“We keep this love in this photograph”

ในยุคที่การถ่ายภาพทำได้ง่ายเพียงพริบตา ในมือถือของเรามีรูปเป็นหมื่นเป็นพันรูป คุณค่าของรูปถ่ายในฐานะสิ่งเสมือนความทรงจำและสิ่งดูต่างหน้าดูจะจางจืดไป กระนั้นท่อนหนึ่งจากเพลงดังของ Ed Sheeran ยังทำให้เรานึกถึงความสำคัญของการเก็บบันทึกความรู้สึกในห้วงต่างๆ ของชีวิต และนี่เองก็อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าในทุกวันนี้เราทุกคนถ่ายรูปกันไปเพื่ออะไร

“We made these memories for ourselves”

แม้เราอาจบันทึกภาพต่างๆ ไว้ในใจอยู่แล้ว แต่ภาพถ่ายนั้นเป็นรูปธรรมของความทรงจำ เป็นมุมมองที่บันทึกผ่านสายตาของผู้ถ่ายโดยตรง เป็นหลักฐานให้เราได้กลับไปมองย้อนหลังในเวลาที่เดินไปข้างหน้า จริงอยู่ที่เราเก็บความทรงจำเหล่านี้ไว้เพื่อตนเอง แต่ภาพถ่ายจำนวนมากก็เล่าเรื่องของทั้งผู้ถ่ายและผู้ถูกถ่าย เล่าเรื่องสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เรื่องราวในภาพอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น หรือกระทั่งภาพถ่ายอาจมีบทบาทในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็เป็นเช่นนั้น

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคุ้นเคยกับการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงชื่นชอบการถ่ายภาพ อีกทั้งที่ประทับแห่งแรกในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับร้านถ่ายรูปอะเตอลิเยร์ เดอ ฌอง (Atelier de Jong Photographie) สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพาพระโอรสธิดาเสด็จฯ ไปฉายพระรูปตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 2 พรรษา (Atelier de Jong Photographie ยังคงดำเนินกิจการสืบมาถึงปัจจุบัน)

เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 8 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพระราชทานกล้องถ่ายรูป Coconet Midgetเป็นกล้องส่วนพระองค์ตัวแรก กล้องรุ่นนี้มีจุดขายคือราคาประหยัดและขนาดที่เล็กเพียง 5 เซนติเมตร ถือเป็นกล้องที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกในเวลานั้น ใช้ฟิล์มขนาด 16 มม. ถ่ายได้ม้วนละ 6 ภาพ

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในครั้งนั้นได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดของงานอดิเรกสำคัญของพระองค์ ตลอดระยะเวลาแปดสิบกว่าปีที่ผ่านมาเรามักคุ้นตากับภาพของพระองค์ที่มีกล้องคู่พระทัยอยู่ในพระหัตถ์เสมอ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มีบทบาททั้งในการบันทึกชีวิตส่วนพระองค์และในฐานะอุปกรณ์ในการทรงงาน

ภาพถ่ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่และจัดแสดงเป็นนิทรรศการหลายครั้งคราว รวมไปถึงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ครั้งล่าสุด ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์กว่า 200 ภาพ บันทึกห้วงเวลาตลอดรัชสมัยอันยาวนาน

ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2555 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในชื่อ ‘รักในสายพระเนตร’ ผู้เขียนประทับใจชื่อนี้เพราะรู้สึกว่าภาพถ่ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ถ่ายทอดทั้งความรัก ความทรงจำ ในพระราชหฤทัยผ่านสายพระเนตรของพระองค์โดยแท้จริง ผู้ชมภาพอาจสามารถร่วมรู้สึกถึงความรักเหล่านั้นได้ ในช่วงแห่งการรำลึกถึงนี้ เราจึงเลือกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่เคยเผยแพร่ในที่ต่างๆ มา 10 ภาพ เพื่อบอกเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลังภาพนั้นๆ จึงขออัญเชิญชื่อนิทรรศการครั้งนั้นมาเป็นชื่อของบทความอีกครั้ง

“And time’s forever frozen still”

ปากน้ำ สมุทปราการ, 2489.

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่ปากน้ำเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงถ่ายภาพสมเด็จพระเชษฐาธิราชขณะมีพระราชดำรัสโดยใช้ไมโครโฟนถ่านคาร์บอน (Carbon Microphone) เครื่องขยายเสียงชิ้นนี้เป็นของทันสมัยในสมัยนั้น ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ออสการ์ The King’s Speech เล่าปัญหาการมีพระราชดำรัสของพระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI) พระบิดาของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระเจ้าจอร์จที่ 6 ครองราชย์หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์เพียง 1 ปี

การเสด็จพระราชดำเนินของสองพระองค์อาจทำให้ผู้มาเฝ้าชมพระบารมีนึกไปถึงพระรามและพระลักษมณ์ กษัตริย์สองพี่น้องจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหนึ่งของบทละคร รามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 กล่าวถึงตัวละครเอกทั้งคู่ว่า

“พิศโฉมพระองค์ทรงศร งามลํ้าทินกรรังสรรค์

อันองค์ทรงพรตน้อยนั้น งามดั่งพระจันทร์อำไพ”

ความเปรียบพระรามประดุจพระอาทิตย์ พระลักษมณ์เปรียบดั่งพระจันทร์ บังเอิญตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ และในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งตรงกับวันจันทร์พอดิบพอดี

สำเพ็ง, 2489.

ก่อนสวรรคตเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่สำเพ็ง ด้วยช่วงนั้นเกิดความบาดหมางและการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับชาวไทยเชื้อสายจีน การเสด็จฯ ครั้งนั้นช่วยผสานรอยแผลของความขัดแย้งให้กลับสู่ความสมัครสมาน ภาพการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์นี้ยังได้รับการบันทึกไว้หลังธนบัตร 20 บาท รุ่นในหลวงรัชกาลที่ 8 ในครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงบันทึกภาพใบหน้าอันแจ่มใสของประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ เอาไว้ด้วย

จากกรุงเทพฯ ถึงโลซานน์, 2489.

“วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙

วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว…”

ข้อความจากพระราชบันทึก เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ บอกเล่าเหตุการณ์หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต สมเด็จพระอนุชาผู้มีพระชนมพรรษาเพียง 18 พรรษา สืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์จำเป็นต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อยังสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเปลี่ยนสายการศึกษาจากวิศวกรรมศาสตร์มาเป็นสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับพระราชฐานะประมุขของประเทศ

การเดินทางในวันนั้นเริ่มขึ้นจากการเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามบินดอนเมือง
“ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฎว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก”

การเสด็จฯครั้งนั้นเองที่เป็นที่มาของพระราชดำรัสอันเป็นอมตะ “ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า ‘อย่าละทิ้งประชาชน’ อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”

บนฟากฟ้าระหว่างทางมุ่งหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ทรงถ่ายรูปจากหน้าต่างเครื่องบินพระที่นั่ง พร้อมกับทรงบันทึกไว้ว่า “แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล … การเดินทางในระยะต่อมาช่างเปล่าเปลี่ยวเสียจริงๆ สิ่งที่มองเห็นในเบื้องหน้าไม่มีอะไรเสียเลย นอกจากท้องทะเลเขียวครามอันแสนลึก”

ทั้งภาพและข้อความสื่อถึงความรู้สึกในพระราชหฤทัยในยามนั้นได้แสนลึกซึ้ง

โลซานน์, 249x.

ช่วงเวลาแห่งความสุขที่โลซานน์ปรากฏในภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รูปนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถ่ายภาพติโต (Tito) แมววิเชียรมาศ สัตว์เลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชชนนี มีเรื่องเล่าว่าคุณติโตโปรดปรานการหนีเที่ยว กลับดึกดื่นจนเข้าพระตำหนักไม่ได้เป็นประจำ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งชื่อภาพนี้ว่า ‘แมวผู้ใหญ่ลี’ สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของ Josip Broz Tito (ยอซีป บรอซ ติโต) ที่มาของชื่อ ‘Tito’ ซึ่งเป็นสมญานามของผู้นำทางการเมืองของยูโกสลาเวียผู้นี้ เส้นทางชีวิตของเขาเริ่มต้นชีวิตจากเป็นเด็กชายช่างกลลูกชาวนา (ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกว่า ‘ทหารลูกทุ่ง’) สู่การเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ผู้หาญกล้าจนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผู้รวมชาติยูโกสลาเวียในที่สุด

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประทับใจเรื่องราวชีวิตของยอซีป บรอซ ติโต ทรงแปลชีวประวัติและวีรกรรมของประธานาธิบดีผู้นี้เป็นพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ติโต

ประวัติของภาพนี้มิได้ระบุไว้ว่าติโตนั่งอยู่บนตักของสุภาพสตรีผู้ใด เมือผู้เขียนได้เห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์อีกรูปหนึ่ง โดยเปรียบเทียบจากลวดลายของกระโปรง จึงทราบว่าติโตนั่งอยู่บนพระเพลา (ตัก) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระคู่หมั้น

วิลล่าวัฒนา, 2493

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพบรักกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส หลังจากที่ทรงพบกับครั้งแรกที่เมือง Fontainebleau (ฟงแตนโบล) ชานกรุงปารีส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พระราชทานสัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ BBC เมื่อปี 2521 ถึงเหตุการณ์นั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบมาก่อนว่าพระองค์ทรงรักข้าพเจ้า เพราะเวลานั้น อายุเพิ่งย่าง 15 ปี และตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนักเปียโน เป็นนักเปียโนที่แสดงในงานคอนเสิร์ต”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถ่ายภาพนี้ไว้ขณะพระคู่หมั้นกำลังเล่นเปียโน ความรักของสองพระองค์คงจะผลิบานเพราะมีเสียงดนตรีเป็นเครื่องผูกสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น

หลายคนอาจจะคุ้นตาภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปียโนโดยมีติโตเฝ้าฯ อยู่ด้วย ภาพถ่ายชุดนั้นถ่ายโดย Dmitri Kessel (ดมิทรี เคสเซล) ช่างภาพนิตยสาร LIFE ที่เปียโนหลังเดียวกันกับในภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ภาพนี้

ไม่ปรากฏสถานที่, ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย

ภาพถ่ายภาพนี้สะดุดตาด้วยองค์ประกอบทางศิลปะที่สวยงาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถ่ายภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ท่ามกลางป่าเขา ชวนให้นึกถึงบทกวีภาษาฝรั่งเศส ‘Le pas de mon Père’ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในภาคภาษาไทยที่ใช้ชื่อว่า ‘เดินตามรอยเท้าพ่อ’

ผู้พระราชนิพนธ์เล่าถึงแรงบันดาลใจในการแต่งว่าทรงได้รับแรงบันดาลใจจากการทอดพระเนตรการ์ตูนวอลท์ดิสนีย์เรื่อง Bambi เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ตอนหนึ่งของบทกวีกล่าวอย่างไว้ว่า

“ลูกเอ๋ย…ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์

และความสบายสำหรับเจ้า

ทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยสวย

จงไปเถิด แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่บีบคั้นหัวใจเจ้า

เพื่อมนุษยชาติ จงอย่าละความกล้า

เพื่อเผชิญกับความทุกข์ให้อดทนและสุขุม

และจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า

ไปเถิด…ถ้าเจ้าต้องการเดินตามรอยเท้าพ่อ”

บริเวณกรงลิง, 2542

  ภาพถ่ายที่มองเห็นรองพระบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีลิงเอื้อมมือมาแตะ ชวนให้นึกถึงความจงรักภักดีของเหล่าเสนาวานรที่มีต่อพระรามพระลักษมณ์ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผูกพันกับลิงตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงบันทึกไว้ว่าในวันคล้ายวันพระราชสมภพปีหนึ่ง เมื่อครั้งพระเยาว์ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ให้ละครลิงเข้ามาเล่นถวายให้พระโอรสธิดาทอดพระเนตรเป็นที่สำราญเริงใจยิ่ง

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรละครลิงอีกครั้ง คณะแพทย์จึงติดต่อคณะศิษย์พระกาฬ ซึ่งเป็นละครลิงที่เหลืออยู่คณะสุดท้าย มาแสดงหน้าพระที่นั่งถวายให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2556

นอกจากนี้ ลิงยังเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริโครงการบริหารจัดการน้ำในชื่อโครงการ ‘แก้มลิง’ อันมีที่มาจากการที่ทรงสังเกตวิธีการกินอาหารของลิงอีกด้วย

ปราสาทพระเทพบิดร, 2547

ปราสาทพระเทพบิดรตั้งอยู่ในเขตวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นที่ประดิษฐานร่วมกันของพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพกษัติยาธิราชเจ้าในราชวงศ์จักรี โดยปกติมิได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าถวายสักการะ เว้นแต่วันสำคัญอย่างวันสงกรานต์ วันจักรี หรือวันปิยมหาราช ภายในปราสาทพระเทพบิดรนั้นไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ภาพถ่ายภาพนี้จึงเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ควันจากเครื่องราชสักการะที่ทรงจุดยิ่งเพิ่มมนตร์ขลังให้กับภาพถ่ายนี้ยิ่งขึ้น

ทุ่งลาดพร้าว, 2526

พระอินทร์เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาโลกและมนุษย์ พระองค์ประทับบนพระแท่นชื่อแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ แท่นนี้ทำจากหิน แต่ปกติแท่นนี้จะอ่อนนุ่ม เมื่อเกิดเหตุเภทภัยจึงจะแข็งกระด้างขึ้นมา เป็นสัญญาณให้พระอินทร์ลงมาช่วยมวลมนุษย์ ดังเช่นที่ในปรากฏในบทละครเรื่อง สังข์ทอง

                                                         “มาจะกล่าวบทไป
ถึงท้าวสหัสนัยน์ตรัยตรึงศา
ทิพอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา

                                                           กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน
อมรินทร์เร่งคิดสงสัย
จึงสอดส่องทิพเนตรดูเหตุภัย
ก็แจ้งใจในนางรจนา”

พระอินทร์มีฉายาหนึ่งว่า สหัสนัยน์ แปลว่า พันตา ด้วยทรงมีพระเนตรรอบพระวรกายจึงทรงมองเห็นเหตุความเดือดร้อนของผู้คนทั้งหลาย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถ่ายภาพนี้ทางอากาศในคราวน้ำท่วมที่เขตพระโขนงเมื่อปี 2526 เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม กล้องถ่ายรูปของพระองค์ประดุจดั่งพระเนตรหนึ่งของพระอินทร์ที่ส่องให้เห็นความทุกข์ร้อนของราษฎร (ที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก็มีที่มาจากตำนานพระอินทร์ ด้วยสวนจิตรลดาคือชื่ออุทยานของพระอินทร์)

วังไกลกังวล, 2542

เป็นที่ทราบกับว่าบรรยากาศเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นตึงเครียดเพียงใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างที่ประทับแห่งใหม่ขึ้นที่ชายทะเลหัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชหฤทัยจากความวุ่นวายในพระนคร ทรงตั้งชื่อที่ประทับแห่งนี้ว่า ‘วังไกลกังวล’ โดยมีที่มาจากชื่อพระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้า Frederick the Great แห่งรัสเซีย ชื่อพระราชวัง Sans Souci (ซ็องซูซี) เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลความว่า ไร้ความวิตกกังวล นอกจากนี้ยังทรงตั้งชื่อตำหนักต่างๆ ให้เพราะพริ้งคล้องจองกันด้วยถ้อยคำที่เกี่ยวกับความสุข ได้แก่พระตำหนักเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม และเอมปรีดิ์

ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 วังไกลกังวลกลายเป็นพระราชฐานแห่งความสุขอีกครั้ง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ พร้อมสมเด็จนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาประทับ ‘honeymoon’ ที่วังไกลกังวล หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

หลังจากที่สองพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรทุกถิ่นที่ ความไกลกังวลของในหลวงมิใช่ความเปี่ยมสุขส่วนพระองค์แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป พระองค์ทรงทดลองโครงการฝนหลวงและตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่หัวหินเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำของเกษตรกร

ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถ่ายภาพความสำเร็จของผลงานอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงรังสรรค์ขึ้น ณ ชายทะเลวังไกลกังวล

ใครจะเชื่อว่าพระราชาของประเทศไทยสามารถเรียกลมเรียกฝนได้ประดุจดั่งผู้วิเศษในตำนาน สายฝนที่พระองค์ดลบันดาลสร้างความชุ่มฉ่ำไปทั้งทั่วผืนแผ่นดินและซาบซึมลงในใจของประชาชนด้วย

นอกจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเผยแผ่แรงบันดาลพระราชหฤทัยและความรักอันไพศาลของพระองค์ ผ่านโครงการพระราชดำริ เพลงพระราชนิพนธ์ งานศิลปะ หรือพระราชดำรัส อันหลากหลายตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

“Where our eyes are never closing

Hearts were never broken

And time’s forever frozen still”

ในยามที่เรามองภาพถ่ายภาพใดก็ตาม ช่างแสนวิเศษที่ว่าแม้คนถ่ายภาพจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นให้เราเห็น แต่จากมุมมองจากใจที่ถ่ายทอดผ่านแววพริบตาของเขา รวมทั้งความรักและความรู้สึกทั้งหลายที่อัดแน่นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมนั้นอาจจะยังถูกส่งต่อหรือเป็นที่จดจำไปแสนนาน

“We keep this love in this photograph”

ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง