เมื่อมานึกย้อนหลังไปในวันคืนเก่าๆ แล้ว ผมพบว่าช่วงอายุที่ผมกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต่อเนื่องไปจนถึงการเข้าเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่งในมหาวิทยาลัย กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงคือระหว่างพุทธศักราช 2514 – 2516 มีเรื่องราวทางการเมืองเกิดขึ้นหลายอย่างที่ยังอยู่ในความทรงจำของผมแม้จนทุกวันนี้

เรื่องแรกคือ เกิดการรัฐประหารครั้งแรกที่ผมจำความได้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.​ 2514 จริงอยู่ว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อตอนผมเป็นเด็กน้อยและจำความไม่ได้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อพุทธศักราช 2501 โดยฝีมือของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่การทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2514 นี้ ผมโตรู้ความแล้ว แถมยังเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร โดยหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ชื่อจอมพลถนอม กิตติขจรเหมือนกันด้วย ใครอยากรู้รายละเอียดเรื่องนี้ก็ไปค้นหาอ่านเพิ่มเติมได้จากแหล่งความรู้ต่างๆ นะครับ

ถัดมาอีกไม่ถึง 2 ปีเต็ม ในวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 ก็เกิดเหตุใหญ่ทางการเมืองขึ้นในบ้านเราอย่างที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคราวนั้นเอง ทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร พ้นจากฐานะความเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องเดินทางไปพำนักหลบภัยในต่างประเทศ

ถึงแม้จอมพลถนอมและรัฐบาลของจอมพลถนอมจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว แต่ยังมีปมเงื่อนอะไรบางอย่างที่ค้างคาอยู่ ต้องจัดการดูแลแก้ไขกันอีกระยะหนึ่งกว่าจะเข้าที่เข้าทางกันได้ เรื่องหนึ่งในบรรดามรดกตกค้างเหล่านี้คือ ‘โครงการการสร้างสนามบินหนองงูเห่า’ ที่กลายเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของรัฐบาล อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลจอมพลถนอม

เด็กรุ่นหลังอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่าสนามบินหนองงูเห่าเสียแล้วว่าอยู่ที่ไหนกันหนอ อันที่จริงแล้วไม่ใช่สนามบินอื่นใดเลยครับ โครงการสนามบินหนองงูเห่าคราวนั้น ตอนนี้ก็สำเร็จผลเป็นสนามบินสุวรรณภูมินี่เอง

มนุษย์เรามีความใฝ่ฝันมาช้านานแล้วที่อยากจะบินได้อย่างนก หรือเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างเทวดาหรือครุฑในเทพนิยาย ฝันค้างกันมาหลายศตวรรษและในที่สุดความฝันได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เมื่อพี่น้องตระกูลไรท์คิดสร้างเครื่องบินได้เป็นผลสำเร็จ แต่แรกการใช้ประโยชน์จากเครื่องบินอยู่ในวงจำกัดเพราะเป็นของใหม่และหายาก 

ต่อมาเมื่อวันคืนล่วงไป เผลอตัวเพียงครู่เดียวเครื่องบินได้กลายเป็นยานพาหนะที่ใช้เพื่อการโดยสารของชาวบ้านทั่วไป หรือเรียกให้เป็นภาษาราชการก็ต้องบอกว่ามี ‘เครื่องบินพาณิชย์’ เกิดขึ้นแล้ว ลำพังมีแต่เครื่องบินกับนักบินไม่สามารถทำให้กิจการการบินพาณิชย์มีชีวิตเกิดขึ้นจริง เพราะยังมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต้องมีต้องใช้ในธุรกิจนี้อีกหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัด คือ สนามบิน อันเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้การเดินอากาศของมนุษย์ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สนามบินไม่ได้หมายความแต่เพียงแค่ทุ่งโล่งกว้างใหญ่ให้เครื่องบินวิ่งขึ้นลงได้เท่านั้น หากแต่หมายถึงอะไรอีกมากมายที่ต้องรวมเข้าเป็นองค์ประกอบของสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พักผู้โดยสารทั้งขาเข้าขาออก การควบคุมการจราจรทางอากาศ ระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง บริการซ่อมบำรุง บริการเชื้อเพลิง ร้านค้า ร้านอาหาร สถานพยาบาล โรงแรม ลานจอดรถ ฯลฯ

นั่นส่งผลให้การมีสนามบินหนึ่งสนามต้องลงทุนลงรอนเป็นอันมาก และส่วนใหญ่แล้วรัฐเป็นผู้รับภาระหน้าที่ในเรื่องนี้ โดยเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร บริษัทสายการบิน หรือใครก็แล้วแต่ที่ทำมาหากินเกี่ยวข้องกับสนามบิน

เมื่อกิจการการบินพาณิชย์แพร่หลายเข้ามาถึงเมืองไทย สนามบินพาณิชย์แห่งแรกสำหรับพระนครคือ สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวาง และแบ่งกันใช้กับกองทัพอากาศ ซึ่งมีเครื่องบินที่ใช้ในราชการอีกเป็นจำนวนมากพอสมควร

แม้จนถึงวันนี้คงพอนึกออกนะครับว่า ถ้าเป็นสนามบินของกองทัพอากาศก็อยู่ใกล้ชิดติดไปทางถนนพหลโยธิน แต่ถ้าเป็นท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินพลเรือนก็อยู่ติดกันกับถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งสนามบินพาณิชย์ของพลเรือนและสนามบินทหารกลมเกลียวเป็นพื้นที่เดียวกันมาอย่างนี้ตั้งแต่แรกแล้ว

เมื่อครั้งที่ผมเป็นเด็ก ซึ่งหมายความว่าในราวครึ่งศตวรรษแล้ว การเดินทางไปต่างประเทศด้วยเครื่องบินแต่ละครั้งเป็นการใหญ่โตเอิกเกริกมาก ถ้าย้อนไปดูรูปภาพครั้งเก่า จะพบว่ามีการนำพวงมาลัยไปคล้องคอให้ผู้เดินทางเป็นสวัสดิมงคลด้วย เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีวาสนาเดินทางด้วยเครื่องบินได้ คนเดินทางตัวจริงเพียงหนึ่ง แต่คนมาส่งมีถึง 10 กว่าคนหรือยกมากันทั้งหมู่บ้านก็มีอยู่

ตั้งแต่ผมเป็นเด็กมาจนอยู่ชั้นมัธยมจะเข้ามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เมืองไทยเรามีสนามบินนานาชาติอยู่แห่งเดียวคือสนามบินดอนเมืองที่ว่านี้ สำหรับคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องคิดอ่านเตรียมการเผื่ออนาคตไว้บ้างเหมือนกันว่า แล้วสนามบินดอนเมืองของเราจะใช้งานไปได้อีกกี่มากน้อย เพราะถ้าปริมาณผู้โดยสารมีเพิ่มมากขึ้น มีสายการบินเพิ่มมากขึ้น วันหนึ่งก็ต้องขยายสนามบินเดิมออกไปให้พอใช้งานหรือมีสนามบินแห่งที่สองอยู่ดี

ในชั้นแรกทีเดียวในราว พ.ศ. 2510 มาจนถึง พ.ศ. 2513 รัฐบาลจอมพลถนอมได้ตั้งคำถามเรื่องนี้ขึ้นมาดังๆ และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาศึกษาแนวทางการก่อสร้างสนามบินแห่งที่สองสำหรับกรุงเทพฯ สุดท้ายคณะกรรมการและรัฐบาลก็ลงเอยด้วยการเสนอให้ปรับปรุงสนามบินดอนเมืองเสียก่อน โดยใช้งบประมาณไปในราว 200 ล้านบาท พร้อมกันนั้นก็ยังไม่ทิ้งความคิดที่จะมีสนามบินแห่งที่สองเสียเลยทีเดียว หากแต่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินของเราเองจ้างบริษัทวิศวกรที่เป็นกลางเข้ามาสำรวจความจำเป็นที่จะมีสนามบินแห่งที่สอง โดยปฏิเสธความช่วยเหลือทางวิชาการจากมิตรประเทศหลายประเทศที่เสนอตัวเข้ามาทำการศึกษาในเรื่องนี้ให้ฟรีๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องผูกพันหมั้นหมายไว้กับใครให้ยุ่งยากลำบากใจภายหลัง

เป็นสาวสวยเนื้อหอมอย่างเรานี่ต้องรักนวลสงวนตัวครับ อย่าไปผูกข้อไม้ข้อมือกับใครง่ายๆ หนุ่มๆ คุณสมบัติดียังมีให้เลือกอีกถมไป

แต่แล้วในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังค่อยเดินไปในร่องรอยที่ควรจะเป็น ก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้นในตอนปลาย พ.ศ. 2514 อย่างที่ผมว่ามาแล้วข้างต้น แล้วอยู่ดีๆ ก็มีขอมดำดินรายหนึ่ง ชื่อบริษัทนอร์ทรอปอเมริกัน เสนอตัวเข้ามาเจรจากับคณะปฏิวัติและรัฐบาลที่รับมรดกสืบทอดจากคณะปฏิวัติ ขอเข้าดำเนินการก่อสร้างสนามบินแห่งที่สองสำหรับเมืองหลวงประเทศไทย บริษัทที่ว่านี้รับวางแผน ออกแบบ ก่อสร้าง ควบคุมงาน จนสร้างเสร็จเรียบร้อย โดยรัฐบาลไทยไม่ต้องควักเงินลงทุน แต่ทีเด็ดสุดคือ ข้อเสนอที่ว่ารวมไปถึงการรับเหมาดำเนินกิจการยาวนานไปอีก 20 ปี โดยบริษัทเสนอให้ค่าตอบแทนสัมปทานส่วนนี้เป็นรายปีแก่รัฐบาลไทย จากน้อยเพิ่มไปหามาก แต่รวมตลอดทั้งสัญญาแล้วเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท

บริษัทนอร์ทรอปนี้โผล่มาจากไหนไม่มีใครรู้ สืบความแล้วถึงรู้ว่าชื่อเต็มของบริษัทมีอยู่ว่า Nortrop Airport Development Corparation หรือ NADC เป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ 3 ปี และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทชื่อคล้ายกันอีกบริษัทหนึ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีธุรกิจสร้างเครื่องบิน แต่ไม่เคยบริหารสนามบินที่ไหนมาก่อนเลย จะมีเกี่ยวข้องกับสนามบินนิดหน่อย ก็คือเคยรับจ้างทำงานขยายท่าอากาศยานในเมืองสิงคโปร์ แล้วก็รุกคืบเข้ามาขอทำสนามบินในเมืองไทยในลักษณะผูกขาดอย่างที่ว่ามา

ยังไม่ทันที่ใครจะตั้งสติอยู่กับเนื้อกับตัว รัฐบาลจอมพลถนอม ซึ่งแปลงร่างมาจากคณะปฏิวัติในตอนปลาย พ.ศ. 2515 ก็ได้ลงนามในสัญญากับบริษัทที่ว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.​2516 แบบเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกาไปแล้ว และโดยไม่ต้องประมูลแข่งขันกับใคร

อย่าลืมว่าเวลานั้นโรงเรียนจีนยังไม่ค่อยดัง โรงเรียนอเมริกาเป็นที่นิยมชมชอบมากกว่าครับ

ยังโชคดีอยู่หน่อยหนึ่งที่การเซ็นสัญญากับบริษัทนอร์ทรอปยังไม่ทำให้การลงมือก่อสร้างเกิดขึ้นจริง เพราะในสัญญานั้นเอง ได้วางเงื่อนไขให้ต้องตั้งบริษัทนอร์ทรอปไทยขึ้น เพื่อมารับโอนสิทธิในสัญญาไปจากบริษัทนอร์ทรอป (เฉยๆ) เสียก่อน การก่อสร้างจริงจึงจะถึงขั้นตอนตะลุมบอนได้

ระหว่างนั้นเองที่เรื่องราวของสนามบินหนองงูเห่าจึงโด่งดังขึ้นมา

คำว่า ‘หนองงูเห่า’ ในที่นี้ไม่ใช่สำนวนกระทบกระเทียบเปรียบเลยอะไรหรอกครับ หากแต่เป็นชื่อตำบลของสถานที่แห่งนั้นมาแต่เดิม และทำให้หลายคนสงสัยเหมือนกันว่า อยู่ดีๆ จะย้ายสนามบินจากที่ดอน คือ ‘ดอนเมือง’ ไปอยู่ในที่ลุ่มน้ำท่วมง่าย คือ ‘หนองงูเห่า’ ให้ลำบากยากเย็นทำไม

กล่าวโดยรวมแล้ว เมื่อมีข่าวการเซ็นสัญญาที่ว่าเกิดขึ้น เสียงคัดค้านก็ดังขึ้นเซ็งแซ่จากทุกสารทิศ แต่ยังไม่ทันได้มีการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เกิดเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ.​ 2516 ขึ้นเสียก่อน เรื่องนี้จึงลากยาวมาเป็นเผือกร้อนอยู่บนหน้าตักของรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ พอดีกันกับเวลาที่ผมเข้าเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่งในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว

ย้อนหลังไปถึงต้น พ.ศ. 2517 ข่าวเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของสนามบินพาณิชย์แห่งที่สองของเราจะเดินหน้าไปในทิศทางใด จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาเล่นกินรวบรับสัมปทานไปดำเนินการนานถึง 20 ปีเจียวหรือ

ลองมาบวกเลขกันเล่นๆ ไหมครับ ถ้าเราต้องปฏิบัติตามสัญญานี้ และสนามบินสร้างเสร็จในปีพุทธศักราช 2520 นั่นหมายความว่า กว่าสนามบินจะเป็นไทแก่ตัว และกลับมาอยู่ในอำนาจดูแลบริหารกิจการของรัฐบาลไทย ก็ต้องล่วงเข้าไปจนถึง พ.ศ. 2540 แล้ว เป็นลมไหมล่ะครับ

เรื่องเล่าสนามบินหนองงูเห่า โครงการ 3,000 ล้านบาทยุคจอมพลถนอม ที่ถูกคัดค้านจนล้มพับ

ในบ้านของผมทุกวันนี้ยังเก็บหนังสือเก่าไว้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่แจกในเวทีการอภิปรายที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2517 โดยมีผู้ขึ้นเวทีอภิปราย 5 คน ได้แก่ ดร.อภิชัย พันธเสน, นายมีชัย วีระไวทยะ, นางเสริมศรี เอกชัย, นายบูรพา อัตถากร และ นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต การอภิปรายบ่ายวันนั้นดำเนินการอภิปรายโดย ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์

เรื่องเล่าสนามบินหนองงูเห่า โครงการ 3,000 ล้านบาทยุคจอมพลถนอม ที่ถูกคัดค้านจนล้มพับ

หน้าปกหนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อว่า ‘หนองงูเห่า โครงการสาม (ทรราช) พันล้าน’ 

คำว่าสาม (ทรราช) ในที่นี้ ในเวลานั้น เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึง จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร

หนองงูเห่า โครงการสาม (ทรราช) พันล้าน’
หนองงูเห่า โครงการสาม (ทรราช) พันล้าน’

น่าเสียดายที่ผมจำไม่ได้ชัดเจนเสร็จแล้วว่าเวทีอภิปรายวันนั้นดุเดือดเลือดพล่านเพียงใดแค่ไหน แต่เชื่อว่าคงไม่เบาหรอกครับ

ด้วยกระแสต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงจากทุกมุมเมือง ในที่สุดโครงการสนามบินหนองงูเห่าของบริษัทนอร์ทรอปก็ถึงอวสาน แต่น่าเสียดายแล้วต้องขออภัยที่ผมจำรายละเอียดทางกฎหมายไม่ได้แล้วว่าลงเอยกันอย่างไร รู้แน่แต่ว่าเรื่องนี้เงียบหายไปในสายลม ไม่ได้มีการก่อสร้างสนามบินขึ้นจริงตามสัญญาฉบับนี้

จนอีกหลายปีต่อมาจึงมีการรื้อฟื้นแนวความคิดที่จะสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งที่สองสำหรับกรุงเทพมหานครขึ้น และสำเร็จผลเป็นสนามบินสุวรรณภูมิที่เราได้ใช้สอยกันอยู่ในทุกวันนี้ แถมตอนนี้เองสนามบินสุวรรณภูมิก็ชักจะคับแคบลงไปเสียแล้ว

เห็นหนังสือเก่าคร่ำคร่าเล่มเดียวก็เล่าอะไรต่อมิอะไรมาได้ยืดยาวถึงปานนี้

คนแก่นี่ดูถูกกันไม่ได้เลยนะ อิอิ

Writer

Avatar

ธงทอง จันทรางศุ

คนวัยเกษียณจากอาชีพครูและการทำราชการหลายกระทรวง ผู้รักการอ่านและงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ใช้เวลาทุกวันคืนอยู่กับหนังสือ ของกระจุกกระจิก และสมบัติพระศุลีทั้งปวง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน