14 กุมภาพันธ์ 2019
10 K

“…เขามองร่างของเธอกอปรขึ้นจากแสงจันทร์เพ็ญในห้องหนังสือหายากชั้น 3 ตึก 2 เริ่มจากมวลแสงที่ค่อยสว่างจ้าขึ้นบนหนังสือเล่มนั้น ผายเปิดปกสีทองเหลืองของมันออกมาอย่างบรรจงประหนึ่งเวทมนตร์ จากนั้นกระดาษแต่ละแผ่นจึงหลุดลอยละล่องขึ้น บิดม้วนเข้าหากัน เปล่งประกายเป็นสัดส่วนอรชรของหญิงสาวสะพรั่ง…”

โอ๊ต มณเฑียร อ่านท่อนแรกของเรื่องสั้น ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ ให้เราฟัง

ถ้อยคำที่ร้อยเรียงอย่างงดงาม สะกดเราให้ตกห้วงภวังค์แห่งตัวอักษร

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

ถ้อยคำเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของงาน ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ นิทรรศการแบบ mixed media ที่จัดในห้อง ‘วชิรญาณ 2’ ภายในตึกหลักของหอสมุดแห่งชาติ ที่ใช้บัตรประชาชนแลกบัตรเข้าไปได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชมใดๆ ตั้งแต่วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ยาวไปจนถึง 28 เมษายน

ในมือโอ๊ตคือนิยายปกสีแดงเล่มบาง หน้าห้องมีตู้ไม้ที่บรรจุด้วยหนังสือเก่า รอบห้องมีหนังสือที่กลายเป็นงานศิลปะด้วยฝีมือของโอ๊ต และด้านหลังมีตู้บัตรรายการห้องสมุดที่ซ่อนความลับบางประการไว้ สื่อกลางต่างๆ มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเล่าเรื่องราวของหอสมุดแห่งชาติ

หอสมุดแห่งชาติ คือสถานที่เก็บหนังสือทุกเล่มในประเทศไทย ตามที่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ทุกเล่มต้องส่งมาให้หอสมุดแห่งชาติจำนวน 2 ฉบับ เพื่อใส่ส่วนห้องสมุด 1 ฉบับ และเก็บเข้าคลังอีก 1 ฉบับ

“ที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นห้องสมุดโดยเฉพาะ เราคิดว่ามันพิเศษ แต่คนอาจจะลืมไป” โอ๊ตพูดขึ้นระหว่างการสนทนาของเรา

ศิลปิน / ภัณฑารักษ์ / นักอ่าน / นักเขียน ผู้นี้ จึงขอสารภาพรักต่อสถาบันหนังสือด้วยการทำงานนี้ออกมา

ถ้อยเขียนของเราอาจไม่งดงามเท่าของโอ๊ต แต่อยากขอเขียนเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังของนิทรรศการ ที่ล้ำค่าไม่น้อยไปกว่าผลงานสุดท้ายแล้ว

เมื่อฟังแล้ว เชื่อว่าคุณจะตกหลุมรักทั้งนิทรรศการและหอสมุดแห่งชาติเหมือนกับเรา

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

ตีความสถานที่ผ่านศิลปะ

โอ๊ตเริ่มอธิบายกระบวนการสร้างงาน ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ ด้วยคำว่า Artist Intervention

หากแปลตรงตัวคือ การแทรกแซงของศิลปิน แต่โอ๊ตเลือกแปลว่า การต่อยอด มากกว่า

นี่เป็นวิธีที่ใช้แพร่หลายกันทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์ คลังของมีค่า หรือหอจดหมายเหตุ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยองค์กรจะชวนศิลปินเข้ามาทำความเข้าใจองค์กร แล้วตีความออกมาเป็นงานศิลปะหรือนิทรรศการจัดแสดงในพื้นที่ขององค์กรนั้น

ตัวอย่างที่โอ๊ตยกให้ฟังคือ เคสของพิพิธภัณฑ์งานออกแบบและศิลปะ Victoria & Albert Museum ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเดิมทีไม่ค่อยมีงานจากแถบแอฟริกาเท่าไร แถมของไม่น้อยในคลังยังเกี่ยวข้องกับเงินที่มาจากการค้าทาส ทางมิวเซียมจึงเชื้อเชิญศิลปินผิวสี Yinka Shonibare มาสร้างงาน ออกมาเป็นประติมากรรมที่ใช้ผ้าลายบาติกแอฟริกัน ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์

วิธีการนี้แยบยลตรงที่องค์กรไม่จำเป็นต้องวิพากษ์ตัวเอง เพราะยืมสายตาคนนอกมาช่วยวิพากษ์แทน ทำให้มีความสดใหม่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อาจเปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ

โอ๊ตมีความเห็นว่า ถ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ สร้างชีวิตชีวาให้หอสมุดแห่งชาติได้ก็คงดี

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

ผจญภัยในคลังสมบัติของชาติ

เมื่อได้วิธีการแล้ว ศิลปินหนุ่มก็เริ่มจากการเก็บข้อมูล

โอ๊ตเข้ามาที่หอสมุดแห่งชาติทุกวัน เพื่อทำความเข้าใจกับระบบ ตั้งข้อสงสัย และมองหาแรงบันดาลใจ เขาจดบันทึกเรื่องหอสมุดทุกวัน ทั้งเรื่องหนังสือที่อ่าน สิ่งที่เห็น และคนที่ได้พบเจอ

“ที่นี่เป็นเหมือนโลกพิศวง เป็น Wonderland ส่วนเราก็รับบทเป็น อลิซ ผู้สำรวจและซุกซนไปตามที่ต่างๆ” โอ๊ตบอกเราด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

สิ่งหนึ่งที่ตราตรึงใจเขาเป็นพิเศษ คือตู้อักษรพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ ในห้องหนังสือหายาก และตู้หนังสือที่มีชื่อบุคคลสำคัญ เช่น ห้องสมุดวิจิตรวาทการ ห้องสมุดอนุมานราชธน ตู้และหนังสือในตู้เหล่านี้มักอยู่ในโซนที่เรียกว่า ‘ชั้นปิด’ คือไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้า ทำให้โอ๊ตสนใจและตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของพวกมัน

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

“ตู้พวกนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับเรา มันสวยมาก หนังสือข้างในก็สวย แล้วก็น่าสงสัยว่าของใคร ทำไมมันมาอยู่ตรงนี้ ทำไมคนคนหนึ่งถึงตัดสินใจจะมอบตู้หนังสือพร้อมหนังสือข้างในให้แก่หอสมุด ความผูกพันของเขากับที่นี่คืออะไร” โอ๊ตเล่าถึงตู้ปิด แววตาเป็นประกาย

เหล่าตู้ปิดลึกลับนี่เอง คือแรงบันดาลใจหลักของโปรเจกต์นี้

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ


รวมความประทับใจ ใส่ลงในหนังสือ

โอ๊ตเลือกกลั่นกรองความสนใจเรื่องตู้ปิดและสมบัติลับอื่นๆ ของหอสมุด ออกมาเป็นเรื่องสั้น

“ถ้าเล่าเรื่องที่นี่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ คนคงไม่ค่อยอ่าน แต่ถ้าเป็นนิยายรักคนรุ่นเราๆ คงอินได้ง่ายขึ้น” เขาบอก

โอ๊ตปล่อยจินตนาการให้วิ่งเล่นในหอสมุดอย่างเต็มที่ เขาไปเจอ มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ว่าด้วยมัทนา หญิงสาวที่โดนสาปให้เป็นกุหลาบ แล้วจะกลายร่างเป็นผู้หญิงทุกคืนจันทร์เต็มดวง จึงเลือกหยิบตัวละครมัทนามาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยจินตนาการต่อไปเองว่าหากมัทนาไม่ได้เป็นดอกกุหลาบ แต่เป็นหนังสือ ห้องสมุดจะกลายเป็นสถานที่โรแมนติกขนาดไหน

ภาษาในเรื่องอาจฟังดูย้อนยุคเล็กน้อย เพราะโอ๊ตตั้งใจเลียนแบบสำเนียงของนักเขียนอย่าง อิศรา อมันตกุล, ธิดา บุนนาค และ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยเหตุผลว่า เป็นภาษาที่ไม่ได้เน้นเล่าเรื่อง แต่เน้นเร้าความรู้สึกมากกว่า

ในหนังสือมีเลขเรียกหนังสือแทรกอยู่ตลอดเรื่อง หากอ่านๆ ไปแล้วสงสัยว่าตัวละครกำลังพูดถึงหนังสือเล่มไหน ก็ลองจดเลขเหล่านี้ไปเปิดดูและตามอ่านได้ด้วย เรียกว่าอ่านแค่หนึ่ง ก็ต่อยอดไปได้อีกหลายเล่ม

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ


ให้บรรยากาศช่วยเล่าเรื่อง

ไม่ใช่แค่ในเรื่องสั้น แต่เรามองเห็นความรักของโอ๊ตล้นทั่วทุกมุมห้อง

“เราเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่ม แล้วจัดห้องทั้งห้องให้เป็นบรรยากาศที่สมบูรณ์แบบสำหรับการอ่านหนังสือเล่มนี้” โอ๊ตอธิบาย เขาเริ่มจากการจัดไฟให้ได้บรรยากาศ และยกเอาองค์ประกอบต่างๆ ในหนังสือออกมาวางบนโลกความเป็นจริง เช่นตู้ไม้ที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่า ซึ่งเขายกมาจากบ้านตัวเอง โดยเลือกเติมตู้ด้วยหนังสือรุ่นเดียวกับหนังสือในตู้บนหอสมุด เพื่อให้ได้อารมณ์คล้ายว่านี่คือตู้ปิดอีกตู้ที่มีคนยกมาให้หอสมุด

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

รวมถึงศิลปะบนหนังสือที่จัดแสดงอยู่รอบห้อง นี่คือผลงานจากนิทรรศการ Ex-Libris ที่เขาจัดเมื่อ 6 ปีก่อน โอ๊ตเลือกมาเพียงบางเรื่องที่ถูกพูดถึงในเรื่องสั้น เช่น ชาร์ลี กับ โรงงานช็อกโกแลต และ อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

นอกจากนั้น เขายังให้โจนัส เดปท์ นักเปียโนแห่งชาติจากเบลเยียม คนรักของเขา ช่วยเล่นเปียโนจุฑาธุช เปียโนสองด้านหลังเดียวในประเทศไทย ที่สถิตอย่างนิ่งเงียบอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ก่อนอัดเสียงมาเพื่อเปิดบรรเลงคลอ สร้างบรรยากาศไปอีกขั้น

โอ๊ตขยิบตา บอกเราว่า ต้องอ่านเรื่องสั้นก่อน แล้วจึงจะเข้าใจว่าทุกองค์ประกอบของนิทรรศการร้อยเรียงกันอย่างไร

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ


งานศิลปะในพื้นที่ราชการ

ทำงานกับหน่วยงานราชการ ยากไหม เราถาม

“ไม่เลย” โอ๊ตตอบ “องค์กรอย่างนี้ คนส่วนมากคิดว่าคงเข้ามาทำงานศิลปะได้ยาก ซึ่งตอนแรกเราก็คิดแบบนั้น แต่พอทำจริงๆ ทุกอย่างมันเกิดขี้นได้อย่างรวดเร็วมาก เพราะในนี้มีคนตัวเล็กๆ ที่ช่วยกันอยู่”

หากยังไม่เชื่อ ขอบอกว่างานนี้ใช้เวลาทำตั้งแต่เริ่มเสนอจนถึงจัดแสดงเพียง 2 เดือน โดยได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการหอตั้งแต่วันแรกที่เสนอแนวคิด และออกมาสำเร็จได้ทันวันแสดงอย่างฉิวเฉียด เพราะการร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภัณฑารักษ์ที่ใจดีพาเดินดู ฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่คอยช่วยเหลือเมื่อโอ๊ตต้องการ และคนตัวเล็กตัวน้อยในหอสมุดอีกมากมาย

สิ่งที่เราประทับใจที่สุด คือการเข้าเล่มและพิมพ์ปกเรื่องสั้น ที่ฝ่ายอนุรักษ์และซ่อมแซมทำให้อย่างดีจนเสร็จออกมาทันเวลา

ตัวอักษรสีทองเปล่งประกายบนหน้าปก เกิดจากการพิมพ์ด้วยตัวตะกั่วทีละตัว (letter press)

สวยจับใจเพราะทำด้วยหัวใจ

“เราอาจมองต่างกัน แต่ถ้ามัวแต่โฟกัสที่ความต่าง งานมันก็จะไม่ไปไหน ทั้งที่ทุกฝ่ายรักหนังสือ อยากให้คนมาใช้งาน ถ้าเรากลับมาที่โฟกัสตรงนี้ มันก็เวิร์กออกมาได้” โอ๊ตถอดบทเรียนให้ฟัง

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ


เกิดจากความรักทั้งนั้น

งานทั้งหมดนี้ต้องการสื่อสารอะไร

“เราอยากให้คนที่มารู้สึกว่าประสบการณ์การอ่านหนังสือที่ห้องสมุดมีเสน่ห์ คือต้องเดินทางมาถึงที่นี่ เพื่อมาเจอหนังสือที่ไม่ใช่ของเรา ที่เอากลับไปไม่ได้ มันเหมือนการได้พบรัก แล้วสุดท้ายคุณก็ต้องวางมันไว้” โอ๊ตอธิบาย

โรแมนติกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

คนหลายคนรักหนังสือหลายแบบ โอ๊ตรักด้วยการอ่าน คนอื่นอาจรักด้วยการสะสม แต่ทำไมต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งล่ะ หากมองดูไปรอบหอสมุดแห่งชาติ จะพบว่าที่แห่งนี้รักหนังสือทุกแบบพร้อมกันโดยไม่ต้องเลือก ทั้งในด้านสะสม บูรณะ ซ่อมแซม และเปิดให้คนเข้ามาอ่าน

เราอ่านหนังสือปกแดงของโอ๊ต แล้วรู้สึกถึงจิตวิญญาณของหอสมุดแห่งชาติได้ชัดเจน

อาจเพราะมันกลั่นกรองออกมาจากความรักกระมัง

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

โอ๊ต มณเฑียร, หนังสือ

ภาพ :   ปฎิพล รัชตอาภา
ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติม ที่นี่

 

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ