ร่มแดงหนึ่งคัน หม้อหนึ่งใบ เตาหนึ่งลูก กับหญิงสาวผู้ตั้งหน้าตั้งตาต้มสีย้อมผ้าที่ริมน้ำหลังตลาด

น้อยหน่า-ปนัดดา โพธิ นักออกแบบสิ่งทอ (Textile Designer) ผู้หันหลังจากเมืองที่ไม่เคยหลับใหล แล้วปล่อยให้ความคิดถึงพาเธอหวนคืนสู่อ้อมกอดบ้านเกิดท่ามกลางผืนไพร ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

นวล สตูดิโอ’ สตูดิย้อมผ้าเล็ก ๆ ของน้อยหน่าเริ่มต้นด้วยการกางร่มแดง แล้วนั่งต้มสีย้อมผ้าจากต้นไม้ที่หาได้แถวบ้าน ท่ามกลางแดดฝนที่โรงเก็บของหลังตลาดของแม่ จนกลายมาเป็นโรงย้อมผ้าเต็มตัวท่ามกลางหุบเขาที่บรรจงสร้าง Pantone สีธรรมชาติของปากช่อง ผ่านเส้นใยและผืนผ้าด้วยสีนวล ๆ สบายตาหลายเฉดสีจากพืชพรรณบนหุบเขา

“ธรรมชาติคือห้องสมุดที่ใหญ่มาก เป็นที่ที่รอให้เราอ่านเจอ เพราะวันพรุ่งนี้เราก็จะเปิดเจอหน้าใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ”

หญิงสาวผู้มาพร้อมร่มแดงจึงอยากพาพวกเราไปเปิดใจรู้จักกับสีย้อมผ้า Pantone ของปากช่อง เมืองแห่งผ้าไหมและสิ่งทอ ด้วยการเปิดหน้าหนังสือท่ามกลางห้องสมุดธรรมชาติทีละหน้าสองหน้าไปด้วยกัน ตั้งแต่การดั้นด้นค้นพบสีธรรมชาติ การเลือกเส้นใยที่ไม่ซ้ำใคร จนถึงการส่งมอบสีนวล ๆ ที่เต็มไปด้วยมวลของความสุข

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

หน้าที่ 1 หญิงสาวผู้มากับร่มสีแดง

หนังสือหน้าแรกเปิดประตูสู่ปากช่อง เมืองแห่งภูมิปัญญาการทอและเป็นขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม ย่ำกรายไปบ้านไหน ก็มักเห็นกี่ทอผ้าและอุปกรณ์ทำเส้นไหมตั้งอยู่สักมุมของตัวบ้าน บ้านยายของน้อยหน่าก็เช่นเดียวกัน แม้แต่เดิมบ้านยายของเธอตั้งอยู่ที่อำเภอใกล้เคียง แต่ก็ยังไม่วายมีกี่ทอผ้าและเหล่าเครือไหมที่ใช้ทำเส้นใยเพื่อทอผ้าผืน 

“สมัยเด็ก ยายเป็นคนทำผ้าไหม เรามีความชอบแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เลยไม่ค่อยได้เล่นแบบเด็ก ๆ ทั่วไป เพราะคอยจับเครือไหมให้ยายตลอด ตอนเรายังเด็ก ป้า ๆ ยาย ๆ เขาเคยทำ แต่กว่าเราจะโต กว่าจะเรียนจบ ป้า ๆ ยาย ๆ ก็ไปทำอาชีพอื่นแล้ว ทุกบ้านเลยมีอุปกรณ์ทอผ้าปล่อยทิ้งร้างไว้” หญิงสาวเล่าการเปลี่ยนผ่านของอาชีพช่างทอ

แม้ที่บ้านยายของน้อยหน่าไม่มีใครทอผ้ากันแล้ว แต่เธอยังชื่นชอบสิ่งทอมาโดยตลอด กระทั่งเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย เธอใช้เวลาค้นพบตัวเองถึง 2 ปี เพื่อพิสูจน์ว่ามีใจรักเรื่องผ้าและสิ่งทอแบบเต็มร้อย

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

“เราเคยซิ่ว 2 รอบ ตอนแรกมองข้ามและตัดสินใจไม่เรียนสายสิ่งทอเพราะใกล้ตัว ยายบอกว่าเรียนทำไม ของแบบนี้เรียนกับยายกับป้าก็ได้ เราเลยเรียนอย่างอื่น รู้สึกว่าไม่ใช่ สุดท้ายเรายังชอบผ้า พอมาเรียน Textile Design เราก็พุ่งสุดตัวเลย เพราะไม่ได้มาหาตัวเองระหว่างเรียน แต่เราหาตัวเองระหว่างซิ่ว เป็นการนับหนึ่งแบบเต็ม 100”

หลังจากเรียนจบและใช้เวลากับการเป็น Textile Designer ด้านเครื่องแต่งกายอยู่ 2 ปี น้อยหน่าก็ทยอยเก็บของแล้วลาจากกรุงเทพฯ มาตั้งรากฐานใหม่บนหุบเขาบ้านเกิด ที่ใช้คำว่าทยอยเก็บของ เป็นเพราะการตัดสินใจในครั้งนี้เกิดจากความคิดถึง ผสานกับความรักที่มีต่อธรรมชาติในอำเภอปากช่องที่ก่อตัวขึ้นทีละน้อย

 “เราแค่กลับบ้านในวันหยุด เริ่มต้นด้วยเสื่อผืนหมอนใบ ซื้อเตาหนึ่งอัน หม้อหนึ่งใบ แล้วก็มีร่มแดง เหมือนร่มตลาดนัดกางอยู่ริมแม่น้ำ เราต้มและย้อมสีผ้าตรงนั้น ช่วงแรกก็สนุก เรายังไม่ได้คิดถึงว่าตัวเองจะต้องไปยังไงต่อ 

“ฝนตกแดดออกเราก็ย้อม แต่เรารู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วมากเลย เพราะเดี๋ยวเราก็ต้องกลับกรุงเทพฯ ไปทำงาน มันก็เลยเริ่มจากตรงนั้น เราเริ่มขยับเป็นซื้อหม้อ ซื้อเตาเพิ่มอีกหนึ่งชุด” น้อยหน่าเล่าถึงวันแรกของ นวล สตูดิโอ

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง
'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

ทุกวันหยุดของน้อยหน่ามักใช้เวลาไปกับการกางร่มแดงแล้วย้อมสีที่ริมน้ำหลังตลาด กระทั่งถึงจุดที่เธอคิดว่าประสบการณ์จากการทำงานประจำนั้นอยู่ตัวแล้ว เธอจึงตัดสินใจเริ่มธุรกิจและกลับมาอยู่กับสิ่งที่รัก ณ บ้านเกิดพร้อมกันกับ อีฟ-ณัฐรวี ดีทองหลาง เพื่อนคนโคราชด้วยกันที่ลางานประจำเพื่อมาลงมือกับ นวล สตูดิโอ อย่างจริงจัง

“เราขอพื้นที่เสี้ยวเดียวในโรงเก็บของของแม่ ก็เลยตั้งชื่อว่า นวล สตูดิโอ เพราะคุณแม่ชื่อนวล เราขอโรงเก็บของตรงนั้นมา ก็ต้องให้เป็นชื่อเจ้าของ บวกกับคอนเซ็ปต์ของเราคือเน้นเรื่องสีธรรมชาติ เราฝืนธรรมชาติไม่ได้ ฉะนั้นสีก็ออกมาเป็นสีนวล ๆ ไม่เข้มมาก ทุกอย่างจะเป็นสีนวล ๆ ตามชื่อเจ้ากับโรงย้อมเลย” ลูกสาวเล่าที่มาที่ไป

ที่ตั้งเดิมของนวล สตูดิโอ เริ่มจากบริเวณริมน้ำหลังตลาด แต่เพราะเป็นที่ลุ่มน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากทำให้พื้นที่ตรงนี้เกิดน้ำท่วมทุกปี น้อยหน่าและอีฟจึงได้ฤกษ์ย้ายสตูดิโอหลังจากทำงานที่โรงย้อมเดิมเมื่อเข้าปีที่ 3

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

“การย้ายสตูดิโอย้อมผ้า สิ่งที่ยากคือเราไม่ได้หาที่ดิน แต่ต้องหาแหล่งน้ำ เราตระเวนเก็บน้ำทั่วปากช่องมาลองย้อมดูว่าน้ำที่ไหนโอเค ปัจจัยแหล่งน้ำธรรมชาติต้องมีตลอดทั้งปี จนเจอแหล่งน้ำใกล้เขื่อนลำตะคอง เป็นบ่อน้ำผุดที่มีน้ำตลอดปี เป็นบ่อที่ถูกต่อท่อเพื่อใช้โดยน้ำไม่ลดเลยกว่า 10 หมู่บ้าน บ่อน้ำตรงนี้อยู่บนภูเขา ไม่ไกลจากที่เดิม แหล่งวัตถุดิบยังเหมือนเดิม ชาวบ้านเรียกว่าบ่อน้ำทิพย์ เพราะน้ำในบ่อไม่เคยหมด สตูดิโอใหม่ของเราเลยได้ตั้งอยู่ที่นี่”

ระยะเวลากว่า 5 ปีที่สองคู่หูชวนกันกลับบ้าน และกล้าลงมือเปลี่ยนหม้อหนึ่งใบ เตาหนึ่งอัน ให้กลายเป็นสตูดิโอบนภูเขาใกล้เขื่อนลำตะคอง โรงย้อมผ้าที่อยากเล่าเรื่องราวขุนเขาแห่งปากช่องผ่านสีฟุ้ง ๆ นวล ๆ จากต้นไม้ใบหญ้า

หน้าที่ 2 Natural Limited

“Natural Limited”

แก่นหลักที่น้อยหน่าให้คำจำกัดความถึงธรรมชาติในแบบของนวล สตูดิโอ

“สตูดิโอย้อมสีนวล ๆ ที่มองว่าธรรมชาติมีความพิเศษเฉพาะตัวเหมือนสินค้า Limited Edition สีธรรมชาติเป็นสีลิมิเต็ดที่เกิดขึ้นมาเฉพาะในช่วงวัน เวลา ฤดูกาล อุณหภูมิ อากาศ ณ ตอนที่เราย้อม ทำให้สีของเขาเปลี่ยนไป

“บางคนมักคิดว่าสีเปลือกไม้ต้องได้จากสีธรรมชาติสีน้ำตาล แต่พอย้อมจริงแล้วไม่เป็นสีน้ำตาล เรามองว่านั่นไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เรารู้สึกว้าวที่เขากลายเป็นสีอื่น เพราะมันคือความพิเศษเฉพาะตัว เขาอาจจะไม่ใช่สีน้ำตาล Brown แต่เขาอาจจะเป็นน้ำตาล Butter สีจากธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มันคือ Natural Limited”

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

เมื่อสีธรรมชาติเปลี่ยนเฉดสีตลอดเวลาตามสภาพอากาศ สภาพดิน สภาพน้ำ รวมถึงปัจจัยวันและเวลา แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของการกำหนดค่าเฉดสีของนวล สตูดิโอ การกำหนดค่าเฉดสีให้สีธรรมชาติกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไป

“Code สีของเราไม่ได้บอกว่ามันเป็นสีแดงหรือสีชมพู แต่เราจะบอกว่าเป็น สีฝาง เป็นชมพูจากฝาง เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจว่าในแต่ละครั้งที่ย้อม คุณจะได้สีชมพูจากแก่นฝาง แต่สีชมพูในแต่ละรอบของการย้อมเฉดสีจะแตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยดิน น้ำ อากาศ แร่ธาตุในดิน วันและเวลาของฝางแต่ละต้น” นอกจากสีชมพูจากฝางแล้ว ยังมีชื่อเรียกสีอื่น ๆ อย่างสีม่วงจากกะหล่ำม่วง สีดำจากมะเกลือ สีครีมจากยูคาลิปตัส หรือสีผิวเด็กจากมะพร้าว

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

“เรากำหนดสีการย้อมแต่ละครั้งให้เหมือนเดิมไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราทำให้ใกล้เคียงได้นะ ถ้าครั้งแรกลูกค้าซื้อแล้วสีเข้มกว่านิดหนึ่ง แล้วซื้อรอบที่สองสีไม่เข้มเท่ารอบแรก เราก็ลงสีซ้ำให้อีกรอบจนได้สีที่ใกล้เคียงกัน เราแนะนำลูกค้าตลอดว่า สั่งให้พอกับความต่อเนื่องของชิ้นงาน เพราะรอบหน้าไม่การันตีเฉดสีเดิมที่ลูกค้าเคยสั่งไว้ 

“เราทำงานกับธรรมชาติ ก็ต้องคุยกับลูกค้าให้เข้าใจธรรมชาติไปด้วยกัน” น้อยหน่าเฉลยหัวใจสำคัญ

 สียืนพื้นของ นวล สตูดิโอ มีทั้งหมด 20 สี 48 เฉด เป็นสีนวล ๆ ที่น้อยหน่าและอีฟเห็นว่าเหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบหรืองานสร้างสรรค์ทุกชนิด เช่น สีดาวเรือง สีอัญชัญ สีสะเดา สีครั่ง สีขมิ้น ฯลฯ

“เราคิดกันว่าธรรมชาติทำได้เหมือนดินสอสีที่เราใช้ไหม ตอนเด็ก ๆ ดินสอสีที่เราใช้มี 12 สีก็โอเคแล้ว แต่ถ้ามี 24 สีเรายิ่งว้าว ถ้ามี 36 สีเราเอาไปอวดเพื่อนที่โรงเรียนได้เลย เลยคิดว่าสีธรรมชาติมันทำขึ้นมาอยู่บนเส้นใยโดยไม่มีขีดจำกัดได้ไหม เพราะสีเคมีไม่มีขีดจำกัด อยากได้สีไหนก็ได้ แต่เราค่อนข้างเซนซิทีฟกับสีเคมี ถ้าเปลี่ยนจากสีเคมีเป็นสีประดู่ สีมะพร้าว สีสะเดา ไปอยู่บนชิ้นงานเดียวกันจนเป็นลวดลาย มันดูน่าสนุก ไม่อันตรายกับตัวเราด้วย”

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

แม้น้อยหน่าเสกสีธรรมชาติขึ้นมาได้มากกว่า 48 เฉดสี แต่เธอเลือกทำเพียงเท่านี้เพื่อสมดุลวัตถุดิบและเคารพธรรมชาติ เพราะสีที่ได้ล้วนหยิบใช้จากธรรมชาติ การคำนึงถึงวัตถุดิบไม่ให้หมดไปก็สำคัญ ดังนั้น วิธีการได้มาของสีจากเหล่าพืชพรรณจึงมีหลากหลาย เพื่อกระจายความสมดุลของวัตถุดิบให้คงมีเหลือใช้ทำสีตลอดปีและตลอดฤดูกาล

“เราเน้นวัตถุดิบในท้องที่เป็นหลัก ฉะนั้น เฉดสีที่ได้คือเฉดสีของปากช่อง” 

วัตถุดิบส่วนมากที่ นวล สตูดิโอ ใช้มักเป็นต้นไม้ยืนต้น อย่างประดู่ สะเดา และมะพร้าว โดยใช้เพียงส่วนของเปลือกนอก 20 – 30 เซนติเมตร และไม่ตัดถึงท่อน้ำเลี้ยง การได้มาซึ่งวัตถุดิบมีหลายวิธีด้วยกัน

“งานอดิเรกของเราคือการขับรถเล่น เพื่อหาดูต้นไม้หักโค่น เราพร้อมเก็บกวาดให้ ยิ่งช่วงที่เทศบาลตัดต้นไม้เพราะมันขึ้นใกล้สายไฟ เราก็จะไปเก็บช่วงที่เขาตัด ไม่ต้องให้เขาขนขึ้นรถ เราก็เอากลับบ้านมาจัดการเอง แล้วแถวนี้ก็ปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นไร่เป็นสวน เราก็ไปหาซื้อเขาเอา เป็นการกระจายรายได้ส่วนเล็ก ๆ ของเราให้ชุมชน

“หรือมีช่วงหนึ่งที่เขาปลูกดาวเรืองส่งตลาดกัน มักมีดาวเรืองตกเกรดเหลือทิ้งเป็นภูเขา เรามองว่านี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของสีธรรมชาติ เราไปขอซื้อ บ้างก็ขาย บ้างก็ให้เราเลย เหมือนเราจัดการขยะให้เขาไปในตัว”

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบที่ได้จากตลาดปากช่องด้วย นวล สตูดิโอ ไม่ได้มีเพียงสีธรรมชาติบนผืนป่า แต่นำสีจากความเป็นเมืองชนบทมาให้เราเห็นบนผืนผ้า ไม่ว่าจะเป็นสีม่วงจากกะหล่ำบนแผงของป้าในตลาด สีจากสายบัวที่มีขายบางฤดูกาล นอกจากกะหล่ำแล้วก็ยังมีพืชที่ขายบางฤดูกาลด้วยเหมือนกัน แค่ฟังเธอเล่าก็สนุกตามไปด้วย

“ช่วง High Season ปลายพฤศจิกายนถึงต้นมีนาคม ชาวบ้านที่รู้ว่าเราย้อมสีธรรมชาติมักเอามะเกลือมาขายให้ บางฤดูกาลหาได้ไม่เยอะ ทำให้มะเกลือกลายเป็นลิมิเต็ด ถ้าไม่ซื้อฤดูกาลนี้ เดือนหน้าไม่ได้ใช้แล้วนะ ต่อให้ไม่มีแผนจะใช้ก็ต้องซื้อเก็บไว้ก่อน เพราะบางคนรอสีมะเกลือตั้งแต่ซีซั่นที่แล้ว กลายเป็นการสร้างคุณค่าให้มะเกลือไปในตัว เราบอกลูกค้าว่ามะพร้าว ประดู่ มีทั้งปี แต่มะเกลือหรือบางตัวต้องรอ กลายเป็นคอนเซ็ปต์ของเราเลย คือ Natural Limited”

'นวล สตูดิโอ' โรงย้อมผ้าเล็ก ๆ บนเขาใหญ่ที่สกัดสีธรรมชาติ จนสร้าง Pantone ของปากช่อง

หน้าที่ 3 มนุษย์ผู้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

นวล สตูดิโอ ไม่เพียงแค่สรรสร้างสีแห่งปากช่อง แต่ยังต้องการส่งต่อเส้นใยธรรมชาตินอกกระแสให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่รักในผ้าและสิ่งทอเหมือนกัน แต่ชุดความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่น้อยหน่านำมาส่งต่อ ล้วนเป็นภูมิปัญญาโบราณจากรุ่นยายที่ประยุกต์เข้ากับความรู้สมัยใหม่

“เราได้ความรู้เก่าตั้งแต่ยายทอไหม แล้วก็ศึกษาเพิ่มเติมทั้งของไทยและต่างชาติ เพื่อประยุกต์เรื่องพืชและวิธีการย้อมผ้าที่ใกล้เคียงกัน ตอนเด็ก ๆ เราคุ้นชินกับการที่ยายใช้ยางมะละกอฟอกไหม เราก็ลองเอายางมะละกอมาต้มกับฝ้ายดูค่าไขมันดู องค์ความรู้พวกนี้เป็นความทรงจำในวัยเด็ก ประกอบกับที่เรามาศึกษาเพิ่มเติมตอนโตด้วย

“แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือการคลุกคลีกับธรรมชาติ ทฤษฎีเป็นพื้นฐานเพื่อแค่ให้รู้ แล้วเราก็ไปเรียนรู้กับธรรมชาติอีกที ธรรมชาติดิ้นได้ บางสีที่ทฤษฎีคนบอกว่าทำไม่ได้ แท้จริงมันผสมได้ ธรรมชาติเป็นครู เรากอดธรรมชาติ กอดขอบคุณต้นไม้ ให้ความเคารพว่าเขาเป็นครูของเราในทุก ๆ ต้นเลย”

นวล สตูดิโอ เป็นเพียงโรงย้อมสีธรรมชาติเล็ก ๆ เรื่องของการทำเส้นใยจึงจำเป็นต้องพึ่งแหล่งผลิตจากโรงงานทั้งในและต่างประเทศ ที่นี่จึงใช้วิธีทำงานร่วมกันกับชาวบ้าน โดยการหาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเส้นใยจากเกษตรกรหลายกลุ่ม อย่างเส้นใยสับปะรดจากราชบุรีและเพชรบุรี การนำเข้าเส้นใยจากต่างประเทศอย่างเส้นใยกัญชงจากฝรั่งเศส รวมถึงฝ้ายออร์แกนิกจากอินเดีย

การเดินทาง 5 ปีของโรงย้อมผ้าและสิ่งทอที่ค้นพบสีนวล ๆ ของธรรมชาติในปากช่อง จ.นครราชสีมา
การเดินทาง 5 ปีของโรงย้อมผ้าและสิ่งทอที่ค้นพบสีนวล ๆ ของธรรมชาติในปากช่อง จ.นครราชสีมา

“คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในงานวงการสิ่งทอ จะรู้จักแค่ฝ้ายกับไหม เราอยากเปิดโลกว่า ที่จริงเส้นใยธรรมชาติบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ฝ้ายกับไหม ต้นไม้ที่มีเส้นใย นำมาถักทอเป็นผืนผ้าได้ เราก็เลยทำเส้นใยอื่น ๆ อย่างเส้นใยกัญชง ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก เป็นเส้นใยทางเลือกที่จะทดแทนเส้นใยอื่น ๆ ในอนาคต คนก็จะยังไม่เข้าถึง แต่เราก็ทำขึ้นมาก่อนเพื่อให้คนรู้และซึมซับ”

หลังจากได้เส้นใยธรรมชาติที่ต้องการแล้ว เป็นวิธีการลงมือย้อมกันเองของสองคู่หูน้อยหน่าและอีฟ Pantone จึงมักออกมาอยู่บนผลิตภัณฑ์ที่เป็นเส้นใยสำหรับงานถักทอและงานออกแบบเป็นหลัก แต่นอกจากเส้นใยเพื่องานถักทอและงานออกแบบ นวล สตูดิโอ ก็มีผ้าผืนสำหรับผู้ชื่นชอบสีแต่ไม่ถนัดงานคราฟต์ด้วย

“เรามีผ้าทอ 2 แบบ คือ ทอเครื่องกับทอมือ ทอมือก็ให้แม่ ๆ ป้า ๆ ที่บ้านยายทอ การทอมือมีขีดจำกัดเยอะ ป้า ๆ แม่ ๆ เขาทอหน้ากว้างได้แค่ 1 เมตร เพราะที่หมู่บ้านไม่ได้ใช้กี่กระตุก แต่ใช้ทอกระสวย ระยะ 1 เมตร มันสุดแรงเอื้อมของมือเขาแล้ว ส่วนทอเครื่อง มีเพื่อผ้าหน้ากว้าง งานดีไซน์อย่างการตัดชุด ตัดกระโปรง ตัดเดรส ต้องใช้หน้ากว้างเพราะไม่เปลืองผ้าเวลาตัดเฉลียง”

การเดินทาง 5 ปีของโรงย้อมผ้าและสิ่งทอที่ค้นพบสีนวล ๆ ของธรรมชาติในปากช่อง จ.นครราชสีมา

แม้ นวล สตูดิโอ จะสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของน้อยหน่าและอีฟ แต่ระหว่างการเดินทางตลอด 5 ปีของพวกเธอก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างชุมชนกับธรรมชาติในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบยันขั้นตอนการผลิตออกมาเป็นเส้นใยสิ่งทอสีนวล ๆ ให้เราได้ชื่นชมกัน 

“ลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งนักออกแบบ ออกแบบแฟชั่นและตกแต่ง มัณฑนศิลป์ นักออกแบบภายใน พวกออกแบบของตกแต่งบ้าน บางคนเอาไปปัก ทำงานจิตรกรรม หลัก ๆ ก็ทำงานถักงานทอผ้า เอาไปทอสลับลายขิต ลายยกดอกกับผ้าถุงและพวกย่ามสะพาย ขายให้คนที่ทำงานอดิเรกเสียส่วนใหญ่ บางคนเริ่มจากงานอดิเรกแล้วได้ทำขายจนกลายเป็นอาชีพก็มี ลูกค้าบางคนเราอยู่กับเขาตั้งแต่เริ่มถัก จนตอนนี้ถักขายได้แล้ว”

หน้าที่ 4 ธรรมชาติคือเรา

นวล สตูดิโอ ผู้เปิดประตูสู่เรื่องราวของปากช่องด้วย Pantone ที่ร้อยเรียงหลากสีบนเส้นใยและผืนผ้า เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามารู้จักกับความเป็นปากช่องที่ไม่ใช่แค่สีเขียวของเขาใหญ่ และไม่ใช่แค่สีน้ำตาลของผืนดินหรือสีฟ้าของผืนน้ำ แต่ยังพาให้คนที่เข้าสู่ประตูนี้ได้รู้จักค้นพบสิ่งใกล้ตัวและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมรอบกายมากขึ้น

“เราคุยกับลูกค้าเยอะมาก เราบอกเล่าเรื่องราวของสีแต่ละฤดูกาลว่าเป็นมายังไง ใช้ต้นไม้แบบไหนบ้าง พอของไปถึงมือลูกค้า เขาก็จะบอกเราว่า ‘น้องประดู่น่ารักจังเลย สีน้องทำไมเป็นแบบนี้’ บางคนซื้อสีมะพร้าวน้ำหอมไป เขาบอกว่าอยากไปซื้อมะพร้าวน้ำหอมมากินเลย หลายคนเวลาออกไปข้างนอก เขารู้สึกว่าอยากมองหาต้นไม้นั้น ๆ บางคนบอกว่าสั่งต้นมะเกลือไม่เคยเห็นมะเกลือเลย บางคนสั่งประดู่เขาก็มาเล่าว่าวันนี้เจอต้นประดู่ พวกเขาเริ่มรู้สึกว่าธรรมชาติสำคัญ ไม่ใช่รู้แค่ว่าสีธรรมชาติมันสวยหวาน

“เส้นใยที่ถึงมือลูกค้าทำให้เขาสังเกตธรรมชาติ รักธรรมชาติ และรู้สึกผูกพัน เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่แค่ในพื้นคอนกรีต แต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วยเหมือนกัน เราเองพอมาทำตรงนี้เราก็มองต้นไม้ใบหญ้าอยู่ตลอดเวลา ลูกค้าก็เริ่มเป็นเหมือนเรา เราไม่ได้แค่ซื้อขาย แต่เหมือนคุยและบอกเล่าเรื่องราวที่เราไปเจอกันมา”

การเดินทาง 5 ปีของโรงย้อมผ้าและสิ่งทอที่ค้นพบสีนวล ๆ ของธรรมชาติในปากช่อง จ.นครราชสีมา

คงจะดีไม่น้อย หากการแบ่งปันความสุขทำได้มากกว่าการตอบแชตบนเพจเฟซบุ๊ก คิดได้เช่นนั้นน้อยหน่าและอีฟก็ริเริ่มจัดเวิร์กชอปทำสีย้อมธรรมชาติ เพื่อพบปะลูกค้าและผู้ที่สนใจเรื่องงานผ้าให้ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันใกล้เขื่อนลำตะคอง ครั้งแรกที่จัดคือปีก่อนที่จะเจอโควิด-19 หลังจากนั้น ทั้งคู่ก็กลับมาจัดอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

“คอนเซ็ปต์เวิร์กชอปรอบนี้คือ ย้อมผ้ากินปลาเขื่อน คือพาย้อมผ้าและปิกนิกกินปลาเขื่อน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลเปิดเขื่อนลำตะคอง ชาวบ้านจะหาปลาสดมาจากเขื่อนให้เราได้เอามาทำกับข้าว เอามาเผาให้ลูกค้ายามเย็นหลังย้อมผ้าเสร็จ ทุกคนจะได้ซึมซับความเป็นชาวเขื่อนลำตะคอง เพราะน้ำย้อมก็ใช้น้ำเขื่อนลำตะคอง โคลนที่ใช้หมักผ้าก็ใช้โคลนจากเขื่อน วัตถุดิบเราก็ใช้จากปากช่อง คุณจะเห็นเฉดสีของปากช่องที่เราสกัดออกมาได้ มีมากกว่าสีเขียวของเขาใหญ่เลยด้วยซ้ำ อยากให้คนมาสัมผัสและใกล้ชิดกับสีของธรรมชาติมากขึ้นด้วย”

การเดินทาง 5 ปีของโรงย้อมผ้าและสิ่งทอที่ค้นพบสีนวล ๆ ของธรรมชาติในปากช่อง จ.นครราชสีมา

การใกล้ชิดกับธรรมชาติไม่เพียงทำให้เราได้มองสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมากขึ้น แต่น้อยหน่าที่ค้นพบ Pantone สีของปากช่องยังได้อีกหนึ่งบทเรียนจากธรรมชาติ ซึ่งเธอเองก็พยายามส่งต่อบทเรียนนี้ให้ผู้อื่นได้รับเช่นเดียวกัน

“ช่วงแรก ๆ ที่เราทำสีย้อมแล้วอยากได้เฉดสีที่เป๊ะ มันเครียดมาก จนเรารู้สึกว่าทำไมต้องไปบังคับธรรมชาติ ทำไมไม่มองว่าสีที่มันผิดเพี้ยนจากเดิมคือความพิเศษและลิมิเต็ดไม่เหมือนใคร 

“ธรรมชาติคือความพิเศษ พอมองแบบนั้นแล้ว เรายิ่งชอบการทำสีธรรมชาติมากขึ้น 

“ธรรมชาติสอนเราว่าไม่มีอะไรที่แน่นอนในธรรมชาติ อย่าลืมว่าธรรมชาติคือตัวเราด้วย อย่าไปยึดติดกับตัวเองและธรรมชาติมาก เพราะยิ่งคาดหวังมากเท่าไร ยิ่งผิดหวังมากเท่านั้น ธรรมชาติสอนเราแบบนี้” 

หน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่ใช่กระดาษแผ่นสุดท้ายของ นวล สตูดิโอ เพราะในอนาคตคู่หูน้อยหน่าและอีฟจะยังคงค้นหาสีใหม่ ๆ ของปากช่องที่ซ่อนอยู่ในห้องสมุดแห่งขุนเขาอันกว้างใหญ่นี้ต่อไป สร้างประตูหลายบ้านให้ผู้คนเข้ามาทักทายและทำความรู้จักกับปากช่อง อันเป็นบ้านเกิดแสนรักของพวกเธอไปกับสีธรรมชาติบนเส้นใยและสิ่งทอ

การเดินทาง 5 ปีของโรงย้อมผ้าและสิ่งทอที่ค้นพบสีนวล ๆ ของธรรมชาติในปากช่อง จ.นครราชสีมา

ภาพ : นวล สตูดิโอ

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์