ใหม่เสมอ’ คือความหมายของชื่อวง NUVO 

วงดนตรีที่เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเพื่อน 6 คนที่มีความฝันและแพสชันทางดนตรีเหมือนกัน

สมาชิกทั้งหกคนประกอบด้วย จิรายุส วรรธนะสิน, สหรัถ สังคปรีชา, จอห์น รัตนเวโรจน์, ปีเตอร์-แอนโทนี่ แฮมมอนด์, สุรชัย สุนทรธาดากุล และ ชยุต บุรกรรมโกวิท

ความฝันของเด็ก ม.ปลาย 6 คนที่กลายเป็นวง NUVO กับการกลับมาหลัง 30 ปีที่ทำให้เพลงยังใหม่เสมอ

ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษในเส้นทางดนตรีที่บ่มเพาะฝีมือและประสบการณ์ อาจมีแยกย้ายไปทำงานตามเส้นทางของตัวเองบ้าง แต่มิตรภาพยังไม่แปรเปลี่ยน 

พวกเขายังรวมกันเล่นดนตรีและร้องเพลงด้วยกันเหมือนในวันที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย และยังคงเล่นเพลงฮิตมากมายอย่างเต็มที่เหมือนที่ผ่านมา

4 อัลบั้มในยุคเริ่มแรกในช่วงเทปคาสเซตต์กำลังรุ่งเรือง มีอัลบั้มที่ยอดขายเกินล้านตลับ และไม่ว่าจะเป็นเพลงหน้า A หรือหน้า B ของเทปคาสเซตต์ ล้วนติดอันดับเป็นเพลงฮิตเพลงดังและคุ้นหูคนฟังเกือบทุกเพลง 

ถ้าถามว่าเพลงใดคือเพลงที่ดังที่สุดของนูโว คนฟังอย่างเราคงเลือกไม่ได้ แม้สมาชิกทั้งหกของวงเองก็เลือกไม่ได้เช่นกัน

ที่น่าทึ่งกว่านั้น คือไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด เพลงฮิตที่ผ่านเวลามายาวไกลก็ยังติดหูติดใจคนหลายวัยที่ได้ร่วมร้องร่วมฟัง แม้เวลาล่วงเลยนับเป็นสิบๆ ปีจนถึงปัจจุบัน ท่วงทำนองและเนื้อร้องก็ยังเข้ายุคเข้าสมัยโดนใจไม่มีเปลี่ยน

นี่คงเป็นเสน่ห์ของบทเพลงที่สะท้อนความ ‘ใหม่เสมอ’ เหมือนชื่อวงดนตรีของพวกเขา บทเพลงที่ว่าเก่าจึงยังใหม่เสมอในใจ ในความทรงจำ และในความเป็นจริง 

แม้ในวันเริ่มต้น นูโวไม่เคยคิดฝันว่าวงดนตรีของกลุ่มเพื่อนจะอยู่ยาวนานจนกลายเป็น Legend ของวงการเพลงไทย แต่พวกเขาก็ยืนระยะอยู่ในวงการ พร้อมรักษามิตรภาพที่ดีต่อกันได้ยืนยาวนานมากว่า 30 ปี

ความฝันของเด็ก ม.ปลาย 6 คนที่กลายเป็นวง NUVO กับการกลับมาหลัง 30 ปีที่ทำให้เพลงยังใหม่เสมอ

เป็นวัยรุ่นได้ใหม่เสมอ

  วันที่เรานัดพบกับ 6 สมาชิกของวงนูโว เป็นวันที่พวกเขารวมตัวกันทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไล่ทำงานแน่นเอี้ยดยาวไปตามตารางทั้งวัน  เพราะเป็นช่วงที่พวกเขามารวมกันทำคอนเสิร์ตครั้งใหญ่อีกครั้ง กว่าเราจะได้เจอพวกเขาก็ล่วงเลยมาเย็นย่ำ 

เมื่อถึงเวลานัด สมาชิกทั้งหกคนทยอยออกมาถ่ายภาพกับเราที่ดาดฟ้าของอาคาร แม้เวลานั้นอากาศจะยังอบอ้าว แต่พวกเขาสลัดความเหนื่อยล้าออกไปเป็นปลิดทิ้ง

ไม่ว่าช่างภาพขอให้โพสอย่างไร พวกเขายินดีและสนุกไปกับการถ่ายภาพ เมื่อเข้าเฟรมด้วยกันก็มีหยอกเย้ากันเอง และหันมาพูดเล่นกับทีมงาน แม้ต้องเร่งเก็บภาพก่อนหมดแสงแห่งวัน แต่มวลบรรยากาศการทำงานนั้นเป็นไปอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง

หลังเก็บภาพครบ เรามีเวลาในการพูดคุยไม่มากนัก และด้วยรู้ว่าพวกเขากรำงานมาทั้งวัน จึงอยากให้ช่วงเวลาการสนทนาเป็นบรรยากาศที่พวกเขาได้นั่งพักพูดคุยกัน โดยมีเราขอร่วมวงตามประสาคนอยากรู้อยากถามไถ่พี่ๆ ในวงดนตรีที่ติดตามและร้องเพลงของพวกเขามาตั้งแต่จำความได้

เราเพียงเปิดประเด็นคำถาม แล้วเรื่องราวการสนทนาก็ตามมา

“วันนี้พี่ๆ ทุกคนดูคึกคัก ทำงานอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะพี่สุ (หนุ่มผมชมพูมือเบส) ที่เฮฮาเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงถ่ายภาพ” เราเริ่มบทสนทนาหลังจากสวัสดีพี่สมาชิกวงนูโวทุกคน

พี่สุปีนี้ก็ยี่สิบเจ็ดแล้วนะ อีกยี่สิบเจ็ดปีใกล้ร้อย” ก้องรีบพูดขึ้นแล้วหัวเราะกับเพื่อนคนอื่นๆ ขณะที่สุยิ้มรับและทำท่าทะเล้นเช่นเคย  

จอห์นเห็นเพื่อนเริ่มต้นบทสนทนาแบบอำกันเล่นอย่างนั้น จึงหันมาพูดเชิงรับประกันกับเราว่า การที่ได้มารวมตัวกันครบหกคนก็จะมีเรื่องสนุก เรื่องดีๆ เกิดขึ้น เหมือนหกองครักษ์ที่มาครบเมื่อไหร่ ก็คอยดูสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เลย”

ได้ยินเขาพูดอย่างนั้น เราจึงเดาว่าเมื่อก่อนวงนูโวน่าจะแสบสัน และมีเรื่องดุเด็ดเผ็ดมันไม่น้อย

ตลอดเวลาที่เราเติบโตมาด้วยกันตามเวทีคอนเสิร์ตมีเรื่องราวสนุกเยอะมาก และมีเรื่องราวที่เล่าให้ฟังไม่ได้ ทั้งจะโดนไล่ฆ่า เจ้าของงานจ่ายมัดจำไม่ครบ มัคนายกวัดบอกว่า นูโวครับ ท่านก็รวยแล้วนะ หรือแม้แต่ขว้างแก้ว คนตีกัน เก้าอี้ลอยมาบนเวที มีครบ ทุกวันนี้ก็เลยเบาๆ กันลงหน่อย” โจพูด

แต่ถ้าเห็นเราไม่ได้โตขึ้นมาเท่าไหร่ ให้อภัยเราด้วย” จอห์นพูดปิดท้ายพร้อมหัวเราะ

ความฝันของเด็ก ม.ปลาย 6 คนที่กลายเป็นวง NUVO กับการกลับมาหลัง 30 ปีที่ทำให้เพลงยังใหม่เสมอ

เพลงฮิตตลอดกาล

นูโวเป็นวงดนตรีที่มีเพลงฮิตติดหูมากมาย ถ้าให้ทาย เพลงที่ใครหลายคนไม่มีวันลืมน่าจะมี สัญชาตญาณบอก เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิด โง่งมงาย หลอกกันเล่นหรือเปล่า บอกอย่างงั้นอย่างงี้เลย ลืมไปไม่รักกัน กวีบทเก่า และอีกหลายเพลง และน่าชื่นใจที่เพลงดังในวันวานยังคงเป็นเพลงที่หลายคนหยิบมาฟังได้เสมอจวบจนวันนี้

“ขณะที่เพลงใหม่ๆ ดังเป็นเทรนด์แบบมาแล้วไป ทำไมเพลงส่วนใหญ่ของนูโวยังมีคนนำมาร้อง สถานีวิทยุหยิบมาเปิดให้คนฟังจนปัจจุบัน” เราถามขึ้นเพราะอยากรู้ความรู้สึกของพวกเขาในฐานะคนถ่ายทอดบทเพลงเหล่านั้น 

ต้องขอบคุณคำถามนี้ที่พูดเข้าข้างเราไปหรือเปล่า” จอห์นเอ่ยขึ้นคนแรกด้วยรอยยิ้ม ก่อนยกให้ก้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้แบบยาวๆ ว่า 

น่าจะเป็นเพราะเพลงลงตัวนะ เมื่อฮาร์โมนีลงตัว เมโลดี้ลงตัว เนื้อหาลงตัว ทุกอย่างลงตัว เพลงก็อยู่ได้นาน และเป็นอมตะ เหมือนที่เรายังฟังเพลงของ The Beatles หรือเพลง Hotel California ของ The Eagles เพลงเหล่านี้เก่ากว่านูโวตั้งสิบปี วันนี้ก็ยังฟังกันอยู่ เราหยิบมาฟังเมื่อไหร่ก็ไม่เบื่อ เพลงของนูโวก็มีความลงตัวที่ฟังได้เรื่อยๆ เหมือนกัน

  “ที่สำคัญคือ ต้องขอขอบคุณผู้แต่งก่อนเลย ผู้ที่ทำดนตรีและเนื้อร้อง สองคนนี้เป็นหัวใจสำคัญ ต่อมาก็ถึงพวกเราที่เป็นคนร้องถ่ายทอด ทุกคนในกระบวนการทำเพลงสำคัญทั้งหมด โดยแกรมมี่คือคนที่รวบรวมทุกคนมาประกอบร่างจนเป็นงานที่สมบูรณ์”

“พี่บูลย์-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และ พี่เต๋อ-เรวัต พุทธินันท์ ได้มองและเล็งเห็นว่า ถ้าทำระบบนี้แล้วจะเกิดความเจริญงอกงามในทุกฝ่าย เมื่อจับแพะชนแกะ เลี้ยงขุนให้ดี ทุกอย่างก็ออกมาดีหมด ในยุคหนึ่งเพลงจึงดีและคนชอบกันมาก” โจที่นั่งฟังอย่างตั้งใจพูดเสริมขึ้น

คุณไพบูลย์คงคาดไม่ถึงว่านูโวจะเป็นคนร้องเพลงดังกล่าว ข้ามมาสองสามเจเนเรชันแล้วก็ยังร้องอยู่” จอห์นเปิดประเด็นขึ้นมา ก่อนที่โจจะเล่าต่อว่า 

การที่เพลงร้องอยู่มันประเมินค่าไม่ได้เลยนะ วันนั้นยังคุยเล่นๆ เลยว่า ขอค่าที่พวกน้องไม่เลิกและร้องเพลงอยู่หน่อยได้ไหม เพราะมันประเมินค่าไม่ได้เลยกับการที่วงดนตรีวงหนึ่งยังเล่นอยู่ เพลงเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกเก็บไว้แต่ในลิ้นชัก หรือเงียบแบบไม่มีใครเอาเพลงไปคัฟเวอร์เลย”

จอห์น รัตนเวโรจน์

ไม่มีเพลงหนึ่งเพลงใดเป็น The Very Best of NUVO

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เยอะมาก” เมื่อเราถามว่าเพลงใดควรเป็นเพลงที่ดีที่สุดของนูโว 

ดังนั้น คงไม่ใช่แค่คนฟังที่ไม่รู้จะยกตำแหน่งเพลงดังที่สุดให้เพลงใดของพวกเขา เพราะสมาชิกทั้งหกก็เลือกให้รางวัล The Best กับเพลงของพวกเขาเองไม่ได้เช่นกัน

“ตอบไม่ได้เลย” ปีเตอร์ มือคีย์บอร์ดหลักวงนูโว ว่าอย่างนั้น

ผมก็ชอบหมดนะ แต่เพลงที่ชอบมากมักเป็นเพลงที่มีสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง มีคุณค่าเนื้อหาที่คัดมาอย่างดี เช่น ฉันยังคงอยู่ เก่าไปใหม่มา โลกเราสวยงาม เพราะถ้าเป็นเพลงป๊อปเพลงช้าที่คนชอบ เราก็ฟังกันชินแล้วอย่าง ไม่เป็นไรเลย บอกอย่างนั้นอย่างนี้ เพลงเหล่านี้พอดนตรีขึ้นมาคนก็กรี๊ดแล้ว” โจให้เหตุผลของเขา

ขณะที่ต่างคนเหมือนจะพยายามครุ่นคิดว่าจะเอ่ยถึงเพลงในใจเพลงไหนดี ก็มีเสียงหนึ่งเอ่ยขึ้นให้อีกห้าคนหันมาสนใจ และกลายเป็นเรื่องขำขันที่หยิบมาอำสมาชิกคนหนึ่งเสียได้

คนคนนั้นคือใหม่ มือกลองประจำวง

“แต่ผมชอบ มาลองดูสักที นะ” ใหม่ว่า

“‘มา มาสิมา’” จอห์นร้องเป็นทำนองเพลงทันที “แต่เราก็มีผิดพลาดเยอะนะ” เขาทิ้งท้าย ซึ่งกลายเป็นโจเห็นด้วย 

สี่อัลบั้มแรกก็มีพลาดกันอยู่ แบบ เห้ย มีเพลงนี้อยู่ได้ไงวะ”  

ทั้งหกคนหัวเราะขำพร้อมกันอย่างถูกอกถูกใจคำพูดของโจ

ทุกวันนี้มีเพลงที่ถ้าให้ก้องร้องต้องจ้างมันสักแสน” โจพูดขึ้นพร้อมเอื้อมมือไปสะกิดก้องที่นั่งอยู่ห่างจากเขาให้มาสนใจ “‘เก็บเอาไว้จำ เก็บเอาไว้ให้จำ…’ (ร้องเป็นทำนอง) ร้องฮุกยังไงนะ” เขาหันกลับมาถามใหม่ที่ยิ้มฟังอยู่

ก็นี่แหละฮุก” ใหม่เน้นเสียงอย่างขำๆ

ยังจำไม่ได้เลย” 

พูดแล้วก้องก็หัวเราะเขิน ซึ่งบังเอิญเรียกเสียงหัวเราะฮาจากทุกคนได้

เพราะพอจบจากห้องอัดก็แทบไม่ได้เล่นเพลงนี้เลย” ใหม่หันมาอธิบาย

จากนั้นก็กลายเป็นว่าสมาชิกสองสามคนแข่งกันหยิบยกบทเพลงที่ห่างหาย แต่ยังเป็นเพลงที่อยู่ในใจกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ตกลงจะซื้อไหม และ หลุมหลบภัย ที่เขาบอกให้เราไปลองหาฟังดู

แต่ไม่ว่าใครจะพูดถึงเพลงไหน เรากลับแอบเห็น ก้อง สหรัถยังแอบอมยิ้มอยู่ไม่หายตั้งแต่ที่เพื่อนแซวถึงเพลงที่เขาแทบไม่ได้กลับมาร้องอีกเลย

ก้อง สหรัถ สังคปรีชา

เพลงก็เหมือนเมนูโปรดในใจ

อีกเรื่องที่อยากรู้คือ ความรู้สึกของพวกเขาเป็นอย่างไร เมื่อต้องร้องเพลงเดิมเป็นหลายร้อยหลายพันครั้งต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ จะยังรู้สึกสนุกกับการร้องเพลงเดิมๆ อยู่ไหม ในวันที่ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น และบางบทเพลงเนื้อหาก็อาจจะดูว่าเด็กไปแล้ว (หรือเปล่า)

เหมือนเดิมนะ เหมือนกินข้าวกุ้งกระเทียมพริกไทย ผมกินมาตั้งแต่สองขวบครึ่ง ทุกวันนี้ได้กินก็อร่อยเหมือนเดิม” ก้องตอบเป็นคนแรก

“อย่างข้าวกะเพราหมูก็มีความอร่อยของมัน ผ่านมานานแค่ไหนเราก็ซาบซึ้งกับความอร่อยนั้น ถึงจะกินซ้ำๆ ก็อร่อยอยู่ดี” ใหม่ว่าตาม

ถ้าหิว อะไรก็กินได้ ถ้าไม่หิวก็ไม่ไหว” โจแทรกขึ้นกลางวง

ทุกคนพร้อมใจกันหัวเราะกับมุกที่ชงมาได้โดนใจและตรงจังหวะพอดี

จิรายุส วรรธนะสิน, สหรัถ สังคปรีชา, จอห์น รัตนเวโรจน์, แอนโทนี่ แฮมมอนด์, สุรชัย สุนทรธาดากุล และ ชยุต บุรกรรมโกวิท NUVO

วงดนตรีรุ่นเก๋ากับวงการเพลงสมัยใหม่

ระยะเวลากว่า 30 ปีในวงการเพลง นูโวเล่นดนตรีไปตามเส้นทางที่เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของหลายยุคสมัย ตั้งแต่ยุคของเทปคาสเซตต์รุ่งเรือง เปลี่ยนผ่านมาสู่แผ่นซีดี และก้าวเข้าสู่ยุคเอ็มพีสาม ก่อนที่ต่อมาจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล และต้องเผชิญกับภาวะ Disruption ของสื่อ รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ในยุคโซเชียลมีเดีย พวกเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาในทุกยุคสมัย

เพราะอย่างนี้ เราจึงอยากให้พวกเขาลองคิดเล่นๆ ว่า หากนูโวเกิดขึ้นในยุคที่มีโซเชียลมีเดียจะเป็นอย่างไร

ผมว่าก็คงไม่มีวงนะ” โจตอบขึ้นก่อนอย่างขำๆ ก่อนจะอธิบายเป็นจริงเป็นจังว่า

“ต้องขอบคุณเวลาและยุคสมัยที่ให้เราเกิดในยุคที่มีเทปคาสเซตต์ทั้งสี่อัลบั้ม แล้วสมัยก่อนเทปผีหายาก ถ้าจะซื้อต้องไปแถวชายแดนเขมรเลย ดังนั้น เมื่อเทปเพลงของเราขายได้ก็มีเงินเข้าบริษัท บริษัทก็ปันมาให้เรา แต่ถ้าเป็นยุคโซเชียล เด็กสมัยนี้ปรับตัวเก่ง เขาได้ยอดวิว จากยูทูบเป็นล้านสองล้านวิว มียอด Subscribe ตามกติกา เขาก็ได้เงินจากยูทูบเองแล้ว”

ส่วนจอห์นที่ผันตัวผลิตรายการด้านไอทีมองเรื่องนี้ในแง่มุมของการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี

อีกมุมหนึ่งคือ เรามาจากรอยต่อของยุคแอนะล็อกมาดิจิทัล เกิด Disruption มาก่อนที่จะพูดกันในวันนี้นะ ยุคนั้นเราแชร์เพลงโดยการบีบอัดผ่านโมเด็ม แบ่งให้กันได้โดยไม่ต้องจ่าย เราผ่านยุคนั้นมาก่อน” จอห์นกล่าวเสริม

“แล้วถ้าพูดถึงความยาก-ง่ายของวงการเพลง มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร” เราถามต่อ

ยุคนั้นยากกว่าเยอะ ยุคนี้มีคอมพิวเตอร์มาช่วย เวลาร้องก็อาจจะร้องท่อนที่ซ้ำกันทีเดียว แล้วก็ยกมาแปะ แต่ยุคโน้นต้องร้องจริงทั้งหมด” เป็นก้องที่ตอบคำถามนี้

ต้องร้องจนกว่าจะจบเฟส สมมติร้องไปสองนาที แต่ใช้แค่สี่สิบห้าวินาที และต้องร้องสดจริงๆ เท่านั้น” โจเล่าเสริมถึงความยากของการทำงานในเวลานั้น

“แล้วถ้าเป็นในแง่ของดนตรีล่ะ ยุคก่อนกับยุคนี้แตกต่างกันอย่างไร” เราถามต่อไป

ในแง่ดนตรี เด็กยุคนี้ก็ได้รับ Input ในการแกะเพลงที่ง่ายขึ้น” ก้องตอบเป็นคนแรกเหมือนคำถามที่แล้ว

“เมื่อก่อนเราต้องแกะเพลงกันจากคาสเซตต์ ได้ยินแค่จากหู แล้วนึกว่าเขาจะเล่นยังไง ต้องฟังสิ่งที่เขาโซโลมาว่าเล่นแบบไหน ทั้ง Rewind ทั้ง Forward เทปคาสเซตต์อยู่นาน แต่สมัยนี้เปิดยูทูบแล้วมีกล้องส่องให้เห็นเลย มีคนเอาเล่นให้ดูเลยว่า ริฟฟ์ยากๆ ของเพลงนั้นเพลงนี้ เพลงดังทั้งหลายเล่นอย่างไร ถ่ายมือซ้ายมือขวาให้ดู เล่นช้าให้ดู การรับก็ง่ายขึ้น เด็กยุคนี้ก็เก่งเร็ว เพราะมีให้เห็น เปิดดูได้หมด มีคนสอนเป็นสิบคน” เขาอธิบาย 

สมัยโน้นมีขนาดที่ต้องไปแอบดูอีกวงเล่นว่าเล่นตรงไหน ยังไง เพราะประชันกันว่าใครเล่นเหมือนกว่า แต่ผมไม่เคยทำแบบนั้นนะ” โจทำท่าโบกมือว่าไม่เคยทำเมื่อเล่าถึงตรงนี้ ก่อนเน้นให้เห็นความแตกต่างของยุคสมัยต่อไปว่า “ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เสิร์ชเลยว่า Guitar Lesson ตามด้วยชื่อเพลง ก็เจอคลิปสอนเลยว่าเล่นยังไง”

สำหรับจอห์น เขามองต่างมุมไป โดยมองถึงความแตกต่างในฝั่งของคนฟัง

สำหรับผู้บริโภค ผมคิดว่าเด็กยุคนี้ขาดอาร์ตทางด้านการฟังไปเยอะมาก เพราะเรามีเอ็นเตอร์เทนเมนต์ให้ดูเยอะแยะ เทียบกับเวลานั้นที่ไม่มีอะไรให้ดูเท่าวันนี้ ดนตรีจึงมีมูลค่ามหาศาล เมื่อก่อนเพลงดังมากนะ และเราก็จะเสพเพลงนั้นอยู่กับเรา เหมือนหายใจเข้าออก” 

แต่ข้อเสียของเพลงสมัยนี้คือ ไม่มีใครกล้าสร้างอะไรใหม่ๆ” โจแสดงความคิดเห็น

“เพลงก็จะเหมือนๆ กัน เพราะถ้าหลุดจากกรอบนั้น คุณจะไม่ได้อะไรเลย จะถูกมองข้าม ได้แปดสิบวิวแล้วจางไป ผมเชื่อว่ามีคนพยายามคิดอะไรใหม่ๆ ออกมานะ ต้องขอชมน้องเป้ อารักษ์ ที่เขาทำเพลงในแบบของตัวเองออกมาอย่าง ‘มาเล มาเล’ (เพลง มาเลเซีย) ผมอยากให้มีคนทำอะไรที่ต่างแบบนี้บ้าง แต่เราก็ต้องเคารพยุคสมัยไป ก็เป็นสิ่งที่น่าค้นหาเหมือนกันนะว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่ปี แนวที่เป็นอยู่นี้ก็ต้องหมดไป แนวใหม่ก็ต้องมา” เขาคาดการณ์ว่าอย่างนั้น

ความฝันของเด็ก ม.ปลาย 6 คนที่กลายเป็นวง NUVO กับการกลับมาหลัง 30 ปีที่ทำให้เพลงยังใหม่เสมอ

จากวงดนตรีเด็กมัธยมปลายสู่การเป็นวงระดับ Legend

บนเส้นทางดนตรีที่มีวงดนตรีเกิดใหม่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะรวมวงกันเพราะความฝันและแพสชัน หรือเกิดจากการรวมตัวกันเพราะความเหมาะสมพอดี ที่ผ่านมามีหลายวงดนตรีที่เกิด-ดับไปตามเวลา หลายวงมีอันต้องแยกย้ายกันไปด้วยดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อย่างที่เราเห็น และทำความเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้ก็เป็นสัจธรรม เป็นธรรมดาของวงการเพลง

“แต่ไม่ว่าใครจะแยกย้ายกันไปไหน ทำไมนูโวจึงรวมตัวกันได้เหนียวแน่นตลอดมา” เราเปิดประเด็นคำถาม

เพราะความเป็นเพื่อน” จอห์นเอ่ยขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันจะจบประโยคคำถาม

ตั้งแต่เรียนด้วย” โจต่อให้ทันที “เราเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียน แล้วก็เป็นเรื่องของจิตใจ ผมคิดว่าสามคนหน้านี้มีจิตใจที่โอเค ไม่มีการหันไปบอกด้านหลังว่า กูแบ่งพวกมึงเยอะเกินไปนะ ถ้าปัญหานี้มา วงแตกทันที” 

ได้ยินแบบนี้จอห์นที่ตั้งใจฟังอยู่ถึงกับยิ้มชอบใจและอดแซวเพื่อนไม่ได้ สามคนหลังค่าตัวสูงกว่าพวกเราด้วยนะ เพราะต้องอิมพอร์ตเขาเข้ามา (หัวเราะ) ผมว่าเราน่าจะออกวัคซีนชื่อ ‘นูโว’ ที่คอยฉีดปราบอีโก้ดีกว่า” เขาหัวเราะปิดท้าย

แต่เราก็ไม่ยอมปิดประเด็นง่ายๆ จึงตั้งคำถามต่อไป

“มีคนบอกว่า ชีวิตในวงการบันเทิงมีวันหมดอายุ แต่คำพูดนี้ไม่น่าใช้ได้กับวงนูโว คิดว่าเป็นเพราะอะไร” เราถาม

ใครพูดเนี่ย เท่มากเลย” ก้องหัวเราะ

“เหมือนยาไม่หมดอายุเลยใช่ไหม” โจถาม

ขณะที่ใหม่ ผู้ที่ผันตัวเองทำงานเบื้องหลังในวงการเพลงไทย ใช้โอกาสตรงนี้เล่าถึงความประทับใจกับน้องๆ รุ่นใหม่ให้ฟัง

ผมเองยังทำงานดนตรีอยู่เบื้องหลัง ต้องขอบคุณนักดนตรีรุ่นใหม่ที่ยังรักเราอยู่ เมื่อมาเจอกันก็ทักทายตลอด อย่างคุณนอ วงพอร์ส เป็นโปรดิวเซอร์ใหญ่แล้ว ฟิลิปส์ วงค็อกเทล ก็ยังคุยกันอยู่”

เขาเคารพพี่ใหม่เป็นรุ่นใหญ่” โจพูดเสริมขึ้น ก่อนบอกเล่าความคิดของเขาต่อไป

“สำหรับผมคิดว่าเป็นความฝันของแต่ละคนที่อยากจะทำอะไร จอห์นอยากมีรายการ เขาก็ไปทำ ผมเองคิดว่า สุดท้ายเห็นภาพตัวเองเล่นดนตรีในผับในบาร์ ร้องเพลงที่ผมชอบ”

ซึ่งเจ้าของผับนั้นคือผมเอง” คำพูดของจอห์นเรียกเสียงหัวเราะครืนได้ 

สุดท้ายโจสรุปว่า “ไม่ว่าอย่างไรเราก็กลับมาทำงานที่เรารักเสมอ ถึงแม้สุดท้ายจะต้องเล่นแบบเปิดหมวกก็ทำ” เป็นการตอกย้ำว่าดนตรีคือเส้นทางที่เขาได้เลือกที่จะใช้ชีวิตทั้งหมดทุ่มเทไป ซึ่งหลายคนในวงสนทนาพยักหน้าเห็นด้วย

ความฝันของเด็ก ม.ปลาย 6 คนที่กลายเป็นวง NUVO กับการกลับมาหลัง 30 ปีที่ทำให้เพลงยังใหม่เสมอ

The Dream Goes On

คุยมาถึงตรงนี้ ทีมงานรอบข้างเริ่มกระซิบให้สัญญาณว่า ถึงเวลาที่ต้องให้ 6 สมาชิกเข้าสู่สล็อตเวลาของงานต่อไป เราจึงขอยืดเวลาอีกนิด เพื่อทิ้งท้ายก่อนยุติการสนทนา

“วงนูโวที่ยืนหยัดมาถึงวันนี้เป็นเหมือนที่เคยคิดไว้บ้างไหม” เราขอเป็นคำถามสุดท้าย

“ไม่ได้คิดขนาดนั้น” ก้องตอบก่อน 

จากนั้นจอห์นจึงเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งก่อนที่พวกเขาจะได้เป็นวงนูโวที่คนทั้งประเทศจะได้รู้จักกันจนถึงวันนี้ “มีภาพอยู่ภาพหนึ่งที่พวกเราไปถ่ายปก เป็นงานวิทยานิพนธ์ของ พี่แอร์-คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา เจ้าของนิตยสาร IMAGE ตอนนั้นเรายังไม่ได้ออกเทป และเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจากที่เราถ่ายรูปเล่นๆ กันวันนั้น แล้วก็กลับมาแต่งเพลง เล่นดนตรีกลางคืนกัน จนออกเทปและผ่านมาสามสิบกว่าปีอย่างวันนี้ ลองคิดดูสิ นี่คือ The dream goes on” จอห์นทิ้งประโยคสุดท้ายไว้พร้อมรอยยิ้มในแบบที่เราแอบเห็นประกายตาแห่งความสุขที่ส่องผ่านเลนส์แว่นสีเข้มของเขาได้

ความฝันของเด็ก ม.ปลาย 6 คนที่กลายเป็นวง NUVO กับการกลับมาหลัง 30 ปีที่ทำให้เพลงยังใหม่เสมอ

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)