26 มีนาคม 2021
3 K

นุสรา เตียงเกตุ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการผ้าพื้นถิ่นของประเทศไทย หลายคนยกย่องให้เธอเป็นปราชญ์ด้านผ้าของวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เธอช่วยฟื้นฟูและพัฒนาร่วมกับชุมชนจนผ้าซิ่นตีนจกได้รับการอนุรักษ์ เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ และถูกยกให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอำเภอแม่แจ่ม 

เธอได้รับรางวัลด้านการออกแบบสิ่งทองานด้านอนุรักษ์ งานพัฒนาชุมชนจำนวนมาก จากการงานที่ทำมาตลอดมากกว่า 30 ปี ทำให้สื่อหลายสำนักสนใจติดต่อเข้าไปนำเสนอเรื่องราวการอนุรักษ์ผ้าซิ่นลายตีนจกของเธอ

“ความเป็นจริงพี่ไม่อยากให้คนจดจำภาพลักษณ์ของพี่กับลายตีนจกแม่แจ่มเลย” 

พี่นุส แม่นุส หรือ ครูนุส ของหลายๆ คน เริ่มต้นสนทนาความในใจของเธอให้ฟัง

“พี่ไม่อยากให้มันหยุดค้างอยู่แค่เรื่องนี้ เพราะภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากการนำเสนอของสื่อซ้ำๆ ทำให้พี่กลายเป็นตัวแทนของผ้าซิ่นลายตีนจกแม่แจ่ม ทุกครั้งที่คนนึกถึงงานผ้าซิ่นตีนจกก็จะมาหาพี่ แต่พี่ไม่อยากมีตำแหน่งแบบนี้ พี่อยากให้คนแม่แจ่มเล่าเรื่องของเขาเองดูบ้าง ผู้คนเหล่านี้ต่างหากที่ควรได้รับการยกย่อง พี่เป็นแค่คนที่เข้าไปช่วยฟื้น ช่วยนำให้ก่อน เป็นเหมือนคนเปิดประตูบ้าน พอคนรู้จักแล้ว ก็อยากให้เขาเข้าไปคุยกับผู้คนแม่แจ่มต่อ”

สิ่งที่นุสราทำมาตลอดชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหวังชื่อเสียงให้กับตัวเอง ถึงวันนี้เธอในวัยย่างเข้า 60 ยังคงมองแม่แจ่มเป็นครู สิ่งที่นุสราตั้งใจทำตั้งแต่แรก คือการทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนในอำเภอแม่แจ่มดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้โดยไม่เบียดเบียนใคร ซึ่งเธอเลือกหยิบสิ่งที่อยู่ในวิถีของชาวแม่แจ่มอยู่แล้วมาพัฒนาร่วมกับชุมชน

“พี่มองว่า งานผ้าเป็นสัญลักษณ์ของการพึ่งตนเอง” เธอพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม 

“เวลามองผ้า เราไม่ได้มองแค่ความงาม ไม่ใช่แค่เรื่องของสุนทรีย์ในชีวิต เรามองเรื่องของสติและปัญญาด้วย งานผ้าสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้พึ่งตัวเองและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ สมมติเราตั้งใจทำงานผ้าโดยพึ่งตนเอง เราต้องดูว่าผ้าทำจากอะไร ถ้าเราจะใช้มัน เราก็ต้องรักษามัน ถ้าเราจะย้อมห้อม พี่ก็ต้องปลูกห้อม 

“ถ้าพี่จะทอผ้าฝ้าย พี่ก็ควรปลูกต้นฝ้าย และรักษาอะไรต่างๆ โดยรอบที่ทำให้เกิดผ้าชิ้นนั้นให้คงอยู่ เพื่อที่เราจะทำต่อไปได้ ซึ่งพี่มองว่างานผ้าเป็นสิ่งที่เราเริ่มต้นจากตัวเอง ในอดีตตอนที่พี่ย้ายไปอยู่แม่แจ่ม บางครัวเรือนก็ยังคงทำงานผ้าอยู่บ้าง พี่เลยเลือกงานผ้าที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คน

“พี่จบด้านสังคมสงเคราะห์ ประเด็นที่ท้าทายที่สุดไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่คือการทำให้ผู้คนแข็งแรงขึ้น”

นี่คือสาระสำคัญของชีวิตเธอ และยังเป็นแรงผลักให้เธอยังคงทำงานต่อเนื่องอีกหลายโปรเจกต์

บ้านสังกะดี อำเภอแม่แจ่ม คือสถานที่ที่เธอตั้งใจให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องผ้าของผู้คนในอำเภอแม่แจ่ม

บ้านไร่ใจสุข บ้านของเธอและสามีที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เธอเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนที่ต้องการเรียนทอผ้า

ร้านนุสรา (Nussara) ในย่านวัดเกตตัวเมืองเชียงใหม่ที่ขายผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาการทอผ้า

Loolii Studio ข้างๆ ร้านนุสราที่เธอตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับใช้เวิร์กช็อปเกี่ยวกับกระบวนการทำผ้าต่างๆ และยังเปิดเป็นพื้นที่แสดงงานให้คนที่ทำงานผ้าได้มีโอกาสนำเสนอผลงานของตนเองให้คนรู้จัก

Craft & Care ที่อยู่ในพื้นที่ร้านนุสราเช่นเดียวกัน เธอทำร่วมกับเพื่อนๆ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจในงานศิลปะท้องถิ่นและดูแลสุขภาพตามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน

Din Cafe คาเฟ่ของลูกสาวในอำเภอหางดง ที่นุสรามักใช้พื้นที่จัดเวิร์กช็อปงานผ้าให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้

และโดยไม่จำกัดสถานที่ เธอร่วมงานพัฒนาในฐานะที่ปรึกษา ผู้บรรยาย และคุณครู ในอีกหลายชุมชนทั่วประเทศ

นอกจากภูมิปัญญาเรื่องผ้าที่เธอเข้าไปช่วยฟื้นฟูเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของนุสรา เตียงเกตุ ถึงวันนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่ควรถูกเล่าและบันทึกไว้เพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังศึกษาต่อ

อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศผ่านงานผ้าได้มากมายขนาดนี้

ชวนทุกคนเดินตามรอยเส้นด้ายที่เธอเลือกถักทอชีวิตจนเป็น นุสรา เตียงเกตุ อย่างทุกวันนี้

นุสราเกิดที่จังหวัดนครพนม เธออยู่ได้เพียง 1 ปีก็ย้ายมาอยู่จังหวัดอ่างทอง และย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ 

เธอเข้าเรียนในโรงเรียนศึกษานารีตั้งแต่ประถมปลายจนจบชั้นมัธยม พ่อของเธอประกอบอาชีพข้าราชการ การติดตามพ่อไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เธอเห็นความเป็นอยู่ของผู้คนที่หลากหลายทั้งในชนบทและตัวเมือง

“เราเป็นเด็กบ้านนอก นั่งเรือเมล์มาเหยียบกรุงเทพฯ ครั้งแรกด้วยเท้าเปล่า อย่าเพิ่งทำหน้างงว่าพี่อยู่ยุคไหน คือพี่ทำรองเท้าหายระหว่างทางน่ะ” เจ้าตัวหัวเราะสนุกถึงอดีตของตนเองก่อนจะเล่าต่อ “พี่มากรุงเทพฯ ครั้งแรกกับพี่สาวและยาย วันนั้นลองขึ้นรถแท็กซี่ด้วย กลัวมากเลยเวลารถขึ้นสะพานแล้วมัน วูบบ (ลากเสียง) เหมือนไส้เราหายไป” 

เด็กหญิงนุสราเคยเรียนได้อันดับหนึ่งและสองของห้องมาตลอด พอย้ายมากรุงเทพฯ เธอพบคนที่เก่งกว่า

“มาเรียนกรุงเทพฯ เรากลายเป็นเด็กหลังห้อง เราไม่ได้เก่งเหมือนเขา มีบางทีเรากับแก๊งใต้ต้นมะขาม เป็นเพื่อนรวมกลุ่มกันประมาณสิบคน แอบหนีโรงเรียนไปกินส้มตำข้างซอยศึกษานารี บางครั้งก็หนีไปผัดข้าวบ้านเพื่อน”

ตั้งแต่สมัยเรียน เธอสนใจวิชาประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา เป็นอย่างมาก ทำให้นุสราเป็นแฟนประจำของนิตยสาร ต่วยตูน และตั้งแต่สมัยเรียน (อีกเช่นกัน) เธอเป็นสาวที่ชอบแต่งตัวให้ไม่เหมือนคนอื่น 

“เราไม่มีสตางค์เหมือนเพื่อนๆ ที่เขาซื้อเสื้อผ้าลายสนูปปี้มาใช้ มันเป็นของแพง แต่เรากลับชอบประยุกต์ เราเรียนโรงเรียนสตรีแต่กลับใส่เสื้อเชิ้ต ใส่ชุดเอี๊ยม แถมหาเนกไทมาใส่กับหมวกเท่ๆ เราชอบการมิกซ์แอนด์แมตช์มาก ทรงผมก็ไว้ผมสั้น ไถด้านข้างจนเกรียน ถ้ามองย้อนกลับไป เราน่าจะชอบเรื่องงานออกแบบมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว 

“แต่ในสมัยนั้นเราจิตนาการไม่ออกหรอกว่างานออกแบบมันจบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง”

นั่นทำให้นุสราเลือกศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในคณะซึ่งตรงกับอีกสิ่งที่เธอชื่นชอบ นั่นคือ การช่วยเหลือผู้คน

“เราเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เข้าเรียนตอน พ.ศ. 2526 ธรรมศาสตร์ทำให้เราใส่ใจคนอื่น ใส่ใจสังคม เราได้เป็นประธานกรรมการนักศึกษาของคณะ แล้วเราเป็นสายออกค่าย มีการสร้างเครือข่ายเพื่อนใหม่แปดคณะ ทำงานกับเพื่อนต่างคณะด้วย เราชอบทำกิจกรรม เขาจัดกิจกรรมอะไรเราก็เข้าร่วมด้วยเกือบหมดเลย ทุกวันนี้ยังจำความรู้สึกที่เรากับเพื่อนอยู่กันถึงค่ำช่วยกันทำงาน เรื่องที่ยังจำได้ไม่ค่อยใช่เรื่องในห้องเรียนเท่าไหร่เลย” เธอแซวตัวเอง

และในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่นี่เองที่เธอได้ลองเดินทางมายังแม่แจ่มเป็นครั้งแรก

“ผู้ชายพามา…” เธอเว้นจังหวะหัวเราะ “แฟนเรา อาจารย์เหมาะ (เดชา เตียงเกตุ ผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ของภาคเหนือ มีงานชิ้นเอกอย่างอาคารเรียนไม้ไผ่ โรงเรียนปัญญาเด่น) สอนหนังสือพระอยู่แม่แจ่ม แกเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่า มาแม่แจ่มแล้วเห็นอะไร อยากให้เรามาเห็นด้วยตัวเอง เลยโบกรถกับเพื่อนๆ นั่งท้ายกระบะตามมา

“ภาพตอนนั้นทำให้เราประทับใจมาก เราเห็นชาวบ้านนุ่งผ้าซิ่นตีนจกเดินกลางทุ่งบ้าง เดินตามถนนบ้าง ประทับใจที่ยังมีมุมแบบนี้อยู่ คือตอนเรียนเราไปภาคอีสานบ่อย เห็นคนนุ่งผ้ามัดหมี่แล้วไว้ผมซอยสั้น แต่พอแม่แจ่ม คาแรกเตอร์เขาชัดมาก ผมยาวมวยแล้วเหน็บดอกไม้สวยงาม เป็นคนเฒ่าคนแก่ที่เรารู้สึกว่าเขายังมีความงาม”

พอเธอใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัย แฟนของเธอก็ชวนให้มาอยู่ด้วยกันที่แม่แจ่ม แต่ก่อนจะคิดตัดสินใจก็มีรุ่นพี่ชวนให้เธอไปทำงานด้วยกัน เธอเลือกการงานที่เข้ามาก่อน โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการเด็กขาดสารอาหารให้กับกลุ่มสาธารณสุขมูลฐานที่บัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และหาโอกาสเดินทางมาเยี่ยมแม่แจ่มทุกๆ ปี

“พอเดินทางมาเจอพี่เหมาะ ทำให้เราเริ่มคิดว่า ชีวิตคู่ของเราจะลงตัวได้ยังไง เราทำงานกันคนละสถานที่ แต่เราก็เดินหน้าทำงานได้สักสองปี ก็ไปสอบบรรจุเป็นนักสังคมฯ ที่โรงพยาบาล พอสอบติดเลยเลือกบรรจุที่สุโขทัย ใกล้กันเข้ามานิดหนึ่ง แล้วก็คิดว่ามันกลับบ้านง่าย ไปบัวใหญ่ก็ไม่ยาก เรายังรู้สึกผูกพันกับงานเดิมอยู่ ปรากฏว่าทำได้สักเก้าเดือน ก็สรุปตัวเองได้ว่ามันไม่ใช่ชีวิตอย่างที่อยากเป็น

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

“เรามีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตด้วยการมีโอกาสช่วยคนอื่น มันเป็นอาชีพที่ดี แต่สิ่งที่เราไม่ชอบคือการต้องอยู่ภายใต้กฎต่างๆ หน้าที่ของเราคือเซ็นอนุเคราะห์ค่ายา ตอนนั้นยังไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เซ็นให้ฟรีบ้าง ลดบ้าง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา แล้วตอนนั้นที่ทำงานเดิมมี หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (ผู้คิดโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค) เขากำลังจะทำมูลนิธิช่วยเหลือเด็กในชนบท เลยปรึกษากับพี่เหมาะว่าจะยังไงดี ก็คุยกันว่าลองมาค้นหาตัวเองดีกว่า 

“เราสรุปกันว่าถ้าจะตามพี่เหมาะมาเชียงใหม่ ต้องแต่งงานเลย ก็เลยแต่งงานแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่เชียงใหม่ เพราะชีวิตข้าราชการไม่ใช่ กลับไปเป็น NGO มันก็ยังไม่ใช่ ชีวิตครอบครัวก็ไม่ลงตัวถ้าอยู่คนละที่ ลึกๆ เราอยากออกแบบชีวิตเราแบบไหน ตอนนั้นยังไม่รู้หรอก แต่ในเมื่อมันไม่ใช่ ก็ไม่อยากเสียเวลา ไปข้างหน้าดีกว่า เอาวะ ลองดู”

ช่วงที่นุสราย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เดชาก็ทำโปรเจกต์ที่แม่แจ่มจบแล้ว และกำลังทำโปรเจกต์ติดตามพระสงฆ์ไปทั่วภาคเหนือ โดยมีเธอติดตามไปด้วย กระทั่งทำได้ประมาณ 6 เดือน

“เราท้อง จะห้อยตามพี่เหมาะไปคงไม่ได้ ระหว่างท้องเราก็ทำอะไรได้ไม่มาก ถ้าคลอดเราจะมีชีวิตแบบไหน เลยตัดสินใจบอกพี่เหมาะว่าขอมาอยู่แม่แจ่ม ตอนนั้นรู้จักคนที่แม่แจ่มแล้ว เหมือนลูกเหมือนหลานเขา อย่างน้อยเวลาพี่เหมาะไปไหน เรายังรู้สึกว่ามีญาติอยู่ด้วย อยู่กับป้าๆ แม่ๆ อยู่กับชาวบ้าน เขาก็กั้นบ้านให้ซีกหนึ่ง”

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

นุสราเดินทางมาอยู่ที่แม่แจ่ม สถานที่ที่เธอประทับใจตั้งแต่แรกเห็น และอุ่นใจที่จะได้อยู่ที่นี่

“ตอนเราย้ายมาอยู่กับชาวบ้าน ไม่มีห้องน้ำนะ ถ่ายที่ลำเหมือง (ลำธารขนาดเล็กในภาษาเหนือ) มีสามเส้น เส้นบนเก็บไว้เป็นน้ำสะอาด เส้นกลางไว้ซักผ้า แล้วเส้นล่างไว้นั่งชมวิวขณะถ่ายทุกข์ บ้านที่เราอยู่เป็นแบบนั้น เขาแบ่งฟังก์ชันลำน้ำแบบนี้ ห้องถ่ายเราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สมัยนั้นไม่มีน้ำก๊อกนะ ต้องตักน้ำมาใช้ เป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเลย หลังจากนั้นก็มีห้องน้ำตีไม้ปิดรอบข้าง ไม่มีหลังคา ผ้าถุงพาดก็คือสัญลักษณ์ว่ามีคนใช้นะ” เธอเล่ายิ้มหวาน

“ตอนนั้นเราทบทวนตัวเองนะว่าลำบากมั้ย เราคิดว่าไม่ มันเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ รู้สึกสนุกด้วยซ้ำ เห็นชาวบ้านเดินไปไร่ ไปนา เห็นเขายิ้มแย้มมีความสุข ถามว่าโหยหาโรงหนังมั้ย ก็ไม่ ห้างมั้ย ก็ไม่ ตอนนั้นไม่มีทีวีในหมู่บ้านสักหลัง ก็ไม่เป็นไร ข่าวสารก็ฟังจากหอกระจายข่าว โดย ปรีชา ทรัพย์โสภา (ผู้ประกาศข่าวทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ระดับตำนานของประเทศไทย) ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ต้องรู้อะไรมากก็ได้ ชีวิตก็สบายดี”

ความสนุกที่เธอเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ ทำให้เธอค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนแม่แจ่มไปเรื่อยๆ จากหญิงสาวที่ชอบใส่กางเกงยีนส์ ก็เปลี่ยนมาใส่ผ้าซิ่นตีนจก จากคนที่เคยไถผมเกรียน ก็ลองไว้ผมยาวเพื่อจะมวยผมและทัดด้วยดอกไม้แบบคุณป้า เห็นคุณยายกำลังจะไปย้อมผ้าก็ตามไปเรียนด้วย เห็นคุณย่าทอผ้าก็ขอไปเรียนด้วย

“เราสนใจผ้ามานานแล้ว ตอนพี่เหมาะอยู่แม่แจ่ม เขาเล่าให้ฟังว่าอยากให้เรามาดูผ้าของชาวบ้าน พอมาเห็นรู้สึกว่าน่าสนใจ ไม่ได้สวยแค่ตัวผ้านะ แต่สวยด้วยวิถีของเขา พอมาอยู่กับชาวบ้าน อยู่แบบที่เขาอยู่ กินแบบที่เขากิน เราก็เริ่มเห็นมุมที่ชาวบ้านเขาพึ่งตนเองได้ มันเลยทำให้เราคิดใหม่ จากที่เราจะมาช่วยอะไรเขาได้ กลับเป็นเราเสียอีกที่ต้องมาเรียนรู้จากเขา แล้วเราก็เริ่มคิดว่า จะเอาตัวแทรกไปอยู่กับชาวบ้านยังไงได้บ้างให้ตัวเรามีประโยชน์”

แล้ววันหนึ่งความพัฒนาก็เข้ามาสู่หมู่บ้าน ไฟฟ้าเริ่มเข้ามา เช่นเดียวกับความต้องการที่มากขึ้น

“พอความพัฒนาเริ่มเข้ามา ก็เริ่มเกิดความต้องการ อยากมีรถยนต์ มีรถไถ ชาวบ้านมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เราเริ่มคิดแล้วว่าจะทำยังไงเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายนี้ให้ชาวบ้าน ตอนนั้นเราเลยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อกู้ยืมไปใช้ 

“เราเริ่มลองซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอไปแจกและขายต่อเพื่อนฝูงที่รู้จัก เพราะเห็นแล้วว่าคนทอผ้าในหมู่บ้านเริ่มน้อยลง มีแต่กลุ่มแม่ๆ ที่ยังทำอยู่ กลัวว่าสักวันมันจะหายไป เราน่าจะสร้างให้มันเป็นอาชีพเสริมได้ พี่ก็เลยเขียนโครงการไปขอทุนกับเครือข่าย NGO เป็นทุนฝ้าย เขาซื้อฝ้ายมาให้ชุมชนทอ แล้วเราก็เอาไปขาย กลายเป็นทุนหมุนเวียน

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

“ตอนเริ่มทำโครงการ เราไม่ได้มีความรู้เรื่องการตลาดอะไรเลย ก็เรียนรู้และทำไปพร้อมๆ กับชาวบ้าน พอเชียงใหม่จัดงานฤดูหนาว พี่กับชาวบ้านก็พากันนำผ้าไปขาย ตอนที่ทำเราไม่มีความคิดเชิงธุรกิจเลย ทำไปขายได้ก็ดีแล้ว เราไม่ได้หวังเรื่องกำไร เอาให้มันพอมีเงินหมุนเป็นค่าแรงแม่ๆ ได้ขายแล้วเอากลับมาได้ขายใหม่ก็พอ เวลาที่ไปขายก็เหมือนได้ไปเล่าเรื่องของวิถีชีวิตผู้คนแม่แจ่มด้วย บางทีเขาไม่ซื้อ อย่างน้อยก็ได้เล่าเรื่องของแม่แจ่ม นี่เลยเป็นเหตุผลที่เรามองแม่แจ่มว่าเราอยู่แบบพึ่งพากัน อย่าหลงตัวเองว่าเราเป็นผู้ให้ เรามาพึ่งพาเขาด้วยซ้ำไป เราเรียนรู้จากเขา ทุกวันนี้พี่ก็ยังคงมองแม่แจ่มเป็นครูถึงวันนี้” นุสราพูดพร้อมน้ำตาคลอ

“เราสนใจทุกเรื่องที่เราเห็นจากชาวบ้าน เราเห็นแม่อุ๊ยคนนี้เคยย้อมคราม ก็จะตามคนนี้ไป หรือแม่อุ๊ยเคยย้อมให้ลั้วะ เราก็ตามไปหาลั้วะอีก มันเลยทำให้แม่แจ่มเป็นห้องเรียนสำหรับพี่ และทำให้เราเห็นวิถีที่มันเชื่อมโยงกับเรื่องผ้า ทำให้เราเห็นมิติทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราชอบ

“พอผ่านไปสองปีจนหมดโครงการ เราต้องคิดต่อแล้วว่าจะทำอะไร ก็ค้นพบว่ายังอยากทำเรื่องผ้าต่อ แต่ไม่รู้หรอกว่าจะไปยังไงรู้แค่ว่าเราทำแล้วมีความสุข”

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

แล้ววันหนึ่งโอกาสที่เธอไม่เคยคาดคิดไว้ก็มาถึงหน้าประตูบ้านเธอที่แม่แจ่ม

“มีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ตอนนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แกกับพวกอาจารย์เดินทางมาที่แม่แจ่ม แกทราบมาว่ามีเด็กคู่หนึ่งมาตกทุกข์ได้ยากอยู่ที่นี่” นุสราหัวเราะสนุก “แกเลยอยากมาหา แต่วันนั้นพี่ไม่อยู่ แกก็เขียนจดหมายติดไว้ แกพอรู้ว่าพี่เป็นใคร ทำอะไรอยู่บ้าง เพราะแกเคยทำงานกับแฟนพี่ แกก็เขียนจดหมายติดไว้หน้าประตูว่า ดีใจที่รู้ว่ามาอยู่ที่นี่ วันหลังจะมาเยี่ยมใหม่

“หลังจากนั้นก็มาจริงๆ ซึ่งช่วงนั้นชาวบ้านเริ่มประกาศขายบ้านบริเวณใกล้วัดกัน เพราะมันกลายเป็นหนอง เริ่มแฉะ แกก็ตัดสินใจซื้อบ้านของชาวบ้าน จนทำให้เราได้กลายเป็นเพื่อนบ้านกัน แล้วยังช่วยมาเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้ เราโชคดีที่ได้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ระดับวีไอพีมากๆ”

หลังจากนั้นงานผ้าของแม่แจ่มจึงมีโอกาสไปแสดงตามงานต่างๆ มากขึ้น และค่อยๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระทั่งในที่สุด ผ้าซิ่นลายตีนจกก็ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแม่แจ่ม

ชาวบ้านแม่แจ่มเริ่มเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการทอผ้าแล้ว ต่อมานุสรากับครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่อำเภอหางดง ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่มากขึ้น เธอสร้างบ้านที่มีชื่อว่า บ้านไร่ใจสุข ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และลองทำ โดยมีกี่ทอผ้าขนาดเล็กที่เธอนำมาไว้ใต้ถุนบ้าน

“กี่ทอผ้าปกติที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานจะเป็นกี่กระตุก ซึ่งเริ่มเข้าใกล้กับระบบโรงงานไปแล้ว แต่เดิมมันขนาดเท่านี้ค่ะ ที่เราเห็นอีสานมีกี่กระตุกเยอะก็เพราะว่าเขาพัฒนามาแล้ว อีสานเลยตอบโจทย์เรื่องการผลิตเยอะๆ แต่เราอยากอนุรักษ์การทอโดยกี่ขนาดเล็ก เพราะอยากให้มันเป็นงานคราฟต์แบบดั้งเดิม ตอบโจทย์คนละแบบ

“เราอยากให้คนมาเรียนที่บ้านไร่ใจสุข เป็นคนที่ตั้งใจอยากมาเรียนรู้เรื่องการทอผ้าจริงๆ เวลาเราพูดถึงเรื่องผ้า หลายคนมักนึกถึงการย้อมหรือแพตเทิร์ต แต่น้อยคนจะนึกถึงการทอ ซึ่งนี่คือหัวใจของงานผ้า เราตั้งใจให้ที่นี่เป็นที่นับหนึ่งของคนที่สนใจแล้วให้เขาไปพัฒนาต่อตามแนวทางของตัวเอง และเราตั้งใจให้ทุกคนที่มาเรียนกับเราเป็นครูได้ด้วย เวลาจัดกิจกรรม ก็ได้นักเรียนที่เคยเรียนกับเรานี่แหละมาช่วยสอน เราได้คนรุ่นใหม่ที่ทำงานทอผ้าหรืองานผ้าเพิ่มขึ้น”

นุสราชวนเราให้เดินไปดูกลุ่มนักเรียนปัจจุบัน บรรยากาศการสอนนั้นเป็นไปด้วยความสนุกสนาน

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

หากสังเกตที่มุมกี่ทอแต่ละคน จะพบว่ามีการประดิษฐ์กรวยดอกไม้มามัดไว้เพื่อบูชาครูที่อยู่กับกี่นั้นๆ เป็นสิ่งที่นักเรียนตัดสินใจทำกันเองไม่ได้เกี่ยวกับนุสรา และนักเรียนยังตั้งชื่อกี่ของแต่ละคนตามเอกลักษณ์ของคนคนนั้นด้วย

เช่น กี่ทอผ้าของนักเรียนคนหนึ่งที่กำลังทอผ้าสีเหลือง ซึ่งทอขึ้นเพื่อถวายแก่วัด ก็ตั้งชื่อเล่นว่า กี่นิพพาน เป็นกี่สายบุญ ข้างๆ กัน เป็นกี่ของนักเรียนญี่ปุ่นที่มาเรียนกับนุสรา มีชื่อว่า กี่เซน

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

“กี่เซ็นแล้วที่ทอได้วันนี้” นุสราหัวเราะสนุกอีกครั้ง “ล้อเล่นๆ หมายถึงวิถีเซนแบบญี่ปุ่นค่ะ”

“ครูขา คนโบราณเขาบอกว่าถ้าทอผ้าแล้วจะได้ผัว หนูก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าหนูทอผืนนี้เสร็จ หนูจะได้ไหม” นักเรียนคนหนึ่งถามนุสราขึ้นมาอย่างสนุกๆ

“ถ้าหนูได้นะ เดี๋ยวแม่จะติดไว้ตรงกี่หนูเลย ว่ากี่นี้คือ กี่หมาน (แปลว่า โชคดี ในภาษาเหนือ) ทุกคนที่มีวัตถุประสงค์ในการทอผ้าแบบหนูก็จะได้มาเลือกนั่งตามกี่ตามวัตถุประสงค์ที่ทุกคนต้องการ” 

ทุกคนหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน นี่คือบรรยากาศการเรียนของนุสรากับลูกศิษย์

นอกจากชักชวนให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้า เธอยังผลักดันให้ทุกคนลองพัฒนาลายผ้าของตนเองขึ้นมาจากลายผ้าดั้งเดิมที่เป็นเหมือนงานครู

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่
นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

“ทำไมเราจะไม่สร้างใหม่ล่ะ เรามองว่าอย่างงานประเพณี งานโบราณ เรากินแต่บุญเก่า เราพูดถึงภูมิปัญญา แต่เราไม่เคยปรับตัวเลย ทำยังไงให้มันขยับได้ ในขณะที่แม่แจ่มจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเฉพาะของแม่แจ่มได้ ตอนหลังเราย้ายมาอยู่บ้านในอำเภอหางดง ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วคนหางดงเขาจะจกลายอะไรล่ะ 

“เขาจะจกของแม่แจ่มก็ไม่ได้ จกของดอยเต่าก็ไม่น่าจะภาคภูมิใจ เราเริ่มค้นลายจากของเก่า แล้วพยายามฟื้นขึ้นมา พยายามทำลายผ้าตีนจกที่พบเจอในฝั่งหางดง แค่นี้ยังไม่ท้าทายพอ มันก็จะเป็นแค่การก็อปปี้ลายเก่า งั้นเรามาทำลายใหม่กันดีกว่า ทำไมเราไม่ลองคิดลายที่เป็นของเชียงใหม่ขึ้นมาบ้างมี น้องที่รู้จักกันเขาเสนอว่า ทำเป็นลาย ‘นาค’ ดีมั้ย เขาไปดราฟต์มาให้ เราตบนิดหน่อยจนลงตัว กลายเป็น ‘ผ้าซิ่นลายนาคนครพิงค์’ ใช้ชื่อนี้เพราะว่าอยากให้เป็นลายของคนเชียงใหม่ ใครมาก็เรียนลายนี้ของเชียงใหม่นี่แหละ เพราะมันเป็นลายของยุคสมัยเรา

“ในแง่งานอนุรักษ์มันก็ดี เพราะมันคือต้นแบบ เป็นงานครู เราศึกษาและหยิบมาต่อยอดได้ งานอนุรักษ์เป็นเหมือนรากทางวัฒนธรรม เรามองว่าก่อนที่จะเป็นงานที่เราเห็นว่าเป็นงานครู ก่อนหน้านั้นเราก็ไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนผ่านมากี่รุ่นแล้ว เราเชื่อว่ามันคงไม่ทำซ้ำๆ กันมา คนเรามันต้องคิด งานชนเผ่าบางชนเผ่าเขายังต้องคิดเพื่อให้มีเอกลักษณ์ของตนเองและมีคำอธิบายชัดเจน ลายผ้ามันอธิบายตัวตนของคนด้วย ไม่ใช่แค่ชนเผ่าหรือแค่ชุมชน

“มันอธิบายตัวตน เทียบได้เหมือนงานศิลปะเลย เราเชื่อว่าเมื่อก่อนมันเป็นอาณาจักรใหญ่ด้วยซ้ำ ไม่มีการแบ่งเขต ช่างแต่ละคนเขาก็มีอิสระ เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่สื่อสารกันเร็วแบบทุกวันนี้ มันไม่มีทางที่จะก็อปปี้กันได้ บางทีเขาก็ต้องคิดเอง บางทีก็ไปงานปอยหลวง เห็นแวบหนึ่งแล้วเอามาเลียนแบบพอนึกถึงความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่คนจะไม่อยากลองคิดลายเองบ้าง งานอนุรักษ์สำหรับเราจึงเป็นการรักษาเพื่อที่เราจะเห็นทางไปต่อจากเดิม”

แม้จะย้ายมาอยู่ใกล้ตัวเมืองมากขึ้น แต่เธอยังหาโอกาสแวะเวียนไปแม่แจ่มอยู่เรื่อยๆ 

เราเลยขอติดตามนุสราเดินทางสู่แม่แจ่ม

“ที่แม่แจ่ม เรามีบ้านชื่อ สังกะดี แปลว่า อะไรก็ดี เป็นคล้ายๆ Co-learning Space เป็นไอเดียของน้องรุ้ง ลูกเราที่เปิด Din Cafe ที่หางดง เขาเห็นว่าที่ผ่านมาแม่เคยทำอะไรบ้าง เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เลยเปิดพื้นที่ตรงนี้ทำอะไรก็ได้ที่มันตอบโจทย์สิ่งที่ชาวบ้านเป็นปัญหาหรือเขาอยากทำต่อ อย่างที่ชาวบ้านมารวมตัวกันวันนี้ ก็เกิดจากโครงการขอทุนหมุนเวียนระลอกสอง จากระลอกแรกที่เราเคยทำสมัยเริ่มทำงานผ้ากับแม่อุ๊ยที่แม่แจ่ม 

“รอบนี้เขาให้ทุนเป็นไหมมาใช้ ซึ่งปัจจุบันพี่พยายามไม่เป็นผู้นำ ให้เขาลองทำกันเอง คือตอนนี้คนที่เขาเก่งระดับผู้ประกอบการก็มีเยอะแล้ว แต่คนรุ่นนี้ที่เขายังต้องการอาชีพ ต้องการไปต่อ ยังมีอยู่ อย่างที่พี่บอก พี่มีเรื่องท้าทายกับการเก็บตก คนเก่งแล้วที่เขาแข็งแรงแล้วเราไม่ต้องไปช่วยเขาแล้ว แต่คนที่ยังต้องการ อยู่ระหว่างทาง ยังรู้สึกยินดีที่จะทำกับเพื่อน พี่ก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งนะ แต่อย่าคาดหวังให้พี่นำ พี่มีแค่พื้นที่ให้ ก็เลยกลายเป็นที่นี่ในปัจจุบัน”

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

ขณะยืนดูนุสราพูดคุยในวงประชุมกับกลุ่มแม่อุ๊ยที่บ้านสังกะดี เราสังเกตเห็นว่าแม่อุ๊ยหลายๆ คน ยังคงนุ่งซิ่นและทัดดอกไม้บนหัวตามแบบฉบับของคนล้านนาในอดีต เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า นุสราที่หลงใหลในเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทำไมถึงหลงรักที่นี่ เพราะราวกับว่าเวลาของแม่แจ่มนั้นหมุนช้ากว่าที่อื่นๆ ในเชียงใหม่

“เสน่ห์ของแม่แจ่ม คือเขายังอยู่กับวัฒนธรรม และพี่ว่ามันเท่ พี่ว่าแม่แจ่มเป็นชุมชนที่มีตัวตน และยังมีกลิ่นอายของความเป็นคนแถบล้านนา นี่คือเอกลักษณ์ตัวตนของคนเชียงใหม่ในอดีตเลยก็ว่าได้”

หลังจากประชุมเสร็จ นุสราชวนให้เรามารู้จักกับคุณป้าคนหนึ่งในที่ประชุม

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่
นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

“สมัยที่เรียนมหาลัย พี่ชอบวิชาเกี่ยวกับจิตวิทยามากเลย เราสนใจเรื่องของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก คือพี่สนใจเรื่องของสังคมที่ห่วงใยคนอื่น หลังจากนั้นก็หันมาสนใจกลุ่มคน ท้ายที่สุดพอกลับมามองตอนหลัง จริงๆ เราสนใจเรื่องของ ‘คน’ ค่อยๆ โฟกัสขึ้น

“เรารู้สึกว่าคนมีพลัง ซึ่งการรวมกลุ่มกันมันก็มีพลังนะ แต่บางครั้งกลุ่มมันทำให้ตัวตนของคนบางคนหายไป แล้วกลายเป็นแค่กลไกของกลุ่ม เราเลยรู้สึกว่าความเป็นคนคนหนึ่ง บางส่วนเขาแบ่งปันให้เราได้นะ แต่บางทีเขาก็อยากมีมุมเล็กๆ ให้ได้อยู่กับตัวเองอย่างมีความสุขเล็กๆ ของเขาได้”

“พี่อยากแนะนำให้รู้จักกับป้าวันดี คือพี่เป็นคนที่ชอบความเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งมาก ไม่ต้องเพอร์เฟกต์ก็ได้ คนที่ทำงานกับพี่ พี่ชอบคนที่ทำไม่เพอร์เฟกต์แล้วคนอื่นเขาไม่เอา พี่จะชอบมากเลย อยากเก็บงานไว้ แม่วันดีไม่ได้เป็นคนที่เก่งในสายตาใครเลย ทอตีนจกก็ไม่ได้ ไม่ได้เป็นช่างทอผ้าที่คนรู้จัก แต่เข้ามาร่วมกับเรา อยากทำงาน พี่เห็นความตั้งใจและความอยากทำ ก็เลยอยากดูว่าความตั้งใจของเขาจะมีแรงผลักดันสร้างงานแบบไหนออกมา

“พี่อยากสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้กับคนที่อยากทำงาน แต่เขาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้มีฝีมือ แต่เราต้องให้เวลา ลองดูพัฒนาการของเขา เขามีอะไรข้างในที่อยากสื่อสารอยู่ แล้วก็กลายเป็นผลงานปักที่น่ารักมากๆ แม่วันดีทำไปโดยสัญชาตญาณและตัวตนของเขาจริงๆ ซึ่งพี่ก็ตัดสินใจนำไปจัดเป็นนิทรรศการเดี่ยวที่ Loolii Studio ที่พี่ทำเป็นแกลเลอรี่ด้วย อยู่ติดกับพื้นที่ร้านนุสราในตัวเมืองเชียงใหม่ของพี่ ซึ่งมีคนเข้ามาให้ความสนใจเยอะมากเลย”

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่
นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

สำหรับร้าน นุสรา (Nusara) คือร้านสำหรับขายเสื้อผ้านุสราเป็นคนออกแบบเอง โดยเริ่มต้นขึ้นจากแรงยุของอาจารย์เผ่าทอง

“พี่ไม่เคยคิดอยากจะทำแบรนด์ของตัวเองเลย อาจารย์เผ่าทองเป็นคนยุ แกหวังดี บอกว่าทำไมไม่ลองทำอะไรที่เป็นแบรนด์ตัวเองบ้าง คือพี่คิดว่าไม่ค่อยถนัด ทำให้คนอื่นไปขายน่าจะเหมาะกับเรากว่า แต่เราจะไปบอกชาวบ้านให้ลองทำผ้าต่างๆ ได้ยังไง ถ้าเราไม่เคยลองทำเองดูบ้างว่ามันเป็นไปได้ไหม ก็เลยตัดสินใจลองทำดู ซึ่งอาจารย์เผ่าทองก็คอยช่วยเหลือทุกอย่าง แม้แต่สถานที่ร้าน เดิมก็เป็นที่ของอาจารย์เผ่าทอง และต่อมาแกก็ยกที่ตรงนี้ให้เราเลย เหมือนการจับมือน้องเดิน พอเราเริ่มจะไปได้เองแล้ว ก็ลองดู”

เสื้อผ้าของแบรนด์นุสราถือได้ว่าเป็นตัวตนของเธอจริงๆ เพราะงานผ้ามีความเรียบง่าย ลวดลายไม่เยอะ มีการเล่นกับแพตเทิร์นและลูกเล่นต่างๆ

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

“พี่ชอบอะไรที่มันเรียบง่าย เราสนุกกับการเล่นกับโครงสร้างผ้ามีรูบ้างก็ได้นะ มีการฉีกบ้างก็ได้นะ ทำไมผ้าต้องเรียบ ทำไมริมผ้าต้องเสมอกัน มันทำให้งานเหล่านี้มันมีความแตกต่างจากงานที่ทำด้วยเครื่องจักร”

ข้างๆ กันกับร้านนุสรายังเป็นที่ตั้งของ Craft & Care อีกโปรเจกต์ล่าสุดที่เธอทำร่วมกับ หน่อย-พจนา สวนศรี ผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวโดยชุมชน ร่วมกับกลุ่มพี่น้องอีกจำนวนหนึ่ง 

“โปรเจกต์ Craft & Care เดิมเป็นงานที่เราทำกับพี่หน่อย พี่มีโอกาสตามแกไปทำงานที่พม่า แกก็ชักนำให้เราไปทำเรื่องไม้ไผ่ เรื่องผ้าที่พม่า เรากำลังทำงานในทวายก็ใช้คอนเซปต์เรื่อง Craft & Care นี่แหละไปทำงานกับพี่น้องในทวาย คือเราพยายามช่วยพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น แต่ก็มาเจอเรื่อง COVID-19 ซะก่อน เลยไปทำต่อไม่ได้ งั้นเราทำที่บ้านของเราก่อนแล้วกัน ก็เลยมาทำร่วมกันที่นี่และทำให้มันชัดขึ้น มีความต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของ Craft & Care ขยายจากเรื่องของผ้าไปเรื่องมิติของสุขภาพ โดยเราเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญาจากท้องถิ่นต่างๆ และเสริมเรื่องของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพตามแพทย์แผนไทยเข้าไปด้วย”

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่
นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

สำหรับคนที่อยากลองสั่งเครื่องดื่มสมุนไพรจากทางร้าน Craft & Care ก่อนสั่ง ทางร้านจะมีแบบสอบถามให้ลองเล่นสนุกๆ ดูว่าธาตุของเราเป็นธาตุอะไร เพื่อที่จะเลือกเครื่องดื่มให้เหมาะสมมาทาน

เสร็จสิ้นภารกิจทั้งหมด นุสราเดินทางกลับไปที่บ้านไร่ใจสุข กลุ่มนักเรียนที่มาเรียนต่างแยกย้ายกลับไปหมดแล้ว เธอค่อยๆ เดินขึ้นบันไดไปยังชั้นบน เดินไปจัดผ้าซิ่นที่ถูกแขวนไว้บนผนังให้เรียบร้อย ผ้าซิ่นบนผนังนี่คือผ้าซิ่นที่เธอเก็บสะสมไว้ มีตั้งแต่ผ้าซิ่นโบราณที่เธอใช้เป็นครู ใช้ศึกษาลายผ้า บ้างก็เป็นผ้าซิ่นที่คิดค้นลายขึ้นมาใหม่ บางผืนก็เป็นฝีมือการทอของลูกศิษย์เธอ

หลังจากนั้น เธอค่อยๆ เดินเข้าไปที่ห้องด้านใน นั่งบนเก้าอี้อย่างช้าๆ หยิบผ้ามาปักเล่นในมุมส่วนตัวของตนเอง โดยมีแมวคอยอยู่เป็นเพื่อนเงียบๆ เป็นความสุขแสนเรียบง่าย ท่ามกลางความฝันที่เธอยังอยากทำต่อไปให้สำเร็จ

“งานผ้าจกเป็นงานคราฟต์ในระดับที่คนคนหนึ่งทำเองได้ พัฒนางานเองได้ มันเป็นอะไรที่พัฒนาทักษะช่างทอขั้นสูงแล้ว แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจนัก เพราะไม่สามารถผลิตทีละเยอะๆ มันต้องใช้เวลา ใช้ความทุ่มเท จึงเป็นความท้าทายว่าเราจะรักษาตรงนี้ไว้ได้ยังไง พี่ไม่เคยมองว่าจะทำมันเป็นธุรกิจ พี่มองว่างานผ้าคือเรื่องของการส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากจะเลือกวิถีแบบนี้ พี่ว่าทักษะเหล่านี้ทำให้คนเรียนได้ 

“มันก็ไม่ต่างจากวิชาวาดรูปหรือว่าวิชาพื้นฐานที่เราต้องเรียน อย่างกระบี่กระบองเรายังต้องเรียนเลย พี่ว่างานทอผ้าก็น่าจะเป็นพื้นฐานชีวิตที่ทุกคนเรียนได้ แต่มันดันกลายเป็นเรื่องพิเศษซะอย่างนั้น ถ้าเรามีสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน มันจะเป็นวิธีทำให้เราเห็นว่า คนเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้นะ” หญิงตรงหน้าพูดด้วยรอยยิ้ม

นุสรา เตียงเกตุ สาวนครพนมที่ทำให้คนแม่แจ่มกลับมาทอซิ่นตีนจกจนกลายเป็น GI เชียงใหม่

Writer & Photographer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่