21 พฤศจิกายน 2022
3 K

หน้าลำคลองสายเก่าเป็นที่ตั้งของอาคารชั้นเดียวบนฐานราก ตราพระแสงดาบทับโล่เขนดูเด่นใต้หลังคาจั่ว ถัดลงมาเป็นป้ายชื่อสถานีตำรวจสีขาวตัดพื้นหลังเทาเข้ม ผนังไม้ถลอกปอกเปิก แซมด้วยตาไม้ลายพร้อย บ่งบอกความเก่าของวัสดุก่อสร้าง เหนือบานหน้าต่างไม้ทุกจุดมีช่องแสงฉลุลายเถาวัลย์เลื้อย รับกับคันทวยหลังคาซึ่งออกแบบมาเป็นลายเดียวกัน มุขตึกเรียงรายด้วยไม้ประดับในกระถาง บนเสาต้นหนึ่งมีระฆังใบคร่ำผูกไว้ รอเวลาคนในเครื่องแบบใช้ตีส่งสัญญาณ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะพบโรงพักไม้แบบนี้ในหนังไทยสมัยก่อนหรือตามชนบทไกลปืนเที่ยง แต่เปล่าเลย ถึงเดินจากจุดนี้ไปไม่กี่ร้อยเมตรจะเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ทว่าคำที่ปรากฏบนป้ายชื่อโรงพักคือ ‘สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม’ นั่นหมายความว่า มันยังอยู่ในกรุงเทพฯ !

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

ที่นี่แทบจะเป็นโรงพักเพียงแห่งเดียวที่ยังเก็บรักษาโครงสร้างไม้เอาไว้ทั้งหลัง ขณะที่โรงพักแห่งอื่น ๆ ทั่วทั้ง 50 เขตเมืองหลวงถูกทุบทิ้ง สร้างใหม่ หรือย้ายไปประจำอยู่ในตึกคอนกรีตกันหมดแล้ว

แม้ในปัจจุบัน บรรดาผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เขตหนองแขมย้ายไปสร้างที่ทำการใหม่ หากแต่ สน. ริมคลองอายุร้อยปีหลังนี้ก็ยังได้รับการปรับปรุง พลิกโฉมให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์ตำรวจและท้องที่เขตหนองแขม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเยี่ยมเยียน หากมาล่องเรือท่องคลองภาษีเจริญ

มาถึงหนองแขมคราวนี้ เราได้รับเกียรติจาก ร้อยตำรวจตรีชนะพรรษ กรงทอง แห่งสถานีตำรวจนครบาลหนองแขม และ องุ่น-นวรัตน์ กรงทอง อาสาสมัครตำรวจบ้าน เป็นมัคคุเทศก์พาเยี่ยมชมพร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไปของโรงพักเก่าแห่งนี้อย่างหมดเปลือก

ชุมชนริมคลอง

หลายคนคงรู้จักหนองแขมในฐานะเขตหนึ่งในฝั่งธนบุรีตอนใต้ อยู่ประชิดติดอำเภอกระทุ่มแบน ของจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นทางผ่านไปสู่ภาคใต้มานานกาล เพราะมีถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ตัดผ่าน

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

นานหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น พื้นที่นี้เคยเป็นไร่นาอันห่างไกลความเจริญมาก่อน ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งจึงมีน้ำท่วมขังจนเป็นหนองน้ำ ตามห้วยหนองคลองบึงเหล่านั้นมักมีต้นแขมอันเป็นวัชพืชน้ำจำพวกหญ้าขึ้นออกันเป็นกลุ่มแน่นขนัด เป็นสาเหตุให้พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยหนองน้ำและต้นแขมนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘หนองแขม’ ในกาลต่อมา

และแล้วความเจริญก็เดินทางมาเยือนหนองแขม เมื่อสยามลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2398 น้ำตาลและอ้อยซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีนกลายเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวต่างชาติต้องการมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแหล่งท่าเรือเข้าด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการลำเลียงส่งออก

พ.ศ. 2410 ปีก่อนสุดท้ายแห่งรัชสมัยของพระองค์ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) เจ้าภาษีฝิ่นและเจ้าของโรงจักรหีบอ้อย เป็นแม่กองขุดคลองความกว้าง 7 วา ความลึก 5 ศอก โดยเริ่มจากคลองบางกอกใหญ่ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว ออกไปทางแม่น้ำท่าจีน ณ ตำบลดอนไก่ดี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน

ในการนี้ รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า ‘ภาษีเจริญ’ ให้คล้องจองกับคลองดำเนินสะดวกที่เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นก่อน สมัยหนึ่งคนสยามก็เรียกคลองคู่นี้ว่า ‘ภาษีเจริญ-ดำเนินสะดวก’ เป็นคำคล้องติดปากไปโดยปริยาย

คลองภาษีเจริญที่พาดผ่านหนองแขมได้นำพาผู้คนจำนวนมากมาตั้งบ้านเรือนตามแนวคลอง ตามมาด้วยตลาด โรงเรียน โรงสี สถานีอนามัย ครบสรรพทุกความต้องการของชุมชน

“ข้าง ๆ โรงพักนี้เคยเป็นตลาด สถานีอนามัยก็มีมาแต่ดั้งเดิม เลยไปก็จะเป็นตลาดน้ำ แต่ตอนนี้เป็นตลาดสด” สาวหนองแขมตัวจริงอย่างคุณองุ่นสาธยายถึงภาพอดีต “สมัยก่อนมีห้องแถวยาวเหมือนตลาดร้อยปี เป็นห้องแถวยาว ต่อด้วยโรงสี ร้านทอง ทุกอย่างอยู่ริมน้ำหมดเลย

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

“บ้านคนอยู่ชายน้ำด้านหนึ่ง อำเภอก็อยู่ริมน้ำเลยไปทางด้านนู้น แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่ริมถนนเพชรเกษม คือสำนักงานเขตหนองแขมหลังปัจจุบัน ข้ามคลองไปอีก 4 วาก็จะเป็นจังหวัดสมุทรสาคร”

โรงพักในพระราชดำริ

คลองภาษีเจริญเป็นบ่อเกิดของชุมชนแถบหนองแขมและความเจริญก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคมสำหรับคนในพื้นที่ เนื่องจากแหล่งชุมนุมชนที่เพิ่งเกิดใหม่แห่งนี้อยู่ไกลจากพระนครหรือศูนย์กลางการปกครองอักโข โจรผู้ร้ายจึงปะปนเข้ามากับฝูงชน ต่างก่อเหตุปล้นสะดม คุกคามสวัสดิภาพในการดำรงชีพและทรัพย์สินของชาวบ้านอยู่เป็นอาจิณ

ครั้นถึง พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม รวมเป็นระยะเวลา 25 วัน ทรงมีจุดเริ่มต้นที่พระราชวังบางปะอิน และมุ่งใต้ผ่านปทุมธานี นนทบุรี พระนคร ธนบุรี ไปถึงราชบุรีและเพชรบุรีตามลำดับ ระหว่างทาง พระองค์เสด็จฯ ทางชลมารคในคลองภาษีเจริญ และได้ทรงหยุดประทับแรมที่วัดหนองแขมซึ่งเป็นวัดเก่าแก่

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

“คลองนี้เป็นคลองขุด น้ำในคลองมันตื้น ท่านเสด็จฯ มาถึงหน้าวัดหนองแขมแล้วน้ำแห้ง เลยเสด็จต่อไม่ได้ ก็เลยแวะประทับแรมที่วัดนี้ค่ะ” ผู้รับผิดชอบดูแลโรงพักไม้เล่าด้วยความภูมิใจ

“หนองแขมก็เลยเป็นที่แรกในกรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จมาประทับแรมในการประพาสต้น ไม่มีที่อื่น ๆ เพราะที่นี่ค่อนข้างไกล และพระองค์จะเสด็จฯ ไปยังจังหวัดอื่นต่อ ตอนนี้ทางวัดก็เลยจะมี ‘ท่าเสด็จ’ เป็นจุดที่สันนิษฐานว่าพระองค์เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง”

ความทราบไปถึงพระเนตรพระกรรณว่าแถบหนองแขมมีขโมยขโจรชุกชุม รัชกาลที่ 5 จึงมีรับสั่งให้จัดตั้งสถานีตำรวจขึ้นเพื่อสอดส่องดูแลท้องที่นี้ นำมาซึ่งการสร้างสถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังแรกที่เป็นตึกทรงปั้นหยา มีมุขหน้าจั่วยื่นออกมาเป็นทางขึ้นลง ใช้ไม้สร้างทุก ๆ กระเบียดนิ้ว

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ
สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

“โรงพักนี้สร้างตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบ แต่มีชื่อสารวัตรคนแรกที่มาประจำอยู่ที่นี่ คือ ร้อยตำรวจโทมาลัย มัลลิกามาลย์ เมื่อ พ.ศ. 2448 ครับ” ผู้หมวดชนะพรรษกล่าวต่อ

ข้อมูลการก่อตั้ง ของ สน.หนองแขม มีน้อย เรียกว่าแทบหลักฐานไม่มีลายลักษณ์หลงเหลืออยู่เลยก็ว่าได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตำรวจและประชาชนชาวหนองแขมเชื่อว่าอาจสามารถสืบสาวความเป็นมาของโรงพักอายุเกินร้อยปีแห่งนี้ได้ ก็คือหลักหมุดที่ฝังอยู่ในรั้วสถานี

“ยังมีหลักหมุดให้ดูอยู่นะคะ ที่หลักหมุดเขาเขียนว่า ‘พระราชดำริ’ ท่านคงยกที่ตรงนี้ให้ปักเป็นอาณาเขตของโรงพักค่ะ” อาสาสมัครตำรวจบ้านช่วยเสริม ก่อนเบนสายตาไปทางพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ซึ่งเธอเรียกว่า ‘องค์พ่อปิยมหาราช’ พลันประนมมือไหว้อย่างนอบน้อม

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

“ตอนแรกที่เราบูรณะที่นี่เสร็จใหม่ ก็เตรียมไว้แค่พื้นที่โล่ง ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีผู้ใหญ่ใจดียกพระบรมรูปองค์นี้มาถวาย พอได้มาก็คิดว่า สน.หนองแขม ควรต้องมีที่สักการะ ก็เลยประดิษฐานไว้ตรงนี้”

สน. เก่า

หากถือเอาปีที่สารวัตรคนแรกย้ายมาปฏิบัติหน้าที่เป็นปีที่โรงพักหนองแขมสร้างเสร็จสมบูรณ์ โรงพักนี้ก็จะมีอายุรวมทั้งสิ้น 81 ในปีที่มันถูกปลดระวางจากราชการ

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ
สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

เพราะเมื่อ พ.ศ. 2529 อาคารไม้หลังนี้เริ่มทรุดโทรมลงทุกขณะ ประกอบกับศูนย์กลางของหนองแขมได้ย้ายไปอยู่ริมถนนเพชรเกษม ทางสัญจรโบราณอย่างคลองภาษีเจริญจึงถูกลดบทบาทลง การเดินทางที่เคยสะดวก เพียงจอดเรือเทียบตลิ่งก็ถึงหน้าโรงพักก็กลายเป็นความยุ่งยาก ถ้ามาทางรถ จำต้องทะลุมาตามซอยคับแคบที่อยู่ข้างวัดหนองแขมเข้ามา บ้านเรือนผู้คนก็ย้ายไปอยู่ตามถนนใหญ่ หากอยู่ที่เดิมก็จะดูแลไม่ทั่วถึง ทางตำรวจจึงมีดำริว่าควรย้ายไปสร้างโรงพักที่ใหม่ให้มีเนื้อที่กว้างขวาง สอดคล้องกับการคมนาคมสมัยใหม่ด้วย

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

พ.ศ. 2530 ตำรวจนครบาลหนองแขมได้ย้ายไปยังโรงพักแห่งใหม่ริมถนนบางบอน ทิ้งให้โรงพักไม้หลังเดิมที่มีอายุอยู่ในราวสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 เป็นอนุสรณ์สถานของวันวานที่คลองภาษีเจริญยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก รวมถึงการเสด็จประพาสต้นที่นำมาซึ่งโรงพักแห่งนี้

สองผู้ดูแลเล่าว่าโรงพักไม้ผลัดเปลี่ยนหน้าที่หลายครั้ง ก่อนลงเอยที่การทิ้งร้าง

“ก่อนหน้านี้เราเคยใช้ที่นี่เป็นบ้านพักตำรวจ เพราะตำรวจเยอะขึ้น ที่นี่เลยถูกแบ่งซอยกั้นห้องเป็นที่พักให้ตำรวจ แล้วพอแฟลตตำรวจแห่งใหม่สร้างเสร็จ พวกเขาก็ย้ายไปอยู่ที่นั่นกัน

“ที่นี่ก็ปล่อยร้างมาระยะหนึ่ง หลังจากนั้นทางผู้บำบัดยาเสพติดเขาก็ติดต่อมาขอใช้เป็นสถานที่บำบัดผู้ติดยา แต่เพราะอยู่ใกล้แหล่งชุมชน มีบ้านคนอยู่เยอะ ชาวบ้านเขากลัวกัน ก็เลยร้องเรียนมา ทางผู้บำบัดยาเสพติดเขาก็เลยยกเลิกไป ก็ปล่อยร้างมาจนถึง พ.ศ. 2560”

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ

ทว่าโรงพักไม้ถูกปิดไว้ได้ไม่นานเท่าไร บางสิ่งบางอย่างก็บันดาลให้คุณองุ่น ผู้หมวดชนะพรรษ และพรรคพวก ต้องย้อนกลับมาดูอีกครั้ง

“วันนั้นเหมือนอะไรไม่รู้มาดลใจ พวกเราก็เข้ามาดูกัน เพราะชาวบ้านเขาแจ้งว่ามีกลิ่นเหม็นสาบ เหมือนอะไรตาย นึกว่ามีคนถูกฆ่าตายหรือเปล่า ก็ต้องเข้ามาดู มาตัดต้นไม้ พอเราเริ่มทำแบบนี้กัน ถ่ายรูปให้เห็นกัน ทางผู้ใหญ่ใน สน. เขาก็เริ่มเล็งเห็น ท่านเลยสั่งว่าอยากให้กลับมาฟื้นฟูบูรณะอีกครั้งหนึ่ง”

การบูรณะเริ่มต้นขึ้นในสมัยที่ พันตำรวจเอกอชิรวิทย์ ทองจันดี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลหนองแขม ท่านและชาวบ้านในย่านนี้ใช้วิธีร่วมกันบอกบุญกับวัดที่อยู่ติดกัน เงินที่ได้รับจากงานทอดผ้าป่ามากกว่า 4 ล้านบาทถูกนำมาใช้เป็นทุนทรัพย์ในการบูรณะซึ่งดำเนินไปด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวหนองแขมเป็นสำคัญ

“เสาในเรือนนี้เป็นเสาตะเคียนทั้งหมดรวม 38 ต้น ตำแหน่งเหมือนเดิมทุกที่ ทุกต้นวางอยู่ที่เดิมหมด เพียงแต่เราเสริมโครงขึ้นไป ต้นไหนที่ผุก็เอาไม้มาตอก ส่วนบนก็เสริมข้อต่อขึ้นไปเพื่อให้มันโปร่ง ไม่งั้นมันจะเตี้ย อากาศไม่ถ่ายเท ตอนนี้ทำแล้วก็สูงโปร่ง ทุกอย่างคงไว้โครงเดิมหมด

“ส่วนสีไม้กระดานผนัง ที่จริงสีเดิมของโรงพักไม่ใช่สีนี้ แต่เรามาบูรณะใหม่ ก็ไม่อยากให้มันดูอึมครึมมากไป ใหม่ ๆ ไม่มีใครอยากเข้ามา คือเขากลัวกัน ตอนยังไม่ได้ทำเป็นแบบนี้ยิ่งน่ากลัวกว่านี้อีก”

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่า บูรณะโรงพักไม้ร้อยปีเป็นแลนด์มาร์กริมคลองภาษีเจริญ
พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

นับเป็นความภาคภูมิของเขตหนองแขมโดยแท้ เพราะแม้โรงพักหลังนี้จะไม่ได้ใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนดังก่อน แต่ก็เป็นโรงพักไม้แห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่ยังคงโครงสร้างที่เป็นไม้ไว้ในทุกจุดของตัวอาคาร ไม่ได้ปรับประยุกต์ไปใช้วัสดุอื่นเลย

“โรงพักที่เป็นไม้แบบนี้ ในกรุงเทพฯ มีที่นี่กับที่บางโพ แต่ สน.บางโพ มีบูรณะไปบ้างแล้วครับ”

แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์

การพลิกโฉม สน.หนองแขมหลังเก่ากินเวลานานกว่า 1 ปี เริ่มใน พ.ศ. 2561 เสร็จลุล่วงเมื่อ พ.ศ. 2562 ทางภาคเอกชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงส่งมอบหน้าที่การดูให้กับสถานีตำรวจหนองแขมต่อไป

ครั้นจะเก็บไว้เฉย ๆ ก็ใช่ที่ ตำรวจเลยปรับปรุงอาคารโรงพักแห่งนี้ให้เป็น ‘พิพิธภัณฑสถานโรงพัก (เก่า)’ จำลองสถานที่ รูปแบบการทำงาน และความเป็นอยู่ของตำรวจเมื่อร้อยปีก่อน ให้ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมได้โดยไม่คิดค่าเข้าชมแต่อย่างใด

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

อย่างแรกคือข้าวของเครื่องใช้ ของเหล่านี้ที่เคยมีอยู่ในโรงพักไม้ถูกย้ายออกไปหมดแล้ว เพื่อจัดแสดงสิ่งของให้สมกับเป็นพิพิธภัณฑ์ ผู้กำกับเลยต้องเสาะหาของชุดใหม่เข้ามาทดแทน

“พวกนี้ท่านอชิสั่งมาอีกที จากไหนบ้างไม่แน่ใจ แต่เก้าอี้นี้เป็นของโรงเรียน ของที่มากับ สน. ไม่เหลือแล้ว เราพยายามที่จะไปซื้อของเก่ามาใส่ไว้ สน. นี้ ก็คล้าย ๆ กับพิพิธภัณฑ์ของเก่าไปด้วย บางคนมีของเก่า เช่น นาฬิกา ตู้ โทรทัศน์ เขาก็เอามาประดับไว้ให้ บางคนมาเยี่ยมชมแล้วเห็นควร เขาก็ให้มาประดับโรงพัก มันต้องมีคนมาทำความสะอาดดูแลตลอดไม่อย่างนั้นมันจะโทรม มีอยู่ช่วงหนึ่งปลวกกิน กินกล่อง กินกระดาษ เราก็ต้องให้บริษัทมาฉีดปลวกค่ะ”

อย่างที่สองคือห้องขัง กรงขังของเดิมนั้นอยู่บริเวณเสาตะเคียนต้นที่มีกุญแจมือคล้องอยู่ แต่ถูกรื้อออกหมดไม่มีเหลือ ผู้กำกับอชิรวิทย์ก็ไปซื้อหากรงขังจากของ สน. อื่นมาติดตั้งไว้ ให้ผู้เข้าชมเห็นถึงการคุมขังผู้ต้องหาสมัยก่อน

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

อย่างสุดท้าย หุ่นตำรวจที่องุ่นเรียกติดปากว่า ‘พี่หุ่น’ สวมเครื่องแบบตำรวจไทยในอดีต หุ่น 2 ตัวนี้ก็มีเรื่องให้เล่าได้ยืดยาวไม่รู้จบ

“เริ่มแรกผู้กำกับเขาจะให้ตำรวจมานั่งแต่งชุดแบบนี้ เมื่อไหร่มีงานก็จะให้แต่งแบบนี้ แต่มันวุ่นวาย ตอนหลังเขาก็เลยคิดมาว่าถ้าอยากให้ดูชุดแต่งกายสมัยก่อน ก็ให้เอาหุ่นมาตั้งแทนแล้วกัน”

พูดแล้ว นายร้อยตำรวจตรีก็ช่วยมอบวิทยาทานด้านเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ต่อ

“ชุดสมัยก่อนเป็นแบบชุดใหญ่ ไม่ได้เอาเสื้อใส่ในกางเกง เป็นแบบชุดใหญ่สีขาวหรือคอแบะสีกากี แล้วก็คาดเข็มขัด พอสมัยนี้ชุดใหญ่ที่เป็นชุดขาวหรือคอแบะไม่มีคาดเข็มขัดแล้ว แล้วก็ใส่เฉพาะเวลามีพิธีการสำคัญเท่านั้น” ผู้หมวดว่า “สีนี้คือสีกากีอ่อน สีชุดนี่เปลี่ยนบ่อยมากนะ จากที่เราเห็นว่าเป็นสีกากีอ่อน เดี๋ยวนี้เป็นชุดแบบ ปจ. เหมือนตำรวจทางหลวง เหมือนเจ้าหน้าที่ปราบจราจล ชุดสายตรวจมันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ชุดจราจรยังเหมือนเดิม แต่สายตรวจเปลี่ยนไปแล้ว”

ส่วนสาเหตุที่เครื่องแบบต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ ก็เพื่อให้เข้ากับการใช้งาน

“ชุดเมื่อก่อนเป็นชุดรวมเลย ไม่ได้แยกเป็นสายงานครับ ที่ต้องแยกเดี๋ยวนี้ก็เพื่อให้คล่องตัวขึ้น สะดวกขึ้น อย่างเมื่อก่อนเวลามีปืนใส่ไว้ที่คาดเข็มขัด เวลาวิ่งก็ต้องคอยจับปืนตลอด มันจะร่วงตลอด ตอนหลังปรับชุดมาเพื่อให้รัดกุมยิ่งขึ้น”

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

นอกจากอุปกรณ์อันเกี่ยวข้องกับราชการตำรวจแล้ว ความเป็นตึกเก่าของที่นี่ยังเป็นที่สะดุดตาของสำนักงานเขตหนองแขม ซึ่งต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเขต

นี่คือสาเหตุที่ภายในโรงพักไม้แห่งนี้มีภาพถ่ายเก่า หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์เก่า อัดใส่กรอบรูป ประดับอยู่ตามผนังไม้แต่ละจุด ทุกภาพมีคำอธิบายเป็นแผ่นโลหะพร้อม QR Code ให้สแกนอ่านข้อมูลได้อย่างง่ายดาย

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่

ปีสองปีมานี้ ชื่อของสถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่าเริ่มเป็นที่คุ้นหูของกลุ่มผู้สนใจท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และ Unseen มากขึ้นทุกที ๆ จากเคยได้ผ่านเพียงอย่างเดียว คณะทัวร์ล่องเรือคลองภาษีเจริญที่มักนั่งยาวจากกรุงเทพฯ ข้ามไปยังเขตสมุทรสาครก็เริ่มเหลียวแลโรงพักไม้หลังนี้ และพากันเพิ่มมันไว้ในโปรแกรมเที่ยวของตัวเอง ต่อจากวัดหนองแขมที่อยู่ถัดไป

อย่างไรก็ดี โครงสร้างตึกเก่าที่ปรับปรุงใหม่มาได้ไม่กี่ปี ก็เริ่มส่อให้เห็นปัญหานานัปการ ผู้ดูแลอย่างคุณองุ่นกล่าวว่าอาคารในความรับผิดชอบของเธอยังมีอะไรต้องซ่อมแซมอีกมาก เพื่อรองรับผู้มาเยือนในโอกาสต่อ ๆ ไป

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

“อันดับแรก ตอนนี้เพิ่งจะบูรณะมาได้แค่ 4 – 5 ปี ก็เริ่มดูทรุดโทรมแล้ว ก็เลยกะว่าจะต้องขอความร่วมมือของประชาชนชาวหนองแขมและทุกภาคส่วน ตอนนี้องุ่นเองก็รอให้ทุกฝ่ายฟื้นจากโควิดก่อน” เธอพูดพร้อมเหยียดปลายนิ้วตรงไปยังรูร้าวบนหลังคากระเบื้อง

“เห็นหลังคารั่วไหม ที่มีรอยแตกเพราะเวลาอากาศร้อน ไม้จะแห้งและหดตัว เกิดความยืดหยุ่นเลยทำให้กระเบื้องขยับ ก็จะมีแตกบ้าง ตอนนี้ถ้ามาตอนกลางคืนก็จะเห็นดาว มากลางวันก็จะเห็นพระอาทิตย์ ถ้ามาตอนฝนตกก็เอาหม้อรอง เหมือนบ้านเก่าเลย ตอนนี้ห่วงจุดนี้ที่สุด คงต้องรออีกสักพักค่ะ”

เธอหวังว่าวันหนึ่ง สน. ริมคลองนี้จะเป็นที่เที่ยวที่ผู้คนต้องคำนึงถึง และสร้างรายได้แก่ชุมชน

“ทางเขตเขาก็พยายามอนุรักษ์ เพราะถ้านั่งเรือมาเที่ยว เขาก็มาขึ้นตรงท่าน้ำได้ ถ้าติดต่อมาล่วงหน้าและต้องการดูสินค้า OTOP เราก็จะให้ชุมชนเขามาตั้งขาย เพราะมีคนอยู่ตรงนี้ แต่ต้องให้รู้ล่วงหน้า

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

“มีนักท่องเที่ยวมาทางเรือบ่อยเพราะเขาจะมาผ่านตรงนี้และล่องไปทางสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และออกอำเภอบ้านแพ้ว ตรงแม่น้ำท่าจีน เพราะมันหลายจุดเส้นนี้มันผ่านวัดปากน้ำด้วยตั้งแต่เส้นเจ้าพระยามา ถ้าเขาจัดไหว้พระ 9 วัดตรงนี้ เราว่ามาถึง เพราะต้องมาหลายวัดอยู่แล้ว ทางเขตหนองแขมก็มีวัดหลักสาม วัดหนองแขม วัดใหม่หนองพะอง ออกไปทางแม่น้ำก็มีอีกเยอะค่ะ”

ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะผ่านเลยไปนี้ สถานีตำรวจเก่าหนองแขมจึงยังเปิดให้บริการเป็นเวลาไม่ได้ จะเปิดก็แต่เวลามีงานหรือประเพณีที่สำคัญ เช่น ลอยกระทง งานประจำปีของวัดหนองแขม เป็นต้น

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

“วันลอยกระทง องุ่นจะมาเปิดประตูให้เข้าเยี่ยมชมถึงเที่ยงคืน เพราะต้องมาดูแลคนที่ใช้แม่น้ำ เวลาลอยกระทงถ้าคนลงไปที่โป๊ะมากก็จะอันตราย เราก็ต้องมาคอยประชาสัมพันธ์ แล้วก็จะมีกลุ่มแม่บ้านมาขายกระทงเพื่อเอาเงินเข้าบำรุง สน. เคยทำเกม ‘ตำรวจน้อยตกน้ำ’ ขายจนยอดทะลุเป้าเลย แต่เวลาจะเปิดก็ต้องขอนาย มาเปิดเองโดยพลการไม่ได้”

หรือถ้านักท่องเที่ยวคนใดต้องการเยี่ยมชมนอกวาระพิเศษ คุณองุ่นกับผู้หมวดชนะพรรษฝากมาว่าให้โทรศัพท์ติดต่อพวกเขาก่อน หรือจะอีเมลไปหา ติดต่อผ่านทางสถานีตำรวจแห่งปัจจุบันก็ได้เช่นกัน หากมีเวลาว่าง ไม่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทั้งคู่รวมทั้งเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ยินดีต้อนรับอย่างเต็มใจยิ่ง

พาชม สน. ไม้ล้วนแห่งสุดท้ายใน กทม. ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจของชาวหนองแขม

สน. ตกยุคที่เกือบถูกทอดทิ้ง ในวันเก่า มาวันนี้ สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังเก่าเป็นมากกว่าโรงพักของผู้พิทักษ์สันติรัษฎร์ แต่อยากเป็นโรงพักให้กับราษฎรผู้ได้รับพิทักษ์สันติสุขทุกคน

ลองพาตัวเองมาดื่มด่ำความงามของอาคารไม้ เพื่อพักกาย พักใจ ที่โรงพักแห่งนี้ดูนะครับ

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม (หลังเก่า)

ที่ตั้ง : แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร (แผนที่)

วันและเวลาทำการ : ติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าเท่านั้น

รายละเอียดเพิ่มเติม : คุณองุ่น 09 4962 8744 / สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม 0 2429 3568-72 หรือ อีเมล [email protected]

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ