“สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ
ขึ้นชื่อว่าศิลปะ ไม่ว่าอย่างใดๆ ก็ยังประโยชน์ทั้งสิ้น”

หากใครสักคนพูดคำว่าศิลปะรัตนโกสินทร์ขึ้นมากลางวงหลายคนคงจะเบือนหน้าหนี เพราะอุโบสถวิหารหรือระบำรำฟ้อนมิได้อยู่ในปริมณฑลความสนใจของเขา แน่นอนว่านั่นมิใช่เป็นความผิดของเขาเลย ปัญหาอาจจะอยู่ที่คำว่าศิลปะโดยเฉพาะศิลปะแบบไทยๆ ที่ถูกเน้นย้ำซ้ำเติมด้วยข้อมูลชุดเดิมๆ ผ่านมุมมองแบบเดิมๆ หลายครั้งที่เราได้ดู ได้ฟัง และถูกทำให้ต้องรู้สึกว่าภาคภูมิใจ กี่ครั้งกันที่สิ่งเหล่านั้นประทับลงในไปใจเราจริงๆ

บทความนี้จึงอยากหยิบของเก่าๆ ขึ้นมาใคร่ครวญด้วยมุมมองที่แตกต่างบ้าง เมื่อไปเจอภาพเก่าภาพนี้เข้า ผู้ได้แรงบันดาลใจจากตาลปัตรศาสนวัตถุที่ดูไกลตัว นอกเหนือไปจากแง่มุมทางศาสนาแล้ว ตาลปัตรอาจจะน่าสนใจขึ้นมาบ้างเมื่อเราลองพินิจด้วยมุมของการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการออกแบบกราฟิก

 พระธรรมดิลก (อิ่ม จนฺทสิริ) วัดราชบูรณะ

พระธรรมดิลก (อิ่น จนนสิริ) วัดราชบุรณะ กับตาลปัตรมากมายที่ได้รับพระราชทาน (ภาพนี้และภาพทั้งหมดในบทความนี้เป็นภาพจากหนังสือ ตาลปัตรพัดยศ ศิลปบนศาสนวัตุ
โดย ณัฏฐภัทร จันทวิช สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค)

 

Paul Rand Graphic Designer ผู้ยิ่งใหญ่ให้นิยามของ Graphic Design ไว้ว่าเป็น ‘การดึงรูปแบบและเนื้อหาออกมารวมกันเราอาจอธิบายในความหมายกว้างๆ อย่างเป็นหลักการหน่อยๆ ได้ว่า Graphic Design คือกระบวนการแก้ปัญหาหรือออกแบบการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) โดยใช้การออกแบบจัดวางตัวอักษร (Typography) ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรือองค์ประกอบสร้างสรรค์อื่นๆ เข้ามาประกอบ ผลผลิตของ Graphic Design คือภาพที่เป็นตัวแทนของความคิด สามารถส่งสารไปถึงผู้ชมได้

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ในประเทศไทยเรามักนึกถึงจิตรกรรม ประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรมงานด้านการออกแบบกราฟิก แม้ไม่ได้ถูกจัดเป็นหัวข้อใหญ่ แต่ก็กล่าวได้ว่าสอดแทรกอยู่ในแขนงศิลปกรรมต่างๆ การออกแบบกราฟิกอย่างการออกแบบลายบนตาลปัตรที่กล่าวถึงในบทความนี้ ต้องอาศัยทั้งความรอบรู้ทางศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมพิธี ความรู้เรื่องเทคนิคทางช่างฝีมือและต้องควบคุมการทำงานของช่างหลากแขนง อีกทั้งยังต้องมีจริตริเริ่มสร้างสรรค์ กล่าวคือต้องหาสมดุลของการสืบขนบเพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิม กับการหาญกล้าที่จะแหวกขนบเพื่อสร้างสิ่งใหม่ไปพร้อมกัน ก่อนจะกลับตาลปัตร เราควรทำความรู้จักกับวัตถุชิ้นนี้กันก่อนสักเล็กน้อย

จิตรกรรมฝาผนังวัดมหาสมณาราม

จิตรกรรมฝาผนังวัดมหาสมณาราม ฝีมือขรัวอินโข่ง แสดงภาพพระสงฆ์ถือตาลปัตร

 

ย้อนกลับไปสู่ยุคพุทธกาล ด้วยความที่เป็นเมืองร้อนสิ่งประดิษฐ์อย่างพัดจึงนับเป็นเครื่องใช้คู่กายอย่างหนึ่งของชาวชมพูทวีป เพราะสามารถใช้ทั้งพัดคลายร้อนและใช้บังแดดบังฝน ในสมัยนั้นพัดมักทำจากใบตาล คำว่า ‘ตาลปัตร’ จึงมีที่มาจากศัพท์บาลีว่า ‘ตาลปตฺต’ ที่แปลว่า ‘ใบตาล’ นั่นเอง เชื่อกันว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นก็มีพัดใบตาลไว้ใช้ด้วย ตาลปัตรจึงกลายเป็นของติดกายพระภิกษุ

เมื่อพุทธบัญญัติไม่อนุญาตให้พระรับผ้านุ่งห่มโดยตรงจากฆราวาส แต่ให้พระภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้ใดปรารถนาแล้วมาใช้ด้วยเหตุนี้สงฆ์ทั้งหลายจึงต้องไปเก็บจากผ้ากองขยะหรือผ้าห่อศพจากป่าช้ามาทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ใช้ (ผ้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะสกปรก จึงเป็นที่มาของคำว่า บังสุกุล ที่มาจากภาษาบาลี แปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น) ในตอนที่ต้องไปเก็บผ้านี่เองที่พระสงฆ์จะนำพัดใบตาลมาบังจมูกเพื่อป้องกันกลิ่น กล่าวกันว่านี่เป็นต้นกำเนิดของประเพณีที่พระสงฆ์จะถือตาลปัตรไปในพิธีต่างๆ โดยเฉพาะพิธีปลงศพ

ธรรมเนียมการถือพัดใบตาลเผยแพร่มายังกรุงสุโขทัยด้วย เมื่อเวลาผ่านไปพัดใบตาลก็กลายเป็นของบ้านๆ เพราะหาและทำได้ง่าย ดูไม่แพง ไม่คู่ควร กับนักบวชที่มีสถานะสูงส่ง พุทธศาสนิกชนจึงเสาะหาของสวยของงามอย่างผ้าหายาก ขนนก หรือเพชรพลอย มาประดิดประดอยเป็นพัดที่สวยงามแล้วนำไปถวายพระ โดยเฉพาะพระที่มีฐานานุศักดิ์สูงยิ่งต้องสรรค์สร้างให้วิจิตรพิสดารยิ่งขึ้น เกิดเป็นธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานพัดที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษแด่พระสงฆ์ตามลำดับชั้นยศพัดนี้จึงกลายเป็นตาลปัตรอันเป็นทางการที่เรียกว่า พัดยศ

จิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

จิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม แสดงภาพพระภิกษุถือพัดยศ

 

หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ บันทึกไว้ว่าหากพระสงฆ์ได้รับนิมนต์เข้าไปเทศถวายในการพระราชพิธี มีธรรมเนียมราชสำนักห้ามมิให้พระสงฆ์นำพัดยศขึ้นไปใช้บนธรรมมาสน์ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเล่ากันว่าในสมัยโบราณหากพระคิดประทุษร้ายต่อองค์ประมุขก็อาจใช้พัดเป็นอาวุธได้ เพราะพัดยศนั้นเป็นของที่มีปลายแหลมและมีน้ำหนักมาก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อธิบายเรื่องนี้ว่าว่ากันว่ากลัวพระจะคิดกบฏ เข้าใจว่าที่จริงพัดแฉก (หมายถึงพัดยศ) หนักมาก ทั้งใหญ่ ยาว แหลม เกะกะ การขึ้นไปถวายเทศน์นั้นธรรมาสน์ก็สูง ต้องปีนป่ายลำบาก อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้

นอกเหนือไปจากจากพัดที่แสดงชั้นยศแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏหลักฐานว่าพระสงฆ์นิยมถือพัดงองุ้มด้ามยาวรูปร่างคล้ายจวักตักแกง ร้อนไปถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยไม่โปรดพัดรูปแบบนี้ ทรงออกประกาศแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า “(พัดที่นิยมกัน) ดูรูปร่างเห็นบัดสี ใครคิดอ่านทำขึ้นเมื่อไรให้เปนรูปอย่างนี้ ผู้นั้นจะไม่ได้พิจารณาให้ลเอียดเลยใช้ไปไม่มีสตินึกได้บ้างเลยว่า รูปร่างไม่ดีไม่เปนมงคลเลย เอามาถือบังหน้าตาครอบหัวครอบหูอย่างไรมิรู้อยู่ น่ารำคาญใจจึงทรงกะเกณฑ์รูปแบบของพัดที่พระสงฆ์ถือให้กลับไปเป็นรูปทรงดั้งเดิมของพัดใบตาล คือทรงคล้ายวงรีหรือที่เรียกกันว่า หน้านาง (เพราะเป็นทรงคล้ายรูปหน้าคน) ทรงให้เรียกพัดนี้ว่า พัดรอง (คู่กับพัดยศที่เป็นพัดหลัก) และพัดหน้านางได้กลายเป็นรูปแบบมาตรฐานของตาลปัตรจนมาถึงปัจจุบัน

พัด

รูปทรงของพัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 ไม่โปรด

 

ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 งานพิธีต่างๆ ในราชสำนัก ทั้งงานมงคล อวมงคล นิยมถวายพัดรองแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระต่างๆ ภายในกรอบรูปทรงหน้านางจึงกลายเป็นพื้นที่เล่าเรื่องของวาระนั้นๆ Jaques Darrida นักปรัชญาคนสำคัญ ให้แนวคิดเกี่ยวกับกรอบรูปไ้ว้ว่ากรอบเป็นโครงสร้างที่อยู่ระหว่างการมีตัวตนและไม่มีตัวตน โดยกรอบจะส่งเสริมสิ่งที่อยู่ภายใน คล้ายกับว่าเป็นการกำหนดโฟกัสของผู้ชมที่มีต่อวัตถุนั้นๆ แนวคิดเรื่องกรอบสอดคล้องกับจุดประสงค์แต่เดิมอีกอย่างหนึ่งของตาลปัตร

คือเมื่อพระสงฆ์นำตาลปัตรขึ้นมาถือทำให้พระมองไม่เห็นฆราวาส และฆราวาสก็มองไม่เห็นพระ พระสงฆ์ก็สามารถโฟกัสไปที่ธรรมที่แสดงได้มากขึ้น ในขณะที่โฟกัสของฆราวาสก็ถูกดึงจากตัวพระมาอยู่ที่ตาลปัตรแทน เมื่อมีรูปมีลวดลายขึ้นมา จึงเกิดเป็นการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) ตาลปัตรจึงมีบทบาทในการเล่าเรื่องของเรื่องของเจ้าภาพในวาระนั้นๆ อย่างสั้นๆ (Short Narrative) เป็นการสื่อสารในลักษณะเดียวกันกับการที่เรามองเห็นโปสเตอร์แล้วได้รับข้อมูลต่างๆ ในยุคปัจจุบันนั่นเอง

ผู้เขียนเลือกตาลปัตรขึ้นมา 12 เล่ม เพื่อเล่าเรื่องพัฒนาการของการออกแบบตาลปัตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พัดรองที่ระลึกงานเฉลิมพระสุพรรณบัฏ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ยุคลฑิฆัมพร1. ไม่ปรากฏนามผู้ออกแบบ
พัดรองที่ระลึกงานเฉลิมพระสุพรรณบัฏ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ยุคลฑิฆัมพร, 2435 (1892)
ผ้าแพร, ปักไหมและดิ้น, ด้ามไม้

 

พัดรองที่ประดิษฐ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 มักใช้ผ้าแพรที่มีสีหรือลวดลายสวยงามป็นพื้นหลัง สร้างเส้นสายและรูปทรงด้วยการปักกันละเอียดยิบด้ามต่อด้าม พัดรองล็อตแรกๆ ในรัชกาลสั่งปักไหมจากจีน ส่วนการปักดิ้นปักเลื่อมนั้นเป็นหน้าที่ของช่างคราฟต์ชาวไทย ซึ่งอวดฝีมือกันสุดฤทธิ์ในการปักให้นูนขึ้นมาเป็นมิติ ช่างปักมักทะเลาะกับช่างเขียนเสมอ เพราะช่างเขียนไม่ชอบให้ปักนูนขึ้นมามากเกินไป เพราะคิดว่าจะทำให้รูปทรงสัดส่วนผิดเพี้ยนไปจากแบบวาดซึ่งเป็นสองมิติ แต่ถ้าว่ากันในทางการออกแบบแล้ว การปักนูนออกจะทำให้เกิดมิติที่น่าสนใจให้กับพื้นผิวผ้าแพรที่ค่อนข้างเรียบ

การจัดองค์ประกอบของพัดด้านบนใช้ความสมมาตรเป็นที่ตั้ง ตำแหน่งตราประจำพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ผู้เป็นเจ้าของงานอยู่กึ่งกลางพัด เหมือนกับการวางโลโก้ไว้ตรงกลางแล้วเน้นย้ำความสำคัญด้วยการล้อมกรอบถึง 3 ชั้น ล้อมรอบด้วยสายสร้อยเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นชั้นแรก เถาพรรณพฤกษาเป็นกรอบที่สอง และกรอบสุดท้ายก็คือกรอบของตัวพัด

ด้านหลังของพัดเลือกใช้สีคู่ตรงข้ามกับด้านหน้า จัดวางอักษรกึ่งกลางโดยบรรทัดบนสุดวางล้อไปตามขอบโค้งของพัด ส่วนบรรทัดที่เหลือวางตัวอักษรตามแนวปกติ จุดที่น่าสนใจคือการตวัดเส้นสายที่อ่อนช้อยตกแต่งไปทั่วพัดตามเทรนด์การออกแบบตัวอัักษรในยุคนั้น เรามักเห็นสิ่งพิมพ์ยุควิกตอเรียประกอบตัวอักษรที่รอบล้อมไปด้วยเส้นสายยั้วเยี้ย หรือทางฝั่งอเมริกาก็นิยมการเขียนแบบ Spencerian Script ที่หางของตัวอักษรตวัดฉวัดเฉวียนไปมาออกลีลาเต็มที่

ตัวอักษร

การออกแบบตัวอักษรทางฝั่งยุโรปราวทศวรรษ 1880

 

นอกจากตัวอักษรไทยแล้วองค์ประกอบอื่นๆ ของพัดรองเล่มนี้ล้วนเป็นสไตล์ตะวันตกทั้งหมด เมื่อจัดวางลงบนกรอบของพุทธศาสนวัตถุจึงเกิดเป็นความแตกต่างที่แปลกใหม่บ่งบองคอนเซปต์ของความศิวิไลซ์ในแบบสยาม อันเป็นนโยบายสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 5

พัดรองที่ระลึกงานพระราชกุศล

2. ไม่ปรากฏนามผู้ออกแบบ
พัดรองที่ระลึกงานพระราชกุศลทรงพระราชทานอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิตุลาธิราชและสมเด็จพระไปยิกาธิราช, 2443 (1900)
ผ้าแพร, ภาพถ่าย, ด้ามไม้

มิใช่เพียงการปักเท่านั้นที่ใช้เพื่อสร้างลวดลาย ผู้ออกแบบในสมัยนั้นพยายามนำเทคนิคสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างการใช้ภาพถ่ายนำมาติดลงบนพัดรองเพื่อสร้างความแปลกใหม่ ทั้งยังใช้ระบบกริดในการออกแบบที่แตกต่าง วางองค์ประกอบแบบไม่สมมาตรออกมาบ้างเป็นการสร้างผลงานที่สดใหม่

 

พัดรองที่ระลึกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดรองที่ระลึกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2453 (1910)
ผ้าแพร, ปักดิ้น

ตลอดรัชสมัยอันยาวนานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่งถวายงานด้านงานออกแบบเป็นที่ถูกพระทัยยิ่ง จนในหลวงรัชกาลที่ 5 สรรเสริญไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า “ฉันไม่ได้นึกจะยอเลย แต่อดไม่ได้ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้วในเรื่องทำดีไซน์เช่นนี้” พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นคือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์์ (ผลงานสำคัญของพระองค์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร นอกจากจะทรงเป็นสถาปนิกแล้วพระองค์ยังทรงเป็นนักออกแบบคนสำคัญด้วย)

เมื่อถึงคราวงานพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ กรมพระยาฯ สนองพระเดชพระคุณเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการออกแบบพัดรองที่ทั้งทรงพลังทางการสื่อสาร อีกทั้งยังงามลุ่มลึกทั้งทางกราฟิกและทางความหมาย โดยทรงนำอักษรพระปรมาภิไธย จปร. (จุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช) มาขดกันเป็นให้เป็นรูปพระบรมโกศ ภายใต้พระเกี้ยว ตราประจำพระองค์ที่กลายมาเป็นฝาพระบรมโกศอย่างพอดิบพอดี ชวนให้รำลึกถึงคำว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ’ ที่แสนสะเทือนใจ พื้นหลังใช้ผ้าแพรสีดำเพื่อแสดงความไว้อาลัย คาถาอักษรขอมรายล้อมขอบของพัด บนหน้าพัดใช้เพียงสีทองและสีดำ เป็นการออกแบบที่น้อยแต่มากโดยแท้จริง

พัดพระมหาวชิราวุธ


3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดพระมหาวชิราวุธ, 2468 (1925)
ผ้าแพร ปักดิ้น โลหะกะไหล่เงิน ด้ามไม้

 

15 ปีถัดมา ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ กรมพระยาฯ ทรงเป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศและพัดรองที่ระลึกในงานนี้ โดยทำนมพัด (คำเรียกบริเวณข้อต่อระว่างตัวพัดและด้ามพัด) ด้วยโลหะนูนออกมาเป็นรูปวชิราวุธขนาดใหญ่ ตามพระนามเดิมของในหลวงรัชกาล 6 ที่หมายถึงอาวุธสามง่ามของพระอินทร์ สายฟ้าที่เปล่งออกมาเป็นแทนความหมายของคำว่า วชิระ ที่นอกจากจะแปลว่าเพชรแล้ว ยังแปลว่าสายฟ้าด้วย ลองจิตนาการถึงพระสงฆ์เมื่อถือพัดเล่มนี้ก็จะกลายเป็นเทพเจ้าที่มาร่วมชุมนุมในพิธี น่าจะเป็นภาพที่น่าตื่นตาอยู่ไม่น้อย 

พัดรองที่ระลึกงานศพเจ้าจอมมารดาเที่ยง

4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดรองที่ระลึกงานศพเจ้าจอมมารดาเที่ยง, 2456 (1913)
ผ้ากำมะหยี่ งานโลหะ ด้ามไม้

 

เมื่อเจ้าของงานมีนามว่าเที่ยงสมเด็จฯ กรมพระยาฯ ทรงถอดออกมาภาพโดยใช้นาฬิกาที่มือเข็มทั้งสองชี้บอกเวลาเที่ยงแถมยังไม่ได้จัดองค์ประกอบไว้ตรงกลาง แต่ลดตำแหน่งลงมาทำให้องค์ประกอบแปลกตามาขึ้น ไม่รู้จะพูดยังไงดี เพราะผลลัพธ์ที่ออกมานั้นทั้งมีลูกเล่น ทั้งสวย ทั้งแปลก และลงตัวเป็นที่สุด

พัดนภาพรประภา

 

5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดนภาพรประภา, 2467 (1924)
ผ้าแพร พิมพ์ลาย

  อีกหนึ่งตัวอย่างของการถ่ายทอดคำออกมาเป็นภาพและการแก้ไขปัญหาในการออกแบบ พัดเล่มนี้จัดทำขึ้นงานในฉลอง 60 ชันษาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี องค์เจ้าของงานมีพระประสงค์จะให้มีรูปหนูอยู่บนพัดด้วย แต่องค์ผู้ออกแบบเห็นว่าหนูเป็นสัตว์ที่สกปรกอาจไม่น่าดูเมื่อมาอยู่บนตาลปัตร จึงทรงแก้ปัญหาโดยการออกแบบเป็นรูปกรอบหน้าต่างที่มองออกไปเห็นท้องฟ้าสว่าง ตรงกับความหมายของพระนามนภาพรประภา

ด้วยความสว่างของฟ้าด้านนอก ช่วยลดความทอนทำให้เห็นเพียง Silhouette ของหนู 5 ตัว แทนพระชันษา 5 รอบ ทั้งยังทรงแทรกความหมายไว้เพิ่มเติมโดยใส่รูปต้นฝ้ายอยู่นอกหน้าต่าง สื่อความถึงเจ้าจอมมารดาสำลี ผู้เป็นมารดาของพระองค์เจ้านภาพรประภา สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงบันทึกไว้เพิ่มเติมหลังจากที่พัดเสร็จสมบูรณ์ว่าเสียดายที่ทรงคิดช้าไป ทรงอยากเปลี่ยนต้นฝ้ายด้านหนึ่งให้เป็นต้นบุนนาค ด้วยองค์เจ้าของงานสืบเชื้อสายมาจากสกุลบุนนาค

พัดรองที่ระลึกงานพระศพหม่อมเจ้าปลื้มจิตร จิตรพงศ์

6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดรองที่ระลึกงานพระศพหม่อมเจ้าปลื้มจิตร จิตรพงศ์, 2463 (1920)
ภาพเขียนบนผืนผ้า

ในงานพระศพของพระธิดาของพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบให้ตาลปัตรกลายเป็นผืนแคนวาส และให้มิสเตอร์คาร์โล ริโกลี ศิลปินชาวอิตาเลียนวาดภาพลงบนพัด เป็นภาพที่แตกต่างในแต่ละเล่ม ภาพวัดเบญจมบพิตรบนตาลปัตรด้านบนเป็นมุมมองที่แปลกตา ฝีแปรงของภาพชวนให้นึกถึงงานจิตรกรรมรูปแบบ Impressionism

พัดรองที่ระลึกในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดรองที่ระลึกในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี, 2471 (1928)
พลาสติกชนิดพิเศษ ด้ามไม้ 

 

  แม้จะออกแบบพัดรองเล่มนี้เมื่อพระชนมายุ 65 ปีแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ยังมิทรงหยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พัดเล่มนี้ทรงเลือกใช้วัสดุที่แปลกใหม่อย่างพลาสติกพิเศษสีทองที่แลดู Futuristic เอามากๆ ด้วยพื้นผิวและคุณสมบัติการสะท้อนแสงที่น่าสนใจจึงไม่ต้องทำให้เกิดลวดลายใดๆ เพิ่มเติมอีกแล้ว

พัดรอง

8. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดรองมะโรงนักษัตร, 2459 (1916)
ผ้าแพร ปักไหม ด้ามไม้
9. ไม่ปรากฏนามผู้ออกแบบ
พัดรอง ที่ระลึกวัดเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7, 2472 (1929)
ผ้าพิมพ์ลาย ด้ามไม้

 

พัดทั้งสองเล่มจัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 36 พรรษาของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล พัดลายมังกรถือวชิราวุธเป็นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยเสด็จพระราชสมภพในปีมะโรง ส่วนพัดรูปงูเขียวหางไหม้เป็นของของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงเสด็จพระราชสมภพในปีมะเส็ง พัดทั้งสองเล่มสร้างห่างกัน 13 ปี เมื่อนำมาเทียบกันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเทคนิคจากการปักไหมเปลี่ยนมาใช้ผ้าพิมพ์ลาย รูปแบบศิลปะจากความเป็นเทพนิยายมาสู่ความ Realistic จากความขึงขังอลังการมาสู่ความเรียบง่าย ความเปลี่ยนทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากรูปแบบความนิยมทางศิลปะที่แปรเปลี่ยนไป พระราชนิยมที่แตกต่างกันของพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาล การเกิดการผลิตในรูปแบบใหม่ การที่ช่างฝีมือหาได้ยากขึ้น ค่านิยมที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

ในกาลนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ว่าถ้าว่าตามความเห็นของหม่อมฉัน เห็นว่าถึงเวลาน่าจะเลิกทำพัดรองอย่างแต่ก่อนแล้ว ด้วยการพิธีรีตองและการศพการเมรุก็เปลี่ยนรูปไปหมดแล้ว พระได้ไปไม่มีที่ใช้สักกี่หน การลงทุนทำพัดรองอย่างวิจิตรดูดังภาษิตว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ในฐานะเป็นผู้ออกแบบพัดรองจำนวนมากก็ทรงเห็นด้วย พร้อมทั้งทรงปรารภว่ายุคไหนทำอย่างไรก็วิ่งตามกันฮือๆ ไปเป็นแฟแช่นอย่างเสื้อผ้าผู้หญิง การทำพัดรองนั้นชอบกล ถ้าผิดท่าไปพระท่านไม่ใช้ ได้เห็นครั้งเดียวแล้วไม่ได้เห็นอีกเป็นครั้งที่สองลายในพัดก็เป็นเช่นเดียวกัน ทำเป็นรูปคน พระท่านไม่ใช้ กระเดียดไปทางข้างเป็นทางพระท่านจึงใช้ฉะนั้น จึงเป็นที่เสียดายเหลือเกินว่างานออกแบบชั้นครูที่เราเห็นว่าแสนจะ Cool นั้น ผู้ใช้งานจริงบางท่านอาจจะไม่ได้เห็นด้วย หรือวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ของใ้ช้จริงได้อาจจะไม่ประสบผลเสมอไป

พัดรองที่ระลึกงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

10. คณะศิษยานุศิษย์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พัดรองที่ระลึกงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, 2493 (1950)
สีน้ำมันบนผืนผ้า ด้ามไม้

 

เมื่อถึงคราวที่สมเด็จครูจากไปคณะศิษยานุศิษย์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงร่วมกันสร้างพัดรองถวายในงานพระเมรุเป็นตาลปัตรที่วาดสีน้ำมันเป็น Abstract Art แสดงความเจนจัดด้านความสร้างสรรค์ นับเป็นการบูชาครูที่สมพระเกียรติเป็นที่สุด และเป็นเจริญรอยตามนักออกแบบผู้ยิ่งใหญ่อย่างน่าสรรเสริญ

วัฒนธรรมการทำพัดรองเป็นที่ระลึกในงานพิธีเผยแผ่ออกไปสู่สามัญชน เกิดเป็นตาลปัตรหลากหลายที่ค่อยๆ ลดทอนความซับซ้อนทางศิลปะลง อย่างตาลปัตรภาพพระพุทธเจ้าแบบที่เราเห็นชินตา หรือตาลปัตรไปไม่กลับหลับไม่ตื่นฟื้นไม่มีหนีไม่พ้น ในงานศพ

พัดรองที่ระลึกเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

11. จักรพันธุ์ โปษยกฤต และ วัลลภิศร์ สดประเสริฐ
พัดรองที่ระลึกเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, 2526 (1983)
ผ้ากำมะหยี่ ปักดิ้น

  ในสมัยรัชกาลที่ 9 ธรรมเนียมการสร้างพัดรองที่ระลึกในพระราชพิธียัังคงอยู่เรื่อยมา ศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เคยเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างพัดรองถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี 2526

พัดรองที่ระลึก งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
12. สถาบันสิริกิติ์
พัดรองที่ระลึก งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9, 2555 (2012)
ผ้ากำมะหยี่ ปักดิ้น ปักเลื่อม แกะสลักไม้ ประดับปีกแมลงทับ

ในโอกาสที่พระสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา สถาบันสิริกิติ์ (ยกฐานะจากโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา) ประดิษฐ์พัดรองด้วยเทคนิคโบราณอันหลากหลาย จนกลายมาพัดรองที่สวยงามทรงคุณค่าทั้งในด้านการสืบสานและสร้างสรรค์

 

Graphic Design สไตล์รัตนโกสินทร์ที่แหวกขนบเพื่อสร้างสิ่งใหม่บนหน้าตาลปัตรพระ Graphic Design สไตล์รัตนโกสินทร์ที่แหวกขนบเพื่อสร้างสิ่งใหม่บนหน้าตาลปัตรพระ

การออกแบบตาลปัตรไม่ได้เป็นเรื่องของวัดของวังเท่านั้นเมื่อ Slowmotion Design Studio ระดับตำนานของไทยออกแบบตาลปัตรเพื่อใช้ในงานแต่งงานและงานบวช ด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย

ในงานศพของ MAMAFAKA ตั้ม-พฤษ์พล มุกดาสนิท Slowmotion ได้ออกแบบตาลปัตรโดยนำ Mr. Hell Yeah! ผลงานอันเป็นจดจำของเขามาไว้บนตาลปัตร หลวงพ่อผู้แสดงพระธรรมเทศนาในงานครั้งนั้นได้กล่าวว่าสาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ ขึ้นชื่อว่าศิลปะ ไม่ว่าอย่างใดๆ ก็ยังประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นตาลปัตรนี่ เมื่อนำศิลปะมาใช้ ก็ทำให้เกิดเป็นศิลปะ ดูสวยงาม ไม่เคยเห็นที่ไหนมาเลย” 

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

อ้างอิง

ณัฎฐภัทร จันทวิช, ตาลปัตรพัดยศ ศิลปบนศาสนวัตถุ. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์, 2538.
ดวงจิตร จิตรพงศ์. ตาลปัตร. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2502.
สุรศักดิ์ เจริญวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ :
      มติชน, 2549.

 

ภาพ: slowmotion

ในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ ศิลปินรุ่นใหม่กว่าสิบชีวิต จะมาร่วมสร้างสรรค์ตาลปัตรในนิทรรศการกลับตาลปัตร – Flip The Fan Art Exhibition’ ภายใต้แนวคิด ‘การออกแบบตาลปัตรร่วมสมัย เพื่อสะท้อนแนวความคิดการเตือนสติตนเองและผู้อื่น’

จัดแสดง YELO House วันที่ 4 – 27 พฤษภาคม 2561 (ปิดทุกวันอังคาร) ภัณฑารักษ์: ฮ่องเต้กนต์ธร เตโชฬาร

โดยศิลปิน ธนชัย อุชชิน (ป๊อด Moderndog), PUCK (ไตรภัค สุภวัฒนา), ชม ชุมเกษียร, Dogkillmen (ชานนท์ ยอดหงษ์), เดอะดวง (วีระชัย ดวงพลา), Sahred Toy (ต๊อด-อารักษ์ อ่อนวิลัย), นักรบ มูลมานัส, Primiita (ศุภศรา หงศ์ลดารมภ์) Mamablues (ฟ้าวลัย ศิริสมพล), Slverwater (ธนกร ศิริรักษ์), ฮ่องเต้ (กนต์ธร เตโชฬาร), บาส บดินทร์, บริษัท Another Day Another Render จำกัด และ กลุ่มทำ มา หา กิน

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง