ในบรรดาของดีขึ้นชื่อของประเทศภูฏาน ‘น้ำผึ้ง’ คือผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักถูกหยิบติดมือเป็นของฝาก ไม่เพียงเพราะคุณประโยชน์อันหลายหลาก ทว่ายังซื้อหาได้ง่ายตามร้านค้าประจำสนามบินนานาชาติพาโร โดยเฉพาะภายในร้าน OGOP Shop ซึ่งเรียงรายไปด้วยขวดโหลน้ำผึ้งสีสันสะดุดตาจากหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดจนสารพัดสินค้าเหมาะจะเป็นของฝาก ทั้งงานฝีมือดีไซน์เก๋ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และอาหารแปรรูป บรรจุเรียบร้อยในบรรรจุภัณฑ์สวยงามดูดี การันตีคุณภาพด้วยตราสัญลักษณ์ ‘OGOP’ (One Gewog One Product) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสินค้า ‘หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์’ (OTOP) ของประเทศไทย

จาก OTOP สู่ OGOP ไทยกับภูฏานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 200 รายการให้กระจายไปทั่วโลก

แต่ความน่าสนใจยิ่งกว่า คือเรื่องราวเบื้องหลังของสินค้าเหล่านี้ ที่เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมร้อยสัมพันธไมตรีของประเทศไทยและภูฏานให้แน่นแฟ้น กลมเกลียวมาอย่างยาวนาน โดยมี รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนโมเดลสร้างสรรค์สินค้า OGOP ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กับประเทศภูฏาน ซึ่งช่วยสร้างงาน กระจายรายได้ จุดประกายโอกาสพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงพลิกโฉมผลผลิตพื้นบ้านให้กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวภูฏานและนักเดินทางผู้หลงมนตร์เสน่ห์ดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้

จาก OTOP สู่ OGOP ไทยกับภูฏานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 200 รายการให้กระจายไปทั่วโลก

ทำทั่วไป ให้ไปทั่ว

“เมื่อก่อนเวลาเรานึกถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นหน้าตาของประเทศภูฏาน อันดับแรกต้องเป็นแสตมป์และพวกของใช้ เพราะของกินส่วนใหญ่ยังผลิตแค่ขายในชุมชน อย่างข้าวแดงภูฏานที่รัดถุงขาย หรือน้ำผึ้งใส่ขวดคล้ายขวดเหล้า จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2557 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน มีพระราชประสงค์จะพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและช่วยเหลือพสกนิกร จึงมีกระแสรับสั่งกับ ท่านสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA ซึ่งรับผิดชอบงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศ ให้ดำเนินการหารือกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องก่อน ก่อนที่จะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้นร่วมกับทีมของภูฏาน ซึ่งรัฐบาลภูฏานได้มอบหมายให้สำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังซุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน (Queen’s Project Office – QPO) เป็นหน่วยงานดำเนินงานโครงการ เพื่อออกแบบโครงร่างโมเดลการพัฒนาสินค้า OGOP ขึ้นมา” อาจารย์วัชรพงษ์เล่าถึงจุดเริ่มต้น

ด้วยประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านโครงการวิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติ ทั้งเคยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา กระทั่งโมซัมบิก ทำให้อาจารย์วัชรพงษ์ได้รับโอกาสเข้ามาสานต่อภารกิจนี้ใน ‘โครงการส่งเสริมด้านการเกษตร โดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ One Gewog One Product (OGOP Model I) ของราชอาณาจักรภูฏาน โดยโจทย์หลักของโครงการ นอกจากมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว หมุดหมายสำคัญอีกอย่าง คือผลักดันความตั้งใจในการชูสินค้า OGOP ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

“เราเชิญตัวแทนจากภูฏานมาทำแผนร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดทิศทางอนาคต จนตกผลึกวิสัยทัศน์ ‘Bhutan Everywhere’ หมายถึง สินค้า OGOP จะต้องเป็นตัวแทนของประเทศและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งตอนแรกเขามองภาพว่า ปลายทางอยากผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก แต่ความที่กำลังผลิตในประเทศมีน้อย ประชากรทั้งหมดแค่ 7 แสนคน ประกอบกับบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าและปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน เราเลยเสนอว่าหากจะขยับสินค้าภูฏานให้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ก้าวแรกอาจเริ่มจากการลองเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวดูก่อน” จุดนี้มองว่าเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่ฝ่ายภูฏานกำหนดวิสัยทัศน์ด้วยตัวเอง เพราะเขาจะเข้าใจบริบท สังคม วัฒนธรรมของตัวเองอย่างชัดเจน

เหตุนี้ หัวใจของ OGOP Model I จึงอยู่ที่การคัดสรรผลิตภัณฑ์โดดเด่นประจำถิ่นจากกว่า 20 ชุมชน มาแปลงโฉมให้สวยงามดึงดูด โดยทางโครงการได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปอบรมให้ความรู้และร่วมมือกับชุมชนออกแบบตราสัญลักษณ์สินค้า บรรจุภัณฑ์ พร้อมพาตัวแทนจากภูฏานมาศึกษาแนวทางการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ยังเมืองไทย

“ภูฏานเป็นประเทศที่ผลิตน้ำผึ้งเยอะมาก เราเลยพาเขามาดูงานเรื่องน้ำผึ้ง รวมถึงผึ้งชันโรงที่จังหวัดจันทบุรี และเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องผนึกสุญญากาศ บ้านเราอาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับเขาถือเป็นการประเดิมบรรจุภัณฑ์ใหม่ของข้าวแดงภูฏานเลย” อาจารย์วัชรพงษ์พูด พลางเสริมว่ากระบวนการพัฒนาสินค้าทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ QPO ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยและคอยใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ ปรับปรุง จนทำให้ภายในระยะเวลา 3 ปี สามารถผลิตสินค้า OGOP ได้กว่า 140 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังพระราชทานโรงงานแปรรูปสินค้า OGOP และสนับสนุนให้มีการเปิดร้าน OGOP Shop ขึ้น 3 แห่ง ในเมืองหลวงทิมพู เมืองพาโร และสนามบินนานาชาติพาโร

“ผลิตมาเท่าไหร่นักท่องเที่ยวก็หิ้วกลับหมด ส่วนคนภูฏานก็ตื่นเต้นกันมาก เพราะก่อนหน้านี้การจะหาซื้อของฝากหรือกระเช้าของขวัญต่าง ๆ เขาต้องสั่งจากไทยและอินเดียเกือบทั้งหมด” อาจารย์วัชรพงษ์ เผยเสียงตอบรับของโครงการที่ประสบความสำเร็จเกินคาด แถมต่อมา TICA ได้เชิญ QPO นำสินค้า OGOP มาร่วมแสดงในงาน OTOP Fair พ.ศ. 2560 และ 2561 ซึ่งบูธจากภูฏานได้รับความสนใจจากประชาชนไทยอย่างมาก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและส่งผลให้สินค้า OGOP บูมไปทั่วประเทศภูฏาน

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน OGOP ของภูฏาน ที่ได้นำมาแสดงในงาน OTOP CITY Happy Market 2018 ระหว่างวันที่ 15 – 23 ธันวาคม 2561 ณ เมืองทองธานี

สานต่อความสำเร็จ

ผลลัพธ์อันน่าชื่นใจเปิดประตูสู่การขยับขยายความร่วมมือใน ‘โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (OGOP Model II)’ ที่เข้ามาสานต่อความสำเร็จของ OGOP Model I และเพิ่มเติมเรื่องของการบูรณาการเข้ากับการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบนวัตวิถี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตสินค้า OGOP สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามแนวทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) โดยการขายสินค้าอยู่ในชุมชน ควบคู่พัฒนาชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“ที่ประเทศภูฏานมีแนวคิด ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (Gross National Happiness – GNH) เป็นแกนกำหนดกรอบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม การที่เรานำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา จำเป็นต้องมีการพูดคุยปรึกษากันพอสมควร จนท้ายที่สุดก็ได้คำตอบว่า SEP ของเราก็เปรียบเสมือนวิธีปฏิบัติที่นำทางไปสู่เป้าหมายหลัก คือสร้างความสุขมวลรวมของประเทศเขาได้เช่นเดียวกัน”

ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ตลอดจนการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวเองให้แข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก คือนัย ‘ความพอเพียง’ ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่โครงการหยิบมาใช้วิเคราะห์และออกแบบโมเดล OGOP Model II อันตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านการพัฒนาและการบริหารที่ดำเนินไปบนทางสายกลาง โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับต้นทุนท้องถิ่นด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และการรวมกลุ่มพัฒนาสินค้าที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้นสำหรับตลาดภายในประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยเชื่อมร้อยให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างสมดุล และส่งเสริมวิถีแห่งความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏาน

ความน่าสนใจของ OGOP Model II ไม่ใช่แค่เพียงการจับสินค้าที่มีมาแต่งตัวสวย แต่พยายามก้าวไปอีกขั้นด้วยการจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ่านไอเดียการแปรรูปอันหลากหลาย โดยเบื้องต้นอาจารย์วัชรพงษ์เล่าว่า ทางโครงการได้สำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพของเมือง ต้นทุน ความเข้มแข็งของชุมชนและผู้นำ จนคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายออกมาได้ทั้งหมด 6 แห่ง 

ได้แก่ ชุมชนกันเต-ปุปจิ (Gantey-Phobji) จังหวัดวังดี โพ-ดรัง (Wangdue Phodrang), ชุมชนยังเซ (Yangtse) จังหวัดทาชิ ยังเซ (Trashi Yangtse), ชุมชนดาร์กเท่น (Drakten) จังหวัดทรองซา (Trongsa), ชุมชนโคมา (Khoma) จังหวัดลุนซี (Lhuntse) โดยมีชุมชนอีซู (Uesu) จังหวัดฮา (Haa) ที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงส่งเสริม OTOP นวัตวิถี และชุมชนพัทชาลิง (Patshaling) จังหวัดชีรัง (Tsirang) ชุมชนเกษตรกรรมที่เปี่ยมพลังสามัคคีในการรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสองแห่งที่ถูกปักหมุดให้เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จาก OTOP สู่ OGOP ไทยกับภูฏานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 200 รายการให้กระจายไปทั่วโลก
จาก OTOP สู่ OGOP ไทยกับภูฏานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 200 รายการให้กระจายไปทั่วโลก
จาก OTOP สู่ OGOP ไทยกับภูฏานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 200 รายการให้กระจายไปทั่วโลก

ผลิตภัณฑ์ที่ใช่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นอุปสรรคและความท้าทาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโลก รวมถึงแผนการดำเนินงานที่จำต้องปรับมาให้น้ำหนักกับเนื้อหาการแปรรูปสินค้า OGOP และเปลี่ยนสู่รูปแบบออนไลน์ โดยทางโครงการได้รวบรวมบรรดาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของแต่ละชุมชน พร้อมมอบหมายชุมชนคัดเลือกผลผลิตเด่น เพื่อนำมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ทั้งในแง่ของรูป รส และต้นทุนที่ผลิตได้จริง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในครัวเรือน

“หลังจากนำเสนอแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ชุมชน ระดมสมอง และทดลองพัฒนาเสร็จสรรพ ทางอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะจัดกิจกรรมอบรมการแปรรูปผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งกลุ่มแรกคือวิทยากรต้นแบบ โดยวิธีคือจะค่อย ๆ ทำทุกกระบวนการไปพร้อม ๆ กัน ทางนี้เตรียมเตา ทางโน้นก็เตรียมเตา ขั้นตอนไหนรายละเอียดเยอะหน่อยก็ยกกล้องถ่ายเจาะให้ชัด วันถัดมาวิทยากรต้นแบบก็จะไปสอนชาวบ้านต่อ ทางเราก็มีหน้าที่ดูว่าเขาสอนถูกต้องไหม แล้ววันสุดท้ายทาง QPO ก็จะเข้ามาศึกษาดูงาน” อาจารย์เล่ากลั้วหัวเราะ 

“สรุปใช้เวลาเกือบ 2 เดือนกว่าจะครบทุกชุมชน เพราะในกระบวนการเราต้องให้คนภูฏานทดสอบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ทำออกมารสชาติถูกปากไหม เค็มไป หวานไป เนื้อสัมผัสแบบนี้อร่อยรึเปล่า แล้วนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นกลับมาปรับปรุงจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช่มากที่สุด”

ไม่เพียงเท่านั้น ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังมีทีมการตลาดคอยช่วยเหลือเรื่องวางกลยุทธ์การขาย ตลอดจนลงขันความคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับศักยภาพชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเสริมกำลัง (Whey Energy Drink) จากหางนม และธัญพืชอัดแท่ง (Cereal Bar) จากนม น้ำผึ้ง และธัญพืชของชุมชนอีซู จังหวัดฮา ซึ่งเกิดจากการมองเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับเหล่าคนรักสุขภาพที่มักแวะเวียนมาสัมผัสบรรยากาศเส้นทาง Snowman Run งานแข่งขันวิ่งระดับโลก

ความร่วมมือไทย-ภูฏาน ที่ต่อยอด OTOP เป็น OGOP ตามแนวคิด Bhutan Everywhere ให้สินค้าเป็นตัวแทนประเทศกระจายไปทั่วโลก
ความร่วมมือไทย-ภูฏาน ที่ต่อยอด OTOP เป็น OGOP ตามแนวคิด Bhutan Everywhere ให้สินค้าเป็นตัวแทนประเทศกระจายไปทั่วโลก

ให้แหและให้ปลา

“ผมเรียกมันว่า โครงการ Up & Run” อาจารย์วัชรพงษ์เปรยคำตอบ เมื่อถามถึงกุญแจที่ทำให้โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเสมอมา แม้ในยามสถานการณ์ไม่ปกติ “คือการจะช่วยเหลือใครสักคน เราอย่าช่วยแค่ยกเขาขึ้น แต่ต้องผลักให้เขาออกวิ่งต่อด้วยตัวเองได้ด้วย ฉะนั้น OGOP Model จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนควบคู่กัน วิธีการของเราจะไม่ใช่แค่อบรมให้ความรู้แล้วจบ แต่จะสนับสนุนทุนสำหรับนำไปตั้งต้นผลิตสินค้าขึ้นมาทดลองตลาดจริงด้วย ถ้าขายแล้วกำไรเขาก็จะได้มีทุนไปหมุนต่อ แต่ถ้าล้มเหลวปีหน้าค่อยเริ่มต้นใหม่ เพราะโครงการมีระยะเวลา 3 ปี โดยในหนึ่งปีเราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดออกมาชุมชนละ 2 ผลิตภัณฑ์”

หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย อาจารย์วัชรพงษ์ขยายว่า Up & Run คงคล้ายการสอนจับปลาที่ยื่นทั้งแหและปลาให้พร้อมกัน เพราะมองว่าทุกคนต้องมีปลากินมื้อแรกให้อิ่มท้องเสียก่อน จึงจะมีแรงออกไปเหวี่ยงแหและพลังสร้างสรรค์อนาคต ซึ่งนี่เองเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ลึก ๆ อาจารย์เชื่อมั่นว่า OGOP Model จะเป็นโครงการพัฒนาและสร้างความร่วมมืออันยั่งยืน

พัฒนาเขา พัฒนาเรา

ปัจจุบัน OGOP Model II ดำเนินการมาถึงปีที่ 2 พร้อมบ่มเพาะผลิตภัณฑ์ OGOP กว่า 24 ผลิตภัณฑ์ ในจำนวนเหล่านี้มีหลายอย่างน่าจับตามอง และบางอย่างที่อาจฟังดูเรียบง่าย แต่กลับฉายสปอตไลต์ให้เห็นศักยภาพของชุมชน อาทิ ไวน์มันฝรั่งของกันเต-ปุปจิ สบู่ชาเขียวของชุมชนดาร์กเท่น ถุงหอมจากผ้าพื้นเมือง Kishuthara ของชุมชนโคมา ลิปบาล์มจากน้ำผึ้งของชุมชนพัทชาลิง หรือ น้ำพริกและพริกทอดจากพริก Urka Ezay และกระเทียมกรอบปรุงรสของชุมชนยังเซ ที่โด่งดังจนได้รับเชิญให้ร่วมออกร้านในงานแสดงสินค้าระดับชาติ

“อย่างที่เรียนให้ฟังว่าเขาไม่เคยมีการแปรรูปสินค้าในลักษณะนี้มาก่อน พอโครงการ OGOP Model I เสร็จสิ้น มันเลยทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน ชุมชนผลิตสินค้าและรวมกันขายเป็นล็อตใหญ่ ๆ โดยในเฟสแรกสร้างรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 ล้านงุลตรัมภูฏาน (เกือบ 9 แสนบาท) ส่วนในเฟสสองล่าสุดจากการพูดคุยกับตัวแทนของชุมชนยังเซ เขาแย้มว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริกขายดีมาก ๆ และสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 5 แสนบาท นอกจากนี้เรายังได้ทราบข่าวดีว่า ทาง QPO กำลังมีแผนผลักดันให้ OGOP Model เป็นโครงการประจำจังหวัด พร้อมมอบหมายให้ทุกจังหวัดสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้และแปรรูปผลิตภัณฑ์ OGOP ด้วย”

อาจารย์วัชรพงษ์กล่าวด้วยความอิ่มเอมใจ พลางสรุปผลลัพธ์ให้ฟังว่า ณ วันนี้ทางโครงการได้ปลุกปั้นสินค้า OGOP เกือบแตะ 200 ผลิตภัณฑ์เข้าไปแล้ว โดยส่วนใหญ่วางจำหน่ายในร้าน OGOP Shop และเพิ่งจะมีให้บริการเป็นของว่างบนเครื่องบินด้วย

“กลุ่มลูกค้า OGOP ไม่ได้มีแค่นักท่องเที่ยวนะครับ แต่ชาวภูฏานเองก็นิยมหาซื้อไปเป็นของขวัญของฝาก สินค้า OGOP เลยกลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของภูฏานและตัวแทนประเทศที่ทางการมักหิ้วติดไม้ติดมือเสมอ เวลาได้รับเชิญไปร่วมงานต่างประเทศ”

เหนืออื่นใด อาจารย์วัชรพงษ์มองว่าความสำเร็จของโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลภูฏาน นักวิชาการ ชาวภูฏาน สำคัญที่สุดคือ องค์พระประมุข และสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏานที่ให้การสนับสนุนอย่างน่าปลาบปลื้ม

“โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นจะประสบความสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน ซึ่งการที่บอกว่าไทยเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูฏาน ไม่ได้หมายความว่าไทยเก่งกว่า เพราะผมเชื่อว่า ‘The more you give, the more you gain’ เราช่วยพัฒนาเขา เขาก็ช่วยพัฒนาเราเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเชิงวิชาการที่ช่วยให้นักวิชาการไทยได้พัฒนาตัวเอง ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากประสบการณ์ที่แตกต่าง และเปิดโอกาสในการก้าวสู่เวทีระดับโลกมากยิ่งขึ้น”

ความร่วมมือไทย-ภูฏาน ที่ต่อยอด OTOP เป็น OGOP ตามแนวคิด Bhutan Everywhere ให้สินค้าเป็นตัวแทนประเทศกระจายไปทั่วโลก

โครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (The One Gewog One Product (OGOP) Development Project หรือ OGOP Model I) ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 โครงการตัวอย่างที่ดีของไทยในเวทีโลกที่นำเสนอในหนังสือ “Good Practices in South-South and Triangular Cooperation for Sustainable Development (Volume 3)” ซึ่งได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 โดยสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (UN Office for South-South Cooperation: UNOSSC) 

นอกจากนี้ โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (OGOP Model II) ถือเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมของความร่วมมือใต้ – ใต้ ได้รับเลือกจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ให้นำกระเป๋าผ้าพื้นเมือง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OGOP จากชุมชนโคม่า จังหวัดลุนซี ทำเป็นของที่ระลึกเพื่อมอบให้กับผู้เข้าร่วมงาน ‘Global South-South Development Expo 2022’ หรือ ‘GSSD Expo 2022’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2565 นี้ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ  

Global South-South Development Expo (GSSD Expo) 2022 คือเวทีเดียวในโลกที่ UN ร่วมจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและทุกองค์กรภายใต้ระบบสหประชาชาติ โดยครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 11 และครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation – UNOSSC) ภายใต้หัวข้อหลัก ‘Advancing South-South and Triangular Cooperation for Sustainable COVID-19 Recovery: Towards a Smart and Resilient Future’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวในยุคหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019  ทั้งนี้ สามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้จาก https://bit.ly/3JVqZGT

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ