ปารีส ดินแดนในฝันที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมและความเก่าแก่ อันเป็นดั่งมนตร์ขลังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกว่าหลายล้านชีวิตเดินทางมาที่นี่ทุกๆ ปี เคลิบเคลิ้มฝันหวานด้วยบรรยากาศเหมือนหนัง Midnight in Paris แต่แน่นอนว่าภาพที่วาดฝันไว้นั้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียวของปารีส ในชีวิตจริงแล้วนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้ชีวิตในเมืองหลวงอย่างสวยหรูด้วยบ้านอพาร์ตเมนต์เฮาส์มันน์ (Haussmann) เหล่าประชากรจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่นอกตัวเมือง หรือที่เรียกกันว่า ‘บองลิเออ’ (Banlieue) ชายขอบเมืองปารีส และในพื้นที่เหล่านี้เองที่คุณจะเห็นความหลากหลายแบบปารีสที่แท้จริง

รอบนี้เราขอชวนทุกคนเปลี่ยนทิศการเที่ยว ตีตั๋วออกนอกเมือง เพื่อพบกับอีกหนึ่งมุม ‘ปารีส’ ที่ไม่มีไกด์คนไหนแนะนำ ไปยังเขตนัวซี เลอ กรองด์ (Noisy-le-Grand) อันเป็นอีกหนึ่งบ้านหลักของคนจากหลายเชื้อชาติต่างภาษา โดยส่วนมากจะเป็นประชากรชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาจากแอฟริกา เอเชีย และยุโรปตะวันออก ซึ่งไหลมาเทมาอย่างล้นหลามตั้งแต่ช่วงยุค 50 แบ่งสรรปันส่วนอยู่ใน Social Housing หรือบ้านการเคหะ ที่ทางรัฐได้จัดสร้างไว้ให้

และที่นัวซี เลอ กรองด์ นี่เองก็มีอาคารการเคหะที่โดดเด่นอย่างมากอยู่ 2 ที่ด้วยกัน ออกแบบโดยสถาปนิกสเปนฝีมือท็อปฟอร์มทั้งคู่อย่าง มานูเอล นูนเยซ ยานอฟสกี้ (Manuel Núñez Yanowsky) และ ริการ์โด โบฟีย์ (Ricardo Bofill) (ในอดีตทั้งคู่ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบ Taller de Arquitectura มาด้วยกัน) ที่ทั้งสวยเตะตาและแปลกประหลาดจนโดนใจทีมโปรดักชันภาพยนตร์ต่างๆ มานักต่อนัก

ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue

 

Le Pavé Neuf

จากสถานีรถไฟเราเลือกที่จะเดินไปทางทิศตะวันออกก่อน เพื่อไปยังอาคารแรกมีชื่อว่า เลอ ปาเว เนิฟ (Le Pavé Neuf) ออกแบบโดยมานูเอล นูนเยซ ยานอฟสกี้ มีอายุกว่า 30 ปี โดดเด่นด้วยตึกรูปทรงกลมแบบเหรียญความสูง 17 ชั้น ผู้คนแถวนั้นเรียกกันว่า กอม็องแบร์ต (Camembert) ตั้งตระหง่านเป็นจุดเด่นทั้งสองด้านทางเข้าออก ตึกพักอาศัยโอบล้อมสวนพักผ่อนหย่อนใจส่วนกลาง ในฤดูร้อนเด็กๆ จะออกมาวิ่งเล่นปั่นจักรยานลอดใต้น้ำพุกันอย่างสนุกสนาน ที่พักแห่งนี้ถูกออกแบบให้มีชีวิตชีวาอย่างครบครัน ทั้งโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก และเขตค้าขายอำนวยความสะดวกให้กับผู้พักอาศัย

ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue

มองจากภายนอกเราจะรู้ได้ถึงความน่าเกรงขามของสถานที่ ไม่ใช่แค่จากตึกขนาดใหญ่ แต่ทั้งองค์ประกอบโครงเสาที่ใหญ่โต เสริมด้วยเสาไฟที่ท้าแดดให้เงาผู้อาศัย ผสมผสานการออกแบบแนวกอธิก กรีก และโพสต์โมเดิร์น ผสมดีเทลโชว์ลวดลายแบบ Art Deco เด่นชัดในรูปทรงเรขาคณิต สร้างความตระการตาทุกครั้งที่ได้มอง ไม่รู้เบื่อ

ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue

น่าเสียดายยิ่งที่อาคารนี้อยู่ในย่านที่แม้แต่คนปารีสยังต้องเรียกว่าเขตอันตราย มีหลายครั้งที่ข่าวรายงานการค้ายาและเหตุจลาจลในพื้นที่แห่งนี้ เหตุเพราะความยากจนของผู้พักอาศัยและจำนวนคนไร้งานที่สูงเมื่อเทียบกับเขตอื่นๆ ข่าวโจรกรรม การทำร้ายร่างกาย เป็นเรื่องคุ้นเคยของที่นี่ การพัฒนาพื้นที่รวมไปถึงฟื้นฟูอาคารจึงเป็นไปได้ยาก แต่ถึงจะน่ากลัวปานนั้น ก็ไม่หยุดยั้งสายภาพยนตร์หรืองานแฟชั่นที่ยังใช้พื้นที่นี้ในการถ่ายทำอย่างไม่ขาดสาย

ปารีส, Banlieue

 

Les Espaces d’Abraxas

จากเลอ ปาเว เนิฟ เราเดินข้ามมาอีกฝั่งนึงของสถานี สู่อีกหนึ่งไฮไลต์ เล เซสปาส ดาบราซาส (Les Espaces d’Abraxas) ผลงานออกแบบของสถาปนิกชื่อดัง ริการ์โด โบฟีย์ ด้วยคอนเซปต์การออกแบบ Urban Monument ตามความเชื่อของสถาปนิกว่าด้วยอาคารอสังหาริมทรัพย์นั้นควรต้องมีความยิ่งใหญ่และเอกลักษณ์อันโดดเด่น

ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยสวยเตะตาระดับฮอลลีวูดไปอยู่ในฉากหลักหนังเรื่อง Brazil ของ เทอร์รี่ กิลเลียม (Terry Gilliam) ที่เล่าถึงโลกอนาคตดิสโทเปียเหนือจินตนาการ และ The Hunger Games : Mockingjay Part 2 อีกด้วย (สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออก ที่นี่เป็นอีกหนึ่งด่านกับดักปล่อยน้ำมันสลายร่างแหลก มีใครตายบ้างในฉากนี้ขอไม่สปอยล์ ให้กลับไปดูเองเพื่อเพิ่มอรรถรส)

ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue

และนั่นน่าจะเป็นความรู้สึกแรกทันทีที่ทุกคนได้เหยียบที่นี่เช่นกัน ท่ามกลางการโอบล้อมของตึกโค้งขนาดใหญ่อายุเกือบ 40 ปี ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ เลอ ปาซิโอ (Le Palacio), เลอ เตอาร์ต (Le Théâtre) และ ลาร์ค (L’arc) ที่ตอนแรกถูกออกแบบมาให้เหมือน 3 ห้องในพื้นที่ของโรงละคร มีเลอ ปาซิโอ เป็นอาคารหลัก 18 ชั้น รองรับกว่า 441 ห้อง มีทั้งลิฟต์ โถงบันได และทางเดินสายต่างๆ หันมาที่ัฝั่งตรงข้ามจะพบกับเลอ เตอาร์ต อาคารทรงครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ เปรียบเหมือนเกราะจากโลกภายนอกสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย และตึกสุดท้ายตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสอง ลาร์คเป็นตึกไซส์เล็กกว่าแต่เด่นสง่าใจกลางสองตึก อีกหนึ่งองค์ประกอบสร้างความโดดเด่น ต้องยกให้เรื่องสีสัน ที่นำสีอิฐมาตัดกับชมพูได้อย่างลงตัว

ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue

แต่ในความอลังการนี้ แม้จะถูกก่อสร้างมาด้วยแนวคิดแบบยิ่งใหญ่ให้สวยงามดั่งยูโทเปียคอนกรีตสวนกระแสความเรียบง่ายของอาคารเคหะยุคหลังสงครามโลกที่มักจะทื่อๆ น่าเสียดายที่ความจริงแล้วการใช้ชีวิตที่นี่ไม่ได้สวยหรูดั่งการออกแบบ เพราะเหนือสิ่งคาดคิดตอนออกแบบคือการทำให้ผู้อาศัยรู้สึกเหมือนติดอยู่ในกำแพง กลายเป็นรู้สึกโดนกักขังมากกว่าปลอดภัย ก่อเป็นบรรยากาศความห่างเหินตัดขาดทั้งจากโลกภายนอกและคนที่อยู่ภายใน

ปารีส, Banlieue ปารีส, Banlieue

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็อดไม่ได้ที่จะทึ่งในความยิ่งใหญ่และตั้งใจในการออกแบบ ที่ถึงแม้จะเป็นแค่อาคารเคหะเพื่อพักอาศัยสำหรับชนชั้นล่างผู้อพยพ แต่การออกแบบทั้งสองอาคารก็สอดคล้องกันจนกลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นประจำเมือง เดชะบุญของตึกเหล่านี้ที่รอดพ้นต่อการรื้อถอนมาหลายครั้งหลายคราให้ยังเหลือเป็นบุญตาคนชอบส่องตึก ถึงอย่างนั้นก็ยังอดอิจฉาชาวฝรั่งเศสไม่ได้ เมื่อเห็นทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับการออกแบบสร้างสรรค์เป็นแลนด์มาร์กให้นักท่องเที่ยวอย่างเราได้เดินทางค้นหา เพราะความฝรั่งเศสที่แท้จริงนั้นหลากหลาย หากมีโอกาสหรือเวลาเหลือสักหน่อย การได้เดินทางออกนอกเขตเมืองเพื่อค้นพบความปารีสที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่ท่องเที่ยว ก็เป็นการเปิดหูเปิดตาให้เข้าใจความฝรั่งเศสได้อย่างดีทีเดียว

การเดินทางไปนัวซี เลอ กรองด์ : นั่งเครื่องบินไปปารีส (เรอะ!) แล้วต่อรถไฟสาย RER A จากชาเตอเลต์ เล อัลล์ (Châtelet-Les Halles) เสียค่าบัตรเพิ่มจากปกติเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในโซน 4

ป.ล. ถึงแม้ความสวยงามที่นี่นั้นโดดเด่น การเดินเหินถ่ายรูปไม่ใช่เรื่องง่ายและค่อนไปทางไม่ปลอดภัยนั้น หญิงเดี่ยวไปก็ไม่ควร การยกกล้องกดถ่ายภาพทุกครั้งก็ควรมองหน้ามองหลัง หากเดินผิดทิศก็อาจจะเจอคนท้องถิ่นมาห้ามและรีดไถเงินได้ หากคิดจะตามรอย ขอแนะนำให้พาเพื่อนคอยเป็นหูเป็นตาไปด้วย เพราะข่าวอาชญากรรมของละแวกนี้ก็โด่งดังขึ้นชื่อไม่แพ้ความอลังการของสองตึกเช่นกัน

Writer & Photographer

Avatar

ศิขรินทร์ ลางคุลเสน

นักเพ้อฝันมืออาชีพ งานประจำคือทาสแมว ส่วนยามว่างก็จัดทำกิจกรรมด้านภาพยนตร์กับเพื่อนๆ ในนาม "YOUNG จะทำ”