ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสปี 1897 ตีพิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบนหอไอเฟลขึ้นหน้าหนึ่ง
ภาพ: หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส  เข้าถึงได้จาก gallica.bnf.fr/

“เมืองปารีส เปนเมืองบริบูรณ์ด้วยอาหารแลด้วยความสนุก แลบริบูรณ์ด้วยเข้าของสารพัดที่จะต้องการอะไรได้ เพราะเหตุฉนั้นคนที่ไปมาเที่ยวเตร่จึ่งเห็นเปนเมืองสวรรค์ ..”

ถ้อยคำในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวถึงเมืองหลวงของฝรั่งเศสสอดคล้องกับประโยคสุดคลาสสิก (และสุด Cliché!) ที่ว่า ‘Paris is always a good idea.’

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงเดินทางไปถึงทวีปยุโรป การเสด็จฯ เยือนครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2440 ถือเป็นทั้งเรื่องใหญ่และใหม่มากในสมัยนั้น การเดินทางทางเรือไปยุโรปใช้เวลาราวเดือนครึ่ง แผนการเดินทางทั้งหมดครอบคลุมเวลายาวนานถึง 9 เดือน ไม่เคยมีระยะเวลาที่พระมหากษัตริย์มิได้ประทับอยู่รั้งพระนครยาวนานเท่านั้นมาก่อน อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศจากโลกตะวันออกไกลเดินทางไปเยือนประเทศในยุโรปอย่างเป็นทางการถึง 10 ประเทศ

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

การ์ตูนการเมืองแสดงภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนกรุงปารีส  
ภาพ:   www.alainbernardenthailande.com
 

สำหรับรัชกาลที่ 5 แล้ว มหานครแห่งศิลปวิทยาการและความรุ่งเรืองอย่างกรุงปารีส จุดหมายปลายทางในฝันของผู้คนทั่วโลก หนทางเสด็จฯ ในครั้งนั้นมิได้ลาดปูด้วยกลีบกุหลาบและอาจจะดูห่างไกลกับคำว่า ‘Good Idea’ อยู่มาก พระองค์ทรงบรรยายความในพระทัยลงในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่มีถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ที่พระองค์ตรัสเรียกอย่างลำลองว่า ‘แม่เล็ก’) ไว้ดังนี้

เมืองปารีส วันที่ 11 กันยายน ร.ศ. 116

ถึงแม่เล็ก,

ด้วยตั้งแต่ฉันออกมาครั้งนี้ ยังไม่เคยได้ความคับแค้นเดือดร้อนเหมือนอย่างครั้งนี้เลย การที่แม่เล็กรู้สึกหนักในเรื่องที่ฉันจะมาเมืองฝรั่งเศสประการใด ขอให้เข้าใจว่าฉันหนักกว่าสิบเท่าอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ที่มาเอง

‘ความคับแค้นเดือดร้อน’ ดังกล่าวปะทุขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน สยามต้องเจ็บช้ำน้ำใจจากกรณีพิพาทครั้งสำคัญกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ปากน้ำหรือวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (Franco-Siamese War) เมื่อปี 2436 สถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวในยุคล่าอาณานิคมผูกติดไว้กับเอกราชของชาติไทย ด้วยอำนาจที่เป็นรอง สยามจึงต้องยินยอมผ่อนปรนโดยการจ่ายค่าปรับมหาศาล อีกทั้งเสียดินแดนประมาณ 140,000 ตารางกิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรอมพระทัยจนทรงพระประชวรหนัก มิเสวยพระกระยาหารและพระโอสถ ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์โคลงในทำนองอำลาพระประยูรญาติด้วยมิอาจทานทนความทุกข์โทมนัสในครานั้นได้

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

ภาพจากนิตยสาร Punch ของอังกฤษ 1893 ตีพิมพ์ภาพหมาจิ้งจอกฝรั่งเศสจ้องตะครุบแกะสยามที่โดยมีแม่น้ำโขงคั่นกลาง
ภาพ:   upload.wikimedia.org

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสรายงานข่าวกรณีพิพาทกับสยามเป็นข่าวใหญ่
ภาพ:   i.pinimg.com/, pavie.culture.fr/media/ 

ความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกที่ไม่ราบรื่นกับทั้งความต้องการพัฒนาสยามไปสู่ความเป็นสากลเป็นปัจจัยสำคัญทอดยาวไปสู่การเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลายความตึงเครียดลงบ้างแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ตัดสินพระทัยเสด็จฯ ประพาสยุโรป

การเดินทางครั้งนี้มิได้เป็นการเสด็จฯ นอกพระราชอาณาเขตครั้งแรก พระองค์ทรงคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศดีอยู่แล้ว ด้วยเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์และชวาตั้งแต่มีพระชนมพรรษา 17 พรรษา และเมื่อพระชนมพรรษา 24 พรรษา ได้เสด็จฯ เยือนอินเดีย การที่ได้ทอดพระเนตรเห็นแบบอย่างความเจริญของเมืองอาณานิคมตะวันตกเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประเทศในรัชสมัยอันรุ่งเรือง ในปี 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมพรรษา 44 พรรษา เป็นโอกาสดีที่จะได้เสด็จฯ ไปยังดินแดนต้นแบบของความเจริญของโลกในสมัยนั้น

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะในคราวเสด็จประพาสอินเดีย
การแต่งพระองค์และบุคลิกภาพอันสง่างาม แสดงภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์หนุ่มรุ่นใหม่ผู้ทรงทันสมัยรอบรู้ความเป็นไปของโลก
ภาพ:   teakdoor.com

“แต่เมื่อครั้นมาถึงปารีสเข้า เขาก็รับรองอย่างแข็งแรง” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในสมัยนั้นคือเฟลิกซ์ โฟร์ (Felix Faure) จัดการรับรองอย่างยิ่งใหญ่และมารับเสด็จฯ ถึงสถานีรถไฟ Gare du Nord แห่งกรุงปารีส ทรงกล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่เขาทำเช่นนี้ ผู้ซึ่งมีสัญญาไม่วิปลาสคงจะเข้าใจได้ว่า เขาไม่ได้ทำด้วยกลัวเกรงอำนาจเราอย่างใด ทำด้วยเห็นแก่พระบารมีเอมเปอเรอ” ด้วยเมื่อปีกลายเอมเปอเรอซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ผู้ซึ่งฝรั่งเศสเกรงขามและเกรงใจเพิ่งเสด็จฯ เยือนกรุงปารีส จักรพรรดิองค์นี้เป็นพระสหายสนิทของรัชกาลที่ 5 ด้วยพระองค์เคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร

รัชกาลที่ 5 ได้ทรงไปเยี่ยม ‘เพื่อนเก่า’ ที่รัสเซียก่อนเสด็จฯ มาถึงกรุงปารีส ทรงเขียนเล่าให้สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถฟังว่า “ฉันไม่สามารถจะพรรณนาได้ว่ารู้สึกยินดีปานใดที่ได้กลับมาถึงที่นี่อีก ได้กอดจูบกับเอมเปอเรอ ฉันรู้สึกเหมือนดังอยู่ในเรือนของญาติอันสนิทเหมือนกัน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอันใด ไม่ต้องไว้เกียรติอันใดต่อกันเลย เราเล่นหัวโลดเต้นเหมือนดั่งอยู่ในบ้านเรือนของเราเอง” มิตรภาพอันแนบแน่นของทั้งสองพระองค์การันตีผ่านภาพถ่ายรูปคู่ที่กลายเป็นภาพขึ้นหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ชั้นนำหลายฉบับของยุโรป

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจักพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 จักพรรดิองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย
ภาพ: gramunion.com

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

ซ้าย – หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสตีพิมพ์ภาพประธานาธิบดีฝรั่งเศสจุมพิตกับจักรพรรดิซาร์นิโคลัสระหว่างการเยือนรัสเซีย
ภาพ: www.ebay.fr/
ขวา – ภาพล้อประธานาธิบดีฝรั่งเศสจุมพิตกับในหลวงรัชกาลที่ 5 พร้อมข้อความล้อเลียนกำกับว่า ‘decidedly, I prefer Nicolas!’
ภาพ: หนังสือสยามในโลกสากล โดย ไกรฤกษ์ นานา

ระหว่างทางเสด็จฯ จากสถานนีรถไฟถึงที่ประทับในกรุงปารีสมีประชาชนมากมายมาห้อมล้อมเฝ้าชมพระบารมีของกษัตริย์จากแดนไกล ทรงบันทึกถึงเหตุการณ์นั้นไว้ว่า “มีผู้หญิงร้องขอจูบก็มี พวกนี้ไม่มีเมืองใดเหมือนในเชิงกิเลศกล้า ยินดียินร้านกลั้นไว้ไม่อยู่เลย” จริต ‘กิเลศกล้า’ ของชาวปารีเซียงที่พระองค์พบเห็น อาจจะเป็นจริตเดียวกันกับที่ชาวโลกปัจจุบันยกย่องคลั่งไคล้ว่าป็นความโรแมนติกตามแบบฉบับฝรั่งเศสก็เป็นได้

รัฐบาลฝรั่งเศสเช่า Hôtel de Grammont เลขที่ 35 Avenue Hoche ให้เป็นที่ประทับ อาคารแห่งนี้เป็นคฤหาสน์ของผู้ดิบผู้ดีและเคยเป็นที่พำนักของทูตอังกฤษ ตั้งแต่ปี 1928 ได้แปลงโฉมกลายเป็นโรงแรมชั้นนำ ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Le Royal Monceau Raffles Paris เป็นโรงแรมห้าดาวโลเคชันดีงามที่สามารถเดินไปถึงประตูชัย Arc de Triomphe และถนน Champs-Élysées ได้อย่างสบายๆ

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสตีพิมพ์ภาพห้องรับของและห้องบรรทมขณะเสด็จฯ ประพาสกรุงปารีส
ภาพ: หนังสือพิมพ์ L’illustration

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

Le Royal Monceau Raffles Paris  ในปัจจุบัน
ภาพ:   www.amara.com/luxpad/christmas-raffles-paris/

หมายกำหนดการเต็มไปด้วยการรับรองทางราชการที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ว่า “ไม่เกิดความสนุกเลย” จนกระทั่งพระองค์ได้ทรง “ไปขึ้นเอฟเฟลตาวเวอ ใครๆ คงจะเล่าให้แม่เล็กฟังเป็นอันมาก จึงไม่เล่าแล้ว จะขอแต่เพียงปลงอาบัติว่าตั้งแต่มาเมืองฝรั่งเศสพึ่งออกสนุกที่ตรงนี้”

ในจดหมายเหตุเสด็จฯ ประพาสยุโรปกล่าวถึงหอไอเฟลว่า “เปนหอเหล็กต่อเปนชั้นๆ ขึ้นไปว่าเปนของสูงที่สุดกว่าสิ่งใดที่มนุษย์ได้สร้างในโลกย์นี้” หอไอเฟลในสมัยนั้นยังเพิ่งมีอายุเพียง 8 ปี ครองแชมป์สิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก กำเนิดของหอไอเฟลเกิดจากการคัดเลือกแบบที่ดีที่สุดจากการแข่งขันออกแบบอาคารสัญลักษณ์งานแสดงสินค้าโลก (Exposition universelle de Paris de 1889) แม้ในตอนแรกหอแห่งนี้จะยังไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงปารีสเหมือนกับทุกวันนี้ แต่ก็ได้รับการสรรเสริญในฐานะสิ่งก่อสร้างยิ่งใหญ่สำแดงแสนยานุภาพเทคโนโลยีของชาติ ถึงกระนั้นก็มิใช่ว่าปารีเซียงทุกคนจะปลื้มหอไอเฟล โครงสร้างเหล็กมโหฬารแห่งนี้ถูกดูถูกดูแคลนว่าน่าเกลียดมาตั้งแต่เริ่มสร้างจนเกือบมีมติรื้อถอนหลายครั้ง แต่ก็รอดมาได้และยืนหยัดกลายเป็นภาพจำของฝรั่งเศสในที่สุด มีผู้คำนวณว่าตั้งแต่เริ่มเปิดจนถึงปังจุบัน มีผู้เดินทางไปเยือนหอแห่งนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

โปสการ์ดภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสหอไอเฟล
ภาพ:   metofora.wixsite.com

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลิฟต์ไปถึงชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของหอไอเฟล ทรงดื่มพระสุธารสชาที่นั่น หนังสือพิมพ์ l’illustration รายงานว่าสิ่งที่ทำให้พระองค์เพลิดเพลินที่สุดคือร้านขายของที่ระลึกและบูทขายงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นบนชั้น 2 ของหอ หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ภาพของพระองค์ขณะทรงเป็นแบบให้ศิลปินตัดกระดาษประดิษฐ์ภาพเงาดำ (Silhouette) เป็นภาพพระองค์ผินพระพักตร์ด้านข้าง ศิลปินตัดเสร็จเรียบร้อยโดยใช้เวลาเพียง 5 นาที

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

ภาพ: หนังสือพิมพ์ L’illustration 

หากผู้อ่านแวะเวียนไปปารีสแล้วอยากได้ Silhouette ของตัวเองที่เป็นกระดาษตัดมือแท้ๆ ลองแวะไปแถว Place du Tertre ย่าน Montmartre ก็ยังพอจะเจอศิลปินตัดภาพภาพเงาดำหลงเหลืออยู่บ้าง หรือถ้าเบื่อหน่ายการชมวิวถ่ายรูปคู่กับหอไอเฟลร่วมกับคนเป็นล้านที่มุมมหาชนอย่าง Place du Trocadéro หรือ Champ de Mars ลองโดดขึ้น Metro สาย 6 ที่สถานี Pasteur มุ่งไปยังสถานีปลายทาง Charles de Gaulle – Étoile (หรือขึ้นที่สถานีปลายทาง Charles de Gaulle – Étoile แล้วไปลงสถานี Pasteur ก็ย่อมได้) เส้นทางนี้แสนเพลิดเพลินเหมือนกับการขึ้นรถไฟลอยฟ้าชมตึกรามบ้านช่องแล้วก็มุดลงดินแล้วก็ขึ้นมาอีกเพื่อข้ามแม่น้ำ ตอนที่ข้ามแม่น้ำนี่แหละที่เราสามารถมองเห็นหอไอเฟลตระหง่านเหนือลำน้ำ Seine จากข้างหน้าต่างในมุมมองที่น่าประทับใจ

นอกจากหอไอเฟลแล้ว ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5  ยังได้เสด็จฯ ประพาสสถานที่ท่องเที่ยวระดับแลนด์มาร์กอย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musée du Louvre) พระราชวังแวร์ซายส์ (château de versailles) ห้างสรรพสินค้าบงมาร์เช Le Bon Marché และทอดพระเนตร Opera ที่ Palais Garnier ทรงบันทึกไว้ว่า “คราวนี้แลเห็นความดีของปารีสได้ มิน่าใครๆ เขาชอบกันหนัก มันสบายจริงๆ … สมควรจะเรียกเมืองสวรรค์ ถ้ามาเปนคนๆ ธรรมดาจะสนุกหาน้อยไม่”

10 ปีต่อมา หลังจากการเสด็จฯ ประพาสครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มายังกรุงปารีสอีกครั้ง พระบรมราชานุสรณ์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์อย่างพระบรมรูปทรงม้า ก็ออกแบบปั้นขึ้นจากการที่พระองค์เสด็จฯ มาเป็นแบบที่ Fonderie Susse และหล่อขึ้นจนสำเร็จ ณ กรุงปารีสนั่นเอง

ยุโรป, ไอเฟล, ฝรั่งเศส, รัชกาลที่ 5, กษัตริย์

ภาพ:   e-monumen.net

เมื่อพระองค์ทรงประสบพบเห็นมหานครแห่งนี้ในแง่มุมที่หลากหลายแล้ว ทรงสรุปไว้อย่างเป็นอมตะว่า “… เพราะเหตุฉนั้นคนที่ไปมาเที่ยวเตร่จึ่งเห็นเปนเมืองสวรรค์ ความจริงก็สมควรจะเทียบแต่ทางซึ่งจะทำให้คนที่เพลิดเพลิน เปนอันตรายแก่ชีวิตรแลทรัพย์สมบัตินั้นก็หาประมาณมิได้เหมือนกัน คนมาเที่ยวจำจะต้องระวังตัวแลระวังใจของตัวเปนอย่างที่สุด การที่จะพรรณาถึงเมืองปารีสด้วยกระดาษน้อยๆ เช่นนี้ไม่พอ จึงขอจบไว้เท่านี้”

ปารีสยังคงเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปีก็ตาม

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง