โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ คือนักวาดภาพประกอบที่มีผลงานชุกอันดับต้นๆ คนหนึ่งของไทย 

หลายคนอาจจะแย้งขึ้นมาว่าใครนะไม่เห็นรู้จักเลย 

การที่เราไม่คุ้นชื่อของเขานั้นอาจจะเป็นเรื่องปกติ ด้วยงานวาดๆ เขียนๆ จำนวนมหาศาล กับนิสัยที่อยากให้เห็นงานมากกว่าเห็นตัวของเขา ไม่ค่อยเอื้อให้เขาพาตัวเองออกมาพบเจอสื่อหรือออกงานสังคมเท่าไหร่ 

แต่ผมมั่นใจมากว่า เราแทบทุกคนต้องเคยเห็นงานของโอผ่านตาแน่นอน เพราะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โอรับงานวาดภาพปกหนังสือและภาพประกอบให้กับทั้งนิตยสาร บิลบอร์ดโฆษณา บรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ ตั้งแต่ขนมไปจนถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปกอัลบั้มเพลง ภาพตกแต่งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าร้านอาหารที่เราคุ้นหน้าตากันดี ใบปิดหนัง หนังสือการ์ตูน ลวดลายบนเสื้อผ้าหลากหลายแบรนด์ดัง และอื่นๆ ที่ภาพประกอบจะไปอยู่ได้

โอเริ่มทำงานเป็นฟรีแลนซ์ตั้งแต่เรียน พอจบมาทำงานประจำได้ไม่นานก็ลาออกมาเพื่อเป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว โอทำงานเร็วและรับงานหลากหลาย โดยชอบทำงานในแอเรียใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย แม้บางงานทำไม่เป็น แต่ก็ชอบที่จะลองเสี่ยงทำดู (ซึ่งก็มักจะทำออกมาได้ดีเสมอ) โอมักจะคิดสไตล์และรูปแบบของงานที่แตกต่างกันให้กับลูกค้านิตยสารหรือสินค้าแต่ละแบรนด์ โดยดูจากคาแรกเตอร์ของแบรนด์นั้นๆ ซึ่งทำให้งานของโอมีหลากหลายสไตล์อย่างน่าตกใจ 

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพงาน Drawing เหมือนจริงกับภาพวาดที่มีบรรยากาศกลิ่นอายวินเทจย้อนยุคของโอนั้น โดดเด่นและมีอิทธิพลต่อแวดวงภาพประกอบและแฟชั่นในบ้านเรามากในช่วงหนึ่ง ด้วยการทำงานแบบมีลูกค้าทุกรูปแบบและความยืดหยุ่นของงานตัวเอง จึงทำให้โอไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินที่ต้องมีเอกลักษณ์เด่นชัดหนึ่งเดียว

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès
โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

โอยังเป็น Graphic Director ให้แบรนด์ PAINKILLER ร่วมกันกับพี่น้องเฑียรฆประสิทธิ์ ควบคู่ไปกับการทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาตลอด ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้โอร่วมกับหุ้นส่วนก่อตั้งบริษัทออกแบบ projecttSTUDIO รับงานทั้งกราฟิกและแบรนดิ้ง เพื่อโอกาสในการรับงานใหญ่ที่หลากหลาย ท้าทายยิ่งกว่าเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นงานแบรนดิ้งขององค์กรขนาดใหญ่หรือแอนิเมชันที่เกินกำลังโอคนเดียว การทำงานเป็นทีมจึงออกแบบและควบคุมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ 

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

นอกจากนี้ โอยังเพิ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดออกแบบลวดลายผ้าพันคอของแบรนด์แฟชันระดับตำนานของโลกอย่าง Hermès ในรายการ LE GRAND PRIX DU CARRÉ HERMÈS International Scarf Design Competition จากผู้เข้าร่วมการประกวดที่ส่งมาจากทั่วโลกกว่า 5,500 คน นี่จึงเป็นเหมือนก้าวใหม่ที่น่าตื่นเต้นของโออย่างแท้จริง 

เราจึงขอใช้วาระนี้ เดินทางมายังซอยสุขุมวิท 26 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ projecttSTUDIO เพื่อมาพูดคุยและค้นหาวิธีคิดวิธีการทำงานของนักวาดภาพประกอบคนนี้กัน

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

คุณเริ่มต้นมาเป็นนักวาดภาพประกอบได้ยังไง 

ก็จากการชอบวาดรูป เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่ชอบวาดรูปตั้งแต่สมัยอนุบาลสาม และโชคดีที่ความชอบมันทำเป็นอาชีพได้

ทำไมถึงชอบวาดรูป

มันเด็กจนจำไม่ได้ว่าตอนนั้นคิดอะไรอยู่ แล้วเราเป็นคนไม่ได้ชอบกิจกรรมอย่างอื่น เราไม่ชอบเล่นกีฬา การเรียนก็ไม่ได้ชอบอะไรมาก รู้แต่ว่าการวาดรูปเป็นของที่ทำได้ดีเพราะคนรอบตัวชื่นชม ประกวดอะไรก็ชนะ ได้ของรางวัลเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมากๆ มาตลอด 

ช่วงนั้นรู้สึกว่าศิลปะทำให้เราเป็นคนพิเศษ โดดวิชาพละไปจัดบอร์ดหรือวาดรูปในห้องศิลปะได้ ทุกคนรอบตัวก็ดูจะสนับสนุน จากอนุบาล ประถม มัธยม ก็วาดรูปมาตลอดนะ จะมากน้อยแล้วแต่ความยากของวิชาหลัก 

ช่วงที่ค่อยๆ โตขึ้น ก็เริ่มวาดของนอกเหนือจากสิ่งที่ครูให้วาด เหมือนเป็นภาพที่ติดอยู่ในหัวแล้ว มันจับใจเราในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งก็มีทั้งของที่เราชอบอย่างเกม การ์ตูน ในยุคนั้นทั้งที่ชอบหรือไม่ชอบ สวย เท่ น่าเกลียดน่ากลัว เราวาดมันออกมาหมดเลยหลากหลายรูปแบบ แล้วตอนนั้นเริ่มอยากทำมันเป็นอาชีพ ก็เลยเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ก็ต้องมาวาดแบบดรออิ้งด้วย โชคดีที่เราวาดได้ และมันสนุกทั้งหมดเลย ก็เลยเห็นข้อดีของงานทุกๆ แบบ

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

แต่คุณก็ไม่ได้เลือกเรียนสาขาภาพประกอบ แต่กลับเลือกเรียนออกแบบสิ่งพิมพ์แทนใช่มั้ย

ตอนเข้ามหาลัยมาแรกๆ ไอ้เราก็สายวาดใช่มั้ย อาจารย์ให้โจทย์อะไรมาก็จะทำเป็นการ์ตูนหรือภาพประกอบจัดจ้านไว้ก่อน วาดมือรายละเอียดยิบๆ สู่การตัดทอน ทำโลโก้ ปกหนังสือต่างๆ แล้วเพื่อนที่เราคบด้วยก็เป็นพวกชอบงานกราฟิก มันก็พาไปดูโน่นดูนี่ บางทีเห็นรูปวาดสวยๆ ถูกนำไปจัดวางไม่ดีก็เสียดาย อยากทำให้มันดีทั้งวาดและเลย์เอาต์ ก็เลยลงเรียนโทสิ่งพิมพ์ตอนปีสาม และเริ่มสนใจสิ่งพิมพ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำ Special Project (เทียบเท่าพรีทีสิสในสมัยนี้) เป็นปกซีดีเพลง และทำทีสิสเป็นภาพประกอบหนังสือ

แล้วคุณได้มาเริ่มทำภาพประกอบตอนไหน

ภาพประกอบก็ได้ทำเรื่อยๆ นะ ทั้งงานเรียนและงานจ๊อบเล็กๆ น้อยๆ โชคดีที่มีรุ่นพี่สองสามคนที่ไปทำงานกับนิตยสาร เขาเห็นเราพอวาดได้ตั้งแต่สมัยเรียนก็เลยชวน เราเป็นเหมือนฟรีแลนซ์ไปรับงานมาทำ 

ต้องอธิบายงานภาพประกอบในตอนนั้นก่อนว่า มันเป็นงานที่ไม่ได้เป็นอาชีพชัดเจน คนที่ทำงานตรงนี้มีน้อยมาก แล้วค่าวาดภาพประกอบในนิตยสารก็ถือว่าน้อย แต่การได้ตีพิมพ์งานตัวเองในนิตยสารมันก็เหมือนได้เผยแพร่ผลงานไปในวงกว้าง เราก็เลยวาดให้นิตยสาร LIPS มาจนเรียนจบและเริ่มทำงานประจำที่แรก 

งานประจำที่ว่าคือทำทุกอย่างจริงๆ สกิลล์ในการทำคอมฯ ทุกโปรแกรมได้จากที่นี่ ซึ่งตอนนั้นจากที่วาดภาพประกอบให้ LIPS หัวเดียว ก็มีนิตยสารหัวอื่นๆ เริ่มติดต่อเข้ามา เริ่มได้งานวาดสตอรี่บอร์ด ภาพโฆษณา แพ็กเกจจิ้งก็เริ่มเข้ามาหลากหลาย จนถึงจุดที่มั่นใจว่ารอดแล้วกับการเป็นนัดวาดภาพประกอบ ก็ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ลงสนามวาดทุกอย่างที่ขวางหน้า เรียกว่าเหมาทั้งนิตยสารและแบรนด์เสื้อผ้า ตอนนั้นเรามั่นใจว่างานเราเยอะชิ้นที่สุดนะ

จากการที่มีคนจ้างเยอะในวงการเดียวกัน มันทำให้คุณต้องสร้างสรรค์งานที่หลากหลายสไตล์ด้วยใช่ไหม 

นิตยสารแต่ละหัวที่ติดต่อมาเขาจะมีบุคลิกแตกต่างกัน LIPS, a day, หรือ HAMBURGER ตอนนั้นก็งงเหมือนกันนะ เพราะยังไม่ตกตะกอนเหมือนตอนนี้ ยังมีการลองผิดลองถูก LIPS จะแนวไลฟ์สไตล์ที่ไปทางแฟชั่นหรูๆ ซะเยอะ มีทั้งคอลัมน์ Quiz ที่ประเด็นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คอลัมน์เกี่ยวกับ Sex ที่วาดเป็นคน เนื้อหนังมังสา ส่วน a day นี่ได้ทำปกเยอะมาก เขาอาร์ตสุดเหวี่ยง เปิดรับได้ทุกแนวอยู่แล้ว สนุกสนานมาก HAMBURGER ไลฟ์สไตล์กับแฟชั่นเหมือน LIPS แต่ติดดินขึ้น

เราทำภาพประกอบคอลัมน์รีวิวหนัง ภาพก็จะเปลี่ยนตามหนัง แต่มีจุดร่วมกันที่เราใส่ Typo ชื่อหนังลงไปในภาพแบบเนียนๆ โดยรวมต่อเดือนวาดเป็นสิบรูป บางคอลัมน์ยาวนานหลายปี ถ้าเราทำสไตล์เดิมเรื่อยๆ ไม่เราก็เขาก็คงเบื่อ เวลานิตยสารเปลี่ยนรูปแบบเราก็ปรับตามเขาไป ดูสิ่งที่เขาทำและปรับให้กับไปในทิศทางเดียวกัน พอเข้าใจเขาก็เลยอยู่ด้วยกันมายาวๆ อย่าง LIPS เนี่ยวาดให้เป็นสิบปีเลย

หรืออย่างงานที่วาดให้แบรนด์แฟชั่นหรือร้านอาหารที่มีความเป็นภาพวินเทจเก่าๆ ยุโรปๆ ส่วนหนึ่งเพราะผมมารู้ตัวเองว่าชอบของเก่าถึงได้ซื้อพวกหนังสือเก่าเก็บไว้ และผสมกับเกมที่ชอบเล่นอย่าง Final Fantasy ช่วงยุคแรกๆ ซึ่งลูกค้าที่เราคิดไว้ว่าเขาน่าจะชอบก็ชอบมาก

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès
โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

อยากรู้ว่าการที่ยืนระยะทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาได้ยาวนานขนาดนี้ คุณมีวิธีการคิดงานหลังจากที่ได้รับโจทย์ยังไง

ขอใช้คำว่านิมิตได้มั้ย (หัวเราะ) คือเวลาได้รับโจทย์มา ภาพงานที่เสร็จแล้วจะโผล่ในหัวมาทันที มันคงเป็นเพราะเคยวาดมาเยอะ แต่ถ้าคิดไม่ออกหรือเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็จะต้องคิดเอาจากคลังภาพในหัวที่เราศึกษาและดูมาก็เยอะ เพราะเป็นคนชอบดูแต่ไม่ชอบอ่าน จำภาพมากกว่าเนื้อหาน่ะ พอเริ่มเห็นว่างานจะออกไปทางไหนได้ก็หยิบเอาไอเดียภาพนั้นมาปรับให้เหมาะกับลูกค้าทั้งสไตล์และเทคนิค ให้ลูกค้าชอบก่อน เดี๋ยวเราจะชอบเอง อันนี้คืองานที่มีคนจ้างทำนะ

อย่างการประกวดผ้าพันคอ Hermès ก็เหมือนกัน พอรู้ข่าวว่ามีการประกวด ในหัวเรามีไอเดียและเห็นออกมาเป็นภาพเลย เราก็ลุยทำต่อในไอเดียนั้นจนประกาศมาได้รางวัลที่สอง เราค่อนข้างเชื่อสัญชาตญานของตัวเองนะว่าเขาจะชอบมันเหมือนที่เราชอบ

ฟังดูง่ายมากเลย หรือคุณมีหลักในการทำงานแบบไหนอีกบ้างมั้ย

อย่าปฏิเสธงานโจทย์ยาวๆ หรือตีกรอบมาให้แคบๆ ผมเคยทำภาพประกอบให้นิตยสารแฟชั่นเล่มหนึ่ง ให้นักวาดแต่ละคนวาดคนละแบรนด์ร่วมฉลองนิตยสารครบสิบห้าปี โดยมีบรีฟมาว่าให้วาดเจ้าของแบรนด์นั้นๆ ใส่ชุดแบรนด์ตัวเองถือแชมเปญ และมีเลขสิบห้าใหญ่ๆ เราก็เข้าใจตามนั้น ผ่านไปสักพักทางหนังสือก็โทรมาบอกว่า เขารู้สึกว่าบรีฟมากเกินไป กลัวศิลปินจะขัดใจ ไม่ต้องทำตามบรีฟหมดก็ได้ เราก็เลยตอบเขาไป ทำเสร็จแล้วครับ ได้ตามที่ขอทุกอย่างครับ 

ผมกลับรู้สึกว่าเราชอบเอาใจคนอื่น สมมติว่าคุณมาจ้างให้ผมวาดรูปให้ ผมจะคิดว่าวาดยังไงก็ได้ให้คุณชอบ ไม่ต้องกังวลเลย

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

แล้วคุณจะรู้ใจลูกค้าแต่ละคนได้ยังไงว่าใครจะชอบแบบไหน

การเดาว่าลูกค้าจะชอบแบบไหนมันคือประสบการณ์ล้วนๆ ก็เหมือนการวาดรูปพอร์ตเทรตให้คนที่รู้จักกับคนที่ไม่รู้จักนั่นแหละ ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อน เราก็วาดจากที่เห็นอยู่ตรงหน้า รูปร่างหน้าตา การแต่งหน้าแต่งตัว แล้วคาดเดาว่าเขาน่าจะชอบประมาณนี้ คือมันไม่ได้แม่นเท่ากับการได้รู้จักพูดคุยกัน ซึ่งเวลามีงานจากลูกค้าใหม่ เราต้องตื๊อข้อมูลจากเขาประมาณหนึ่ง ถ้าเขาไม่ให้ก็ไปหาเอาเอง แล้วก็ทำงานแบบที่คิดว่าเขาน่าจะชอบส่งไป คือมันจะเป็นงานที่สวยตามมาตรฐานนะ แต่ถ้าเป็นงานจากคนรู้จักกัน หรือเป็นลูกค้าประจำเนี่ย เราจะกล้าเสนออะไรที่มากกว่าความสวยตามมาตรฐาน เพราะงานสวยมาตรฐาน ลูกค้าที่เคยร่วมงานกันมาแล้วเขาจะเฉยๆ สำหรับเราที่เป็นนักวาดภาพประกอบมันน่ากลัวจะตายเวลาที่คนเห็นงานเราแล้วเขาไม่รู้สึกอะไร

แต่กับลูกค้าบางคนก็มากับโจทย์ที่ไม่อยากทำ อย่างงานที่วาดแล้วสวยยาก แต่เรามักจะเห็นทางรอด เราชอบมองเห็นอะไรดีๆ ในขณะที่คนอื่นมองข้ามมันไป ของไม่สวยหรือธรรมดาสำหรับคนอื่นเราจะทำให้สวยขึ้นเอง เคยมีเพื่อนคนหนึ่งพูดแซวว่า “ไอ้โอวาดกระดุมเม็ดเดียวให้สวยจนเอาไปติดร้านได้” (รูปกระดุมนี้ติดอยู่ที่ร้าน PAINKILLER – ผู้เขียน)

แล้วคุณเคยมีงานที่ทำไม่ได้บ้างมั้ย

งานปกอัลบั้มแดดส่องของวงโมเดิร์นด็อก ตอนรับโจทย์มาลูกค้าอยากได้เป็นภาพสีน้ำมัน ซึ่งเราไม่เคยทำ ทำไม่เป็น แต่ก็เสียดายโอกาสการวาดปกโมเดิร์นด็อก คือคิดเอาเองว่าสีน้ำมันคงไม่ต่างกับสีโปสเตอร์มากหรอก ก็ลองไปวาดดู แต่เวลาน้อยเกินไป เลยย้ายไปลองวาดในคอมฯ แทน ทดลอง ทดลอง แล้วก็ทดลอง จนได้สุดยอดเทคนิคที่ได้งานใกล้เคียงสีน้ำมันจนคนดูไม่ออก นี่รู้สึกรอดตายแถมได้วิชาอีก

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

ซึ่งคุณไม่กลัวทำงานผิดพลาดแล้วกลายเป็นเสียชื่อในวงการเหรอ

ผมเป็นคนคิดเร็วทำเร็ว ก็เลยมีจำนวนครั้งให้ลองผิดลองถูกเยอะ เดี๋ยวก็ทำได้เองน่ะ พูดถึงงานที่เสียชื่อก็มี แต่คนที่รู้สึกคือตัวเราเอง ซึ่งมันนานมากๆ แล้ว เป็นงานวาดการ์ตูนต่อจากพี่คนหนึ่งที่เขาสไตล์จัดมากๆ ตอนนั้นคิดไม่ได้ว่าไม่ควรรับ (หัวเราะ) หรือรับมาแล้วก็ควรทำที่ตัวเองถนัด ไม่ใช่ไปแสร้งเป็นตัวเขา เลยออกมาเป็นงานฟีลวาดเล่นสบายๆ แต่ดูเกร็งๆ ขัดๆ และฝืนมาก จนไม่กล้าหยิบมันขึ้นมาดูเลยเป็นครั้งที่สอง 

ดูเหมือนคุณไม่กลัวการไปทำงานอะไรใหม่ๆ ที่ทำไม่เป็น

สมัยตัวคนเดียวเป็นคนที่อ้ากว้างกับโอกาสมาก (หัวเราะ) รับได้ทุกอย่าง ขอทำก่อน ดีไม่ดีค่อยว่ากัน 

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès
โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

อย่างช่วงที่ผ่านมาคุณทำงานทั้งภาพประกอบในนิตยสารและลวดลายผ้าต่างๆ ของแบรนด์แฟชั่น มีการปรับตัวระหว่างแต่ละสิ่งยังไงบ้าง

กว่าเราจะปรับตัวได้ก็นานอยู่ สิ่งแรกคือเปิดใจกับแฟชั่นก่อนว่า มันเรื่องของเทรนด์เข้ามาเกี่ยวข้อง โปรดักชันที่มากมายกว่าการพิมพ์ลงบนหนังสือ

สมมติเรื่องเรื่องหนึ่ง คิดออกมาเป็นภาพที่มีองค์ประกอบสิบอย่างที่อยู่บนกระดาษเราคงไม่คิดอะไร แต่พออยู่บนเสื้อผ้า เราอาจเลือกมันมาแค่สองสามอย่างที่เอามาอยู่บนเสื้อผ้าแล้วน่าใส่ แล้วเอาไปตัดทอน ให้เหมาะกับการผลิตเสื้อผ้านั้นๆ รวมไปถึงคนที่ซื้อด้วย อย่างเช่น ลดสีลงเพื่องานสกรีน เพราะผู้ชายชอบเสื้อสีน้อยๆ หรือย่อให้เล็กจิ๋วแล้วยังโอเคเพื่อการปักบนอกเสื้อ

ภาพวาดของเราไม่ใช้ทั้งหมดในคอลเลกชัน แต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยเล่าเรื่อง เมื่อก่อนเคยไฟแรงคิดลายเต็มไปหมดเลย แต่เสื้อไม่ใช่หน้านิตยสาร มันไม่มีใครกล้าใส่

การที่คุณเป็นนักวาดภาพประกอบที่ทำงานได้หลากหลายแทบทุกแนวและเทคนิค การไม่มีคาแรกเตอร์ชัดๆ ทำให้ได้หรือเสียอะไรบ้าง

ข้อดีคือไม่เบื่อ เปิดกว้าง ได้ทำอะไรมากมายหลากหลายไม่รู้จบ แต่ข้อเสียก็คือด้วยความที่เราทำแบบนั้นที แบบนี้ที ความสามารถเราก็อาจจะไม่แน่นเท่าคนที่เขาทำแบบเดียวซ้ำๆ จนชำนาญ ลูกค้าบางคนรู้จักเราจากชื่อ พอเขาเห็นความหลากหลายของงานกลับมองเราว่าไม่ชัดเจน ซึ่งก็เข้าใจได้ 

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

คุณเคยพูดหลายทีแล้วว่าเป็นคนขี้เบื่อและขี้กลัวว่าคุณภาพงานไม่ถึง นอกจากสองสิ่งนี้มีอย่างอื่นที่ผลักดันการทำงานของคุณอีกมั้ย

ตรงๆ ก็ลูกค้าไง ทำงานให้เขานะ ถ้าทำงานไม่ออกหรือสับสนกับตัวเองมากๆ ให้คิดถึงผลกระทบกับคนอื่นถ้างานไม่เสร็จ

เราชอบความรู้สึกตอนกำลังลงมือทำงานอยู่ คือชอบทำงานที่ดี เวลาวาดแล้วรู้สึกว่ามันสวย เฮ้ยโอเคว่ะ พอได้เห็นงานที่ค่อยๆ ทำเป็นรูปเป็นร่างออกมาดี ก็เออ… มีความสุขแล้ว

ทั้งที่ทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี อะไรทำให้คุณตัดสินใจทิ้งการเป็นคนทำงานอิสระมาเปิดออฟฟิศ projecttSTUDIO

ก่อนหน้านี้ เวลาทำงานเรามักจะได้รับบรีฟผ่านเอเจนซี่มาอีกที แทบไม่ได้เจอลูกค้าโดยตรงสักเท่าไหร่ แล้วเรามักจะเจอว่างานที่ส่งไปมันถูกนำไปใช้งานต่อแบบที่เราควบคุมไม่ได้ ในกรณีที่เราคิดว่าการใช้งานมันน่าจะทำได้ดีหรือสนุกกว่านี้ แล้วพอดีจังหวะที่ เหมียว (ธาริดา นิมมานวุฒิพงษ์) เขามีประสบการณ์การทำงานด้าน Creative Direction ที่นิวยอร์กแล้วกลับมาไทย ซึ่งเราก็ดูเขาทำงานมาสักพัก เลยรู้สึกว่าถ้าได้ทำงานร่วมกันจะทำให้งานออกมาแข็งแรงมาก เพราะมีจุดแข็งทางครีเอทีฟครอบคลุมแทบจะทุกด้าน น่าจะสร้างอะไรอื่นๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะทำด้วยตัวคนเดียว 

และการเปิดออฟฟิศขึ้นมาทำให้เราได้พบเจอลูกค้าใหม่ๆ ที่สมัยทำงานเป็นฟรีแลนซ์คงไม่ได้เจอแน่ๆ อย่างพวกแบรนด์ใหญ่ๆ ห้างสรรพสินค้า หรืองานจากต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือเราสามารถเป็นคนเสนอไอเดีย แนะนำหรือแลกเปลี่ยนความคิดกับลูกค้า เราเองได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้นมาก เวลาเห็นงานออกมาเราจะเข้าใจขั้นตอนทุกอย่าง รู้จักการทำงานเป็นทีม และเห็นจุดแข็งจุดด้อยของตัวเอง 

ยกตัวอย่างเช่นงานแคมเปญ LIFE QUEST ที่เป็นแอนิเมชันของทาง Central Embassy งานนั้นเกิดตอนนั่งคุยกันสองคนว่า ทำไมโฆษณาห้างฯ เอาแต่ดารามาเป็นจุดขาย ลองคิดเสนอมุมใหม่ให้ผู้บริโภคกัน ก็เลยมาทำแอนิเมชันที่สนุก ลึกซึ้ง และตอบโจทย์ที่ลูกค้าอยากขายอย่างมีชั้นเชิงหน่อย งานนี้นอกจากเราวาด สร้างตัวละคร เรายังช่วยกันคิด เขียนบท เลือกคนพากย์ ไปขายงานกันเองแบบเริ่มจากศูนย์จริงๆ โชคดีด้วยที่ลูกค้าเชื่อใจ ลูกค้าเลยปล่อยให้ทำแบบไม่กังขา เพราะพลังของการทำงานเป็นออฟฟิศจริงๆ โปรเจกต์นี้ไม่มีทางเกิดขึ้นถ้ามีเราคนเดียว

โอ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ จากเด็กอนุบาลชอบวาดรูป สู่นักวาดภาพประกอบไทยที่ได้รางวัลการออกแบบจาก Hermès

ซึ่งรูปแบบการทำงานของคุณก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยมั้ย

ใช่ เมื่อก่อนเราก็แค่วาดภาพประกอบตามโจทย์ แต่ตอนนี้ก็เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ด้วย ดูทั้งเรื่องของออกแบบโลโก้ ดูแบรนด์ดิ้งด้วย อย่างตอนนี้ที่ออฟฟิศมีกันหกถึงเจ็ดคน มันก็ดูเกี่ยวกันหมด คนนี้แวะดูนี่แล้วเดี๋ยวไปแวะดูนั่น แล้วเราก็ต้องคุยกันเป็นทีม
ปีแรกค่อนข้างยากเพราะที่ผ่านมาฉายเดี่ยวตลอดไง ไม่ได้มองทุกอย่างเผื่อใครเลย เอาตัวเองเป็นหลัก ก็ต้องทำงานให้ช้าลง บางทีเราก็มั่นใจเกินไปเราคิดว่าเราอ่านลูกค้าขาดแล้ว ไม่ฟังคนอื่นเลย จนพังไปตั้งหลายงาน ต้องทำงานเป็นทีมและนึกถึงทุกคน เพราะเราเป็นออฟฟิศแล้ว

ภาพประกอบที่ดีของนักวาดภาพประกอบอย่างคุณนั้นเป็นยังไง

ภาพประกอบเนี่ย เรื่องกับภาพจะต้องไปด้วยกันใช่มั้ย เวลาเราดูภาพแล้วอ่านเรื่อง หรืออ่านเรื่องแล้วดูภาพ แล้วพบว่ามันไม่ไปด้วยกันเลย ถือว่าไม่ผ่าน การเล่าเรื่องด้วยภาพจะเล่าตรงๆ อ้อมๆ หรือจะไม่เล่าเลย แสดงอารมณ์ น้ำเสียง รสชาติอะไร สไตล์หรือเทคนิคแบบไหนก็แล้วแต่เลย ถ้ามันเข้ากับเรื่องที่จะเล่าก็ไม่มีปัญหา

สำหรับเรามันจะยากตรงความงามนี่แหละ ความงามในที่นี้ก็ดันมีหลากหลายอีก คุณว่างาม ผมว่าน่าเกลียด อยู่ที่จะให้ใครมองอะนะ แต่ที่ยากที่สุดคือมันต้องจับใจในแรกเห็น 

สรุป ภาพประกอบที่ดีสำหรับเรา คือภาพที่เล่าเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเหมาะเจาะและงดงามจับใจ

ตอนนี้คุณก็ประกวดได้รางวัลจากงานออกแบบระดับโลกอย่าง Hermès แล้วก็มีบริษัทออกแบบของตัวเอง ยังมีอะไรที่คุณยังอยากทำอยู่อีกมั้ย

อยากทำอะไรที่เป็นตัวเราสุดๆ ละมั้ง มีภาพสวยๆ ในหัวเยอะก็วาดเล่นได้แค่เพลินๆ เหมือนยังขาดแรงผลักดันให้มันเข้มข้น จริงจังขึ้น เป็นแบบนี้มาตลอด จนปีนี้แหละที่มีทางออกให้มันอย่างสวยงามแล้ว

ซึ่งทางออกที่คุณว่านั้นก็คือ?

ยังบอกไม่ได้ บอกได้แค่ไม่ใช่งานนิทรรศการของตัวเองแน่ๆ (ยิ้ม)

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan