ป่วยก็ควรพัก แต่ผู้หญิงคนนี้ป่วยหนักแล้วไปเก็บกาแฟ

เหนื่อยก็ควรพอ แต่ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยท้อเพื่อไปสมาคมกาแฟ

ทุกโปรเจกต์การตลาด ถ้าอาจารย์ไม่สั่ง ผู้หญิงคนนี้ก็จะขายแต่กาแฟ

เชื่อแล้วว่า นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย คือผู้คลั่งไคล้ ‘กาแฟ’ อย่างแท้จริง

เธอนิยามชีวิตตัวเองว่าถึงขั้นรากเลือด เพราะเคยมีคืนวันที่ต้องประคองการเรียนไปพร้อมกับการทำงานประจำและงานที่สมาคมฯ ซึ่งอย่างหลังสุดไม่เลือกก็คงได้ แต่สำหรับหญิงสาวที่ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอบริษัทกาแฟครบวงจรตั้งแต่อายุเพียง 27 ปี และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทยตอนอายุ 32 ปี สิ่งนี้มีความหมายมากเกินกว่าจะตัดทิ้ง

The Cloud มีโอกาสพูดคุยถึงชีวิตที่ (ยัง) ขาดกาแฟไม่ได้ของนุ่น ตั้งแต่วันที่เธอแอบลิ้มลองกาแฟหยดแรกในวัยประถม วันที่เธอแบกร่างป่วย ๆ ไปเก็บกาแฟ วันที่เธอส่งอีเมลขอดูโรงคั่วในต่างประเทศแล้วได้รับอนุญาตแบบงง ๆ จนถึงวันที่กาแฟมอบบทเรียนชีวิตให้เธอรู้จักตั้งเป้าหมายเพื่อสังคม

ชีวิตที่มีกาแฟนำทางของ ‘นุ่น ณัฏฐ์รดา’ ซีอีโอ Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

The Girl in the Coffee Land

เด็กหญิงคนหนึ่งเติบโตขึ้นในบ้านที่สมาชิกครอบครัวทุกคนดื่มกาแฟ วันเสาร์-อาทิตย์ผู้ใหญ่จะชงกาแฟในกระป๋องสเตนเลส โดยไม่ลืมชงโอวัลตินแยกให้เด็กน้อยดื่ม แต่ด้วยความเป็นเจ้าหนูจำไม ทำให้นุ่นอยากลองมากกว่าแค่โอวัลติน จนแม่ต้องออกปากเตือนว่า “กินกาแฟเยอะแล้วจะโง่นะ”

เรื่องนี้หลอกนุ่นไม่ได้ เพราะเธอรู้ตัวว่าหัวดี

หลังจากนั้นชีวิตของนุ่นและกาแฟก็มาบรรจบกันสมัย ป.5

“แม่เป็นคนชอบกินกาแฟ แต่ตอนนี้เขาไม่อินเท่าเรานะ (หัวเราะ) สมัยเด็กแม่พาไปซื้อของที่ตลาดปีนัง ซึ่งเคยมีกาแฟที่หนีภาษีขาย เราก็ดูแม่ซื้อ แต่หลัง ๆ แม่จะฝากเราซื้อ ด้วยความเป็นเจ้าหนูจำไม เราเลยสงสัยว่า กาแฟมีตั้งร้อยชนิดในร้าน ทำไมแม่ต้องฝากซื้ออันนี้ มันต่างกันอย่างไร

“พอสงสัยแบบนั้น เราก็เลยซื้อมาลองให้หมด!” เธอเล่าอย่างออกรส

การทดลองของนุ่นเริ่มขึ้นโดยเน้นกาแฟราคาถูกตามประสาเด็ก โหลแก้วบรรจุกาแฟต่างยี่ห้อ ต่างชนิด ต่างสูตร มีจุดสังเกตที่ฝาต่างสี เธอหยิบโหลแก้วที่เล็กที่สุดเพื่อนำมาชงดื่มแบบกาแฟดำ

“เราเอามาลองชิมว่ามันต่างกันอย่างไร ซึ่งจุดที่กระตุ้นความสงสัยของเราคือ ชิมแล้วมันดันต่าง! เราก็ลามไปชิมยี่ห้ออื่น เมื่อโตขึ้นอีก จากขวดก็ซื้อแบบซอง กลายเป็นเริ่มสนใจเครื่องดื่มชนิดนี้มาตั้งแต่นั้น”

เจ้าของเรื่องเล่าให้ฟังว่าเธอเรียนจบค่อนข้างเร็ว หลังสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนคอนแวนต์ เธอไปเรียนต่อที่ ACC หรือโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ตอนอายุเพียง 14 – 15 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเธอยังดื่มกาแฟเป็นประจำและดื่มทุกชนิด ตั้งแต่กาแฟโบราณจนถึงกาแฟในห้างอย่าง Black Canyon และ coffeeToday

“Au Bon Pain ด้วย หารเงินกับเพื่อนซื้อเครื่องดื่ม Iced Mocha Blast ทุกวัน” เธอเสริม

ราวกับคนที่ชอบกลายเป็นคนที่ใช่ นุ่นเริ่มเดินลัดเลาะเข้าไปถึงหลังเคาน์เตอร์ เพื่อขอดูกรรมวิธีการชง แต่บางครั้งคำขอก็ถูกปฏิเสธพร้อมความสงสัยว่า ‘เด็กคนนี้เข้ามาทำอะไร’ แม้จะถูกโยนผ้าไล่ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ นั่นจึงกลายมาเป็นนิสัยติดตัวที่ ‘ขอให้ได้ลองก่อน เพราะไม่มีอะไรเสียหาย’

หลังเรียนจบในวัยเพียง 21 ปี เธอเริ่มต้นทำงานที่จังหวัดระยองในโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งที่นั่น เธอมีความสุขกับเครื่องกดกาแฟที่ให้พนักงานเอาเมล็ดไปเอง

แต่เมื่อความสนุกจบลงด้วยแก้วอันว่างเปล่า นุ่นย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ท่ามกลางหน้าที่การงานที่ดีและการประสบความสำเร็จ ความเพลิดเพลินกับการทำงานหายไปไหน หรือแท้จริงแล้ว เธอทำอะไรที่มีคุณค่าได้มากกว่านั้นหรือเปล่า

“สิ่งที่ทำให้นุ่นใจกล้าขึ้นคือ ช่วงปี 2012 – 2013 นุ่นไปเจอหนังสือเรื่อง บันทึกการเดินทางในโลกกาแฟ ของ ซาน-ชาตรี ตรีเลิศกุล มันเหมือนการอ่านอัตชีวประวัติของคน แต่ทำให้เราได้รู้จักอุตสาหกรรมกาแฟของต่างประเทศ”

หลังจากนั้น การเดินทางของนุ่นโดยมีกาแฟนำทางก็เริ่มขึ้น

ชีวิตที่มีกาแฟนำทางของ ‘นุ่น ณัฏฐ์รดา’ ซีอีโอ Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

Coffee Star

เธอบอกกับเราผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สัญญาณไม่เสถียรว่า เธอโชคดีที่ได้พบกับคนในวงการมากมาย ทั้งเจ้าของหนังสืออย่าง ซาน-ชาตรี ตรีเลิศกุล และ ไนซ์-ศิรฎา เตชะการุณ จาก P&F Coffee รวมไปถึง วัล-วัลลภ ปัสนานนท์ เจ้าของร้าน Nine One Coffee และอดีตนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

ก่อนหน้าที่จะพบกับวัลลภ นุ่นมีความฝันเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อยากทำงานในต่างประเทศ แต่เมื่อได้ทำแล้ว เธอกลับค้นพบว่าตัวเองมองข้ามสิ่งดี ๆ ที่อยู่รอบตัวไปอย่าง ‘กาแฟไทย’ สุดท้ายนุ่นจึงย้อนกลับมาตีโจทย์ว่า หากเธอชอบมากขนาดนี้ จะทำอย่างไรให้คนรู้จักมันมากขึ้น

“แล้วก็มาถึงทริปเปลี่ยนโลกที่ไร่ของพี่วัล ตอนไปหาพี่วัล นุ่นป่วยหนัก ไข้ขึ้น หน้าแดง พี่วัลให้พัก แต่นุ่นไม่ยอม ไม่พัก ฉันจะไปเก็บกาแฟ เพราะอยากเก็บสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้เต็มที่ ต้องสุดกับมัน”

นุ่นพูดขำ ๆ ว่า ทำให้ดีที่สุด แล้วไปหยุดที่โรงพยาบาล

ชีวิตที่มีกาแฟนำทางของ ‘นุ่น ณัฏฐ์รดา’ ซีอีโอ Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

ก่อนหน้านี้ เธอเคยไปพักที่รีสอร์ตของวัลลภ เขามีนโยบายให้ผู้เข้าพักดื่มกาแฟฟรีเท่าไหร่ก็ได้ ทำให้นุ่นได้ลิ้มลองความพิเศษของกาแฟไทย ถึงขั้นที่รู้สึกว่า ‘นี่คือของดีมีอนาคต’

“แต่กาแฟไทยขาดอะไร” เธอตั้งคำถามและครุ่นคิดกับตัวเอง

“การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ คืองานที่เราทำมาตลอด สิ่งนี้เป็นตัวช่วยในการโปรโมตให้ชาวต่างชาติรู้ เรามีของดี และอยากทำอะไรดี ๆ ให้ประเทศ สรุปเลยว่าตอนนั้นกาแฟไทยขาด Marketing (การตลาด) และ Operation Supply Chain (การบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ) เรายังไม่มีระบบเหมือนต่างประเทศ ไม่มีรัฐบาลคอยจัดการให้เป็นระบบ”

คิดเสร็จสรรพ นุ่นก็ไปเรียนปริญญาโทเรื่องกาแฟ ไม่ใช่! นุ่นไปเรียนปริญญาโทด้าน Marketing และ Supply Chain Operation เพื่อมาดูแลกาแฟไทย

“แล้วเชื่อไหมว่านุ่นทำโปรเจกต์เกี่ยวกับกาแฟมาตลอด ช่วงที่เรียนอยู่ ACC ทำเรื่อง Coffee Shop สมัยปริญญาตรียังแตะ ๆ เรื่องกาแฟมาตลอด พอเรียนปริญญาโทก็ตั้งใจทำแต่การตลาดกาแฟล้วน ยกเว้นอาจารย์มอบโจทย์ให้ถึงจะไปทำแบรนด์อื่น ยอมรับว่าแต่ก่อนเรียนให้จบเร็ว ความรู้ไม่เยอะ แต่ตอนเรียนปริญญาโท คือเราใส่ความพยายามและความต้องการต่อยอดความรู้เข้าไปอย่างเต็มที่”

ในที่สุด แนวคิดที่เรียนมาจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวงการนี้อย่างที่ตั้งใจ

“ย้อนกลับไปอีกว่า ความชอบที่มีต่อเครื่องดื่มชนิดนี้ยังทำให้เราอยากรู้อะไรอีกมากมาย ตอนที่ทำงานอยู่ระยอง บ้านอยู่สมุทรปราการ เรียน NIDA ไม่ไหวเลยย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ เรายังทำงานกับบริษัทต่างชาติเหมือนเดิม ครั้งนี้เป็นบริษัทน้ำมันระดับโลก พอเขาส่งเราไปเมืองนอก เราก็ถึงจุดที่ไม่ได้ไปแค่ร้าน แต่ไปถึงโรงคั่วแล้ว

“นุ่นใช้วิธีเดิมคือเสิร์ชก่อนว่าจะไปเมืองไหน หาชื่อโรงคั่ว แล้วส่งอีเมลไป บอกว่าขอเข้าไปดูได้ไหม แบกกาแฟพี่วัลไปด้วย ส่งไปประมาณ 20 – 30 เจ้า ตอบกลับมา 4 เจ้า ซึ่งก็ดีนะ เขายังตอบกลับมา (หัวเราะ)”

เธอบอกว่าอย่าดูถูกเรื่องการส่งอีเมลแบบนี้เด็ดขาด เพราะมันทำให้เธอไปไกลถึงโรงคั่ว Small Batch และได้เห็นกระบวนการทุกอย่างมาแล้ว

ชีวิตที่มีกาแฟนำทางของ ‘นุ่น ณัฏฐ์รดา’ ซีอีโอ Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

ความกระตือรือร้นของเธอไม่หยุดแค่นั้น แฟนพันธุ์แท้คนนี้เข้าคอร์สเรียนจนได้ใบประกาศนียบัตรมามากมาย และมีตำแหน่งด้านกาแฟการันตีความสามารถ ทั้ง Q Arabica Grader, COE Sensory Evaluation Training และ Thai Specialty Coffee Awards Sensory Judge 2020 – 2022 นอกจากนี้ เธอยังศึกษาจากหนังสือและงานวิจัยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาแล้วกว่า 200 เล่ม

“พี่วัลสอนให้นุ่นเก็บกาแฟ พี่ซานสอนเรา Cupping ในแง่การทำธุรกิจก็ได้จาก พี่อ๋า-ศุภชัย ศรีวิตตาภรณ์ ประธานกรรมการ Bluekoff ตอนนั้นนุ่นสติแตกอย่างหนัก พอพี่ ๆ ทุกคนเห็นว่า เราอยู่ทุกที่ของกาแฟก็เลยชวนเรามาช่วยงานสมาคมฯ ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นสมาคมฯ ด้วย นุ่นนั่งฟังอยู่เงียบ ๆ เรียนก็ยังไม่จบ งานประจำก็มี (หัวเราะ) จังหวะนี้รากเลือดจริง”

บางคนอาจสงสัยเช่นเดียวกับพ่อแม่ของนุ่นว่า ทำไมเธอจึงเลือกมาช่วยงานสมาคมฯ ทั้งที่ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร แถมยังทำให้ชีวิตวุ่นวายยิ่งกว่าเก่า แต่นุ่นมองกลับกันว่า นี่คือการเรียนรู้แบบ Fast Track

“Win-Win กันทั้งสองฝ่าย พ่อแม่บอกว่างานนี้ไม่ได้เงิน แถมเสี่ยงอันตราย (ไปดอย) แต่นุ่นว่าการได้นั่งตรงนั้นคือความโชคดี พอทำ Thailand Coffee Fest 2016 ปีแรกก็มันมาก วันธรรมดามาไม่ค่อยได้เพราะติดงานประจำ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็โดดเรียนไปเลย จบสวยงาม มีประกวด 10 สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ทำให้เห็นความเจ๋งของกาแฟไทยอย่างที่ตั้งใจไว้”

นับจากนั้น นุ่นก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการนี้อย่างเป็นทางการ

ชีวิตที่มีกาแฟนำทางของ ‘นุ่น ณัฏฐ์รดา’ ซีอีโอ Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย
ชีวิตที่มีกาแฟนำทางของ ‘นุ่น ณัฏฐ์รดา’ ซีอีโอ Bluekoff และนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย

Bluekoff to Blueprint

“สิ่งแรกที่คิดกับ Bluekoff คือเป็นธุรกิจที่ใหญ่และแมส ไม่ Specialty อย่างที่เราต้องการ แต่หลังจากที่ได้พบกับพี่ ๆ เราเห็นว่า Bluekoff เป็น Specialty แต่สเกลใหญ่มาก มีอะไรให้สนุกเยอะมาก ตั้งแต่บนดอย ทำเรื่องดินกับเกษตรกร มีโรงคั่ว โรงสี คาเฟ่ หน้าร้าน ครบวงจรในสิ่งที่คนอยากเรียนรู้ มันคือสนามเด็กเล่นดี ๆ นี่เอง”

พนักงานใหม่เริ่มงานกับศุภชัยด้วยความกังวลหลายด้าน แต่เมื่อเขารับฟัง เปิดใจ และสนับสนุนการทำงานอย่างไม่ยั้ง พร้อมคำนึงถึงความอยู่รอดของธุรกิจเจ้าเล็กเจ้าน้อยอยู่เสมอ ทำให้นุ่นถูกใจหลักการที่ตรงกัน สุดท้ายจึงตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ Bluekoff ตั้งแต่นั้นมา

คุยกับ นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ผู้บริหารที่คลั่งไคล้กาแฟ จนก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ Bluekoff ตั้งแต่อายุ 27

“กาแฟอย่างเดียวไม่เคยทำให้รู้สึกเบื่อ จะมีเบื่อบ้างก็เรื่องงาน” เธอหัวเราะ แล้วเริ่มวิเคราะห์การทำงานให้ฟังอย่างตั้งใจ

นุ่นใช้หลักการ 2 ข้อคือ ทำทุกอย่างอย่างมืออาชีพและซื่อตรง นอกจากนี้ เธอมักจะกลับมารีวิวตัวเองเสมอว่า ตัดสินใจอะไรพลาดบ้างหรือไม่ แล้วครั้งต่อไปจะจัดการสิ่งเหล่านั้นอย่างไร

“เรามี Best Case Scenario, Ideal Scenario และ Worst Case Scenario เผื่อไว้ ถ้าทำออกมาแล้วสำเร็จ ก็ต้องแชร์ความสำเร็จให้คนรอบตัวด้วย เพราะนุ่นว่าไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะช่วยกัน นอกนั้นคือทำอะไรก็ซัดให้เต็มข้อ จะได้ไม่ต้องมานั่งเฟลคูณสอง”

ทั้งหมดคือรายละเอียดความเป็นมืออาชีพที่นุ่นพูดถึงตั้งแต่ต้น และเป็นสาเหตุให้เธอปวดหัวในบางครั้ง “Expect the best, Prepare for the worst” อีกฝ่ายพูดไปตบโต๊ะไป

“ความเป็นมืออาชีพต้องมาพร้อมความถูกต้อง มันง่ายมากถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ แต่พอเรามีหลักการที่ต้องซื่อสัตย์ มันเพิ่มความยากเข้าไป แต่เราจะมีชีวิตที่สบายใจขึ้น” เธอยิ้ม เราพยักหน้ารับ

เราลองถามเธอว่า ปัจจุบันร้อยเปอร์เซ็นต์ในห้วงความคิดของเธอเกี่ยวกับเครื่องดื่มชนิดนี้อย่างเดียวไหม เจ้าตัวขมวดคิ้วและบอกว่า “ไม่” แต่โดยรวมเธอคิดถึงเรื่องงานเป็นหลัก ทั้งงานสมาคมฯ และงานของ Bluekoff นอกจากนี้ก็มีเรื่องครอบครัวที่เพิ่งมาดีกันหลังทำงาน เพราะทางบ้านไม่เห็นด้วยเรื่องการทำงานเกี่ยวกับกาแฟมากนัก แต่ในวัยนี้ นุ่นเริ่มมองเห็นความโชคดีที่มีครอบครัวรออยู่ที่บ้าน เธอจึงพยายามจัดสรรเวลาให้ลงตัว

จบจากคำถามดังกล่าว เราเบรกความจริงจังด้วยการถามเธอว่า แล้วเสน่ห์ของกาแฟคืออะไร ทำไมเธอจึงยังอยู่กับมันได้ตลอด

อีกฝ่ายสบตากับเราด้วยสีหน้าผ่อนคลายทันที

“กาแฟเนี่ย” เธอเงยหน้ามองเพดานอย่างครุ่นคิด ท่าทางคำตอบจะเยอะมาก จนเรียบเรียงเป็นประโยคไม่ถูกอยู่นานสองนาน

“เสน่ห์ของมันคือการทำให้เราเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มันน่าสนใจ สมมติคุณมีแฟนสักคน บางทีมันตันเพราะเรารู้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรให้เซอร์ไพรส์ แต่กาแฟช่างมีอะไรให้ค้นหา ลึกลับซับซ้อน สายพันธุ์ใหม่ก็มา บางอย่างมีมานาน แต่กลับมีวิวัฒนาการต่อเนื่องไม่หยุด

“กาแฟไม่เคยทำร้ายใคร มันมีความเฉพาะตัวในแง่ของธุรกิจด้วย อย่างช่วงโควิด-19 ยอดขายก็สูงสุด” เธอยกตัวอย่างการปิดยอดขายของ Bluekoff ที่ทำให้ต้องยกมือเฮ! แต่นั่นก็เพราะทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน และทุกคนมีความพยายามในการพัฒนาตัวเอง

คุยกับ นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ผู้บริหารที่คลั่งไคล้กาแฟ จนก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ Bluekoff ตั้งแต่อายุ 27

“นุ่นมาถึงจุดนี้ได้ใน Bluekoff และวงการกาแฟ ยอมรับว่าผู้ใหญ่ใจดี แต่เขาจะไม่สนับสนุนเลย ถ้าเราไม่ได้พัฒนาตัวเองมาก่อน ไม่ศึกษามาก่อน ไม่เตรียมตัวมาก่อน ณ โมเมนต์ที่เขาให้โอกาส นุ่นโคตรพร้อมที่จะรับโอกาส แม้กระทั่งการไปดูโรงคั่ว นุ่นไม่ได้รอโอกาส แต่นุ่นสร้างโอกาสด้วย มันอยู่ที่ว่าคุณพร้อมเปิดโอกาสให้ตัวเองแค่ไหน และคุณยินดีทำงานหนักเพื่อพัฒนาตัวเองไหม”

นุ่นสรุปให้ฟังอีกอย่างว่า ต้นทุนชีวิตของคนอาจไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เรามีเท่ากันคือ ‘เวลา’

หญิงสาวคนนี้รู้ว่าเธอจะบริหารเวลาอย่างไร เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในความรู้และอาชีพการงาน จึงทำให้เธอมาไกลถึงจุดนี้ในวัยที่เพิ่งย่างเข้าเลข 3 ได้ไม่กี่ปี

“นุ่นทำงานเป็นซีอีโอตอนอายุ 27 เรื่องอายุมีผลต่อการทำงาน เนื่องจากประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘วัยวุฒิ’ ที่ต่างชาติไม่มีกัน เขามี Seniority แต่วัยวุฒิเป็นสิ่งที่คนไทยค่อนข้างจริงจัง ปัญหาเรื่องอายุจะมีแค่ช่วง First Impression เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าคือเราดีลกับผู้ใหญ่อย่างไร คุณรีแอ็กกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเด็ก ๆ หรือคุณหัดเรียนรู้จากคนที่เป็นผู้ใหญ่ว่าเขาจัดการอย่างไร”

การทำงานกับศุภชัยทำให้เธอรู้จักความใจเย็นและกลยุทธ์อ่อนนอก แข็งใน เตรียมพร้อมพบเจอกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ โดยเปิดรับความต่างของแต่ละคน และตั้งใจ ‘ฟัง’ เพื่อความเข้าใจ จากนั้นจึง ‘พูดคุย’ ด้วยความใส่ใจ

ซีอีโอที่สละเวลารับประทานอาหารเที่ยงมาพูดคุยกับเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายสำคัญ จังหวะนั้นเราเห็นรอยสักเล็ก ๆ ที่แขนของเธอ เมื่อนุ่นวางสาย เราจึงขอเปลี่ยนบทสนทนาไปเรื่องที่ผ่อนคลายกว่า คือความรักที่เธอมีต่อกาแฟถูกส่งผ่านรอยสักบนตัวบ้างไหม

“มันไม่ได้หมายถึงกาแฟโดยตรง แต่คือแรงบันดาลใจของชีวิตในการทำเพื่อกาแฟ” เธอโชว์รอยสักจากหนังสือชื่อ Manual of the Warrior of Light ของ Paulo Coelho ให้เราชม รอยนั้นมีลักษณะเหมือนดอกไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีอยู่ในหนังสือทุกหน้า

“ในนั้นมีบทที่บอกว่าเมื่อ Warrior of Light เจออุปสรรคจะทำอย่างไร เราว่าใช้หลักการของเขาทำให้ตัวเองมีประโยชน์ในการพัฒนากาแฟไทยได้ หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนเกิดมาเพื่อเรา เพราะการที่เราจะเป็นผู้พัฒนากาแฟไทย โดยเฉพาะจุดที่ยืนอยู่ ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ หรือการพัฒนาที่ต้นน้ำ พอมันพัฒนาตลอด ภาพใหญ่มันยากและเยอะ หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกว่าต้องเป็น Warrior of Light ถึงจะรอด”

เธอบอกว่า ไม่สักเป็นรูปกาแฟ เพราะมันตรงเกินไป และรอยสักของเธอทุกรอยมีผลต่อระดับจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่ความชอบ

นุ่นโชว์รอยสักอื่นผ่านหน้าจอ มีทั้งรอยดาวินชี และสัญลักษณ์อินเดียนแดงที่หมายถึง Leadership Energy และ Humble เธอยังปิดท้ายหัวข้อด้วยว่า การสักเป็นความท้าทายชีวิตอย่างหนึ่ง ที่ต้องพร้อมทำงานหนักกว่าคนอื่นเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพราะสังคมบางส่วนยังมองคนมีรอยสักไม่ดีนัก

คุยกับ นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ผู้บริหารที่คลั่งไคล้กาแฟ จนก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ Bluekoff ตั้งแต่อายุ 27

เราคิดว่า เธอเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนักในทุกด้าน ถ้าอย่างนั้นในวันที่เหนื่อย อะไรเป็นสิ่งเยียวยาเธอ

“วันไหนที่เหนื่อยเหมือนจะตาย แค่ได้ชิมกาแฟที่เข้า Top 10 ก็หายเหนื่อยแล้ว หรือถ้าคืนนั้นมีเวลาคิดทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา รวมถึงความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บ่งบอกว่าวงการกาแฟไทยกำลังเดินไปข้างหน้า เท่านั้นก็หายเหนื่อย เพราะจากที่เราเดินทางกันมา มันมาไกลมาก

“ส่วนการเยียวยารายวัน ถ้าเป็นโซฟาตัวเดิมกับเบียร์ 1 กระป๋องก็โอเคแล้ว” เธอเสริม

ตลอดการสนทนา เราตั้งข้อสังเกตว่า จุดมุ่งหมายของเธอถูกตั้งขึ้นและดำเนินไปเพื่อคนอื่นในสังคมเสมอ นุ่นบอกว่านั่นคือความเห็นแก่ตัวของเธอที่อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น การทำเพื่อคนในวงการกาแฟไทยจึงเป็นเป้าหมายอันเห็นแก่ตัวของเธอเอง

“ตอนนี้วงการพัฒนาขึ้นเยอะ การทำงานของเรากับเกษตรกรที่ต่างวัยกันยังคงมีอยู่ แต่ในอนาคต เรารู้ว่าวงการนี้จะไปไกลมาก เพราะคนรุ่นใหม่กลับบ้านไปทำมากขึ้น พวกเขากล้าลอง เจเนอเรชันเปลี่ยนและโต และจะไม่กลับไปที่เดิม ด้วยความที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเร็ว สิ่งที่พลาดจะมีเยอะขึ้น แต่จะเกิดการพัฒนาที่รวดเร็ว

“ยกตัวอย่าง การประกวด 10 สุดยอด Thai Specialty Coffee Awards เมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรพลาดเยอะมาก หมักกาแฟมาแบบน้ำส้มสายชู กรรมการก็ท้องเสีย คะแนนต่ำ ไม่ได้แย่ เพราะเป็นกระแสกาแฟหมัก เกษตรกรยังจับจุดไม่ถูก แต่เพราะเขาลองแล้วพลาด พอมาปีนี้ปรากฏว่า เกษตรกรรุ่นใหม่จับจุดได้ เขาแชร์ข้อมูลกันจนผลลัพธ์ดีมาก Top 20 คะแนนต่ำคือ 85 ซึ่งถือว่าสูง ภาพรวมกาแฟไทยอัปขึ้นมาเฉลี่ย 3 – 4 แต้ม แปลว่าเขาพลาดแล้วเรียนรู้ นี่คืออนาคตของกาแฟไทย เป็นวัฏจักรที่คล่องตัว ลอง-ผิด-ทำใหม่ นุ่นจะรอดูนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต”

คุยกับ นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ผู้บริหารที่คลั่งไคล้กาแฟ จนก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ Bluekoff ตั้งแต่อายุ 27

เธอทิ้งท้ายว่า ในวัยเด็กเคยมีความฝันที่จะเก็บเงินเยอะ ๆ เพื่อเปิดร้านกาแฟในวัยเกษียณ แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าความฝันนั้นลอยหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่

ซีอีโออนาคตไกลนึกไม่ออกว่า ชีวิตจะเป็นไปในทิศทางใดหากไม่ได้ทำงานด้านนี้แล้ว

“การขาดกาแฟไปเหมือนชีวิตไร้จุดหมาย นอกจากงานบริหารที่มีความรู้อยู่แล้ว ก็คงต้องมองหาเป้าหมายชีวิตใหม่ เป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าเพื่ออะไรสักอย่างเหมือนเดิม ตายไปจะได้ไม่เสียดาย แต่ตอนนี้ถ้าเราอยู่ในวงการแล้วทำตัวมีประโยชน์ได้ก็ดี นุ่นอยากเตรียม10 สุดยอดกาแฟไทยไปกระจายให้คนลองกิน อยากโปรโมตกาแฟไปเมืองนอก นี่คือเรื่องเล็ก ๆ ที่อยากทำ ก็กาแฟไทยมันดีอย่างนั้นแหละค่ะ (ยิ้ม)”

เราขอลาปลายสายไปรับประทานอาหารกลางวันอย่างอิ่มเอมใจ คงไม่มีใครเชื่อว่าความสงสัยใคร่รู้ของเด็กหญิงคนหนึ่ง จะสร้างผู้บริหารที่เปลี่ยนความชอบเป็นการงานที่มั่นคงได้ ทั้งงานนั้นยังไม่ได้มอบประโยชน์ให้เพียงตัวเอง แต่ยังเผื่อแผ่ถึงคนรอบข้างตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากยอดดอยจนถึงใครสักคนที่สดชื่นและหายปวดหัวเมื่อได้ดื่มกาแฟ

ป.ล. ปัจจุบัน นุ่นดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว แก้วละประมาณ 300 ซีซี (เผื่อใครสงสัยว่าเธอติดกาแฟมากกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า)

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย