โน้ตเพลงนับแสนแผ่นอัดแน่นบนชั้นสองของบ้านตัวโน้ต ย่านบางนา

เชื่อหรือไม่ ครั้งหนึ่งหน้าบ้านหลังนี้เคยเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์นับสิบคันจอดรอ เพื่อนำโน้ตเพลงหลายร้อยแผ่นไปส่งตามไนต์คลับหรือห้องอาหารต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร

นักร้องนักดนตรีดังๆ ระดับประเทศที่เติบโตมาจากการร้องเพลงและเล่นดนตรีกลางคืนต่างคุ้นเคยกับ ‘โน้ตกิ้ว’ เป็นอย่างดี เพราะเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่จำเป็น หากไม่มีก็เล่นดนตรีไม่ได้ ดังคำบอกเล่าของ เจนนิเฟอร์ คิ้ม ดีวาสาวคนดัง บนเวทีคอนเสิร์ต JENNIFER KIM DIVA CHINATOWN เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

“สมัยก่อนเป็นนักร้องต้องถือโน้ตเดินเข้าร้าน แล้วนักร้องไม่ได้เขียนโน้ตเองหรือให้นักดนตรีเขียนนะ แต่เราใช้วิธีโทรสั่ง ‘โน้ตกิ้ว’ เป็นโน้ตแผ่นๆ ชุดหนึ่งมีสี่ชิ้น กีตาร์ เบส กลอง เปียโน เขาส่งทั่วประเทศเลย พอสั่งมาก็จะมีคนถือโน้ตมาให้ เพลงไทยสี่ชิ้น สามสิบบาท เพลงฝรั่งหนึ่งร้อยบาท เชื่อไหมสมัยนั้นพอเราเดินเข้าไป พนักงานถามเลยมาทำไม พอบอกมาร้องเพลง เขาก็พูดเลย นึกว่ามาส่งโน้ตกิ้ว”

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

แม้โด่งดังและมีอิทธิพลต่อวงการดนตรีกลางคืนเมื่อ 20 – 30 ปีก่อนเพียงใด กลับมีน้อยคนที่ทราบว่า ‘กิ้ว’ เป็นใคร มาจากไหน หรือหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้จักแต่คนส่งโน้ตของเขาเท่านั้น

เราเลยถือโอกาสนี้พาทุกคนมาบุกถึงห้องทำงานของ กิ้ว-ชาญ ชินนภาแสน พร้อมฟังเรื่องราวตลอด 79 ปีของชายผู้หยัดยืนกับการแกะโน้ตเพลงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ในวันที่ความนิยมอาจเสื่อมคลายไปแล้วก็ตาม

01

คนคลั่งเพลง

กิ้วหลงรักเสียงเพลงมาตั้งแต่เด็ก เขาดูหนังเอลวิสไม่ต่ำกว่า 5 – 6 รอบ ฟังเพลง The Beatles, Bee Gees ไม่เคยเบื่อ จนจำขึ้นใจ ถึงขั้นไปหากีตาร์มาฝึกด้วยตัวเอง แม้จะแทบไม่มีความรู้เรื่องคอร์ดดนตรีเลยก็ตาม

“เมื่อก่อนบ้าเพลงมาก สิบกว่าขวบก็ฟังแล้ว ตอนนั้นมีวิทยุเครื่องเล็กๆ เครื่องหนึ่งก็เปิดตลอด เปิดเสียงดังมาก จนพ่อด่าทุกวัน บางทีเดินมาก็ปิดทิ้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เรารู้เรื่องเพลงเยอะมาก และอยากเล่นกีตาร์เป็น จึงนั่งหัดดีดกรุ๊งกริ๊งๆ อยู่บ้าน ไม่มีคนสอน เล่นได้พักหนึ่งก็รู้ว่าไม่เวิร์กแน่ เลยไปเรียนดนตรีที่สี่พระยา คนฟิลิปปินส์สอน เรียนอยู่สองสามเดือน พอรู้เรื่องก็เลิก ขี้เกียจไป แล้วกลับมากรุ๊งกริ๊งๆ อยู่ที่บ้านเหมือนเดิม”

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

วันหนึ่งชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อเพื่อนบ้านสัมผัสถึงความคลั่งไคล้ของเด็กหนุ่ม จึงชักชวนให้มาเล่นดนตรีในร้านซึ่งเขาเป็นเจ้าของ กิ้วเห็นโอกาสที่จะได้ฝึกตัวเองจึงตอบตกลง เขาเล่นอยู่ที่นี่อยู่พักใหญ่ กระทั่ง พ.ศ. 2509 จึงรวมตัวกับเพื่อน 3 – 4 คน ตั้งวงดนตรีเล็กๆ ของตัวเอง โดยเขารับหน้าที่มือเบส ควบตำแหน่งหัวหน้าวง

จังหวัดแรกที่กิ้วไปเยือนคืออุดรธานี ตรงกับยุคสงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่น เวลานั้นทหารอเมริกันถูกส่งตัวเข้าไทยจำนวนมาก พอตกดึกไม่รู้ทำอะไรก็ไปนั่งตามผับบาร์ต่างๆ เสียแต่ว่า เวลานั้นฝีมือของกิ้วกับเพื่อนยังอ่อนหัด ดึงลูกค้าไว้ไม่ไหว ไม่นานนักผับก็เจ๊ง วงดนตรีจึงต้องแยกย้ายโดยปริยาย

กิ้วเห็นว่าอยู่อุดรธานีต่อไปก็ไร้อนาคต จึงจับรถไฟกลับกรุงเทพฯ ไปฝากตัวตามวงดนตรีต่างๆ กระทั่งจับพลัดจับผลูได้เดินสายไปทั่วประเทศกับ สมยศ ทัศนพันธ์ โดยกิ้วเล่นเบสให้วงชาโดว์ซึ่งแสดงคั่นวงลูกทุ่งช่วงพักครึ่ง เขาแสดงอยู่นานจนฝีมือดีขึ้น และกลับมาฟอร์มทีมออกรับงานตามผับต่างจังหวัดได้อีกครั้ง

แม้ภาคปฏิบัติจะได้คะแนนบวก หากแง่ทฤษฎีต้องถือว่ายังติดลบ เพราะกิ้วอ่านโน้ตแทบไม่เป็นเลย เวลาจะแกะเพลงแต่ละครั้งก็ต้องเปิดแผ่นเสียง อยากฟังท่อนไหนก็ยกเข็มขึ้นลง ทำซ้ำๆ จนแผ่นสีดำถลอกกลายเป็นสีขาว

ข้อดีคือเวลาเล่นออกมาแล้วคล้ายต้นฉบับมาก แต่ข้อเสียคือทุกคนต่างคนต่างแกะ ใครเล่นชิ้นไหนก็ไปแกะมา แต่อย่างว่า หูคนเราไม่เหมือนกัน เวลาแกะออกมาจึงไม่เคยตรงกัน แถมนักดนตรียุคนั้นมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ค่อยมีใครยอมใคร ส่งผลให้วงแตกไปหลายวง

กิ้วมาเริ่มเรียนรู้เรื่องโน้ตครั้งแรกตอนอยู่กับ ครูนคร ถนอมทรัพย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2554

ยุคนั้นครูนครเป็นศิลปินที่ดังมาก ใครๆ ต่างรู้จักในชื่อ กุง กาดิน ยิ่งเพลงแปลงนั้นโด่งดังมากเป็นพิเศษ แถมยังมีวงสตริงคอมโบเต็มวง ออกแสดงตามไนต์คลับต่างๆ ทั่วเมืองกรุง

พอดีครูเห็นว่า มือเบส มือกีตาร์ มือกลอง ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องโน้ตติดตัว จะบรรเลงเพลงอะไรก็อาศัยหูฟังแล้วก็เล่นตามไปเรื่อย ต่างจากพวกมือเป่าที่วางโน้ตแผ่นเดียวเล่นได้เลย จึงเมตตาสอนเรื่องโน้ตให้ ซึ่งกิ้วก็แค่ฟังไว้ ไม่ได้สนใจอะไรจริงจัง เพราะมองไม่เห็นความสำคัญใดๆ

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

“พี่นครพยายามสอน แต่เราก็ไม่ชอบ เกลียดมาก เพราะแต่ก่อนเครื่องเป่าเล่นไม่เหมือนแผ่น เป่าปุดปาดๆ ตามโน้ตหมด สำเนียงไม่มี ฟังแล้วรำคาญ ขณะที่เราติดนิสัยว่าต้องเล่นเหมือนแผ่นถึงเก่ง เลยไม่เคยยอมรับเรื่องโน้ตเลย”

แต่ใครจะไปคิดว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่กิ้วต่อต้านจะกลับกลายมาเป็นงานเลี้ยงชีพของเขามาถึง 4 ทศวรรษ

02

สถานการณ์สร้างนักแกะโน้ต

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กิ้วหันมาสนใจโน้ตเพลงอย่างจริงจัง มาจากแฟนสาวคนหนึ่งของเขา

ราวๆ พ.ศ. 2515 – 2516 กิ้วฟอร์มวงกลับไปเล่นที่อุดรธานีอีกครั้ง โดยมีแฟนสาวเป็นนักร้องนำ แต่เล่นได้ไม่นานก็วงแตก จึงย้อนกลับมาหางานทำที่กรุงเทพฯ โดยตัวเองก็ไปรับเล่นดนตรีตามร้านต่างๆ ส่วนแฟนสาวก็ไปร้องเพลงอยู่ที่ห้องอาหารเฮงหลง สี่แยกสะพานควาย

สมัยนั้น การเล่นดนตรีกลางคืนในกรุงเทพฯ นักร้องกับวงดนตรีไม่ได้อยู่วงเดียวกัน

ร้านหนึ่งอาจมีวงดนตรีเล่นประจำแค่วงเดียว แต่มีนักร้องหมุนเวียนกันหลายคน นักร้องคนหนึ่งก็อาจเดินสายร้องไปทั่ว เพราะฉะนั้น เวลาเล่นแต่ละครั้งจึงแทบไม่ได้ซ้อมกันเลย หากนักร้องอยากร้องเพลงอะไร ก็ต้องส่งโน้ตให้นักดนตรีก่อน ไม่เช่นนั้นนักดนตรีก็เล่นให้ไม่ได้

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

แต่ปัญหาคือนักร้องส่วนใหญ่เขียนโน้ตไม่เป็น ต้องไปจ้างนักดนตรีแกะเพลงให้ เพลงละ 150 บาท ซึ่งนับว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับราคาข้าวแกงจานหนึ่งไม่ถึง 5 บาทด้วยซ้ำ

ยิ่งนานวัน กิ้วก็เห็นว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากค่าแกะโน้ตแล้ว แฟนของเขายังต้องเสียค่าเดินทาง ค่าแต่งหน้า ค่าเสื้อผ้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้เหลือน้อยที่สุด กิ้วจึงทดลองแกะโน้ตด้วยตัวเอง

“พี่นครสอนมาระดับหนึ่ง เราก็จำไว้แล้วมาหัดทำ อย่างเบส กลอง กีตาร์ เราอยู่กับมันมาตลอดก็พอได้ แต่เครื่องเป่ายากหน่อย เพราะไม่ได้เรียนมา จำได้ว่าแรกๆ เราให้แซกโซโฟนเป็นพระเอก ส่วนทรัมเป็ตเป็นตัวประสาน ซึ่งความจริงต้องกลับกัน ทรัมเป็ตเป็นพระเอก เพราะเสียงดังกว่าแซกโซโฟน พอเราแกะไม่ถูก เสียงประสานจึงเพี้ยนหมด เป่าออกมาแล้วไม่ไพเราะ นักดนตรีก็ด่ามา แต่เราไม่ว่าอะไร แค่จำไว้แล้วนำมาปรับ”

หลังจากแกะเพลงไปได้สักระยะ ก็เกิดกระแสปากต่อปากในวงการนักร้องกลางคืน หลายคนติดต่อเข้ามาให้เขาช่วยแกะเพลง กิ้วเห็นเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาฝีมือ จึงรับทำโดยคิดราคาไม่แพง เพลงละ 60 – 80 บาท โดยเช้าตื่นขึ้นมานั่งแกะเพลงไปเรื่อยๆ พอตกดึกก็ออกจากบ้านไปเล่นดนตรีตามผับตามบาร์

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี
โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

ระหว่างนั้น กิ้วยังพยายามพัฒนาทักษะด้านดนตรีของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องเครื่องเป่า ซึ่งได้เพื่อนนักดนตรีชื่อ ถาวร คำนวณ มาแบ่งปันความรู้และช่วยเป็นมือแกะโน้ตอีกแรง

“เราเล่นดนตรีอยู่ด้วยกัน เขาเป่าทรัมเป็ต ผมเล่นเบส ถาวรนี่โคตรเก่งเลย ผมอยู่ได้เพราะเขาเลย โดยช่วงนั้นเราเล่นกันภัตตาคารแม่น้ำ พอตีหนึ่งตีสองร้านเลิกมานั่งรถเมล์ขาวสาย 2 กลับบ้าน ระหว่างนั้นนั่งคุยเรื่องเพลงกัน ผมเองไม่มีความรู้เรื่องเครื่องเป่าเท่าไหร่ก็ถามเขา ส่วนถาวรก็ถามผมว่า ถ้าอยากแกะเพลงต้องทำยังไง เลยบอกให้แกะเบสก่อน เพื่อจะได้คอร์ด เราแลกเปลี่ยนความรู้กันเรื่อยมา จนตอนหลังถาวรไปเรียนที่สยามกลการ แล้วก็มาช่วยแกะโน้ตจริงจัง”

กิ้วแกะโน้ตอยู่นานหลายปีจนชื่อ โน้ตกิ้ว โด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่ววงการ มีลูกค้าสั่งโน้ตไม่ขาดสาย และเริ่มกินเวลาเล่นดนตรีกลางคืนมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง พ.ศ. 2523 เขาจึงตัดสินใจหันมายึดอาชีพคนเบื้องหลังเต็มตัว

“ช่วงนั้นผมไปเล่นดนตรีอยู่พัทยา แต่ก็ยังรับงานจากกรุงเทพฯ มาทำ พอเช้าตื่นมาก็แกะเพลง ตกดึกก็ไปเล่นดนตรี พอเสาร์-อาทิตย์ ก็นั่งรถทัวร์มากรุงเทพฯ เอาโน้ตไปส่ง แต่สุดท้ายไม่ทันเพราะงานมันเยอะมาก จึงตัดสินใจเลิกเล่นดนตรี แกะโน้ตอย่างเดียวสบายกว่าเยอะ”

03

ที่พึงพิงของคนดนตรี

จุดเด่นของโน้ตกิ้ว คือราคาถูกและรวดเร็ว เพราะเขาใช้เวลาเพียง 2 – 3 วันก็เสร็จเรียบร้อย

แต่ที่สำคัญกว่าคือ เป็นเพียงไม่กี่เจ้าที่แกะโน้ตเพลงไทย แถมยังแกะแบบละเอียด เก็บทุกเม็ด เหมือนต้นฉบับ และรับแกะโน้ตเพลงทุกแนว ทั้งป๊อป ร็อก แรป เฮฟวี่ ทำได้หมด

“ตอนนั้นผมมานั่งคิดว่าเพลงสากลเขาแกะโน้ตทั้งนั้น ส่วนเพลงไทยเล่นกันตามใจ ก็เลยแกะโน้ตเพลงไทย ที่เราอยู่ได้เพราะเพลงไทยเลย โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งนิยมมาก เพราะเราแกะเร็วมาก เนื่องจากเพลงลูกทุ่งมันง่าย ดนตรีไม่ซับซ้อน ไม่เหมือนเพลงสตริง มีทั้งไวโอลิน มีอะไรต่างๆ เครื่องดนตรีเยอะกว่า ฟังยากกว่า จึงต้องใช้เวลานานกว่า”

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

โน้ตเพลงชุดหนึ่ง ประกอบด้วย 8 ชิ้น คือ กีตาร์ เบส กลอง เปียโน เทเนอร์แซกโซโฟน อัลโต้แซกโซโฟน ทรอมโบน และทรัมเป็ต แต่หลายครั้งนักร้องอาจจะสั่งแค่ กีตาร์ เบส กลอง และเปียโน ก็ได้ โดยทุกแผ่นจะมีโลโก้โน้ตกิ้วพร้อมเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อกลับ หากมีปัญหาใดๆ หรือต้องการสั่งโน้ตเพิ่มก็แจ้งมาได้เลย

สำหรับวิธีการแกะโน้ตนั้น เมื่อได้รับโจทย์มาเรียบร้อย สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาเทป แผ่นเสียง หรือเทปรีล มานั่งฟังเพลงก่อนสักรอบว่าเป็นอย่างไร จากนั้นหยิบเครื่องดนตรีที่ตัวเองถนัดมาเทียบเสียงดูว่าเพลงนี้อยู่ในคีย์ไหน แล้วจึงค่อยถอดเสียงแต่ละท่อนออกมาเป็นตัวโน้ต บันทึกลงไปบนกระดาษโน้ต 5 เส้น พอเรียบร้อยแล้ว ก็ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งไม่ให้มีข้อผิดพลาด หรือต่อให้มีก็ต้องน้อยที่สุด

ช่วงแรกๆ กิ้วกับถาวรช่วยกันเขียนโน้ตเพลงเองทุกแผ่น แต่เมื่อลูกค้าสั่งเพลงซ้ำๆ กัน จึงจ้างเด็กช่างศิลป์ที่ลายมือสวยๆ มาช่วยลอกโน้ตเพลงละ 10 บาท ทำให้ทุกเย็นมีนักเรียนมารวมตัวกันที่บ้านเต็มไปหมด

“เราให้คัดลอกอย่างเดียว แค่นี้เขาดีใจแล้ว วันหนึ่งห้าเพลง ได้ห้าสิบบาท ยุคนั้นถือว่าเยอะมาก แต่มีปัญหาอยู่นิดตรงที่บางเพลงมันยาวมาก ห้าถึงหกแผ่น เลยให้ใช้วิธีจับสลาก คนไหนซวยก็ได้เพลงยาวไป แต่ตอนหลังพองานเยอะขึ้น เราก็คิดว่าให้เด็กมานั่งเขียนยิกๆ แบบนี้ตายแน่ เพราะเราต้องมาตรวจทุกแผ่น สมมติสั่งเพลง รักเอย มาสิบชุด เราก็ต้องตรวจสิบชุด ก็เลยซื้อเครื่องถ่ายเอกสารจบเลย แต่เด็กยังจ้างอยู่คนสองคนคน เฉพาะคนฝีมือดีๆ เท่านั้น”

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

ส่วนเพลงที่สั่งเข้ามาก็มีทั้งเพลงไทย เพลงจีน เพลงสากล ตามความถนัดของนักร้องแต่ละคน แต่มีหลายๆ ครั้งที่กิ้วอาศัยประสบการณ์จากการเป็นนักดนตรี แนะนำเพลงที่ฟังจากวิทยุให้กับนักร้อง เช่น จำกันบ่ได้ก๋า ของ นันทิดา แก้วบัวสาย หรือ ส่วนเกิน ของ ดาวใจ ไพจิตร ซึ่งต่อมาหลายเพลงก็ฮิตติดตลาด

นอกจากนี้ เขายังพยายามเอาใจลูกค้าด้วยการทำโน้ตให้เหมาะสมกับเสียงของนักร้องแต่ละคน เช่น หากเป็นนักร้องชายเป็นคีย์หนึ่ง และถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเป็นอีกคีย์ แต่ถ้าแน่นอนสุด นักร้องต้องแจ้งมาเลยว่าตัวเองร้องคีย์อะไร กิ้วก็จะส่งโน้ตเพลงของคีย์นั้นไปให้ และหากส่งไปแล้วไม่ถูกต้อง เขาก็พร้อมทำให้ใหม่โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม

แต่ที่โดดเด่นสุดคือ เขามีบริการส่งโน้ตเพลงถึงมือนักร้อง โดยเดิมทีเขาเป็นคนไปส่งเอง เผื่อนักร้องอยากได้เพลงอะไรก็สั่งเพิ่มเติมได้เลย ถือเป็นการหางานพร้อมกันไปในตัว แต่ทว่าการส่งแต่ละครั้งนั้นกินเวลานานมากจนทำงานไม่ทัน กิ้วเลยเปลี่ยนมาจ้างวินมอเตอร์ไซค์ให้ไปส่งโน้ตแทน รวมถึงจ้างนักแกะโน้ตมาเพิ่มอีกคน โดยที่ตัวเองขยับเป็นผู้ตรวจเช็กความถูกต้องอีกที

ว่ากันว่าช่วงรุ่งเรืองสุดขีดราว พ.ศ. 2525-2535 นักร้องกลางคืนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ต่างสั่งโน้ตจากกิ้ว จนเขาต้องจ้างเด็กส่งโน้ตมากถึง 20 – 30 คน เพื่อไปส่งตามผับ บาร์ คาเฟ่ คอฟฟี่ช็อป คอกเทลเลานจ์ ห้องอาหารต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้แต่นักร้องต่างจังหวัดก็ยังใช้บริการให้ส่งไปรษณีย์มาให้

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

“นักร้องทั่วประเทศรู้จักโน้ตกิ้วหมด แต่ไม่รู้จักผมหรอกนะ รู้จักแต่เด็กส่งโน้ต บางทีเด็กส่งโน้ตตายไปแล้ว ก็บอกไอ้กิ้วตายไปแล้ว อย่างนักร้องบางคนชอบให้เด็กไปส่งโน้ตที่โต๊ะแขก เพราะอยากให้แขกออกเงินให้ บางคนก็ติดเงินเรา พอเห็นผมแล้วเดินหนีเลย แต่เราก็ไม่ว่าอะไร ด้วยความใจดี นักร้องส่วนใหญ่เลยปกป้องผม ใครว่าเราไม่ดีไม่ได้ เขาเถียงให้หมด สมัยก่อนนักดนตรีเลยไม่ค่อยกล้าด่าผมหรอก เพราะถ้านักดนตรีทะเลาะกับนักร้อง นักดนตรีตกงาน” 

ถึงจะได้รับความนิยมอย่างสูงก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเลย เรื่องหนึ่งที่พบบ่อยคือ นักร้องบางคนก็ใช้วิธีตัวเองสั่งเพลง เพื่อนสั่งอีกเพลง แล้วมาถ่ายเอกสารแลกกัน ซึ่งกรณีแบบนี้ทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยไป แต่ที่หนักหน่อยคือ พวกหัวใสที่เอาโน้ตของเขาไปขายต่อ โดยลบโลโก้เดิมออกแล้วตั้งชื่อใหม่และขายในราคาที่ถูกกว่า

กิ้วจำได้ว่าช่วงที่มีของปลอมระบาด เขาเครียดมาก เพราะรายได้หายไปพอสมควร แต่รายจ่าย ทั้งค่าจ้างคนแกะโน้ต ค่าจ้างเด็กส่ง ยังคงเท่าเดิม ทว่าสุดท้ายก็ผ่านไปได้ เนื่องจากสิ่งหนึ่งที่เขายึดไว้เสมอคือคุณภาพและความรวดเร็ว ต่างจากแบรนด์เลียนแบบที่ไม่ได้มีคุณสมบัติเหล่านี้ จึงค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเอง

แต่เหตุการณ์ที่เรียกว่ากระทบหนักจนทำให้เขาเกือบเลิกทำ คือช่วงที่กระแสเปิดเพลงจากคอมพิวเตอร์มาแรง เพราะหลายๆ ร้านเลิกจ้างนักดนตรี หรืออย่างมากก็จ้างแค่มือคีย์บอร์ดหรือมือกีตาร์คนเดียว ส่งผลให้ยอดขายของโน้ตกิ้วตกลงไปกว่าครึ่ง แต่ท่ามกลางโชคร้ายก็ยังมีโชคดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ทุกคนทราบว่า โน้ตกิ้วมีคุณภาพเพียงใด

“สมัยก่อนเราโดนด่าเยอะ หาว่าแกะไม่ดี คือนักดนตรีบางคนอ่านโน้ตถูกๆ ผิดๆ ก็บอกของเราไม่ดีไว้ก่อน แต่พอคอมพิวเตอร์เข้ามา หลายร้านหันมาใช้เครื่องเปิดแทน ซึ่งกว่าจะเปิดได้มันต้องป้อนโน้ตลงไปในเครื่องก่อน เขาก็ใช้โน้ตเรานี่แหละ เชื่อไหม พอเปิดออกมาไม่เพี้ยนเลย เหมือนต้นฉบับมาก ทุกคนเลยยอมรับหมดเลยทั่วประเทศ” 

04

เป็นยิ่งกว่าเสียงเพลง

กิ้วในวัย 79 ปียังคงใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่ในออฟฟิศส่วนตัวบนชั้น 2 ของบ้านตัวโน้ต

หากใครแวะเวียนเข้ามา เชื่อว่าคงต้องตะลึงกับภาพที่เห็น ทั้งโต๊ะทำงานที่เต็มไปด้วยกระดาษบรรทัด 5 เส้นกองเรียงราย และห้องขนาด 2 คูหาที่อัดแน่นไปด้วยโน้ตเพลงนับแสนแผ่นถูกเก็บบนชั้นจนเต็ม โดยกิ้วจัดหมวดหมู่เรียงตามตัวอักษร ก-ฮ และ A-Z พร้อมมีรหัสกำกับไว้ในแต่ละเพลง เช่น ระแวงรัก รหัส ร 703 โดยโน้ตเพลงหนึ่งอาจมีหลายเวอร์ชัน ตามเสียงคีย์ที่ต่างกันไป

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี
โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

เพราะฉะนั้น คงไม่ผิดหากจะเรียกว่าที่แห่งนี้คือคลังโน้ตเพลงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ตลอดจนช่วยยืนยันถึงผลงานยิ่งใหญ่ของนักแกะโน้ตผู้นี้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความนิยมเรื่องโน้ตเพลงนั้นเสื่อมไปมาก ส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบของวงดนตรีกลางคืนที่เปลี่ยนไป จากมีแต่นักดนตรีอย่างเดียว ก็เริ่มมีนักร้องเป็นสมาชิกด้วย แถมเวลาจะเล่นเพลงอะไรก็มีการฝึกซ้อมมาแล้ว โน้ตก็ช่วยกันแกะเอง ไม่ได้มาเล่นแบบด้นสดเหมือนสมัยก่อน

แต่ถึงอย่างนั้น กิ้วก็ยังคงเลือกทำงานสายนี้เหมือนเดิม เพราะสำหรับเขาการทำโน้ตเพลงไม่ได้เป็นแค่อาชีพ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ทำแล้วมีความสุข สามารถอยู่ได้เป็นวันๆ โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย 

เหตุการณ์ที่ยืนยันเรื่องนี้ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 6 – 7 ปีก่อน หลังกิ้วป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบจนทำงานไม่ได้ ส่งผลให้ชื่อเสียงโน้ตกิ้วที่สร้างมาซวนเซไปพักหนึ่ง เนื่องจากไม่มีคนตรวจสอบความถูกต้องของโน้ตก่อนส่งลูกค้า

แต่กิ้วไม่เคยถอดใจ เมื่ออาการดีขึ้น จึงรีบย้อนกลับมาดูแลการผลิตโน้ตเพลงทันที โดยทุกเช้าเขาจะมาประจำอยู่ที่โซฟาตัวเก่งพร้อมกีตาร์คู่ใจ คอยตรวจเช็กของโน้ตที่ลูกทีมส่งมาให้ ตลอดจนเขียนไลน์เครื่องเป่าเพิ่มเติม กระทั่งแฟนดั้งเดิมที่เคยหายไปหันกลับมาใช้บริการอีกครั้ง

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการโน้ตกิ้วคือ วงโยธาวาทิตของโรงเรียน วงดนตรีประกวดต่างๆ รวมถึงบรรดานักร้องรุ่นเก๋าๆ หลายคนที่ยังคงวางใจในผลงานของแบรนด์ดั้งเดิมนี้

ส่วนรูปแบบการส่งโน้ตก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย สมัยนี้เขารับ-ส่งงาน ผ่าน LINE บางทีลูกค้าก็แนบเพลงจาก YouTube มาให้ฟังด้วย ขณะเดียวกันเองเขาก็พยายามจัดระเบียบโน้ตให้ง่ายขึ้น ด้วยการนำรหัสทั้งหมดกว่า 30,000 – 40,000 เพลงมาบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ หากลูกค้าสั่งเข้ามา ก็แค่กดค้นหาว่าเพลงนี้อยู่รหัสอะไร แล้วค่อยเดินไปหยิบมาสแกนส่งให้ลูกค้า

แต่ถ้าเพลงไหนไม่มีโน้ตก็ต้องแกะใหม่ ซึ่งราคานั้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเพลง ที่ผ่านมามีคนมาจ้างให้เขาแกะเพลงยุคใหม่อยู่เสมอ เช่น โดดดิด่ง ของ BNK48 หรือเพลง ถุงยาง ของ L.กฮ. 

โน้ตกิ้ว ตำนานนักแกะโน้ต ที่พึ่งพิงของนักร้องนักดนตรีกลางคืนมานานกว่า 40 ปี

“ถ้าถามว่าเพลงใหม่สุดที่แกะคืออะไร ผมตอบไม่ได้หรอก เพราะอยากให้แกะเพลงอะไร เราก็แกะได้หมด แต่ที่สำคัญสุดที่ทำให้เราอยู่ได้คือ ถูกและเร็ว สั่งอะไรมีหมด มีเป็นหมื่นๆ เพลง ขณะเดียวกันเราก็พยายามปรับปรุงโน้ตให้ถูกต้องตลอดเวลา อย่างบางเพลงแกะเคยไว้เมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน หากมีคนมาสั่งใหม่ เราไม่กล้าส่งให้นะ ต้องมาตรวจเช็กใหม่ เพื่อให้ลูกค้าได้ของดีที่สุดกลับไป”

ด้วยคุณภาพและบริการอันโดดเด่นที่ไม่เคยจางหายไปไหนนี่เอง ทำให้ชื่อของโน้ตกิ้วยังคงถูกพูดถึงและแนะนำต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นตำนานยืนหนึ่งของวงการโน้ตเพลงจนถึงวันนี้

Writers

Avatar

สุทธิโชค จรรยาอังกูร

นักค้นคว้า ผู้มีบ้านหลังที่สองอยู่ในห้องสมุด เจ้าของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

Avatar

ปณัสย์ พุ่มริ้ว

นักสำรวจซอกซอย ย่านเก่า ป่าเขา และห้องสมุด เจ้าของเพจ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ