เมื่อปลายปีที่แล้ว นิทรรศการหนึ่งที่หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) ทำให้เรา (และผู้พิสมัยในเรื่องเก่าๆ) ใจเต้นแรง นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงภาพถ่ายโบราณอายุร้อยปีบวกบวกกว่าร้อยภาพที่คุณ Joachim K Bautze (โจคิม เค บ้าวท์ซ) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตเพียรพยายามเสาะแสวงรวบรวมมาจากที่ต่างๆ รอบโลก ด้วยเหตุที่ภาพหลายภาพไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน นิทรรศการนี้จึงมีชื่อว่า Unseen Siam

ทว่าภาพทั้งหลายเหล่านั้นมิได้แขวนไว้อย่างแห้งแล้งชวนให้ผู้ชมจมจ่อมลงสู่อดีตอย่างเดียวเท่านั้น แต่พื้นที่ข้างๆ ของภาพฉายจากอดีตเหล่านั้นจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยไว้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพถ่าย ภาพวาด ภาพพิมพ์ หรือ วิดีโออาร์ต ชิ้นงานเหล่านั้นต่างได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเก่าชุด Unseen Siam

การจัดแสดงครั้งนั้นช่างน่าสนใจ เราตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้วแนวทางการนำเสนออะไรแบบไทยๆ มักจะมีอาณาเขตบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าของเก่าคือของเก่า ของใหม่คือของใหม่ สองสิ่งนี้ไม่ค่อยจะได้มาปะปนบนพื้นที่เดียวกันนัก เราว่าอดีตก็เรื่องนึง ปัจจุบันก็เรื่องนึง อนาคตยิ่งแล้วใหญ่ มันเป็นคนละเรื่องกัน ทำให้เรามักมองไม่ค่อยเห็น (หรือไม่ค่อยสนใจ) สายสัมพันธ์ของอดีตที่ลิงก์มายังปัจจุบัน (และอาจจะทอดยาวไปถึงอนาคต) ด้วยวิธีคิดแบบนี้รึเปล่าก็ไม่รู้ทำให้เราไม่ค่อยมีการแชร์พื้นที่กันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ในประเทศไทย โบราณสถานถือเป็นโบราณสถาน แสนจะแปลกพิกลถ้าจะมีอะไรร่วมสมัยล้ำๆ มาร่วมแจมด้วยในพื้นที่เดียวกัน

แนวคิดของการจัดแสดงภาพถ่ายชุด Unseen Siam กลับต่างออกไป เพราะนี่คือภาพของ “ทวิภพ” เป็นการสะท้อนกลับไปกลับมาไม่รู้จบสิ้นของอดีตและปัจจุบัน วันคืนที่ล่วงไปแล้วส่องฉายและเป็นแรงบันดาลใจให้วันนี้ เป็นสายใยที่ไม่ร่วงโรยแยกขาดออกจากกัน สมกับแนวคิดของนิทรรศการนี้ที่ว่า “ระลึกอดีต มองปัจจุบัน”

และเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เราได้ไปใช้บริการหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นครั้งแรก หน่วยงานนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ที่นี่เป็นคลัง (Archives) เก็บรวบรวมเอกสารสำคัญในช่วงเวลาต่างๆ ที่จะช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวในอดีตจนถึงปัจจุบันให้เป็นภาพที่สมบูรณ์ สิ่งที่เก็บรวบรวมอยู่ที่นี่มีทั้งเอกสารลายลักษณ์อักษร (บันทึก จดหมาย หนังสือพิมพ์ ฯลฯ) ภาพถ่าย แผนที่ และภาพเคลื่อนไหว เอกสารบางส่วนตกทอดมาจากหอหลวงในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาหนังสือสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ด้วยความเป็นสถานที่ราชการจึงมีขั้นตอนเล็กน้อยในการเข้าขอใช้บริการ เมื่อผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนผู้ค้นคว้าแล้ว เราจึงสามารถเข้าถึงเอกสารต่างๆ ได้ เอกสารที่เราสนใจใคร่รู้ใคร่ดูมากที่สุดก็คือภาพถ่ายต่างๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีให้บริการในห้องภาพ

รูปภาพในห้องภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติมีให้บริการในหลายรูปแบบ ภาพถ่ายจำนวนกว่า 20,000 ภาพได้รับการสแกนลงฐานข้อมูลดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว พี่เจ้าหน้าที่กระซิบมาว่ายังมีภาพถ่ายอีกเยอะมากๆ ที่รอการค้นคว้าและสแกนลงฐานข้อมูล รูปถ่ายอีกจำนวนหนึ่งอัดสำเนาเป็นแผ่นผนึกบนแผ่นกระดาษ แล้วจัดเก็บไว้ในชั้นเหล็กแบ่งตามหัวข้อให้เราได้หยิบเลือกดูได้อย่างสะดวก

ในชั้นเหล็กเหล่านั้น เราพบเห็นภาพจากอดีตที่มีเรื่องราวแจ่มชัดอยู่ในนั้นแม้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน บางภาพแสนจะ unseen ยิ่งกว่าภาพในนิทรรศการ Unseen Siam ซะอีก น่าเสียดายถ้ารูปเหล่านั้นจะนอนรอซังกะตายในลิ้นชักเหล็กเพียงเพื่อให้ใครสักคนสองคนผ่านมาพบเห็นเท่านั้น จะดีกว่าไหมถ้าเราจะแง้มภาพเหล่านั้นออกมาจากกรุและแบ่งปันร่วมกันชื่นชมทั้งความงามทั้งเรื่องราวที่อยู่ทั้งภายในและซุกซ่อนอยู่ข้างหลังภาพ

คอลัมม์นี้จึงมีชื่อว่า จดหมายเหตุ เสมือนเป็นการหยิบภาพภาพหนึ่งขึ้นมาพินิจ แล้วจดคำบรรยาย พร้อม “หมายเหตุ” เป็นข้อๆ ไว้หลังภาพนั้น ซึ่งหมายเหตุแต่ละข้ออาจจะเป็นเกร็ดที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจ หรือเป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่อาจจะดูไม่เป็นแก่นสารอะไรแต่สร้างความแปลกใจหรือความประทับใจให้กับเราได้

ด้วยความที่ผู้เขียนมิได้เป็นนักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการ ข้อเขียนของเราจึงไม่ได้เน้นการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านภาพ แต่เป็นการชวนพินิจภาพเก่าเคล้าคลอเรื่องสัพเพเหระ ที่คาบเกี่ยวกับแง่งามของภาพและเรื่องราวในภาพนั้นๆ จะยินดียิ่งหากมีผู้รู้หรือผู้สนใจมาร่วมแชร์เรื่องราวหรือแง่คิดในมิติต่างๆ เพื่อปะติดปะต่อเหล่าภาพนั้นให้งดงามแจ่มชัดยิ่งขึ้น  

ภาพแรกที่หยิบมานำเสนอเตะตาเรา เพราะแตกต่างไปจากภาพพอร์เทรตอื่นๆ ในคลังที่มักจะเป็นภาพ “เบื้องหน้า” ที่ให้เราเห็นบุคคลในภาพอย่างชัดเจน แต่ภาพนี้เป็น “ภาพเบื้องหลัง” เพราะบุคคลในภาพหันหลังให้กล้อง

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ในแวบแรกเรานึกไปถึงประเพณีการถ่ายภาพตามวิถีฮิปสเตอร์ ที่ผู้เป็นแบบจะโพสท่าแบบตั้งใจเพื่อปกปิดอัตลักษณ์บางส่วนของตน เช่น การหันหลังบ้าง เอานู่นนี่มาปิดหน้าบ้าง หรือโผล่มาในรูปแค่เสี้ยวเดียวบ้าง ทำให้ได้ภาพที่มีเสน่ห์แปลกตาออกไปจากภาพถ่ายบุคคลกระแสหลัก (เช่นการเซลฟี) ที่จะเน้นการเปิดเผยอัตลักษณ์ของคนที่เป็นแบบอย่างตรงไปตรงมา (ถ้าไม่ใช้แอพ)

แวบที่สอง เรานึกถึงภาพเขียนแนวเซอร์เรียลิสม์ของศิลปินชื่อดังอย่าง René Magritte (เรเน่ มากริตต์) หลายรูปดังของเขาเป็นรูปบุคคลหันหลังนิ่งๆ (สันนิษฐานว่าถ้าหันหน้ามา แบบต้องทำหน้าเดธอยู่แน่ๆ) สร้างความฉงนฉงายให้กับคนดู ชวนตั้งคำถามเรื่องที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของบุคคล เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกแห่งจินตนาการ หรือความสลับซับซ้อนของกระบวนการสัมผัสรับรู้ของคนเรา ฯลฯ และในแวบที่สาม เราสงสัยและพยายามนึกหาคำตอบว่าทำไมบุคคลในภาพถึงโพสท่าเช่นนี้

คำบรรยายหลังภาพบอกไว้ว่า ภาพดังกล่าวคือพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงเป็นสตรีแถวหน้าโดยแท้จริง ด้วยทรงเป็นลูกของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 4) เมียของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 5) และแม่ของพระมหากษัตริย์ (รัชกาล 6 และรัชกาลที่ 7) ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นเวลานานถึง 9 เดือน ทรงสถาปนาพระมเหสีให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าองค์พระมหาษัตริย์ พระองค์จึงได้รับตำแหน่ง สมเด็จพระบรมราชินี “นาถ” อันหมายถึงพระราชินี “ผู้เป็นที่พึ่ง” เป็นครั้งแรก

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายถึงเหตุการณ์นั้นผ่านความรู้สึกของแม่พลอย นางเอกวรรณกรรมอมตะเรื่อง สี่แผ่นดิน ว่าการสถาปนาครั้งนั้น “เป็นการกระเทือนความรู้สึกในสิทธิของเพศตนที่สงบนิ่งอยู่ในตัวผู้หญิงมาหลายศตวรรษได้กลับฟื้นคืนชีพ เพราะได้ปรากฏแน่ชัดแล้วว่าขณะที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไม่อยู่นี้ ผู้หญิงครองแผ่นดิน” ชาววังในสมัยนั้นเรียกพระองค์ว่า “สมเด็จรีเยนต์” มาจากคำว่า “regency” อันหมายถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

René Magritte

ทุกครั้งเมื่อมองภาพพอร์เทรตของพระราชินีพระองค์นี้ เรามักรู้สึกถึงความเป็นผู้หญิงผู้ทรงพลังอำนาจ แม้แต่ในภาพเบื้องหลังนี้ พลังของพระองค์ก็ยังปรากฏให้เห็นผ่านความสง่างามของเสื้อผ้าอาภรณ์ ฉลองพระองค์ (เสื้อ) ตัดเย็บด้วยผ้าโบราณตามแบบแผนเรื่องทรงของเจ้านายไทยชั้นสูง แต่แขนของฉลองพระองค์กลับพองเป็นทรง Leg O’Mutton ซึ่งแปลตามศัพท์แล้วหมายถึงขาแกะ แต่ในไทยนิยมเรียกว่าขาหมูแฮม หรือแขน (เสื้อแบบ) หมูแฮม อย่างฝรั่ง ในช่วงทศวรรษ 1890 เสื้อที่มีแขนทรงนี้ ถือเป็น must-have item ของเชื้อพระวงศ์และสาวสังคมแถวหน้าของยุโรป และ trend ดังกล่าวก็เข้ามาถึงกรุงสยาม โดยพระราชินีของเรา mix and match เสื้อทรงนี้เข้ากับผ้าทรงสะพัก (ผ้าสไบทองปักดิ้นทองห่มทับกับเสื้อ เป็นเครื่องยศอย่างหนึ่ง) จนออกมาเป็น look ลูกครึ่งที่แสนสวยเก๋ทันสมัย ขณะเดียวกันก็ถูกต้องตามแบบโบราณราชประเพณี

  เมื่อค้นหาที่มาของการถ่ายภาพเบื้องหลังดังกล่าว พบข้อมูลว่าเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสกรุงโรมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2440 พระองค์เสด็จฯ ไปยังสตูดิโอของประติมากรชื่อ Charles F. Summers (ชาร์ลส เอฟ. ซัมเมอร์ส) เพื่อทอดพระเนตรการปั้นพระรูปปั้นครึ่งองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระองค์ได้ประทับเป็นแบบให้ประติมากรปั้นพระบรมรูปปั้นของพระองค์เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการแกะสลักรูปหินอ่อน เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วรูปสลักหินอ่อนทั้งสองได้ส่งมายังพระนครและตั้งอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจวบจนปัจจุบัน ด้วยรูปแบบฉลองพระองค์และการประดับเครื่องประดับที่เป็นชุดเดียวกันเป๊ะ จึงสันนิษฐานได้ว่าพระฉายาลักษณ์เบื้องหลังนี้มิได้ฉายขึ้นด้วยความโก้เก๋ประการใดแต่เป็นการถ่ายเพื่อส่งไปให้ช่างปั้นรูปทำตามแบบต่างหาก

René Magritte

หลายคนคงพอเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีสิ้นพระชนม์ ควีนทรงโศกเศร้าไม่เสด็จออกว่าราชการและเก็บพระองค์ ไม่ปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะนานหลายปี นักวิชาการรุ่นหลังอธิบายว่า นอกจากความโศกาดูรที่ทรงขาดทั้งที่รักและที่พึ่งอย่างเจ้าชายอัลเบิร์ตแล้ว พระองค์ยังทรงประสบกับภาวะซึมเศร้าทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด (Prenatal and Postnatal Depression) ที่สะสมเรื้อรังมาเนิ่นนานจากการมีประสูติกาลพระราชโอรสธิดารวม 9 พระองค์ (ส่วนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระราชโอรสธิดารวมถึง 14 พระองค์ ในจำนวนนี้รวมถึงพระราชบุตรที่ตกเสียก่อน-หมายถึงแท้งนั่นเอง-ที่จะมีพระประสูติกาลถึง 5 พระองค์) ควีนทรงฉลองพระองค์สีดำไว้ทุกข์ตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อสมเด็จพระราชสวามีเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 46 พรรษา (ใกล้เคียงกับควีนวิกตอเรียที่สูญเสียพระสวามีเมื่อพระชนมายุ 42 พรรษา) ทรงทุกข์ระทมและงดการประกอบพระราชกรณียกิจ และทรงย้ายไปประทับอย่างโดดเดี่ยวที่พระราชวังพญาไท

หมอสมิธ (คนละคนกับหมอโอ๊ค สมิทธิ์) แพทย์ประจำพระองค์ชาวอังกฤษ บันทึกไว้ในหนังสือ A Physician at the Court of Siam ไว้ว่า ในบั้นปลายของพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่แต่บนพระแท่นบรรทมตลอดทั้งวัน บรรทมในเวลากลางวัน ตื่นพระบรรทมราวหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม และจะบรรทมอีกครั้งในเวลาราวรุ่งสาง ทำให้ในเวลากลางวัน “บรรยากาศภายในราชสำนักดูเงียบสงบวังเวง ราวกับพระราชวังของเจ้าหญิงนิทราในนิทาน”

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

บรรณานุกรม

ดวงใจ. เบื้องหน้าเบื้องหลังบัลลังก์อังกฤษ. กรุงเทพฯ : เพื่อนดี, 2550.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. สี่แผ่นดิน กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.
ศุกลรัตน์  ธาราศักดิ์. สมเด็จฯ พระพันปีหลวง ในทรรศนะของหมอสมิธ : เรื่องเล่าของชาวต่างชาติ. เข้าถึงได้
      จาก http://www.sookjai.com/index.php?topic=85167.0;wap2
อภินันท์ โปษยานนท์, จิตรกรรม และประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง,
      2537.
David Millward. (2012, December 15). Queen Victoria was a domestic tyrant of a mother who  
      hated her nine children, a BBC documentary claims. Retrieved from
      http://www.telegraph.co.uk/news/9748492/Queen-Victoria-hated-her-children-say-
      academics.html
Julia Baird. (2010, January 13). Baird: Victoria, Queen and angry working mother. Retrieved from
      http://www.newsweek.com/baird-victoria-queen-and-angry-working-mother-71181

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง