ครั้งหนึ่ง โกวเล้ง นักเขียนนิยายกำลังภายในคนดัง เคยกล่าวว่า “ของสิ่งหนึ่งหากสามารถคงอยู่ ของสิ่งนั้นต้องมีคุณค่าในการคงอยู่ของมัน”

บางทีสิ่งนี้คงไม่ต่างจากการแปลหนังสือของสองพี่น้อง อานนท์-อำนวย ภิรมย์อนุกูล เจ้าของนามปากกา ‘น.นพรัตน์’ ที่แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเกือบ 60 ปี แต่ผลงานที่พวกเขาช่วยกันรังสรรค์ขึ้น กลับอยู่ยงคงกระพัน ทั้ง กระบี่อำมหิต แปดเทพอสูรมังกรฟ้า อุ้ยเสี่ยวป้อ เจาะเวลาหาจิ๋นซี มังกรคู่สู้สิบทิศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้วยสำนวนภาษาที่งดงาม บทบรรยายที่สละสลวย ละเอียดลออ สนุก เร้าใจ เห็นภาพชัดเจน คือเอกลักษณ์ที่ครองใจนักอ่านไทยทุกรุ่นทุกวัยมิรู้ลืม ถึงขั้นที่ศิลปินแห่งชาติอย่าง วินทร์ เลียววาริณ ยังกล่าวยกย่องว่าทั้งคู่คือ ‘หนึ่งในผู้สร้างมรรคาใหม่ให้ภาษาไทย’ 

แต่เบื้องหลังความสำเร็จไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย พวกเขาเป็นเหมือนจอมยุทธ์ที่บางครั้งรุ่งโรจน์ แต่บ่อยครั้งก็ล้มเหลว หากด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อนิยายจีนจึงฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และหยัดยืน จนกลายเป็นตำนานของยุทธจักรน้ำหมึกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

แม้ น.นพรัตน์ ผู้พี่จะจากโลกใบนี้ไปนานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ น.นพรัตน์ ผู้น้อง ก็ยังสานต่อปณิธานดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงถือโอกาสดี ชักชวน อำนวย ภิรมย์อนุกูล นักแปลอาวุโสมาพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต ความสัมพันธ์ และการทำงานที่ไม่เคยมีวันเกษียณ

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต
น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

ถึงจะเกิดห่างกัน 2 ปี แต่ใครหลายคนมักบอกว่าอานนท์กับอำนวยเป็นเหมือนฝาแฝด

เพราะทั้งคู่เติบโตมาพร้อมกัน เรียนหนังสือชั้นเดียวกัน ใช้โต๊ะตัวเดียวกัน แม้กระทั่งตอนโตก็ยังทำงานด้วยกัน

“ผมเป็นลูกคนจีน เกิดที่ถนนจักรวรรดิ ซึ่งโรงเรียนที่ใกล้สุดคือ เผยอิง ลูกหลานคนจีนแถวนั้นก็ต้องส่งมาเรียนที่นี่หมด แต่เวลานั้นหากจะเข้าเผยอิงต้องจับสลาก พ่อให้พี่ชายไปจับสลาก แต่จับไม่เข้า เลยบอกให้รออีกปี และให้พ่วงน้องไปด้วย แต่คราวนี้ไม่ไปเผยอิงแล้ว เพราะถ้าคนหนึ่งจับได้ อีกคนจับไม่ได้คงยุ่ง ให้ไปเรียนโรงเรียนชื่อประสาทปัญญา เราก็เรียนตั้งแต่ชั้นประถม 1 – 4”

ทั้งคู่หลงใหลการอ่านหนังสือมาตั้งแต่วัยเยาว์ อย่างนิยายไทยเลื่องชื่อ เช่น เสือเฒ่า ของ อรวรรณ หรือ พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต ก็อ่านมาตลอด

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

“พวกผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เป็นหนอนหนังสือ ชอบไปซื้อหนังสือที่คลังวิทยา เช่น จดหมายจางวางหร่ำ ราชาธิราช พวกผมก็ติดจากแกมานี่แหละ สมัยนั้นร้านหนังสือจะมีลดราคาประมาณปลายปี จากเดือนกันยายน-ธันวาคม ผมก็รอโอกาสนั้นแล้วก็ไปซื้อ ก็บ่มเพาะการอ่านเรื่อยมา”

เวลานั้นทั้งสองคนรักการอ่าน ถึงขั้นพับถุงกระดาษขาย ร้อยถุงได้บาทหนึ่ง เพื่อเก็บเงินไปซื้อหนังสือที่ตลาดนัดสนามหลวง จนกระทั่งได้หนังสือชุด อวสานอินทรีแดง ของ เศก ดุสิต 2 เล่มจบ ราคา 30 บาทมาครอบครอง พอซื้อเสร็จก็หมดตัวพอดี สองพี่น้องจึงต้องพากันเดินกลับบ้าน

เช่นเดียวกับนิยายจีน แม้ที่บ้านของทั้งคู่จะมีวรรณกรรมจีนดี ๆ อยู่หลายเล่ม แต่พ่อกลับไม่สนับสนุนเท่าใดนัก เหตุเพราะอยากให้สนใจเรื่องการค้าเป็นหลัก พวกเขาจึงมีโอกาสได้สัมผัสกับเรื่องราวของยุทธภพผ่านหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ครอบครัวรับอยู่ประจำทุกวันแทน

ทั้งคู่ต้องแอบอ่านที่ชั้นบน หากคนหนึ่งอ่าน อีกคนก็ต้องคอยเป็นต้นทาง เป็นแบบนี้เรื่อยมา โดยเวลานั้นนักเขียนในดวงใจคงต้องยกให้ ‘อ้อเล้งเซ็ง’

จนกระทั่งเมื่อพวกเขามาเรียนต่อโรงเรียนวุฒิศึกษา ย่านวงเวียนใหญ่ ก็เกิดจุดหักเหครั้งใหญ่ เมื่อพ่อของทั้งคู่ป่วยเป็นเบาหวาน แม่จึงให้ทั้งคู่ออกจากโรงเรียนกลางคันมาช่วยดูแลกิจการร้านทำกรอบกระจกเต็มตัว แต่เพื่อไม่ให้ลืมภาษาจีน แม่จึงจ้างครูมาสอนตอนเย็น โดยเนื้อหาหลัก ๆ ก็เป็นเรื่องการค้าและเขียนจดหมายทวงหนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ทวงแบบสุภาพและทวงแบบขอความเห็นใจ

คงเพราะต้องหัดเขียนหนังสือบ่อย พ่อบุญธรรมของอานนท์ ซึ่งรับเขาเป็นบุตรตั้งแต่ตอนเกิดใหม่ ๆ เนื่องจากดวงชะตาแรง จึงมอบหนังสือ ปทานุกรมจีน-ไทย ซึ่งเขียนโดย ประสิทธิ์ ชวลิตธำรง เป็นของขวัญ หวังให้ทั้งคู่ใช้ศึกษาและค้นหาความหมายเวลาติดขัด แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกันคือการที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้วิธีถ่ายทอดภาษาจีนมาเป็นภาษาไทยจนคล่องแคล่ว

แต่ถึงอย่างนั้น สองพี่น้องก็ยังวางบทบาทของตัวเองเป็นแค่นักอ่าน ไม่ได้ก้าวข้ามไปเป็นคนแปลหนังสือ จนเมื่อ พ.ศ. 2506 ทั้งคู่ได้พบกับเพื่อนบ้านคนใหม่ นามว่า แสงเพชร เสนีย์บดินทร์ ที่เปิดประตูการแปลหนังสือให้ทายาทร้านทำกรอบกระจก

แสงเพชรเป็นหลานชายของร้านซ่อมจักรยานยนต์ บ้านเดิมอยู่ที่ลำปาง เขาเป็นคนคุยสนุก แถมมีฝีมือทางด้านการเขียนอยู่บ้าง เคยส่งผลงานไปที่นิตยสาร ชาวกรุง ในเครือสยามรัฐ พอตอนหลังก็เริ่มมีผลงานเขียนพ็อกเกตบุ๊กให้สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ชื่อเรื่อง 7 พระกาฬ

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

ด้วยความที่อ่านมาก เขียนเยอะ แสงเพชรจึงมักชวนรุ่นน้องทั้งสองคุยเรื่องต่าง ๆ และชักชวนให้เขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสารด้วย แถมยังคุยเรื่องนิยายจีนกำลังภายในว่าสนุกอย่างไร อานนท์กับอำนวยจึงเล่าเรื่องที่เคยอ่านจากต้นฉบับภาษาจีนให้ฟัง แสงเพชรเห็นแววของทั้งสอง จึงไต่ถามว่าไม่สนใจแปลหนังสือบ้างหรือ จากนั้นก็แนะนำให้ไปเช่าหนังสือจากร้านแถวเยาวราชมาทดลองแปล

เรื่องแรกที่แปลส่งนั้น แสงเพชรก็บอกว่ายังไม่ผ่าน พอเรื่องที่ 2 ก็ไม่ผ่านอีก โดยกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นแจ้งว่ายืดยาดเกินไป แต่พวกเขาก็ไม่ท้อถอย ยังคงตั้งหน้าตั้งตาแปลต่อไป จนกระทั่งมาได้ตีพิมพ์ในเรื่องที่ 4 อีก 2 ปีถัดมาคือ เทพบุตรเพชฌฆาต ของ เล้าสี่ม้อ ความยาว 18 เล่ม โดยใช้นามปากกา ‘อ.ภิรมย์’ ซึ่งย่อมาจากชื่อและนามสกุลนั่นเอง

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

อำนวยยอมรับตามตรงว่าผลงานชิ้นนี้ใช้ไม่ได้เลย และหากใครมีเก็บไว้ก็อยากแนะนำให้เผาทิ้ง

“เราไม่มีประสบการณ์เลย เพราะเพิ่งอายุ 18 กับ 16 ปี ตอนนั้นไปเจอนิยายประกวดไต้หวัน เรื่องชนะเลิศ พี่ ว.ณ เมืองลุง แปลแล้วชื่อ ผาโลหิต จึงหาเรื่องรอง ๆ ลงมา แต่ดันไปเลือกอันดับ 5 พอมาคิดดู ทำไมเราถึงไม่เลือกเรื่องที่ 2 – 4 คงเพราะชื่อมันเตะตาดี แปลตรง ๆ คือ นักศึกษาล่าวิญญาณ แล้วพระเอกยังเจอปาฏิหาริย์ด้วย แต่สุดท้ายก็ไปยำเขาซะเละ เพราะมีคนบอกว่าอยากให้เรื่องสนุก ต้องเติมฉากโป๊เข้าไป เราก็เติมจนหาเค้าเดิมไม่เจอเลย”

ผลงานหนังสือเรื่องนี้ ทั้งคู่ได้เงินถึง 2,700 บาท ซึ่งสมัยนั้นถือว่าสูงมาก แม่จึงนำไปซื้อทองมาเก็บไว้ จากนั้นทั้งคู่ก็แปลหนังสืออีกเล่ม ชื่อ หัตถ์มรณะ 

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

ทว่าทำงานแปลได้ไม่ถึงปี นามปากกา ‘อ.ภิรมย์’ ก็มีอันต้องหยุดพัก เนื่องจากสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นตัดสินใจหยุดผลิตพ็อกเกตบุ๊กและหันไปผลิตนิตยสาร ศรีสยาม แทน

แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางนักแปลของสองพี่น้องจะต้องสิ้นสุดตามไปด้วย เพราะจุดเปลี่ยนนี้ได้พาทั้งคู่ไปสู่ตำนานบทใหม่อย่าง ‘น.นพรัตน์’ นามปากกาที่อยู่คู่วงการหนังสือเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

หลังเลิกพิมพ์งานกับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น โชคชะตาก็พาสองพี่น้องไปสู่บ้านหลังใหม่ คือสำนักพิมพ์เพลินจิตต์

สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ถือเป็นแหล่งรวมยอดฝีมือของเมืองไทย ทั้งนักเขียน นักแปล นักวาด ไม่ว่าจะเป็น ป. อินทรปาลิต พนมเทียน พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เหม เวชกร รวมไปถึงสองนักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับปรมาจารย์ คือ จำลอง พิศนาคะ และ ชิน บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘ว.ณ เมืองลุง’

เวลานั้น เวช กระตุฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ มีโครงการหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ชื่อ ชุมนุมเรื่องจีน ขนาด 8 หน้า รวบรวมนิยายจีนมานำเสนอให้ผู้อ่านวันละ 5 เรื่อง และต้องการหานักแปลเข้ามาเสริมทัพ ผู้ที่เคยวาดภาพปกให้สองพี่น้องจึงมาตามทั้งคู่ถึงที่บ้าน 

“เขาพาพวกผมไปหานายห้าง วันนั้นเป็นวันชิวสี่ (วันที่ 4 หลังปีใหม่จีน) ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรก แล้วนายห้างก็บอกว่าอยากให้ใช้นามปากกาอื่นด้วยเพื่อแปลอีกเรื่องหนึ่ง จึงเกิดเป็น น.นพรัตน์ ขึ้นมา”

โดย น. ย่อมาจาก อานนท์กับอำนวย ชื่อจริงของพวกเขา ส่วน นพรัตน์ มาจากตอนที่นั่งรถประจำทางสาย 5 จากบ้านที่ถนนจักรวรรดิมายังสำนักพิมพ์จะต้องผ่านย่านพาหุรัด ซึ่งที่นั่นมีร้านเพชรร้านหนึ่งชื่อ นพรัตน์ จึงขอยืมมาใช้เป็นนามปากกาเสียเลย

ในช่วงนั้นเองที่พวกเขามีโอกาสได้พบกับ ว.ณ เมืองลุง นักแปลรุ่นพี่ ซึ่งได้ติดตามงานมายาวนานและมีอิทธิพลต่อการแปลของสองพี่น้องพอสมควร

“นายห้างเขากั้นห้องให้พี่ ว. สำหรับอัดเสียง เพราะแกจะใช้วิธีแปลอัดใส่เทป แล้วให้คนไปถอดความเอามาอีกที ตอนนั้นแกออกมาจากห้องพอดี พอเจอกัน แกก็ว่าเป็นใคร มาจากไหน พวกผมก็บอกแกไป แกก็เล่าต่อว่าตอนที่ เทพบุตรเพชฌฆาต ออกมา มีนักอ่านมาถามว่าปลอมนามปากกาไปเขียนเรื่องอื่นหรือเปล่า แกก็บอกว่าไม่ใช่ ที่แท้เป็นพวกนาย 2 คนนี่เอง จากนั้นแกก็ถามว่า พวกคุณเลือกหนังสือยังไง ผมก็อธิบายว่าเลือกจากร้านหนังสือเช่าแถวเยาวราช

“คือในยุคนั้นการหาหนังสือเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เนื่องจากเมืองไทยมีการสั่งหนังสือจากฮ่องกงเข้ามา แต่หนังสือนั้นมาจากไต้หวันอีกที คือไต้หวันส่งหนังสือมาที่ฮ่องกง แล้วฮ่องกงก็จะกระจายสินค้ามาที่เมืองไทย เอามาให้นักอ่านเช่าเล่มละบาท พอเล่าให้ พี่ ว. ฟัง แกก็เขียนนามบัตรให้ใบหนึ่ง บอกเอาไปให้ร้านเช่าหนังสือชื่อ ‘น่ำเฮ็ง’ บอก คุณ ว. แนะนำมา แล้วขอหนังสือเขาไปดู ถ้าชอบเรื่องไหนก็ซื้อเล่มละ 3 บาท แต่ถ้าดูแล้วไม่ชอบก็คืนเขา ไม่ต้องเสียค่าเช่า ถือเป็นคุณูปการกับพวกผมมาก”

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

การแปลครั้งนั้น สองพี่น้องได้เลือกหนังสือ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เลือดมัจจุราช ใช้นามปากกาว่า อ.ภิรมย์ อีกเรื่องคือ บ้ออ้วงตอ ใช้นามปากกาว่า น.นพรัตน์ โดยวิธีการทำงานก็คือ อำนวยจะเป็นคนกางต้นฉบับภาษาจีน แล้วแปลออกมาเป็นภาษาไทย จากนั้นอานนท์ที่อยู่ข้าง ๆ ก็จะลงมือเขียนในหน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ซึ่งหากฟังแล้วยังไม่ชอบในสำนวนก็ทักท้วงและแก้ไขขัดเกลาจนกว่าจะพอใจ 

น่าเสียดายที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์ได้ไม่กี่ฉบับก็ต้องเลิกไป พวกเขาจึงหันกลับไปสู่ตลาดพ็อกเกตบุ๊ก แปลเรื่อง กระบี่อำมหิต ของ ตั้งแชฮุ้น โดยเรื่องนี้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ มังกรหยก ของ กิมย้ง แต่การเดินเรื่องรวดเร็วฉับไวกว่า ทำให้ผู้อ่านติดใจและส่งผลให้นามปากกา น.นพรัตน์ เริ่มโด่งดัง

แต่ถึงจะเป็นนักแปลดาวรุ่ง ชีวิตของสองพี่น้องกลับไม่ต่างจากเดิมเท่าใดนัก พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลกิจการทำกรอบกระจกของทางบ้าน และพอมีเวลาว่างถึงค่อยได้ทำงานแปลอยู่ที่โต๊ะกินข้าว วันหนึ่งแปลได้ 35 หน้า หน้าละ 10 บาท พอถึงตอนเช้าก็จะมีคนจากสำนักพิมพ์มารับต้นฉบับ

ข้อดีอย่างหนึ่งของพี่น้องภิรมย์อนุกูล คือพวกเขาสนุกกับการได้ค้นหาต้นฉบับใหม่ ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่ร้านหนังสือที่ ว.ณ เมืองลุง แนะนำเท่านั้น ทั้งคู่ยังทดลองส่งจดหมายไปสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ที่ไต้หวันโดยตรงอีกด้วย จนมีนิยายจีนดี ๆ ให้เลือกอ่านมากยิ่งขึ้น

“บางทีหนังสือที่ร้านเช่าก็มาไม่ครบชุด เพราะปกติหากมี 100 เรื่อง ทางฮ่องกงก็จะส่งมาที่เมืองไทยสัก 10 – 20 เรื่อง เราก็เลยบังเกิดความคิดว่าทำไมไม่ไปหาจากต้นตอเลย ผมก็เลยทดลองเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ซึ่งมีคนบอกว่าเวลาจ่าหน้าซองต้องแนบภาษาอังกฤษไปด้วย เราก็มาช่วยกันค้นหาคำศัพท์แล้วก็ส่งไป ซึ่งสำนักพิมพ์ที่เขียนไปหาชื่อ ‘ซิงไท้’ เพื่อขอรายการหนังสือ เขาก็ส่งมาให้

“จากนั้นเราก็ถามว่าถ้าจะสั่งหนังสือต้องทำอย่างไร เขาก็บอกให้สอดแบงก์ดอลลาร์มาก็ได้ เราก็เลยเอากระดาษมาทับแล้วก็แนบเงิน 5 เหรียญฯ ส่งเขาไป เขาก็ส่งหนังสือมาให้ 20 เล่ม และพอติดต่อซิงไท้ได้แล้ว เราก็ไปสำนักพิมพ์อื่นบ้าง ตอนนั้นเราให้เขาช่วยแนะนำนักเขียนมาด้วย เขาก็แนะนำมา 3 คน คือ โกวเล้ง อ้อเล้งเซ็ง จูกัวะแชฮุ้น แล้วก็ส่งหนังสือมาให้”

ไม่เพียงแค่นั้น มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเคยถามนายห้างว่ามีใครจะไปไต้หวันบ้างไหม เพราะอยากฝากซื้อหนังสือของตั้งแชฮุ้น พอดี ศักดิ์ รัตนาคม เจ้าของสายส่งนครไทยกำลังไปเที่ยว เขาจึงฝากรายชื่อไปให้พร้อมกัน ซึ่งศักดิ์ก็ใจดี ซื้อมาให้ 2 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ ขลุ่ยเพชฌฆาต แต่น่าเสียดายที่ขาดเล่มแรก น.นพรัตน์ จึงตัดสินใจดำน้ำแต่งเสริมตอนต้นจนสมบูรณ์ และกลายเป็นหนังสือขายดีอีกเล่มของพวกเขา

การเรียนรู้และขวนขวายหาผลงานดี ๆ มาอ่าน ทำให้อานนท์กับอำนวยเปิดโลกของนิยายกำลังภายในมากยิ่งขึ้น เห็นสไตล์ ความคิด ของนักเขียนแต่ละคน 

อย่างกิมย้ง นักเขียนดังจากฮ่องกง เดิมทีช่วงแรก ๆ ที่หัดแปลนิยายจีน พวกเขาเคยยืมหนังสือมาอ่าน แต่อ่านได้วันเดียวก็ต้องคืน เพราะภาษาสูงเกินไป อ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าใดนัก แต่เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ก็เข้าใจเสน่ห์ของกิมย้งว่าเป็นนักเขียนมือพระกาฬที่นำประวัติศาสตร์จีนมาดัดแปลงให้เข้ากับเนื้อหาของนิยายได้อย่างแนบเนียน และพอยิ่งโตขึ้น ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่ถูกสอดแทรกไว้ในเรื่อง

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

ขณะที่โกวเล้ง นักเขียนจากเกาะไต้หวัน ช่วงแรก ๆ ตลาดไม่ค่อยชอบงานของเขาเท่าไหร่ แต่ น.นพรัตน์ กลับมองว่านักเขียนคนนี้น่าสนใจและแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เพราะเจาะลึกจิตวิญญาณของตัวละครแต่ละตัวได้ดีมาก สะท้อนปรัชญาที่ดี นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้

ที่สำคัญ งานของโกวเล้งยังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและญี่ปุ่นมาพอสมควร นับเป็นต้นทุนที่ประยุกต์และดัดแปลงจนกลายเป็นผลงานชั้นเยี่ยมได้ เช่น The Godfather ก็ดัดแปลงเป็น ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่ หรือแม้แต่ ฤทธิ์มีดสั้น ก็มีแรงบันดาลใจมากนิยายตะวันตกเรื่อง Gunfight at the O.K. Corral 

มุมมองเหล่านี้เองมีผลต่อวิธีคัดเลือกต้นฉบับมาถอดความเป็นภาษาไทยของสองพี่น้อง จากเดิมที่เคยเน้นแต่ความบันเทิงและปาฏิหาริย์ต่าง ๆ เป็นหลัก ก็เริ่มพยายามเลือกเรื่องที่ไม่เป็นยาพิษต่อผู้อ่าน พร้อมกันนั้นก็ยังพยายามเสาะหาแนวคิดดี ๆ ที่มีประโยชน์มานำเสนอ ดังสำนวนที่ว่า ‘หนังสือทุกเล่มเหมือนซุกซ่อนทองคำอยู่ ถ้าเราไปขุดค้น เราอาจได้ทองคำที่มีค่านับไม่ถ้วน’

การได้สัมผัสหนังสือดีอาจทำให้ความรู้เรื่องนิยายกำลังภายในของทั้งคู่ก้าวไกล แต่การได้คลุกคลีกับ ว.ณ เมืองลุง ก็เป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้พวกเขาเติบโตไปโดยไม่รู้ตัว

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

แม้ ว.ณ เมืองลุง จะลาออกจากสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ไปอยู่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นนานแล้ว แต่ก็มักแวะเวียนมาพูดคุยกับรุ่นน้องทั้งสองคนถึงบ้านพักอยู่เสมอ

“พี่ ว. แกเป็นคนมีฐานะดี พอเขาส่งต้นฉบับเสร็จตอนเย็น เขาก็จะมาเที่ยวไนต์คลับโลลิต้าแถวราชดำเนิน ซึ่งตอนนั้นก็มีคนร่วมก๊วนกับแกเยอะมาก เช่น รัตนะ ยาวะประภาษ นพพร บุณยฤทธิ์ บางทีตั้งชื่อเรื่องไม่ได้ ก็ถามคนพวกนี้ เข้าใจว่า คุณรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) จะเป็นคนตั้งชื่อ พยัคฆ์ร้ายบู๊ลิ้ม ให้

“แล้วขากลับบ้าน แกจะต้องผ่านไปจักรวรรดิเพื่อขึ้นสะพานพุทธฯ เลยแวะมาคุยกับผมอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพี่เขาเอ็นดู อยากจะประสาทวิชาความรู้ให้ ก็จะคอยแนะนำให้เลือกนักเขียนคนนั้นคนนี้ คือขณะที่แกไปซึมซับสิ่งต่าง ๆ จากเพื่อนนักเขียน พวกผมก็ได้ครูพักลักจำจากพี่ ว. เช่นกัน”

น.นพรัตน์มีผลงานกับสำนักพิมพ์เพลินจิตต์อยู่ราว 3 ปี ก็มีเหตุให้ต้องโยกย้ายสำนักพิมพ์ เนื่องจากลูกชายของนายห้างป่วย ต้องใช้เงินรักษาจำนวนมาก กระทั่งต้องขายตึกที่ถนนหลานหลวงแล้วย้ายไปอยู่แถวสุขุมวิทแทน แถมยังมีปัญหาเก็บเงินจากตัวแทนในต่างจังหวัดไม่ค่อยได้ ในที่สุดจึงตัดสินใจเลิกกิจการ สองพี่น้องจึงย้ายไปพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์บันดาลสาส์นแทน ทำอยู่ได้ 7 ปี ก็มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัว จึงโยกมาอยู่ที่สำนักพิมพ์บรรณกิจ 

ในช่วงนั้นกระแสการแปลในต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป นักเขียนนิยายจีนไม่ได้ออกหนังสือเป็นเล่มเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีเขียนลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ผลที่ตามมาคือนักแปลจึงแปลเรื่องซ้ำกันออกมาเยอะมาก

“ผมกับพี่ ว. ก็มีเป้าหมายเดียวกัน เพราะต่างคนต่างสั่งนิตยสารมาอ่าน หากชอบเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น ซึ่งบางทีออกมาก็ซ้ำกันเยอะ แล้วพูดตรง ๆ ถ้าผมมีสิทธิ์มีเสียงหน่อย ผมคงไม่ทำ คือมีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ เพชฌฆาตหุ่น ซ้ำเหมือนกัน เขาก็บอกว่าคุณตัดจบเร็ว ๆ เลยนะ จาก 20 เล่มก็เหลือ 14 เล่ม เนื้อหามันก็เละแต่ว่าเราจบก่อน พอเจออีกเรื่องชื่อ นักล่ากรรไกรทอง ผมบอกว่าไม่ตัดแล้วนะ แปลตามนั้น ชนก็ชนไม่เป็นไร หลังจากนั้นก็ชนไปเรื่อย 

“พอชนได้สักพักหนึ่ง ก็มีคนรู้จักมาบอกว่าอยากจะติดต่อกับพี่ ว. ไหม เขามีเบอร์ คือพี่ ว. เป็นบุคคลที่แปลกประหลาด เขาจะไม่บอกเบอร์โทรศัพท์ให้ใคร หากสำนักพิมพ์ไหนอยากได้งานไปลงก็ต้องไปหาที่บ้าน หรือไม่อย่างนั้นพี่ ว. ก็จะไปหาเอง ตอนนั้นพอเขาถามว่าอยากติดต่อไหม ผมก็บอกว่าอยากสิ อยากไปกราบขออภัยแกเพราะแปลชนกันตั้งหลายเรื่อง พอโทรเข้าไปผมก็บอกว่า พี่ยังโกรธผมอยู่หรือเปล่าที่แปลชนกัน แกก็ว่าจะไปโกรธทำไม จากนั้นผมก็ถามว่าจะไปคารวะพี่ได้ไหม แกก็บอกว่ามาเลย

“คำพูดหนึ่งที่แกพูดแล้วผมยังจำได้ดีถึงวันนี้คือ ‘นักเขียนไม่มีใครฆ่าเขาได้หรอก นอกจากตัวเขาเอง’ คืออย่าไปคิดว่านักแปลคนอื่นจะไปชนะคนนี้ได้ เป็นไปไม่ได้ แล้วเขาก็ชมว่าผมทำดีแล้ว ถ้ามีปัญหาจะถามอะไรแกก็ได้เลย” 

สำหรับ น.นพรัตน์แล้ว ว.ณ เมืองลุงเป็นเสมือนเป็นพี่ชาย อาจารย์ และหากไม่มี ว.ณ เมืองลุง ก็คงไม่มี น.นพรัตน์เช่นกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นกระบี่มือหนึ่งแห่งวงการแปลนิยายจีนตัวจริงเสียงจริงในใจของทั้งคู่เสมอมา และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

พ.ศ. 2520 ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญในชีวิตของอานนท์และอำนวย จากนักแปลที่มีผู้อ่านติดตามหลักพันก็กลายเป็นเจ้าของคอลัมน์ที่มีผู้อ่านนับแสนติดตามเหนียวแน่นทุกวัน

เพราะช่วงนั้นเมืองไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้ไม่นาน หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ข่าวการเมืองหมดโอกาสขึ้นหน้า 1 คอลัมน์ที่มีอยู่ก็แสนจะจืดชืด เนื่องจากบทวิพากษ์วิจารณ์ที่เคยเป็นที่นิยมกลับถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก เพราะหากผู้มีอำนาจไม่พอใจ ก็อาจถูกปิดหัวหนังสือได้ง่าย ๆ เช่นกัน

แม้แต่หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศ อย่าง ไทยรัฐ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น สมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการในเวลานั้น จึงคิดว่าควรหาคอลัมนิสต์หน้าใหม่ ๆ มาช่วยเสริมทัพสำนักข่าวหัวเขียวให้กลับมาคึกครื้นอีกครั้ง พอดีเวลานั้นเขาไปสำรวจตลาดแถวย่านบางลำพู แล้วสังเกตเห็นว่าตามร้านเช่าหนังสือ ผู้คนต่างนิยมอ่านนิยายจีนกำลังภายใน จึงคุยกับ สมชาย กรุสวนสมบัติ เจ้าของนามปากกา ซูม เพื่อให้ช่วยไปทาบทามและตามหานักแปลที่น่าสนใจ

ในช่วงแรก ซูมได้พูดคุยกับ ว.ณ เมืองลุง แต่ด้วยความที่นักแปลรุ่นใหญ่มีเงื่อนไขส่วนตัวค่อนข้างเยอะ สุดท้ายก็มาลงเอยที่นักแปลสองพี่น้อง น.นพรัตน์ ซึ่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกองบรรณาธิการเต็มที่ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้อ่านรายวันที่ต้องการนิยายที่เดินเรื่องสนุก รวดเร็ว และฉับไว

“ตอนนั้นผมกำลังแปลเรื่อง หงส์ผงาดฟ้า ให้กับบรรณกิจอยู่ พี่ซูมก็ติดต่อมา ถามว่ามีเรื่องใหม่ ๆ เสนอไหม ตอนนั้นโกวเล้งกำลังลงเรื่อง อินทรีผงาดฟ้า พอดี จึงเสนอไป พี่ซูมเลยบอกว่าให้แปลมาสัก 30 หน้าก็ได้ ผมจึงแปลไปให้อ่านดู ตอนหลังแกก็เล่าให้ฟังว่าเขาเอาต้นฉบับผมไปซีร็อกซ์แล้วกระจายให้กอง บก. อ่าน แล้วลงคะแนนกัน สุดท้ายทุกคนบอกว่าเดินเรื่องฉับไวดี จึงรับเข้ามาทำงานใน ไทยรัฐ

“จากนั้นพี่ซูมก็มาถามว่ามีข้อเรียกร้องอะไรไหม พวกเราก็บอกว่าไม่มี แล้วแต่จะกรุณา แกก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นขออย่างหนึ่งได้ไหม หน้าแรก ๆ ที่มีตัวละครหลายตัว ช่วยตัดให้มันสั้น ๆ หน่อย เพราะคนอ่าน ไทยรัฐ คงจำตัวละครเล็ก ๆ น้อย ๆ เยอะแยะไม่ได้ ผมก็บอกว่าได้ ก็ตัดไป แต่เผอิญข่าวนี้ดันไปถึงหู เดลินิวส์ ก่อน เขาเลยรีบติดต่อพี่ ว. ให้ไปทำ แกก็เลยเลือก ผีเสื้อสยองขวัญ มาทำ ลงก่อน อินทรีผงาดฟ้า ประมาณ 2 เดือน แต่น่าเสียดายที่โกวเล้งเขียนชุด 6 สยองขวัญ เพียงเรื่องเดียว จากนั้นไม่เขียนต่อแล้ว ทางนิตยสารเลยเรียก อึ้งเอ็ง มาเขียนต่อ แต่เขียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็เลยไม่ค่อยประสบความสำเร็จ”

หลังจาก อินทรีผงาดฟ้า เปิดตัวใน ไทยรัฐ หน้า 6 ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม เช่นเดียวกับชื่อของเจ้าหนุ่มดาบโค้งจันทร์เสี้ยว ‘เต็งพ้ง’ ที่ฮิตติดลมบนไปทั่วประเทศ ถึงขั้นที่ กำพล วัชรพล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ตกรางวัลให้ทั้งคู่เป็นตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวฮ่องกง 

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

ทว่าเมื่อแปลไปได้สักเดือนกว่า น.นพรัตน์ กลับคิดที่จะขอเลิกแปลกลางคัน

“เรารู้สึกว่าโกวเล้งไม่ได้เขียนแล้ว เพราะสำนวนของโกวเล้งจะไม่เหมือนใคร สำนวนเขาคล้าย ๆ กับ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ คือ สั้น กระชับ บางครั้งทั้งบรรทัดมีคำเดียวก็มี แต่หัวหน้าสมิตบอกว่าไม่ได้ ตอนนี้ยอดกำลังขึ้น คุณไปหาทางลากให้มันยาว ๆ หน่อยแล้วกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เวลาแปล ผมกับพี่ชายต้องไปอยู่ในห้องนอน ไม่ให้ใครรบกวน มันจะได้สงบ แล้วถ้าใครไปอ่านฉบับภาษาจีนแล้วมาเทียบจะไม่เหมือนกัน เพราะเราเติมโดยเอาเค้าจากโกวเล้งจากเล่มนั้นเล่มนี้มาปรับ บางจุดก็แต่งเติมเข้าไป”

น.นพรัตน์ ยังคงมีผลงานการแปลที่ ไทยรัฐ อย่างต่อเนื่อง ทั้ง หลั่งเลือดสะท้านภพ จอมดาบผ่าฟ้า เหยี่ยวนรกทะเลทราย อุ้ยเสี่ยวป้อ มฤตยูแก้วผลึก เป็นต้น

น.นพรัตน์ ตำนานนักแปลไร้เทียมทาน ผู้ขอหยัดยืนถ่ายทอดนิยายจีนกำลังภายในไปชั่วชีวิต

เบื้องหลังความสำเร็จของนิยายจีนใน ไทยรัฐ นอกจากสไตล์การแปลที่โดดเด่นของสองพี่น้องแล้ว ทักษะการนำเสนอของกองบรรณาธิการก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการดึงคำคมจากในเรื่องมาเป็นคำโปรย ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ไม่น้อย แถมยังมีคำแนะนำของรุ่นพี่ เพื่อให้เรื่องนั้นสมบูรณ์ที่สุด

น้าทองเติม เสมรสุต ซึ่งเป็นคนคิดค้นตัวพิมพ์ของ ไทยรัฐ เขาติดนิยาย เหยี่ยวนรกทะเลทราย มาก มีอยู่ครั้งหนึ่งผมส่งต้นฉบับแล้วน้าเติมก็เขียนลายมือกลับมาบอกว่ามีข้อบกพร่องตรงนี้นะ คือเราได้พบกับบุคคลที่ถือเป็นสุดยอดของเมืองไทย หรือแม้แต่ พี่โกวิท สีตลายัน เจ้าของนามปากกา มังกรห้าเล็บ หรือ คุณรพินทร์ พันธุโรทัย คนเขียนบทอาเศียรวาทของ ไทยรัฐ สมัยนู้น เขาก็แนะนำเราเยอะมาก คือเราได้ความรู้จากคนพวกนี้ ซึ่งประเมินเป็นตัวเงินไม่ได้เลย” 

และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2524 น.นพรัตน์ ก็ได้รับโจทย์ใหม่สำหรับชีวิตนักแปล คือการเขียนนิยายกำลังภายในจากบทโทรทัศน์

โดยเวลานั้นเกิดกบฏเมษาฮาวายขึ้น เป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยถูกจำกัดการเสนอข่าวการเมืองอีกครั้ง ขณะที่นิยายกำลังภายในก็เริ่มหมดความนิยม หัวหน้าสมิตจึงออกไอเดียว่า ศึกสายเลือด ทางไทยทีวีสีช่อง 3 กำลังโด่งดัง น่าจะประสานขอบทโทรทัศน์มาเขียน นับเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่นำละครโทรทัศน์มาถ่ายทอดผ่านหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์

“ช่อง 3 ให้มาแต่บทพากย์เฉย ๆ มีแต่ประโยคพูด ส่วนเรื่องภาพนั้นเราต้องจินตนาการเองว่าเป็นอย่างไร อย่างฉากต่อสู้เขาก็จะเขียนแค่ฉากต่อสู้ เราจึงต้องอาศัยความสามารถประจำตัวที่เคยอ่านนิยายมาเยอะคิดกระบวนท่าเอง บรรยายด้วยสำนวนของเรา

“พอจบก็มีภาค 2 ขึ้นมา ตอนนี้ทาง ผอ.กำพลก็เข้ามามีบทบาท คือผมก็บอกไปตรง ๆ ว่าทำไม่ไหว เพราะที่ลงในรายวันกับทีวีไม่เหมือนกันเลย แล้วจะไปขอเทปจากช่อง 3 ก็ไม่ได้ เขากลัวหลุด ทาง ผอ. จึงสั่งให้ลูกน้องไปขออัดหนังจากฮ่องกงมา แล้วมาเปิดให้ดู ช่วงแรกเราก็ไปที่บ้าน ผอ. โดยทุกเช้า ผอ. จะให้คนขับรถมารับแล้วก็ไปเปิดดูที่บ้านแก ดูสักพักแล้วก็กลับมาเขียน

“แต่ปัญหาคือเขาพูดกวางตุ้ง ส่วนพวกผมเป็นคนแต้จิ๋ว เลยดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ยังดีที่เขาส่งบทพากย์มาให้ แต่พวกรายละเอียด ความหมายลึก ๆ มันจะไม่ได้ สุดท้าย ผอ. จึงให้ลูกน้องอีกคนเป็นคนจีนชื่อ หน่ำไจ๋ ถอดความจากภาษากวางตุ้งเป็นตัวหนังสือเขียน เราจะได้ไม่ผิดพลาด”

แม้จะเป็นงานที่ยากและท้าทาย แต่ผลตอบรับก็ดีไม่แพ้เดิม จาก ศึกสายเลือด พวกเขาก็เริ่มทำเรื่อง ฤทธิ์หมัดสะท้านบู๊ลิ้ม ประกาศิตเหยี่ยวพญายม ศึกสองนางพญา สองเทพบุตรโลกันตร์ จนกระทั่งกระแสหนังจีนร่วงโรยไป ไทยรัฐ จึงหันมาตีพิมพ์ละครไทยแทน

ในช่วงนั้นเองที่ น.นพรัตน์ เริ่มคิดถึงการกลับไปสู่วงการหนังสือเล่มอีกครั้งหลังจากร้างราไปนาน โดยวางแผนที่จะเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง แต่โชคดีที่ทั้งคู่ได้พบกับ ระวิ โหลทอง เสียก่อน แผนการนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ

ในอดีต ระวิเคยเป็นหัวหน้าข่าวกีฬาของ ไทยรัฐ ต่อมาจึงลาออกมาเปิดหนังสือพิมพ์ สยามกีฬา ของตัวเอง แล้ววันหนึ่งเขาก็แวะเวียนไปงานแต่งงานของผู้ใหญ่ใน ไทยรัฐ อานนท์จึงเข้าไปปรึกษา โดยบอกว่าเวลานี้นิยายจีนกำลังภายในซบเซามาก แปลแล้วไม่ค่อยมีใครกล้าพิมพ์ หากอยากตั้งบริษัท พิมพ์เอง ขายเอง ควรทำอย่างไร เมื่อได้ยินดังนั้น ระวิจึงรีบห้ามพร้อมบอกว่า “นายสองคนเขียนนิยายกำลังภายใน ชักกระบี่มาชั่วชีวิต แต่ถ้านายไปพิมพ์หนังสือขายเอง นายจะต้องถูกชักดาบแน่นอน”

อำนวย ภิรมย์อนุกูล น.นพรัตน์-ผู้น้อง นักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน ผู้หยัดยืนถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุทธภพสู่นักอ่านชาวไทยมานานเกือบ 60 ปี

จากนั้นเขาก็ช่วยรับซื้อเรื่องแปลของสองพี่น้องเรื่อยมา โดยเรื่องแรกที่พิมพ์ให้คือ ฟันฟ้าผ่านรก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กระดึง สายลม คมดาบ

“พี่ระวิไปขอร้องสายส่ง ก.สัมพันธ์ ที่แกส่ง สตาร์ซอคเก้อร์ ให้บ่อย ๆ ขอเงินเขามาสักก้อน แล้วก็ให้เราทำหนังสือ ซึ่งพอออกไปก็ขายดี พิมพ์ 2 ครั้ง พี่ระวิเลยเรียกพวกเราบอกให้ไปหาหนังสือมา ก็เลยไปไต้หวัน จนได้ กระบี่พิโรธ ของโกวเล้งมา เป็นชุด เล็กเซียวหงส์ ภาคพิเศษ ตอนนั้นเราเห็นเล่มนี้วางอยู่ข้างถนน ก็เอ๊ะมีเรื่องใหม่ของ เล็กเซียวหงส์ เหรอ จึงนำมาแปล แล้วก็เล่มต่อมาคือ เพชฌฆาตลำพอง ของอึ้งเอ็ง ซึ่งก็ไปได้เรื่อย ๆ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็ช่วยต่อลมหายใจเราไปได้”

หากแต่ระยะหลังกระแสนิยายจีนกำลังภายในเริ่มน้อยลงอีก ทั้งคู่จึงเปลี่ยนแนว หันไปจับตลาดหนังสือ How to แทน โดยหยิบงานของนักเขียนไต้หวันชื่อ หลิวยง มาถอดความเป็นภาษาไทยชื่อว่า โคตรโกง และใช้นามปากกาว่า ใบไผ่เขียว ซึ่งปรากฏว่าซีรีส์ชุดนี้โด่งดังมาก สร้างรายได้ให้สองพี่น้องนับล้านบาท กระทั่งพวกเขาคิดว่าอาจถึงเวลาเลิกแปลนิยายแล้ว

แต่พวกเขาก็ได้พบกับจุดเปลี่ยนใหญ่ในชีวิต เมื่อรู้จักกับผู้บริหารใหญ่คนหนึ่งที่ช่วยทำให้นามปากกา น.นพรัตน์ กลับมาโลดแล่นในวงการนิยายจีนกำลังภายในได้อีกครั้ง

อำนวย ภิรมย์อนุกูล น.นพรัตน์-ผู้น้อง นักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน ผู้หยัดยืนถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุทธภพสู่นักอ่านชาวไทยมานานเกือบ 60 ปี

เมื่อ พ.ศ. 2543 ชื่อของ น.นพรัตน์ กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่ววงการน้ำหมึก เมื่อพวกเขาได้สร้างผลงานชิ้นโบแดงอย่าง เจาะเวลาหาจิ๋นซี ผลงานของ หวงอี้ นักเขียนหน้าใหม่จากเกาะฮ่องกง จนปลุกกระแสนิยายจีนกำลังภายในในเมืองไทยให้ฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง

เบื้องหลังของความสำเร็จนี้มาจากชายที่ชื่อ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารในเครือซีพี ซึ่งแนะนำให้ระวินำผลงานของนักเขียนคนนี้มาตีพิมพ์ แม้ในเรื่องจะมีฉากโป๊พอสมควรก็ตาม ด้วยเห็นว่าเป็นนักเขียนไฟแรง มีลีลาการเขียนที่แตกต่างจากนักประพันธ์ยุคคลาสสิก น่าจะโดนใจผู้อ่านไม่ยาก โดยเขารับอาสาเป็นตัวกลางคอยประสาน พร้อมกับติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ให้ นับเป็นนิยายจีนกำลังภายในเรื่องแรก ๆ ของบ้านเราที่ได้รับอนุญาตจากผู้ประพันธ์โดยตรง

“ผมรู้จักคุณก่อศักดิ์ผ่าน อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เพราะตอนนั้นคุณก่อศักดิ์ตั้งใจจะแปลหนังสือเกี่ยวกับหมากล้อมเล่มหนึ่ง เป็นเรื่องของอาจารย์เขาชื่อ อู๋ชิงหยวน จึงมีการชักชวนบรรดานักแปลมาช่วยกันแปลคนละ 1 – 2 บทจนออกเป็นหนังสือชื่อ เหนือฟ้ายังมีฟ้า แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกันเลย จนคุณก่อศักดิ์นัดเจอกับพี่ระวิแล้วก็แนะนำหวงอี้ เพราะเขาเคยไปฮ่องกง แล้วตัวแทนของซีพีแนะนำให้รู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องยากมากนะ เนื่องจากตอนหลังที่ผมเจอเขา ถึงรู้ว่าเขาเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว อาศัยอยู่ในเกาะที่ร้างมาก แล้วเวลาจะติดต่อต้องผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งคนรับคือแฟนเขา คุณจะเข้าถึงตัวเขาไม่ได้เลย

“แล้วความจริงก่อนที่คุณก่อศักดิ์จะแนะนำมา ผมก็เคยสั่งหนังสือของหวงอี้มาแล้ว คือ เทพทลายนภา แต่ตอนนั้นพี่ ว. แกแปลไปก่อน แต่ใช้ชื่อว่า เหยี่ยวเหนือฟ้า ซึ่งตอนที่อ่านก็รู้สึกว่ามีบทเอ็กซ์เยอะมาก เลยไม่กล้าแปล พอเขาแนะนำ เจาะเวลาหาจิ๋นซี มา ผมยังท้วงว่ามันไม่ใช่กำลังภายใน อีกอย่างคือฉากโป๊เยอะมาก พี่ระวิก็บอกว่าไม่ต้องคิดมาก ให้แปลเลย สารภาพตามตรงว่าฉากโป๊บางฉากก็ตัดทิ้งบ้าง เพราะมันเยอะเกินไป”

อำนวย ภิรมย์อนุกูล น.นพรัตน์-ผู้น้อง นักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน ผู้หยัดยืนถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุทธภพสู่นักอ่านชาวไทยมานานเกือบ 60 ปี

หากแต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานครั้งนี้ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก คือแพทย์ได้ตรวจพบว่า อานนท์ – น.นพรัตน์ผู้พี่นั้นป่วยเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก ต้องเข้ารักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นเหตุให้อำนวยต้องทำงานคนเดียวเป็นหลัก จนภายหลังเมื่ออาการดีขึ้น มาพักรักษาตัวที่บ้านได้ เขาจึงใช้วิธีเขียนต้นฉบับจากบ้านที่สะพานเหลือง แล้วให้คนส่งไปให้พี่ชายที่ปิ่นเกล้า เมื่ออานนท์ขัดเกลาเสร็จก็จะให้คนส่งกลับมาอีกที จนกระทั่งหนังสือเสร็จสมบูรณ์ครบทั้ง 8 เล่ม

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อานนท์อยากเร่งฟื้นร่างกายให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว จึงรับประทานเนื้อวัว ซึ่งไม่แน่ใจว่าไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งหรือไม่ แต่สุดท้ายอาการก็ลุกลามหนักถึงขั้นต้องตัดกล่องเสียง ทว่าแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤต แต่อานนท์ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ธนทัศน์ เพื่อแก้เคล็ดตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ที่นับถือ ก็ยังคอยให้กำลังใจน้องชายอยู่เสมอ ด้วยการเขียนจดหมายย้ำว่า หากเขาเป็นอะไรขึ้นมาก็ขอให้ช่วยรักษานามปากกานี้ไว้ แม้เหนื่อยยากเพียงใดก็ขอให้ทนต่อไป

และช่วงนั้นเองที่อำนวยตัดสินใจทำงานชิ้นใหญ่ของชีวิต อย่างการแปลหนังสือ มังกรคู่สู้สิบทิศ ผลงานเรื่องยาว 65 เล่มของหวงอี้ 

“เราวางแผนจะทำ 21 เล่ม โดยเอา 3 เล่มมารวมเป็น 1 เล่ม ตอนนั้นพี่ชายก็ท้วงว่าจะทำเหรอ เพราะกว่าจะเบิกเงินได้ต้องรอเป็นปี เนื่องจากเราต้องทำตุนไว้เยอะ น่าจะทำเรื่องสั้น ๆ ดีกว่า แต่เราก็อยากทดลองทำดู เลยบอกพี่ชายว่าจะแบ่งเป็น 2 ภาค ถ้าภาคแรกขายไม่ได้ก็เลิก”

อำนวย ภิรมย์อนุกูล น.นพรัตน์-ผู้น้อง นักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน ผู้หยัดยืนถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุทธภพสู่นักอ่านชาวไทยมานานเกือบ 60 ปี

การแปลหนังสือชุดนี้เป็นครั้งแรกที่อำนวยทำงานทั้งหมดโดยลำพัง และหลังจากนั้นไม่นาน ทุกคนก็ได้รับข่าวเศร้า เมื่ออานนท์ได้จากโลกนี้ไปตลอดกาลในคืนวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2543

อำนวยยอมรับตามตรงว่าแม้จะเตรียมใจไว้บ้าง แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เขาซวนเซจนอยากจะเลิกแปลไปเลย แต่ด้วยภารกิจที่ติดพัน บวกกับคำสั่งเสียของพี่ชายทำให้เขายังสู้ต่อ จนกระทั่ง มังกรคู่สู้สิบทิศ เล่มแรกวางแผงได้สำเร็จ

“วันที่หนังสือออกเล่มแรก คุณแสงเพชรเขาโทรมาว่า เฮ้ย! เวิลด์เทรดถล่ม ผมก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร พอสักพักถึงค่อยทราบ ก็เลยกังวลว่าแล้วคนจะมาซื้อหนังสือเราเหรอ คิดแบบตื้น ๆ ว่าถ้ามันกระทบบ้านเมืองขนาดนี้ เราคงขายหนังสือไม่ออกแน่ แต่สุดท้ายก็ไม่เกี่ยวกันเลย แถมเรื่องนี้ยังไปไกลกว่า เจาะเวลาหาจิ๋นซี เสียอีก จนคนที่รู้จักกันบอกว่า น.นพรัตน์ ลืมตาอ้าปากได้เพราะหวงอี้ ไม่ใช่กิมย้ง”

แม้จะทำงานแปลคนเดียวมาตลอด 20 กว่าปี แต่อำนวยก็ไม่เคยคิดที่จะเลิก ผลงานอมตะหลายร้อยเรื่อง ทั้งใหม่และเก่า ยังคงถูกส่งต่อไปยังนักอ่านทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เรื่อยมาถึงทุกวันนี้

สำหรับเขาแล้ว นี่คือภารกิจที่ต้องรักษาเจตนารมณ์ของพี่ชายให้คงอยู่สืบไป และอีกเหตุผลหนึ่งตอนที่อายุใกล้ 60 ปี เคยมีผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยซึ่งมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์ทักว่า “ลื้ออย่าเกษียณนะ หากลื้อเกษียณ โรคภัยจะมา” ซึ่งเขาเห็นด้วยทุกประการ

ปัจจุบัน อำนวยยังคงทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ตั้งแต่ 8 โมงครึ่งจนถึง 5 โมงเย็น หยุดวันอาทิตย์วันเดียว โดยสไตล์การทำงานก็ยังเหมือนเดิม คือใช้ปากกาหมึกซึมปาร์คเกอร์เขียนลงบนกระดาษฟุลสแก๊ป ซึ่งสั่งซื้อจากร้านประจำแถวพุทธมณฑล ครั้งละ 10 รีม โดยวันหนึ่งจะได้ต้นฉบับประมาณ 20 หน้า จากนั้นก็จะส่งให้กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ไปจัดการต่อ

“เหตุผลที่ยังใช้กระดาษฟุลสแก๊ปเพราะเราเคยชิน คุณวิฑูร นิรันตราย หัวหน้าผมเคยยุว่าทำไมไม่เลียนแบบพี่ ว. อัดเสียงแล้วให้คนมาถอดเป็นข้อความ ผมก็บอกว่าเคยทดลองแล้ว แต่ทำไม่ได้ เพราะมันย้อนกลับไปไม่ได้ และหากไปดูต้นฉบับผมจะเห็นเลยว่ามีรอยลบเลอะไปหมด เพราะเวลาแก้ไข ผมใช้ลิควิดที่เป็นกาวแบบแถบปื้ดเดียว แล้วก็เขียนทับทันที”

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียหมด เพราะคนเราเมื่ออายุมากขึ้น สมองก็ย่อมช้าลงเป็นธรรมดา แต่โชคดีที่เขามีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้สำเร็จ

อำนวย ภิรมย์อนุกูล น.นพรัตน์-ผู้น้อง นักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน ผู้หยัดยืนถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุทธภพสู่นักอ่านชาวไทยมานานเกือบ 60 ปี

อีกเรื่องหนึ่ง คือวรรณกรรมยุคใหม่นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น เกิดพล็อตใหม่ ๆ ที่ฉีกขนบแบบเดิม นับเป็นเรื่องที่ท้าทายนักแปลวัยเก๋าอยู่ไม่น้อยในการคัดสรรเรื่องที่น่าสนใจมาถ่ายทอด

“ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เมืองจีนแผ่นดินใหญ่เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งชื่อ จินกู่ฉวนฉี ขึ้นมา แล้วก็มีการปั้นนักเขียนหน้าใหม่หลายคน พอถัดจากยุคนิตยสารก็เข้าสู่ยุคเว็บไซต์ เนื้อเรื่องต่าง ๆ มันเปลี่ยนแปลงไปหมด บางเรื่องก็เปลี่ยนได้ดี แต่บางเรื่องก็เป็นตามกระแส เช่น พอหวงอี้เขียนเรื่อง ย้อนเวลาฯ แล้วดัง หลังจากนั้นก็มีคนไปลอกแนวทางนี้เต็มไปหมด

“ความท้าทายคือด้วยความที่เราทำงานตั้งแต่เด็ก บางครั้งก็ไม่มีความรู้เท่าที่ควร โชคดีที่ในระยะเวลา 20 กว่าปีนี้ คุณก่อศักดิ์ได้ช่วยแนะนำเรื่องดี ๆ ให้ผมเยอะมาก ทำให้มุมมองในการอ่านขยายกว้างขึ้น แล้วเรื่องที่แกแนะนำส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่แปลก มีอยู่เรื่องหนึ่ง นักเขียนชื่อ จิ่วถู แปลว่า สาวกสุรา เขาเขียนเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็จริง แต่ว่าการทำสงครามนั้นจริงจังแล้วสมจริงยิ่งกว่ากิมย้งเสียอีก พวกเราเลยตั้งชื่อว่าเป็นยุทธนิยาย โดย ‘ยุทธ’ คือการสู้รบ ไม่ใช่ยุทธจักร

“อีกเรื่องหนึ่งคือพวกคำศัพท์แปลก ๆ ซึ่งมีเยอะมาก ทั้งศัพท์สแลง ศัพท์วิทยาศาสตร์ บางครั้งผมก็ไลน์ไปถามคุณก่อศักดิ์ หรือเวลาเจอบทกลอนยาก ๆ ก็จะขอแรงอาจารย์ถาวรหรือ คุณประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ลูกน้องคุณก่อศักดิ์ เช่น เรื่อง มังกรทลายฟ้า เป็นกลอนโบราณ เขาก็ช่วยแปลให้ คือผมได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง ทำให้ผลงานที่ออกมา ไม่ถึงกับขายหน้า นับเป็นความโชคดีของผมที่เกิดมาทั้งชีวิตมีแต่คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลโดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน”

เพราะฉะนั้น เป้าหมายชีวิตของ น.นพรัตน์ผู้น้องในวันนี้ จึงเป็นการทำงานไปเรื่อย ๆ ด้วยความสุข บวกกับความรู้สึกที่อยากขอบคุณผู้อ่านที่มอบมิตรภาพอันงดงามให้เขามาตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี

ดังเช่นทุกปีใหม่ เขาจะส่ง ส.ค.ส. ไปให้แฟนประจำราว 40 – 50 คน เพื่อส่งข่าวสารว่าปีนี้ตั้งใจจะทำอะไรบ้าง ตลอดจนแวะเวียนไปเจอบรรดานักอ่านตามเทศกาลหนังสือต่าง ๆ เพราะอย่างน้อยการได้พบเจอ พูดคุยกับผู้อ่านโดยตรง ได้รับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนอย่างใกล้ชิด ก็นับเป็นยาชูกำลังชั้นดีที่ทำให้นักแปลอาวุโสมีแรงใจที่จะหยัดยืนทำงานต่อไป 

และทั้งหมดนี้เป็นเสมือนคำยืนยันของ อำนวย ภิรมย์อนุกูล ว่านามปากกา ‘น.นพรัตน์’ จะยังอยู่คู่นักอ่านชาวไทยเรื่อยไปตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต

อำนวย ภิรมย์อนุกูล น.นพรัตน์-ผู้น้อง นักแปลนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน ผู้หยัดยืนถ่ายทอดเรื่องราวแห่งยุทธภพสู่นักอ่านชาวไทยมานานเกือบ 60 ปี
ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
  • บทสัมภาษณ์คุณอำนวย ภิรมย์อนุกูล วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
  • หนังสืออานนทลัย ที่ระลึกประชุมเพลิงคุณธนทัศน์ (อานนท์) ภิรมย์อนุกูล วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2543 ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส
  • หนังสือ 60 ปี น.นพรัตน์ เจิดจรัสรัศมี มิเสื่อมคลาย
  • นิตยสารบุคคลวันนี้ ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 เดือนเมษายน พ.ศ. 2530
  • นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 30 ฉบับที่ 629 ปักษ์แรก เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง