ผ่านมา 2 ปีแล้ว ที่ผืนนากว่า 30 ไร่ กลางแอ่งที่ราบเชียงดาว ถูกออกแบบและฟื้นฟูให้กลายเป็นพื้นที่ทุ่งน้ำผสมผสานพื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิมอายุกว่า 200 ปี เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและถั่วเหลืองอินทรีย์ และที่สำคัญ เป็นพื้นที่พิเศษให้เรากลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติผ่านประสบการณ์ตรงของเราเอง 

ในฐานะสถาปนิกจาก ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ ที่ร่วมฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ มีข้อเรียนรู้มากมายจากงานชิ้นนี้ที่อยากบอกเล่า ในบริบทที่คำว่า ‘ทุ่งน้ำ’ หรือ ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ซึ่งยังเป็นคำใหม่ในสังคมไทย

ในวันที่กล้าข้าวเขียวเต็มผืนนากลางฤดูฝน เราจึงชวน อ้อย-ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เจ้าของพื้นที่ทุ่งน้ำนูนีนอย และกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิโลกสีเขียว มองย้อนกลับไปในวันแรกที่เริ่มต้นงานฟื้นฟู จนมาวันนี้ที่สัตว์และพืชในท้องถิ่นเริ่มกลับมา เพื่อจะมองไกลไปในอนาคต ที่คนกับธรรมชาติจะผูกสัมพันกันได้มากกว่าเดิม

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ทุ่งน้ำ 101

ทุ่งน้ำ เป็นคำที่พี่อ้อยใช้เรียก พื้นที่ชุ่มน้ำหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Wetland เพื่อให้เข้าใจง่ายและรู้สึกใกล้กับคนมากขึ้น เช่น ทุ่งนา ทุ่งหญ้า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นคุณค่าของทุ่งน้ำ ทั้งที่ทุ่งน้ำสำคัญต่อระบบนิเวศมาก อาจจะด้วยหน้าตาที่ดูเหมือนพื้นที่รกๆ ซึ่งควรได้รับการพัฒนา ทุ่งน้ำหลายแห่งในบ้านเราจึงถูกถมทิ้งไป 

หารู้ไม่ว่าทุ่งน้ำแสนธรรมดานี้ เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของปลานานาชนิด เป็นที่หลบอาศัยของสัตว์ในฤดูเพาะปลูกและฤดูแล้ง ทุ่งน้ำหลายแห่งยังสัมพันธ์กับฤดูกาล ระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลง หรือน้ำหลากในฤดูมรสุม ยังช่วยดักกรองสารเคมีที่มากับการเกษตรสมัยใหม่ก่อนไหลลงสู่โครงข่ายแม่น้ำคูคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์จะมีทั้งแมลง ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เข้ามาอาศัยหากิน เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์อพยพ จนบางแห่งกลายเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่ซับซ้อน ส่วนคนเราก็ได้อาหารจากสัตว์และพืชผักจากทุ่งน้ำ

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่

ในอดีต ก่อนที่บ้านเมืองจะพัฒนาเหมือนในปัจจุบัน ทุ่งน้ำเป็นพื้นที่ปิกนิกที่มีรสนิยมของคนในพระนคร พอน้ำท่วมทุ่งช่วงกลางพรรษา ผู้คนก็ออกไปพายเรือเล่นน้ำ ตำน้ำพริกลงเรือไว้แกล้มสายบัวกับผักน้ำกินกันบนเรือ โดดน้ำดำผุดดำไหว้กันอย่างสนุกสนาน คนกับน้ำจึงคุ้นเคยกัน ไม่แปลกหน้าเหมือนกับปัจจุบัน นี่อาจพอทำให้เห็นภาพว่าทุ่งน้ำสำคัญไม่น้อยไปกว่าป่าเขาหรือแนวปะการัง แต่เปรียบเสมือนป่าย่อมๆ อีกประเภทหนึ่ง ในข่ายใยความหลากหลายของพื้นที่นิเวศ ที่ค้ำจุนความสมดุลของโลก

หากถามถึงความทรงจำของผู้คนที่มีชีวิตผูกพันกับทุ่งนาและทุ่งน้ำของคนเชียงดาว หนึ่งในความทรงจำที่มีสีสันนั้นต้องมีปลากัดป่า เด็กๆ จะช้อนจากร่องลำเหมืองหรือคูน้ำขังในนามาเล่นกัดกันสนุกสนาน และในนายังมีแมงดานา ที่เอามาตำน้ำพริกหรือทอดกินกรอบๆ 

ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร (ถ้าไม่นับมนุษย์) ก็คือตัวนาก หรือชาวบ้านที่เชียงดาวเรียกว่า ‘บ้วน’ ผู้ล่าสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบันปลา สัตว์ และแมลงเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายากไปแล้ว มีโอกาสจะกลายเป็นความทรงจำที่ไม่มีวันหวนคืน หากระบบการผลิตและการเกษตรยังคงเป็นไปเช่นนี้ 

การอนุรักษ์ฟื้นฟูจึงไม่ควรถูกจำกัดแค่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ แต่ทำทุกที่ ทั้งในเมือง ชนบท และพื้นที่เกษตรกรรม ที่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน นี่จึงเป็นเจตนารมณ์สำคัญที่พี่อ้อยตั้งใจจะทำให้ทุ่งน้ำนูนีนอยเป็นพื้นที่ของการฟื้นฟูระบบนิเวศทุ่งน้ำ ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรที่สำคัญอย่างทุ่งนา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้คู่กับการผลิตอาหาร

บทกวี และ ภาษาในโลกธรรมชาติ

ความสงบแห่งชีวิตป่า

เมื่อความสิ้นหวังต่อโลกเติบโตขึ้นในใจ

และฉันผวาตื่นขึ้นกลางดึกด้วยเสียงเพียงแผ่วเบา

หวั่นวิตกว่าชีวิตฉันกับลูกๆ จะเป็นเช่นไร

ฉันจะออกไปและล้มตัวลงนอน

ตรงที่เป็ดป่าพักกลางความงามลงบนพื้นน้ำ และนกกระสาหากิน

ฉันเข้าสู่ความสงบแห่งชีวิตป่า

ผู้ไม่บั่นทอนชีวิตตัวเองไปกับห้วงคำนึงถึงอนาคตอันแสนเศร้า

ฉันเข้าสู่ผืนน้ำสงบนิ่ง

สัมผัสได้ถึงหมู่ดาวเบื้องบนที่ยามกลางวันบดบัง

รอคอยเวลาดาวเปล่งแสง ชั่วครู่หนึ่ง

ฉันพักอยู่กลางสิริมงคลแห่งโลก และฉันเป็นอิสระเสรี

-เวนเดลล์ เบอร์รี่, 2511 –

นี่คือบทกวี The Peace of Wild Things ที่พี่อ้อยส่งให้เรา และบอกว่าอยากให้พื้นที่นี้มีความรู้สึก และสร้างความประทับใจให้ผู้คนแบบบทกวีนี้ เพื่อให้คนที่มาได้สัมผัสความงาม ความรู้สึกละเอียดอ่อน เพราะห้วงยามที่เราสัมผัสได้ถึงความงาม คือประตูที่จะพาผู้คนกลับสู่โลกภายใน โลกที่เรายังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับโลกธรรมชาติ

สำหรับนักออกแบบ การได้รับบรีฟงานเป็นบทกวีนั้นเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย เพราะบทกวีเปิดโอกาสให้ตีความได้อย่างอิสระ มีเพียงความรู้สึกเป็นป้ายบอกทางว่าเราเดินมาถูกทางหรือเปล่า เราจึงเดินทางออกจากเมือง สู่ความสงบของชีวิตป่า เพื่อเข้าใจแอ่งที่ราบเชียงดาวให้มากขึ้น คลำทางในการสร้างงานออกแบบ จากความทรงจำของผู้คน 

จำได้ว่าเราเดินดูพื้นที่กันจนทั่ว ดูทางน้ำเข้าและออกในนา ทำความเข้าใจโครงข่ายของระบบเหมืองฝาย ซึ่งเป็นระบบชลประทานท้องถิ่นที่ชาวชุมชนแบ่งสรรและจัดการร่วมกัน เราแวะดูฝายวังไฮ ฝายโบราณอายุกว่า 200 ปีที่ฝันน้ำจากแม่น้ำปิงมาเลี้ยงทุ่งนาผืนใหญ่ของแอ่งที่ราบนี้ สังเกตต้นไม้ พืชพรรณต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในแถบนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่าพืชพรรณแต่ละชนิด มีบทบาทและหน้าที่เชิงนิเวศที่แตกต่างกัน

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่

คืนหนึ่งที่เรานอนค้างบ้านพี่อ้อย เราเห็นหิ่งห้อยเป็นร้อยๆ ตัว ส่องแสงกลางทุ่งน้ำ มันเป็นภาพประทับที่ติดตา จุดแสงสว่างเล็กๆ วิบวับนับร้อยกลางความมืด เสียงกบเขียดช่วงปลายหน้าฝนร้องระงมเต็มทุ่ง นี่กระมังคือความรู้สึกสิริมงคลของชีวิตที่ปรากฏในบทกวีที่พี่อ้อยส่งให้ เพื่อทำให้งานออกแบบพื้นที่ชิ้นนี้ที่เราพัฒนาขึ้นมาด้วยกัน มีทั้งมิติด้านนิเวศวิทยาที่สื่อสารในระดับความรู้สึก ซึ่งบางทีก็ไร้ถ้อยคำที่จะพูดออกมา

ออกแบบร่วมกับธรรมชาติ

หลังจากเราพอเข้าใจบริบทของพื้นที่จากการสำรวจและสังเกต พี่อ้อยให้หลักการหลวมๆ ไว้ 2 ข้อ เพื่อให้เราเอาไปพัฒนาเป็นแบบในการฟื้นฟูภูมิทัศน์ คือ

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่

1. หลากหลายเข้าไว้

พื้นที่ในโครงการควรต้องมีระบบนิเวศย่อยๆ ที่แตกต่างกัน ทั้งพืชพรรณ และระดับสูงต่ำของพื้นที่ อย่างความลึกของสระน้ำที่มีตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ไปจนถึง 4 เมตร เพราะสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่หลากหลายนั้น อยู่อาศัยและหากินบนความเฉพาะเจาะจงของนิเวศ อย่างสาหร่ายที่ขึ้นตรงชายน้ำ ต้องการตะพักตื้นๆ ที่แสงยังส่องถึง ส่วนบัวสายนั้นต้องการดินเลนในระดับลึก นกบางชนิดทำรังในโพรงดิน อย่างนกจาบคาหรือกระเต็น ส่วนบางตัวทำรังบนต้นไม้สูงอย่างเจ้านกกระจาบ หรืออย่างพวกเป็ดแดงที่ชอบพงหญ้ารกไว้ซุกตัว ความหลากหลายของพื้นที่จึงเป็นกำหนดความหลากหลายของสัตว์และแมลงต่างๆ ในระบบนิเวศนั้น

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่
ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่

2. น้อมรับพลังของธรรมชาติ

ถ้าไม่นับแสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่เรารับรู้และสัมผัสได้ พื้นที่นี้ยังมีพลังจากแรงโน้มถ่วงของโลกที่เกิดจากความต่างระดับของพื้นที่หัวน้ำและท้ายน้ำ ต่างระดับกันประมาณ 90 เซนติเมตร เราจึงเอาพลังนี้มาใช้ในการวางตำแหน่งสระน้ำและร่องน้ำ เพื่อเชื่อมทุ่งน้ำของเรากับระบบเหมืองฝายดั้งเดิม เพื่อให้สระน้ำ 4 สระของเราทำหน้าที่ดักตะกอนและสารปนเปื้อนที่มาจากภายนอก จนน้ำในสระกลางพื้นที่ของเราใสขึ้น จนกลายเป็นสระว่ายน้ำที่บำบัดด้วยระบบธรรมชาติ Natural Swimming Pool ให้ว่ายเล่นและพายเรือได้ 

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่
ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่
ภาพรวมของชั้นการจัดการต่างๆ เช่น น้ำ ดิน ต้นไม้ กิจกรรม

พลังของน้ำไหลเอื่อยนี้ยังทำให้น้ำมีออกซิเจน มีกุ้งตัวเล็กๆ ในนา มีปลาตะเพียนที่ชอบน้ำไหลเอื่อย แมลงและแมงหลากชนิดในน้ำที่ก็ช่วยชี้วัดความสะอาดของน้ำได้ เมื่อแหล่งน้ำภายในสะอาดและปลอดภัย พื้นที่ส่วนท้ายของโครงการจึงกลายมาเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร ปลูกกุหลาบ และปลูกพืชนานาชนิด ที่กินได้อย่างสบายใจ

ทุ่งน้ำนูนีนอย ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำผสมแปลงนาอินทรีย์เชียงดาว จนปลากัดป่าและนกมาอยู่
งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี

พลังของธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่เป็นแกนกลางของพื้นที่นี้ คือ ดอยหลวงเชียงดาว เมื่อ 10 ปีก่อน พี่อ้อยตั้งใจปลูกบ้านหันหน้ารับพลังจากดอยหลวงเชียงดาว ห้องทำงาน ห้องครัว ระเบียงท่าน้ำ เปิดหน้ารับพลังจากดอยหลวงที่ตั้งตะหง่านด้านทิศตะวันตก 

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี

ภาพของดอยหลวงที่เราเห็นเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาของแสงและฤดูกาล ตั้งแต่เช้ายันค่ำไม่มีวันและเวลาไหนที่ดอยหลวงเหมือนเดิม เป็นความงามที่ไม่หยุดนิ่ง สิ่งนี้คือพลังที่ดอยหลวงมอบให้เรา เราจึงขุดปรับสระน้ำเดิมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้สระบัวสายหน้าบ้านที่สะอาดใส สะท้อนเงาของดอยหลวงซึ่งเป็นต้นน้ำทั้งหมดของแอ่งที่ราบแห่งนี้ ให้มาอยู่ในทุ่งน้ำของเรา เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกัน 

ภาพนี้จึงเป็นภาพจำของทุ่งน้ำนูนีนอย ภาพความประทับใจของพี่อ้อยที่เห็นดอยหลวงสะท้อนน้ำในบึงครั้งแรก จนมาฟื้นฟูที่ดินผืนนี้ ช่วงฤดูแล้งปลาย พ.ศ. 2561 เราจึงเริ่มต้นออกแบบและปรับที่ดิน เพื่อให้ฤดูฝนของปีถัดไปได้ชโลมผืนดินที่มีกลิ่นหอมดินใหม่ เอาน้ำเข้านาและทุ่งน้ำ และทยอยปลูกต้นไม้

พืชต่างถิ่นผู้รุกราน – พืชต่างชาติผู้อยู่ร่วม – พืชพื้นถิ่น
Alien Species – Expat Species – Native Species

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างงานฟื้นฟูพื้นที่นิเวศกับงานสร้างสวน คือ งานฟื้นฟูนิเวศจะให้ค่ากับพืชพรรณท้องถิ่น การค่อยๆ ปรับตัวและจัดสมดุลการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในพื้นที่นั้น ซึ่งต้องอาศัยเวลา ในขณะที่งานสร้างสวน ต้องการความเร็วเพื่อทำให้พื้นที่นั้นร่มรื่นเร็วที่สุด เขียวที่สุด เพื่อตอบความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก พอขุดปรับถมที่ดินเสร็จ ต้นไม้สารพัดชนิดจึงถูกระดมนำมาปลูก ทั้งไม้ล้อมขนาดใหญ่ ไม้พุ่มประดับ และจบด้วยปูหญ้า วิธีการแบบนี้อาจเหมาะกับสวนสาธารณะในเมือง แต่ไม่เหมาะกับการฟื้นฟูนิเวศใดๆ รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ

พอเราปรับที่ดินและผันน้ำจากลำเหมืองผ่านฝาย ให้เข้ามาไหลเวียนในพื้นที่ก่อนปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับสู่ธรรมชาติเสร็จ โจทย์สำคัญคือเราจะปลูกอะไรที่เหมาะกับพื้นที่ เราได้รายชื่อต้นไม้ท้องถิ่นจากผู้รู้หลายท่าน รวมทั้งรายชื่อพืชชายน้ำที่เราสังเกตว่าขึ้นอยู่ในธรรมชาติ 

แต่ความยากคือ พืชที่เราต้องการส่วนใหญ่หาไม่ได้จากตลาดขายต้นไม้ทั่วๆ ไป เพราะไม่มีคนใช้ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือเห็นคุณค่าความงามของมัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นไม้ประดับซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะไปสวนไหนหรือส่วนใดของประเทศ ที่น่าเศร้าคือ ไม้ส่วนใหญ่เหล่านี้น้อยนักที่จะเป็นไม้พื้นถิ่น 

วิธีการที่เราหาไม้มาปลูกในที่ดินคือ ขุดจากคูน้ำใกล้ๆ ขอจากบึงบัวเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้อง ขอรับจากแหล่งเพาะกล้าไม้ บางส่วนซื้อจากแหล่งเพาะที่เก็บเมล็ดไม้จากในป่า และวิธีการที่คลาสสิกที่สุดและสร้างความเซอร์ไพรส์ได้ตลอด คือรอให้ธรรมชาติเอามาปลูก ผ่านสายลม การเดินทางของนก และจากกระแสน้ำ

ลองมาทำความรู้จัก กลุ่มพืช 3 ลักษณะแบ่งตามนิสัยของมัน ที่เราได้เรียนรู้จากการฟื้นฟูทุ่งน้ำนูนีนอยกัน

พืชต่างถิ่นผู้รุกราน Alien Species คือ พืชที่มีต้นกำเนิดมาจากต่างถิ่นที่แพร่กระจายขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จนสร้างผลกระทบกับระบบนิเวศและการเพาะปลูก ส่วนใหญ่ไม่มีพืชหรือสัตว์ในระบบนิเวศเข้าไปจัดการควบคู่การแพร่พันธุ์ของมันได้ เช่น ไมยราบต้น ขี้ไก่ย่าน ทั้งสองเป็นพืชตัวฉกาจที่มักจะขึ้นคลุมต้นอื่นๆ จนตายเพราะขาดแสงแดด หรือไม่ก็โดนแย่งอาหาร

พืชต่างชาติผู้อยู่ร่วม Expat Species อันนี้เป็นภาษาที่พี่อ้อยใช้เรียกพืชต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่พันธุ์ในไทยนานแล้ว แต่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนมากมายให้กับระบบนิเวศหรือการเกษตรมากมายนัก เช่น หงอนไก่ไทยสีต่างๆ โทงเทง คล้าน้ำ หรือปืนนกไส้ เพราะผลมันเป็นอาหารของสัตว์ได้ ดอกไม้ให้น้ำหวานกับผึ้ง หรือดึงดูดแมลง และแมลงก็กลายเป็นอาหารให้กับนกอีกต่อหนึ่ง

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี

พืชพื้นถิ่น Native Species คือ พวกที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคแถบนี้ หรืออยู่มานานพอจนสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศเข้าไปจัดการมันให้เกิดความสมดุลได้ เช่น ผักตบไทย (ย้ำว่าผักตบไทยนะ ไม่ใช่ผักตบชวา) พงแขม พงอ้อ โสน และหญ้าอีกหลากหลายชนิด

ปัจจุบันในธรรมชาติของทั่วทุกพื้นที่ ไม่ได้มีแต่พืชต่างถิ่นผู้รุกรานเท่านั้นที่แพร่ระบาดด้วยความไม่ตั้งใจของเรา ยังมีสัตว์อีกหลากหลายชนิดที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นผู้รุกราน อย่างเช่น หอยเชอร์รี่ ปูก้ามโตที่กัดกินต้นกล้าข้าวในนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพื้นที่อย่างเชียงดาว การแพร่ระบาดของสัตว์เหล่านี้ เป็นปัจจัยเร่งให้ชาวนาใช้สารเคมีในการจัดการกับพวกมัน เพราะการขยายตัวของมันพ้นขีดความสามารถที่แรงงานปัจจุบันจะจัดการไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยลูกโซ่ต่อเนื่องจนนำไปสู่ปัญหาใหญ่ๆ เช่น หนี้สินภาคการเกษตรจากต้นทุนที่สูงขึ้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วิธีการที่พี่อ้อยใช้ในการฟื้นฟูและบริหารจัดการทุ่งน้ำแห่งนี้ จึงพยายามใช้วิธีการแบบธรรมชาติ เช่น ใช้การหว่านโสนสู้กับไมยราบ ควบคู่ไปกับการถอนให้ถึงรากในปีแรกๆ ดึงดูดให้นกปากห่างมาลงในนาเพื่อจัดการหอยเชอร์รี่ หรือให้แรงงานชาวบ้านที่มาดำนาเก็บปูไปเป็นอาหาร ก่อนปูจะจัดการกล้าข้าวในนาจนเกลี้ยง แต่พืชรุกรานอย่างขี้ไก่ย่านนี่ก็หนักหนาเอาการ ต้องใช้แรงคนดึงพวกมันออก เพื่อให้พงแขมที่เป็นบ้านของนกน้ำ ได้ยึดพื้นที่ริมตลิ่งคืนมา

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
นกปากห่าง
ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ถิ่นของเขา บ้านของเรา

เวลาเรามีโอกาสขึ้นไปเชียงดาว เราจะหาโอกาสแวะไปไถ่ถามพี่อ้อย เพื่อฟังเรื่องราวของพืชและสัตว์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวและเริ่มกลับมาให้เห็น ผ่านไป 2 ปีหลังปรับที่ดินเสร็จ บัวหลวงและบัวสายในสระขึ้นเต็มแล้ว สาหร่ายเริ่มยึดพื้นที่ชายน้ำที่แสงส่องถึง ยอดหญ้าเลื้อยไหลลงน้ำ จนสระดูมีมิติเหมือนบึงธรรมชาติที่ไม่ผ่านร่องรอยของการขุดด้วยเครื่องจักร กล้าไม้หลายต้นสูงพ้นหัว และบางต้นก็ตายไป ตอนนี้ในคูน้ำมีปลากริมกลับมาอยู่แล้ว 

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
ปลากริม
ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ที่สำคัญ ปลากัดป่าก็กลับมาในที่เดิมของมัน หากเราเดินเงียบๆ ตัดไปตามทุ่งหญ้าสูง จะมีนกน้ำชนิดต่างๆ บินพรึบออกมา ทั้งนกกวัก นกอัญชัน นกอีลุ้ม ที่ริมบึง นกกินปลีสีต่างๆ ยื่นปากยาวกินน้ำหวานจากดอกไม้ ยอดหญ้าที่โอนเอนตามแรงลม มีเมล็ดเป็นอาหารให้กับฝูงนกกระติ๊ด นกจาบคาหัวเขียวบินโฉบผึ้งบนท้องฟ้าสูงในตอนเย็น เสียงนกกระแตแต้แว๊ดก้องทุ่ง

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
นกกินปลีดำม่วง 
งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
นกกินปลีคอแดง
ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

บ่ายวันหนึ่ง เราโชคดีเห็นนกกระเต็นบินกระพือบินนิ่งอยู่กลางบึง ก่อนพุ่งหัวที่มีปากสีส้มแหลมลงจับปลาอย่างรวดเร็ว และเป็นวันเดียวกันที่เห็นนกแอ่นหางลวดบินโฉบน้ำในสระด้วยลีลาที่สวยงาม สิ่งนี้คือของขวัญที่ไม่มีผู้ให้และผู้รับสำหรับเรา เป็นของขวัญที่ทำให้รู้สึกว่าธรรมชาตินั้นมีพลัง มีความงามที่ชูชุบใจ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เป็นเป็นภาพจำที่ติดตรึงยาวนาน

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
Sketch Idea ของระดับทั้งหมดในพื้นที่ เพื่อดูว่านกตัวไหนน่าจะชอบพื้นที่แบบไหน จะได้ดึงดูดให้เข้ามา

พี่อ้อยเล่าให้ฟังว่า ปีนี้ฝูงนกเป็ดแดงมาลงสระหน้าบ้านแล้ว มันลงเล่นน้ำอย่างสบายใจและอยู่นานขึ้น ด้วยว่าระยะความไว้วางใจที่มันมีต่อมนุษย์นั้นใกล้มากขึ้น พี่อ้อยเล่าให้ฟังด้วยแววตาประกาย เพราะหลายปีมานี้พี่อ้อยเว้นที่แปลงนาหลังบ้านให้มันได้ซุกนอน ตอนกลางคืนที่มันออกหากินจะได้ยินเสียงเหมือนนกหวีด ซึ่งเป็นเสียงของมันร้องเซ็งแซ่ในความมืด แต่ไม่ค่อยได้เห็นตัว แต่ปีนี้มันมาอยู่บึงหน้าบ้าน ที่ที่แสงอาทิตย์สุดท้ายจะตกลับหลังดอยหลวง เงาทะมึนสีเข้มสะท้อนลงสระน้ำ มีฝูงนกเป็ดแดงว่ายน้ำเล่นอยู่ สระน้ำตอนนี้เป็นวงคลื่นซ้อนกันระหว่างสีดำสลับขาว ก่อนที่ฟ้าจะมืดลงจนเห็นแสงดาว

สิ่งที่ไม่อาจออกแบบ

เวลาเราพูดคำว่า ‘ออกแบบ’ หรือ ‘ฟื้นฟู’ ฟังดูราวกับว่าเราเป็นผู้กำหนดสิ่งต่างๆ ได้ตามใจนักออกแบบหรือเจ้าของโครงการ แต่สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่สัมพันธ์กันอยู่ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะความสัมพันธ์ต้องการกระบวนการทั้งให้และรับ และที่สำคัญคือเวลา ที่ความสัมพันธ์จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสถานที่ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกที่ธรรมชาติเป็นใหญ่ มีสิ่งต่างๆ ที่เราไม่อาจออกแบบได้ เช่น เนินทรายที่เกิดจากแรงกระหวัดของสายน้ำ แก่งหินที่กลมกลึงจากการไหลลูบของแม่น้ำ ความพยายามที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยจากงานชิ้นนี้ ทำให้เราในฐานะผู้ออกแบบเรียนรู้ที่จะถ่อมตน และรับรู้ความหมายของเวลาในธรรมชาติที่ทอดยาวขึ้น

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี
งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี

หลังจากปรับพื้นที่เสร็จ พี่อ้อยทดลองใช้พื้นที่จัดกิจกรรม Nature Connection ฟื้นสัมพันธ์คืนดีกับธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเรียนรู้เรื่องธรรมชาติผ่านประสบการณ์จากผัสสะต่างๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน หลายคนชอบพื้นที่นี้ เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้คนที่สะท้อนออกมา ทำให้รู้ว่าพวกเราทุกคนต้องการการเยียวยาจากธรรมชาติ เราต้องการพื้นที่ที่เราจะกลับไปเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ดั้งเดิมที่เรามีกับธรรมชาติ มันยังอยู่ตรงนั้น เป็นบ้านที่เราจะหาทางกลับไปได้ครั้งแล้วครั้งเล่า 

งานออกแบบพื้นที่ให้มนุษย์ได้ฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของใจบ้านสตูดิโอ ที่ได้รับบรีฟเป็นบทกวี

ความรู้สึกเหล่านี้ออกแบบให้เกิดขึ้นไม่ได้ ทุ่งน้ำก็ไม่สามารถทำหน้าที่เยียวยาผู้คนได้ด้วยตัวมันเอง มันจึงเป็นเพียงสถานที่ที่สร้างโอกาสให้เราไว้วางใจในตนเอง ไว้วางใจในธรรมชาติ ในบรรยากาศที่ละเอียดอ่อน หากความคิดในหัวของเราเริ่มเงียบ และการเคลื่อนที่ของเราช้าลง การรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้นั้นยากที่จะสื่อสารด้วยคำพูดและการเขียน มีแต่สัมผัสรับรู้ได้เท่านั้นที่เราจะรู้สึกได้ด้วยตัวเอง

หากศักยภาพของความเป็นโฮโมเซเปียนส์ (Homo Sapiens) ที่นำพาเราให้เป็นเราในปัจจุบัน คือการปฏิวัติด้านการรับรู้และสื่อสาร การใช้ความคิดและจินตนาการ 

ไม่แน่ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกและการรับรู้ จะพาเรากลับไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งเรายังสื่อสารออกมาไม่ได้ จะพาพวกเราเดินทางไกลไปอีกขั้น ในฐานะ โฮโมกาย่า (Homo Gaia) เพื่อยกระดับความสามารถและปัญญาที่จะรักษาโลกนี้ไว้ ท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน

Writer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding

Photographers

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว