เราเดินทางมาถึงที่นี่ช่วงเย็น จากนัดกันไว้ช่วงเช้า เพราะสภาพอากาศทำให้เครื่องบินของเราล่าช้าไปหลายชั่วโมง
ปาล์ม-ศิริพจน์ กลับขันธ์ เจ้าของร้าน ควบตำแหน่งประธานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.ตรัง หรือ YEC Trang บอกว่าการดีเลย์เป็นเรื่องปกติมากของคนตรัง และยินดีรอรับแขกจากกรุงเทพฯ ตลอดวัน สมกับที่ร้านของเขาได้รับฉายาว่าเป็นสภากาแฟหรือศาลาว่ากลางของจังหวัดก็ว่าได้
มีเหตุผลมากมายว่าทำไมทั้งสถานที่กว้างใหญ่ พร้อมลานจอดรถแบบจุใจ แถมเดินทางถึงสนามบินได้ใน 10 นาที แต่เรามาวันนี้เพื่อคุยกับปาล์มถึงสิ่งที่ดีมากกว่านั้น
ตอนแรกก็นึกเสียดายที่ดันมาถึงตอนที่ร้านกำลังปิด แต่พอได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน และได้เห็นพนักงานจำนวนมาก (ที่อาจจะมากเกินความจำเป็นด้วยซ้ำ) ร่วมกันทำความสะอาดร้านอย่างขยันขันแข็ง เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเหมือนเพื่อนสนิท เรากลับรู้สึกโชคดีที่ได้เห็็นภาพแบบนี้
ภาพของ Occur Coffee ที่ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟ แต่มีเครื่องประดับเป็นสายยาง ฟองสบู่ และมิตรภาพ แบบฉบับชุมชน Occur ตามที่ปาล์มตั้งใจอยากให้มันเป็น
“ผมเนี่ย เป็นคนตรังที่รักจังหวัดตรังมาก! มาก จนคนอื่นงง” เขาว่า ตอนที่เรานั่งสนทนากันในร้านที่เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นทำจากไม้ยางพารา
พอฟังเรื่องราวของเขาแล้ว ขอลงมติเห็นด้วยที่เขารักบ้านเกิดมาก แต่ขอเถียงอย่าง
เราไม่งงว่าทำไมเมืองตรังถึงได้น่ารักขนาดนั้น


“เกิดจากคนตรัง โดยคนตรัง เพื่อคนตรัง”
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า Occur Coffee เป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นโดย Woodwork โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราของ วิถี สุพิทักษ์ พาร์ตเนอร์คนสำคัญของปาล์ม จากความคิดที่ว่า ไม้ยางพาราจะนำไปทำอย่างอื่นนอกจากเฟอร์นิเจอร์ได้หรือไม่ พอคิดค้นนวัตกรรมใหม่ อบไม้ยางให้แข็งแรงขึ้น ที่นี่ก็ถือเป็นที่แรกที่ยืนยันว่าไม้ยางสามารถสร้างอาคารได้จริง
“นี่พื้นไม้ยาง โต๊ะไม้ยาง เก้าอี้ไม้ยาง ผนังไม้ยาง ยางหมดเลย ใช่ นี่ก็ยาง” เขาชวนให้มองตามรอบร้าน
“จริง ๆ ทุกอย่างใน Occur มันควร Belong to ตรัง แล้วก็ควรจะ Proud of ตรังไปในอนาคต” ปาล์มย้ำแนวคิดอย่างภาคภูมิใจ “Occur เป็นแบรนด์ที่เกิดจากคนตรัง โดยคนตรัง เพื่อคนตรัง”
ก่อนเป็นฝ่ายถามเรากลับบ้างว่า “ถ้ามาตรังแล้วไม่ได้ไปเที่ยวทะเล จะไปที่ไหน” เราส่ายหน้าแล้วสารภาพว่าไม่รู้
“เมื่อก่อนตรังไม่มีพื้นที่ของเมือง นี่เป็นไอเดียที่ทำให้เกิด Occur Coffee ขึ้นมา เราคิดว่าควรจะมีพื้นที่ที่รับรองแขกที่มาเที่ยวบ้าง ผมมีลูกค้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่เยอะมาก มีนักการเมืองใหญ่ ๆ คุณหมอเก่ง ๆ ผู้พิพากษาอยู่ที่นี่ จนเพื่อน ๆ แซวว่าเป็นศาลากลางของจังหวัด” เขาหัวเราะ “ใครจะมาใช้ก็ได้ มาดื่มกาแฟก็ดี มาประชุม มาคุยงาน นัดเพื่อนก็เจอกันที่นี่แหละครับ”
แต่ก็ใช่ว่าใครจะเปิดร้านกาแฟแล้วได้รับกระแสตอบรับที่ดีล้นหลามขนาดนี้
อาจเป็นเพราะความรักที่มีต่อกาแฟจนเรียกได้ว่าคลั่งไคล้ของปาล์ม มันเกิดขึ้นราว ๆ 10 ปีที่แล้ว


“กาแฟพิเศษคืออะไร”
ร้านกาแฟร้านแรกของปาล์มและร้านกาแฟ Specialty แรกของจังหวัดชื่อว่า Passione del Caffé
ส่วนความรักที่มีต่อกาแฟ เกิดขึ้นบนดอยช้าง จ.เชียงราย
“ช่วงนั้นผมเจอมรสุมชีวิตครั้งแรกแล้วไม่รู้จะดีลยังไง เลยหาว่ามีที่ไหนที่ไปเที่ยวได้บ้าง มีทริปผุดขึ้นมาในเฟซบุ๊ก จัดโดยสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) ก็เลยอยากไปลองดูว่า ไร่กาแฟมันเป็นยังไงนะ ไม่เคยเห็น”
ทริปนั้นทำให้เขาได้เจอกับคอกาแฟมากมายที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้า อาทิ วัลลภ ปัสนานนท์ อดีตนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย, หมู-นพพล อมรพิชญ์ปรัชญา จากร้าน Bottomless และ พ้ง-ศุภชัย สว่างอำไพ จากร้าน Duck You Caferista
“เขาคุยอะไรกันไม่รู้ เรื่องต้นกาแฟ เรื่องวิธีเก็บ เรื่อง Process เป็นเรื่องใหม่กับผมหมดเลย กาแฟพิเศษคืออะไร ตอนนั้นยังกินกาแฟขม ๆ อยู่ด้วยซ้ำ ผมตื่นเต้นมากแล้วก็มีเรื่องเอ๊ะเต็มไปหมด”
ไม่เพียงแค่ความเอ๊ะที่ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่รสชาติของกาแฟในทริปนั้นก็ตราตรึงใจเขาจนลืมไม่ลง
“หรือกาแฟที่ดีมันต้องเป็นแบบนั้น” ปาล์มคิดกับตัวเอง
“แล้วทำไมกาแฟที่บ้านเราไม่เป็นแบบเขาล่ะ” นั่นเป็นคำถามที่สองที่เปลี่ยนทั้งชีวิตเขา และวิถีการดื่มกาแฟของคนตรังไปตลอดกาล

“ผมบ้าขึ้นทุกวัน และบ้าไม่หยุด”
เพราะไม่มีคนทำเรื่องกาแฟ คือคำตอบที่ปาล์มดั้นด้นหามาได้
“ไม่ได้พูดแค่ตรังนะครับ จังหวัดใหญ่ ๆ ใกล้เคียงคือไม่มีเลย พี่ ๆ ในวงการเขาก็บอกว่า มันขาดคนขับเคลื่อน ถ้าอยากไปทำเดี๋ยวจะลงไปช่วย ตอนนั้นกาแฟพิเศษจะมารึเปล่าไม่รู้นะ แต่ผมรู้สึกว่าน่าจะเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ที่เราจะลองเป็นคนมาบุกเบิกกาแฟพิเศษในพื้นที่ภาคใต้”
ท่ามกลางร้านกาแฟโบราณที่ราคาแพงสุดที่แก้วละ 40 บาท เขาตั้งราคาขายแก้วแรกขาดตัวที่ 75 บาท “ร้านเล็ก นั่งก็ไม่สบาย ทุกคนบอกว่าเจ๊งแน่นอน” ปาล์มยอมรับว่าเขาฝืนหยัดยืนเพื่อทำมัน
“ผมพูดเรื่องเดิม ๆ ว่าทำไมกาแฟถึงเปรี้ยว กาแฟตัวนี้แตกต่างกับตัวนั้นยังไง คีย์เวิร์ดเดิม ๆ แบบจำได้เลยว่าต้องพูดอะไร ไม่น่าจะต่ำกว่า 5 ปี จนร้านอื่น ๆ เริ่มปรับตัวตาม เราหวังแค่ให้คนชอบเราวันละคนก็พอ แต่ผมทำวันละคนมา 5 ปี มันก็ได้หลายร้อยคน
“ในวันแรกเขาอาจจะว่าผมบ้านะ แต่พอผมบ้าขึ้นทุกวัน และบ้าไม่หยุด เขาก็เชื่อและสุดท้ายก็มาบ้ากับผมทีละคน ร้านกาแฟในตรังก็เริ่มบ้ากับผมทีละร้าน จนตอนนี้ทั้งเมืองมันไม่มีร้านกาแฟแบบเดิมแล้ว
“เราชอบกาแฟจนถึงขั้น Crazy กับมัน เราหลงใหล ร้านแรกเลยชื่อว่า Passione ไง” เขาเฉลยให้รู้
“กับกาแฟ เรามากกว่ารัก มันคือความคลั่งไคล้ เราชอบมันมาก เราอยู่กับมันได้ทุกวัน ดีเราก็อยู่กับมัน ไม่ดีเราก็ยังอยู่กับมัน และผมเชื่อเรื่องกาแฟมาก” ส่วนนี่คือปณิธาน
ปัจจุบัน Passione del Caffé ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ปาล์มมีฐานลูกค้ามากมาย เขาขยับขยายธุรกิจด้วยการเปิดโรงคั่ว เป็นที่ปรึกษาให้กับร้านกาแฟ Specialty อื่น ๆ เริ่มเป็นคนกลางกระจายเมล็ดกาแฟในตรัง ไปจนถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งหมดทั้งมวล ปาล์มย้ำว่าเพราะได้รับความอนุเคราะห์จากรุ่นใหญ่ ๆ ในวงการกาแฟมาช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาวงการกาแฟพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดขึ้น
พอธุรกิจเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง ตัวละครลับอีกตัวก็ปรากฏให้เห็น นั่นคือ จิรณรงค์ วงษ์สุนทร บรรณาธิิการบทความไลฟ์สไตล์ของ The Cloud ผู้ที่ชื่นชอบกาแฟจนคลั่งไคล้ไม่ต่างกัน
“เขามาแนะนำผมว่า เฮ้ย ถ้าคุณอยากทำสาขาเยอะ ๆ ในอนาคต คุณควรจะจ้างคนทำแบรนดิ้ง”
ตัวละครลับที่สองจึงปรากฏตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือ ธีรนพ หวังศิลปคุณ จาก TNOP™ DESIGN ผู้รับหน้าที่ออกแบบร้านกาแฟในฝันของเขาใหม่ ติดอยู่ตรงที่ว่า “คุณปาล์มครับ เอ่อ ถ้าจะทำ ผมว่าต้องเปลี่ยนชื่อ” เขาเล่าพร้อมจำลองเหตุการณ์
ไม่นาน ทีมของธีรนพก็กลับมาพร้อมกับชื่อใหม่ที่ปาล์มตกลงปลงใจโดยทันที
“ชื่อ Occur มันเหมือนกับการได้เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น และมันก็เกิดขึ้นเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่คาดไม่ถึง”
ส่วนจะเป็นอะไรนั้น เรากำลังจะเล่าให้ฟัง


“เป็นโรบัสต้าแล้วทำไม”
“คำว่าสภากาแฟ ถ้าถามว่ามันอยู่ที่ไหนเนี่ย ตรังก็ต้องมาเป็นอันดับต้น ๆ”
ปาล์มบอกว่า บ้านเกิดของเขามีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟมายาวนานและแข็งแรงมาก หลายคนอาจจะรู้ว่าเขาช่องของคนตรังก็เป็นแบรนด์กาแฟแรก ๆ ในประเทศไทย เพียงแต่มักจะอยู่ในรูปแบบของกาแฟโบราณหรือโรบัสต้าเป็นหลักคือ เข้ม ข้น หวาน มัน ซึ่งนิยมดื่มกันตั้งแต่ตี 3 – 4 เพื่อปลุกให้ตื่นตาสว่าง ก่อนออกไปทำอาชีพหลักคือกรีดยางพาราตอนหัวรุ่ง
คำถามคือ ระหว่างพัฒนาพื้นที่ให้ปลูกกาแฟอาราบิก้าได้ กับพัฒนาโรบัสต้าที่มีอยู่แล้วให้ดี ปาล์มเลือกอะไร
“ผมเลือกอย่างหลัง แล้วก็ไม่ได้แค่คิดอย่างเดียว ผมจะทำอย่างหลังแน่ ๆ นั่นคือเป้าหมายในอนาคต” เขาตอบอย่างหนักแน่น
เพราะสิ่งที่เขาลงมือไปแล้ว คือการเข้าไปคุยและให้ความรู้กับเกษตรกรต้นน้ำว่าโรบัสต้าที่ดีจะต้องปลูกยังไง เก็บยังไง มีสายพันธุ์อะไรบ้าง และอะไรคือมาตรฐานของการเป็นพรีเมียมโรบัสต้า
“ผมเปิดร้านนี้้มาเกือบ 2 ปี ผมขายโรบัสต้ามาตลอด เพื่อให้คนรู้ว่าเราไม่ใช่ร้านกาแฟ Specialty ที่จะต้องปานามา เกอิชา กาแฟมัน Local ได้นี่ เป็นโรบัสต้าแล้วทำไมหรอ แล้วในอนาคตถ้าโรบัสต้าที่เมืองเราดีพร้อม เราก็พร้อมจะใช้ทันที เพราะเราอยากจะทำเรื่องโรบัสต้าที่อยู่คู่กับคนตรังให้มันชัดขึ้น”
เราถามเขาตรง ๆ ว่าเป็นเพราะอะไรเขาถึงต้องทำขนาดนี้ ปาล์มตอบกลับมาง่าย ๆ ว่าแรงขับเคลื่อนเดียวของเขา คือการเกิดเป็นคนตรัง
“แล้วเราก็เป็นคนตรังบ้านนอกที่ลำบากมาก่อนด้วยสิ เราเคยรู้สึกว่า เมืองนี้ในอดีตมันไม่ได้เอื้อสำหรับเราเลย เราต้องเข้มแข็งมาก ต้องพยายามมาก ขยันสุด ๆ ถึงจะมีจุดยืนวันนี้ได้ เพราะการที่เราจะทำธุรกิจแรกอย่างร้านกาแฟเจ๊งมีสูงมาก ถ้าเราไม่เข้มแข็งจริง ไม่มั่นใจในจุดยืนของเราจริง เราเลิกไปนานแล้วในปีแรก
“โอกาสมันเอื้อสำหรับคนที่มีฐานะพอสมควรแล้ว แต่น้อง ๆ ที่ต่างอำเภอเหมือนเราเมื่อก่อนล่ะ ทุกวันนี้เขายังต้องไปทำงานที่อื่น ที่ผมทำทุก ๆ โปรเจกต์ ก็เพื่อพยายามจะเปลี่ยนเมืองให้มันพร้อมกับเราทุกคน”
และมันควรจะเริ่มที่ร้านของเขา


“เรารู้สึกว่าคนนี้มันมีของดี”
“ที่นี่ทำเหมือนเป็นโรงเรียนเลยนะ ทุกคนเข้ามาจะต้องมีโปรเจกต์ของแต่ละบุคคล โปรเจกต์ร่วมกันเป็นคู่ โปรเจกต์ร่วมกันเป็นทีม อาจจะเป็นเมนูใหม่ ๆ กระบวนการการทำงานใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ร้านดีขึ้น หรืออย่างน้อย ทำให้เขาเก่งขึ้นก็ยังดี” ปาล์มว่า “ร้านเรามีสอบกลางภาคด้วยนะครับ”
ยิ่งฟังยิ่งมีความงุนงนอยู่บนใบหน้า จนเขาต้องรีบอธิบายให้หายข้องใจ
“คือผมออกข้อสอบเกี่ยวกับกาแฟ ขั้นตอนการทำงานในร้าน หรือประสบการณ์ที่ลูกค้าจะสัมผัสในร้าน นั่งนึกว่าอะไรที่เราสอนน้องไปแล้วบ้าง มันจะจำได้ไหม ทุกคนต้องมานั่งสอบข้อกา ข้อเขียน”
งั้นถ้าสอบตกจะทำยังไง เราถามอีก
“ง่ายมากเลยครับ ไม่ได้หักเงินเดือน ไม่ได้อะไรเลย เราให้ไปวิ่ง 5 กิโล 10 กิโลก็ว่าไป” เรารีบตอบกลับไปว่านั่นไม่ง่ายเลยนะ
“พนักงานร้านกาแฟมันก็วัยรุ่น ผมมาที่ร้านแล้วผมรู้สึก เฮ้ย ทุกอย่างมันถูกต้องไปหมด ทุกคนก็ทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง บริการลูกค้าก็ตามแพตเทิร์น แต่ทำไมมันดูไม่สดชื่นเลย เพราะงั้นสิ่งสำคัญก็คือต้องออกกำลังกาย
“ช่วงนั้นพอทำจริง ๆ ยอดขายมันเติบโตขึ้น โดยแค่เราวิ่ง มันแปลกมากเลยนะ”
นั่นสิ เพราะอะไร
“พอคนมันรีแลกซ์ หน้าตามันเฟรช อยากคุยกับผู้คนมากขึ้น มันนำเสนอมากขึ้น ผมไม่เคยหักเงินเดือนเลย เราทำกันแบบนี้ ทีมเราก็โตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็สนุกสนานกัน”
นับว่าหายากที่พนักงานกับเจ้าของร้านจะอยู่กันแบบพี่น้องที่สนิทสนมกัน ปาล์มเล่าว่า หากยื่นจดหมายสมัครงานมา เขามักจะสนใจคนที่อยากเอาชนะอะไรบางอย่างและมีเป้าหมายยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ
“ผมสัมภาษณ์เองทุกคน แล้วก็สัมภาษณ์เยอะด้วย ถ้าเขียนใบสมัครว่า หนูจะเป็นบาริสต้าอยู่ออสเตรเลียให้ได้ภายใน 5 ปี เรารีบรับเลย ซึ่งผมรับพนักงานตลอดเวลานะ บางทีก็มีเกินอัตรามากเลย แต่เราก็รู้สึกว่าคนนี้มันมีของดี เอามาก่อน ขาดทุนเดี๋ยวค่อยว่ากัน
“เพราะผมเริ่มคิดตั้งแต่มีพนักงานคนแรกเลยว่า เราฝึกน้อง ๆ ทุกคนเพื่อไม่ได้อยากจะให้เขาเป็นแค่คนชงกาแฟ เราอยากจะสร้างน้องพวกนี้ให้ออกไปเป็นผู้ประกอบการร้านกาแฟที่เจ๋ง ๆ ทั้ง จ.ตรัง เพื่อจะได้สร้างสรรค์เมืองที่ดีให้กับเรา ซึ่งตอนนี้เด็็กรุ่นแรกออกไปเปิดร้านกันครบทุกคนเลยนะ มันเป็นภาพที่ดีมาก”
นอกจากวงการกาแฟแล้ว ปาล์มยังตั้งชื่อกลุ่มให้พนักงานในห้องครัวว่า ตรัง Young Chef เพื่อมุ่งหวังจะทำเรื่องอาหารในบ้านเกิดให้เติบโตอย่างสร้างสรรค์ เพราะที่ Occur เองก็มีแปลงผักปลอดสารพิษเป็นของตัวเองสำหรับอาหารทุกจาน
“ผมทำอาหารไม่ค่อยเป็น แต่มีแนวคิดว่า ตรังมีจุดเด่นเรื่องของกิน มีต้นทุนวัตถุดิบจากเขาป่านาเลหลากหลายมาก กลุ่มตรัง Young Chef ผมก็ให้โอกาสเขาได้สร้างสิ่งที่เขาอยากทำ อยากเป็น อยากเสิร์ฟ และภาคภูมิใจ
“ผมคิดว่าปีหน้าเนี่ย Occur จะสนุกขึ้น” เขาฝากให้ติดตาม
“เราจะได้ทำอะไรในแบบที่เราคิดอยากจะทำจริง ๆ เราจะเติบโตแบบเข้มแข็ง แล้วก็น่าจะเป็นภาพใหม่ที่น่าตื่นเต้นกับคนตรังเหมือนกัน เพราะผมอยากเล่าเรื่องตรังให้คนตรังได้สัมผัสก่อน พอตรังเริ่มภูมิใจในตรัง ผมว่าคนอื่นจะเริ่มเข้าใจ”


ก่อนจากกัน ในฐานะเจ้าของร้านที่ทำอาหารไม่ค่อยเป็นและไม่เคยเป็นเจ้าของเมนูไหนในร้าน เราขอให้เขาแนะนำเมนูเด็ดที่ชนะใจท่านประธาน
“Occur Sunset & Sunlight ตอนที่เราเปิดร้าน ด้านหน้าฝั่งพระอาทิตย์ตกสีมันม่วงมาก เราเลยให้โจทย์น้อง ๆ แต่ละทีมแข่งกันไปทำเมนูอะไรก็ได้ที่แมตช์กับภาพร้านเรา ชื่อโปรเจกต์ว่าหัวเช้ากับวันเย็น เป็นภาษาใต้
“นี่เป็นเมนูที่น้อง ๆ เขานำเสนอแล้วพิชชิ่งชนะ เพราะกว่าจะวางขายแต่ละเมนูในร้านก็ผ่านการนำเสนอกันหลายรอบกว่าพี่ปาล์มจะซื้อไอเดีย แก้วนี้โอเค เรื่องเล่าดี ส่วนผสมดี รสชาติผ่าน”

“เมนูข้าวหน้าหมูไก่ซูวี ใช้พริกไทยปะเหลียน เป็นสินค้า GI ของตรัง เป็นเมนูที่ผมว่าใครมากินก็รู้สึกเอร็ดอร่อย คือผมไม่เคยเห็นใครกินข้าวอันนี้แล้วเหลือแม้กระทั่งนิดเดียวในจาน เหลือแค่กระดูกไก่ เป็นเมนูที่น้อง ๆ ตรัง Young Chef นำเสนอมาแล้วมันโดนใจผมมาก น่าจะคัดจาก 20 จาน แล้วเลือกมาได้ขายแค่ 1 อย่างนี้ ผมกินเองทุกวันได้ โดยไม่มีเบื่อ ยังไงก็อยากจะนำเสนอ
“ผมไม่เคยคิดเมนูเองสักอันเดียว” เขาหัวเราะตอนเล่า แต่ก็คงเป็นเพราะเขามีความสุข

Occur Coffee
ที่ตั้ง : 119 หมู่ 3 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 09.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 095 261 4265
Facebook : Occur Coffee