“อยากให้เปิดเพลงประกอบไหมคะ”

หญิงสาวเจ้าของห้องถาม ก่อนที่ผมจะเริ่มเปิดเครื่องอัดเสียง ถือเป็นคำถามก่อนเริ่มการสัมภาษณ์ที่ผมไม่เคยเจอ เจ้าบ้านบอกว่า เป็นการต้อนรับอย่างเต็มที่ เมื่ออดีตบรรณาธิการของเธอมาเยือน แค่เสิร์ฟน้ำเปล่า และยกเก้าอี้ตัวที่นั่งสบายที่สุดให้นั่งยังไม่พอ

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

พอผมพยักหน้า เธอก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาไถแล้วเชื่อมต่อกับวิทยุวินเทจบนโต๊ะ เธอต้อนรับการสนทนาครั้งนี้ด้วยเพลง Old Cape Cod ของ Patti Page จากยุค 1950 จากเพลย์ลิสต์ที่ชื่อ Shuffle ของเธอ เพลงที่บรรจุอยู่ในนี้ไม่น่าจะมีเพลงไหนใหม่กว่าปี 1980

วิทยุวินเทจสัญชาติอังกฤษเครื่องนี้ยี่ห้อ Roberts เป็นของใหม่ที่เธอเล็งตั้งแต่ตอนไปเรียนอังกฤษปีแรก แต่ด้วยราคาที่สูงเกินกว่านักเรียนทุนจะเอื้อมถึงเธอจึงได้แต่มอง จนปีที่ 6 เธอก็ตัดสินใจซื้อเป็นของขวัญให้ตัวเองตอนเรียนจบ พอมาโดนแดดโดนลมเมืองไทย หนังสีเขียวก็ลอกล่อนจนดูแก่กว่าวัยไปสัก 50 ปี

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

เรานั่งคุยกันบนโต๊ะยุค 1930 จากฝรั่งเศส ที่เธอซื้อมาจากตึกแดง จตุจักร เก้าอี้ไม้ที่เธอนั่ง เป็นของใหม่ที่ทำเลียนแบบของเก่า

หลังเก้าอี้เป็นประตูกระจกแล้วก็ระเบียงห้องกระจกรอบด้าน ที่มีเฟิร์นสไบนางต้นใหญ่แขวนอยู่หลายกระถาง เธอสั่งม่านไม้ไผ่จากเชียงรายมาติดไว้เรียบร้อย อีกไม่นานเธอจะเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นที่นั่งอาบน้ำเหมือนในออนเซ็น

ถ้ารูดม่านไม้ไผ่ขึ้น มองออกไปจะเห็นพื้นที่สีเขียวครึ้มของสถานทูตโปรตุเกส ความคึกคักบนแม่น้ำเจ้าพระยา และห้างไอคอนสยาม

เธอเลือกอยู่ที่นี่เพราะคิดถึงชีวิตในวัยเยาว์ที่โตมากับบ้านย่านตลาดน้อย ซึ่งเดินไปเยี่ยมได้แบบเหงื่อไม่ซึม เธอโตมาในห้องแถวซึ่งที่บ้านทำธุรกิจซีอิ๊ว ชั้นล่างของบ้านเป็นที่ปะฉลาก ตอกจุก แพ็กลงลังกระดาษ ยุคที่อากงและอาม่าของเธอไปเปิดตลาดที่ต่างจังหวัด เหล่ายี่ปั๊วซาปั๊วในอำเภอเดียวกันไม่อยากขายซีอิ๊วยี่ห้อซ้ำกัน อยากได้สิทธิ์เป็นผู้ขายเพียงรายเดียว บ้านเธอจึงต้องทำซีอิ๊วหลายยี่ห้อ เช่น ซีอิ๊วหวานตรากุหลาบ ซีอิ๊วดำเค็มตราดอกบ๊วย ตราตาแป๊ะ ตราบ้าน ตรากระเช้า (ดอกไม้)

ชื่อภาษาอังกฤษของโบสถ์กาลหว่าร์ละแวกบ้านเธอคือ Holy Rosary Church โรงเรียนประจำโบสถ์คือ กุหลาบวิทยา กับ กุหลาบวัฒนา พ่อของอากงเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ 

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

ชื่อ มาลียา โชติสกุลรัตน์ ของเธอ แปลว่า ผู้หญิงที่ประดับด้วยดอกไม้

เธอใช้นามปากกาว่า มาลี แปลว่า ดอกไม้

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

ตอนนี้ในห้องของเธอประดับไปด้วยดอก Ranunculus สีส้ม โบตั๋นฮอลแลนด์สีชมพูและขาว และไฮเดรนเยียสีฟ้า

มาลีเป็นผู้หญิงที่ไม่ชอบการซื้อดอกไม้ให้ตามวาระ โดยเฉพาะดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์ จนกระทั่งได้พบแฟนเก่าสมัยเรียนอังกฤษ เขาเอาดอกไม้ที่แบ่งจากแจกันที่บ้านมาให้ เขาว่า วางในบ้านแล้วสวยดีเลยอยากแบ่งมาวางให้สวยที่บ้านเธอบ้าง แล้วก็บอกว่า การซื้อดอกไม้เป็นการลงทุนที่คุ้มมาก เพราะวางในห้องแล้วหันไปมองเมื่อไหร่ก็สวย ห้องสวยขึ้นทันตา และเจ้าของห้องมีความสุขขึ้นทันที

เพื่อนโน้ต

คืนก่อน ผมหยิบหนังสือ สร้างเสริมประสบการณ์อิงลิช ซึ่งเป็นผลงานเล่มแรกของ โน้ต มาลี มาอ่านอีกครั้ง เวลาผ่านไป 11 ปี แต่ความสนุกของหนังสือเล่มนี้ยังข้ามผ่านกาลเวลามาได้ มันเรียกเสียงหัวเราะจากผมได้เหมือนเดิม

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

“ความรู้สึกแรกเลยคือ นักเขียนคนนี้สนุกจัง อยากเป็นเพื่อนด้วย” มาลีพูดถึงความรู้สึกที่ได้จากการอ่านหนังสือตัวเองในทศวรรษถัดมา “เวลาเห็นใครสร้างงานมันๆ อย่าง ตั้ง ตะวันวาด ที่ทำเพลง เปรตป่ะ โน้ตโคตรอิจฉาเลย คนที่ทำอะไรได้ขนาดนี้ ตอนทำต้องสนุกมาก ได้เล่นกับตัวเอง นึกถึงตอนที่เราเขียนหนังสือเล่มนี้ เราก็เล่นกับตัวเองเหมือนกัน เห็นอะไรก็ถ่ายรูปไว้ดีกว่า เดี๋ยวเอามาเขียน เป็นภาวะมหัศจรรย์ที่ความคิดมันไหลออกมาเอง เหมือนหนังสือผีบอก อ่านแล้วก็อิจฉามาลีนะ ตอนที่ทำต้องสนุกมากแน่ๆ”

ใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็น่าจะอยากเป็นเพื่อนกับเธอ

เพื่อนเกด

ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มแรกของมาลี และชวนเธอมาเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสาร a day เรารู้จักกันผ่านแม่สื่อแม่ชักที่ชื่อ เกด ซึ่งเป็นอดีตทีมงาน a day วันหนึ่งพี่คนหนึ่งในออฟฟิศบอกว่า มีเพื่อนเกดคนหนึ่งเขียนหนังสือดีมาก อยากแนะนำให้ผมรู้จัก น่าจะชวนมาออกหนังสือ

คำว่า เพื่อนเกด นั้น รับประกันความน่าสนใจได้

ไม่นานนัก ผมก็ได้รับอีเมลแนะนำตัวจากมาลี เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ มาเรียนปริญญาโทและเอกด้านการบริหารเทคโนโลยีที่ลอนดอน ผมคลิกเข้าไปอ่านบล็อกส่วนตัวของเธอ มันเป็นงานเขียนที่เล่าถึงชีวิตนักเรียนไทยในลอนดอนแบบไร้กระบวนท่า มีทั้งเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือหลายลีลา บ้างก็ปูด้วยภาพแล้วตบด้วยตัวหนังสือ เป็นความตลก กวนตีน น่ารัก ช่างคิด ขี้เล่น และกล้าลองเขียนด้วยวิธีการใหม่ๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน

นี่คือตัวอย่าง เนื้อหาบทแรกในหนังสือของเธอ

วันหลายใจ

ตื่นมาแปดโมง ไม่อยากตื่นแต่ก็ต้องตื่น………………………………………..ฝืนใจ

สายๆ ได้จดหมายตอบรับจากมหา’ลัยในอังกฤษ……………………………….ดีใจ

มหา’ลัยให้ตอบรับภายในวันอังคาร…………………………………………….หนักใจ

ทำไมให้เวลาตัดสินใจน้อยขนาดนี้นะ…………………………………………..แปลกใจ

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเลือกมหา’ลัย หาที่เที่ยวแต่ละเมืองดีกว่า………….สบายใจ

หิวอีกแล้ว กินไอติมหรือกินฝรั่งดีนะ…………………………………………….ชั่งใจ

กินมันทุกอย่างเลยละกัน………………………………………………………..หลายใจ

งั้นข้าวเย็นก็ไม่ต้องกิน…………………………………………………………..ตัดใจ

ตอนค่ำโดนแม่ดุเรื่องยังตัดสินใจเลือกมหา’ลัยไม่ได้……………………….เสียใจ

ถึงจะเสียใจแต่ก็รู้ว่าแม่หวังดีถึงดุ……………………………………………เข้าใจ

รีบโทรหาพริ้มเพื่อนนักเรียนเก่าอังกฤษเพื่อปรึกษา…………………………อุ่นใจ

คิดๆ ไป นี่ชั้นกำลังจะกลับไปสู่วัยเรียนอีกครั้งหรือนี่…………………………สุขใจ

หน้าเด็กขนาดนี้ ถึงจะเรียนโท ก็คงไม่มีใครรู้ ฮิฮิ……………………………ลำพองใจ

ตื่นเต้นจัง อยากกระโดดโลดเต้นวิ่งเล่นทั่วเมืองจะไปที่ไหนดี……………..อำเภอใจ

ก่อนนอนนึกได้ว่า วันนี้ยังไม่ได้เล่นมุกให้ใครฟังเลยนี่นา…………………..เอะใจ

นึกถึงเชอรี่ ถ้าได้คุยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ต้องคุยกับเพื่อนคนนี้………………..ชอบใจ

โทรบอกเชอรี่ว่า พอชั้นได้ไปเรียนต่อแล้ว ต้องตามมานะ..มานี ปิติ……….ชูใจ

เชอรี่ถึงกับร้อง เฮ้อ………………………………………………………….ถอนใจ

ทำไมถึงเป็นแบบนี้นะมาลี…………………………………………………..กลุ้มใจ

การแปรรูปขยะของมาลี

มาลีเขียนไดอารี่ของเธอบน Multiply โซเชียลเน็ตเวิร์กยุคบุกเบิกก่อนจะมี Facebook

“มองว่าเป็นถังขยะเลยแหละ มีอารมณ์อะไรที่กลั่นขึ้นมาแล้วต้องหาที่ระบายออก มีความฟุ้งซ่าน คิดถึงบ้าน เหงาจังอยากคุยกับใครสักคน ตอนนั้นอาจจะเป็นเวลาตีสามของไทย เราก็เขียนเล่าทิ้งไว้ เดี๋ยวพ่อแม่เพื่อนที่เมืองไทยก็จะมาอ่านแล้วทิ้งคอมเมนต์ไว้ พอเขียนเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าต้องเล่าให้ใครฟัง ถ้าไม่เขียนออกมาก็เหมือนถือเอาไว้แล้วไม่ได้วางสักที การเขียนคือการวางความคิด จะได้ไปทำสิ่งอื่นต่อได้”

มาลีออกตัวว่า เธอไม่คิดว่างานเขียนของเธอจะมีคุณค่าพอให้รวมเล่มเป็นหนังสือได้ และเธอไม่คิดว่าตัวเองมีความสามารถด้านงานเขียนมาแต่ไหนแต่ไร แต่มีอย่างน้อยสองคนที่ไม่เห็นด้วย

คนแรกคือคุณครูที่โรงเรียนมาแตร์เดอีฯ เห็นอะไรสักอย่างจึงเลือกเธอและเพื่อนอีกคนไปแข่งประกวดเขียนเรียงความตอนอยู่ชั้น ป.5 ปัจจุบันเพื่อนคนนั้นกลายเป็นมือเขียนบทของ Netflix ส่วนเธอก็เป็นนักเขียนที่มีผลงาน 2 เล่ม

คนที่สองชื่อ เกด ผู้เป็นเพื่อนที่ติดตาม Mulitply ของมาลี นักเรียนไทยในฝรั่งเศสคนนี้ส่งข้อความมาถามว่า เขียนหนังสือสนุกจัง ไม่คิดจะรวมเล่มเหรอ มาลีก็หัวเราะแล้วพิมพ์ตอบว่า ถ้ามีคนยินดีพิมพ์ให้ก็สนใจ แต่จะมีคนอยากนำถังขยะความคิดของมาลีไปรวมเล่มจริงหรือ ไม่นานนัก เกดก็ส่งข้อความมาบอกว่า ให้ส่งอีเมลไปหาคนชื่อทรงกลด เขาเป็นบรรณาธิการ a day

“โน้ตส่งเมลไปแบบไม่มืออาชีพเลย แค่ทิ้งลิงก์ Multiply ไว้ แต่ก็ได้อีเมลตอบกลับว่า สนุกดีครับ ให้ส่งต้นฉบับมา เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นหนังสือได้ยังไง หลายเดือนผ่านไปก็ได้อีเมลตามต้นฉบับ ถึงรู้ว่า ไม่ได้พูดเล่น คืนนั้นฝันเห็นบล็อกของตัวเองกลายเป็นหนังสือ อ๋อ มันออกมาเป็นหนังสือแบบนี้เอง ตื่นมาก็รีบรวมต้นฉบับส่ง”

มาลีเล่าต่อว่า ในส่วนของการจัดรูปเล่มและภาพประกอบนั้น เพื่อนของเธอช่วยติดต่อ มะลิ (มะลิ จุลเกียรติ) แห่งสตูดิโอ be>our>friend ดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ผู้มีสไตล์แสนจะอังกฤษ มาช่วยออกแบบเลย์เอาต์ให้ทั้งเล่มแบบทุกหน้าไม่ซ้ำกัน

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาลีเป็นที่รู้จัก

หลังจากที่หนังสือออก มาลีกลายเป็นคนดัง และกลายเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสาร a day ผมคุยกับมาลีว่า เราคงต้องขอบคุณเกดผู้รับบทป๋าดัน และเมื่อเราคุยเรื่องเกดต่ออีกสักพัก เราก็พบว่า เกดของมาลีกับเกดของผมเป็นคนละคนกัน

วันนั้นเราหัวเราะกันเสียงดังมากให้กับความผิดฝาผิดตัว วันนี้คุยเรื่องนี้กันอีกรอบ เสียงหัวเราะก็ยังทำงานเหมือนเดิม

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

หนูมาลุย

สร้างเสริมประสบการณ์อิงลิช พิมพ์ทั้งหมด 2 ครั้ง จำนวนรวม 5,000 เล่ม

ถ้าพูดกันตามความจริง ยอดขายของหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเงียบ แต่ตัวนักเขียนกลับดังกว่าหนังสือมาก

ด้วยรูปเล่มและลีลาภาษา หนังสือของเธอกระจายตัวไปอยู่ในมือของเหล่านักออกแบบ และคนทำงานในวงการสร้างสรรค์ และมีแฟนหนังสือรุ่นใหญ่อย่าง ศุ บุญเลี้ยง ซึ่งมาลีติดตามผลงานงานเขียนของเขา นิตยสาร ไปยาลใหญ่ และสำนักพิมพ์ศิษย์สะดือมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กที่เพิ่งอ่านหนังสือออก มุกตลกของเธอก็ได้อิทธิพลมาจากสื่อเหล่านี้

มาลีได้รับโอกาสให้เปิดคอลัมน์ประจำในนิตยสาร a day เนื้อหาเหมือนภาคต่อของหนังสือเล่มแรก แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ศุ บุญเลี้ยง ฟังโจทย์คอลัมน์ท่องเที่ยว คนเขียนชื่อมาลี จึงตั้งชื่อคอลัมน์ให้ว่า ‘หนูมาลุย โดยมาลี’

“คนที่โตมาในยุคเดียวกัน อ่าน a day เยอะ ตอนนี้สื่อบางคนมาสัมภาษณ์ หรือเพื่อนบางคน ยังเรียกเราว่า หนูมาลุย อยู่เลย เขาจำคอลัมน์นั้นได้เยอะ พอเวลาผ่านไป คนทำสื่อที่มามุงอยู่ที่ a day ตอนนั้นเติบโตแล้วกระจายไป กลายเป็นหัวของสื่อยุคต่อๆ มาหลายสื่อ เราก็เลยกลายเป็นคนที่สื่อรู้จัก เพื่อนเพียบ รู้จักคนที่ตอนนี้ทำอะไรน่าสนใจเยอะมาก เวลาเจอกันเขาก็จะบอกว่า เคยอ่านหนังสือเรานะ”

โน้ตหยิบหนังสือบนโต๊ะขึ้นมาพลิกดู แล้วนึกขึ้นได้

“ตอนนี้ยังมีคนส่งข้อความมาขอซื้อหนังสือกับโน้ตอยู่เรื่อยๆ นะ เพราะไม่มีขายแล้ว ผู้ชายคนนึงบอกว่าอยากได้หนังสือมาก เพราะเขาไปชอบผู้หญิงคนนึง ซึ่งเธอบอกว่า สร้างเสริมประสบการณ์อิงลิช คือหนังสือเล่มที่เธอชอบที่สุดในชีวิต เขาก็อยากจะอ่านจะได้เข้าใจผู้หญิงคนนี้มากขึ้น”

มาลีบอกว่า หนังสือเล่มนี้นำโอกาสมาสู่ชีวิตเธออีกหลายอย่าง เช่น เมื่อสิบปีก่อนมีคนเชิญเธอไปเป็นบรรณาธิการเซกชันพิเศษของหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ แต่เธอปฏิเสธไปเพราะต้องทำงานใช้ทุน

เนื่องจากหนังสือของมาลีดำเนินเรื่องด้วยภาพถ่าย ช่วงแรกจึงมีแคมเปญเกี่ยวกับภาพถ่ายมาชวนเธอร่วมงานด้วย หลังๆ ก็มาถึงธนาคาร “โน้ตจะซื้อคอนโดฯ นี้เลยต้องทำเรื่องขอกู้เงินธนาคาร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยใช้บัตรเครดิต ไม่เคยผ่อนอะไร เครดิตเลยเป็นศูนย์ เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่า จาการประเมินขั้นพื้นฐานของธนาคาร ตกทุกข้อ แต่ด้วยความที่เราเพิ่งจะโฆษณาธนาคารของเขาไป เขาก็พอจะรู้ประวัติเราบ้าง เลยอนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษ”

ก็เลยมีคนแซวว่า มาลีมีบ้านทุกวันนี้ได้ก็เพราะเขียนหนังสือ

เป็น อยู่ คือ

มาลีได้ออกสื่ออยู่บ่อยๆ แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือ ได้ออกรายการ เป็น อยู่ คือ ของ มนูญ ทองนพรัตน์ เจ้าของคอลัมน์ Live Love Laugh และ วินัย สัตตะรุจาวงษ์ ผู้กำกับของ The Cloud

“แรกๆ ก็ออกสื่อในฐานะนักเขียน แต่รายการ เป็น อยู่ คือ เป็นการตามชีวิตคน เขาก็ไปตามชีวิตเราในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การเป็นนักวิจัยอยู่ที่ Nectec แล้วก็การเต้นสวิง ซึ่งตอนนั้นคงยังไม่ค่อยรู้ว่ามันคืออะไร เป็นการให้สัมภาษณ์ในฐานะนักเต้นสวิงครั้งแรก หลังจากนั้น ก็มีแต่คนสัมภาษณ์เรื่องเต้นสวิง” มาลีวิเคราะห์ต่อว่า ในเมืองไทยยุคนั้นคงเป็นเรื่องแปลกที่เห็นดอกเตอร์ฝั่งวิทยาศาสตร์มาเต้นสวิง เพราะบ้านเราแบ่งสายศิลป์สายวิทย์ชัดเจน แต่ยุคนี้น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว

นอกจากเรื่องเป็นผู้จัดงานเต้นสวิงแล้ว เธอก็ยังอยู่ในสื่อในฐานะทายาทรุ่นสองที่ต่อยอดกิจการโรงงานซีอิ๊วของที่บ้านมาเป็นไข่เค็มซีอิ๊ว

ซึ่งเราจะไม่คุยสองเรื่องนั้นกันในวันนี้

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

จักรวาลของสาววินเทจ

ตั้งแต่ผมรู้จักมาลีมา ผมยังไม่เคยเจอเธอใส่เสื้อผ้ายุคปัจจุบันเลยสักครั้ง อย่างวันนี้เธอก็ใส่ชุดเดรสยาวจากปลายยุค 1960s

“มันเป็นความเก็บกด” มาลีเริ่มต้นเล่าที่มาของความชอบแฟชั่นวินเทจด้วยเสียงหัวเราะ “เราโตมาในยุคแปดศูนย์ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนพองๆ แบบตุ๊กตา กระโปรงฟูฟ่อง เราก็อยากใส่ชุดแบบนั้น แต่แม่บอกว่าเชย เลยจับแต่งตัวแบบเสื้อเชิ้ตกางเกงขาสั้น แนว Benetton เราก็อยากแต่งตัวสวยๆ แบบเพื่อนๆ บ้าง ตอนที่โตแล้ว และมีอิสรภาพในการเลือกซื้อเสื้อผ้าของตัวเอง เราก็ไปหาสิ่งที่เคยขาดตอนเด็กๆ”

เนื่องจากอิสรภาพทางการเงินของเธอมีไม่มากนัก มาลีในวัยนักศึกษาจึงเริ่มจากร้านขายเสื้อผ้ามือสองในตลาดนัดจตุจักร แล้วก็ไปเปิดโลกที่ลอนดอน “เราชอบของมือสอง เพราะจะได้เสื้อผ้าที่ไม่เหมือนใครเลย คัตติ้งสวย ผ้าอลังการ มันมีความคุ้มเกินราคาอยู่ในความคาดเดาไม่ได้ จะได้เห็นว่าแฟชั่นยุคก่อนๆ มันเคยมีสิ่งพวกนี้ด้วยเหรอ” มาลีเล่าต่อว่าจักรวาลแฟชั่นวินเทจในอังกฤษนั้นช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน

จากที่เคยเห็นแปดศูนย์ เจ็ดศูนย์ หรือเสื้อยืดกางเกงยีนส์ที่เมืองไทย ที่นั่นย้อนไปได้ไกลถึงหกศูนย์ ห้าศูนย์ สี่ศูนย์ สามศูนย์ สองศูนย์ หนึ่งศูนย์ เอ็ดเวอร์เดียน วิกตอเรียน 

“เสื้อผ้าอายุหนึ่งร้อยปี ถ้าอยู่เมืองไทยมันต้องอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ที่ลอนดอนอยู่ในกองเสื้อผ้ามือสองข้างถนน เราตื่นเต้นเพราะไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ นี่มันคือสิ่งที่เราเคยเห็นในหนังโบราณนี่ แล้วมันมาขายในราคาห้าปอนด์ สิบปอนด์ แบบนี้ได้ยังไง” พอเล่าเรื่องของวินเทจการเล่าของเธอก็เริ่มออกรสขึ้น

เธอเริ่มซื้อของเก่าตามกำลังทรัพย์ พยายามซื้อของราคาประหยัดที่คิดว่าเอามาใช้ได้ เช่น เสื้อผ้า ผ้าลูกไม้ และแผ่นเสียง ซึ่งเธอยืนยันว่า เสื้อผ้าที่ซื้อมาราคาไม่แพง และเธอซื้อมาใส่

“ตอนอยู่อังกฤษ เราใส่ตลอดเลย ก็มันสวย แล้วก็มีเยอะแยะ ทำไมต้องรอเก็บไว้ใส่แค่ในโอกาสพิเศษด้วยล่ะ แต่พอกลับเมืองไทย ใส่แล้วเหงื่อออกเยอะ ใส่แล้วขาดก็เริ่มเสียดาย ก็ใช้น้อยลง เพื่อให้อายุมันยืนนานขึ้น ขาดทีนึงขาดใจเลยนะ ไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ทำขาด แต่รู้สึกผิดต่อสมาคมคนชอบของเก่า เรารู้ว่ามันควรจะอยู่ในมิวเซียมได้ เขาอุตส่าห์ช่วยกันดูแลให้อยู่ในสภาพดีมาร้อยปี แล้วมาขาดในมือเรา เรารู้สึกเหมือนคนตัดต้นไม้อายุร้อยปี ไอ้คนไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” มาลีหัวเราะ

ดังนั้นชุดทำงานของเธอส่วนใหญ่จึงเป็นเสื้อผ้าในยุคปัจจุบัน ที่ใส่บ่อย ซักบ่อยได้

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

เรื่องเล่าสาววินเทจ

มาลีสนุกสนานกับการจัดกิจกรรมชวนคนมาเต้นสวิง

เพลงแต่ละแนวล้วนมาพร้อมกับวัฒนธรรมของตัวเอง เพลงฮิปฮอปก็มีการแต่งตัว มีภาษาพูดของตัวเอง สวิงแจ๊สก็มีภาษาและมารยาทของมัน การเต้นสวิงคือการแต่งตัววินเทจมาเต้นรำสนุกสนาน พูดจาดีฮิฮะกัน

“เราพยายามทำให้คนรู้จักการเต้นสวิง แต่แค่เต้นอาจจะยังไม่ครบ เราอยากให้คนรู้จักวัฒนธรรมที่มากับมันด้วย ก็เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนจัดงาน Vintage Swing Fair ซึ่งมีศูนย์กลางงานคือการเต้นสวิง แต่เอาวัฒนธรรมรอบๆ การเต้นสวิงมาแสดงด้วย มีซุ้มที่พูดถึงประวัติศาสตร์แฟชั่นวินเทจ ซุ้มสอนแต่งหน้าทำผมวินเทจ ซุ้มวิเคราะห์เนื้อเพลงแจ๊สยุคเก่า มีสารคดี มีสอนเต้น ก็เลยมีคนชวนไปพูดเรื่องประวัติศาสตร์แฟชั่นวินเทจที่เกี่ยวกับการเต้นสวิง” จากการขึ้นเวทีคราวนั้น ผมก็เลยชวนเธอมาเขียนคอลัมน์ชื่อ เรื่องเล่าสาววินเทจ ในนิตยสาร a day

มาลีบอกว่า ความสุขของการเขียนคอลัมน์นี้คือ ได้เล่าเรื่องสนุกๆ ที่ตัวเองไปเจอมาให้คนอื่นฟัง แล้วก็ต้องทำการบ้านหาข้อมูลเพิ่มเติม ยิ่งรู้ลึกก็ยิ่งสนุก แล้วก็ได้ใส่ความตลกแบบของเธอลงไป ซึ่งเธอเขียนไปก็ขำไป

หลังจากหนังสือเล่มแรก เธอได้เขียนคอลัมน์ในนิตยสารออนไลน์ Monday ของสำนักพิมพ์ a book แล้วก็กลายมาเป็นหนังสือเล่มสองชื่อ ตรีแล้วไปไหน

เรื่องเล่าสาววินเทจ จะเป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของเธอ

หมวกหลายใบ

ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ ทำงานอยู่ที่ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลในด้านต่างๆ

หลังเลิกงานเธอคือ มาลี ผู้ชอบเดินเล่นในย่านเมืองเก่า และใช้ชีวิตที่รายล้อมไปด้วยของวินเทจ มาลีพาผมลุกขึ้นไปดูหมวก Boater Hat ซึ่งเป็นทรงที่คนพายเรือยุคก่อนใส่ เป็นหมวกทรงโปรดของเธอ ซึ่งเธอสะสมหมวกวินเทจสไตล์นี้ไว้สิบกว่าใบ

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

แล้วเธอก็พาไปเปิดตู้ยุค 1940 จากฝรั่งเศส ข้างในเป็นหมวกโบราณอีกหลายรุ่นหลายแบบ เธอบอกว่า เวลาที่ละครย้อนยุคมีฉากเต้นรำมักจะให้นางเอกใส่หมวกเล็กๆ บนหัว แต่เธอบอกว่า หมวกของผู้หญิงแต่ละยุคนั้นหลากหลายมาก หมวกพวกนี้เธอซื้อมาในราคา 5 ปอนด์ 10 ปอนด์ หลักๆ คือใช้ใส่เต้นสวิง

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

ตู้เสื้อผ้า

มาลีพาผมไปดูตู้เสื้อผ้า ซึ่งล้นออกมาจนต้องตั้งราวแขวนเพิ่ม เธอว่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เสื้อผ้าส่วนใหญ่ของเธอเก็บอยู่ที่บ้าน

“นี่คือชุดนอนหรือชุดชั้นในเวลาที่ใส่คอร์เซ็ต เป็นชุดยุค 1920 เป็นผ้าวินเทจคอตตอนธรรมชาติอายุร้อยปี ตอนซื้อมาใหม่ๆ ยังใส่ไปเที่ยวทะเลอยู่บ่อยๆ พออายุครบร้อยปี ก็ไม่ค่อยกล้าแตะ” โน้ตพลิกหาชุดเด็ดๆ มาเล่าต่อ ชุดเกือบทั้งหมดนี้เธอซื้อมาจากร้านมือสองในอังกฤษ

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

“ตัวนี้เป็นกระโปรงที่ซื้อมาจากอังกฤษ กลับมาเปิดดูเห็นป้ายเขียนว่า เป็นเสื้อผ้าที่ใช้ในละครเวทีเรื่อง Carmen มีฉากที่ใช้กับชื่อนักแสดงอยู่ด้วย เสื้อผ้าวินเทจมันสนุกกว่าเสื้อผ้าทั่วไป” โน้ตเปิดป้ายให้ดูใกล้ๆ

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ
โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

“เราไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้แต่ของเก่านะ ของใหม่ที่มีคุณภาพในการตัดเย็บ เสื้อผ้า สไตล์ไปกับของที่อยู่ในตู้ได้ เราก็ซื้อ เพราะถ้าของในตู้เป็นแบบเดียวกันหมด เราแต่งตัวง่าย ถ้าโน้ตซื้อเสื้อสมัยใหม่ที่เดิร์นมากๆ มา ก็ต้องไปซื้อกระเป๋า ซื้อรองเท้า ซื้อเครื่องสำอางใหม่ ในด้านเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่คุ้ม หาของแบบเดียวกับที่เรามีอยู่ดีกว่า” มาลีพูดจบก็พาไปดูโต๊ะทำงานที่ดัดแปลงมาจากโต๊ะแต่งหน้า ซึ่งตั้งใจออกแบบให้ดูย้อนยุค

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

หญิงสาวผู้กลัวแฟชั่น

มาลีมีหู คอ ข้อมือ และนิ้วที่เปลือยเปล่า

“โน้ตใส่เครื่องประดับไม่เป็น การจะใส่อะไรสักอย่างต้องฝึกเพื่อให้เข้าใจสิ่งนั้น กว่าเราจะรู้ว่าจะแต่งตัวยังไงให้เข้ากับเรา ต้องใช้รองเท้า กระเป๋า สี แบบไหน ก็เรียนรู้มาค่อนชีวิตแล้ว เราเลยไม่อยากใส่เครื่องประดับโดยที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เลยไม่ใส่ดีกว่า”

เธอชอบแฟชั่นหรือชอบของเก่ากันแน่

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

“โน้ตไม่ชอบแฟชั่นนะ เพราะตามแฟชั่นไม่เป็น วันนี้ก็ใส่เสื้อผ้าตัวเดิมกับที่ใส่เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมก็ทรงเดิม พอเรามาเจอสิ่งนี้แฟชั่นจะเป็นยังไงก็ไม่แคร์แล้ว โน้ตไม่รู้เรื่องแฟชั่นเลย กลัวแฟชั่นด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ยั่งยืน งานเต้นสวิงที่โน้ตช่วยดูไดเรกชันมาโดยตลอด สิ่งที่กลัวที่สุดคือ การเต้นสวิงกลายเป็นแฟชั่น คนมาเพราะมันฮิต มาโดยไม่ได้เห็นคุณค่า กลายเป็นของดาษดื่นที่มาแล้วก็ไป เราอยากให้มันอยู่อย่างยั่งยืนด้วยคุณค่าของตัวเอง”

มาลีพาผมกลับมานั่งที่โต๊ะตัวเดิม

กลับมานั่งคุยดีๆ

เสื้อผ้าวินเทจเล่าอะไรให้มาลีฟัง

มาลีหยุดคิดนาน ปล่อยให้ผมฟังเพลง Walk On By ของ Dionne Warrick ไปพลางๆ

“อย่างแรก ในฐานะของคนชอบแต่งตัว เสื้อผ้าวินเทจบอกเราว่า ถ้าเราซื้อเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นตอนนั้น เราอาจจะพบว่า เรารูปร่างไม่ดี อย่างตอนนี้นิยมแต่งตัวแบบสปอร์ตโชว์เอว ถ้าโน้ตตามแฟชั่นยุคนี้ก็จะถูกนิยามว่า รูปร่างไม่ดี แต่งตัวไม่ขึ้น แต่เสื้อผ้าวินเทจทำให้เรามองกว้างขึ้น เห็นพัฒนาการของแฟชั่น สั้น หด ใหญ่ ยาว เล็ก แต่ละยุคเสื้อผ้าต่างกัน ทำให้บางรูปร่างใส่ได้สวยหรือไม่สวย พอเราเห็นหลายๆ ยุค ก็จะเลือกสิ่งที่เหมาะกับเรา เราก็ไปอยู่กับแฟชั่นยุคนั้น ไม่ต้องอยู่กับปัจจุบันก็ได้ มันทำให้เราสนุกกับการแต่งตัวมากขึ้น ยอมรับความหลากหลายของรูปร่างตัวเองได้มากขึ้น เพราะไม่ได้ถูกตีตราว่าไม่สวย แล้วก็ยังสนุกกับการแต่งตัวแบบอื่นได้ด้วย

“ในมุมคนชอบเรื่องราวความขลัง มันทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์ของสิ่งของตรงหน้า ว่ามันทำปีไหน จากประเทศไหน ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะยุคสมัยนั้นสังคมเป็นแบบไหน ซึ่งเราจะไม่ตั้งคำถามนั้นกับของยุคปัจจุบัน

“เสื้อผ้าในยุคก่อนทุกชิ้นเย็บด้วยมือ ทำเอง ออกแบบเอง ใช้เวลากับมัน เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ปัจจุบันเสื้อผ้าเย็บมือราคาแพงมาก เพราะต้องใช้เวลา เป็นของพิเศษ เลยเห็นการให้คุณค่าที่ต่างไปในแต่ละยุค ยุคก่อนคนใช้เวลานั่งเย็บ ทั้งชีวิตมีแค่คอลเลกชันเดียว แต่ยุคนี้ให้ค่ากับการเอาเงินไปแลกเปลี่ยน เสื้อผ้าไม่ต้องทนทานก็ได้ เพราะเดี๋ยวก็แฟชั่นก็เปลี่ยน” เธอว่า ถ้าให้เวลาเธอก็ยังเล่าได้อีกยืดยาว เพราะเธอมีข้อมูลมากขนาดเขียนได้เป็นเล่ม

เรื่องที่เกือบไม่ได้เล่า

ผมเอ่ยคำขอบคุณมาลี เก็บโทรศัพท์กลับ แต่ยังไม่ทันจะกดปุ่มหยุด เธอก็บอกว่า มีอีกเรื่องที่อยากเล่า

“หนังสือเล่มนี้เกือบไม่ได้ออกแล้วนะ” เธอจั่วหัว “โน้ตไม่เคยอยากเป็นนักเขียน ไม่เคยมั่นใจในตัวเอง งานเราไม่ได้มีคุณค่าอะไรขนาดนั้น ตอนทำต้นฉบับเสร็จแล้ว นิ้วกลมก็ออกหนังสือชื่อ ลอนดอนไดอารี่ พอรู้ว่ามีนักเขียนดังออกหนังสือลอนดอนเหมือนกัน ไดอารี่เหมือนกัน ใช้ชื่อหนังสือที่เราตั้งใจจะใช้ เราอยู่ในลอนดอนช่วงเวลาเดียวกัน วัตถุดิบเดียวกัน คนอ่านกลุ่มเดียวกัน ใครจะอยากอ่านหนังสือเรา”

มาลีบอกว่า เธอเกือบจะมาขอยกเลิกกับสำนักพิมพ์แล้ว จนได้กำลังใจจากเพื่อนคนหนึ่ง

“เขาบอกว่า แกเคยเห็นคนเขียนหนังสือแบบนี้ปะ ก็ไม่เคยนะ มันไม่มีทางเหมือนนิ้วกลมเลย เขาไม่ได้บอกว่าหนังสือเราดีนะ แค่บอกว่า มันไม่เคยมีคนเขียนแบบนี้ ถ้าคนอ่านไม่งงไปเลย ก็คงชอบไปเลย”

สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ

และทำให้ผู้คนกลุ่มใหญ่ได้รับความสนุกสนานจากตัวหนังสือของเธอ

โน๊ต มาลียา โชติสกุลรัตน์, มาลี จากหนังสือสร้างเสริมประสบการณ์การอิงลิช สู่การเต้นสวิง และเรื่องเล่าสาววินเทจ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล