ช. “โอ้เมืองแก้วเลิศแล้วราตรี”

ญ. “ทุกสิ่งล้วนมีชีวิตชีวา”

แผ่วผ่านท่วงทำนองผสานเสียงครวญสุดเรโทรในเพลง กรุงเทพราตรี ผลงานของวงดนตรีในตำนานอย่างสุนทราภรณ์ เสียงเพลงจากเทปคาสเซตต์จากร้านแม่ไม้เพลงไทยที่แม่เปิดจากเครื่องเล่นเทป ชวนให้เราในวัยเด็กวาดภาพฝันค่ำคืนของกรุงเทพฯ ในยุคไว้อย่างแจ่มจรัส เมื่อ The Cloud ชวนให้ผู้เขียนไปเดิน ‘เที่ยวกลางคืน’ ในงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา พอเปิดเพลงนี้อีกครั้ง (แน่นอนว่าไม่ได้เปิดจากเทปคาสเซตต์อีกต่อไปแล้ว) ภาพที่เราเห็นผ่านท่วงทำนองไม่ได้เป็นภาพเดิมอีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงของเมืองหลวงที่เราพำนักอยู่ดูเหมือนจะแทรกแซงภาพความงามที่บอกเล่าในเนื้อเพลงให้ปรวนแปรไปจากเดิม

“ราชดำเนินน่าเดินเพลิดเพลิน เรียบร้อยพราวพรรณ” ถนนราชดำเนินที่เคยเป็นภาพลักษณ์ความฟู่ฟ่ายามราตรีแบบเดียวกับ Avenue des Champs-Élysées แห่งมหานครปารีส บัดนี้มิได้ ‘น่าเดินเพลิดเพลิน’ อีกต่อไป และหากคุณได้เดินบนราชดำเนินในค่ำคืนก็อาจจะเห็นได้ว่าภาพความเป็นจริงในวันนี้ ต่างไปจากความ ‘เรียบร้อยพราวพรรณ’ ไปมาก

กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเมืองที่ไม่เคยหลับใหลมาตั้งแต่เมื่อใดกัน ตั้งแต่แรกมีร้านข้าวต้มโต้รุ่ง สถานบันเทิงเริงรมย์ หรือร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในเนื้อเพลง กรุงเทพราตรี ที่แต่งโดยเอื้อ สุนทรสนาน และ แก้ว อัจฉริยะกุล ในทศวรรษ 2480 ก็แสดงให้เห็นว่าคุณปู่คุณย่าของพวกเราก็เพลิดเพลินเจริญใจกับการเที่ยวท่องยามราตรีกันแล้ว ก็เมืองกรุงในสมัยนั้น “แหล่งเที่ยวหย่อนใจทั่วไปหลากหลายรายเรียง หญิงชายเคล้าเคียงเพลินเสียงดนตรี ทุกคืนเสียงเพลงครื้นเครงเพราะดี”

หนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี แหล่งรมณีย์และเภทภัยของคนกรุง สมัยรัชกาลที่ ๕ – สงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยวีระยุทธ ปีสาลี เป็นสารคดีที่อ่านสนุกเหลือเชื่อ งานเขียนเล่มนี้ชี้ชวนให้เห็นแง่มุมในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่น่าสนใจ ปัจจุบันวัฒนธรรมการใช้ชีวิตยามค่ำคืนนอกบ้านอย่างการเดินห้าง ดูหนัง การกินดื่ม หรือปาร์ตี้ตอนกลางคืน เป็นเรื่องแสนสามัญธรรมดา ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากไปกว่าการพักผ่อนหรือการแสวงหาความบันเทิงเริงใจ แต่หากย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้เขียนสารคดีเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมการใช้ชีวิตยามค่ำคืนนอกบ้านเป็นเรื่องใหม่ของสังคม ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือวัฒนธรรมดังกล่าวสัมพันธ์กับการก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ของประเทศด้วย

ย้อนเวลาไปยังกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ ยุคต้นกรุงฯ เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล (Fredrick Athur Neale) ชาวอังกฤษที่เข้ามายังพระนครสมัยรัชกาลที่ 3 บรรยายถึงบรรยากาศยามค่ำคืนของกรุงทพฯ สมัยนั้นไว้ว่า “พอพระอาทิตย์ตกแสงอาทิตย์ในยามสายัณห์ก็หายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เวลากลางคืนยิ่งมืดมิดมากขึ้น… ตามเรือนแพก็จะปรากฏแสงไฟจากตะเกียงดวงเล็กๆ ทั่วไปหมด… เรือที่จอดอยู่ตามแม่น้ำก็มืดมิดมองไม่เห็น สิ่งต่างๆ ก็ยากที่จะเห็นได้ชัดเจน เราก็จะได้ยินเสียงระฆังตีอีกเมื่อเวลา 6 โมงครึ่ง และทั่วทุกหนทุกแห่งก็จะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความหนาวเย็นในเวลากลางคืน”

เห็นได้ว่าก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงเทพฯ ยังเป็นสังคมน้ำ แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจรหลักของเมือง ผู้คนอยู่อาศัยกันตามเรือนแพหรือบ้านที่ติดแม่น้ำลำคลอง เมื่อเวลากลางคืนย่างกรายมาถึง ผู้คนต่างก็กลับเข้าเรือนและอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงเป็นสำคัญ

กรุงเทพในอดีต
www.gutenberg.org

กิจกรรมหลักยามค่ำคืนของผู้คนในยุคนั้นจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการพักผ่อนในบ้าน ดี.อี. มัลล็อค (D.E. Malloch) พ่อค้าชาวอังกฤษผู้เข้ามายังบางกอกในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้อีกว่าชาวสยามคุ้นเคยกับการนอนถึง 14 ชั่วโมงใน 1 วัน (วีระยุทธ ปีสาลี ตั้งข้อสังเกตว่า 14 ชม. ในที่นี้อาจจะนับรวมถึงการนอนกลางวันด้วย เพราะแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) และแม็กซ์เวล ซอมเมอร์วิลล์ (Maxwell Sommerville) ให้ข้อมูลตรงกันว่าปกติชาวสยามนิยมนอนกลางวันเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแทนการเดินเล่นอย่างชาวตะวันตก) กิจกรรมยามค่ำคืนที่พิเศษขึ้นมาหน่อยเห็นจะเป็นงานวัด ซึ่งเป็นโอกาสทำให้ทุกคนได้ออกมาแสวงหาความบันเทิงนอกบ้านกันบ้าง ส่วนการเที่ยวโรงบ่อนและโรงโสเภณี (ที่มักเปิดตามเรือนแพในสมัยนั้น) ไม่ได้เป็นกิจกรรมสำหรับทุกคน

หมุดหมายที่ยิ่งใหญ่ของการชะลอเมืองจากน้ำขึ้นสู่บกคือการตัดถนนแบบตะวันตกสายแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 มูลเหตุของการของการตัดถนนดังกล่าวปรากฏในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า “ชาวยุโรปเคยขี่รถขี่ม้าเที่ยวตากอากาศได้ความสบายไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าพากันเจ็บไข้เนืองๆ ได้ทรงทราบหนังสือแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า พวกยุโรปเข้ามาอยู่ในกรุงมากันทุกปีๆ ด้วยประเทศบ้านเมืองเขามีถนนหนทางก็เรียบรื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้านเมืองของเรามีแต่รกเรี้ยว หนทางก็เป็นตรอกเล็กตรอกน้อยซอยเล็ก หนทางใหญ่ก็เปรอะเปื้อนไม่เป็นที่เจริญตา ขายหน้าแก่ชาวนานาประเทศ”

ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนอย่างตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2404 การก่อสร้างครั้งนั้นใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,700 บาท ในเบื้องแรกผู้คนต่างเรียกถนนสายนี้ว่าถนนใหม่ ชาวตะวันตกพากันเรียกว่า New Road เช่นเดียวกับชาวจีนที่เรียกว่า ซินพะโล้ว ที่แปลว่า ถนนตัดใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนามถนนนี้อย่างเป็นทางการว่า ‘ถนนเจริญกรุง’

กรุงเทพในอดีต
www.flickr.com

ถนนเจริญกรุงสมัยแรกสร้างมีขนาดกว้าง 4 วา ส.พลายน้อยบันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผู้คนในสมัยนั้นใครเห็นก็ว่ากว้างมาก มีคำเล่าว่าท่านผู้ใหญ่ที่ไปดูการทำถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ยังบ่นว่าถนนโตอย่างนี้จะเอาใครมาเดิน” ดูเหมือนคำซุบซิบดังกล่าวจะถึงพระเนตรพระกรรณในหลวงรัชกาลที่ 4 ด้วยทรงพระราชนิพนธ์พระราชปรารภเรื่องถนนเจริญกรุง ความตอนหนึ่งทรงชี้แจงประเด็นเรื่องความกว้างของถนนด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลไว้ว่า “ถ้าจะทำแต่แคบๆ  พอคนเดินก็จะดี แต่ซึ่งทำใหญ่ไว้นี้ ก็เผื่อไว้ว่าเมื่อนานไปภายน่าบ้านเมืองสมบูรณ์ทีผู้คนมากมายขึ้น รถแลม้าแลคนเดิน จะได้คล่องแคล่วจึ่งทำให้ใหญ่ไว้” นับว่าถนนเจริญกรุงเป็นการวางรากฐานให้กับความเจริญของกรุงโดยแท้ เและยังเป็นแบบอย่างให้กับถนนสายอื่นๆ สมัยต่อๆ มา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งรัฐบาลและเอกชนได้ร่วมกันตัดถนนเพื่อประโยชน์ทั้งการสัญจรและการพาณิชย์อีกจำนวนถึง 110 สาย

“แสงไฟแสงโคมเล้าโลมฤทัย ทั้งเมืองวิไลคล้ายยามทิวา”

เมื่อมีถนนหนทางเรียบร้อยงดงามแล้ว การตั้งรกรากบนบกจึงเกิดขึ้นด้วยการสร้างตึกแถว โดยได้แบบอย่างจากเมืองสิงคโปร์ แบบอย่างความศิวิไลซ์ในภูมิภาค สิ่งที่ตามมาต่อจากตึกแถวคือประทีปโคมไฟ ซึ่งเริ่มจากการใช้ตะเกียงน้ำมัน แล้วเปลี่ยนมาใช้ไฟแก๊ส จนกระทั่งปี 2427 มีการตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเป็นครั้งแรก ไฟตามท้องถนนจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทน นับแต่นั้นเป็นต้นมา แสงสว่างจากไฟฟ้าส่องสว่างสร้างความสวยงามให้กับท้องถนนและยังสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น ผู้คนจึงเริ่มออกมาเดินเที่ยวนอกบ้านในยามค่ำคืนเป็นครั้งแรก

ประกอบกับการเข้ามาของรถม้า จักรยาน รถยนต์ส่วนตัว (ซึ่งเป็นของหรูหราแสนน่าตื่นตาตื่นใจในทศวรรษ 2440) และรถรางอันเป็นระบบขนส่งสาธารณะ (มีเกร็ดสนุกๆ คือรถรางรุ่นแรกใช้ม้าลาก แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายดูแลม้ามีราคาแพงทำให้รถรางรุ่นนี้ขาดทุนไป ต่อมาได้นำเข้ารถรางที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแทน แต่ผู้คนสมัยนั้นไม่ค่อยกล้าขึ้นเพราะกลัวอันตรายจากไฟฟ้า!) ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง ความเจริญทั้งหลายย้ายขึ้นมาบนบก หลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในรัชกาลที่ 4 ทำให้เกิดระบบการค้าเสรี ห้างร้าน-สถานประกอบการทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ถือกำเนิดขึ้นด้วย ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านยามค่ำคืนของชาวกรุง ปฐมบทของเมืองที่ไม่มีวันหลับใหลจึงคาบเกี่ยวการก้าวสู่สมัยใหม่ด้วยประการฉะนี้

เจริญกรุง
entertainmentblogpictures.blogspot.com


Walk with the Cloud: Moon Walk Tour

ถนนเจริญกรุงช่วงที่ไม่ไกลจากอาคารไปรษณีย์กลาง เป็นเส้นทางการเดินเที่ยวเล่นยามราตรีของชาว The Cloud ในงาน Bangkok Design Week เนื่องจากย่านนี้ถือเป็นย่านช้อปปิ้งย่านแรกๆ ของบางกอก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนนานาชาติที่พำนักอาศัยหรือประกอบกิจการในย่านบางรัก

ชื่อของย่านนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรักแต่อย่างใด พระยาอนุมานราชธนสันนิษฐานว่าชื่อของย่านมาจากการที่สมัยก่อนมีคนพบซุงไม้รัก (พรรณไม้ใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละชนิดกับต้นรักที่ออกดอกเป็นดอกรักที่ใช้ร้อยมาลัย) ขนาดใหญ่มากจมอยู่ในคลองในเขตนี้ ผู้คนเรียกชื่อคลองดังกล่าวว่าคลองต้นซุงหรือตรอกซุงมาจนถึงปัจจุบัน อีกข้อสันนิษฐานกล่าวว่าเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มมิชชันนารีเข้ามาก่อตั้งโรงพยาบาล ผู้คนจึงเรียกว่าบางรัก (ษ์) ซึ่งมาจากคำว่า รักษา นั่นเอง

Walk with The Cloud ครั้งนี้เริ่มขึ้นยามเย็นย่ำที่ บ้านเลขที่ 1 ตรอกกัปตันบุช ติดท่าเรือสี่พระยา ชื่อตรอกสุดเก๋ไก๋มาจากชื่อของ กัปตันจอห์น บุช ชาวอังกฤษ ผู้เคยมีที่พำนักอยู่ในบริเวณนี้ กัปตันบุชเข้ามารับราชการริเริ่มวางรากฐานกิจการกรมเจ้าท่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนได้รับพระราชทานพระราชทินนามพระยาวิสูตรสาครดิฐในที่สุด กัปตันผู้นี้เป็นยังเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบางกอกด๊อก อู่ต่อเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา (หรือ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ในปัจจุบัน)

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผู้เขียนเดินผ่านบ้านเลขที่ 1 และจำได้ว่าเป็นบ้านเก่าที่ดูทรุดโทรมอย่างแรง บัดนี้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้บูรณะขึ้นใหม่จนสวยงามแทบจำภาพเดิมไม่ได้ บ้านเลขที่ 1 ตั้งอยู่ในที่ดินของพระคลังข้างที่ อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริษัทจากต่างประเทศหลายแห่งเช่าที่ดินแปลงนี้เพื่อประกอบกิจการ

เดิมบริษัทกลั่นสุราฝรั่งเศสเป็นผู้เช่าบ้านเลขที่ 1 และพื้นที่ด้านข้างมีผู้เช่าคือมิสเตอร์หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลูกชายของแอนนา เลียวโนเวนส์ หรือแหม่มแอนนาผู้โด่งดัง โดยใช้เป็นที่ทำการของบริษัทค้าไม้ วันนี้บ้านเลขที่ 1 อนุญาตให้ชาว The Cloud เข้าชมได้เป็นกรณีพิเศษ หลังจากฟังบรรยายและเข้าชมบ้านกันแล้ว ผู้ร่วมทริปยังได้รับประทานอาหารเย็นสุดพิเศษจากร้านเสน่ห์จันทร์ ร้านอาหารไทยดีกรีมิชลินสตาร์ 1 ดาวในบ้านประวัติศาสตร์แห่งนี้ด้วย

หลังจากอิ่มหนำสำราญกันแล้ว คณะของเราเดินเท้าไปยังสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยที่อยู่ห่างกันไปไม่กี่ก้าว ที่แห่งนี้เป็นผืนดินเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชทานให้กับสมเด็จพระราชินีนาถมารีอาแห่งโปรตุเกส เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับค้าขายและที่พักของกงสุลโปรตุเกส โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกที่มีความสัมพันธ์กับไทยยาวนานที่สุดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา

สถานทูตโปรตุเกส

ในค่ำคืนนี้ท่านทูตติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้เลขานุการของท่านเป็นผู้เปิดบ้านนำพวกเราชาว The Cloud เข้าชมบ้านพักทรงโคโลเนียลแบบโปรตุเกสอายุกว่า 150 ปี เป็นการเฉพาะกิจ (ซึ่งเราคิดว่าที่นี่ทั้งสวยทั้งฮิปที่สุดในคุ้งน้ำนี้! แถมยังบูรณะและปรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนถึงสมัยปัจจุบันได้ดีที่สุดด้วย อ่านประวัติความเป็นมาและชมภาพสวยๆ ของบ้านพักทูตแห่งนี้โดยละเอียดได้ ที่นี่

เดินออกจากซอยเจริญกรุง 30 พวกเราเดินไปตามถนนเจริญกรุงจนถึงอาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งในวันนั้นคึกคักอย่างยิ่งด้วยบรรยากาศของงาน Bangkok Design Week ตอนเด็กๆ ผู้เขียนรู้สึกว่าตึกหลังนี้ช่างติดตาติดใจเสียจริงเพราะความใหญ่มหึมาและรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนกับอาคารอื่นใดในย่านนี้ อาคารไปรษณีย์กลางสร้างขึ้นเมื่อปี 2483 ภายใต้นโยบาย ‘รัฐนิยม-เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านผู้นำและคณะรัฐบาลร่วมกันวางแนวทางการสร้างชาติ หนึ่งนโยบายการสร้างรัฐไทยใหม่ของจอมพล ป. คือการสร้างอาคารสถานที่ในรูปแบบใหม่

เมื่อแรกเปิดทำการอาคารไปรษณีย์กลาง หนังสือพิมพ์สมัยนั้นได้รายงานข่าวว่า “ตึกที่ทำการใหม่ของกรมไปรษณียโทรเลขนี้เป็นศิลปกรรมแบบทันสมัย” รูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวตรงข้ามกับงานสถาปัตยกรรมในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เต็มไปด้วยจารีตแบบแผนและแสดงฐานานุศักดิ์ด้วยรายละเอียดการประดับประดานานาประการ รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่ารูปแบบเช่นนี้มักมีนัยของการแสดงความไม่เท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม

ศิลปกรรมแบบทันสมัยในความหมายของจอมพล ป. จึงต้องเป็นรูปแบบที่แสดงแนวคิดที่แตกต่าง ตึกไปรษณีย์กลางจึงเป็นตึกที่ดูเข้มแข็งใหญ่โตแทบจะไร้การตกแต่งให้อ่อนช้อย การประดับประดาที่เห็นได้ชัดเจนจุดเดียวคือครุฑ 2 ตนที่โบกบินอยู่ระหว่างมุมอาคารด้านหน้า ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของศิลป์ พีระศรี ทว่ารูปแบบและความหมายของครุฑในเชิงสัญลักษณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เส้นสายและลาดลายประดับที่ชดช้อยถูกลดทอนและเพิ่มพลังความบึกบึนแบบสามัญชนในอุดมคติ สมัยก่อนหน้านี้เมื่อครุฑประดับอยู่ที่ใดย่อมเป็นการประกาศศักดิ์ว่าอาคารหรือสถานที่แห่งนั้นสร้างโดยพระมหากษัตริย์หรือเป็นสมบัติของพระองค์ แต่ครุฑทั้งสองที่ไปรษณีย์กลางถูกนำเสนอในรูปแบบสัญลักษณ์แห่งการสื่อสารและส่งข่าวในทำนองเดียวกับเทพ Hermes หรือ Mercury ในปกรณัมตะวันตกมากกว่า

รูปแบบสถาปัตกรรมและการใช้สัญลักษณ์เช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแนวทางฟาสต์ซิสต์ (Fastcist) ที่มักก่อสร้างอาคารที่ใหญ่โตและดุดันแข็งกร้าวแสดงอำนาจทางการเมืองของสังคมเผด็จการทหารนิยม กระแสดังกล่าวเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่งในเยอรมนีและอิตาลีในคณะนั้น (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม: สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม โดยชาตรี ประกิตนนทการ ซึ่งเป็นสารคดีที่อ่านสนุกที่สุดอีกเล่มหนึ่ง)

ด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลางในปัจจุบันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ของผู้ที่รับการยกย่องให้เป็นบิดาของการไปรณีย์ไทย คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระอนุชาแท้ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก่อนหน้านี้ที่ดินผืนนี้เคยเป็นที่ตั้งสถานกงสุลอังกฤษแห่งแรกมาก่อน ด้านหน้าสถานกงสุลเคยเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อปี 2448

ด้วยควีนวิกตอเรียทรงมีพระราชโอรสธิดาและพระราชนัดดาเป็นจำนวนมาก เจ้าหญิงเจ้าชายเหล่านั้นได้แต่งงานกับพระราชวงศ์จากประเทศอื่นๆ ในยุโรป จึงทำให้ควีนทรงมีสายพระโลหิตสืบทอดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ทั่วทั้งทวีปยุโรป จนได้รับพระราชสมัญญา ‘สมเด็จย่าแห่งยุโรป’ (Grandmother of Europe)  จึงมีเกร็ดสนุกๆ เล่าว่าราษฎรชาวไทยมักไปกราบไหว้อนุสาวรีย์ควีนวิกตอเรียที่บางรักเพื่อขอลูกหรือขอให้มีลูกดก (Very Thai)

หลังจากที่สถานกงสุลอังกฤษย้ายไปตั้งที่ถนนเพลินจิตและยกฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย อนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ย้ายไปอยู่ที่นั่นจวบถึงปัจจุบัน
สถานกงสุลอังกฤษแห่งแรก

สถานกงสุลอังกฤษ
roomfordiplomacy.files.wordpress.com
สถานกงสุลอังกฤษ
upload.wikimedia.org

ออกจากอาคารไปรษณีกลางเดินเท้าต่อไปจนถึงแยกสุรวงศ์ ถนนสุรวงศ์เฟื่องฟูมากในทศวรรษที่ 2460 จนได้ชื่อว่าเป็นย่านกลางคืนแบบตะวันตกที่สำคัญที่สุดในพระนคร ที่นี่เป็นดั่งสวรรค์ยามราตรีเพราะมีทั้งโรงเต้นรำและเบียร์ฮอลล์หลายแห่ง หลงเหลือเพียงชื่อสุดไฉไลไม่ว่าจะเป็นโรสฮอลล์ เวมบลี้ มูแลงรูจ และลูน่าฮอลล์ สถานที่ทั้งหมดเหล่านี้ไม่เหลือให้เราได้แวะชมอีกต่อไป อาคารที่ยังปรากฏเป็นอนุสรณ์สุดท้ายแห่งความเฟื่องฟูของสุรวงศ์เห็นจะเป็นโรงแรมนิวโทรคาเดโร ซึ่งอยู่ในสภาพร้างร่อแร่แต่ก็ยังพอเหลือเค้าลางของโก้หรูไว้ให้เห็น โรงแรมแห่งนี้พัฒนามาจากโฮเต็ลโทรคาเดโรที่สง่างามที่สุดในทศวรรษ 2460 ชื่อของโรงแรมตั้งตาม Palais du Trocadéro จตุรัสตรงข้ามหอไอเฟลในกรุงปารีส ซึ่งเป็นจุดที่สามารนถมองเห็นหอไอเฟลได้สวยงามชัดเจนที่สุด

ศุลกสถาน
teakdoor.com

เยื้องจากแยกสุรวงศ์คือปากซอยเจริญกรุง 36 ซึ่งเป็นซอยที่มีทั้งชื่อเล่นชื่อจริงหลากหลาย ทั้งซอยหรือตรอกโรงภาษี เนื่องจากสุดซอยเป็นที่ตั้งของศุลกสถาน หรือโรงภาษีร้อยชักสาม อาคารเก่าแก่อายุมากกว่า 120 ปี เคยเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรสำหรับเก็บภาษีขาเข้า และยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและงานเต้นรำของพระบรมวงศานุวงศ์และชาวต่างชาติในสมัยนั้น ต่อมาอาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้างและกลายเป็นที่ทำการสถานีดับเพลิงบางรัก หลายคนจึงรู้จักศุลกสถานในนามสถานีดับเพลิงบางรักมากกว่า

ศุลกสถานในคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ กลับจากยุโรป ติดป้ายรับเสด็จฯ เขียนข้อความว่า “รับเสด็จด้วยความยินดี”

สถานีดับเพลิงบางรัก
www.flickr.com

อีกชื่อสุดโก๋เก๋ของซอยนี้คือ Rue de Brest หรือถนนแบรสต์ ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาส่งคณะราชทูตไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว คณะทูตรอนแรมเกือบ 7 เดือน จนเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสที่เมืองแบรสต์ แคว้นเบรอตาญ ชาวเมืองแบรสต์เห็นว่าคณะทูตเป็นชาวตะวันออกไกลจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถึงกับเปลี่ยนชื่อถนนแซงต์ปิแอร์ซึ่งคณะราชทูตไทยใช้เป็นทางผ่านเป็น Rue De Siam หรือถนนสยาม ยังปรากฏชื่อถนนนี้อยู่จวบจนปัจจุบันที่เมืองแบรสต์ เนื่องจากซอยเจริญกรุง 36 เป็นสถานที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซอยนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า Rue de Brest หรือถนนแบรสต์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสด้วยเหตุนี้แหละออเจ้า

Rue de Brest
upload.wikimedia.org

นอกจากจะพลุกพล่านด้วยความตะวันตกแล้ว ซอยนี้ยังเป็นที่ตั้งของมัสยินฮารูน ศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมย่านบางรัก แต่เดิมมัสยิดตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทางการได้ขอแลกพื้นที่ของมัสยิดเพื่อสร้างศุลกสถาน มัสยิดจึงย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปัจจุบัน ไม่ไกลจากจากมัสยิดเท่าใดนักเป็นที่ตั้งของสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มอาจารย์และศิลปินรุ่นใหม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและต่อยอดการเรียนรู้สืบสานมรดกศิลปะอิสลามแขนงต่างๆ ให้เป็นรู้จักในวงกว้าง สถาบันศิลปะอิสลามฯ ตั้งอยู่ที่ ‘บ้านเขียว’ อาคารไม้เก่าแก่ที่เคยใช้เป็นโรงเรียนอันยุมันอิสลาม โรงเรียนสอนศาสนา และเป็นบ้านพักของท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย

การเข้าชมครั้งนี้พิเศษยิ่งเพราะเป็นการเปิดบ้านเขียวครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ภายในบ้านบ้านเขียวจัดแสดงหนังสือเก่ารวมไปถึงพระคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่อยู่ในรูปแบบสมุดไทยใบลานที่ไม่ปรากฏที่อื่น แสดงสาธิตการเขียนอักษรอาหรับวิจิตร (ค็อฏ) ด้วยไม้ไผ่แบบโบราณโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญ หลายๆ คนได้รับแผ่นกระดาษแสนสวยพร้อมชื่อของตัวเองในเวอร์ชันอาหรับ มีชุดเสื้อผ้าอิสลามทั้งชายหญิง ตั้งแต่ยุคโบราณถึงชุดแฟชั่น รวมถึงหมวกและผ้าคลุมนานาชนิดให้ผู้เข้าชมได้ลองสวมใส่ (ตอนแรกไม่ค่อยมีคนใส่ พอมีคนแรกเท่านั้นแหละ เปลี่ยนชุดกันสนุกสนานทีเดียว)

ชั้นบนจัดแสดงงานศิลปะอิสลามร่วมสมัยโดยศิลปินรุ่นใหม่ ปิดท้ายด้วยการบรรยายขนาดสั้นบนพรมหลากสีว่าด้วยศิลปะอิสลามที่เปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้น หลายคนแอบติดใจขนมบดินและขนมชั้นที่เสิร์ฟคู่ชามัสซาลาที่สถาบันเสิร์ฟต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น แอบกระซิบว่าอีกไม่นานสถาบันศิลปะอิสลามฯ อาจจะเปิดคาเฟ่ให้เราได้มีโอกาสไปจิบชามัสซาลาในบรรยากาศที่ไม่มีใครเหมือน

ออกจากสถาบันศิลปะอิสลามฯ ด้วยความประทับใจ ทะลุซอยเจริญกรุง 38 และซอยเจริญกรุง 40 ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารในตำนานหลายแห่งอย่างตึกเก่าของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล โรงแรมแห่งแรกของเอเชียที่มีอายุยืนยาวเกือบ 150 ปีแล้ว O.P. PLACE ซึ่งเคยเป็นห้าง Falck & Beidek Store ห้างสรรพสินค้าชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกรุงมักเรียกว่าห้างนี้ว่าห้างสิงโต เพราะตัวอาคารประดับด้วยปูนปั้นรูปหัวสิงโต ซึ่งยังอยู่ยงคงกระพันมาถึงปัจจุบัน รวมไปถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญ โรงพิมพ์อัสสัมชัญ  โรงเรียนอัสสัมชัญ และสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ศูนย์กลางของคริตสจักรโรมันคาทอลิกในกรุงเทพฯ

โรงแรมโอเรียนเต็ลในอดีต

โรงแรมโอเรียนเต็ล
www.flickr.com

ห้างสิงโต

ห้างสิงโต
www.facebook.com

ความเจริญของเจริญกรุงในวันนี้อาจจะดูจะโรยราลงไปตามยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน โฮเต็ล ห้างร้าน โรงเต้นรำ หรือเบียร์ฮอลล์ อาจเหลือเพียงชื่อ แสงสว่างยามค่ำคืนดับหายไปบ้าง แต่ส่วนผสมทางวัฒนธรรมอันหลากหลายผนวกกับความเก่าและความใหม่ที่ผสมเข้าด้วยกันจนกลมกล่อม ทำให้ย่านนี้ยังน่าเดินเที่ยวเล่นทั้งยามทิวาและราตรี

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง