วันนี้จะชวนออกไปทุ่งกว้างนอกเมือง แต่ต้องไปตอนดึกๆ นะ 

เราจะไปดูผีกัน

ผีที่ว่าคือ ผีพุ่งไต้ แบบที่คนโบราณเรียก ภาษาทั่วไปในปัจจุบันคือ ดาวตก นั่นเอง

ว่าแต่การชวนไปดูดาวตกเนี่ย ดูเป็นการชวนที่ลมๆ แล้งๆ มาก ดูเหมือนว่า รู้ได้ยังว่าดาวจะตกตอนไหน นอนตากน้ำค้างดูอย่างนั้น ดีไม่ดีเป็นหวัดก่อนเห็นดาวตก

เข้าเรื่องกันเสียที เรื่องของเรื่องคือ คนอิตาลีเชื่อว่า คืนวันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่มีดาวตกเยอะมากที่สุด หรือพูดง่ายๆ คำว่าปรากฏการณ์ฝนดาวตกเนี่ย อิตาลีคุ้นเคยมานานแล้ว สำหรับเขาคือ ถ้าไม่มีโอกาสไหนเป็นพิเศษ ก็คืนวันที่ 10 สิงหาคมนั่นล่ะที่เตรียมเสื่อสาดไปลาดปูนอนรอดูเถอะ มีอย่างแน่นอน

คนอิตาลีเรียกคืนวันนั้นว่า Notte di San Lorenzo (อ่านว่า นอต-เต-ดิ-ซาน-ลอ-เรน-โซ) หรือแปลว่า คืนแห่งนักบุญลอเรนซ์

คืนแห่งนักบุญลอเรนซ์วันที่ 10 สิงหาคม คืนที่คนอิตาลีเชื่อว่ามีดาวตกเยอะมากที่สุด, Notte di San Lorenzo
นักบุญลอเรนโซกับตะแกรงที่เชื่อกันว่าท่านถูกเผาทั้งเป็นบนนั้น
ภาพ : en.wikipedia.org

ทำไมถึงเป็นนักบุญลอเรนโซ (ขออนุญาตเรียกด้วยชื่ออิตาลีนะทุกคน)

ตอบง่ายๆ ก็คือ วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปีนั้น ปฏิทินคาทอลิกกำหนดให้เป็นวันนักบุญลอเรนโซอยู่แล้ว ตั้งชื่อวันตามท่านเพราะในวันดังกล่าว ท่านได้อุทิศชีวิตและกลายเป็นมรณสักขี (ชาวคริสต์ที่ยอมตายเพื่อรักษาศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าของตน) วิธีนี้เป็นหลักการที่ใช้โดยทั่วไปในการกำหนดชื่อวันของทางคาทอลิก เหมือนที่กำหนดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ให้เป็นวันของนักบุญวาเลนไทน์ฉันนั้น

จะมีคนสังเกตว่าคืนดังกล่าวมีดาวตกเยอะเป็นพิเศษตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ แต่น่าจะนาน นานกว่าที่ทางวาติกันกำหนดให้วันนั้นเป็นวันของนักบุญลอเรนโซแน่นอน

แต่เมื่อฝนดาวตกกับนักบุญลอเรนโซมาผนวกเข้าไว้ด้วยกันแล้ว เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการร้อยเรียงเรื่องราวอันงดงามไว้ ถ้าปนเศร้านิดๆ ด้วย ก็จะฟังดูตราตรึงใจอยู่ได้นาน

ตอนแรก ก็เล่ากันแค่ว่าบรรดาดาวตกเหล่านั้นคือน้ำตาของนักบุญลอเรนโซ จากนั้นก็มีเรื่องราวเพิ่มขึ้นมาว่า ท่านถูกปลิดชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นบนตะแกรงเหล็ก ดาวตกเหล่านั้นก็คือเปลวไฟที่ปะทุออกจากถ่านและกองฟืนที่เผาท่านนั่นเอง

นักวิชาการแนวล้มหลายคนก็จะบอกว่า จริงอยู่ เชื่อได้ว่าท่านถูกประหารใน ค.ศ. 258 ตามคำสั่งของจักรพรรดิวาเลเรียโน แต่ไม่ได้มีหลักฐานอะไรว่าท่านถูกเผาทั้งเป็นเลยนะ คนอื่นๆ ที่ถูกจับมาในช่วงเวลาเดียวกันก็ถูกตัดศีรษะทั้งสิ้น ท่านก็น่าจะจบชีวิตลงเช่นนั้นเช่นกัน แต่ไม่เอาล่ะ คนทั่วไปจะเชื่ออย่างนี้ ก็ไม่ว่ากัน

คืนแห่งนักบุญลอเรนซ์วันที่ 10 สิงหาคม คืนที่คนอิตาลีเชื่อว่ามีดาวตกเยอะมากที่สุด,  Notte di San Lorenzo, Martirio San Lorenzo Bernini analisi
รูปสลักซานลอเรนโซบนตะแกรง ฝีมือสลักของแบร์นีนี (Bernini)
ภาพ : www.arteworld.it

แล้วคนอิตาลีทำอะไรกันในวันฝนดาวตก

ก็ออกไปนอกเมือง ไปหาที่ที่ไม่มีแสงรบกวน ไปดูดาว แล้วก็อธิษฐาน 

เรื่องนี้คงไม่เป็นที่แปลกใจสำหรับใครมากนัก เพราะหลายๆ วัฒนธรรมเชื่อกันว่า ขอพรจากดาวตกแล้วจะสมหวัง เราเองก็แอบคิดใช่ไหมล่ะว่า ถ้ามีฝนดาวตกเมื่อไหร่ จะเขียนลิสต์รอไว้เลย ตกดวงหนึ่งก็ขอข้อหนึ่ง ไล่ไปจนครบ ถ้ายังตกอีก ก็จะกลับไปขอหนึ่งใหม่ วนไป

แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่อิตาลีเชื่อไม่เหมือนเราแน่ๆ นั่นก็คือ ความเชื่อที่ว่าถ้าออกชื่อเสียงคนรักดังๆ (แต่ต้องไม่ให้คนอื่นได้ยินนะ) ก็จะสมหวังในรัก

เพราะถ้าเป็นเมืองไทย ซึ่งเชื่อกันว่าดาวตกคือเทพที่จุติ (แปลว่าตาย) มาจากสวรรค์แล้วกำลังเดินทางมาเกิดบนโลกมนุษย์นั้น ถ้ามีใครทัก เทพนั้นก็จะไปเกิดในท้องหมาแทน

เป็นความเชื่อที่ใจร้ายมาก แต่ก็อีกนั่นล่ะ มันก็ทำให้เราได้คำอธิบายว่า ทำไมน้องหมาบางตัวถึงได้น่ารักและแสนรู้เสียเหลือเกิน น้อนนนนนน (เรียกด้วยเสียงสอง) 

ว่าแต่… ทำไมดาวตกไปเกี่ยวอะไรกับการอธิษฐานของเราล่ะ เออ… เคยสงสัยไหม ดาวตกก็ตกไปสิ จะร้ายก็สะเดาะเคราะห์ จะดีก็จัดสมโภช จะทำอะไรก็ทำไม แต่ทำไมต้องขอพร ต้องไปฝากความหวังไว้กับดาวตก

มีคำอธิบายเชิงภาษาว่า ในภาษาอิตาลีนั้น กลุ่มคำที่แปลว่า (ความ) ปรารถนา หรือ desiderare, desiderio นั้น ถ้าตัดส่วนท้ายอันแสดงถึงหน้าที่ของคำออกไป เหลือแต่ตัวความหมายแท้ๆ ก็จะเจอคำว่า desider แล้วคำว่า desider อันนี้เนี่ย มันมาจากภาษาละติน คือ de + sider- ซึ่ง sider- ก็มีความหมายว่า ดวงดาว รวมๆ กันอาจจะแปลว่า ใต้ดวงดาว หรือ จากดวงดาว ประมาณนั้น

คืนแห่งนักบุญลอเรนซ์วันที่ 10 สิงหาคม คืนที่คนอิตาลีเชื่อว่ามีดาวตกเยอะมากที่สุด,  Notte di San Lorenzo
ภาพ : medium.com

จริงๆ อธิบายเท่านี้แล้วจบเลยก็ได้ อ้ะ แต่เพื่อกันความอึดอัด ก็จะเล่าเพิ่มเติมว่า จึงอาจกล่าวได้ว่า ความปรารถนา ความหวัง หรือดวงชะตาของมนุษย์นั้น ผูกพันกับดวงดาวมาตั้งแต่ปางบรรพ์ ตัวอย่างเช่น นักเดินเรือฝากความหวังไว้กับดวงดาวเพื่อบอกทิศทางการเดินเรือเข้าหาฝั่งยามออกทะเลที่ ‘คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล’ ในสมัยโรมัน ถึงกับมีการทบทวนความเป็นกษัตริย์ทุกๆ 9 ปีจากดวงดาว กล่าวคือ ในปีที่ 9 ของการครองราชย์ หากมีดาวตก กษัตริย์ก็จะถูกปลดลงทันที

กล่าวคือ มีทั้งดีทั้งร้าย ตัว (ฝน) ดาวตกเองยังมีความหมายในเชิงลบมาโดยตลอด ประหนึ่งน้ำตาจากสวรรค์ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้น

การมองดาวตกในแง่ดี อาจมาจากหลายแหล่งความเชื่อ แต่คุณูปการอย่างหนึ่งต้องยกให้แค่คริสต์ศาสนากับตำนานที่ว่า พญา 3 องค์ตามหาพระกุมารเยซูพบก็เพราะการนำทางของดาวตก อันทำให้ไปมอบทองคำ กำยาน และมดยอบได้ทัน จนถึงวันนี้ ดาวตกก็ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการระลึกถึงคริสตสมภพ ไม่ใช่ต้นสนหรือซานตาคลอสอย่างที่ใครต่อใครคิดกัน 

กลับมาไขปริศนาว่า ดาวตกที่เห็นเยอะๆ ในคืนนั้นคืออะไร

นักดาราศาสตร์บอกไว้ว่า ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีราววันที่ 10 – 13 สิงหาคม เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว คืนที่มีดาวตกเยอะที่สุด อาจจะไม่ใช่คืนวันที่ 10 ก็ได้ แต่เป็นหนึ่งในคืนนั้น ถ้าอยากจะให้เป๊ะ ก็ต้องฟังประกาศจากทางการเอา

คืนแห่งนักบุญลอเรนซ์วันที่ 10 สิงหาคม คืนที่คนอิตาลีเชื่อว่ามีดาวตกเยอะมากที่สุด,  Notte di San Lorenzo
ภาพ : www.elle.com

เอาล่ะ พอหอมปากหอมคอ พร้อมจะออกไปดูฝนดาวตกกันหรือยัง

อะไรนะ จะไปด้วย? ไม่ได้หรอก

ก็เขาบอกให้พูดชื่อออกมาโดยไม่ให้คนอื่นได้ยินนี่นา… 

(จริงๆ ที่กลัวกว่า คือกลัวได้ยินการออกเสียงอันรวดเร็วปานคำเตือนในโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง)

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า