ปั้น-ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์ คือคนเบื้องหลังในโลกภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘นักออกแบบเสียง’ มากประสบการณ์ และฝากผลงานไว้ตลอดเส้นทางการทำงานในภาพยนตร์นานกว่า 17 ปี ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศที่หลายคนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น มะลิลา (กำกับโดย นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ) ดิว ไปด้วยกันนะ (กำกับโดย มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) ฮาวทูทิ้ง (กำกับโดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) หรือภาพยนตร์ระดับโลก อย่าง The Grandmaster (กำกับโดย หว่อง กา-ไว

นอกจากร่วมงานกับผู้กำกับมากฝีมือ คุณปั้นยังพาภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าชิง The 38th Hong Kong Film Awards และคว้ารางวัลออกแบบเสียงยอดเยี่ยมมาได้จากภาพยนตร์เรื่อง Operation Redsea (กำกับโดย ดังเต ลาม (Dante Lam)) และรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 ใน พ.ศ. 2562 ก็คว้ารางวัลสาขาบันทึกและผสมเสียงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง แสงกระสือ (กำกับโดย โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ)

หากได้เจอกับณพวัฒน์ในช่วงวัยรุ่น ดนตรีเฮฟวี่เมทัลคือแนวเพลงที่เขาหลงใหล โดยมีวงโปรดคือ Metallica ตามมาด้วยขอบเขตความชอบที่ขยายไปยังวงอื่นๆ อย่าง Sigur Rós, Radiohead, Autechre คือวงที่เปิดโลกของเสียงในสายดนตรี การใช้เครื่องดนตรีเสียงสังเคราะห์อย่างซินธิไซเซอร์ (Synthesizer) เครื่องมือที่สร้างเสียงได้อย่างไร้ขอบเขต จนเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจในเสียงที่มีความซับซ้อนและการออกแบบเสียงใหม่ๆ

และณพวัฒน์ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ คือนักศึกษาปริญญาตรีด้านการออกแบบที่ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ทางเลือก เปิดทางให้รู้จักกับดินแดนแห่งศิลปะการเล่าเรื่อง หนังในกระแสและนอกกระแสหลายเรื่องอย่าง Starship Troopers, The Sweet Hereafter, The Pillow Book ไปจนถึงหนังศิลปะอย่าง The Cremaster Cycle ที่นำพาไปสู่สื่อภาพยนตร์ทั้งหนังสืออย่างฟิล์มไวรัส กิจกรรมภาพยนตร์ของฟิลม์วิจักษ์ จนถึงเทศกาลฉายหนังแห่งยุคสมัย 

จนทำให้เขาตัดสินใจยื่นพอร์ตที่บรรจุความสนใจในโลกของภาพยนตร์ไปเรียนต่อที่ Vancouver Film School ปรากฏว่าการตอบรับจากมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นข้อเสนอทุนการศึกษาด้าน Sound Design โดยเฉพาะ นับเป็นโอกาสสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนแรกของเส้นทางอาชีพปัจจุบัน

สุ้มเสียงตลอด 17 ปีของ ‘ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงในหนังไทยและเทศ

เริ่มจากคำถามสำคัญก่อนเลยว่า ทำไมเสียงที่อยู่ในภาพยนตร์ถึงต้องได้รับการออกแบบ

ที่จริงแล้วคนรู้จักใช้เสียงเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับตัวเองมายาวนานกว่าสื่อหนังจะเกิดขึ้น เสียงเองไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ว่าถูกใช้เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง 

ถ้าย้อนกลับมาใกล้ตัว ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำไมถึงเกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าวิทยุยานเกราะ หรือคลื่นวิทยุของทหารที่มีนักเขียนชื่อดัง มีคนเข้าไปพูด ซึ่งเหตุการณ์นี้มันเลวร้ายตรงที่ว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการพูดถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันๆ ว่าซ่องสุมกำลัง ซ่องสุมอาวุธ นำไปสู่การปราบปรามเด็กในมหาวิทยาลัย แปลว่านี่คือ Power of Narrative ที่ใช้โน้มน้าวคน ตัวอย่างนี้เป็นเชิงสังคมที่ใช้เสียงเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่างที่เลวร้าย

ที่เสียงในหนังต้องออกแบบ ก็เพื่อตอบให้ถูกโจทย์ คือเราต้องเข้าใจว่าสื่อภาพยนตร์มันผ่านเวลามานานพอสมควร เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่สื่อที่ไร้เดียงสาอีกต่อไป ไม่ใช่ว่าเห็นภาพม้าแล้วต้องได้ยินเสียงม้า อย่างเสียงจิ้งหรีดตอนกลางคืนในฉากแบบนี้ เสียงจิ้งหรีดปกติมันจังหวะเร็วไป เราต้องการกลางคืนที่มีจังหวะช้ากว่าปกติ เราต้องใส่เสียงจิ้งหรีดที่ไม่ได้ถี่หรือว่าเร่งเร้าความรู้สึก ในฐานะนักออกแบบเสียงก็ต้องใช้เทคนิคที่เหมาะสมมารองรับ ถ้าในหนังเราหยิบจับเสียงโดยความไร้เดียงสาเข้าไปใส่ มันเล่าไม่ตรงตามเป้าหมาย เสียงที่ขาดการพิจารณาอาจทำให้ความหมายหรือสาระของฉากนั้นๆ ในภาพยนตร์เปลี่ยนได้

เสียงหลายๆ อย่างเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมคน ยิ่งเราอยู่ในโลกที่คนหลายๆ คนไม่ได้เชื่อมโยงต่อกัน มีแบกกราวนด์ต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น เราต้องระแวดระวังในการออกแบบเสียงให้มากที่สุด เพื่อไม่ผิดเป้าหมาย

ตำแหน่งเสียงในการทำเบื้องหลังภาพยนตร์ นักออกแบบเสียง (Sound Designer) ต่างกับวิศวกรเสียง (Sound Engineer) ยังไงบ้าง

ต่างกันตรงที่วิศวกรเสียงต้องเข้าใจเรื่องฟิสิกส์ ต้องเข้าใจเรื่องอะคูสติกส์ เรื่องไฟฟ้า ตลอดจนการคำนวณต่างๆ ถึงจะเป็นวิศวกรเสียงที่สมบูรณ์แบบได้ ส่วนคนออกแบบเสียงต้องเข้าใจในมุมของการเล่าเรื่อง ช่วยเสริมการเล่าเรื่องอีกชั้นหนึ่ง ในมุมบรรยากาศ ต้องทำให้เกิดความสมจริงที่มันไม่สมจริง ในลักษณะ Cinematic Sound ซึ่งในเชิงเทคนิค ในเชิงวิทยาศาสตร์หรือเครื่องมือก็ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าคิดจะเล่าเรื่องแล้ว ก็ต้องหาเครื่องมือที่ถูกต้องมาช่วยให้รองรับภาพยนตร์ทั้งเรื่องให้ได้

สุ้มเสียงตลอด 17 ปีของ ‘ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงในหนังไทยและเทศ
สุ้มเสียงตลอด 17 ปีของ ‘ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงในหนังไทยและเทศ

องค์ประกอบหลักในหน้าที่การออกแบบเสียงในหนังมีอะไรบ้าง

ประกอบด้วยสามส่วน คือ เสียงพูดหรือไดอะล็อก เสียงเอฟเฟกต์ และเพลงประกอบ 

เริ่มจากไดอะล็อกก็คือบทสนทนาที่เล่าเรื่องโดยตรง เข้าใจง่าย ต่อมาคือเสียงเอฟเฟกต์ ประกอบไปด้วยส่วนแยกย่อยอีกมากมาย เช่น เสียงพื้นหลัง เสียงรูมโทน เสียงแอมเบียนซ์ (Ambience) หรือว่าเสียงบรรยากาศ (Atmosphere) และสุดท้ายคือเพลงประกอบ มีผู้ประพันธ์เพลง (Composer) เป็นคนรับผิดชอบ เพลงทำหน้าที่ส่งเสริมหรือชี้นำในเรื่องของอารมณ์ ทั้งสามองค์ประกอบรวมกันขึ้นมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ซาวนด์แทร็ก’ หนังทั้งเรื่อง

คนออกแบบเสียงรับผิดชอบเสียงเอฟเฟกต์ อย่างเสียงบรรยากาศ (BG หรือ Background) จะบอกว่าเราอยู่ฉากไหน ทำหน้าที่บอกขอบเขตพื้นที่ บอกเวลากี่โมง เช้าหรือกลางคืน ห้องแคบหรือกว้าง หรือเสียงโฟลี่ย์ (Foley) ทำหน้าที่ส่งเสริมความสมจริงในภาพยนตร์ คนเดินบนพื้นหญ้า พื้นดิน หรือพื้นที่มีทรายใต้เท้า มีเสียงเอฟเฟกต์ทั่วไป เช่น เสียงเปิดประตูบ้าน ประตูรถ เสียงแก้ว ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้โลกของภาพยนตร์สมบูรณ์ขึ้น

จากโจทย์ภาพยนตร์ 1 เรื่อง ขั้นตอนการออกแบบเสียงเริ่มจากจุดไหน

เราจะดูหนังทั้งเรื่องให้เข้าใจ Storyline ก่อน แล้วก็ดู Mood & Tone ของหนัง สไตล์หนัง ก่อนลงสู่รายละเอียดว่าแต่ละช่วงเวลากำลังเล่าอะไร และต้องการเสียงประมาณไหน ที่สำคัญคือคุยกับผู้กำกับให้มากที่สุด แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเสียง และแบ่งงานให้กับทีมตามลำดับ

อย่างตอนนี้ทำซีรีส์เรื่องหนึ่งอยู่ เป็นเรื่องราวการต่อยมวย ภาพในยกแรกเป็นแค่การหยั่งเชิง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปใส่เสียงให้มันตู้มต้ามมาก ยกสองอยากให้เพลงนำ เพราะอารมณ์ภายในของตัวละครเริ่มออกมาแล้ว และค่อยใช้เอฟเฟกต์เป็นตัวเล่าเรื่อง ตรงนี้ผู้กำกับอยากให้คนดูสนุกกับการต่อสู้ที่รุนแรง ตัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำกับเข้าใจว่าจะเล่าอะไร คิดและวางแผนมาเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว ทำให้เราทำงานตามโจทย์ได้ง่าย

ฟังเสียงในภาพยนตร์ไทยและเทศตลอด 17 ปี ของ ‘ปั้น-ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงมือรางวัล ผู้สร้างความจริงให้โลกเสมือนจริง

ถ้างั้นในโลกของภาพยนตร์ นักออกแบบเสียงมีฐานะเป็นเครื่องมือช่วยเล่าเรื่องใช่ไหม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงที่ใส่เข้าไปนั้นเป็นสิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่สำหรับแต่ละเรื่องราว

ผู้กำกับเป็นคนที่เข้าใจหนังมากสุด ส่วนเราคือคนนำเสนอไอเดียเรื่องเสียงให้ผู้กำกับ แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะซื้อหรือไม่ซื้อ ต้องมาคุยกันว่า ทิศทางที่เสนอไปตรงกับสิ่งที่เขาต้องการจะเล่าหรือเปล่า 

อย่างภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้ง ตอนแรกมีการคุยว่า ถ่ายในโลเคชันเมืองเก่า เราก็มองว่าอยากเล่าบรรยากาศเมืองแถวนั้น ต้องมีเสียงรถเวสป้าเก่าๆ ต้องมีความวุ่นวายโกลาหลของเมืองเก่า แต่ผู้กำกับมองว่ามันอาจสร้างความวุ่นวายให้กับการสื่อสาร อันนี้เราก็ต้องลดระดับสิ่งที่นำเสนอไป

คือเราต้องเข้าใจ ต้องแปล ‘ก้อนนั้น’ ของผู้กำกับออกมาให้ได้ด้วย ต้องไม่ยึดไอเดียของเราเป็นตัวนำ เพราะว่ายังไงภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อสาร เสียงของเราเป็นส่วนที่รองรับกับตัวเรื่อง ในฉากนั้นๆ

ความยากของการแปลความรู้สึกที่มันเป็นนามธรรมมากๆ อย่างเสียง ให้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้อยู่ตรงไหน

คือความพอดีของคำว่า Cinematic Sense ที่เกิดขึ้นจากการทดลอง การปรับระดับจุดตรงกลางระหว่างความ Realistic กับไม่ Realistic หาสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แล้วแปลออกมาให้เป็นเสียงในหนัง

ยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง Hurts like hell ที่กำลังถ่ายทำอยู่ในตอนนี้ มีฉากที่ตัวละครเป็นนักมวยวัยเด็กต่อยซ้อมกับโค้ช โค้ชจะกดดันขึ้นเรื่อยๆ เสียงต่อยก็ต้องหนักขึ้นและมีพลังมากขึ้นตาม ทีนี้เสียงตุบตับๆ จริงๆ ตอนต่อยที่อัดมาจากโลเคชันมันบาง แต่มันจริงเพราะมีเสียงอากาศตรงนั้น แต่เสียงที่ต้องการคือน้ำหนักของเสียงหรือย่านเสียง ที่บอกความหนักแน่นความโกรธขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มเนื้อเสียงเอฟเฟกต์เข้าไปเพื่อเพิ่มความสมจริงจากสิ่งที่เป็นของจริงอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ความรู้สึกของ Realistic ยังอยู่ พร้อมกันกับความรู้สึกของ Cinematic ด้วย น้ำหนักของเสียงทั้งสองอย่างจะช่วยถ่ายทอดอารมณ์ที่กดดัน นอกจากตัวละครที่ต่อยแรงขึ้น

เราชอบพูดเล่นๆ ว่าหนึ่งนาทีในหนังกับหนึ่งนาทีในโลกเนี่ยมันต่างกันมากเลย หนึ่งนาทีในหนัง คนทำใช้เวลาเป็นวันๆ เลย 

การออกแบบเสียงสำหรับแนวภาพยนตร์ที่ต่างกันอย่างหนังผีหรือหนังดราม่า เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

หนังผีไทยส่วนใหญ่เน้นเรื่องการสร้างบรรยากาศเพื่อโจมตีคนดู อย่างตอนที่ทำให้เรื่อง เหงา ใน สี่แพร่ง ดราฟต์แรกๆ มีเพลงเยอะมาก จนเราคุยกับผู้กำกับว่ามันไม่เหงาเลย เพลงนำทางไปหมด ผีจะโผล่ก็มีเพลงไล่ระดับ เพื่อบอกว่าอะไรบางอย่างจะเกิดขึ้น เราเลยขอตัดเพลงบางคิวออก เพื่อไม่ทำให้คนดูรู้สึกตัวว่ากำลังจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุ้งแช่’

ส่วนซีนที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือฉากที่ตัวละครแลกรูปในมือถือกัน ผู้หญิงบอกว่าเดี๋ยวเธอส่งรูปมาให้ฉันนะ เดี๋ยวฉันส่งให้เธอก่อน ผู้ชายก็ส่งกลับมาเป็นรูปผู้หญิงอันเดิม ผู้หญิงบอกอย่าโกงสิ ทำไมเธอส่งรูปตัวเองมา แล้วผู้ชายก็บอก ดูดีๆ สิฉันอยู่ข้างหลังเธอไง คือตอนนั้นมันมีเพลง เราก็ขอเอาออกเลย 

พอถึงไดอะล็อกนี้ เราดรอปเสียงแอมเบียนซ์หายหมด เกิดเป็นสุญญากาศขึ้นมา พอเวลาคนดูในโรงหนัง อยู่ดีๆ มันเงียบ คนก็ตกใจ ตอนฉายรอบสื่อมวลชน พอถึงฉากนี้มีคนกรี๊ดออกมา เลยเป็นการโจมตีคนดูที่ไม่ต้องโครมคราม แต่สร้างประสบการณ์ที่ผิดเพี้ยน โดยคนดูไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นมากกว่า

ถ้าเป็นหนังดราม่า เราว่ามันเป็นการสร้างอารมณ์ หรือทำให้คนดูจดจ่อกับช่วงเวลานั้นๆ การออกแบบเสียงเลยเป็นเรื่องของการเน้นบทสนทนาให้ฟังง่าย ฟังเข้าใจ อย่างเรื่อง มะลิลา ผู้กำกับอยากได้ความรู้สึกของเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว เสียงต้นไม้ใบหญ้าเคลื่อนไหว ฉากที่ตัวละคร โอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) กับ เวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารส) คุยกันใต้ต้นไม้ใหญ่ เรารู้สึกว่าต้องทำให้พวกเขาเหมือนถูกปกคลุมไปด้วยใบไม้เล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ ขยับไปตามลม จนโมเมนต์พิเศษนั้นคนดูรู้สึกร่วมได้

นักออกแบบเสียงต้องมีคลังเสียงของตัวเองไหม

ควร เราพยายามทำให้ทุกคนที่ทำงานออกไปอัดเสียงด้วยตัวเอง ส่งคนออกไปอัดตามโลเคชันต่างๆ ในหนังไว้เป็นไลบรารี่ เพราะแต่ละโลเคชันมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ช่วยสร้างคาแรกเตอร์ให้กับหนัง ตอนนี้การใช้คลังเสียงหรือไลบรารี่จะมีการดัดแปลง เพิ่มเลเยอร์ให้มีมิติตอบรับกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ 

ไลบรารี่ที่อัดเองจะทำให้คนทำงานมีความทรงจำอยู่กับเสียงที่ไปอัด มีประสบการณ์กับสถานที่หรือบริบทของเสียงนั้นๆ เป็นเหมือนสมุดสเก็ตช์สำหรับจดบันทึกว่าเรามีเสียงแบบนี้อยู่ วันหนึ่งไปเจอหนังที่ต้องการเสียงแบบนี้ ก็จะกลับไปหาในไลบรารี่เราได้ 

ผู้เขียน-หนังที่ณพวัฒน์ได้ทำส่วนมากเป็นหนังฮ่องกง จึงต้องมีทีมงานไปอัดเสียงตามพื้นที่ต่างๆ ฮ่องกงเองเป็นเกาะที่มีตึกสูง เสียงก็จะมีลักษณะเฉพาะเป็นเมืองที่อยู่ในกล่อง

ส่วนชีวิตปกติหรือการดูหนังทั่วไป หูเราจะไวต่อเสียง หรือสังเกตเสียงมากกว่าคนทั่วไปไหม

ถ้าเป็นยุคแรกๆ ที่เริ่มทำงานจะบ้ามากเลย (หัวเราะ) ยิ่งถ้าดูที่บ้านจะซื้อพวกแบบลำโพงที่มีเซอราวนด์ เอาหูไปจ่อ ดึงมาใกล้ๆ อยากรู้ว่ามันใส่อะไรในเซอราวนด์ ถ้าในมุมเล่าเรื่องก็ยังรับรู้อยู่ แต่ถ้าในส่วนเสียง มันจะมีความสงสัยใคร่รู้ในแง่กระบวนการทำเยอะ

ในยุคนี้ง่ายตรงที่ว่ามีสตรีมมิ่ง ทำให้เราย้อนดูได้หลายๆ รอบ อย่างยุคก่อน พอดูหนังเสร็จจะเข้าอีกรอบก็เปลืองตังค์ แต่ก็ต้องยอมถ้าอยากฟังอีก แล้วข้อมูลหรือความรู้ในการทำเสียงไม่มีเหมือนปัจจุบัน ไม่มีใครมานั่งถ่ายทอดวิธีการทำ ต้องกลับไปนั่งนึกถึงแล้วก็พยายามคิดถึงกระบวนการขึ้นมาอีกให้ได้ ใช้เวลาในการทดลองค่อนข้างเยอะ พอเป็นยุคนี้ มันเปิดเสิร์ชในยูทูบ ก็มีคนทำให้ดูเลย ซึ่งเราว่ามันก็ดีไปอีกแบบ

นักออกแบบเสียงจำเป็นต้องมีลายเซ็น มีเอกลักษณ์ของตัวเองหรือเปล่า 

ในมุมมองเราไม่จำเป็น เพราะเราอยู่ในฐานะผู้ซัพพอร์ตภาพยนตร์มากกว่า คนส่วนใหญ่ที่อยากเข้ามาทำงานออกแบบเสียง มีอารมณ์ที่คิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน มีสปอตไลต์ส่องแสงมาหาคนทำ เป็นเหมือน Frontman แต่เราว่ามันต้องตัดไปเลยว่า เราไม่ได้เป็นศิลปินที่เล่นดนตรีบนเวทีอีกต่อไปแล้ว

มันเป็นงานให้บริการเชิงสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการคิดที่เพิ่มระดับขั้นมากขึ้นไปอีกว่า สิ่งที่เราคิดเหมาะสมกับสิ่งที่หนังหรือผู้กำกับต้องการเล่าหรือยัง เราควรไปเสริมลายเซ็นผู้กำกับให้ชัดขึ้นมากกว่า 

ฟังเสียงในภาพยนตร์ไทยและเทศตลอด 17 ปี ของ ‘ปั้น-ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงมือรางวัล ผู้สร้างความจริงให้โลกเสมือนจริง

ในฐานะนักออกแบบเสียง เราวัดความพอดีหรือความสำเร็จของตัวเองที่ตรงไหน เพราะเสียงเป็นสิ่งที่คนมองไม่เห็น รู้สึกได้อย่างเดียว

เราว่าความสำเร็จที่เรารู้สึกแฮปปี้ที่สุดคือวันจบงาน ลูกค้าโอเคและรู้สึกแฮปปี้ มั่นใจว่าผลงานนำเสนอต่อสายตาสาธารณะได้

 ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราและทีมภูมิใจ แล้วก็อีกอย่างคือ ผู้กำกับกลับมาทำงานกับเราอีก อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีการเห็นคุณค่า ให้เกียรติกันและกัน ในการทำงาน เรารู้สึกว่าเป็นมูลค่าที่ได้จากการทำกับลูกค้า หรือว่าผู้กำกับที่ทำกันมายาวนาน มันสะท้อนกันนะ ระหว่างคนทำงานที่เชื่อมั่นกัน แล้วความไว้ใจที่ว่ามันก็พัฒนาไปสู่ความเป็นมิตร เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องในการทำงานต่อๆ ไป มันมีคุณค่าสำหรับเรา

ถ้ามีคนรุ่นใหม่เดินมาบอกว่าอยากเป็นนักออกแบบเสียง คำแนะนำหรือสิ่งที่เขาควรรู้คืออะไร

ต้องปรับวิธีคิดให้ได้ก่อนเลยว่า งานนี้มันเป็นงานครีเอทีฟเซอร์วิส แล้วก็ต้องเตรียมใจว่า เวลาเริ่มงานคือต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะทำงานแบบไหลลื่นได้ในทีเดียว กระบวนการทำงานจริงมีหลายหน่วย ในตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเสียงคนเดียวไปเรื่อยๆ ได้ ต้องผ่านการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง

งานจริงมันมีความพินาศเสียหายหลากหลายรูปแบบ อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ Tutorial ในอินเทอร์เน็ตไม่ได้สอน คุณต้องเตรียมใจเลยว่า ไม่มีทางเป็นมนุษย์ออฟฟิศแบบเข้าเก้าโมงเช้า ออกสี่โมงเย็นได้ ก็ต้องกลับไปถามว่า คุณพร้อมที่จะให้เวลาตัวเองกี่ปี ในการที่คุณจะบอกว่าคุณทำงานด้านนี้จริงๆ

มันเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กรุ่นใหม่ต้องอดทนน่ะ ให้เวลากับตัวเองเพื่อเข้าใจกระบวนการ หรือว่าเห็นภาพใหญ่ของงานประเภทนี้ เข้าใจว่าคนที่เขาทำอยู่ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นชั่วเวลาแป๊บเดียว แต่ว่ามันมีกระบวนการบางอย่าง ภาพยนตร์ถูกผลิตด้วยจำนวนคนที่มีประสบการณ์มากกว่าหนึ่งคน เราในฐานะเด็กใหม่ที่เข้ามา คุณต้องเชื่อว่างานภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง เราเป็นแค่ส่วนเสี้ยวในจักรวาลของหนังเรื่องนี้ จังหวะ และโอกาสมันจะไม่ได้มาแค่ตอนที่คุณพร้อม แต่เป็นตอนที่คนที่ทำงานกับคุณ ลูกค้าคุณไว้ใจคุณ

จากการทำงานมาเป็นสิบปี ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนอะไรบ้าง

สอนการแปลข้อมูลจากผู้กำกับด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าประสบการณ์ ความรู้หรือเทคโนโลยีย่นย่อเวลาให้เราเก่งขึ้นจริง แต่การเข้าใจในฐานะคนทำเสียง เราต้องสะสมประสบการณ์มากพอ 

ในวันนี้บางคนอาจคิดว่าทำไมไม่มีนักออกแบบเสียงคนใหม่ๆ ให้รู้จัก คนทำงานออกแบบเสียงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจเป็นเพราะสื่อไม่ได้มองเรื่องเสียงสำคัญมากนัก จริงๆ เรื่องการเก็บข้อมูลหรือให้คุณค่าคนทำงานเราก็ยังน้อย เวลามีงานประกาศรางวัล จะเห็นว่าคนทำงานเบื้องหลังไม่ได้กล่าวอะไรนอกจากขึ้นไปรับรางวัลแล้วก็รีบๆ ลงกันมา ซึ่งตรงนี้ต่างกับเวทีรับรางวัลต่างประเทศ ที่ให้โอกาสคนทำงานพูดอะไรก็ได้เลย อยากขอบคุณใคร อยากแสดงความรู้สึกอะไรได้เต็มที่ 

ส่วนตัวคิดว่าถ้าอยากเห็นวงการภาพยนตร์ไปข้างหน้า เราต้องไม่ให้คุณค่าแต่นักแสดง งานส่วนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเอามาเชิดชูกัน ต้องให้เกียรติ ให้คุณค่าที่เสมอภาคกัน

ฟังเสียงในภาพยนตร์ไทยและเทศตลอด 17 ปี ของ ‘ปั้น-ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์’ นักออกแบบเสียงมือรางวัล ผู้สร้างความจริงให้โลกเสมือนจริง

เสียงและเพลง 5 รายการที่มีผลกับชีวิตของณพวัฒน์

01 Sigur Ros – Svefn-g-englar 

ตอนนั้นอายุยี่สิบห้า กำลังทำวงแนวอัลเทอเนทีฟกับเพื่อน เจอมิวสิกวิดีโอตัวนี้ มันทรงพลังมากนะ เป็นก้อนอารมณ์ที่เศร้าแต่สวยงาม เป็นเสียงกีตาร์ยืดยาดแต่มีพลังมาก

02 Autechre – Ipacial Section

วง Autechre เป็นวงดูโออิเล็กทรอนิกส์จากอังกฤษ ที่เราตั้งตารอว่าจะทำอัลบั้มออกมาเป็นยังไง เพลงทำให้เราโฟกัสที่เสียงมาก คาดเดาไม่ได้ว่าคนทำเพลงกำลังทำอะไร ต่างจากโครงสร้างเพลงที่เราคุ้นเคยไปไกล

03 คลิปเสียงแม่น้ำแควใหญ่ที่ไปอัดกับลูก 

ปกติเมื่อก่อนไปคนเดียว ไปอัดเพื่อมาใช้ทำงาน หลังๆ จะอัดเพราะเก็บไว้เป็นไลบรารี่ของตัวเอง วันนั้นเราไปหาแม่ที่เมืองกาญจน์ ไปกันทั้งบ้านกับลูกและภรรยา ตอนเช้าเขื่อนปิด น้ำลงจนเกือบแห้ง เดินข้ามฟากได้ เราเลยชวนภรรยาพาลูกสองคนไปเดินเล่นแล้วก็อัดเสียงเล่นกัน ในเสียงที่อัดมันจะมีเสียงลูกแว่วๆ อยู่ไกลๆ ตลอด ก็เป็นความทรงจำที่ดี

04 เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา

เป็นสกอร์ที่ชอบมาก ประพันธ์โดย คุณชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล เมื่อก่อนชอบเสียงเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ เสียงแตกๆ ลั่นๆ ตอนนี้อายุเยอะแล้ว ไม่ค่อยฟังเพลงกีตาร์แตกๆ แผดๆ เท่าไหร่ จะหันมาฟังเสียงจากเครื่องดนตรีที่หนาและให้ความรู้สึกอุ่นมากขึ้นอย่างพวกเครื่องสายต่างๆ

05 กาญจนบุรีด็อก

จริงๆ เสียงนี้มันไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตนะ แต่ได้ยินทีไรก็ขำ คือไปบ้านแม่ที่กาญจนบุรีบ่อย เป็นไร่ มีต้นไม้เยอะ หมาเยอะ ไปทีไรก็อัดเสียงที่ไร่ จนน้องๆ ในออฟฟิศชอบแซว เพราะเสียงที่อัดมันจะติดเสียงหมาที่แม่เลี้ยงไว้ แล้วเจ้าหมาพวกนี้ก็กลายเป็นเสียงหมาที่ใช้บ่อยๆ ในหนังหลายเรื่อง ที่ออฟฟิศเลยเรียกกันจนชินว่า ‘กาญจนบุรีด็อก’ 

Writer

Avatar

กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นักเขียนอิสระที่สนใจเรื่องงานออกแบบ สังคม และวัฒนธรรม ชื่นชอบการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะอยากเรียนรู้ในความแตกต่างที่หลากหลายของโลกใบนี้

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน