“เริ่มเลยมั้ยครับ” เสียงที่ปลายสายเอ่ยขึ้น
สุริยา สุขวัฒนานนท์ หรือ โจ โทรมาก่อนเวลานัด 15 นาที น้ำเสียงของหนุ่มเภสัชกรคนนี้ตื่นเต้นไม่ต่างจากตอนที่โกคู (โงกุน) ตัวเอกในการ์ตูนวัยเด็กอย่าง ดราก้อนบอล กำลังกระตือรือร้นอยากออกผจญภัย
คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อของโจมากนัก แต่ถ้าเป็นในแวดวงของผู้ที่รักและสะสมของแถมจากซองขนมเมื่อหลายสิบปีก่อน ทุกคนจะต้องรู้จัก โจ โอเดงย่า นักสะสมผู้ค้นคว้าข้อมูลของขนมโอเดงย่า ถึงขั้นมีส่วนผลักดันให้มันกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง หลังห่างหายไปจากชั้นวางกว่า 3 ทศวรรษ

‘โอเดงย่า’ หรือชื่อในวันที่กลับมาขายใหม่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอย่าง ‘โอเดนย่า’ คือขนมข้าวโพดอบกรอบในเครือเอสพีอาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี ที่วางขายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2532 นอกเหนือจากรสชาติเย้ายวน สิ่งที่ช่วยตะล่อมลูกค้าวัยเยาว์ให้เข้ามาซื้อโอเดงย่าได้สำเร็จ คือของแถมอย่างการ์ดดราก้อนบอล การ์ตูนที่มาแรงที่สุดในชั่วโมงนั้น
ตระกูลเหรียญชัยวานิช ผู้ผลิตขนมร่วมกับโรงพิมพ์อนิเมท พริ้นท์ แอนด์ ดีไซน์ เนรมิตรของแถมที่มีสไตล์ไม่เหมือนใครจนครองใจเด็กไทยยุค 90 เป็นวงกว้าง เรียกได้ว่าเด็กยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จักขนมซองเหลืองชนิดนี้ และหนึ่งคนที่คลั่งไคล้การ์ดดราก้อนบอลในวันนั้นก็คือโจ ที่กลายเป็น โจ โอเดงย่า ในเวลาต่อมา
ต่อจากนี้คือเรื่องราวของนักสะสมการ์ดผู้เปี่ยมไปด้วยความฝัน ซึ่งผมรับประกันว่าสนุกและประทับใจไม่ต่างจากการผจญภัยตามหาลูกแก้วมังกรของซง โกคู

ทักทายเพื่อนวัยเด็ก
“ชีวิตของเด็กยุค 80 – 90 มีความบันเทิงอยู่ไม่กี่อย่างหรอก เด็กยุคเราไม่ได้มีเพื่อนเป็นโทรศัพท์มือถือเหมือนกับเด็กสมัยนี้”
โจเริ่มต้นบทสนทนาจากความทรงจำวัยเด็ก ทุกเย็นหลังเลิกเรียน เด็กชายจะออกไปหาเพื่อนตามละแวกบ้านเพื่อดูการ์ตูน เล่นเกมกด ไม่ก็พากันไปซื้อขนมขบเคี้ยว ซึ่งสิ่งที่ล่อตาล่อใจก๊วนเด็กหญิงชายในยุคนั้นก็หนีไม่พ้นของแถมก้นซอง ที่มีตั้งแต่ไพ่ สติกเกอร์ ไปจนถึงการ์ดลวดลายต่างๆ

“ช่วงนั้นเราเริ่มเบื่อขนมกระแสหลัก อยากหาขนมแปลกๆ กินบ้าง ก็เลยได้เจอกับขนมที่ชื่อว่า บิสโก้ แปลกจัง ไม่เคยเห็นเลย เป็นทรงกลมๆ เขียนว่ารสซีฟู้ด ตอนเด็กเราก็ไม่รู้จักหรอกว่าซีฟู้ดคืออะไร เห็นเป็นรูปปลาหมึก ก็เดาว่า โอเค คงเป็นรสปลาหมึกล่ะมั้ง”
นั่นคือครั้งแรกที่โจในวัยประถมได้รู้จักกับขนมโอเดงย่า ที่ในตอนนั้นใช้ชื่อว่าบิสโก้ เด็กน้อยซื้อขนมซองเหลืองมาลองกินโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภายในมีของแถม ทันทีที่แกะห่อ โจจึงได้พบกับขนมทรงกลม น่ารับประทาน ทั้งยังเจอกระดาษสีดำ ขอบทอง เมื่อพลิกอีกด้านก็ได้พบกับภาพตัวละครที่คุ้นเคย

“พอพลิกมาด้านหลังปรากฏว่าเป็นรูป เถาไปไป หนึ่งในตัวร้ายของ ดราก้อนบอล ช่วงนั้น ช่องเก้าการ์ตูน ฉายอยู่พอดี ก็เลยรู้ว่า อ๋อ ขนมนี้แถมการ์ดดราก้อนบอลนี่หว่า เป็นการ์ดใบใหญ่ด้วย ตั้งแต่นั้นมาเราก็เลยซื้อกินและเก็บของแถมมาตลอด เก็บไว้ในกล่องคุกกี้อาร์เซนอล”
ความนิยมของขนมทรงกลมรสซีฟู้ดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความหลงใหลของโจที่มีต่อการ์ด หลังรู้จักบิสโก้ได้ไม่นาน ผู้ผลิตก็มีการพัฒนารสชาติให้ดีขึ้น จากที่ชื่อบิสโก้ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโอเดงย่า พร้อมปรับราคาขึ้นเป็นซองละ 5 บาท จากเดิมที่แถมการ์ดหนึ่งใบ ก็กลายเป็น 2 และ 3 ใบตามลำดับ ทั้งยังนำเข้ากระดาษจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อผลิตเป็นการ์ดพิเศษที่มีลายเลเซอร์ให้เด็กไทยได้ลองเล่น
“การ์ดมักจะออกรุ่นใหม่ทุกสองหรือสามเดือน เด็กๆ ก็จะเฝ้ารออย่างตื่นเต้น เฮ้ย มีการ์ดแบบใหม่แล้ว ซึ่งรูปในการ์ดก็จะเหมือนกับในการ์ตูนที่ออกฉาย บางครั้งการ์ดทำแซงหน้าการ์ตูนไปก็มีเหมือนกัน ตอนนั้นเราไม่รู้จักคำว่าสะสมหรอก ซื้อมาก็เล่นไป ทำขาดทำหายกับเพื่อนที่โรงเรียน ทั้งเขี่ย ตบ เป่า และวัดพลังใส่กัน เป็นเด็กเนอะ ของเล่นก็มีไว้เล่น ไม่ได้มีไว้สะสม”

โจเล่าอย่างออกรส ทำนองที่ว่า ‘สนุกจนหยุดไม่ได้’ แต่สิ่งที่ต้อง ‘หยุด’ อย่างน่าเสียดายคือ วัยเด็ก ช่วงชีวิตที่หลายคนคิดถึง แต่ไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้
“เราเก็บโอเดงย่าจนถึง ม.3 พอเข้า ม.ปลาย ความสนใจของเราก็เปลี่ยน หันมาเล่นกีฬา เล่นดนตรี เที่ยวกับเพื่อน ตั้งใจเรียนมากขึ้น แม่บอกว่าเลิกกินขนมของเด็กได้แล้ว สุดท้ายเราก็เลยเลิกไป”
และแล้ว การเติบโตก็บีบบังคับให้โจต้องนำเพื่อนวัยเด็กเก็บซ่อนไว้ในลิ้นชัก
ขุดคุ้ยความทรงจำ
“ตอนเข้าเรียนมหาลัย วันนั้นเราไปเดินหาซื้อของจิปาถะเข้าหอ พอดีเดินผ่านชั้นวางขนม จึงได้บังเอิญเจอโอเดงย่าอีกครั้ง ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนได้เจอเพื่อนเก่า”
แม้ได้ยินแค่เสียง เราก็มันใจว่า แววตาของชายที่ปลายสายต้องกำลังเปล่งประกายเป็นแน่
ลิ้นชักแห่งความทรงจำเปิดออก โจที่กำลังเรียนคณะเภสัชศาสตร์กลับมาซื้อขนมโอเดงย่าอีกครั้ง แม้ในวัยนี้จะเอาการ์ดไปเล่นวัดค่าพลังกับเพื่อนไม่ได้อีกแล้ว แต่เขาก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าน่าจะมีคนที่เก็บสะสมการ์ดเหล่านี้ซุกซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง
“อยู่มาวันหนึ่งก็รู้สึกเบื่อ เราเริ่มคิดว่าชีวิตไม่ควรเป็นแค่วัฏจักรที่เกิดมา เรียน ทำงาน หาเงิน เกษียณ แล้วก็ตายไป ถ้าเป็นแบบนั้น ชีวิตก็คงไร้สาระมาก เราเลยตามหาว่ามีอะไรที่อยากทำบ้างรึเปล่า แล้วยิ่งยุคนี้มีอินเทอร์เน็ต เราก็เลยลองค้นหาข้อมูลเกมการ์ดสมัยเด็ก จนได้เจอกลุ่มคนที่สะสมการ์ดโอเดงย่าเหมือนกัน เราถามเขาว่า ถ้าอยากหาเพิ่มต้องหาจากไหน จากนั้นเราก็ซื้อมาสะสมเรื่อยๆ ถึงขั้นได้เป็นแอดมินกลุ่มนักสะสมโอเดงย่าในเฟซบุ๊ก”
ราวกับว่าเภสัชกรโจได้ค้นพบความฝันวันวาน ในวัยทำงาน มีครอบครัว เขาได้เจอของสะสมและกลุ่มเพื่อนที่รักในสิ่งเดียวกัน หากเป็นใน ดราก้อนบอล ก็คงไม่ต่างจากตอนที่โกคูได้เจอลูกแก้วมังกรที่หายไปอีกครั้งหนึ่ง
“สมาชิกในกลุ่มค่อยๆ มากขึ้น กลายเป็นสังคมของคนที่มีความฝันใกล้เคียงกัน ทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้ว การ์ดโอเดงย่าไม่เคยหายไปไหน มันแค่ซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ชั้นหนังสือบ้าง ตู้เก็บของบ้าง หรือบางคนก็อาจจะเอาไปขายเพื่อนำเงินไปเติมเต็มความฝันอย่างอื่น ซื้อนั่นซื้อนี่ ไม่ก็ให้ลูกเมีย”

ที่มาสำคัญกว่าการสะสม
หลังกลับมาอินกับโอเดงย่าอีกครั้ง โจก็ทุ่มเทพลังไปกับการรวบรวมการ์ดให้ได้มากที่สุด ซื้อใบนั้น ประมูลใบนี้ จนถึงจุดหนึ่งที่ชายหนุ่มกลับมาตั้งคำถามถึงเป้าหมายในการสะสมของตัวเอง
“หลังจากที่หน้ามืดตะบี้ตะบันซื้อ ประมูลแบบเอาเป็นเอาตาย วันหนึ่งก็มีคนเตือนสติว่า ของเล่นถ้าไม่สนุกก็ไม่ควรเล่น เราเลยได้สติว่า จริงๆ แล้วการได้หรือไม่ได้การ์ดไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดนั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือการได้เป็นเพื่อนกับคนที่สะสมของเล่นเหล่านี้ต่างหาก เหมือนที่เขาบอกว่า ‘เพื่อนเล่นสำคัญพอๆ กับของเล่น’ ทำให้พอถึงจุดหนึ่ง เราอยากพูดคุยและเรียนรู้ที่มาที่ไปของการ์ด มากกว่าอยากจะครอบครองมันไว้เยอะๆ”

ปัจจุบัน โจรวบรวมการ์ดโอเดงย่าไว้กว่าพันใบ โดยแบ่งออกเป็นการ์ดหลัก 1,300 ใบ จากที่ผลิตออกมาทั้งหมดราว 1,400 รูปแบบ และมีการ์ดเลเซอร์ 89 จาก 183 แบบ อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ต้องการสะสมการ์ดให้ครบอีกต่อไปแล้ว เพราะสำหรับโจในวันนี้ สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า คือเรื่องราวที่อยู่หลังการ์ดแต่ละใบ สิ่งสำคัญของโอเดงย่าไม่ใช่จำนวน แต่เป็นเส้นทางกว่าจะมาเป็นการ์ด
“เราสืบค้นข้อมูลต่างๆ เจอนักสะสมมากหน้าหลายตา เจอทีมงานรุ่นเก่าที่ผลิตการ์ดตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว เราได้สอบถามที่มาและพัฒนาการของการ์ดแต่ละรุ่น จนได้รู้ขั้นตอนการทำการ์ด ระบบออฟเซ็ตสี่สี เคลือบเงา กันยูวี กันน้ำ ที่ช่วยให้การ์ดเหล่านี้ข้ามกาลเวลามาได้ถึงปัจจุบัน พอได้รู้ เราก็เริ่มจัดทำเป็นฐานข้อมูลให้คนเข้าถึงได้ ทุกคนจะได้รู้ว่าการ์ดโอเดงย่ามีรุ่นไหนบ้าง ขนาดเท่าไหร่ ใบไหนหายาก” ที่มักจะแวะไปกินถั่วเซียนเพื่อเติมพลังงานให้พร้อมสำหรับการเดินทางครั้งใหม่
โจขอพักดื่มน้ำครู่หนึ่ง เราอดไม่ได้ที่จะนึกถึงการพักผ่อนของโกคูหลังผ่านการต่อสู้อันดุเดือดที่มักจะแวะไปกินถั่วเซียนเพื่อเติมพลังงานให้พร้อมสำหรับการเดินทางครั้งใหม่
ชั่วอึดใจ โจก็กลับมาด้วยพลังงานเต็มเปี่ยม พร้อมเล่าให้เราฟังถึงการ์ด 5 ใบที่เขาภูมิใจนำเสนอ
01 โกคูกับฟรีเซอร์

“การ์ดโอเดงย่าบางใบไม่ได้เอาต้นแบบมาจากญี่ปุ่นนะ แต่เป็นคนไทยวาดเอง อย่างใบนี้ คนวาดคืออาจารย์วุฒิ ทับทองดี กับทีมงานที่วาดภาพในนิตยสาร ทีวี แมกกาซีน ยุคนั้น ใบนี้เขาวาดและวางองค์ประกอบต่างๆ ดีมาก เป็นใบที่สวยที่สุดแล้วสำหรับเรา
“ภาพนี้สื่อว่าทุกคนล้วนมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ทำอะไรตามความเชื่อของตัวเองเสมอ เหมือนกับภายในตัวเราทุกคนที่มีการต่อสู้ระหว่างความดีและความเลวอยู่ตลอด โกคูคือตัวแทนของความดี ใสซื่อ ไร้เดียงสา ฟรีเซอร์คือตัวแทนของความโลภ ผู้จ้องจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ความหมายดี อาร์ตก็สวย”
02 บีเดล

“เป็นใบธรรมดาที่ซื้อแพงที่สุดแล้ว ใบละพัน หายากมาก ยากจริงๆ ตั้งแต่สะสมมาเพิ่งเห็นแค่สี่ใบในประเทศ ของเราเป็นใบที่สามที่โผล่เข้ามาในวงการ ตอนแรกไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีใบนี้ แต่พอมีนักสะสมคนหนึ่งหาได้ ก็เท่ากับว่ามีใบนี้อยู่จริงๆ ทุกคนถึงกับอึ้ง ตอนแรกที่คิดว่ามีครบก็กลายเป็นไม่ครบซะงั้น
“ใบนี้ทำให้เห็นถึงความสนุกของการสะสม เห็นมั้ยว่าแม้จะเป็นของเก่า แต่ยิ่งเราสืบค้นและตามหาเรื่อยๆ ก็จะมีข้อมูลใหม่มาหักล้างข้อมูลเดิมเสมอ สนุกมากๆ”
03 Big Card โกคูซูเปอร์ไซย่า

“ใบนี้ราคาสามพัน เป็นใบที่เราซื้อมาแพงที่สุด แต่โอเดงย่าที่เป็น Big Card ส่วนมากก็ราคาประมาณนี้แหละ เราว่าอาร์ตสวย แสงเงาในภาพมีเอกลักษณ์แตกต่างจากใบอื่น”
04 V.I.P การ์ด

“V.I.P เป็นการ์ดที่นำไปแลกเป็นการ์ดใบอื่นได้สิบใบ ในการ์ด V.I.P จะเห็นเป็นรูปการ์ดใบเล็กๆ ที่มีรอยกากบาท ใบนี้น่าจะเป็นของเด็กสักคนที่กาเลือกการ์ดไว้ แต่ไม่ได้ส่งไปแลก คือสมัยก่อน ถ้าได้ใบนี้ เราต้องเลือกติ๊กการ์ดที่ชอบสิบใบ แล้วนำใบนี้ส่งจดหมายกลับไปที่บริษัทผู้ผลิต จากนั้นเขาก็จะส่งสิบใบที่เราเลือกกลับมาที่บ้าน แต่ปัญหาคือการเขียนจดหมายเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กยุคนั้น ครูที่โรงเรียนจะสอนว่าต้องมีย่อหน้า เว้นวรรค ติดแสตมป์ วุ่นวายไปหมด สุดท้ายเด็กคนนั้นก็เลยไม่ได้ส่งการ์ด V.I.P ไป
“หลายคนอาจจะเลือกเก็บการ์ด V.I.P สวยๆ ที่ไม่มีรอยกากบาท แต่เราเลือกใบนี้เพราะอยากเก็บความทรงจำเอาไว้ เด็กคนนี้ก็เหมือนเราในวันนั้น เราก็เคยเป็นเด็กน้อยที่กากบาทไว้แล้ว แต่ไม่มีโอกาสส่งจดหมายไปเหมือนกัน”
05 โกคูกับโกฮัง

“ใบที่เป็นโกคูกับลูกก็ดีนะ เราชอบเพราะเราเองก็มีลูกเหมือนกัน ก็รู้สึกรักและผูกพันกันมากๆ ที่สำคัญคือนี่เป็นการ์ดที่ให้อารมณ์สบายๆ แบบที่เราไม่ค่อยได้เจอในการ์ดโอเดงย่าใบอื่น ปกติการ์ดโอเดงย่ามักจะจับภาพการต่อสู้หรือการปล่อยพลังต่างๆ แต่ใบนี้เป็นแค่ตัวเอกกับลูกยืนแอ็คท่า ก็ดูน่ารักไปอีกแบบ”
จากนักสะสมสู่คนส่งเสริม
ใครจะคิดว่าขนมที่เคยฮิตเมื่อ 30 ปีที่แล้วจะกลับมาวางขายเป็นแนวบนชั้นวางขนมอีกครั้ง และครั้งนี้ ขนมซองเหลืองก็ไม่พลาดแนบการ์ดดราก้อนบอลเป็นของแถมให้แฟนคลับหายคิดถึง โดยหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคัมแบ็กสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก โจ โอเดงย่า
“ช่วงที่กลับมาสะสมก็บังเอิญได้มารู้จักกับ คุณพลรพี เหรียญชัยวานิช ลูกชายเจ้าของขนมโอเดงย่า เราไปประมูลการ์ดจากเขา แม้สุดท้ายจะประมูลแพ้ คนอื่นได้การ์ดไป แต่อย่างน้อยเราได้เพื่อนกลับมา”
การ์ด 16 ใบนั้นวันนั้นปิดประมูลไปที่ราคา 55,555 บาท แต่แทนที่จะได้การ์ด โจกลับได้สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าเป็นรางวัลปลอบใจ หลังจากที่เขาและลูกชายบริษัท เอสพีอาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี ได้พูดคุยกัน เพื่อนในวัยเด็กที่จากไปกว่า 30 ปีก็กลับมา
“เราถามเขาเล่นๆ ว่า บ้านนายทำโรงงานขนมไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่คิดจะเอาโอเดงย่ากลับมาทำล่ะ หลังจากนั้นก็โยนหินถามทางในเพจที่เราเป็นแอดมินว่า ถ้าโอเดงย่ากลับมาจะอยากซื้อกันมั้ย ก็มีหลายคนบอกว่าคิดถึง อยากกิน จากนั้นเราก็คอยโยนคอนเซ็ปต์ เสนอการออกแบบต่างๆ ให้เขาตลอด ต่อให้สุดท้ายไอเดียของเราจะโดนตีตกไป ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ความคิดเน่าตายคาสมองเรา ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า โยนไอเดียกันอยู่สองสามปี ในที่สุดก็มีขนมกลับมาวางขายจริงๆ”
โจเล่าแผนการที่ต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน เพื่อนำโอเดงย่ากลับมาขายอีกครั้ง น้ำเสียงอันเต็มไปด้วยแพสชันบอกพลรพีแห่ง เอสพีอาร์ ฟู๊ดว่า ห้ามนำการ์ดลายเดิมมาทำเป็นของแถมเด็ดขาด เพราะท่าไม้ตายในการ์ตูนใช้ได้แค่ครั้งเดียวฉันใด การตลาดที่ลูกค้าเคยเห็นแล้วก็ได้ผลแค่ครั้งเดียวฉันนั้น และสองเพื่อนผู้รักขนมทรงกลมก็เห็นตรงกันว่า ความสนุกของผู้บริโภคต้องมาเป็นอันดับแรก
“ถ้าเน้นเงินน่ะ ธุรกิจก็คงอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าเน้นความสนุก ธุรกิจจะกลายเป็นตำนาน” โจสรุป


การกลับมาของเพื่อนวัยเด็ก
หลังผ่านไปกว่า 30 ปี ขนมเจ้าของสโลแกน ‘อร่อยดี มีของแถม’ ก็กลับวางขายอีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และกระแสตอบรับก็ดีเกินคาด ปริมาณขนมที่บริษัทตั้งใจจะวางจำหน่ายจนถึงปลายปีถูกกวาดหมดเกลี้ยงภายในหนึ่งวัน และปัจจุบันก็มีคนพร้อมซื้อการ์ดบางใบในราคาทะลุหลักแสน ดูเหมือนว่าการรีแบรนด์ของโอเดงย่าจะมีอนาคตอันสดใสรออยู่
“ในวันนี้ กลุ่มลูกค้าที่ซื้อขนมพวกนี้ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีกำลังซื้อไม่อั้นเพราะอยู่ในวัยทำงาน ทุกคนอยากเติมต่อความฝัน อยากเป็นตำนานแบบที่เคยอยากเป็นตอนเด็ก บางคนซื้อกันเป็นลังหรืออาจจะหลายลัง เป็นที่มาว่าทำไมของถึงขาดตลาด เพราะคนที่คิดถึงไม่ได้ซื้อกันแค่ซองเดียว”
รู้สึกยังไงในวันที่เห็นเพื่อนในวัยเด็กกลับมาอีกครั้ง-เราถาม
โจหัวเราะแล้วตอบว่า
“เหมือนปาฏิหาริย์เลยนะ คนสองคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ลองคุยกันเล่นๆ ทางเมสเซนเจอร์ จนสุดท้ายทำให้โอเดงย่ากลับมาได้ ลำพังพี่คนเดียวก็ทำไม่ได้หรอก เพราะพี่ไม่ใช่เจ้าของ และลำพังเขาคนเดียวก็คงไม่มั่นใจว่าแบรนด์ที่หายไปสามสิบปีจะรีแบรนด์ได้ แต่วันนี้ พอได้เห็นโอเดงย่ากลับมา แค่นี้ก็ชื่นใจแล้ว”
นี่คือเรื่องราวของ โจ โอเดงย่า จากเภสัชกรที่ทำงานโดยตามหาคุณค่าของชีวิต สู่นักสะสมของเล่นจากซองขนมวัยเด็ก ก่อนจะกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมผลักดันให้แบรนด์ขนมที่หลายคนคิดถึงได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
เชื่อเหลือเกินว่า การเดินทางของนักสะสมสมและขนมโอเดงย่าจะดำเนินต่อไป…
ภาพ : โจ โอเดงย่า