อดีตอันแปลกตาผนึกอยู่ในอัลบั้มภาพอายุกว่าร้อยปีที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเก็บรักษาไว้ เราสวมถุงมือที่พี่เจ้าหน้าที่ยื่นให้ แล้วจึงพลิกหน้ากระดาษไปทีละหน้า ภาพเก่าที่สะกดเราไว้เป็นรูปหมู่ของกลุ่มคนแต่งกายแปลกประหลาดมาชุมนุมกัน หลายคนอาจจะเคยเห็นรูปทำนองนี้ผ่านตามาบ้างจากภาพถ่ายยุควิคตอเรียนที่ชาวตะวันตกแต่งกายในชุดแปลกแหวกยุคโพสท่าสุดเวียร์ด แต่รูปลักษณ์ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเรากลับเป็นดวงหน้าของชาวสยาม พร้อมกับคำบรรยายกำกับว่า “รูปเจ้านายทรงแต่งแฟนซีปีใหม่”

เจ้านายทรงแฟนซี

“วันจันทร์ วันที่ 1 มกราคม 2436 วันเกิดโต*

เรามีปาตี้ เลี้ยงข้าวกลางวันให้ เจ้านายที่มาแต่งตัวแฟนซีด้วยอยู่ข้างสนุก

มีรางวัลแต่งตัว น้องหญิง ได้ที่ 1”

(*โต คือพระนามลำลองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ข้อเขียนดังกล่าวคัดมาจากไดอารี่ของเจ้าชายหนุ่ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจดบันทึกไว้เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา บันทึกเรื่องราวการแต่ง ‘แฟนซี’ หนึ่งในอีเวนต์น่าตื่นตาตื่นใจในราชสำนักรัชกาลที่ 5

เช่นเดียวกับความนิยมในศิลปะ สถาปัตยกรรม แฟชั่น งานออกแบบ และวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้น งานแฟนซีเป็นของนำเข้าอย่างหนึ่งที่สยามรับมาจากโลกตะวันตก การแต่งแฟนซีในยุโรปพัฒนามาจากงานเต้นรำสวมหน้ากากที่เรียกว่า Masquerade ball ซึ่งเป็นที่นิยมมาก่อน (เหมือนกับฉากที่โรมีโอเจอจูเลียตครั้งแรกในงาน Masquerade ball เชกสเปียร์แต่งเรื่องนี้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ท้องเรื่องของ Romeo and Juliet ก็ยังย้อนอดีตไปมากกว่านั้นอีก ทำให้เห็นว่างานเต้นรำสวมหน้ากากมีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น) จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 งานเลี้ยงที่มีการแต่งแฟนซีเป็นไฮไลต์ก็เป็นที่ป๊อปปูลาร์ในหมู่สังคมชั้นสูงในยุโรป ซึ่งมักจะจัดอีเวนต์นี้เพื่อสร้างสีสันในงานเทศกาลหรือโอกาสพิเศษต่างๆ อย่างงานเลี้ยงปีใหม่หรืองานวันฮาโลวีน

ราชสำนักสยามในสมัยนั้นรับวัฒนธรรมนี้มาใช้ด้วยงานปีใหม่ ในความเรียงเรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 5 กล่าวถึงพิธีในเดือน 5 (ในที่นี้คือเดือน 5 ตามจันทรคติ ในอดีตถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์) ไว้ว่า “เมื่อใช้ธรรมเนียมฝรั่งชุกชุมขึ้น ปีการเลี้ยงโต๊ะในวังเนืองๆ บางปีก็มีแต่งพระองค์ต่างๆ ตามชื่อเรียกฝรั่งว่าแฟนซีเดรสส์ บางปีก็แต่งพระองค์ตามธรรมเนียม และมีการเล่นต่างๆ ต่อเวลาเลี้ยงโต๊ะแล้ว เป็นอย่างเล่นโยนน้ำบ้าง เล่นกลบ้าง เล่นเทียเตอร์บ้าง มีแฟร์ขายของครั้งหนึ่งเมื่องปีกุน นพศก 1249” และในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ซึ่งเป็นบันทึกส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงบันทึกถึงช่วงเวลาปีใหม่ช่วงต้นรัชกาลเอาไว้ว่า “ตื่นเช้าขึ้นส่งก๊าดกันมามาก ได้ของปีใหม่ เจ้านายแต่งต่างๆ กัน”

ข้อความเหล่านี้หวนให้นึกบรรยากาศ festive time ในยุคนั้นที่น่าจะสนุกเพลิดเพลินไม่แพ้ยุคนี้และยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบตะวันตกของของชนชั้นนำในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เจ้านายทรงแฟนซี

งานแฟนซีครั้งแรกในราชสำนักจัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ปี 2417 ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ 5 และจัดอีกครั้งในอีก 2 ปีให้หลัง ปรากฏหลักฐานเป็นภาพพอร์เทรตรัชกาลที่ 5 ในวัยหนุ่ม ฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ตะวันตก และอีกครั้งทรงฉลองพระองค์ Highland dress ชุดประจำชาติเต็มยศแบบสก็อต ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางแต่งกายแตกต่างกันทั้งชุดฝรั่ง ชุดจีน ชุดแขก ชุดสัตว์ หรือชุดตัวละครในวรรณคดี ฯลฯ (ในยุคที่ร้านเช่าชุดยังไม่เกิด ผู้เขียนได้แต่นั่งนึกว่าสมัยนั้นเขาสรรหาหาชุดเหล่านี้มาจากไหนกันนะ)

เจ้านายทรงแฟนซี เจ้านายทรงแฟนซี

ล่วงมาถึงกลางรัชสมัยเมื่อปี 2434 มีการจัดงาน ‘สโมสรสำราญปีใหม่ที่พระราชวังบางปอิน’ ปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา มีรายละเอียดว่า

“ในครั้งนี้เสด็จประทับแรมอยู่ที่พระราชวังบางปอิน บรรจบสมัยปีใหม่ด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงษานุวงษ์ตลอดจนลงไปถึงขุนนางที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งพลเรือน และทหาร ประมาณ 300 คน แต่งตัวแปลกๆ กันเปนอย่างเก่า คือเจ้าแต่ก่อน ขุนนางแต่ก่อน ราชทูตบุราณ แลอย่างกระบวนแห่ … ฤๅแต่งอย่างต่างภาษา เช่น พม่า มอญ ลาว กะเหรี่ยง แขกหลายประเภท จีนผู้ดี จีนสามัญต่างๆ ที่สุดจนอย่างละครเช่นฤๅษี นางกระจงเป็นต้น ล้วนต่างกันมิให้ซ้ำเลย”

เพื่อให้เข้ากับธีม ‘เจ้าแต่ก่อน’ ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถของพระองค์เอง

น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏหลักฐานรูปถ่ายของงานวันนั้น

จริงอยู่ที่ในโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ พระราชนิพธ์อีกเรื่องหนึ่งของรัชกาลที่ 5 บรรยายถึงการถึงงานสังสรรค์เหล่านี้ว่า

“ยินดีปีใหม่เลี้ยง ดูกัน

สนุกสุขหฤหรรษ์ เรื่องเหล้น”

แม้การแต่งแฟนซีจะดูเป็นเพียง ‘เรื่องเหล้น (= เล่น)’ แต่ถ้าหากมองให้ลงลึกไปแล้ว เรื่องเล่นๆ เหล่านี้ก็อาจจะมีความจริงจังซ่อนอยู่ก็เป็นได้

กล่าวกันในเชิงจิตวิทยา Dr. Leslie Bell (ดร.เลสลีย์ เบลล์) นักสังคมวิทยาและนักจิตบำบัดแสดงทรรศนะไว้ว่า ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันการสวมหน้ากากในงานเต้นรำและการแต่งแฟนซีอาจมีบทบาทในการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงออกถึงบางส่วนของบุคลิกภาพที่แบบแผนประเพณีไม่อนุญาตให้เปิดเผยในสถานการณ์ปกติ เช่นเดียวกับ Dr. Catherine Tregoning (ดร.แคเธอรีน เทรโกนิง) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า ชุดแฟนซีอาจจะบ่งบอกถึงการสร้างความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคล หรือการสร้างอัตลักษณ์ประจำกลุ่ม ในอีกทางหนึ่งงานแฟนซีก็เป็นเสมือนหนทางหลีกหนีเล็กๆ น้อยๆ ณ ชั่วระยะหนึ่ง ให้เราได้พ้นไปจากชีวิตประจำวันที่ออกจะน่าเบื่อและเป็นแบบแผน

รัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องเป็นอะไรในงานแฟนซี?

นอกจากการแต่งกายแฟนซีจะสะท้อนให้เห็นมิติความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เข้มข้นในสมัยนั้น หากลองใช้กรอบความคิดทางจิตวิทยามาพิจารณาร่วมกับบริบทเรื่องการเมืองช่วงต้นรัชสมัย (เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นประธานขุนนางทั้งปวงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ขึ้นมามีบทบาทอย่างมากในการปกครองช่วงต้นรัชกาล ในปี 2417 พระองค์เพิ่งจะทรงมีพระราชอำนาจเต็มในการปกครองเป็นปีแรก เนื่องจากทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นเครื่องแสดงการทรงพระราชอำนาจเต็มโดยสมบูรณ์) การ ‘แต่งร่างอย่างใหม่แม้น ยุรเปียน’ ก็อาจจะเป็นการเปิดฉากของ ‘ยุคใหม่’ ที่ ‘คนรุ่นใหม่’ มีบทบาทในการปกครอง พระราชนิยมในศิลปวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมากขององค์พระมหากษัตริย์อาจจะสวนทางกับแนวความคิดของ ‘คนรุ่นเก่า’ อย่างกลุ่มขุนนางผู้สำเร็จราชการเดิมบางส่วน ซึ่งยึดถือแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากกว่า (และอาจจะมองความเป็นตะวันตกด้วยสายตาระแวดระวังภัย ไม่ไว้ใจมากกว่านิยมชมชอบ)

ความคุ้นเคยกับวิถีตะวันตกของรัชกาลที่ 5 อาจก่อตัวขึ้นจากวิสัยทัศน์ก้าวไกลของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงวางรากฐานการศึกษาอันเข้มแข็งให้กับพระราชโอรสธิดา ประกอบกับการเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และอินเดีย ซึ่งยังอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม หลังจากทรงขึ้นครองราชสมบัติไม่กี่ปี เปรียบเสมือนกับการทัศนศึกษาครั้งใหญ่ ที่ทำให้พระองค์ได้นำเข้าความเจริญด้านต่างๆ มาปรับใช้กับบ้านเมืองสยาม การทรงเครื่องแฟนซีแบบตะวันตกจึงอาจแสดงความปรารถนาที่จะเป็นดั่งตะวันตก (ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในการกำหนดนิยามความ ‘ศิวิไลซ์’ ในยุคสมัยนั้น) สะท้อนพลังของคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันถึงความเจริญทัดเทียมและเท่าทันนานาอารยประเทศ บ่งบอกโลกว่า สยามนั้นรอบรู้และทันสมัย

โคลงอีกบทในโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแซวผู้ร่วมงานปีใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมแบบตะวันตกไว้ว่า

“กินเปนเล่นซ่อมช้อน พันลวัน
ที่ไม่เปนดูขัน ขัดข้อง
อยู่วังท่านเคยฉัน มือเปิป
นั่งโต๊ะจับจดจ้อง บอกถ้าป่าจริง”

งานเลี้ยงปีใหม่จึงอาจเป็นกุศโลบายที่เริ่มต้นจากคนใกล้ตัวของพระองค์ให้ได้ค่อยๆ ซึมซับและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอย่างผู้เจริญตามนิยามของตะวันตก

ล่วงมาเมื่อมาถึงกลางรัชสมัย ภารกิจของรัฐคือปฏิรูปราชการแผ่นดินเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ มีการตั้งกระทรวง ทบวง กรม เพื่อบริหารประเทศ อำนาจการปกครองรวบรวมเข้าสู่องค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐและผู้บริหารประเทศ (ที่จำเป็นต้องได้รับความนิยมและการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน) การที่ทรงเครื่องแฟนซีเป็นรัชกาลที่ 4 ในช่วงนี้ อาจมองได้ว่าเป็นพระราชอารมณ์ขันอันคมคาย และในทางหนึ่งก็อาจแสดงความปรารถนาที่จะเป็นดั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ เนื่องด้วยรัชกาลที่ 4 ผู้ล่วงลับทรงได้ชื่อว่าเป็นทั้งนักปกครองอาณาจักรผู้มีวิสัยทัศน์กว้างขวางเท่าทันในทางโลก อีกทั้งยังกอปรไปด้วยความรู้แจ้งแกร่งกล้าในพุทธจักร ด้วยพระองค์ทรงผนวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนานานถึง 27 พรรษา รวมถึงมีบทบาททั้งในการปฏิรูปและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก การจำลองภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นอีกครั้งอาจมีส่วนช่วยในการพูนเพิ่มพระราชอำนาจบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ผู้ทรงใช้พระนามที่แปลได้ว่า พระจอมเกล้าฯ Junior) ในทางหนึ่ง

เจ้านายทรงแฟนซี

เมื่อการเมืองทั้งภายในภายนอกเริ่มสงบ ระบบการบริหารราชการที่วางแนวทางไว้เริ่มเข้าที่เข้าทางเป็นที่เรียบร้อยในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทใกล้ชิดราษฎรมากขึ้น ผ่านพระราชกรณียกิจสำคัญคือการเสด็จประพาสต้น ที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมเยียนจังหวัดต่างๆ โดยวางพระองค์อย่างสามัญชน มิให้ราษฎรล่วงรู้ ภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้มีฐานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดินได้คลี่คลายลงมาติดดินมากขึ้น ในงานแฟนซีที่จัดขึ้นอีกครั้งในปี 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเป็น ‘เจ๊กลากรถ’ ผู้ลากรถลาก (หรือที่เรียกว่ารถเจ๊ก) พาหนะที่เห็นทั่วไปตามท้องถนนในพระนครในยุคนั้นสูง ในภาพหมู่พระองค์ทรงประทับนั่งขัดสมาธิอยู่กับพื้นในแถวหน้าสุดอย่างลำลอง ที่สุดสะท้อนพระราชอารมณ์ขันและพระราชอัธยาศัยไม่ถือพระองค์ของพระองค์ของสมเด็จพระปิยมหาราช ราวกับการแสดงภาพสูงสุดคืนสู่สามัญ

ในงานปีใหม่ปี 2434 (ที่ทรงเครื่องเป็นรัชกาลที่ 4) เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระพรชัยมงคลเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความว่า

“การที่กระทำความรื่นเริงในปีใหม่ดังนี้เป็นการจำอย่างฝรั่ง แลเปนการไม่สู้ดีแท้ เพราะเป็นการเล่นก็จริงอยู่ แต่เป็นความแสดงรื่นเริงในสมัยปีใหม่คราวหนึ่งๆ นับว่าไม่สู้เปนการเสียประโยชน์อันใด แลธรรมเนียมฝรั่งที่เขาประพฤติกันนั้น สิ่งที่ชอบควรก็มีมาก เราควรจะเลือกจำเอาแต่ธรรมเนียมที่ดีมีประโยชน์ ส่วนประเพณีของเราแต่โบราณที่เปนคุณเปนประโยชน์ เราก็ควรจะประพฤติให้มั่นคงต่อไป”

แม้จะผ่านมาเป็นร้อยปีแล้ว แนวคิดดังกล่าวก็ยังคงใช้ได้ถึงทุกวันนี้

มิใช่เพียงเรื่องฝรั่งไม่ฝรั่ง แต่อาจจะรวมไปถึงการหยิบยืมส่วนผสมที่ดีของผู้อื่นมาปรับใช้ ควบคู่กับการดำรงรากฐานความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ให้มั่นคงด้วย

เจ้านายทรงแฟนซี เจ้านายทรงแฟนซี

* หมายเหตุ การตีความเรื่องการทรงชุดแฟนซีทั้งสามช่วงเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนจากความสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมและการเมืองการปกครองในสมัยนั้นเท่านั้น ผู้สนใจโปรดศึกษาบริบทการเมืองการปกครองทั้งภายในภายนอกและเรื่องอื่นๆ สมัยนั้นเพิ่มเติม หากผู้อ่านประสงค์จะอภิปรายเพิ่มเติมหรือเสนอแนะประการใด เรียนเชิญที่ [email protected] หากมีข้อผิดพลาดประการใดผู้เขียนกราบขออภัยมา ณ ที่นี่ ขอบพระคุณครับ

บรรณานุกรม

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. โคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ. 2417. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,

  1. เข้าถึงได้จาก http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra55_0105/

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค1. พระนคร : โรงพิมพ์สยามพาณิชยการ, 2476.

เข้าถึงได้จาก http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra59_0002/

มหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้า. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี

เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ ๑๙๙๑, 2550.

เอนก นาวิกมูล. ตำนานในภาพเก่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2541.

เอนก นาวิกมูล. ภาพเก่าเล่าตำนาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2540.

เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2540.

Mark Griffiths. (2016, October 27). Halloween and fancy dress: the psychology of dressing up. Retrieved from

https://www.psychologytoday.com/blog/in-excess/201610/halloween-and-fancy-dress

Rafael Behr. (2014, January 25). The rules: fancy dress. Retrieved from https://www.theguardian.com/commentisfree/

2014/jan/25/etiquette-guide-to-fancy-dress

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง