22 ปี กับ 1,017 คือระยะเวลาการออกอากาศ และจำนวนตอนของ ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

สำหรับใครหลายคน ละครเรื่องนี้เปรียบเสมือนเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตัวละครหลายรุ่น เปลี่ยนฉากจากโรงเรียนในยุค ‘6/16 ร้ายบริสุทธิ์’ มาสู่รั้วมหาวิทยาลัยบางกอกบัณฑิต ก่อนวกกลับมานำเสนอเรื่องโรงเรียนอีกรอบ

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

ส่วนหนึ่งคงเพราะเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอด ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัววัยรุ่น ทั้งครอบครัว ความรัก การเรียน เพื่อนฝูง หรือความเชื่อ แถมยังผนวกกับสถานการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่ยาเสพติด ท้องในวัยเรียน การเลือกตั้ง จนถึงสึนามิ ส่งให้ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมต่อเนื่อง และถูกยกให้เป็นบันทึกเรื่องราววัยรุ่นไทยตลอด 2 ทศวรรษที่สมบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่ง

ที่สำคัญ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ยังเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักแสดงมืออาชีพหลายคน อาทิ เขตต์ ฐานทัพ, อ้น-สราวุธ มาตรทอง, ซาร่า มาลากุล เลน, จ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดม, หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ, แอมป์-พีรวัศ กุลนันท์วัฒน์, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, ปราง-กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล, มายด์-ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล, โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์ หรือ บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ ฯลฯ

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน หน่องอรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลัง 6/16 ร้ายบริสุทธิ์ และ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ มาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมด้วยความฝันและแรงบันดาลใจ จนกลายเป็นละครประวัติศาสตร์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดของประเทศไทย 

01

เรื่องแสบๆ ของเด็กห้องบ๊วย 

ย้อนกลับไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2539 เป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รู้จักกับแก๊งเด็กหนุ่มสุดแสบจากห้อง 6/16 แห่งโรงเรียนศาสตราวิทย์ แม้ไม่ใช่ละครวัยรุ่นเรื่องแรก แต่ด้วยความกวนโอ๊ย สรรหาเรื่องวุ่นๆ มาให้บรรดาครูต้องกุมขมับอยู่เสมอ ก็ทำให้เรื่องราวของพวกเขาเข้ามาอยู่ในใจของผู้ชมได้ไม่ยาก

จุดเริ่มต้นของ 6/16 ร้ายบริสุทธิ์ มาจากตอนนั้นบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ได้เวลาช่วงบ่ายโมงมาจากไทยทีวีสีช่อง 3 และเห็นว่า เด็กวัยนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การกระทำบางอย่างอาจไม่ตรงกับความคาดหวังของสังคม และถูกมองว่าเป็นปัญหา เป็นเรื่องอื้อฉาว เพราะฉะนั้น หากมีละครที่เข้ามาช่วยเป็นสื่อกลาง ให้ข้อคิด และเสริมความเข้าใจที่มีต่อวัยรุ่นมากขึ้นก็คงเป็นเรื่องดี

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

“เรารู้สึกว่า ม.6 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นปีสุดท้ายก่อนเข้ารั้วมหาวิทยาลัย เป็นวัยที่รักเพื่อน เชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือครูด้วยซ้ำไป เราก็เลยอยากจะทำละครที่สะท้อนสามส่วนด้วยกันคือ ครอบครัว ตัวเด็กเอง แล้วก็มุมมองของครู เป็นสามเหลี่ยมที่ทุกคนดูแล้วเข้าใจได้ ครูดูแล้วเข้าใจนักเรียน พ่อแม่ดูแล้วเข้าใจลูก หรือลูกดูแล้วเข้าใจพ่อแม่”

โจทย์หนึ่งที่ผู้ผลิตต้องการฉายภาพให้เห็นคือ วัยรุ่นไม่ได้เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ แต่เป็นวัยที่อยากรู้ อยากเท่ อยากลอง อยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ตัวเองไม่ใช่เด็กแล้ว เพียงแต่การกระทำบางอย่างนั้นอาจผิดที่ผิดทาง ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเกิดปัญหาตามขึ้นมาบ้าง

แน่นอนผู้ใหญ่บางคนจะตีความว่า เด็กเหล่านี้เป็นพวกตัวร้าย เป็นพวกหัวรุนแรง ที่ต้องหาทางปราบให้อยู่หมัด แต่แท้จริงแล้วพวกเขาไม่ใช่คนเลวหรือคนชั่ว บางทีการปล่อยให้เรียนรู้จากความผิดพลาด ก็อาจช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไปก็ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ร้ายบริสุทธิ์’ ซึ่งอยู่คู่กับละครมาตั้งแต่ต้น

หากแต่ความท้าทาย คือจะนำเสนออย่างไร ไม่ให้ดูเป็นการสอนจนเกินไป

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

ทีมงานจึงออกแบบฉากหลังของละครให้เป็นห้องบ๊วยในโรงเรียนชายล้วน ซึ่งเต็มไปด้วยนักเรียนเกเร สุดเฮี้ยว เป็นหัวโจกที่คอยทำเรื่องวุ่นตลอดเวลา แต่ภายใต้ความร้ายนั้นก็มีความแตกต่าง ทั้งนิสัย บุคลิกภาพ พื้นเพของครอบครัว ตลอดจนความใฝ่ฝันในอนาคต ไม่ต่างจากสังคมที่รวบรวมคนหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกัน

ครั้งนั้น หน่องได้ชักชวน หมี-โชติรัตน์ รักเริ่มวงษ์ ผู้กำกับภาพยนตร์มือดี ซึ่งเคยมีผลงานอย่าง พรหมจารีสีดำ, หนุ่มสาว, นางกลางไฟ และ แรงเทียน มากำกับละครเป็นครั้งแรก ส่วนบทโทรทัศน์นั้นได้ โอ๊ทส์-เสนีย์ จิตสุวรรณวัฒนะ กับ พิง ลำพระเพลิง สองนักเขียนจากสำนักศิษย์สะดือมารับผิดชอบ ซึ่งลูกเล่นบางอย่าง เช่น โรงเรียนชายล้วน หรือ ห้อง ม.6/16 ก็มาจากประสบการณ์ตรงของโอ๊ทส์นั่นเอง

ในปีแรก ละครเลือกฉายภาพชีวิตของแก๊งเด็กแสบ 7 คน นำทีมโดย อาวุธ หัวหน้าห้อง 6/16 รับบทโดย เขตต์ ฐานทัพ ตัวละครนี้ค่อนข้างแรง พร้อมพุ่งชนทุกอย่างที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากชีวิตต้องต่อสู้กับความยากลำบากมาตลอด แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นศูนย์กลางที่คอยเชื่อมร้อยเพื่อนๆ ทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

ขจร ผู้มีฐานะดีสุดในกลุ่ม ฝันอยากเป็นนักธุรกิจเหมือนพ่อ แสดงโดย เอ้-ศตวรรษ เมทะนี, ธราดล จอมกวนประจำห้อง ซึ่งมีเอกลักษณ์คือ ชอบแซวสาว ชอบแต่งตัวเท่ๆ โดยเฉพาะการยกปกคอเสื้อ รับบทโดย แม็กกี้-จีรโรจน์ หทัยพงศคุณ ทะเล เด็กหนุ่มพูดเพราะ เรียกเพื่อนว่า ‘คุณ’ ทุกคำ รับบทโดย ดามพ์-ณภพภัทร รัชชานนท์กุล

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’
บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

สาธิต หรือ ซี หนุ่มหล่อประจำห้องซึ่งฝันจะเป็นนักดนตรี แสดงโดย อ้น-สราวุธ มาตรทอง, อรรถ จอมลุยผู้อยากเป็นนักมวยอาชีพ รับบทโดย โตโต้-สมชาติ สุคนธ์ และสุดท้าย กมล หรือ หมู หนุ่มอ้วนที่รักการกินเป็นชีวิตจิตใจ แสดงโดย เอ็ดดี้-วิสูตร สิงหเสนี

สำหรับนักแสดงที่มารับบทนักเรียน อย่างเขตต์ แม็กกี้ อ้น ดามพ์ และโตโต้ เติบโตมาจากเวที Dutchie Boys & Girls ซึ่งเป็นเวทีสรรหาดาวดวงใหม่ที่โดดเด่นทั้งเรื่องการร้อง การเต้น และการแสดง บางคนเคยผ่านงานหน้าจอมาแล้วบ้าง แต่โดยรวมๆ ก็ถือว่าเป็นดาราหน้าใหม่อยู่ดี ส่งผลให้ผู้ชมซึมซับและเชื่อในความสัมพันธ์ของตัวละครได้ไม่ยาก

“เราพยายามวางคาแรกเตอร์ตัวละครให้สอดคล้องกันนักแสดง อย่างแม็กกี้ ดูกวนๆ หน่อย เพราะฉะนั้น ตอนคุยกับผู้กำกับ เราก็คิดว่าเขาเหมาะกับบทธราดล ซึ่งในเรื่องก็จะเป็นตัวเฮี้ยวๆ ซ่าๆ หรือบทของซี เป็นตัวละครที่มีความสามารถด้านดนตรี ซึ่งตัวอ้นเองก็มีความสามารถด้านนี้จริงๆ เหมือนกัน”

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

เช่นเดียวกับบทครู ก็มีความหลากหลายไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ ครูเจนจิรา อาจารย์ที่ปรึกษาห้อง 6/16 ซึ่งใกล้ชิดกับแก๊งเด็กแสบที่สุด รับบทโดย สุ่ย-พรนภา เทพทินกร เป็นตัวแทนของครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจเด็ก และไม่ได้เป็นครูเฉพาะในห้องเรียน แต่ยังสนใจถึงสารทุกข์สุขดิบของนักเรียนแต่ละคน พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แม้บางครั้งจะถูกเด็กๆ ต่อต้านหรือมองไม่เห็นความหวังดีก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์รุ่นใหญ่ ซึ่งแม้จะวางตัวห่างจากนักเรียนไปบ้าง แต่ก็มีจิตวิญญาณความเป็นครูเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์วิภา ครูสอนภาษาอังกฤษ รับบทโดย พิมพ์พรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นครูที่เฮี้ยบและหัวโบราณ แต่ก็เป็นที่ปรึกษาที่ดีของครูเจนจิรา หรือ ผอ.กิตติ แสดงโดย ญาณี ตราโมท เป็นครูที่ค่อนข้างดุ คอยรักษากฎระเบียบของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด แต่ลึกๆ แล้วเป็นคนใจดี และคอยช่วยหาทางออกให้นักเรียน เวลาที่ทำอะไรผิดพลาด

นอกจากนี้ยังมีตัวละครผู้หญิงที่เข้ามาช่วยสร้างสีสัน คือ พิม ลูกสาวผู้อำนวยการ รับบทโดย จิ๊กกี้-จุฑามาศ จันทศร คล้ายๆ เป็นนางเอกของเรื่อง กับเพื่อนสนิทชื่อ จอย รับบทโดย ลูกตาล-ศุภมาศ พะหุโล

เมื่อวางโครงสร้างคร่าวๆ เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงเนื้อหาในละคร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องความขัดแย้งใกล้ตัววัยรุ่น

บันทึกประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นไทย ผ่านซีรีส์ในตำนาน ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’

อย่าง ทะเล ซึ่งฝันอยากเป็นจิตรกร แต่ถูกพ่อคัดค้าน เพราะมองว่าไม่มั่นคง และพยายามบังคับให้เป็นนักธุรกิจเหมือนตัวเอง หรือ กมล หนุ่มอ้วนซึ่งไม่มั่นใจรูปร่างของตัวเอง จนถึงขั้นให้อาวุธสวมรอยเป็นตน เพื่อคืนโทรศัพท์มือถือที่เก็บได้ให้สาวสวยที่แอบปลื้มอยู่ บางครั้งก็เป็นพฤติกรรมกลุ่ม เช่น นัดโดดเรียนยกห้อง แกล้งครูแรงๆ ถึงขั้นเอาน้ำสาด ชกต่อยกับนักเรียนโรงเรียนอื่น พยายามแสดงให้ทุกคนเห็นว่าตัวเองแข็งแกร่ง เพื่อจะได้รับการยอมรับจากคนอื่น

“เรารีเสิร์ชข้อมูลค่อนข้างเยอะ พูดคุยกับนักเรียนจริงๆ ถึงความรู้สึกของพวกเขาเวลาอยู่ในโรงเรียน ความรู้สึกที่มีต่อครู ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน รวมทั้งยังทำวิจัยเกี่ยวกับอาจารย์ด้วยว่า เวลาสอนเด็กนักเรียน โดยเฉพาะมัธยมปลาย เขามีประสบการณ์หรือมุมมองอย่างไร ตอนนั้นเราพยายามคิดพล็อตจากปัญหา ทั้งเพื่อน พ่อแม่ ความรัก หรือการแข่งขันเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วค่อยฉายให้เห็นว่า การกระทำแต่ละอย่างสะท้อนอะไรบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน เพราะต้องการให้ผู้ชมไปคิดต่อเองว่า หากเกิดปัญหาแบบนี้ เขาควรจะทำอย่างไรดี”

ขณะเดียวกันก็ผสมผสานเหตุบ้านการเมืองที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนั้นลงไป ทั้งยาเสพติด ท้องในวัยเรียน ลักเด็ก หรือแม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จนหลายคนบอกว่า หากชมละครแล้ว แทบไม่ต้องติดตามข่าวเลย เพราะทีมผู้สร้างได้นำประเด็นสำคัญๆ มาถ่ายทอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ด้วยเหตุนี้ 6/16 ร้ายบริสุทธิ์ จึงได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมองว่าละครเรื่องนี้คือกระบอกเสียงของพวกเขาที่ช่วยถ่ายทอดความคิด และตัวตนให้สังคมภายนอกได้รับทราบ หรือผู้ใหญ่ซึ่งก็ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมและการแสดงออกของคนรุ่นใหม่มากขึ้นเช่นกัน

“หลายคนบอกว่า ก่อนออกจากบ้านต้องดูละครของเราก่อน หรืออย่างบางเรื่องก็เป็นกระแสสังคม จำได้ว่า ช่วงหนึ่งหนังสือพิมพ์เคยลงว่า ทำไมตัวละครของแม็กกี้ถึงต้องยกปกเสื้อด้วย คือเนื้อหามันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ยกปกก็จะดูเรียบร้อยหน่อย ซึ่งพอถึงวันนี้ ประเด็นแบบนี้คงเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว แต่ตอนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก”

แม้ต่อมาจะมีการปรับองค์ประกอบบางอย่าง เช่น นักแสดงบางคนติดภารกิจ จึงมีความจำเป็นต้องขอถอนตัวออกไป โดยช่วงปีที่ 2 ของละคร เหลือนักเรียนหลักเพียง 4 คนเท่านั้น คือ อาวุธ ขจร ธราดล และทะเล แต่ความนิยมของละครก็ไม่ได้ลดลงเลย

ที่สำคัญ ทีมงานยังพยายามสรรหาปมใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้ละครมีมิติและความเข้มข้นขึ้น เช่นการเพิ่มตัวละครอย่าง สมโทน แสดงโดย เอก-วิชัย จงประสิทธิ์พร เด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนต่อในกรุงเทพฯ จึงถูกชักจูงจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ง่าย ซึ่งในบทก็จะมีฉากที่เขาโดดเรียนตามเพื่อน หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

หรืออย่าง ครูเมลินี อาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่ แสดงโดย นาตาชา คอฟแมน ซึ่งมารับหน้าที่แทน ครูเจนจิรา ที่ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยตามบทแล้ว เธอต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ ทั้งการยอมรับของนักเรียนซึ่งผูกพันกับครูคนเดิมมาก และยังมีคุณแม่มหาเศรษฐี ซึ่งพยายามบอกให้ลูกสาวลาออก เพราะไม่อยากให้ลำบากมาเป็นครูที่ต้องรับมือกับเด็กสุดแสบกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ชมยังคงสนุกและอยากติดตามเรื่องราวในห้องเล็กๆ นี้ต่อไป

6/16 ร้ายบริสุทธิ์ ออกอากาศอยู่นาน 2 ปีเต็ม จนหลายคนมองว่า วัยของนักแสดงอาจโตเกินกว่าจะรับบทนักเรียนมัธยมแล้ว ทว่าด้วยความผูกพันที่ผู้ชมมีตัวละคร หน่องและทีมงานจึงตัดสินใจต่อยอดเรื่องราวออกไป

“พอเขาเติบโตขึ้น ทุกคนก็อินไปกับเขา อยากรู้ว่าจะเอ็นทรานซ์ได้ที่ไหน ต่อไปเขาเจออะไร ทำให้เราไม่สามารถทิ้งตัวละครได้ เลยคิดว่าถ้าเขาจะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย เราก็อยากตามไปด้วย”

นั่นเองที่นำมาสู่ตำนานบทใหม่อย่าง ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เมื่อ พ.ศ. 2541

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
02

เรื่องวุ่นๆ ของเด็กใหม่

แม้จะมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่ทุกคนล้วนมีฝันและทางเดินของตัวเอง

หลังเรียนจบชั้น ม.6 ตัวละครหลักทั้ง 4 คนสอบเข้ามหาวิทยาลัยบางกอกบัณฑิตได้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็แยกย้ายไปเรียนตามคณะที่สนใจ ขจร เลือกเรียนบัญชี ทะเล เรียนศิลปกรรมศาสตร์ ส่วน อาวุธ กับ ธราดล เรียนต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ แต่ถึงตัวจะห่างกัน ความสัมพันธ์ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ทีมงานได้สร้างสังคมใหม่ขึ้นมา โดยให้สมาชิก 6/16 เจอเพื่อนซี้คนใหม่ อย่าง ชาลี ซึ่งรับบทโดย อ้น-ทรงวุฒิ ศรีเชิดชูธรรม ได้รู้จักเพื่อนผู้หญิงจริงจังเป็นครั้งแรก หลังอยู่โรงเรียนชายล้วนมาตลอด นั่นคือ วัสสา แสดงโดย ซาร่า มาลากุล-เลน ได้เจอคู่ปรับที่เป็นทั้งเพื่อนและไม้เบื่อไม้เมา อย่าง ภาณุ รับบทโดย อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ และ เอ็ม แสดงโดย โอ๊ต-นิติ ลออธรรม ได้เจอรุ่นพี่ที่ยังเรียนอยู่ อย่าง พี่ช้าง ประธานนักศึกษา รับบทโดย เกริก ชิลเลอร์ และรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว แต่ก็ยังวนเวียนมาเยี่ยมรุ่นน้อง คือ พี่เบิ้ม รับบทโดย ตี๋อ้วน-นำชัย จรรยาฐิติกุล

เช่นเดียวกับอาจารย์ซึ่งอาจไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนกับครูมัธยม แต่ก็มีบทบาทชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตในรั้วอุดมศึกษามากเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น อ.มาติกา อาจารย์ที่ปรึกษาชั้นปี 1 รับบทโดย แหม่ม-จรียา ทิพยวัฒน์ หรือ อ.เจตต์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งแสดงโดย ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

หากแต่โจทย์ที่หินสุดของทีมงาน คือการทำอย่างไรให้เรื่องราวต่างๆ ดำเนินไปอย่างไร้รอยต่อที่สุด

“ตอนนั้นเราคิดตามเวลาจริงเลยว่า ถ้าเขาไปแล้วเขาจะต้องเจออะไรบ้าง ตอนนั้นเราก็ต้องรีเสิร์ชข้อมูลใหม่หมดว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างจากตอนมัธยมยังไง แต่ละคณะแตกต่างกันอย่างไร ปีหนึ่ง สอง สาม จะเจออะไรบ้าง มีเรื่องเข้าชมรม มีการรับน้อง พูดง่ายๆ เหมือนเป็นติวเตอร์ที่แนะแนวการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยให้เด็กๆ ได้เลย”

ขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาเสน่ห์ดั้งเดิมของละครเอาไว้ด้วย นั่นคือ การอิงกับสถานการณ์และกระแสสังคม โดยบุคคลที่มีบทบาทที่สุด คงต้องยกให้ ซูโม่แห้ว-บำเพ็ญ ชำนิบรรณการ ซึ่งเข้ามากำกับละคร น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ เต็มตัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 – 2554 

“พี่หน่องรู้จักกับพี่แห้วมานานมาก ตั้งแต่สมัยทำซูโม่สำอาง ตอนนั้นพี่หน่องเป็นผู้กำกับรายการ ส่วนพี่แห้วเป็นคนเขียนบทและแสดงด้วย ก็เลยรู้ทางกัน พอมาทำ น้องใหม่ฯ พี่แห้วก็เลยทั้งเขียนบทด้วย กำกับด้วย ตัดต่อด้วย ซึ่งจุดเด่นของพี่แห้ว คือการทำให้เนื้อหาให้อัปเดตตลอดเวลา

“อย่างช่วงหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ปาหินขึ้น ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ว่ามันมีคนตายเลยนะ หรือการวางยานอนหลับในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด คือเอายาไปป้ายที่หลอด พอเด็กผู้หญิงหยิบหลอดก็มีคนเข้ามาประกบแล้ว บอกว่าเป็นอา น้องไม่สบายจะเป็นลม แล้วก็พาออกไปทำไม่ดี ซึ่งหลายครั้งมีข่าววันพุธ พอวันรุ่งขึ้นบทเสร็จแล้ว พร้อมถ่ายทำเพื่อออกอากาศวันเสาร์-อาทิตย์ ได้เลย”

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

นอกจากนี้ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ยังค่อนข้างยืดหยุ่นกับตัวละคร ไม่ได้ผูกติดกับนักแสดงเดิมจาก 6/16 ร้ายบริสุทธิ์ เพราะหลังออกอากาศได้ราว 3 ปี ทีมงานได้เสริมตัวละครรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ในบทของน้องปี 1 เช่น แอม-ธัญวิสิฎฐ์ เสียงหวาน รับบทเป็น แทนไท อุ๋ม-รุษยา เกิดฉาย รับบทเป็น อัญชลิกา ย้ง-ธรากร สุขสมเลิศ รับบทเป็น แคน หรือ แอม-ณัฏฐา ชาญเลขา รับบทเป็น แอ้ม เพื่อทดแทนบทของรุ่นพี่ซึ่งกำลังจะจบการศึกษาออกไป

“เราเริ่มจะตามไม่ไหวแล้ว เลยใช้วิธีเปลี่ยนรุ่นน้องใหม่แต่ละปีเข้ามาแทน แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบ เพราะผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกผูกพันกับตัวละคร เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้องปิดตัวละครใด เราก็จะมีบท Farewell เหมือนต้องจากลาตัวละครนั้นจริงๆ ให้เหมือนว่าเขาเป็นผ้าผืนหนึ่งที่ถูกแต่งแต้มสีแล้ว เข้าใจชีวิตเยอะขึ้น และพร้อมจะออกไปสู่สังคมภายนอก ขณะเดียวกัน เราก็ต้องหาวิธีทำให้ผู้ชมรักตัวละครชุดใหม่ ด้วยการทำบทให้สนุกและน่าติดตาม”

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปี น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ มีการผลัดรุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยนักแสดงส่วนใหญ่ก็มาจากสายประกวดต่างๆ อย่าง The Star, Academy Fantasia, LG Star Talent รวมถึง Dutchie Boys & Girls

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

เมื่อ พ.ศ. 2546 ได้เสริมตัวละครอย่าง ดิน รับบทโดย กระหล่ำ-ภูวดล ลายสนิท, สะหลิ่ม รับบทโดย ภาณุพงศ์ วราเอกศิริ, หมอกี รับบทโดย บุ๊คกี้พิมพลอย ปัจชัยโย และ สายขวัญ รับบทโดย จ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดม 

ต่อมาใน พ.ศ. 2548 ก็ได้เพิ่มกลุ่มของ มัดหวาย แสดงโดย ต๊อด-ศิณะ อุ่นทรพันธุ์, แล้วแต่ รับบทโดย แอมป์-พีรวัศ กุลนันท์วัฒน์, เอ้อระเหย รับบทโดย เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, หนามเตย รับบทโดย แพรว-หัสสยา อิสริยะเสรีกุล, อินฟินิตี้ รับบทโดย วรนันท์ จันทรัศมี และ มะพร้าว รับบทโดย สน-สนธยา ชิตมณี 

และสุดท้าย พ.ศ. 2551 เพิ่มตัวละครอย่าง ตังค์ทอน รับบทโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ จันทร์เต็ม, นาโน รับบทโดย โบ-ทิตชญา ภูดิทกุลกานต์, ลอยแก้ว รับบทโดย มิ้น-มิณฑิตา วัฒนกุล, หลินฮุ่ย รับบทโดย ปราง-กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล, ธรรมดา รับบทโดย รอน-ภัทรภณ โตอุ่น, ตามตะวัน รับบทโดย ปาล์ม-ศุภชัย สุวรรณอ่อน และ ราดหน้า รับบทโดย ต่อ เตชธุวานันท์

จุดเด่นหนึ่งที่หลายคนมักพูดถึงก็คือ ชื่อของตัวละครที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหน่องอธิบายว่า เป็นความตั้งใจของซูโม่แห้วที่ต้องการสะท้อนอัตลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัว

“อย่างตัวละครที่ชื่อ แล้วแต่ ตามบทคือพ่อออกจากบ้านตั้งแต่เกิด แล้วหลังจากนั้นแม่ก็ตาย ส่วนลูกที่เกิดมาก็ไม่มีใครเลี้ยง ต้องอยู่กับหมา ผ่านมาห้าวัน ญาติถึงเพิ่งมาเจอ แต่ไม่มีใครอยากรับไปเลี้ยง เกี่ยงกันว่าแล้วแต่เธอแล้วกัน เด็กคนนี้ก็เลยชื่อแล้วแต่ และพอโตขึ้น เขาจึงเป็นตัวละครที่เข้มแข็งมาก เพราะต้องต่อสู้มาตั้งแต่เกิด”

เช่นเดียวกับบทอาจารย์ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ใช่ครูที่เคร่งครัดตลอดเวลา แต่ก็ยังสามารถที่ปรึกษาและคอยชี้แนะแนวที่ดีให้เด็กๆ ได้ เช่น อาจารย์พอดี ซึ่งรับบทโดย ซูโม่เอ๋-เกรียงไกร อมาตยกุล หรือ อาจารย์เกริกชาย ซึ่งรับบทโดย ก้อง-ปิยะ เศวตพิกุล

“ครูส่วนใหญ่จะเห็นว่าหนักไปทางตลก ไม่ค่อยซีเรียสมาก เพราะเราไม่อยากให้ทัศนคติที่มีต่อครู ซีเรียสจนเกินไป แต่ก็เป็นครูที่หลากหลายรูปแบบ อย่างอาจารย์เกริกชายก็จะเป็นมาดพี่ก้องเลย ค่อนข้างแหวกแนว มีคาแรกเตอร์โดดเด่น และที่สำคัญคือต้องทันเด็ก ไม่ให้ถูกนักเรียนหลอก”

อย่างไรก็ดี แม้จะเปลี่ยนนักแสดงอยู่ตลอด แต่เพื่อไม่ให้ละครสะดุด ทีมงานจึงให้ตัวละครบางตัวร่วมแสดงต่อไป เช่น เป็นไท ซึ่งหลังเรียนจบก็ร่วมหุ้นเปิดร้านกาแฟกับ พี่ช้าง เพื่อเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง หรือตัวละครอย่าง สายขวัญ ก็ยังมีบทบาทเคียงข้างรุ่นน้องอย่าง แล้วแต่ กับ หนามเตย อีกนานหลายปี

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ไม่เพียงแค่นั้น นอกจากฉากมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2546 ซูโม่แห้วยังหยิบเอาตัวละครนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนอัจฉริยวิทย์ ในละครเรื่อง ทีเด็ด ครูพันธุ์ใหม่ จิตพิสัยเดือด มาประกบควบคู่แก๊งเด็กมหาวิทยาลัย โดยมีร้านกาแฟของ เป็นไท เป็นจุดเชื่อมโยงคน 2 กลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ละครมีมิติที่กว้างขึ้น ซึ่งตัวละครมัธยมที่โดดเด่น และมีสีสันมาก คือ ปักเป้า แสดงโดย หม่อมเอ็ม-อรรถพล เทศะวงศ์ และ มะยม รับบทโดย หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ ซึ่งมักมาขอคำปรึกษาจากพี่ๆ ทั้งเรื่องการเรียน และชีวิตส่วนตัว

กว่าสิบปีที่ซูโม่แห้วดูแลการผลิต ต้องถือว่า น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ มีพัฒนาการสูงสุด ทั้งตัวละครซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง รวมไปถึงประเด็นที่นำเสนอ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอ เช่น ตอนดอกไม้ที่ยังไม่บาน ซึ่งเขาหยิบเอาเรื่องท้องในวัยเรียนของคู่รักมัธยม พีกับนิจิ มาถ่ายทอดเป็นซีรีส์เรื่องยาว 17 ตอน

“ตอนนี้เป็นเรื่องจริง มีคนส่งข้อมูลมา ซึ่งถามว่าประเด็นนี้แรงไหม… แรงมาก จนเรากลัวว่าฝ่ายเซ็นเซอร์ของช่องจะยอมให้ผ่านหรือเปล่า แต่ด้วยความที่เราทำละครวัยรุ่น ก็ควรกล้าสะท้อนเรื่องแบบนี้ออกมา เพียงแต่เราก็ต้องพยายามทำบทให้ชัดเจนที่สุด เสนอทั้งปัญหาและวิธีการแก้ไข โดยเฉพาะครอบครัว ซึ่งต้องเข้าใจก่อนเป็นลำดับแรก ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องมิตรภาพของเพื่อนที่คอยช่วยเหลือให้เขาผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้”

ความกล้านำเสนอสิ่งที่แตกต่างนี้เอง ทำให้ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ได้รับการพูดถึงในฐานะของละครน้ำดีที่ช่วยยกระดับสังคมให้ดีขึ้น จนกวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ มามากมายเกือบสามสิบรางวัล

03

กลับสู่รั้วโรงเรียน

หลังถ่ายทอดเรื่องชีวิตของเด็กมหาวิทยาลัยมาต่อเนื่องนับสิบปี ใน พ.ศ. 2556 ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ คือการกลับมาดำเนินเรื่องในโรงเรียนมัธยมอีกครั้ง เพราะสามารถฉายภาพวัยหัวเลี้ยวหัวต่อได้ชัดเจนกว่า เช่นเดียวกับตัวผู้กำกับ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ผลัดใบจาก ซูโม่แห้วมาเป็น พุ-เหมันต์ เชตมี ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง เซ็กส์โฟน คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน

ครั้งนั้น บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ได้จัดทำโครงการ ‘คริสตัล ตามล่า…น้องแก๊งใหม่ Freshy Gang Hunting’ เพื่อเฟ้นหาหนุ่มสาวจากทั่วประเทศ มาเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในละครน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ เนื่องจากช่วงหลังๆ เวทีประกวดน้อยลงมาก อีกทั้งยังถือเป็นการเช็กกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อละครด้วย

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

“เราคิดว่าอยากให้มีตัวแทนภาคต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน แล้วก็มีคณะกรรมการไปคัดทุกภาคเลย จำได้ว่ามีคนมาสมัครเป็นพันเลย จากนั้นก็มาคัดต่อจนเหลือรอบสุดท้าย ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเรา และยังเป็นโอกาสได้เจอเด็กรุ่นใหม่ที่รักการแสดงอีกด้วย”

สำหรับในฉากใหม่นี้ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอารยะวิทย์ ผ่านตัวละคร 8 ตัว คือ ภูผา รับบทโดย โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์, น้ำขิง รับบทโดย มายด์-ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล, ปราบภัย รับบทโดย บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์, ดีจัง รับบทโดย นารา เทพนุภา, คีตะ รับบทโดย เจสซี่-เมฆ เมฆวัฒนา, คอนเน็ค รับบทโดย ภีมส์-ภาคิน บวรศิริลักษณ์, พอเพียง รับบทโดย เกมส์-ทิชากร คุปตวาณิชย์ และ มังกร รับบทโดย จิมมี่-ศศินทร์ เชาว์ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีทักษะความสามารถทางด้านดนตรี ทั้งร้อง เล่น และเต้น และมีความฝันที่จะรักษาชมรมดนตรีที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนมาทุกปี หลังเข้าสู่ยุคมืดไม่มีใครสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าสอบมหาวิทยาลัยควบคู่ไปด้วย

โดยนอกจากนี้ยังมีตัวละครชุดเดิม อย่าง ปักเป้า ซึ่งย้ายมาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับทั้ง 8 คน และรุ่นพี่อีก 2 คน คือ ลอยแก้ว และ ราดหน้า ทำหน้าที่เชื่อมโลกสองใบเข้าไว้ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ละครจะมีธีมที่ชัดเจน แต่เนื้อหาในแต่ละสัปดาห์ก็ยังเกี่ยวพันกับชีวิตวัยรุ่น ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง การเรียน และความรัก ซึ่งในมุมหนึ่งหลายคนอาจมองว่า น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ กำลังย่ำอยู่ในรอยเดิมหรือไม่ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ล้วนถูกนำเสนอในละครมานับครั้งไม่ถ้วน ทว่าสำหรับหน่องแล้ว นี่ไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะแม้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อต่างคน ต่างบริบท ต่างสถานการณ์ ก็ย่อมทำให้เรื่องเล่านั้นน่าสนใจได้ไม่ยาก

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

“จริงๆ แล้วชีวิตมนุษย์เหมือนวนลูป บางอย่างรุ่นพี่เจอมาหมดเลย แต่น้องไม่เคยเจอ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ก็เลยไม่ต่างกันมาก แต่ด้วยสถานการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เลยทำให้เนื้อหาไม่เชย ก็เหมือนชีวิตมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยเปลี่ยนคือ การสะท้อนภาพของสังคมในแต่ละยุค สังคมเกิดอะไร ตัวละครก็เจอไปพร้อมๆ กัน ผู้ชมก็เลยรู้สึกใกล้ชิด เหมือนได้ติดตามคนรู้จักที่ผูกพันกัน”

ผู้อำนวยการผลิตยังอธิบายต่อด้วยว่า ปกติแล้วการทำงานของ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ จะกำหนดทิศทางเป็นรายปี เช่นปีที่ผ่านมาเคยทำประเด็นสังคมเรื่องนี้ไปแล้ว ปีถัดมาก็อาจจะเลือกทำหัวข้อหนึ่งที่ฉีกออกไป แต่หากประเด็นเร่งด่วนหรือน่าสนใจก็สามารถสอดแทรกได้ตลอด เช่นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ได้นำเสนอตอนพิเศษ หน้าที่ของลูก เพื่อรำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมเชิญรุ่นพี่ๆ ที่เคยแสดงหลายสิบชีวิตมาร่วมเข้าฉากด้วย

ขณะเดียวกันก็ยังพยายามเสริมลูกเล่นใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ละครมีสีสัน ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ทีมงานใช้มาตลอด คือ การเพิ่มตัวละครใหม่ๆ อย่างเช่น มารีน่า นางแบบสาวที่อยากเอาชนะผู้ชาย รับบทโดย ศดานันท์ บาเล็นซิเอก้า ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นนางเอกของเรื่องคู่กับ ปราบภัย หลังจากพระเอก-นางเอกตัวจริง อย่าง ภูผา และ น้ำขิง ไปเรียนต่อเมืองนอก หรือ โชกุน เด็กติดเกมซึ่งเป็นตัวกวนประจำก๊วน รับบทโดย ไฮด์-ศรุญสธร ธนวัชรวัฒน์ รวมไปถึงแก๊งรุ่นน้อง อย่าง แดน-ฟลุท-สีน้ำ ซึ่งมีความคิดของตัวเอง จนบางครั้งก็กลายเป็นความไม่ลงรอยกับรุ่นพี่

หรืออย่างเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ทีมงานได้จัดทำตอนพิเศษ I AM YOU สู้เพื่อฝัน เป็นมินิซีรีส์ยาว 14 ตอน พร้อมกับปรับเปลี่ยนชื่อละครเป็น น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ เดอะซีรีส์ โดยครั้งนั้นละครพูดถึง ยู ซึ่งแสดงโดย ก็อต-อิทธิพัทธ์ ฐานิต ศิลปินฝึกหัดจากเกาหลีใต้ ซึ่งถูกส่งตัวกลับบ้าน น้าชายผู้ผลักดัน จึงพยายามหาวิธีปลุกพลังของยูขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการส่งเขาไปดูแลวงดนตรีโนเนมของแก๊งน้องใหม่ ซึ่งต่อมาเขาก็เข้าใจและเรียนรู้ถึงความฝันและความต้องการของตัวเองว่าคืออะไรกันแน่

‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์
น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

“เราตั้งใจให้ เดอะซีรีส์ฯ เป็นเหมือนการเจาะลึกประเด็นลงไปเลย ซึ่งอย่างในตอนนั้น กระแสเกาหลีกำลังฮอตมาก เด็กไทยหลายคนอยากเดบิวต์ อยากเป็นศิลปินเกาหลี พ่อแม่บางคนก็พยายามผลักดันลูกเต็มที่ แต่บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าดี อาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบหรืออยากเป็นจริงๆ ซึ่งในเรื่อง ก็อตเองก็ไม่ได้อยากทำ แต่ถูกน้าชายบังคับ คำถามคือแล้วความฝันจริงๆ ของเขาคืออะไร อยู่ตรงไหน เราก็ทำเป็นเรื่องยาวเลย ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์

นี่เองที่เป็นเครื่องยืนยันว่า ถึงจะออกอากาศมานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ละครเรื่องนี้ก็ไม่เคยตกยุค และสามารถเป็นตัวแทนของวัยรุ่นไทยอย่างแท้จริง

04

เป็นยิ่งกว่ามิตรภาพ

“ตอนเริ่มต้นละครเคยคุยกับเขตต์กับอ้นว่า ขอบคุณที่ร่วมแสดงกัน พี่คิดว่าอยากจะทำละครสักสี่ร้อยตอน แล้วก็รีบบอกว่า พี่พูดเล่นนะ”

ตอนนั้นคงไม่มีใครคิดว่า คำพูดสนุกๆ ที่หน่องเอ่ยกับนักแสดงรุ่นบุกเบิกจะกลายเป็นจริง แถมยังมากกว่าที่คาดไว้เกือบ 3 เท่า เพราะสำหรับเธอแล้ว น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ เป็นเสมือนกิจวัตรของบริษัท ที่ยังคงสนุกและมีแรงบันดาลใจอยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ

“เราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำมายี่สิบปีแล้วเหรอ ก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดอะไร เหมือนชีวิตของคนแต่ละรุ่น คนเก่าไป คนใหม่มา เราก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใหม่ตลอด ถึงแม้เรื่องต่างๆ จะเชื่อมต่อกันก็ตาม”

แต่แล้วหน่องก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการยุติละคร น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ แม้ใจจริงจะไม่อยากเลิกเลยก็ตาม

น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

“ความจริงแล้ว น้องใหม่ฯ มันพัฒนาได้ แต่ตอนหลังมีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น แล้วก็มีความหลากหลายของช่องทางในการชม บวกกับภาวะที่หลายๆ รายการต้องเจอ คือค่าโฆษณาที่ถูกมาก จนประคับประคองค่าผลิตไปไม่ได้ เพราะการทำละครเรื่องหนึ่ง ต้องเตรียมงาน ต้องใช้บุคลากรเยอะ ทั้งทีมเขียนบท นักแสดง ถ่ายทำ ตัดต่อ กว่าจะออกมาได้ 

“ยิ่งตอนหลังละครเราแค่ครึ่งชั่วโมงเอง แต่โปรดักชันเราเท่ากับหนึ่งชั่วโมง ก็ต้องใช้คำว่าอดทนอยู่มาได้หลายปี ซึ่งตอนจะเลิกทุกคนก็ใจหาย รู้สึกเสียดาย เพราะ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ อยู่กับวัยรุ่นไทยมายาวนานมาก แต่เมื่อถึงวันนี้งานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกรา”

ครั้งนั้นทีมงานเริ่มต้นจากการส่ง 2 ตอนพิเศษ คือ #REUNION .. เพื่อนเก่า และ #REUNION .. เพื่อนผู้หวังดี พร้อมชักชวนน้องใหม่ตั้งแต่รุ่นแรกมาร่วมรำลึกความหลัง ถึงชีวิตหลังก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไป ซึ่งแต่ละคนก็มีเส้นทางของตัวเองไม่เหมือนกัน บางคนก็ได้เดินตามที่คาดหวังแต่แรก แต่หลายคนชีวิตพลิกผันไปอีกทาง หากสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไป ก็คือมิตรภาพของเพื่อนที่ผูกพันกันมานาน

ก่อนที่เรื่องราวจะวกกลับมายังโรงเรียนอารยวิทย์อีกครั้ง ใน 3 ตอนสุดท้าย คือ Farewell….วันสุดท้าย 1-2 และ Farewell….เก็บไว้ในความทรงจำ ซึ่งสำหรับตอนจบนั้น ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เล่าเส้นทางของแก๊งน้องใหม่แต่ละคน เช่น มังกร ประธานนักเรียน ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ โชกุน สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด แต่ไม่เคยหยุดคิดที่จะเป็นเกมเมอร์ เช่นเดียวกับ ปราบภัย และ มารีน่า ที่ตัดสินใจหยุดเรียนเพื่อทุ่มเทกำลังให้ความฝันอย่างเต็มที่

“ต้องยอมรับว่าการจบนั้นไม่ง่ายเลย เพราะทั้งหมดเป็นตัวละครที่เราและผู้ชมผูกพัน เมื่อถึงเวลาต้องบอกลา ก็คุยกับทางผู้กำกับว่า อยากจะปิดตัวละครให้มันสวยงาม แม้เขาจะจบการศึกษาไปแล้ว แต่ก็อยากให้รู้ว่า หนทางของเขาที่จะก้าวไปสู่โลกกว้างนั้นยังมีอะไรอีกมากมาย เหมือนกับชีวิตคนจริงๆ นั่นเอง”

น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์เรื่องราววัยรุ่นในละครโทรทัศน์ที่อายุยาวนานที่สุดของเมืองไทย ผ่านมุมมองของ อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ตลอดระยะเวลา 22 ปี นอกจากจะบันทึกสังคมไทยผ่านเรื่องราวของวัยรุ่นแล้ว ละครเรื่องนี้ยังเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักแสดงมากมาย หลายคนเริ่มต้นแสดงละครที่นี่

อย่าง หนูนา หนึ่งธิดา ก็แสดงเป็นมะยม เด็กมัธยมที่คอยหาเรื่องป่วนรุ่นพี่มหาวิทยาลัยนานถึง 5 ปี ก่อนจะกลายเป็นนางเอกภาพยนตร์ กวน มึน โฮ หรือ โฟร์-ศกลรัตน์ วรอุไร ก่อนจะโด่งดังในฐานะดูโอ้ โฟร์-มด เธอก็เคยแสดงละครในบทชื่อ ผัดฉ่า หนึ่งในแก๊งดอกไม้เหล็ก ของโรงเรียนอัจฉริยวิทย์ หรืออย่าง ปราง กัญญ์ณรัณ ก่อนที่ทุกคนจะรู้จักในชื่อแม่หญิงจันทร์วาดใน บุพเพสันนิวาส เธอก็คือ หลินฮุ่ย สาวสุพรรณ นั่นเอง 

ไม่แปลกเลย ทำไมนักแสดงหลายคนจึงบอกตรงกันว่า ละครเรื่องนี้เป็นเสมือนโรงเรียนที่สอนทุกอย่าง ทั้งการแสดง ระเบียบวินัยการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม ได้มาสัมผัสข้อคิดดีๆ และหลายคนก็ได้รู้จักตัวเองว่ารักการแสดง

แม้วันนี้ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ จะเป็นเพียงแค่อดีต แต่สำหรับคนเบื้องหลังอย่างหน่องแล้ว นี่คือความทรงจำที่สวยงาม และรู้สึกภาคภูมิใจเสมอที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ละครน้ำดี

“ครั้งหนึ่งพี่หน่องเจอผู้ชมเดินจูงลูก เข้ามาสวัสดีบอกว่า ดูตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนแต่งงานมีลูกแล้ว แสดงว่ามันไม่ใช่แค่ละคร แต่มันเป็นความผูกพันระหว่างผู้ผลิต ตัวนักแสดง แล้วก็ผู้ชม ส่วนตัวแล้วคิดว่า ละครเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การที่เราได้มีโอกาสทำสื่ออะไรสักอย่างที่ให้คุณค่าสู่สังคม นี่คือความภูมิใจหนึ่งที่ผู้ผลิตอย่างพี่หน่องและบรอดคาซท์เลย 

“ที่สำคัญ เราจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลย หากไม่ได้บุคลากรทุกคนที่มาร่วมงาน ทั้งผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท รวมถึงวัยรุ่นทุกท่านด้วยที่ติดตาม เพราะถ้ามีแต่คนทำแล้วไม่มีคนดู ก็คงอยู่ไม่ได้”

สำหรับอนาคต คงตอบไม่ได้ว่า น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ จะได้หวนคืนสู่หน้าจอโทรทัศน์อีกหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือ เรื่องราวของกลุ่มคนเล็กๆ ในซีรีส์ชุดนี้ จะยังคงอยู่ในใจและความทรงจำของใครหลายคนไปอีกนานแสนนาน

ขอบคุณภาพประกอบจาก บริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และคุณแม็กกี้-จีรโรจน์ หทัยพงศคุณ

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

– สัมภาษณ์คุณอรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

– นิตยสาร FILMMAKER & FEATURES ฉบับที่ 39 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

– เว็บไซต์ NONGMAICLUB.COM

– ละครเรื่อง 6/16 ร้ายบริสุทธิ์ และ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์

– สารนิพนธ์ กระบวนการผลิตละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง “น้องใหม่ ร้ายบริสุทธิ์” โดย สุพรรษา แซ่ตั้ง คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2541

– สารนิพนธ์ การสะท้อนความเป็นผู้หญิงไทยในตัวละครเพศหญิงของรายการซิทคอม: กรณีศึกษาเฉพาะเรื่อง น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ โดย มานิตา ชอบชื่น คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2556

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว