กระดาษแผ่นใหญ่กางพืดอยู่บนโต๊ะไม้กะทัดรัด แท่งไม้ปลายแหลมนับสิบเรียงรันกันเป็นระเบียบในกระเป๋าซึ่งออกแบบมาเพื่อเก็บพวกมันโดยเฉพาะ เคียงคู่คัตเตอร์ที่วางไว้ใกล้มือให้หยิบใช้ได้ทันใจ

หญิงสาวในอาภรณ์มิดชิดทาบสันมืออันเป็นอวัยวะเพียงไม่กี่ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า เพื่อให้ได้ท่าทางถนัดถนี่ พลันกดปลายไม้เปื้อนหมึกลงกลางกระดาษตรงหน้า มิช้าแผ่นวัตถุบางที่ว่างเปล่าก็ถูกร่างร่ายด้วยน้ำหมึกเป็นอักษรอันวิจิตรบรรจง และจากอักษรไม่กี่ตัวก็รวมกันเป็นรูปร่างได้อย่างน่าอัศจรรย์

นูรฮายาตี วาโด มือเขียนอักษรวิจิตรอาหรับจากปัตตานี ดีกรีท็อป 10 ของโลก

นูร-นูรฮายาตี วาโด เงยใบหน้าใต้กรอบผ้าคลุมผมขึ้นสบตาผู้มาเยือน ก่อนอวดผลงานอักษรวิจิตรอาหรับ หรือ ‘ค็อต (Khat)’ ที่เพิ่งเขียนเสร็จด้วยฝีมือระดับ 1 ใน 10 ผู้เข้าแข่งขันเขียนค็อตระดับโลกซึ่งจัดขึ้นเพียง 3 ปีครั้ง เป็นผู้หญิงน้อยคน และเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้ยืนเด่นบนเวทีดังกล่าว

ระหว่างรอให้นูรฮายาตีพักมือจากค็อตที่เขียนให้เราอย่างสุดความสามารถ เราจึงชวนเธอมานั่งคุยสบาย ๆ เพื่อขีดเขียนเรื่องราวของเธอผู้ร่างเส้นทางชีวิตตนเองด้วยค็อต

ขีด 1
ลอกเลียนที่ยะหริ่ง

พูดถึงอักษรอาหรับ ภาพแรกที่ทุกคนนึกถึงคงเป็นตัวอักษรยึกยือ มีหัวกลม มีจุด ลากยาวติดต่อกันจากขวามาซ้าย ละม้ายแม้นงูที่ลากเลื้อยไปมา

ด้วยเส้นสายลายลวดอันพลิ้วไหวดังรูปวาด ผนวกกับคำสอนในศาสนาอิสลามที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้นับถือวาดภาพคน สัตว์ จนถึงสิ่งมีชีวิตใด ๆ ในงานศิลป์ ชาวมุสลิมตั้งแต่อดีตกาลนานเนาจึงนำอักษรอาหรับมาผูกเป็นลวดลายที่สวยงาม ก่อเกิดเป็น ‘ค็อต’ ซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลกอิสลาม ไม่ว่าในคาบสมุทรอาระเบีย แอฟริกาเหนือ ตุรกี อินเดีย หรือแม้แต่คาบสมุทรมลายูซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดปัตตานี

นูรฮายาตี วาโด มือเขียนอักษรวิจิตรอาหรับจากปัตตานี ดีกรีท็อป 10 ของโลก

งานค็อตนั้นพบได้ในทุก ๆ สถานที่ของชาวมุสลิม ตามมัสยิด สุสาน โรงเรียนสอนศาสนา จนกระทั่งตามบ้านคน บนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ถือเป็นทัศนศิลป์ชั้นสูง เพราะมักเขียนเป็นพระนามหรือวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ชื่อศาสดา บันทึกความรู้หรือข้อความอันเป็นประโยชน์ทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้ล้วนผ่านตานูรฮายาตีมาตั้งแต่เพิ่งเริ่มรู้ความ

“นูรมาจากบ้านพังกับ ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง” เธอแนะนำตัวเป็นไทยปนสำเนียงมลายู 

“ในครอบครัวก็ไม่มีใครเขียนค็อตนะ แต่ว่าคุณปู่มีเขียนบนกระจกค่ะ ชอบอยู่แล้ว ชอบด้านนี้ ตัวหนังสือสวย ก็ลองเขียนตามดู ตอนเด็ก ๆ ก็ได้แค่เลียนแบบน่ะค่ะ”

ขีด 2
เรียนจริงที่ไคโร

หลายปีล่วงผ่าน เมื่อนูรฮายาตีเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนรัศมีสถาปนา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เด็กสาวชาวบ้านพังกับนำวุฒิ ม.6 ขึ้นกรุงเทพฯ ไปสอบชิงทุนของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร มหาวิทยาลัยเก่าแก่ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เปิดสอนการศึกษาอิสลามมานานกว่า 1,000 ปี

ผลปรากฏว่าเธอสอบได้ สาวยะหริ่งจึงต้องห่างบ้านเกิดเมืองนอนไปใช้ชีวิตอยู่ที่อียิปต์นานหลายปี ในฐานะนักเรียนทุนอัลอัซฮัรที่ทรงเกียรติ

นูรฮายาตีเลือกเข้ารับการศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ แม้ว่าหลักสูตรของคณะที่เธอเรียนจะไม่บังคับให้เรียนด้านอักษรวิจิตร แต่ความชอบที่บ่มเพาะมาแต่วัยเยาว์ กลับผลักดันให้เธอไปพบกับจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ที่กำหนดความเป็นไปของชีวิตเธอนับแต่นั้น

นูรฮายาตี วาโด มือเขียนอักษรวิจิตรอาหรับจากปัตตานี ดีกรีท็อป 10 ของโลก

“ที่อัลอัซฮัรมีเปิดสอนพิเศษวิชาค็อต เรียนช่วงบ่ายจนถึงประมาณ 2 ทุ่ม เรียน 3 วันต่อสัปดาห์ เราก็ไปเรียน ก็ยิ่งดีเลย เพราะได้รู้ว่ากฎเกณฑ์ในการเขียนค็อตเป็นยังไง

“วิธีการเขียนค็อตมี 2 ประเภท คือแบบดั้งเดิมกับแบบประยุกต์ ถ้าแบบดั้งเดิมก็คือเขียนตามกฎเกณฑ์เป๊ะ ๆ เลย แต่ถ้าแบบประยุกต์ก็ออกนอกกฎเกณฑ์ได้ เขียนตามที่เราสื่อถึงรูปร่างต่าง ๆ ได้หมด”

ซึ่งในการเรียนเขียนค็อตแบบมืออาชีพ นักเรียนทุกคนต้องเริ่มจากค็อตชนิดพื้นฐานก่อนเสมอ

“ค็อตมีเป็นร้อย ๆ แบบค่ะ แต่ว่าคนนิยมใช้นิยมเขียนกันมีแค่ 7 แบบเท่านั้น” นูรฮายาตีเผยความน่าทึ่งของศิลปะการเขียนในโลกอิสลาม พลางแจกแจงให้รู้จักค็อตทีละแบบ

“7 แบบก็มี 1) ริกอะห์ (Riq’ah) 2) ดีวานี (Diwani) 3) ดีวานีญะลีย์ (Diwani Jali) 4) ตะอ์ลีค (Ta’liq) 5) นาซัค (Naskh) 6) กูฟีย์ (Kufic) แล้วก็ ษุลุษ (Thuluth)” ชื่ออาหรับพรั่งพรูมาทีละชื่อ ขณะที่เจ้าของผลงานควานหาตัวอย่างให้เรายลความแตกต่างของอักษรวิจิตรแต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นต่างสถานที่ ต่างยุคสมัย ต่างความนิยมใช้กัน

“อย่างค็อตดีวานีจะนิยมแถบประเทศตุรกี ส่วนตะอ์ลีคก็นิยมในอิหร่าน เลยมีอีกชื่อว่าค็อต ‘ฟารีซี’ ที่แปลว่า เปอร์เซีย (อิหร่าน)”

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

“ตอนเรียนก็จะเริ่มจากจุดแรก คือจุด ‘นุกเตาะห์’ เป็นตัวสี่เหลี่ยม พอผ่านอันนี้ก็ทีละตัว ทีละตัว จนจบขั้นแรก แล้วก็เข้าขั้นที่สอง จบขั้นที่สองก็เข้าขั้นที่สาม อะไรประมาณนี้ค่ะ”

เมื่อจบค็อตริกอะห์ที่เรียนเป็นลำดับแรกแล้ว จึงจะเริ่มหัดเขียนค็อตดีวานีซึ่งยากขึ้น ต่อด้วยค็อตดีวานีญะลีย์ ตะอ์ลีค ไปตามความยาก

นูรฮายาตีฝึกปรือจนเชี่ยวชาญทีละค็อต ไล่มาจากริกอะห์ ดีวานี ดีวานีญะลีย์ ตะอ์ลีค เพิ่งจะได้เริ่มเรียนเขียนนาซัคที่เป็นบทเรียนที่ 5 ไม่นาน ก็มีเหตุให้เธอต้องกลับไทย

ขีด 3
ประกวดที่ตุรกี

“ทีแรกนูรเรียนกับอาจารย์ชื่อ อาจารย์ฮะซะนี เป็นคนอาหรับ แต่เกิดการประท้วงที่อียิปต์ นุุรก็เลยกลับมา พอกลับไปอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์เขาไม่สอนแล้ว เลยย้ายไปเรียนกับ อาจารย์อะฮ์มัด อัลฮัซนี

จะเป็นเพราะฝีไม้ลายมือที่พัฒนาจนเข้าขั้น หรือด้วยแววตาที่แหลมคมของอาจารย์คนใหม่ก็ตามแต่ ในวันนั้นเพชรเม็ดงามจากเมืองไทยที่ชื่อนูรฮายาตีได้เปล่งประกายแวววาม จนอาจารย์อัลฮัซนีแลเห็นอนาคตที่รุ่งเรืองในตัวเธอ

“เขาบอกว่าเด็กคนนี้จะไปได้ไกล ก็มาบอกว่า เธอ ๆ ต้องย้ายมาเรียนกับเรานะ เราจะต่อยอดแล้วก็ทำให้เธอส่งประกวดได้เลยนะ”

นั่นคือความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตนักศึกษาสาวชาวจังหวัดปัตตานี เพราะอาจารย์ผู้นี้เคี่ยวเข็ญให้เธอมุ่งไปสายประกวดเต็มพิกัด หากวันใดไม่ว่างมาเรียนพิเศษกับอาจารย์ เขาก็จะบังคับให้เธอเขียนค็อตสำหรับส่งประกวด นูรฮายาตีมักใช้เวลาค่ำคืนที่หอพักนักศึกษานานาชาติประดิษฐ์ค็อต พอเสร็จก็นำไปส่งตรวจ หากมีข้อผิดพลาดก็ต้องกลับมาแก้ใหม่ แก้แล้วแก้เล่าอยู่เป็นแรมเดือน

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

“อันที่แข่งไม่ได้ทำแค่ 2 วัน หรือ 2 เดือนนะ ต่อ 1 ชิ้นใช้เวลา 7 เดือนได้ค่ะ”

มิเท่านั้น โจทย์ในการส่งประกวดยังเต็มไปด้วยข้อกฎเกณฑ์หยุมหยิมอีกเป็นพะเรอเกวียน

“เขาให้โจทย์มาเป็นตัวหนังสือธรรมดา เป็นฟอนต์ธรรมดา ระบุว่าต้องเป็นค็อตชนิดนี้ ไม้ที่เขียนก็ระบุไว้ด้วยว่าต้องเขียนด้วยไม้กี่มิลลิเมตร หมึกต้องสีดำ ขนาดของกระดาษด้วย”

ในการประกวดครั้งแรกในชีวิต นูรฮายาตีส่งผลงานเข้าประกวดในรายการประกวดค็อตที่สมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเธอได้รับรางวัลรองชนะเลิศมาเชยชม แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเหรียญเงินคือความมั่นใจที่ส่งเธอก้าวขึ้นไปแข่งขันในระดับโลก

รายการที่สองจัดโดย Research Centre for Islamic History, Art and Culture (IRCICA) ของประเทศตุรกี เป็นการประกวดเวทีใหญ่ของโลกที่มีผู้เข้าแข่งขันมาจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นตุรกี ลิเบีย อิหร่าน จอร์แดน อินโดนีเซีย ซีเรีย และอีกหลายชาติมุสลิมเท่าที่พวกเราจะนึกชื่อออก

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

ในรายการนี้ สมุดคำสั่งระบุชัดเจนว่าต้องใช้หมึกสีดำ ชนิดกระดาษต้องใช้กระดาษมุกอฮัร (Muqahar Paper) ที่ทำจากแป้งมันผสมไข่ขาว ขนาด 40 x 60 เท่านั้น หากโดนใบมีดฉีกขาดหรือบิ่นเพียงนิดเดียวก็ถูกคัดออกจากการแข่งขันทันที

“สมมติว่าเราทำกระดาษไม่เท่าขนาดที่เขาวางไว้หรือสีผิดก็ถูกตัดออกได้ แล้วก็ปลายของไม้ ถ้าเขาก็ระบุว่า 2 มิลลิเมตร ถ้าเราเขียนด้วยไม้ 3 มิลลิเมตรก็ผิด เขาตัดออกจากการแข่งขันได้เลย โดยที่ไม่ได้ดูว่าเราเขียนถูกเขียนสวยนะ”

ขีด 4
โชว์ผลงานที่ดูไบ

นูรฮายาตีอุทิศกายใจในชั้นปีสุดท้ายที่อียิปต์เพื่อส่งประกวดค็อตระดับโลก และแล้วความตั้งใจสุดชีวิตของเธอก็สร้างสรรค์ผลงานออกมาจนแล้วเสร็จ เป็นค็อตดีวานีกับค็อตตะอ์ลีคอย่างละชิ้นงาน

“พอทำเสร็จแล้ว ก็คิดว่าโอเค เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ คิดว่าเราทำออกมาได้ดีที่สุดแล้ว ผลจะออกมาแบบไหนนั้น เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะว่าเป็นครั้งแรกของการเข้าประกวด ไม่รู้ว่าระดับโลกเขาตรวจยังไง เขาคิดอะไรบ้าง ก็ไม่รู้ เราทำออกมาให้รูปร่าง ความหมาย ให้ดีที่สุดเท่านั้น”

แล้วสิ่งเหนือความคาดหมายก็มาเยือน เมื่อเธอกลับไทยในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น ทางตุรกีได้ประกาศผลว่าผลงานชิ้นหนึ่งของเธอติดอันดับแน่นอน ส่วนอีกชิ้นผ่านเข้ารอบ แต่ไม่การันตีอันดับ

นูรฮายาตี วาโด มือเขียนอักษรวิจิตรอาหรับจากปัตตานี ดีกรีท็อป 10 ของโลก

“อัลฮัมดุลิลลาฮ์” บัณฑิตสาวเปล่งคำขอบคุณพระเจ้าออกมา “ไม่คิดเลยว่าจะติด”

ผลที่ออกมาคือค็อตดีวานีของเธอได้รับอันดับ 6 จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ขณะที่ค็อตตะอ์ลีคนั้นได้รับเพียงอันดับ 19 ถูกคัดออกในภายหลัง หากนั่นก็นับว่าเกินฝันแล้ว สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งลงแข่งระดับโลก

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงสักคนจะได้รับรางวัลจากเวทีใหญ่ระดับนี้ และเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าที่ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศที่มีประชากรมุสลิมเพียงร้อยละ 5 เช่นไทยจะผงาดขึ้นไปรั้งอันดับเลขตัวเดียว

ความสำเร็จนั้นส่งผลให้นูรฮายาตีกลายเป็นคนคุ้นเคยของเวทีประกวดค็อต เธอหมั่นส่งผลงานไปยังรายการแข่งขันอื่น ๆ เรื่อยมา โดยเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของยอดฝีมือด้านค็อตรายนี้ คือการที่เธอได้รับเชิญให้นำผลงานไปแสดงในมหกรรมค็อตโลกที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อ พ.ศ. 2559

“อันนี้ไม่ใช่ประกวด เป็นมหกรรมไปโชว์ผลงาน เขาให้ตั๋วมา เราก็นำผลงานไป 8 ชิ้นค่ะ” นูรฮายาตีเล่าพร้อมกับหยิบรูปถ่ายให้เราดู “แรก ๆ ก็ไม่มั่นใจ ไปคนเดียว เขาเชิญเราไปคนเดียว ก็รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนร่วมทาง ก็เชื่อใจตัวเองว่าเราต้องทำได้ เราต้องไม่กลัว”

ขีด 5
สอนนักเรียนที่ปักษ์ใต้

แม้ว่าวันนี้นูรฮายาตีจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในอำเภอยะหริ่งเหมือนก่อน แต่ชีวิตเธอเปลี่ยนไปจากสมัยวัยรุ่นที่เพิ่งเข้ากรุงไปสอบชิงทุนโดยสิ้นเชิง เมื่อเธอกลับมาบ้านพร้อมศาสตร์และศิลป์ในการเขียนลายอักษรวิจิตรอาหรับที่ได้ฝึกฝนมานานหลายปี พ่วงด้วยรางวัลในการประกวดระดับโลก

ปัจจุบันนูรฮายาตีเป็นทั้งครูและวิทยากรรับเชิญตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้นว่า มหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงไปถึงตามโรงเรียนมัธยม ตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) รวมถึงเปิดสอนพิเศษที่บ้านทุกวันศุกร์ เพื่อมอบวิชาการเขียนค็อตแก่เยาวชนรุ่นหลัง

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

วิธีการเขียนค็อตของเธอจะเป็นแบบโบราณ คือเขียนด้วยไม้ ไม่ใช่ปากกาหรือพู่กัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านค็อตแห่งอำเภอยะหริ่งกล่าวว่าจะเขียนให้ดีได้ ต้องเลือกเฟ้นให้ดีตั้งแต่ไม้ที่ใช้แล้ว

“ไม้ที่ใช้เขียน เรียกว่าไม้โชน ถ้าภาษาอาหรับเขาเรียกว่า ‘ฮันดาม (Handam Pen)’ เป็นไม้เนื้อดีในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่งไปขายให้อาหรับได้ด้วยค่ะ

“ตอนเลือกไม้ก็ต้องเหลาไม้ ถ้าปลายของไม้หนาก็จะเขียนไม่สวย พวกเด็กไม่เคยเรียน เขาก็จะกดแรง ๆ บางทีก็จะติด เขียนไม่ได้ ต้องเบามือก่อน ค่อย ๆ ไป ปลายของมันก็ต้องให้เรียบบนกระดาษ สมมติว่าเรายกไม่เท่ากัน ก็เขียนไม่ติด จะติดด้านหนึ่ง แล้วก็ไม่ติดด้านหนึ่ง มันก็จะไม่สวย”

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

หมึกที่ใช้ก็ต้องเป็นหมึกเฉพาะซึ่งมีคุณสมบัติแห้งเร็ว แห้งง่าย ส่วนกระดาษก็ต้องใช้กระดาษอาร์ตมัน 160 แกรมเขียนเท่านั้น โดยที่นูรฮายาตีให้เหตุผลว่า “กระดาษ A4 หรือกระดาษอะไรก็เขียนได้ แต่หมึกจะซึมนิดหนึ่ง ถ้าจะให้เขียนลื่น ๆ ก็กระดาษอาร์ตมัน”

ถ้าอยากเขียนค็อตให้งามนั้น จำเป็นจะต้องร่างแบบและทำความเข้าใจกับมุม องศา ตลอดจนลักษณะค็อตชนิดที่จะเขียนก่อนเสมอ

“ก่อนจะมาเป็นลายสวย ๆ ก็ต้องเริ่มจากจุดสี่เหลี่ยม เรียกว่า ‘นุกเตาะห์’ ก่อน จุดสี่เหลี่ยมนี้ก็ต้องรู้ว่ามาจากมุมกี่องศา เราจะต้องวางไม้กี่องศา มุมฉาก 90 องศา มุมแหลม 90 องศา เพื่อเชื่อมอักษรไปด้วยกัน เวลาเขียนก็ต้องเริ่มจากตัวใหญ่ก่อน แล้วค่อยเติมตัวแต่ง เติมจุดลงไป”

“ระหว่างเขียนก็ต้องพยายามไม่ให้หมึกโดนมือ และไม่จุ่มหมึกบ่อยไป เวลาประกวดจุ่มหมึกบ่อย ๆ ก็โดนกรรมการหักคะแนนได้นะคะ”

นูรฮายาตีคุยว่านอกจากอักษรอาหรับที่ช่ำชองแล้ว จะให้เธอเขียนอักษรยาวีซึ่งดัดแปลงมาจากอาหรับ หรืออักษรไทยก็ย่อมได้เหมือนกัน

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

ผลงานจากปลายไม้ของ นูรฮายาตี วาโด ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบรูป เธอไม่ได้เขียนให้มัสยิด เนื่องจากค็อตในมัสยิดต้องเขียนด้วยพู่กันซึ่งไม่ใช่อุปกรณ์ถนัดของเธอ อีกทั้งการให้สุภาพสตรีปีนป่ายนั่งร้านขึ้นไปวาดลวดลายบนที่สูง ยังแลดูไม่เหมาะสมในมุมมองของอิสลามิกชน

แต่นั่นไม่เป็นปัญหา เพราะอาจารย์นูรฮายาตีได้ฝากฝังวิชาของเธอแก่สานุศิษย์แล้ว

“พวกผู้ชายทำได้ ลูกศิษย์ที่เรียนไปจากเราก็ขายชิ้นงานได้ ทำป้ายผ้าแขวนตามงานต่าง ๆ งานวัฒนธรรม ป้ายโรงเรียน ป้ายมัสยิด อะไรก็ได้หมด”

ส่วนใครที่อยากทดลองเขียนค็อตด้วยตัวเอง ผู้ครองรางวัลที่ 6 ในการประกวดเขียนค็อตโลกเมื่อหลายปีก่อน มีอุปกรณ์จำหน่ายครบชุดที่เพจ เสน่ห์หมึกปลายไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใฝ่ใจด้านนี้

สาวอำเภอยะหริ่งผู้ฝักใฝ่การเขียนค็อตแต่เด็ก จนเป็นคนไทยคนเดียวที่ติด 10 อันดับประกวดค็อตโลก

นูรฮายาตีหยิบไม้โชนขึ้นมาเหลาปลายต่อ ก่อนจุ่มปลายของมันลงในขวดหมึก

หมึกปลายไม้แท่งนี้ไม่เพียงวาดอักษรประดิษฐ์เป็นรูปทรงต่าง ๆ หากยังสร้างเยาวชนรุ่นใหม่อีกมากมายที่พร้อมสานต่อศิลปะชั้นสูงแขนงนี้แก่สังคมมุสลิมไทยสืบไป

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ไรวินทร์ วันทวีทรัพย์

ช่างภาพผู้หลงรักกล้องเก่าและชอบเสียงชัตเตอร์เป็นชีวิตจิตใจ IG : 551mm