ธุรกิจ : บริษัท น้อมจิตต์ แมนนูแฟกเจอร์ริ่ง จำกัด, บริษัท น้อมจิตต์ อินคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท น้อมจิตต์ รีเทล จำกัด

ประเภทธุรกิจ : อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ปีก่อตั้ง : พ.ศ.​ 2505

อายุ : 59 ปี

ผู้ก่อตั้ง : นางน้อมจิตต์ จิตรมีศิลป์, นายสุมิตร จิตรมีศิลป์

ทายาทรุ่นสอง : นางสาวอรนุช จิตรมีศิลป์, นายอนันต์ จิตรมีศิลป์, นายอานนท์ จิตรมีศิลป์, นายเอนก จิตรมีศิลป์ และ นายอาณัติ จิตรมีศิลป์

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี
น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

ชุดนักเรียน ‘น้อมจิตต์’ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2505 โดย คุณแม่น้อมจิตต์ และ คุณพ่อสุมิตา จิตรมีศิลป์ 

เริ่มจากเป็นร้านคูหาเล็กๆ แถวบางกระบือ ลักษณะคล้ายโชห่วย ขายของจิปาถะ ตลอดปีจึงมีสินค้าสลับสับเปลี่ยนไม่ขาดสาย โดยยึดตามช่วงเทศกาลเป็นหลัก เช่น เดือนไหนมีวันพระใหญ่ก็ขายสังฆภัณฑ์

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

ส่วนเดือน 4 และ 5 เป็นเทศกาลเปิดเทอม คุณแม่น้อมจิตต์เลยสั่งชุดนักเรียนมาขาย

เมื่อเวลาผ่านไป จากที่รับซื้อก็เปลี่ยนมาผลิตเองเพื่อสร้างคุณภาพ เลิกขายสินค้าอื่นๆ และลงแรงใจกับชุดนักเรียนอย่างเดียว ก่อนจะส่งต่อให้ทายาทรุ่นสองทั้ง 5 ผู้เข้ามาเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่สต็อกสินค้า การขาย การผลิต ช่างเย็บ และเครื่องจักร เพื่อให้น้อมจิตต์ขยายกิจการและกำลังการผลิตได้มากขึ้น จนปัจจุบันมีหน้าร้าน 4 สาขา พร้อมส่งขายตามโรงเรียนและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ 

ถึงอย่างนั้น น้อมจิตต์ก็ยังไม่หยุดอยู่กับที่ ยังมุ่งหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้สินค้าที่พวกเขาบอกว่า ‘คนซื้อไม่ได้ใส่ คนใส่ไม่ได้ซื้อ’ และยึดถือความเชื่อที่ส่งผ่านมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ 

‘จงซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทำสินค้าให้ดี และอย่าหยุดพัฒนา’ 

จนสามารถอยู่คู่นักเรียนไทยมาได้ถึง 60 ปี

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

ตำนานบางกระบือ

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน ชุดนักเรียนในยุคคุณแม่มีผู้ผลิตจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นช่างเย็บรับเย็บทีละตัวแล้วก็ขาย ไม่มีมาตรฐานแน่นอน ขายไปคนขายก็หงุดหงิด เพราะของไม่ดี ทางคนซื้อก็ไม่พอใจ เพราะของไม่ได้อย่างใจเขา 

แม้จะเป็นธุรกิจแบบซื้อมาขายไป แต่คุณแม่เป็นคนละเอียด พิถีพิถัน จึงตัดสินใจหาช่างเพื่อเย็บเอง

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี
น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

หลังลองผิดลองถูกและใช้เวลาหลายปีให้แบรนด์ ‘น้อมจิตต์’ เข้าไปอยู่ในใจลูกค้า ขณะเดียวกันเดือนที่ไม่ใช่วันเปิดเทอมก็ขายของประเภทอื่นๆ เหมือนเก่า จากห้องแถวเดียวขยายเป็น 2 ห้อง 3 ห้อง 4 ห้อง ธุรกิจรุ่งเรื่องเรื่อยๆ จนกลายเป็นเซ็นเตอร์

เซ็นเตอร์อยู่ได้สักพักก็ต้องทยอยปิดตัวลง เพราะห้างสรรพสินค้าเริ่มเข้ามา คุณพ่อสุมิตรและคุณแม่น้อมจิตต์จึงตัดสินใจพัฒนาชุดนักเรียนอย่างจริงจัง

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

ทายาทรุ่นสอง

“จะขายเสื้อนักเรียนทำไม ปีหนึ่งขายครั้งเดียว” 

มีคนถามคุณพ่อสุมิตรและคุณแม่น้อมจิตต์อย่างนี้ตลอด แต่ทั้งสองไม่สนใจ ค่อยๆ ขยายตลาดจากแค่ที่ร้านไปตามห้างสรรพสินค้าและโรงเรียนต่างๆ ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังลูกชายลูกสาวทั้ง 5 คนให้มีส่วนร่วมกับธุรกิจ คุณเอี้ยง-อานนท์ จิตรมีศิลป์ เคยทำมาหมดแล้วทั้งขับรถส่งของ ตัดด้าย รุ่น คุณเนย-อาณัติ จิตรมีศิลป์ ได้ขายของหน้าร้าน

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

คุณเอี้ยงเข้ามารับช่วงต่อตามพี่ชายและพี่สาวหลังทำงานธนาคารได้ 6 เดือน เพราะฝันอยากช่วยแก้ปัญหาของธุรกิจที่บ้านที่เห็นมาตลอด โดยไม่รู้หรอกว่าตัวเองจะชอบหรือไม่ชอบการทำธุรกิจนี้ ส่วนคุณเนยเข้ามาหลังจากนั้น 

“เพราะที่บ้านกับที่ทำงานคือที่เดียวกัน เราโตมาก็เห็นคุณแม่ทำ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องสต็อกสินค้า คน การผลิต และการขาย บางทีลูกค้ามาซื้อ ไซส์ที่เขาจะเอาไม่มี ไซส์ที่ไม่เอาเต็มโกดังเลย นั่นคือเรื่องสต็อกและการผลิต ซึ่งส่งผลไปถึงตอนขาย กว่าจะปิดการขายได้ ลูกค้าต้องเทียบสีเสื้อทุกตัวที่ซื้อ เพราะมาตรฐานงานเย็บและสีผ้าไม่เหมือนกัน ทำให้ขายไม่ทัน คิดเงินผิดคิดเงินถูก มันเป็นปัญหาของ SMEs เล็กๆ ในรุ่นบุกเบิกที่เราค่อยซึบซับเข้ามา”

ธุรกิจครอบครัวมักมีลักษณะคล้ายๆ กัน

รุ่นแรกเป็นขาลุย อาจจะไม่ได้เรียนสูง ไม่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์หรือระบบควบคุมมาตรฐานต่างๆ ทุกอย่างอาศัยประสบการณ์ที่ลงมือทำงานจริง เลยจะได้เปรียบในธุรกิจขนาดเล็กที่มีทีมงานเพียง 4 – 5 คน แต่เมื่อถึงเวลาขยายธุรกิจ การทำงานแบบดูเองทุกอย่างคงไม่เหมาะสมอีกต่อไป จึงเป็นโอกาสดีที่คนรุ่นสองต้องเข้ามา

รุ่นสองมีแต้มต่อเรื่องความรู้ แม้ไม่ลุยงานเท่ารุ่นแรก แต่ยังได้เห็นพ่อแม่ลำบาก ได้เรียนวิชาธุรกิจจากที่เขาทำงานให้ดู 

ยกระบบ

น้อมจิตต์ แบรนด์ชุดนักเรียนในมือทายาทรุ่นสองผู้สร้างระบบมาตรฐานจนอยู่มาถึง 60 ปี

ทายาทรุ่นสองของครอบครัวจิตรมีศิลป์เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลายอย่าง ดังนี้

สต็อกสินค้า

สต็อกสินค้าเป็นปัญหาหลักของธุรกิจชุดนักเรียน ถ้าดูจากกราฟจะเห็นว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายตกอยู่ในเดือนเปิดเทอมใหญ่ ถ้าบริหารจัดการไม่ดี จะทำให้สต็อกสินค้ามีปัญหาและไม่ตอบโจทย์ลูกค้า เหมือนที่คุณเอี้ยงเล่าว่า “สินค้าที่ลูกค้าต้องการไม่มี สินค้าที่ไม่ต้องการกลับมีเยอะ เรามีเต็มสต็อกของแต่ขายไม่ได้เลย”

สมัยก่อนตอนคุณแม่น้อมจิตต์สั่งออเดอร์โดยไม่แจกแจงรายละเอียด ให้ช่างคุยกันเองโดยดูจากยอดสั่งซื้อปีก่อน ไซส์ไหนสั่งเยอะก็ทำเยอะ 

ทายาทรุ่นสองเข้ามาวางระบบใหม่ เริ่มจากการบัญชีง่ายๆ มีการจดบันทึกว่าแบบไหน ไซส์อะไร ขายได้กี่ตัว เพื่อจะได้คาดการณ์สินค้าที่ควรสั่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีสินค้าค้างสต็อกน้อยลง

การขาย

จากเรื่องสต็อกก็เชื่อมโยงมาถึงการขาย สมัยก่อนใช้วิธีขายแบบเปิดบิล กดเครื่องคิดเลข แล้วค่อยมาตัดสต็อก กว่าจะบริการลูกค้าหนึ่งรายใช้เวลานาน ลูกค้ารอคิวยาว แถมยังเจอข้อผิดพลาดบ่อย ถ้ายังใช้วิธีแบบเดิมในวันที่ธุรกิจขยายสาขาน่าจะลำบาก คุณเอี้ยงและ คุณน้อย-เอนก จิตรมีศิลป์ น้องชายอีกคนจึงตัดสินใจเขียนโปรแกรมการขาย นำคอมพิวเตอร์มาใช้ จนเปลี่ยนมาใช้ระบบบาร์โค้ดในที่สุด

การผลิต

คุณเอี้ยงและคุณเนยเล่าว่า ปัญหาเรื่องการผลิตอยู่มาตลอดในรุ่นคุณพ่อคุณแม่ เมื่อก่อนช่างคนหนึ่งเย็บเสื้อหรือกางเกงทั้งตัว จะสวยไม่สวยขึ้นอยู่กับฝีมือช่างแต่ละคนล้วนๆ โจทย์ของทายาทรุ่นใหม่คือ ทำอย่างไรให้สินค้าได้มาตรฐานทุกชิ้น ลูกค้าไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องเทียบสีผ้าก่อนซื้อ จึงเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ให้มีมาตรฐาน ช่างหนึ่งคนทำแค่หนึ่งอย่าง คนเย็บปกเย็บปกอย่างเดียว คนเย็บแขนก็เย็บแขนอย่างเดียว แล้วค่อยเอามาประกอบให้เป็นตัวทีหลัง 

ซึ่งการเปลี่ยนวิถีคนทำงานต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับตัว ค่อยๆ ทำให้เขาเห็นว่าวิธีนี้ดีกว่า ได้มาตรฐานกว่า และดีกับแบรนด์มากกว่า

เครื่องจักร

เครื่องจักรเป็นอีกหนึ่งปัญหาของธุรกิจการผลิต การเปลี่ยนครั้งหนึ่งใช้เงินมหาศาล คนใช้อยากเปลี่ยน แต่เจ้าของมักคิดว่าอะไรที่ยังใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน 

แต่เมื่อโจทย์ของน้อมจิตต์คือการสร้างมาตรฐาน คนรุ่นสองจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรรุ่นใหม่ ทำให้ฝีเข็มคงที่ เย็บได้เร็วขึ้น หูเข็มขัดที่เคยทำมือ ยาวสั้นไม่เท่ากัน พอใช้เครื่อจักรก็เท่ากันหมด ปกเสื้อเปลี่ยนเป็นปกฟิวส์แบบเสื้อเชิ้ตผู้ชาย จากที่เคยวาดแบบด้วยมือแล้วมีข้อผิดพลาดเยอะ ก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องวาด พอได้แบบที่ดีแล้วไปตัดด้วยมือก็เสียของ สุดท้ายจึงเปลี่ยนเป็นเครื่องตัดอัตโนมัติไปด้วย

ปรับตัวให้ทัน

“ทันยุคที่นักเรียนผู้หญิงใส่กระโปรงเอวสูงมากๆ ไหม” คุณเอี้ยงถามขึ้นก่อนเล่าว่า ชุดนักเรียนที่เห็นว่าใส่กันมาตั้งแต่รุ่นแม่ก็ต้องมีการปรับตัว

เมื่อ 30 – 40 ปีก่อน นักเรียนผู้ชายนิยมใส่กางเกงสั้นๆ มายุคที่ศิลปินโจอี้บอยดังมากๆ ก็หันมาใส่ยาวๆ กับเสื้อตัวโคร่งๆ หลวมๆ สไตล์แรปเปอร์แทน 

ฝั่งนักเรียนผู้หญิงก็มีทั้งยุคที่ใส่กระโปรงเอวสูงมากๆ และเอวต่ำมากๆ มีช่วงนิยมใส่กระโปรงยาวไปจนกระโปรงสั้น สลับเทรนด์ไปมา

ทายาทรุ่นสองชุดนักเรียนน้อมจิตต์ผู้เข้ามาสร้างระบบมาตรฐานและพัฒนานวัตกรรม จนทำให้ธุรกิจอยู่มาถึง 60 ปี

“เราตามจากเทรนด์แฟชั่นทั่วไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ฟังเสียงลูกค้าที่มาซื้อ บางช่วงขอแม่ซื้อกระโปรงสั้นหน่อย บางช่วงสังเกตเห็นว่าเด็กชอบเสื้อเบอร์ใหญ่เกินตัว แล้วก็เอามาปรับแบบของเราเท่าที่ทำได้ และไม่ผิดระเบียบโรงเรียน เช่น ช่วงนี้แขนยาวหน่อย ช่วงนี้แขนสั้นหน่อย ช่วงนี้ตัวโคร่งหน่อย ช่วงนี้ตัวเล็กหน่อย ปกเสื้อแต่ก่อนเล็กๆ เดี๋ยวนี้ก็ใหญ่ขึ้นมาหน่อย”

ไม่ใช่แค่แฟชั่นที่เปลี่ยนตามยุคสมัย พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าก็เปลี่ยนไปเยอะจากเมื่อก่อน สมัยนั้นครอบครัวหนึ่งมีลูกหลายคน สมัยนี้อย่างมากก็แค่ 2 คน และหันไปเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนเอกชนที่มีเครื่องแบบเฉพาะของตัวเองมากขึ้น รูปแบบการซื้อเสื้อผ้าของพ่อแม่ผู้ปกครองก็เปลี่ยนไป พอมีลูกน้อยก็มองหาสินค้าที่ดีขึ้นไปอีก

น้อมจิตต์มีแนวคิดว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดต้องรู้จักปรับตัว เพราะเป็นสินค้าที่ ‘คนซื้อไม่ได้ใส่ คนใส่ไม่ได้ซื้อ’ จึงต้องพยายามหา Pain Point ของผู้ใช้จริง แล้วสรรหานวัตกรรมใหม่มาพัฒนาให้ชุดนักเรียนมีคุณภาพมากขึ้น ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น

“อย่างเสื้อลูกเสือเนตรนารีหนาๆ ใส่ทีไรก็ร้อน ผ้าแข็ง คัน ขี้เกลือขึ้น เป็นปัญหาที่มีมาตลอด แต่ไม่มีใครทำอะไรกับมัน เราต้องไปหาว่าต้องใช้ผ้าอะไรที่จะตอบโจทย์ Pain Point นั้น จนได้รุ่น Air Cool ที่ทำให้ทั้งเสื้อลูกเสือเนตรนารีและชุดนักเรียนทั่วไปนิ่ม ใส่สบาย ซับเหงื่อ กันกลิ่น กันยูวี

“ไม่ใช่ว่าชุดนักเรียนเมื่อห้าสิบปีก่อนเป็นยังไง ตอนนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างต้องพัฒนาให้ดีขึ้น”

ทายาทรุ่นสองชุดนักเรียนน้อมจิตต์ผู้เข้ามาสร้างระบบมาตรฐานและพัฒนานวัตกรรม จนทำให้ธุรกิจอยู่มาถึง 60 ปี
ทายาทรุ่นสองชุดนักเรียนน้อมจิตต์ผู้เข้ามาสร้างระบบมาตรฐานและพัฒนานวัตกรรม จนทำให้ธุรกิจอยู่มาถึง 60 ปี

อุปสงค์ = 0

ในวิกฤตที่ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ บางธุรกิจโชคดีที่มีระบบออนไลน์อยู่แล้ว หลายธุรกิจต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนไปใช้ระบบเดลิเวอรี่ให้ทันท่วงที แต่สำหรับชุดนักเรียนที่อุปสงค์กลายเป็นศูนย์ เพราะเด็กไม่ต้องไปโรงเรียน ความท้าทายที่น้อมจิตต์ต้องเจอจึงแตกต่างจากธุรกิจเหล่านั้น

“วิกฤตนี้กระทบทั้งตลาดและกระทบทุกยี่ห้อ เราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากรอ ถ้าจะอยู่รอดเราต้องลดต้นทุนหรือเพิ่มรายได้ เมื่อเพิ่มรายได้ไม่ได้ก็ต้องลดต้นทุน

“เราพยายามให้พนักงานมีรายได้พื้นฐานที่อย่างน้อยพอเลี้ยงชีพไปได้ ช่างเย็บก็ยังต้องเย็บ เราสั่งผลิตในปริมาณขั้นต่ำมาตลอด แต่ภาระคือเราต้องเก็บสต็อกมากขึ้น ตอนนี้น่าจะ Overstock แต่เรายอมเพราะต้องรักษาคนไว้”

ส่วนกระแสเรื่องการใส่ชุดนักเรียนตอนนี้ ทั้งคุณเอี้ยงและคุณเนยบอกว่ามีมาตลอดที่ทำธุรกิจมา 

“ในอนาคตชุดนักเรียนอาจกลายเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น และอาจจะไม่ต้องเหมือนกันทั้งประเทศ อย่างโรงเรียนในชนบทหรือบางกลุ่ม การใส่ชุดนักเรียนอาจจะเป็นภาระสำหรับเขา” 

ทายาทรุ่นสองชุดนักเรียนน้อมจิตต์ผู้เข้ามาสร้างระบบมาตรฐานและพัฒนานวัตกรรม จนทำให้ธุรกิจอยู่มาถึง 60 ปี

ห้างน้อมจิตต์

นอกจากธุรกิจชุดนักเรียน ทายาทรุ่นสองยังรับช่วงต่อห้างน้อมจิตต์หรือในชื่อใหม่ N Mark Plaza ที่บางกะปิ ซึ่งมีวิธีคิดและการปรับตัวที่น่าสนใจมาก

ทายาทรุ่นสองชุดนักเรียนน้อมจิตต์ผู้เข้ามาสร้างระบบมาตรฐานและพัฒนานวัตกรรม จนทำให้ธุรกิจอยู่มาถึง 60 ปี

ห้างนี้เริ่มจากตึกแถว 10 ห้องที่คุณพ่อสุมิตรมาซื้อไว้เมื่อ พ.ศ. 2527 ตอนนั้นแถวนี้ข้างทางเป็นป่ารกร้าง อยู่ไกลจากตัวเมือง คุณพ่อเห็นว่าแถวนี้มีการเคหะแห่งชาติ คนเริ่มย้ายมาอยู่ จึงตัดสินใจเปิดเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต

ห้างน้อมจิตต์เริ่มต้นในยุคเดียวกับห้างรูปแบบคล้ายๆ กันอย่างตั้งฮั่วเส็ง, New World, December, JC และพาต้า เป็นยุคที่การขายสนุกสนาน ใช้โทรโข่ง มีโปรโมชันนาทีทอง

หลังเกิดวิกฤตการเงิน พ.ศ. 2540 บริษัทที่ทำธุรกิจซื้อขายโดยใช้เครดิตเงินเกิดปัญหา ห้างไทยในยุคนั้นทยอยปิดตัวลง น้อมจิตต์ก็อยู่ในช่วงวิกฤตซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อนหน้าที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ มาเปิดสาขาฝั่งตรงข้าม

ทายาทรุ่นสองชุดนักเรียนน้อมจิตต์ผู้เข้ามาสร้างระบบมาตรฐานและพัฒนานวัตกรรม จนทำให้ธุรกิจอยู่มาถึง 60 ปี

“เราเกือบจะแย่อยู่แล้ว แต่พี่ชายคนโต (คุณอนันต์ จิตรมีศิลป์) คิดมุมกลับ เขาบอกว่าทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนจากการทำธุรกิจเทรดดิ้งไปเป็นการเช่าพื้นที่ล่ะ” คุณเนยเล่า

“จากที่เรามองเดอะมอลล์ว่าเป็นคู่แข่ง เราเลยมองเป็นการส่งเสริม มองว่าเราเป็นแผนกหนึ่งของห้างใหญ่อีกที เสริมเข้าไปในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ”

พอมองคู่แข่งให้เป็นหุ้นส่วน ก็เกิดการเชื่อมสะพานระหว่างห้างน้อมจิตต์กับเดอะมอลล์ ทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นกลุ่มการค้าบางกะปิที่ทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ และทั้งสองธุรกิจก็เติบโตไปด้วยกันได้

ความภูมิใจ

สิ่งที่ยึดมั่นและส่งต่อมาจากคุณแม่น้อมจิตต์คือ จงซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทำสินค้าให้ดี และอย่าหยุดพัฒนา เมื่อของดี ลูกค้าซื้อไปใช้ดีก็กลับมาซื้อซ้ำ และบอกต่อคนอื่นๆ ทำให้ธุรกิจอยู่มาได้ถึงวันนี้

ทายาทรุ่นสองเริ่มพูดถึงการเตรียมตัวส่งต่อให้ทายาทรุ่นสามด้วยวิธีการที่แตกต่าง

“รุ่นพ่อแม่มองรุ่นเราก็ดูไม่ทนงาน แต่เราก็มีแนวทางการทำงานของเรา รุ่นเรามองรุ่นสามก็เหมือนกัน และเขาก็มีแนวทางในการทำงานของเขา เขาไม่ต้องมาฝึกงานขับรถส่งของหรือยืนขายเหมือนเราแล้ว แต่ต้องตั้งใจ เอาใจใส่ จะวิธีไหนผมไม่ติดเลย

“ธุรกิจมันเปลี่ยนไปทุกรุ่น รุ่นหนึ่งทำการตลาดติดป้ายข้างรถเมล์ มีเสียงตามสาย วิทยุ รุ่นสอง มีเดียเป็นทีวี ทีวีดาวเทียม อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ยูทูบ รุ่นสาม ไม่แน่อาจเป็น Metaverse ก็ได้” คุณเอี้ยงว่าอย่างนั้น

ความภูมิใจของตัวแทนทายาทรุ่นสองในวันนี้ คือการพา ‘น้อมจิตต์’ และความตั้งใจคุณแม่อยู่มานานจะครบ 60 ปีในปีหน้า

“เราจะพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ พยายามเข้าถึงเด็กที่เป็นผู้ใส่ เพราะสักวันหนึ่งเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นพ่อแม่ต่อ แบรนด์เราจะได้อยู่ในใจ เป็น First of Mind ของเขา

“ตอนเข้ามาทำที่บ้านแรกๆ พี่ชายคนโตบอกให้ผมตั้งเป้าว่า น้อมจิตต์ต้องอยู่ไปถึงสามร้อยปี แล้วทำตามเป้าหมายนั้น” คุณเนยทิ้งท้าย

ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities

งานเสวนาออนไลน์ที่นำเสนอแนวคิด เครื่องมือ และความเป็นไปได้ของการทำธุรกิจครอบครัวในบริบทใหม่ของโลก

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 – 18.00 น.

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ คลิก

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ