ครั้งหนึ่ง อาจารย์หมอผู้รักษาสายตาที่สั้นกว่า 1400 ของผู้เขียน ได้กล่าวสั้นๆ ในวันที่ตรวจสุขภาพตาประจำปีว่า แทนที่จะผ่าตัดใส่เลนส์ถาวรหรือทำเลสิก…

วิธีรักษาสายตาที่ดีที่สุดก็คือ ใส่แว่นตา

ถ้ารู้เร็วกว่านี้สักนิด ผู้เขียนต้องแจ้งเกิดในชมรมคนรักสาวแว่นนี้แน่ๆ  

สำหรับคนที่ใส่แว่นตามากว่าครึ่งชีวิต อยู่ร่วมเทรนด์แว่นตาสี่เหลี่ยมนักเรียนห้องคิง เทรนด์แว่นตาทรงกลมแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เทรนด์แว่นตาไร้ขอบ เทรนด์แว่นตากรอบพลาสติก เทรนด์แว่นสายตา Rayban อยู่กับเลนส์สายตา มาตั้งแต่ยังเป็นกระจกหนา กระจกย่อบาง พลาสติกหนา พลาสติกย่อบาง จนดั้งที่ควรสวยโด่งต้องมายืนสงบเสงี่ยมเจียมตัวเพราะแบกน้ำหนักเลนส์คู่หนาและแป้นวางจนหน้าเป็นรอย

เรายินดีแนะนำให้คุณรู้จักร้านแว่นตาที่เข้าใจคนใส่แว่นตามากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา

กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)

ตลอดการสนทนากับ กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA) ของศูนย์แว่นตาและเลนส์เฉพาะบุคคลแบบครบวงจรแห่งนี้ เราพบว่า นอกจากแนวคิดทางธุรกิจที่ทำลายทุกกฎของการเป็นร้านแว่นตา ทั้งทำเลร้านที่อยู่ในตำแหน่งลึกลับ แว่นตาจำนวนมากที่ให้หยิบลองได้อย่างไม่หวง จนกว่าคุณจะพบแว่นตาที่ใส่แล้วมั่นใจ  จุดแข็งเรื่องการบริการที่ทำให้ผู้ใช้แว่นตารู้จักสายตาของตัวเองจริงๆ รวมถึงรายละเอียดความใส่ใจต่างๆ ที่คนใช้แว่นตาตามหามานานแล้ว

โอคูระยังเป็นตัวอย่างของธุรกิจใหม่ที่คิดมากกว่าการทำธุรกิจ นั่นคือเป็นร้านที่นำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่คนใช้แว่นตามักประสบพบเจอ

“เรื่องของร้านแว่นตาโอคูระไม่ใช่เรื่องใหม่ เราแค่เจอพื้นที่ที่พอดีกับตัวเอง” กันต์ย้ำเรื่องนี้กับเราซ้ำๆ เมื่อเราชวนเขาคุยปัจจัยที่ทำให้โอคูระเป็นที่รักของลูกค้า เกิดกระแสปากต่อปาก จนแทบไม่เสียเงินทำการตลาดแม้จะเป็น ร้านน้องใหม่ในวงการ

ก่อนจะพุ่งตัวไปที่ร้านย่านพระราม 9 มาฟังวิธีคิดเบื้องหลังโอคูระ ร้านแว่นตาที่รู้ใจคนใช้แว่นตาด้วยกัน

เพื่อความคมชัด กรุณานั่งเก้าอี้ตัวตรง หลังชิดพนักและปล่อยตาตามสบาย

OCCURA, ร้านแว่นตา

ทายาทรุ่นสองแบรนด์แว่นตาเก่าแก่ กับโจทย์การรีแบรนด์ซึ่งจุดประกายการสร้างร้านแว่นตาที่เข้าใจคนใส่แว่นตา

“ก่อนจะมาเป็นร้านโอคูระ เราเริ่มจากเข้ามาช่วยครอบครัวรีแบรนด์แว่นตา Guilchy (กิลชี่) แบรนด์แว่นตาที่ดังมากๆ ในยุค 90 เพราะมาพร้อมคลิปออนเก๋ไก๋ เพื่อทำให้ร่วมสมัยและมีฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับคนไทยมากขึ้น จากนั้นต่อยอดด้วยการสร้างแบรนด์ลูกที่ชื่อ Contem (คอนเทม) และ Re_Dux (รีดักซ์) ซึ่งพอดีเป็นยุคที่แบรนด์แว่นตาจากต่างประเทศส่วนใหญ่เริ่มเข้ามาทำการตลาดเองมากขึ้น ไม่ผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทย

“จึงทำให้แบรนด์เล็กๆ อย่างเราที่จัดจำหน่ายเองไม่ได้ผ่านตัวแทนที่ช่วยทำการตลาด ร้านมักจะบอกเราว่า ลูกค้าไม่รู้หรอกว่าแว่นตาของเราทำมาจากวัสดุคุณภาพดีหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นแบรนด์นอกคนถึงจะคิดว่ามีคุณภาพ จนกระทั่งเรามีโอกาสไปออกร้านในงาน Beauty and the Biz ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย แล้วมีคนเดินเข้ามาให้ความสนใจมากเพราะสัมผัสได้ว่าวัสดุที่เราใช้คุณภาพดีและราคาไม่แพง ทำให้เราเริ่มคิดถึงการมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง” กันต์เล่าที่มาของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจขายส่งแว่นตาของครอบครัวให้มาเป็นร้าน OCCURA

กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)
กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)

อดีตนักการเงินผู้สนุกกับการเรียนแฟชั่นและการอ่านตำราฟิสิกส์ของนักทัศนมาตร

เมื่อตัดสินใจว่าจะทำร้านแว่นตาแฟชั่นคุณภาพ

อดีตนักการเงินจึงตั้งใจเข้าห้องเรียนสอนศิลปะ แฟชั่น และการออกแบบ ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อนำความรู้ไปใช้คัดสรรแบรนด์แว่นตาคุณภาพดีจากทั่วโลกมานำเสนอ

“การมาจากฝั่งการเงินทำให้เราอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนวงการแฟชั่น อะไรทำให้แบรนด์ดังๆ ขายของในราคาสูงได้ หรือทำไมสินค้าต้องมีซีซั่นคอลเลกชัน เราหาคำตอบเพื่อเข้าใจสิ่งที่นักออกแบบคิดเพื่อจะได้สื่อสารสิ่งที่เรามองเห็น” กันต์เล่า ก่อนจะเสริมว่าความสำคัญของการเลือกแว่นจากวัสดุที่ดีและเหมาะสม

“โดยเฉพาะสำหรับคนใช้แว่นตาในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก ไม่เหมาะกับแว่นตาที่ทำมาจากโลหะทั่วไป เพราะโลหะจะทำปฏิกิริยากับเหงื่อ แนะนำให้เลือกแว่นที่ผลิตจากไทเทเนี่ยมเคลือบทองซึ่งจะไม่ทำปฏิกิริยากับเหงื่อ หรือรุ่นที่เคลือบด้วยแก้วที่จะเงาขึ้นเรื่อยๆเมื่อใช้งาน อย่างแว่นตาของแบรนด์ญี่ปุ่น จะใช้วัสดุที่ดี มีขนาด น้ำหนักและสัดส่วนที่เหมาะสมกับคนเอเชีย”

กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)

เพราะหัวใจของแว่นตา ไม่ได้อยู่ที่กรอบที่สวยงาม แต่คือเลนส์ที่เป็นตัวช่วยแก้ไขปัญหาสายตาของผู้สวมใส่ ซึ่งไม่ได้มีแต่ระยะมองใกล้-ไกล แต่เต็มไปด้วยทฤษฎีที่พัฒนาและต่อยอดได้ตลอดเวลา

หลังจบวิชาออกแบบ ศาสตร์ที่กันต์สนใจ คือ วิชาทัศนมาตร 

“ดวงตาของคนเรามีกล้ามเนื้อสายตาที่คอยปรับค่าความชัดหรือออโต้โฟกัส แต่เมื่อคนเราเข้าสู่อายุ 40 ปี กล้ามเนื้อสายตาจะเริ่มอ่อนแรง โฟกัสเริ่มไม่ค่อยดี มองใกล้ไม่ชัดและมองไกลก็ไม่คม จึงมีเลนส์ที่เรียกว่า เลนส์โปรเกรสซีฟ ช่วยทำให้โฟกัสปรับมองไกล มองกลาง มองใกล้ ได้ในเลนส์เดียว และเนื่องจากเลนส์ซ้อนค่าสายตาหลายๆ ค่าเข้าไป และมีความละเอียดอ่อน จึงต้องมีการบริการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าได้เลนส์ที่เหมาะสมไปอย่างแท้จริง” เมื่อศึกษาด้วยตัวเองทั้งหมด กันต์พบว่าเขาอยากจัดเรียงข้อมูลของเลนส์สายตาที่ทุกบริษัทต่างบอกว่าของตัวเองดีที่สุด เพื่อช่วยลูกค้าทำความเข้าใจและเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับสายตา

วิธีการศึกษาเรื่องเลนส์ของกันต์สนุกมาก

เขาเริ่มจากการอ่านสิทธิบัตร (patent) การคิดค้นเลนส์และเทคโนโลยีเลนส์แบบต่างๆ ซึ่งหาได้ในเว็บไซต์

“เป็นข้อมูลวิจัยที่มีค่าสูตรฟิสิกส์และการคำนวณแคลคูลัสมากมายเต็มไปหมด ทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลของเลนส์ ตอนนั้นเป้าหมายในใจเปลี่ยนไปแล้ว จากที่เคยคิดว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าได้ใช้ของคุณภาพดีในราคาที่เป็นมิตรที่สุด เราคิดว่าทำยังไงให้ลูกค้ามีค่าสายตาที่มองเห็นชัดและสบายตาที่สุดในงบค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม” กันต์ยิ้ม

กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)
กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)

รายละเอียดเล็กๆ ที่เป็นเรื่องเล็กของคนทั่วไป แต่เป็นเรื่องใหญ่ของคนใส่แว่น

คนมาร้านแว่นตาเพราะต้องการแว่นตาที่ใส่สบาย มองเห็นชัด ดูดีเหมาะกับบุคลิก และมีบริการหลังการขายที่ดี ไม่มีอะไรซับซ้อน

แต่ในความเรียบง่ายนั้นมีความยากอยู่

อะไรคือนิยามของคำว่า แว่นตาที่ดี คมชัด ใส่สบาย และสวยดูดี

“ก่อนจะเรียนทัศนมาตร เราไม่เคยรู้ถึงโรคและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อค่าสายตาของคน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสิ่งที่ลูกค้าต้องการคือแว่นที่ทำให้ค่าสายตาเป็นปกติมากที่สุด เพราะฉะนั้น เราจะจัดการกับความคาดหวังของลูกค้าเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง เช่น บางคนช่วงชีวิตที่ผ่านมาออกแดดเยอะ ทำให้ตาเริ่มแสดงอาการต้อกระจก สิ่งที่เราทำได้คือสื่อสารและนำเสนอตัวช่วยคือเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดด้วยความจริงใจ” กันต์อธิบายนิยามความคมชัดจากตัวอย่างจริง

ขณะที่ความสบาย ได้แก่ สมดุลระหว่างน้ำหนักที่หน้าแว่นและขาที่ถ่วงเท่ากันพอดี เป็นรายละเอียดเล็กน้อยมากสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนใส่แว่น เพราะไม่เพียงเป็นอีกอวัยวะที่เราใส่ตลอดวัน แต่การมีแว่นตาที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติไม่กี่กรัมบนดั้งก็ทำให้ปวดหัวไปได้ทั้งวัน

ลึกไปกว่านั้นคือองศาเทที่หน้าแว่น ความโค้งของแว่นตา ระยะห่างของเลนส์กับดวงตา และปัจจัยยิบย่อยอีกมากมาย ซึ่งส่งผลต่อความสบายและการมองเห็นทั้งสิ้น

OCCURA, ร้านแว่นตา
OCCURA, ร้านแว่นตา

ร้านแว่นที่แน่นไปด้วยข้อมูล

OCCURA มาจากคำว่า Ocular แปลว่า สายตา

และคำว่า Cura เป็นภาษาละติน แปลว่า การดูแล

ที่โอคูระ การเลือกแว่นไม่ใช่แค่การเลือกกรอบสวยแล้วหาเลนส์อะไรก็ได้มาใส่อย่างที่คุ้นชิน แต่ลูกค้าจำเป็นต้องรู้ความต้องการของตัวเอง รู้ค่าสายตาที่แท้จริงซึ่งเกิดจากการวัดอย่างละเอียด ด้วยเครื่องมือทันสมัยและได้มาตรฐานสากล ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการรับบริการที่ดีสมความคาดหวัง แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการเลือกกรอบแว่นและเลนส์

OCCURA, ร้านแว่นตา

จุดแข็งของโอคูระคือ ความพร้อมเรื่องข้อมูล นอกจากแผนภาพแสดงความแตกต่างของคุณสมบัติเลนส์ที่ต่างกัน ผ่าน Interactive Application บน iPad และการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสายตาผ่านบริการที่ใส่ใจ

ขั้นตอนการเข้ารับบริการ เริ่มจากสอบถามประวัติไลฟ์สไตล์และอาการทางสายตา

“เราต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าคนนี้มาหาเราเพราะอะไร”

จากนั้นนักทัศนมาตรจะวัดค่าสายตาเบื้องต้นด้วยเครื่อง Auto Refractometer ก่อนจะวัดอย่างละเอียดด้วยเครื่องวัดสายตา Digital Phoropter ในห้องวัดสายตาขนาดความยาว 6 เมตร พร้อมระบบควบคุมแสงสว่าง ซึ่งเป็นระยะระหว่างจอและที่นั่งทดสอบตามมาตรฐานสากล นั่นเพราะระยะที่น้อยกว่า 6 เมตร จะทำให้สายตาที่วัดได้มีโอกาสผิดพลาดเพราะเกิดอาการเกร็งสายตาตามอัตโนมัติ

OCCURA, ร้านแว่นตา
OCCURA, ร้านแว่นตา

ขณะที่ธุรกิจในยุคสมัยนี้เน้นความเร็วเพื่อเพิ่มโอกาสและตัวเลขผลประกอบการ

การใช้บริการตรวจวัดสายตาที่โอคูระ คุณจำเป็นต้องมีเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงสำหรับการตรวจวัดสายตาให้ครบกระบวนการ และการเลือกกรอบแว่นและเลนส์ในลำดับถัดไป

“เวลา 1 ชั่วโมง ทำให้การตรวจวัดสายตาได้ค่าที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะวัดค่าสายตา หาตาหลัก-ตารอง ตอนแรกแม่ของกันต์ก็แอบเป็นห่วงที่เราใช้เวลาวัดสายตานานขนาดนี้ แต่กลายเป็นว่าลูกค้าชอบมาก เขารู้สึกว่าเขามาที่นี่แล้วได้ความรู้ ความเข้าใจในอาการทางสายตาของเขาเอง ทำให้เขาเข้าใจคุณค่าสิ่งที่เขาลงทุนเพื่อสุขภาพตาที่ดีขึ้น”

OCCURA, ร้านแว่นตา
OCCURA, ร้านแว่นตา
OCCURA, ร้านแว่นตา

ร้านแว่นตาในพื้นที่ลับตา

“ทำไมลูกค้าจะต้องเดินทางมาในตึกลับแลเพียงเพื่อมาซื้อแว่นที่นี่” กันต์รีบชิงพูดสิ่งที่เราแอบคิดในใจ

ขณะที่ธุรกิจในยุคสมัยนี้เน้นเดินทางสะดวก ร้านแว่นตาโอคูระมีหน้าร้านแห่งเดียวที่ชั้น 23 ของอาคารว่องวานิช บี ถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน

อะไรทำให้ร้านแว่นสุดคราฟต์แห่งนี้เลือกเปิดร้านในที่ลับตาเช่นนี้ แทนที่จะเป็นห้างหรู หรือคอมมูนิตี้มอลล์กลางเมือง

OCCURA, ร้านแว่นตา

กันต์เล่าว่า เดิมที่นี่เป็นออฟฟิศของบริษัทมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ข้อดีของการปรับปรุงพื้นที่สำนักงานเป็นหน้าร้าน ได้แก่ หนึ่ง เหตุผลด้านต้นทุนที่ไม่ทำให้เสียค่าเช่าสถานที่ สอง คุ้มค่าแก่การลงทุนออกแบบร้านให้สวยงามได้อย่างเต็มที่

“ช่วงแรกของการออกแบบหน้าร้าน เราตัดสินใจระหว่างร้านแว่นหรู วางแว่นน้อยๆ เด่นๆ กับร้านแว่นที่เป็นมิตรกับทุกคน เมื่อศึกษาก็พบว่าคนเรามีหน้าตาและสไตล์ไม่เหมือนกัน ร้านแว่นที่ลูกค้ารักคือร้านที่มีตัวเลือกเยอะๆ คำถามคือ ทำอย่างไรให้ร้านแว่นน่ามอง เมื่อมีโอกาสไปเที่ยวห้างอิเซตันในญี่ปุ่น ซึ่งเราสงสัยเสมอมาว่าเขาออกแบบห้างอย่างไรให้คนสนใจซื้อสินค้า

OCCURA, ร้านแว่นตา

“ขณะที่ห้างสรรพสินค้าทั่วไปจะวางของราคาสูงในตู้กระจกทำให้เข้าถึงยาก แต่ไม่ว่าจะเดินมุมไหนในอิเซตัน ของทุกชิ้นถึงมือไปหมด จนรู้สึกว่าของทุกชิ้นที่วางอยู่เป็นมิตรกับเรามาก เราไม่ใช่คนนิยมซื้อของราคาสูง แต่เพราะการจัดวางทำให้เราอยากซื้อของในอิเซตันกลับบ้านในราคาที่เรามั่นใจว่าเป็นของมีคุณภาพและเป็นมิตรกับเรา” กันต์เล่าเหตุผลที่มอบโจทย์ที่วางแว่นตาแนวรังผึ้งให้นักออกแบบนำไปสร้างสรรค์ต่อ จนกลายเป็นร้านแว่นตาในสไตล์มินิมอลที่อยู่เหนือกาลเวลา

ทั้งการจัดการพื้นที่ตั้งแต่ทางเดินหลังประตูที่พาเราหลุดเข้ามาอีกดินแดนหนึ่ง จนพบกับพื้นที่จัดแสดงแว่นตาโบราณขนาดย่อม ก่อนพาเราไปพบเหล่าแว่นตาหลายสิบแบบและรูปทรงที่คัดสรรมาอย่างดี มีตั้งแต่ราคาที่จับต้องได้ไปจนถึงรุ่นที่หายาก จัดวางอย่างเป็นระเบียบในชั้นรังผึ้งที่ออกแบบเส้นสีและแสงให้แว่นตาทุกแบบทรงที่นำเสนอเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาที่ส่งให้ดูภูมิฐาน หรือแว่นตาในแบบทรงที่กำลังเป็นที่นิยม เข้ากันดีกับการจัดแสงอุ่นๆ ที่เปลี่ยนทำให้ไม่ว่าใครก็ตามอยากใช้เวลาที่ร้านนี้นานๆ

นอกจากสินค้าคุณภาพ จุดแข็งสำคัญของร้านแว่นตาโอคูระคือพื้นที่และการออกแบบประสบการณ์การบริการจนลูกค้าบอกต่อ

OCCURA, ร้านแว่นตา
OCCURA, ร้านแว่นตา

ร้านแว่นตาที่เจอพื้นที่ที่พอดีกับตัวเอง

“โอคูระ เราขาย Solutions มากกว่าขายกรอบหรือเลนส์”  

กันต์เล่าว่า ลูกค้าที่มาโดยเฉพาะลูกค้าออนไลน์ เขาไม่ได้เข้ามาเพราะเราขายแว่นแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่มาเพราะมีปัญหาสายตาที่แตกต่าง เช่น สั้นมาก ยาวมาก หรือเคยใส่แว่นเลนส์โปรเกรสซีฟแล้วแต่รู้สึกไม่สบายตาเพราะเลนส์ที่เคยใส่ไม่ตรงกับค่าสายตาจริง ซึ่งมีมาให้เราแก้ไขแทบทุกวัน ก่อนทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาแค่เจอพื้นที่ที่พอดีกับตัวเอง

สำคัญคือ การเปิดใจรับรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจว่ากรอบและเลนส์ไม่ใช่ One size fit for all เป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรให้เวลากับแว่นตาของเรามากเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษาดวงตาที่มีคู่เดียวคู่นี้ให้อยู่ตลอดไป

กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ อดีตนักการเงินผู้ก่อตั้ง ‘ร้านแว่นตาโอคูระ’ (OCCURA)
 

Lesson Learned

การทำร้านแว่นตาโอคูระทำให้กันต์เข้าใจพฤติกรรมการตัดสินใจของลูกค้า เดิมเขาคิดว่าคนทั่วไปสนใจเพียงกรอบกับเลนส์อะไรก็ได้ และการตกแต่งร้านสวยๆ จนได้รู้ว่ากว่าคนสมัยนี้จะตัดสินใจเลือกสินค้าสักชิ้นเขาหาข้อมูลมากขึ้น เพราะเขาต้องการสิ่งนี้และบริการแบบนี้จริงๆ และแพสชันอย่างเดียวไม่พอ ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ดีว่าสิ่งที่เราทำมีอะไรบ้าง พยายามเก็บทุกรายละเอียด รู้จักและยอมรับตัวเองว่าเรามีหรือเราขาดอะไร เพื่อหาพาร์ตเนอร์มาช่วยเติมเต็ม โดยไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และเรื่องการเงินก็เรื่องสำคัญ

“ในวันที่เราสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา อย่าคาดหวังว่าคนจะมาต่อคิวแย่งกันซื้อของ ดีไม่ดีในช่วง 2 ปีแรกเราขอแค่พออยู่ได้ เพื่อสร้างมาตรฐานของร้านเรา ซึ่งต้องใช้เวลา หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นอย่างที่คิด ต้องมีความยืดหยุ่น ขณะเดียวกันก็รู้แก่นของสิ่งที่ทำอย่างชัดเจน แล้วใช้ใจทำสิ่งที่ดูธรรมดาให้ไม่ธรรมดา ด้วยการมีทีมที่ดีและเชื่อในสิ่งที่ทำ” กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ ผู้ก่อตั้งร้านแว่นตาโอคูระ (OCCURA)

 

OCCURA

ที่ตั้ง : 100/74 อาคารว่องวานิช บี ชั้น 23 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
เปิดบริการ : ทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.
นัดหมายล่วงหน้าโทร : 026450192 , 0816116823

www.occuravision.com

Facebook: occuravision

Instagram: occuravision

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan