Noburo (โนบูโร) คือสตาร์ทอัพเพื่อสังคม (Social Startup) ด้านการเงินที่พยายามแก้ไขหนึ่งในปัญหาน่าหนักใจที่ฝังรากลึกอยู่คู่สังคมไทยมานานอย่างเรื่อง ‘หนี้’

หากเปิดดูตัวเลขไตรมาส 3 พ.ศ. 2563 หนี้ครัวเรือนไทยจากการกู้ยืม ขอสินเชื่อ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมแล้วสูงถึง 13.77 ล้านล้านบาท เทียบเท่าเป็น 86.6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (Gross Domestic Product) ตีความแบบง่ายๆ คือ หากประเทศไทยเป็นคนหนึ่งคนที่มีรายได้ 100 บาท เขาต้องเอาไปจ่ายหนี้เกือบ 90 บาทเลยทีเดียว ถือเป็นสถิติใหม่ในรอบ 18 ปี และอยู่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

นอกจากนี้ ราว 1 ใน 6 ของคนไทยมีหนี้เสียที่จ่ายช้าเกินกว่ากำหนด ตัวเลขเหล่านี้อาจอธิบายได้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจแทบทุกภาคส่วน แต่อีกปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น เร็วขึ้น และนานขึ้น ตลอดมาคือ การขาดความรู้และวินัยทางการเงินที่เป็นดั่งเกราะป้องกันภัยของชีวิต 

แต่จะกล่าวโทษตัวบุคคลคงไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด หากเรามีระบบที่เอื้อให้คนเข้าถึงความรู้ทางการเงิน และมีเพื่อนคู่คิดที่เชี่ยวชาญไว้เนื้อเชื่อใจได้ คอยให้คำปรึกษา ปัญหานี้คงบรรเทาลงไปอีกเยอะ 

ที่ผ่านมา บริการเหล่านี้มักเข้าถึงคนที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป

สิ่งที่ Noburo ตั้งใจสร้างคือแพลตฟอร์มสวัสดิการทางการเงินที่เข้าถึงพนักงานระดับปฏิบัติการผู้มีรายได้น้อย ให้มี ‘ความรู้คู่ทุน’ เปลี่ยนเรื่องที่ดูยากและน่าเบื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จนคนสามารถสร้างพฤติกรรมใหม่ที่พวกเขาอาจไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้มาก่อนและปลดหนี้สำเร็จ ด้วยการใช้เทคโนโลยีควบคู่ความเข้าใจมนุษย์

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน

“เงินคือเครื่องมือที่ช่วยทำให้ชีวิตสบายขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้ปรับความคิดหรือพฤติกรรมการใช้เงิน สุดท้ายคนจะกลับเข้าวังวนแบบเดิม พอไม่ได้วางแผนทางการเงิน ชีวิตจะเป็นไปตามยถากรรม เราอยากเปลี่ยนตรงนี้” ดิว-ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Noburo เล่าความตั้งใจของสตาร์ทอัพอายุ 3 ปีที่ตั้งใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านบริการทางการเงินที่มีกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวข้องโดยประมาณมากถึง 16.48 ล้านคนทั่วไทย

เราจะช่วยให้คนจัดการหนี้ แก้ปัญหาสังคม พร้อมเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ชวนคุณมาอ่านและแก้เรื่อง (ห) นี้ ไปด้วยกัน

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน
01

จังหวะชีวิตและการแสวงหา

ความตั้งใจสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกันอยู่ในห้วงความคิดของผู้ประกอบการคนนี้มานาน ตั้งแต่สมัยเรียน 

หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดิวมุ่งมั่นสมัครชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อด้านการบริหารเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สถานที่นี้ทำให้เธอตระหนักถึงแรงขับเคลื่อนภายในของตัวเองด้วย

“เรามีโอกาสเรียนคลาสธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งเน้นกลุ่มคนที่เรียกกันว่า Bottom of the Pyramid หรือกลุ่มที่ค่อนข้างถูกละเลยในโลกทุนนิยม เพราะคิดว่าเขาไม่มีกำลังซื้อมากพอ แต่คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสการเข้าถึงหลายอย่างมาก เราเรียนรู้แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงและมีชีวิตที่ดีขึ้นจากที่นี่ ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกโชคดีที่ตัวเองได้ทุนมาเรียนและเปิดโลกทัศน์ อยากเอาสิ่งที่ได้รับกลับไปทำให้เป็นประโยชน์กับประเทศ” ดิวเล่าความคิดเมื่อราว 10 ปีก่อน

หลังจากเรียนจบ เธอเก็บประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาธุรกิจและทำงานบริหารโรงไฟฟ้า ทั้งในไทยและญี่ปุ่น พร้อมทำโปรเจกต์อย่าง Light Me Up นำทีมไปติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ตามชุมชนห่างไกล ด้วยความรู้และกำลังที่มี มองดูภายนอกแล้วถือเป็นชีวิตการงานที่เติบโตก้าวกระโดด 

ต่อมา คุณพ่อของดิวเกษียณจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ประจวบเหมาะพอดีกับช่วงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้ธุรกิจขอใบอนุญาตให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nanofinance) พ่อของดิวจึงก่อตั้งบริษัท ไอทีทีพี (ITTP) ขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านสินเชื่อ และชักชวนดิวมาบริหาร

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน

“ตอนแรกเรามองแค่มิติเดียวและไม่เห็นด้วยกับการปล่อยสินเชื่อ ทำไมต้องทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นด้วยล่ะ แต่ในเมื่อควรกลับไปช่วยบริหาร เลยคิดว่าทำอย่างไรการปล่อยสินเชื่อถึงจะช่วยคน

“พอบอกพ่อว่าอยากทำแนวนี้ พ่อยังไม่เห็นด้วย เพราะสมัยก่อนนักการเงินมองเรื่องความเสี่ยงเป็นหลัก ซึ่งสิ่งที่เราคิดมีความเสี่ยงสูง พ่อก็สงสัยว่าจะทำอย่างไร”

แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่การแสวงหามักนำพาเราไปเจอประตูบานใหม่ของชีวิต 

“อยู่ๆ มีพี่เจ้าของโรงงานคนหนึ่งมาระบายว่าลูกน้องเป็นหนี้นอกระบบกันเยอะมาก มีวิธีแก้ไหม เราลองเข้าไปดู ใช้รีไฟแนนซ์มาแก้หนี้นอกระบบ แต่ไม่ได้ผล เลยพยายามหาวิธีต่อ” 

ในตอนนั้น dtac Accelerate แหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพชั้นนำของไทย เปิดรับสตาร์ทอัพเข้าโครงการเป็นปีที่ 6 พอดี จังหวะทุกอย่างดูเหมาะเจาะ

“ช่วงแรก ITTP เหมือนเป็นบริษัทครอบครัวอยู่ เราคิดในใจว่าอยากพัฒนาบริษัทไปทางสตาร์ทอัพมากกว่านี้ ให้ทีมงานได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของร่วมกัน เลยส่งไอเดียไป ปรากฏว่าเข้ารอบ ตอนนั้นตัดสินใจแยกออกมาเป็นแพลตฟอร์มใหม่เลย” 

Noburo จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยบริษัทและ HR ดูแลพนักงานให้เกิดความมั่นคงทางการเงินและชีวิต โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นเพื่อนสมัยเรียนของดิวอีก 2 คน (อานุภาพ วิรัตน์ภานุ และ ศวิตา น้ามังคละกุล)

ส่วนชื่อธุรกิจนั้น ความหมายแรกเกิดจากการผสมคำว่า No และ Credit Bureau เข้าด้วยกัน เป็นการสื่อสารว่าธุรกิจนี้จะมุ่งช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยไม่ต้องพิจารณาประวัติบนเครดิตบูโรในการให้สินเชื่อ แต่สร้างกลไกที่ทำให้เกิดความเชื่อใจกันแทน

02

การเงินเป็นเรื่องของทุกคน

ทำไมคนถึงเป็นหนี้ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาหนี้กันไม่ได้เสียที

การเริ่มสร้างสตาร์ทอัพไม่ได้ต้องคำนึงเพียงเรื่องเทคโนโลยีและการบริหารให้สเกลถึงผู้คนจำนวนมากเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจปัญหาและลูกค้าอย่างลึกซึ้งแบบที่ทฤษฎีให้ไม่ได้ นั่งคุยทีละคนเพื่อเก็บข้อมูล เป็นสิ่งที่ไม่สเกล แต่แสนสำคัญต่อการสร้างรากฐานธุรกิจ

กลุ่มเป้าหมายที่ Noburo ต้องทำความเข้าใจมี 2 ส่วนหลักคือ ธุรกิจและบุคคล ไอเดียตั้งต้นคือ บริษัทจะเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อบริการ เพื่อให้พนักงานของตนสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ เป็นโมเดลแบบ B2B2C โดยเป้าหมายส่วนใหญ่เป็น ฺBlue-collar (พนักงานแรงงาน) และ Pink-collar Workers (พนักงานบริการ) ที่มักมีภาระหนี้สิน ฐานเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท

“ช่วงเริ่ม เราสัมภาษณ์พนักงานเป็นร้อยเพื่อดูว่ามีปัญหาและความต้องการอยู่จริงไหม ซึ่งมีจริง แบ่งง่ายๆ เป็นสองกลุ่ม หนึ่งคือกลุ่มที่เข้าถึงสถาบันการเงินไม่ได้ ไม่มีประวัติผ่านระบบของธนาคารเลย ทำให้ไม่มีเครดิต 

“กลุ่มที่สองคือมีเงินเดือน ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ แต่ขาดความเข้าใจ พอมีเหตุฉุกเฉินอะไรก็กู้เรื่อยๆ ทั้งที่ของเก่ายังจัดการไม่หมด ดูว่าเดือนนี้ผ่อนไหว แต่ไม่ได้คิดเรื่องดอกเบี้ย ทับถมไปจนหนี้เยอะและสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ไม่ได้แล้ว ถ้าจ่ายไม่ไหวก็กลายเป็นหนี้เสีย บางคนไปกู้นอกระบบต่อ ดอกเบี้ยแพง ติดหนี้เป็นแสนอยู่หลายปี” 

หัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มนี้จึงเป็นการถ่ายทอดความรู้การบริหารจัดการเงินให้เข้าใจง่าย เปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิต และช่วยคนสร้างพฤติกรรมใหม่ให้หลุดพ้นจากพันธนาการเดิม

“แต่มีคนภายนอกไม่น้อยคิดว่าพนักงานเหล่านี้ไม่มีทางเก็บออมได้หรอก ทำให้เขาไม่เชื่อตัวเอง ตอนไปสัมภาษณ์ หลายคนไม่คิดว่าตัวเองจะปลดหนี้ได้สำเร็จ ความฝันบั้นปลายชีวิตของพวกเขาคือมีเงินเก็บสักก้อน กลับไปอยู่บ้านเกิดกับครอบครัวและเปิดกิจการเล็กๆ เราถามต่อว่าต้องใช้เงินเท่าไร คำตอบคือสักแสนสองแสน ซึ่งจริงๆ เก็บไม่ยาก แค่ไม่เคยมีใครบอกเขา”

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน
Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน
03

มีองค์กรที่ตั้งใจดูแลพนักงาน

เมื่อเข้าใจความเจ็บปวดของพนักงานแล้ว สิ่งที่ Noburo ต้องหาคำตอบให้ได้คือ ทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจจึงยินยอมทำงานร่วมกัน

“เราติดต่อไปหาเจ้าของธุรกิจ ปรากฏว่าหลายแห่งต้องการโซลูชันนี้ เพราะอยากเห็นพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางที่ปล่อยสินเชื่อเป็นสวัสดิการช่วยพนักงานอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือไม่เคยวัดผลได้ว่าชีวิตพนักงานดีขึ้นจริงไหม บางทีก็ปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะคนด้วยความลำเอียง (Bias) ที่ไม่รู้ตัว” ดิวอธิบาย องค์กรที่ปรารถนาดีต่อพนักงานดีมีอยู่จริง

และหากพนักงานแต่ละคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วัฒนธรรมองค์กรจะเปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าคนต้องมัวพะว้าพะวังเรื่องภาระหนี้สินความอยู่รอดของตัวเอง ปากท้องยังกินไม่อิ่ม จะให้มาคิดทำงานร่วมกับผู้อื่นก็คงลำบาก

ระหว่างการเก็บข้อมูล ดิวพบแรงบันดาลใจอย่าง ดร.มนัส ชูผกา ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ ข้าวหงษ์ทอง จำกัด ที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบของพนักงาน 300 คนอย่างหมดจดภายใน 3 ปี จึงขอไปเรียนรู้วิชาและต่อยอดจากประสบการณ์ของอาจารย์ผู้ลงมือทำอย่างจริงจัง

“อาจารย์คือแรงบันดาลใจของโมเดลจัดการปัญหาหนี้ สิ่งที่เราคิดต่อคือ ทำอย่างไรให้เราแก้ปัญหานี้และวัดผลได้ แม้องค์กรนั้นจะไม่มีบุคลากรแบบอาจารย์” 

เมื่อเห็นภาพรวมของปัญหาและความเป็นไปได้ใหม่ Noburo ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ลูกค้ารายแรกที่ยินดีทดลองไปกับพวกเขาคือบาร์บีคิวพลาซ่า (เครือฟู้ดแพสชัน) ที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลพนักงาน มาร่วมออกแบบสวัสดิการนี้ด้วยกัน 

04

ความรู้คู่ทุน

หลักการสำคัญของ Noburo คือความรู้คู่ทุน 

เมื่อบริษัทหรือ HR องค์กรตกลงร่วมมือกับ Noburo จะจัดเวิร์กช็อปแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับสวัสดิการนี้ให้พนักงาน ใครที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ แม้เคยมีประวัติค้างชำระก็ตาม เพื่อเข้าถึงคลังความรู้การเงินออนไลน์และแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันการจดบันทึกข้อมูลทางการเงิน และ Robo-advisor ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล แนะนำการบริหารหนี้อย่างชาญฉลาด 

สิ่งที่พิเศษคือ พวกเขาสามารถปฏิบัติภารกิจเพื่อพิชิตความฝัน โดยภารกิจขั้นต้นเรียกว่า ‘ภารกิจพิชิตหมื่น’

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน

“Noburo เป็นตัวกลาง เราร่วมมือกับผู้ให้สินเชื่อและบริษัท ตกลงแบบแผนการปล่อยสินเชื่อกันตั้งแต่ต้น เมื่อพนักงานทำภารกิจสำเร็จตามกำหนดในแต่ละเดือน เช่น ทำแผนปลดหนี้ ตั้งเป้าหมายการเงิน จดบันทึกรายรับรายจ่าย เขาจะได้รับวงเงินสินเชื่อ เบิกถอนเลยหรือไม่ก็ได้ พอทำภารกิจสำเร็จไปเรื่อยๆ วงเงินจะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม ไว้สำหรับรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ และเป้าหมายปลายทางคือเขามีเงินออมหลักหมื่น” ดิวอธิบายการทำงาน ระบบจะมีการคำนวณ Noburo Score เป็นคะแนนไว้ช่วยบ่งบอกวินัยทางการเงินและความสำเร็จในการทำภารกิจด้วย

 กระบวนการนี้จะค่อยๆ เสริมสร้างนิสัยทางการเงินใหม่ โดยระหว่างทางจะมีทีมงานพร้อมคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา มีทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อเรารู้อย่างชัดเจนว่าชีวิตใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไร เท่าไร การแก้ปัญหาจะตรงจุดขึ้น

เช่น เปลี่ยนจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 1,000 – 2,000 บาท ให้กลายเป็นเงินออม ลุกขึ้นมาขายของหารายได้เสริม หรือคุยกับพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อให้เข้าใจเรื่องสถานะทางการเงินตรงกันและไม่เกิดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น 

หากทำตามวิถีของ Noburo แล้ว พนักงานจะประหยัดค่าจ่ายดอกเบี้ยในระบบไปได้อย่างน้อย 10,000 บาท และอาจสูงถึง 100,000 บาทสำหรับหนี้นอกระบบ ภายในระยะเวลา 12 เดือน

ดูเผินๆ อาจเป็นตัวเลขไม่เยอะในสายตาใครหลายคน แต่ช่วยต่อชีวิตคนจำนวนมากในประเทศนี้ให้อยู่อย่างอุ่นใจขึ้นจริงๆ 

05

เปลี่ยนคน เปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนประเทศ

เมื่อฝ่าด่านแรกสำเร็จ พวกเขาสามารถเข้าร่วมภารกิจพิชิตแสนต่อ เป้าหมายคือมีเงินเก็บ 100,000 บาท ภายในระยะเวลา 4 ปี โดย Noburo จะเน้นสร้างกลไกกระตุ้นให้คนลดรายจ่าย หันมาเก็บออมแทน 

เพียงออมเดือนละ 2,000 บาท แล้วนำไปลงทุนในพอร์ตกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7 เปอร์เซ็นต์ ครบ 4 ปีเมื่อไร จะเก็บได้ราว 100,000 บาทพอดี

“หนึ่งในการวัดผลความสำเร็จของเราคือ เก็บฟีดแบ็กว่าความรู้ที่ให้มีคุณค่าและตอบโจทย์ชีวิตเขาไหม กับวัดว่าเขามาเข้าร่วมจนถึงภารกิจพิชิตแสนหรือเปล่า องค์กรมักถามว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าพนักงานแก้หนี้ได้จริง คำตอบคือไม่รู้หรอก เขาอาจเป็นหนี้นอกระบบที่เราตรวจสอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ช่วยพิสูจน์ว่าได้ผลคือ เขามีเงินเก็บต่อเนื่อง ไม่ต้องไปจ่ายหนี้นอกระบบอีก และเห็นความสำคัญของการออม เท่านี้แปลว่าสำเร็จแล้ว” 

ระยะวัดใจมักอยู่ในช่วง 1 เดือนแรกของโครงการ บางคนทนเรียนไม่ไหว อยากได้สินเชื่อไวๆ ล้มเลิกไปก็มี ชวนให้ท้อใจอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ดิวได้เรียนรู้คือเราไม่อาจเปลี่ยนใจทุกคน

“เมื่อก่อนเราพยายามทำให้ทุกคนไปพร้อมกันหมด แต่มันยากมาก สิ่งที่เราทำได้คือดูแลคนที่เขาเห็นประโยชน์ก่อน พอคนเริ่มเห็นเพื่อนดีขึ้นเรื่อยๆ บทสนทนาในองค์กรจะเปลี่ยนไป คนจะค่อยๆ หันมาสนใจเอง”

ใครที่ผ่านพ้นเดือนแรกไปได้มักเริ่มปรับตัวกับนิสัยใหม่ อยู่จนบรรลุภารกิจพิชิตหมื่นเป็นอย่างน้อย และได้ใช้ชีวิตใหม่ ไม่ใช่แค่ตัวเขาเอง แต่เป็นทั้งองค์กร

“ถ้าคนรอบข้างพูดถึงแต่เรื่องหนี้ ถามแค่ว่ากู้ที่ไหนดี จิตใจคนจะต้องเข้มแข็งมากถึงจะแก้หนี้ตัวเองสำเร็จ แต่ถ้าทุกคนถามกันว่าเก็บออมเงินยัง ทำภารกิจยัง เราจะค่อยๆ เปลี่ยนไปด้วย เหมือนเราอาจไม่เคยสนใจเรื่อง Bitcoin เลย แต่พอทุกคนพูดถึง คนก็เริ่มสนใจขึ้นมา” 

นายจ้างจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระสำคัญขององค์กร เช่น กำหนดเป็นหนึ่งใน KPI การพัฒนาตัวเองของพนักงาน

หากมีองค์กรเข้าร่วมขบวนตามแนวคิดนี้เยอะๆ บทสนทนาภายในประเทศนี้คงจะเปลี่ยนตามไปด้วย

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน
06

ไม่สูญเสียตัวตน

“เราตั้งคำถามกับตัวเองเยอะมาก ทำอะไรอยู่ มาถูกทางหรือเปล่า โดนถามว่าบริษัทจะไปรอดไหม ทำไมไม่ยอมปล่อยสินเชื่ออย่างเดียวไปเลย” ดิวเล่าความสับสนในใจที่เคยมี ชีวิตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไม่เคยง่าย ต้องเผชิญความท้าทายอยู่ตลอดเวลา

ในทางปฏิบัติ หากคำนึงถึงการเติบโตทางธุรกิจ สตาร์ทอัพด้านการเงิน (FinTech) ที่ให้กู้ยืมเงินควรปล่อยให้คนกู้ยืมเงินแบบสะดวกรวดเร็วที่สุด เอาใจลูกค้า เข้าถึงคนวงกว้าง เกิดการหมุนเงินอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้มากกว่า

แต่นั่นคือสิ่งที่ Noburo เลือกจะไม่ทำ

“เรากลับมาถามตัวเองว่าจุดยืนของเราคืออะไร เราอยากสูญเสียตัวตนแล้วกลายเป็น Just Another Platform ในการปล่อยสินเชื่อหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เราไม่อยากเป็นแบบนั้น ความดื้อของเราทำให้เกิดการหาทางทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ Purpose ที่เราอยากให้เกิดขึ้นในสังคม”

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน

ระหว่างทาง Noburo พบหลายสิ่งต้องปรับแก้ เช่น วงเงินสินเชื่อน้อยเกินไปจนคนไม่สนใจ เพราะต้องลงแรงมากเกินกว่ารางวัลที่จะได้รับ ทำให้ต้องเพิ่มวงเงินสินเชื่อแต่ละรอบภารกิจ รับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดีขึ้นด้วย 

หรือเมื่อทำไปแล้วเจอความต้องการใหม่ๆ เช่น กลุ่มวัยใกล้เกษียณ Noburo ก็มีการออกแบบเวิร์กช็อปออฟไลน์ให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มต่างๆ ด้วย

รวมถึงตอนนี้มีบริการสินเชื่อฉุกเฉินให้คนสมัครผ่านแอปพลิเคชัน อนุมัติรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดการกู้นอกระบบ

แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอย่างไร แก่นสำคัญจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

Noburo สตาร์ทอัพช่วยวางแผนปลดหนี้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชีวิตไร้หนี้เป็นไปได้สำหรับทุกคน
07

หนทางแห่งความเชื่อใจ

ปัจจุบัน Noburo มีพนักงานหลักสิบต้นๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพันธกิจเดียวกัน

จากที่เคยเป็นไอเดียล่องลอยกลางอากาศ วันนี้ Noburo กลายเป็นความจริงที่ผู้อื่นมองเห็นคุณค่า มีคนที่ปลดหนี้สำเร็จและเก็บออมได้จริง

“เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าเรากำลังพยายามจะทำอะไร เช่น พนักงานจากบริษัทเก่า ทุกคนคุยกันเรื่องหนี้ แต่พอเขาเริ่มเห็นและซึมซับสิ่งที่ Noburo ทำ ทัศนคติเขาเปลี่ยนไป เวลาบรรยายหรือ Pitch ที่ไหน มีคนมาคุยและบอกว่าเชื่อในสิ่งที่เราทำ พาเราไปเจอคนอื่นต่อ พยายามช่วยผลักดัน มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคาดถึงมาก่อนเลย” 

การเดินทางช่วง 3 ปีแรกของ Noburo ยังถือเป็นการเรียนรู้สำคัญของชีวิตดิวด้วย

“ตอนตั้งบริษัทใหม่ๆ เราคิดในใจว่า ฉันอยากสร้างบริษัทหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ ทีมได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้สร้างแค่อิมแพ็ค แต่ทำให้คนหลุดจากหนี้และเปลี่ยนให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ เราอยากสร้างองค์กรแบบนั้น 

“ตอนนี้ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และทำอีกมาก แต่ค่อยๆ เห็นภาพนั้นขึ้นมาทีละนิด” ดิวเล่า พร้อมบอกว่าตอนนี้คุณพ่อเชื่อมั่นในวิถีนี้ของเธอแล้ว รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) และบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ นำแพลตฟอร์มของ Noburo ไปใช้ให้สินเชื่อสวัสดิการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

หมุดหมายสำคัญต่อไปของ FinTech รายนี้คือใน พ.ศ. 2568 Noburo จะช่วยให้คนไทยอย่างน้อย 1 แสนคนมีเงินเก็บหลักแสนสำเร็จ โดยวางแผนจะสเกลให้เข้าถึงคนจำนวนมากผ่านการร่วมมือกับที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor หรือ FA) ที่แนวคิดตรงกัน และไม่จำกัดอยู่เพียงพนักงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น แต่รวมถึงคนกลุ่มอื่นที่อยู่นอกระบบเงินเดือนหรือขาดโอกาสการเข้าถึงความรู้ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้พิการและวิสาหกิจชุมชน ด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ให้น้อยลงได้บ้าง

ความหมายที่ 2 ของ Noburo ตีความได้จากภาษาญี่ปุ่น

Nobu (信) แปลว่า ความเชื่อใจ ส่วน Ro (路) แปลว่า หนทาง

รวมกันเป็นหนทางแห่งความเชื่อใจ

สุดท้าย ดิวขอบคุณทุกโอกาสและความเชื่อมั่นที่ผู้คนมอบให้ในชีวิต ที่ทำให้ก้าวมาได้เรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ 

Noburo อาจถือเป็นการตอบแทนนั้น ถึงตรงนี้ เราเชื่ออย่างยิ่งว่า Noburo จะเป็นหนทางแห่งความเชื่อใจที่เปิดขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ก้าวเดินต่อไปในชีวิตอย่างมั่นคง ครบถ้วนด้วยทุนและปัญญา

ดิว-ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล

ติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลได้ที่

เว็บไซต์ : Noburo.co

Facebook : Noburo Platform

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล