ช่างหล่อหนึ่งเดียว

สล่า ในภาษาคำเมืองเหนือแปลว่า ช่าง

อาชีพสล่ายังคงมีอยู่อย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งช่างงานฝีมือ ช่างทอผ้า ช่างแกะสลัก ช่างซอ (นักร้องเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่งของภาคเหนือ) ช่างรำ และอีกหลายช่าง รวมถึงช่างหล่อพระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจสำคัญในสังคมล้านนานั่นคือ ศาสนา

ปัจจุบัน ในแวดวงธุรกิจหล่อพระพุทธรูปเพื่อให้เช่าบูชาของจังหวัดเชียงใหม่ มีกิจการโรงหล่อพระพุทธรูปเปิดบริการเป็นจำนวนมาก แต่หากพูดถึงช่างหล่อพระที่มีองค์ความรู้ครบถ้วน ดั้งเดิม และรักษากรรมวิธีกระบวนการที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตอนนี้เหลือเพียงหลังคาเรือนเดียวในจังหวัดเชียงใหม่

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

บ้านสองชั้นในซอยถนนช่างหล่อ ตำบลหายยา อำเภอเมือง เป็นที่ตั้งบ้านของ สล่าอี๊ด-ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง ช่างหล่อพระแบบล้านนาแท้ๆ คนสุดท้ายของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยวัย 63 ปี ทำให้สล่าอี๊ดกลายเป็นช่างหล่อพระเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการยอมรับในด้านฝีมือที่มีคิวว่าจ้างหล่อและปั้นพระตลอดทั้งปี อีกทั้งองค์ความรู้ที่ครบถ้วนในศาสตร์เฉพาะตัวนี้ พระพุทธรูปฝีมือสล่าอี๊ดจึงมีประดิษฐสถานอยู่ในวัดสำคัญๆ หลายแห่งของเชียงใหม่ ทั้งวัดพระธาตุดอยสุเทพวรมหาวิหาร วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเชียงมั่น วัดล่ามช้าง วัดอุปคุต เป็นต้น

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ฉันปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้แบบล้านนาดั้งเดิมในหลายด้าน รวมถึงประติมากรรมแบบดั้งเดิมนี้หาเรียนรู้ยากลงไปทุกทีๆ โชคดีที่ลุงอี๊ดสละเวลาจากการสอนนักศึกษาที่ง่วนกับการขึ้นรูปปั้นพระพุทธรูปจากดินเหนียวมานั่งคุยกับฉันที่ชานหน้าบ้าน ซึ่งสองฝั่งแวดล้อมด้วยเบ้าหลอมเหล็ก เตาเผา ดินเหนียว และพิมพ์พระพุทธรูปที่รอนำไปเผาก่อนเทเหล็กหลอมในเวลาเช้า

ก่อนฉันจะได้เรียนรู้การหล่อพระพุทธรูปจากลุงอี๊ดที่แทบไม่มีตำราเล่มไหนสอน

พี่น้องทายาทสล่า

เด็กชายอี๊ดในวัยเด็กเติบโตในครอบครัวคนเมืองที่รับไม้ต่อกิจการหล่อพระมาแล้วกว่าร้อยปี

จากรุ่นสู่รุ่น ลุงอี๊ดคือทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูล

ถนนช่างหล่อที่ลุงอี๊ดอาศัยในปัจจุบัน ในอดีตคือส่วนหนึ่งของชุมชนสล่า หรือชุมชนช่างที่สามารถแตกแขนงสาขาได้เป็นชุมชนช่างหล่อที่ถนนช่างหล่อ ซึ่งทำเกี่ยวกับงานหล่อ ชุมชนช่างเขินที่วัดนันทาราม ชุมชนวัวลายที่ทำงานเครื่องเงินโดยเฉพาะ และชุมชนช่างแต้มที่ทำงานวาดเขียนเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่ลุงอี๊ดจดจำได้ดีในวัยเด็กคือ การช่วยเหลืองานเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกับครอบครัวที่หล่อพระเป็นกิจวัตรและอาชีพหลัก

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

“ตอนนั้นความคิดลุงอี๊ดยังไม่ได้ประสีประสามากครับเพราะยังเด็ก ก็มีช่วยเขานิดๆ หน่อยๆ ได้ช่วยเป็นลูกมือในงานหล่อพระ ช่วยตักน้ำบ้าง ช่วยยกพระบ้าง แต่จะให้ขึ้นรูปหรือปั้นก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะงานหล่อเป็นงานที่หนักพอสมควร จนโตขึ้นมาอีกหน่อยเรายังช่วยได้ก็ช่วยเขา ช่วยกั๊นดินบ้าง ขึ้นรูป ขึ้นทรงพระบ้าง” ลุงอี๊ดเล่าถึงความทรงจำในการหล่อพระเมื่อวัยเด็ก

“สมัยนั้นวงการพระคึกคักมากครับ ลูกค้าของพ่อลุงอี๊ดเป็นกลุ่มเซียนพระกันทั้งนั้น ส่วนมากจะอยู่ตามต่างจังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ ลพบุรี สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ตอนนั้นพระที่เราทำก็จะเป็นพระแบบโบราณ หมายถึง เราจะเน้นปั้นจากดินเหนียวที่ผสมกับแกลบเหลือง แกลบดำ เป็นดินเหนียวที่ผสมกัน เพราะย้อนกลับไปสมัยโบราณที่ปั้นพระกันมากว่า 200 ปี พระเราก็จะเป็นแกลบหมด แล้วพวกเซียนพระก็จะเล่นเป็นดินกัน เราเลยปั้นออกมาตามนั้นเลย แล้วเมื่อก่อนราคาก็ไม่แพงนะครับ พระพุทธรูปขนาด 9 นิ้วก็สักพันกว่าถึง 2,000 บาท หรือสูงสุดก็สัก 2,500 บาท เพราะว่ามันเป็นงานปั้นที่ทำด้วยมือเท่านั้น”

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

หลายปีต่อมา ลุงอี๊ดสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครอีกระยะหนึ่ง ในช่วงเวลาการตัดสินใจทำงานในมหานคร แต่กลับมีอะไรบางอย่างบอกให้ลุงอี๊ดกลับบ้าน

นั่นคืออาชีพการหล่อพระของครอบครัวตลอด 5 ชั่วอายุคนที่รอใครสักคนมาสานต่อ

“พ่อลุงอี๊ดให้ลุงอี๊ดซึมซับความรู้ไปทีละนิด ทีละหน่อย จากที่ลุงอี๊ดช่วยเขานะ เขาไม่ได้บังคับลุงอีี๊ดมากเท่าไหร่ ที่ลุงอี๊ดตัดสินใจกับน้องว่าจะทำต่อเพราะว่างานพระยังไปได้อยู่ งานพุทธศิลป์ของเรายังคงเอกลักษณ์ก็เลยทุ่มเทกันกับน้องตรงนี้เลย เราสองคนสืบสานงานของเราไปเรื่อยต่อจากพ่อของเรา”

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ดูแล้วจำ จำแล้วนำไปใช้

ลุงอี๊ดบอกฉันว่า การเรียนรู้งานหล่อพระไม่มีทางลัด เพราะองค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้มาทั้งหมดล้วนมาจากการสังเกตร่วมกับการเก็บประสบการณ์จากที่บ้าน และเรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด

“เราต้องเพิ่มเติมความรู้ นอกจากดูพ่อ ดูแม่ ลุงอี๊ดก็ไปดูคุณลุง คุณป้าที่บ้านเวลาเขาหล่อพระ ไปดูพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ เช่นวัดพระสิงห์ฯ​ วัดล่ามช้าง วัดพระเจ้าเม็งราย หรือที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (อำเภอเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่) มีดูจากหนังสือด้วย เพื่อดูลักษณะแต่ละปาง แต่ละศิลป์ว่ามีลักษณะอย่างไร

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

“ที่จริงแล้วโครงสร้างของพระพุทธรูปทุกแหล่งจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ลักษณะหรือทรงพระจะต่างกันมาก เช่นพูดถึงปางพระของอยุธยา สัดส่วนก็อาจจะไม่ได้สัดส่วน ปางพระสุโขทัยเขบ็ดหน้าจะสวย สัดส่วนที่เป๊ะเท่ากันทุกด้านก็อาจจะมาทางเชียงแสนบ้านเรา เพราะพระเชียงแสนของเราเป็นพระที่รูปร่างงดงาม ต้องมีลักษณะเฉพาะตัว แต่พอมายุคของลุงอี๊ด องค์ความรู้มันกว้างกว่าเดิม ลุงอี๊ดเลยต้องไปตามสถานที่ต่างๆ”

“แล้วกว่าลุงอี๊ดจะปั้นพระจนเป็นที่ยอมรับในหมู่ลูกค้าใช้เวลานานแค่ไหน” ฉันถาม

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

“กว่าจะปั้นสำเร็จใช้เวลาเกือบเป็น 10 ปีได้ครับ กว่าเซียนพระที่เป็นลูกค้าจะให้การยอมรับ กว่าจะเชื่อใจในฝีมือของเราก็ใช้เวลาเหมือนกัน เพราะตอนที่พ่อลุงอี๊ดเริ่มปั้น เริ่มหล่อ ก็เป็นพระแบบพระสิงห์ ลุงอี๊ดก็ได้ทำตามมา อย่างตอนนั้นเซียนพระท่านหนึ่งแนะนำว่า สัดส่วนของพระสิงห์ต้องได้ 9 นิ้วทุกส่วน ทั้งหน้าตัก จุดวัดทแยง หน้าเข่า วัดจากหน้าตักขึ้นมาปลายจมูกต้องได้ 9 นิ้วทุกจุด อาจจะบวกลบได้นิดหน่อย อันนี้ก็เป็นความรู้อีกอย่างหนึ่งที่ลุงอี๊ดเรียนรู้” ลุงอี๊ดเล่า

หล่อหน้าเตา

กระบวนการหล่อพระของลุงอี๊ดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน เพราะควันทั้งหลายจากการอบ หล่อ และเผา ส่งผลให้เกิดควันจำนวนมากที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ แต่วันนี้ลุงอี๊ดเปลี่ยนมาหล่อพระในช่วงเช้า เพราะเจ้าภาพผู้ว่าจ้างได้นิมนต์พระมาทำพิธีบวงสรวงพระพุทธรูประหว่างการหลอม

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

หลังจากปั้นแบบพระพุทธรูปด้วยดินเหนียวจนเสร็จสิ้นและผ่านการสำรอกขี้ผึ้งออกจนหมด แล้วนำไปพักไว้จนแห้ง ลุงอี๊ดจึงนำพิมพ์พระพุทธรูปมาอบในเตาให้ได้อุณหภูมิที่พอเหมาะ อย่างเช้าวันนี้ลุงอี๊ดจะหล่อพระพุทธรูปปางสมาธิขนาด 20 นิ้วตามออเดอร์จากวัดแห่งหนึ่ง ลุงอี๊ดจึงแบ่งพิมพ์เป็นสองส่วนคือ ตัวพระพุทธรูป และตัวฐาน

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ในระหว่างอบพิมพ์ดินเหนียวลุงอี๊ดจะหลอมเหล็กให้ละลายเพื่อเตรียมหยอดใส่พิมพ์ที่แข็งตัว วันนี้ลุงอี๊ดใช้เศษหม้อน้ำรถยนต์เก่าซึ่งเป็นทองเหลืองมาหลอมรวมกัน ระหว่างการหลอม เตาหลอมจะต้องร้อนตลอดเวลาจึงต้องใส่ถ่านอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้อุณหภูมิร้อนจัดอยู่เสมอจนเปลวไฟกลายเป็นสีเขียวแกมน้ำเงิน

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หรือจนได้น้ำทองเหลืองในปริมาณที่พอเหมาะ ก่อนจะนำหม้อน้ำทองเหลืองร้อนๆ หยอดใส่พิมพ์ดินเหนียวที่ถูกกลับหัวปักลงดินและขี้เถ้า ขั้นตอนนี้อันตรายและต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

เมื่อหยอดน้ำทองเหลืองได้ในปริมาณที่พอดีก็อุดดินเหนียวในช่องว่างที่เจาะไว้ทั้งหมด และทิ้งไว้ราวๆ 1 – 2 วัน จึงนำขึ้นมาทุบเอาพิมพ์ดินออกแล้วนำไปขัดเงาต่อ ซึ่งใช้เวลาอีกกว่าสัปดาห์จึงเป็นอันเสร็จพิธี

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ขั้นตอนการหล่อพระทั้งหมดที่ฉันเล่านี้ลุงอี๊ดไม่ได้ทำคนเดียว เพราะมีทั้งทีมงานและครอบครัวของลุงอี๊ดที่ช่วยเหลือในหลายส่วน ให้การหล่อพระแต่ละครั้งผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งฉันเรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่าการ “เล่นกับไฟ” เพราะตลอดกระบวนการ ลุงอี๊ดและทีมงานต้องอยู่หน้าเตาหลอมที่อุณหภูมิสูงมาก ทุกคนจึงต้องป้องกันตัวเองด้วยถุงมือกันความร้อน หน้ากากอนามัย N95 หรือแบบผ้าหนาพิเศษ รวมถึงการใส่เสื้อแขนยาวและหมวกเพื่อป้องกันความร้อน

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ฉันถามลุงอี๊ดอยู่หลายครั้งว่า เคล็ดลับในการหล่อพระให้สวยงามคืออะไร

ลุงอี๊ดตอบฉันว่า ไม่มี

เพราะการหล่อพระในทุกขั้นตอนต้องใช้ประสบการณ์และการสังเกต ซึ่งลุงอี๊ดไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้

ฉันเชื่อแล้วว่าผลงานสักชิ้นที่ออกมาดูได้ ผู้มีประสบการณ์มองเพียงปราดเดียวจะรู้ได้ทันที ว่าต้องแก้ไขจุดใดจึงจะสมบูรณ์

อนาคตของวงการหล่อพระล้านนา

คิวว่าจ้างหล่อพระของลุงอี๊ดยาวไปจนถึงสิ้นปี แต่ลุงอี๊ดจะหยุดรับงานหล่อพระเพียง 2 เดือน คือช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ให้สอดรับกับนโยบายงดเผาในที่โล่งแจ้งเพื่อลดการเกิดหมอกควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ในช่วงเวลานี้ ลุงอี๊ดจึงเตรียมพิมพ์ดินเหนียวไปพร้อมๆ กับการเปิดบ้านต้อนรับนักเรียน นักศึกษาจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การหล่อพระ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบล้านนา

“ลุงอี๊ดก็สอนการปั้นพระง่ายๆ ครับว่าเรามีวัตถุดิบอะไรบ้าง ก็ลองให้เด็กๆ กั๊นดิน (บีบน้ำออกจากดินเหนียวให้แห้ง) ขึ้นทรงเป็นรูปร่างง่ายๆ ส่วนน้องๆ จากมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนอาชีวะก็จะสอนลึกขึ้น อย่างวันนี้ก็ให้น้องเขาลองปั้น ลองขึ้นรูปจากตัวอย่างพระพุทธรุป” ลุงอี๊ดเล่าถึงการสอนศาสตร์ปั้นและหล่อพระพุทธรูปให้คนรุ่นใหม่

ฉันแอบคุยกับน้องนักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เขาเล่าให้ฉันฟังว่าเขาตัดสินใจมาเรียนที่บ้านลุงอี๊ดได้ 1 ปีพอดี สิ่งที่เขาได้รับจากลุงอี๊ดไม่ใช่เพียงแต่ความรู้เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ลุงอี๊ดสอนให้รู้ลึก รู้จริง เกี่ยวกับศาสตร์ในการปั้นและหล่อพระทุกอย่างในระดับที่สอนหมดเปลือก ไม่มีการกั๊กความรู้ใดๆ แม้กระทั่งเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ เช่น เทคนิคพิเศษการปั้น การหล่อ การขัดเงา เป็นต้น

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

ในแง่ของการดำเนินธุรกิจลุงอี๊ดยังมีตลาดลูกค้ารองรับอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่แต่เซียนพระ วัดวาอารามต่างๆ หรือประชาชนทั่วไปก็สนใจจ้างลุงอี๊ดหล่อพระพุทธรูปเพื่อนำไปเช่าบูชาในบ้าน หรือนำไปถวายวัดเพื่อความเป็นสิริมงคล

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงเหมือนกับศาสตร์วัฒนธรรมและความรู้อื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่คือ ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากรับไม้ต่อเพื่อเรียนรู้อย่างจริงจังจนสร้างอาชีพได้

“การหล่อพระมันเป็นงานเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ เช่นพระเชียงแสนของเชียงใหม่ เป็นพระที่มีความนิยมมากในทั่วทุกที่ ลุงอี๊ดก็อยากอนุรักษ์ไว้ อีกใจหนึ่งก็อยากสืบทอดเอาไว้ให้คนที่อยากมาเรียน มาซึมซับ มารู้จัก เรายังถือว่างานชิ้นของเราเป็นมรดกอยู่ เพราะก็ทำกันมากว่า 700 ปีเท่าอายุเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างพระขึ้นมา ลุงอี๊ดก็พยายามจะอนุรักษ์ตรงนี้ไว้อยู่ เพราะลุงอี๊ดก็ถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว แต่ก็มีเด็กๆ ที่เขามาร่ำเรียนให้ เราปั้นให้เขาทำได้ แต่คงต้องใช้เวลาซึมซับ ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปั้นพระอีกเยอะอยู่ โชคดีที่ครอบครัวลุงอี๊ดยังช่วยกัน ยังมีลูกหลานช่วยสืบสานอยู่ แต่ถ้ามันไปในระดับคนทั่วไปได้ก็จะดี” ลุงอี๊ดกล่าว

สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง, ช่างหล่อพระ

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป้ก เพิ่งจบใหม่จากรั้ววิจิตรศิลป์ มช. ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์อิสระอยู่ที่เชียงใหม่