เมื่อใกล้ถึงวันออกพรรษาของทุกปี หนึ่งในสิ่งที่ประชาชนชาวไทยมักนึกถึงคือบั้งไฟพญานาคที่แม่น้ำโขง ในจังหวัดหนองคาย พญานาคเป็นสัตว์ในตำนานความเชื่อของชาวพุทธที่แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมไทยหลายอย่าง ไม่ว่าตำนานครุฑต่อสู้กับนาค (ครุฑยุดนาค) ที่นำมาสร้างเป็นช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์ บนหน้าบันของอุโบสถ์ตามวัดต่างๆ หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมอย่างถ้ำนาคาที่จังหวัดบึงกาฬ 

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือภาพปลาพญานาค หรือปลาออร์ ที่แพร่หลายอยู่ทั่วโลกในช่วง พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) จนถึงปัจจุบัน ผู้อ่านที่เกิดในยุค 90 ไม่น่าจะมีใครไม่เคยเห็นภาพทหาร 20 กว่าคนถือปลาตัวยาวๆ ลักษณะคล้ายพญานาค ภาพนี้แพร่หลายอยู่ในอินเทอร์เน็ต รวมถึงร้านอาหารมากมายในแถบภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว วันนี้ผมจะมาเล่าถึงเบื้องหลังของภาพปลาพญานาคในตำนาน หรือที่อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ปลาออร์ (Oarfish) ให้ฟังครับ

ภาพ : Leo Smith (1996)

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2557 ผมได้โอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาชีววิทยาทางทะเล ที่สถาบันสมุทรศาสตร์ทางทะเลสคริปป์ (Scripps Institution of Oceanography) ในเมือง La Jolla รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ผมได้ทำวิจัยอยู่ในห้องเก็บตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเล (Marine Vertebrate Collection) โดยห้องเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลในสถาบันแห่งนี้เก็บรวบรวมตัวอย่างปลาน้ำจืดและน้ำเค็มจากทั่วโลกไว้ทั้งหมดราวๆ 2 ล้านกว่าตัว และมีจำนวนมากถึง 6,000 ชนิด (ยังไม่รวมตัวอย่างที่ยังไม่ทราบชนิดของปลา) ซึ่งคือ 1 ใน 6 ของชนิดปลาทั้งหมดบนโลกนี้ 

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
ภาพ : Scripps Institution of Oceanography
คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน

ในวันแรกที่ผมเริ่มงาน เพื่อนร่วมงานของผม คุณ H.J. Walker ผู้ดูห้องเก็บตัวอย่างสัตว์แห่งนี้ได้พาผมเข้าไปในห้องเก็บตัวอย่างเพื่ออธิบายบริเวณต่างๆ ของห้อง ก้าวแรกที่เดินเข้าไป ผมได้เจอกับภาพปลาพญานาคแปะอยู่หน้าห้อง มีข้อความเขียนไว้ว่า 

“SIO 96-82 ถูกพบที่ชายหาดของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ของสหรัฐอเมริกา ใกล้กับชายหาดโคโลนาโด รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) มีความยาวประมาณ 7.3 เมตร”

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน

ผมตกใจกับภาพนี้มาก เลยบอกกับคุณ Walker ว่า รู้หรือไม่ว่าภาพนี้โด่งดังมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณ Walker ตอบกลับมาว่ารู้ และบอกว่าตัวอย่างของปลาในภาพนี้อยู่ในห้องเก็บตัวอย่างสัตว์แห่งนี้ 

ผมตื่นเต้นมาก คุณ Walker ถามกลับมาว่า รู้หรือไม่ว่าใครเป็นคนเก็บตัวอย่างปลาพญานาคในภาพกลับมา 

คุณผู้อ่านลองทายสิครับว่าเขาคนนั้นคือใคร ใช่แล้วครับ คุณ Walker เป็นผู้ที่ไปจัดการเก็บตัวอย่างหัวปลาพญานาคกลับมาไว้ที่ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์แห่งนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ผมจึงได้โอกาสสัมภาษณ์คุณ Walker เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1996 หรือ พ.ศ. 2539 ช่วงเวลา 11 โมงเช้า ณ ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเลสคริปป์ เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ผู้พูดปลายสายคือครูฝึกทีมน้ำฟ้าฝั่งนาวีสหรัฐหรือ Navy SEALs ได้โทรมารายงานว่าเขาได้พบปลาประหลาดที่มีลำตัวยาวสีเงิน นอนเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดโคโรนาโด ในเมืองแซนดีเอโก (San Diego) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ขณะที่เขากำลังวิ่งออกกำลังกายอยู่ 

คุณ Walker และเพื่อนอีกสองคนจึงได้ขับรถลงไปยังบริเวณดังกล่าวแล้วได้พบกับเจ้าปลาประหลาดตัวนี้ เมื่อไปถึง ทหารเรือ 20 กว่านายได้ยกร่างไร้ชีวิตของเจ้าปลาดังกล่าวกลับไปยังฐานทัพริมทะเลเพื่อทำความสะอาดและเก็บข้อมูล เพื่อนของคุณ Walker และช่างภาพจากสำนักข่าวหน่วย Navy SEALs ได้ถ่ายภาพนี้ไว้ ก่อนภาพนี้จะกลายเป็นตำนานไปทั่วโลก

เนื่องจากคุณ Walker เป็นนักมีนวิทยาผู้ศึกษาปลามาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี เขารู้ทันทีว่าเจ้าปลาตัวนี้คือปลาออร์ หรือที่คนไทยได้เรียกกันว่าปลาพญานาค คุณ Walker และเพื่อนๆ วัดขนาดของเจ้าปลาตัวนี้ พบว่ามีขนาดยาวถึง 7.3 เมตร และหนักประมาณ 140 กิโลกรัม เมื่อผ่าชันสูตรศพก็พบว่าในกระเพาะของปลาตัวนี้มีแต่สิ่งชีวิตขนาดเล็กๆ ไม่พบแผลภายใน และพบรอยเหมือนโดนฟันที่บริเวณหัว จึงคาดว่าเสียชีวิตจากอุปกรณ์บางอย่างของมนุษย์ 

หลังจากทำการเก็บข้อมูลเสร็จ คุณ Walker ระบุชนิดว่าคือปลาออร์ยักษ์ (Giant oarfish ; Regalecus glesne) โดยตัดหัวและหางของเจ้าปลาตัวนี้ไว้เพื่อมาเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บตัวอย่างสัตว์ สาเหตุที่ไม่เก็บปลาทั้งตัวไว้ เนื่องจากปลาดังกล่าวลำตัวยาวมาก และกระดูกบริเวณหัวและหางของปลาเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการจำแนกชนิดปลาต่างๆ 

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น คุณ Walker จึงนำหัวและหางของเจ้าปลามาเก็บรักษาสภาพไว้ในห้องเก็บตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเลสคริปป์จนถึงปัจจุบัน

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
คุณ H.J. Walker โชว์หัวปลาพญานาค ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บตัวอย่างทางทะเล

หลังจากนั้นคุณ Walker เล่าให้ฟังว่า เพื่อนของเขาได้ขายภาพปลาพญานาคนี้ให้กับหลายสำนักพิมพ์ในยุคนั้น และภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแผ่ไปทั่วโลก โดยที่ตอนนั้นคุณ Walker และเพื่อนไม่เคยทราบถึงตำนานเรื่องพญานาคมาก่อน

หลังจากภาพนี้เผยแพร่ในช่วง พ.ศ. 2540 คนจำนวนมากมายติดต่อมาที่ห้องเก็บตัวอย่างเพื่อขอมาดูหัวปลา จนกระทั่งวันหนึ่งชาวกัมพูชาท่านหนึ่งได้โทรมาหาเพื่อจะมาขอบูชาพญานาค นั่นคือวันแรกที่คุณ Walker ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพญานาค เขาบอกคุณ Walker ว่าต้องให้เขาเข้าไปบูชา ไม่เช่นนั้นจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับคุณ Walker แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ให้เข้ามาชมเพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
ภาพจากนิตยสาร All Hands ที่เล่าถึงการค้นพบปลาพญานาคใน ค.ศ. 1996 (ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1997 หรือ พ.ศ. 2540)

ท้ายที่สุดผมถามคุณ Walker ว่ามีอะไรพิเศษน่าเล่าให้ฟังอีกไหม คุณ Walker เล่าว่า เขาแอบเก็บเนื้อปลาพญานาคตัวนั้นมาลองกิน โดยเขาเอาชิ้นเนื้อเล็กๆ ของปลาพญานาคไปอบในเตาอบ เนื้อของปลาพญานาคนุ่มนิ่มมาก แต่รสชาติคล้ายกระดาษมากๆ ไม่อร่อยเลย 

ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับรสชาติของเนื้อปลาพญานาคมาเพิ่มเติม พบว่าใน พ.ศ. 2492 มีรายงานระบุว่ารสชาติของปลาพญานาคไม่สมควรเอามาทำเป็นอาหาร แม้แต่สุนัขของชาวสแกนดิเนเวียที่ปกติชอบกินเนื้อปลา ก็ไม่กินเนื้อปลาชนิดนี้ ไม่ว่าสุกหรือดิบ 

นั่นแหละครับ เบื้องหลังตำนานภาพปลาพญานาคอันโด่งดัง 

ปลาพญานาคตัวนี้เคยถูกเชื่อว่าเป็นภาพพญานาคที่พบในแม่น้ำโขงในสมัยยุคสงครามเวียดนาม หลายคนคิดว่าการเกยตื้นตายของปลาพญานาคสื่อถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชาวญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่าปลาพญานาคเตือนภัยเรื่องแผ่นดินไหวได้ บ่อยครั้งปลาพญานาคมักนอนเกยตื้นที่ริมชายฝั่งก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว 

ความเชื่อนี้ได้ถูกพิสูจน์ในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2562 เมื่อคณะนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวและการเกยตื้นของปลาน้ำลึกหลายชนิดรวมถึงปลาพญานาค คณะวิจัยพบว่า สองปัจจัยดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติ ดังนั้น ปลาพญานาคจึงใช้เป็นเครื่องเตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
ภาพ : สำนักข่าว Express 

นอกจากนี้ ปลาพญานาคชนิดต่างๆ ยังปรากฏในความเชื่อด้านการเดินเรือและประมงในหลายๆ ประเทศ เช่น ในศตวรรษที่ 15 นักเดินเรือในมหาสมุทรเชื่อตำนานปีศาจงูทะเล (Sea Serpent) ซึ่งบางคนสันนิษฐานว่าตำนานดังกล่าวอาจหมายถึงปลาพญานาค 

ชาวนอร์เวย์โบราณก็เชื่อว่าหากใครทำร้ายปลาพญานาค จะส่งผลทำให้ปีนั้นจับปลาเฮร์ริง (Herrings) ได้ลดลง หรือแม้แต่ชาวอเมริกาที่อาศัยอยู่ทางด้านชายฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีความเชื่อว่าปลาริบบิ้น (Ribbonfish; Trachipterus altivelis) ซึ่งเป็นญาติห่างๆ กับปลาพญานาค เป็นผู้นำทางปลาแซลมอนจากท้องทะเลให้กลับมาวางไข่ในแม่น้ำได้ถูกต้อง เพราะมีชาวประมงเคยเห็นฝูงปลาแซลมอนว่ายน้ำตามหลังปลาปลาริบบิ้นในทะเลไปยังปากแม่น้ำ 

ชาวอเมริกาเหนือจึงเรียกปลาริบบิ้นว่า ราชาแห่งแซลมอน (King-of-the-Salmon) และตั้งกฎไม่ให้มีการล่าปลาริบบิ้นในสมัยโบราณ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทั้งสองอย่างที่กล่าวมายังไม่ถูกพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์

คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
ภาพปีศาจงูทะเลจากหนังสือเรื่อง History of the Northern Peoples ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1555 โดย Olaus Magnus นักเขียนชาวสวีเดน
คุยกับผู้เก็บชิ้นส่วน Oarfish ปลาพญานาค ในภาพถ่ายดัง 24 ปีก่อนที่ดูแลปลาตัวนี้ถึงปัจจุบัน
ภาพวาดความเชื่อเรื่องราชาแห่งแซลมอน (King-of-the-Salmon) โดย Robi Smith ศิลปินชาวแคนาดา โดยมีปลาริบบิ้นว่ายนำหน้าฝูงปลาแซลมอนเพื่อนำทางไปยังแหล่งวางไข่

ท้ายที่สุด ผมอยากย้ำว่าบทความนี้มิได้นำเสนอว่าพญานาคมีหรือไม่มีอยู่จริง หากแต่ต้องการเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังของภาพปลาพญานาคเท่านั้น พญานาคจะมีจริงหรือไม่ก็ต้องสืบหากันต่อไป 

สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้กับผู้อ่านทุกท่านคือ วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สวยงามและมีประโยชน์กับมนุษยชาติ แต่ในเวลาเดียวกัน ความเชื่อและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ถูกสืบทอดต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมมนุษย์และมีคุณค่าในตัว ดังนั้น การหาจุดสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์และความเชื่อ อาจเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สังคมของเราแข็งแรงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

Writer & Photographer

Avatar

วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์

นักชีววิทยาชาวไทย ผู้สงสัยในธรรมชาติและชอบเรียนรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านนิเวศวิทยา วิวัฒนาการ และพฤติกรรมของสัตว์ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา