรให้ไกลที่สุด ตั้งสมมติฐานเป็นการยิงเข้าเป้าหมายแบบขยาย จบงานค่อยมาเก็บข้อมูลทีหลังว่าสำเร็จแค่ไหน

Gene Lab เป็นวงที่วิเคราะห์ข้อมูลศิลปินละเอียดมาก ตัวอย่างของไททศมิตรเป็นแค่ตัวอย่างเล็กน้อย ที่ต้องละเอียดขนาดนี้เพราะนี่คือหน้าที่ของค่ายเพลง 

ฟังโอมจบ เรามีข้อโต้แย้งเล็กน้อย สมัยนี้การเก็บข้อมูลหรือ Data ทำได้ไม่ยากนัก ศิลปินบางคนมีข้อมูลของตัวเองและแฟนเพลงอย่างดีเช่นกัน ถ้าลงทุนลงแรงมากพอ ไม่จำเป็นต้องพึ่งค่ายเพลงเช่นกัน

โอมฟัง และบอกเราว่า ศิลปินมีสิทธิโต้แย้งเสมอ เราจึงยกเรื่องนี้ไปพิจารณาในการประชุมรอบต่อไป

ในการประชุมรอบที่ 2 เราสังเกตว่ามีทีมงานของค่ายมาร่วมฟังเยอะขึ้น การประชุมยกเนื้อหามาจากครั้งที่แล้วว่า หากทุกคนเก็บข้อมูลได้ด้วยตัวเอง แล้ว Gene Lab ทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้บ้าง

โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ กับการบริหาร Gene Lab ให้เป็นเหมือนเอเจนซี่ทางดนตรี

ไม่ใช่แค่ไททศมิตร ศิลปินทุกคนและวงภายใน Gene Lab ผ่านการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์อย่างหนักหน่วง ค่ายพยายามเป็นผู้ช่วยศิลปินในการเอาเพลงไปขาย เล่าเรื่อง เป็นแขนขาช่วยในการทำงานที่อยู่ในหัวศิลปินให้เกิดขึ้นจริง

เขายกตัวอย่างการทำคอนเสิร์ตปิดอัลบั้ม เพื่อชีวิตกู ซึ่งไปจัดที่ลานอเนกประสงค์ ศูนย์เยาวชนคลองเตย ถ้า The Cloud อยากไปจัดคอนเสิร์ตที่นี่บ้าง ก็มีเรื่องต้องจัดการไม่น้อย ทั้งการติดต่อขอใช้พื้นที่ ประสานงานกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน มีทีมการตลาด ทีมสื่อสาร และอีกหลายทีมจำนวนมากคอยช่วยให้ความต้องการของศิลปินเป็นจริง 

โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ กับการบริหาร Gene Lab ให้เป็นเหมือนเอเจนซี่ทางดนตรี
โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ กับการบริหาร Gene Lab ให้เป็นเหมือนเอเจนซี่ทางดนตรี

Gene Lab มองว่าศิลปินเป็นดั่งเชื้อเพลิง จุดติดไอเดียเริ่มต้นเพื่อนำไปต่อยอด 

ในการทำงานหลังจากนั้น ขั้นตอนที่ค่ายนี้ให้ความสำคัญมาก ๆ มีอยู่ 2 ข้อใหญ่

หนึ่ง การโต้แย้งถกเถียงต้องผ่านขั้นตอนชัดเจน สมมติว่าวงอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อโปรโมตอัลบั้ม พวกเขาจะเจอคำถามแรกก่อนว่า คนนอกจะเข้าใจสิ่งที่วงอยากเล่ามั้ย ต้องถามตัวเองว่าเป้าหมายใหญ่หรือ Primary Objective คืออะไร 

โอมไม่อยากให้ศิลปินหลงรักวิธีการเกินไป จนลืมว่าเป้าหมายแท้จริงคืออะไร ถ้าวิธีการที่ศิลปินเลือกไม่สื่อสารหรือรักษาผลลัพธ์ที่ต้องการไว่ไม่ได้ก็จำเป็นต้องถูกปัดตกไป

เมื่อศิลปินถูกปฏิเสธ พวกเขาต้องได้รับเหตุผลพร้อมสิทธิในการโต้แย้ง เริ่มตั้งแต่ระดับศิลปินกับครีเอทีฟที่มีหน้าที่ดูแลศิลปินคนนั้น หากโต้แย้งแล้วยังถูกปฏิเสธ พวกเขามีสิทธิขอประชุมอีกรอบในระดับผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารคอมเมนต์แล้วยังมีการโต้แย้ง ศิลปินมีสิทธิโต้แย้งในที่ประชุมรวมเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นถือว่าความเห็นเป็นที่สุด

โอมหัวเราะเมื่อเราทักว่าสมเป็นระบบของคนที่เรียนด้านกฎหมาย เหมือนศิลปินต้องขึ้นศาลเป็นขั้น ๆ เขาบริหารงานแบบนี้ตั้งแต่เปิดค่าย 

เขาไม่ได้ทำเพื่อเอากิมมิก แต่มันคือหลักบริหารคนที่เขาเชื่อ เพื่อให้การคอมเมนต์งานของศิลปินมีความเป็นเหตุเป็นผล จับต้องได้ และชัดเจนที่สุด

“ศิลปินเป็นมนุษย์ มีความนึกคิด เวลาโดนปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผลเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก อย่าว่าแต่ศิลปินเลย สมมติว่าเรามีแฟนแล้วเขาบอกเลิก พอถามว่าเกิดอะไรขึ้น โดนตอบมาว่า ‘มึงไม่ต้องรู้หรอก’ แย่นะ” โอมเล่า 

“มันไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะในชั้นศาล มันเป็นเรื่องการให้เหตุผลที่กว้างขึ้น การให้เหตุผลในทีแรกมาจากมุมมองของคนทำงานระดับจูเนียร์ การให้เหตุผลในทีมผู้บริหารเป็นอีกมุมหนึ่ง หากไม่เพียงพอจึงให้เหตุผลในเชิง Committee หรือมีคนมาร่วมพูดคุยจำนวนมาก พูดขึ้นมาพร้อมกัน อย่าลืมว่าเราทั้งหมดเป็นหุ้นส่วนกัน คุณไม่ได้มีสิทธิเหนือคนที่ต้องเสียบางอย่างเพื่อคุณเช่นกัน”

ข้อสองที่เขาให้ความสำคัญมาก คือการขออนุญาตศิลปินก่อนทำงานเสมอ 

อย่าบังคับศิลปินให้ทำสิ่งใดที่เขาไม่รับทราบ อย่าเซอร์ไพรส์ อย่าไม่ได้รับความยินยอม ใครเคยทำงานกับเขาจะรู้ว่า นี่คือสิ่งที่ทำไม่ได้เด็ดขาด

แม้เป็นผู้บริหาร แต่โอมจะไม่พูดหากเขาไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง เขาไม่เชื่อว่าคนคนเดียวจะคมคายควบคุมทุกอย่างได้ตลอดไป ไม่เชื่อว่าตัวเองถูกทุกเรื่อง การร่วมถกเถียงพูดคุยร่วมกันจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ แม้จะเป็นครีเอทีฟหรือทีมงานที่ดูแลศิลปินอีกทีมก็คอมเมนต์กันได้เพราะถือเป็นการมองจากมุมมองคนนอก เป็นอีกด้านของเหรียญที่ควรฟัง

หากมีเรื่องต้องฟันธง เขาเพียงแต่ดูว่าสิ่งที่เสนอมาขัดกับเป้าหมายแรกมั้ย ถ้ามีการตั้งเป้าหมายใหม่ที่สอง สาม สี่ ต้องไม่ขัดกับเป้าหมายแรก ทำให้ทุกงานของ Gene Lab เข้าเป้า 

หลังปิดอัลบั้ม เพื่อชีวิตกู ค่ายพบว่าเป้าหมายของไททศมิตรถือว่าบรรลุเป้า กลุ่มผู้ฟังขยายตัวขึ้น หนึ่งในตัวบ่งชี้สำคัญคือประเภทและราคาของค่าจ้างเล่นตามงาน ข้อมูลนี้สะท้อนศิลปินได้หลายข้อ 

เขายกตัวอย่างข้อหนึ่ง สมมติว่ามีวงดนตรีได้ไปเล่นหลายจังหวัด แต่ได้เล่นในอำเภอใหญ่ ไม่เคยไปกิ่งอำเภอย่อย แสดงว่ากลุ่มคนฟังของศิลปินไม่เคยไปไกลกว่ากลุ่มนักศึกษา บางครั้งการเล่นอำเภอใหญ่ก็ไม่ได้แปลว่านักศึกษาจะมาฟังเสมอไป ถ้าเมืองที่ไปเล่นส่วนใหญ่ไม่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ 

ไททศมิตรเข้ามาร่วมกับ Gene Lab ได้ 3 ปี ราคาค่าจ้างเริ่มจากหลักหมื่นเริ่มเข้าสู่หลักแสน วงมีชื่อเสียงมากขึ้น สิ่งที่ค่ายต้องทำคือ ปรับทิศทางงานให้สอดคล้องกับการเติบโตของวง เปรียบเหมือนต้นไม้ที่โตขึ้น ต้องปรับกระถางมารองรับ ปล่อยตามยถากรรมไม่ได้ นี่คือหน้าที่ที่ค่ายเพลงพึงกระทำในวันนี้

แม้หน้าที่ของค่ายเพลงวันนี้จะดูแตกต่างจากภาพจำทั่วไป โอมในฐานะผู้บริหารเพียงแต่คิดว่าเขายึดถือความจริง และปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์

“ถ้าเราอยากจะดีขึ้น ต้องเริ่มจากการยอมรับความจริง” 

“ผมไม่ได้ทำอะไรยิ่งใหญ่ เราเคยได้รับอะไรมา เคยชอบใจในสิ่งใด ไม่ชอบใจในสิ่งใด ก็อยากปรับมันอีกครั้งเพื่อให้ตอบสนองศิลปินของเราได้ เราทำงานภายใต้แนวความคิดที่ว่า This is your playground. You do your art. We do your shit. เพื่อให้สนามแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เขารู้สึกปลอดภัย สบายใจที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะได้จริงๆ เพราะงานศิลปะเกิดขึ้นจากมนุษย์ มนุษย์จะทำศิลปะได้ดีเมื่อมีสภาวะอารมณ์ที่ถูกต้อง เหมาะสม แค่นั้นเอง”

ความจริง The Cloud ไม่มีข้อโต้แย้งจากการประชุมรอบที่แล้ว แต่เรายังขอคุยกับโอมอีกรอบ เพราะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอนาคตของหน่วยงานที่ชื่อว่าค่ายเพลง 

ในอนาคต ค่ายเพลงจะยังปรับตัวตามคลื่นลมความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน เรื่องที่ผู้บริหารค่ายเพลงที่ดีควรทำคืออะไร

โอมฟังเราจบ เอนหลังกับเก้าอี้ พลางตอบว่าข้อแรกที่ควรทำ คือจงเปิดโทรศัพท์ไว้ตลอด 

กัปตันต้องอยู่ให้ทุกคนบนเรือเห็นเสมอเมื่อเผชิญคลื่นลม

“สิ่งสำคัญที่สุดของการบริหารค่ายเพลงคือ ความเข้าใจพันธกิจของค่ายเพลง ถ้าคุณตั้งใจจะเป็นค่ายเพลงที่กว้างมาก ๆ แล้วเอารสนิยมส่วนตัวหรือผูกบางอย่างไว้กับบุคคลมาก ๆ ผมว่าอันตราย เพราะคนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้าค่ายสะท้อนรสนิยมของคนทำมากเกินไป ก็มีสิทธิตายได้ ในการทำงานกับศิลปินที่หลากหลาย เราจะไม่ตัดสินเขาด้วยรสนิยมส่วนตัวเสมอไป” 

โอมให้เครดิต ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม และ นรมน ชูชีพชัย หนึ่งในทีมผู้บริหาร GMM Grammy ที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจว่าทำไม Gene Lab ถึงอยากหมุนตัวเองเป็น Publicis เรากำลังไปทางไหน “สองคนนี้จะพูดว่า เราทำได้มากกว่านั้น We can be so much more.” 

บนโต๊ะประชุมครั้งนี้มีทีมงานจากค่ายมาฟังเยอะขึ้น หนึ่งในนั้นคือสมาชิกคนสำคัญ หมี-พณิช ฉ่ำวิเศษ เพื่อนสนิทของโอมที่ผันตัวมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ

หมีเล่าว่า เมื่อมองในภาพใหญ่ ทางออกในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมดนตรีของไทยที่หดตัวลง คือการพยายามขยายฐานของธุรกิจดนตรี พวกเขาเห็นวงการดนตรีญี่ปุ่นที่เรียกมิวสิกวิดีโอว่าเป็น Promote Video หรือ PV การเรียกเช่นนี้บ่งบอกว่าพวกเขามองงานนี้มากกว่าแค่วิดีโอประกอบเพลง แต่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญในการโปรโมตผลงาน 

โอมชื่นชมผลงานที่ธุรกิจรองเท้าผ้าใบ Carnival ทำร่วมกับ KFC กลายเป็นสินค้าคอลเลกชันพิเศษ ขายหมดทุกชิ้นในไม่กี่ชั่วโมง การร่วมงานข้ามสายธุรกิจเป็นสิ่งที่ Gene Lab อยากให้เกิดขึ้นในวงการดนตรีที่มีขนาดเล็กมาก คนทำงานวนอยู่แค่ไม่กี่กลุ่ม ปัญหานี้โอมมองว่าอาจเพราะปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดอาจไม่สูงมาก สังเกตได้จากคนที่เคยทำงานด้านมิวสิกวิดีโอเมื่อได้รับโอกาสให้ทำหนังหรือซีรีส์ มักจะไม่กลับมาทำงานดนตรีอีก ปัญหานี้ถ้าได้รับการแก้ไขไปพร้อมกัน ทั้งขยายโอกาส และหารายได้เพื่อมาเติมเต็มคนทำงาน อนาคตของวงการก็จะสดใสขึ้น

ด้วยแนวคิดนี้ ต่อไปเราจะได้เห็น Gene Lab ทำงานโปรโมตที่พิเศษมากขึ้น ขยันคิดและเล่นท่าใหม่ ๆ อาจเป็นลักษณะการทำ 1 แคมเปญต่อ 1 เพลง ให้งานน่าสนใจยิ่งขึ้น ขยายความรับรู้ไปนอกวงการดนตรี ขยายความร่วมมือออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด

ค่ายเพลงยังมีคุณค่าและความหมาย หากริเริ่มทำสิ่งใหม่ กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย ในการประชุมรอบสุดท้ายเราถือว่าความเห็นนี้เป็นที่สุดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง 

เรื่องของ Gene Lab บอกเรา 2 ข้อ หนึ่ง ใคร ๆ ก็เป็นศิลปินได้ แต่หากอยากเป็นศิลปินที่ต่อยอดผลงานไปสู่แวดวงใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึง ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ ผู้อ่านคงยังไม่เห็น The Cloud ทำเพลงเร็ว ๆ นี้ ทำสื่อที่ตัวเองถนัดและเชี่ยวชาญต่อไปน่าจะดีกว่า 

สอง หากธุรกิจอยู่ในช่วงเวลาอึมครึม ไร้ทางออก การเปิดใจต้อนรับโอกาสใหม่ ๆ ร่วมงานข้ามสายกับคนที่น่าสนใจ สร้างแสงสว่างในความมืดมิดได้เสมอ เหมือนเช่นที่โอมเชื่อและทำให้เราเห็นในวันนี้

ภาพ : GMM Grammy

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก