นอกจากยุค New Normal ทำเอาเทรนด์เรื่องบ้านและที่อยู่อาศัยพลิกผัน เพราะคนหันออกนอกเมืองใหญ่เพื่อลดความแออัด แล้วก็ต้องสร้างให้ยืดหยุ่นทั้งที่อยู่และที่ทำงานได้ครบทุกฟังก์ชัน
อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่กำลังเข้ามาพลิกการพัฒนาวงการอสังหาฯ ซึ่งมองข้ามไปไม่ได้เลย ก็คือการปรับตัวเพื่อรับกับ Climate Change
ความน่าพรั่นพรึงนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด ขนาดในรายงานของ United Nations ยังกล่าวเอาไว้ว่า พื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ จมลงประมาณ 2 เซนติเมตรทุกปี ในขณะที่ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้น มหาสมุทรก็กำลังถูกคุกคามจากการรุกล้ำถมที่ดิน แถมการเพิ่มขึ้นของประชากร การเติบโตของระบบอุตสาหกรรม และหลายกิจกรรมของมนุษย์ ก็เป็นตัวเร่งชั้นเยี่ยมที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือเกิดมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่
ไม่อยากคิดภาพ ถ้าสักวันโลกเราจะเต็มไปด้วยน้ำ เหมือนหนังเรื่อง Waterworld หรือ The Day After Tomorrow
แต่อย่าเพิ่งวิตกกันเกิดเหตุ ถ้าเราต้องรับมือกับหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจริง ๆ ก็มีแผนสำรองเอาไว้รองรับเพื่ออยู่กับภัยพิบัติ และนี่คือที่มาของ ‘Oceanix City’ ไอเดียเมืองลอยน้ำสุดเจ๋งในประเทศเกาหลีใต้
ย้อนกลับไปสักนิด ถามว่ามีคนเคยคิดอยากทำเมืองลอยน้ำมาก่อนไหม คำตอบคือมี!

เมืองลอยน้ำเป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของยูโทเปียมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษ 1960 เมื่อสถาปนิกนาม Buckminster Fuller ออกแบบแผนการสร้างเมืองที่มีอพาร์ตเมนต์แสนยูนิตลอยน้ำได้ในอ่าวโตเกียวเพื่อรับมือภัยพิบัติ แต่กลับไม่เคยได้สร้างจริง หรือในปี 1999 นักธุรกิจหนุ่ม Howard Turney ถึงขั้นออกค้นหาประเทศเกาะใหม่ชายฝั่งทะเลแคริบเบียน คิดโปรเจกต์สร้างประเทศจำลองลอยทะเลในนาม New Utopia เพื่อการณ์นี้ แต่ยังไม่ผลว่าแล้วเสร็จจะหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากในยุคนี้จะมีเกาะหกเหลี่ยมรูปทรงเหมือนดอกไม้กลางน้ำเกิดขึ้นเพื่อกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ Oceanix, สถาบัน MIT, Explorers Club และได้รับการสนับสนุนจาก UN-Habitat ตั้งแต่ปี 2019 สำหรับสร้างพื้นที่ขนาดเกือบ 500 ไร่บนผิวน้ำ ให้รองรับลูกบ้านนับหมื่นคนหรือราว 300 ครัวเรือน และมีทุกสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเตรียมการไว้

โดยเมืองลอยน้ำต้นแบบแห่งแรกในโลกนี้จะสร้างขึ้นที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยความเป็นท่าเรือที่ 5 ของโลก เมืองท่าสำคัญที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และยังเป็นศูนย์กลางการเดินเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของศตวรรษที่ 21 แถมในอีกแง่หนึ่ง ชายฝั่งบริเวณนี้ก็มีความเสี่ยงต่อผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และได้รับความเสียหายจากอุทกภัยมากกว่าที่อื่นในเกาหลีใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ของเมืองที่อยากสร้างถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ Floating City จึงเกิดขึ้น
แน่นอนว่ามีคำถามมากมายเกิดขึ้น อย่างข้อแรก ทำเมืองลอยได้ แบบนี้น้ำไม่พัดลอยไปเรื่อยเลยหรือยังไง

นักออกแบบของบริษัท BIG ที่ร่วมในโครงการนี้อธิบายเอาไว้ว่า เมืองนี้จะไม่ลอยไปไหน เพราะยึดเกาะกับพื้นทะเลด้วย Biorock (ไบโอร็อก) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สร้างแนวปะการังเทียมอยู่แล้ว และไม่สร้างผลกระทบกับเจ้าสัตว์ทะเลใต้น้ำด้วยนะ
แล้วเราจะกินอยู่กันยังไงถ้าตัดขาดกับพื้นดิน


เมืองนี้จะพึ่งตัวเองได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เรื่องน้ำดื่มก็ไม่ต้องห่วง เพราะจะผ่านกระบวนการดึงความชื้นจากอากาศ แยกเกลือออกจากน้ำทะเล จนถึงเก็บน้ำฝนเอาไว้ ซึ่งเท่านี้ก็เพียงพอให้ดื่มได้ ส่วนอาหาร ก็เก็บเกี่ยวจากพืชไร้ดินในฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ลอยน้ำที่สร้างไว้ รวมถึงเพาะเลี้ยงสัตว์อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลาจากใต้น้ำ โดยไม่รบกวนระบบนิเวศทางทะเล แล้วก็ยังมีแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าเอาไว้ใช้งาน
ที่สำคัญ โครงการนี้ออกแบบมาให้ทนทานต่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูง พายุเฮอริเคน และภัยธรรมชาติด้วย โดยใช้วัสดุจากท้องถิ่นสำหรับการก่อสร้างอาคาร รวมถึงไม้ไผ่ที่ต้านทานแรงดึงมากกว่าเหล็กถึง 6 เท่า ซึ่งช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์และลดต้นทุนไปได้มาก

นอกจากอยู่ได้ ที่นี่ยังออกแบบให้มีความยั่งยืนด้วย Zero Waste เช่น เศษอาหารจะถูกแปลงเป็นพลังงานและปุ๋ยหมักในสวนชุมชน ไม่มีการใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ จะได้รับการบำบัดในบ่อสาหร่าย

คาดว่าเมืองนี้จะสร้างเสร็จในปี 2025 และแน่นอนว่าแค่เมืองลอยน้ำอย่างเดียว คงเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้

ระหว่างที่รอ อาจถึงเวลาของพวกเราที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมก็ได้นะ
ขอบคุณภาพและข้อมูลอ้างอิง