ไม่แน่ใจว่าควรนับ ‘ห้องน้ำสาธารณะ’ เป็นพื้นที่สาธารณะไหม แต่โดยคำนิยาม มันคือ สาธารณูปการ (Public Facilities) ซึ่งเมืองทุกเมืองจำเป็นต้องมีการบริการสาธารณะที่สะดวกและเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการสร้างเมืองให้น่าอยู่ไม่แพ้การสร้าง Public Space อื่นๆ เลย

ทุกคนคงเคยปวดท้องเข้าห้องน้ำระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะเดินๆ อยู่ตามท้องถนน ตอนนั่งรถสาธารณะ หรือกำลังขับรถ แวบแรกที่เราจะนึกถึง คงไม่พ้นห้องน้ำตามห้างสรรพสินค้าหรือปั๊มน้ำมัน

และถ้าเราจัดว่าห้องน้ำหรือการปลดทุกข์ เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิต การที่ห้องน้ำส่วนใหญ่อยู่ในที่เหล่านี้นั้น ก็อาจชี้ให้เห็นว่าในบริบทของสังคมไทย ให้ความสำคัญกับพื้นที่ Commercial Space และการสัญจรโดยรถยนต์มากกว่า ทำให้พื้นที่ในเมืองยังขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างห้องน้ำ คอลัมน์ Public Space ครั้งนี้ เลยอยากยกตัวอย่างห้องน้ำสาธาณะที่ไม่ได้เจ๋งแค่ดีไซน์ แต่ยังคิดเพื่อเมืองอย่างรอบด้านมาเล่าให้ฟัง 

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น

ห้องน้ำนั้น สำคัญไฉน

จริงๆ แล้ว ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวันส้วมโลกของ World Toilet Organization (WTO) เมื่อ พ.ศ. 2549 และกรมอนามัยก็มีแผนพัฒนาห้องน้ำสาธารณะโดยเน้น 3 เรื่อง คือ ความสะอาด มีจำนวนเพียงพอ และปลอดภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาห้องน้ำสาธารณะไทยระยะที่ 4 (พ.ศ. 2560 – 2564) นั่นคือ ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น และพัฒนาการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน โดยนำสิ่งปฏิกูลมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล 

และตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ก็มีการพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องใน 12 ที่ ได้แก่ ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานีขนส่ง และห้องน้ำริมทาง นั่นแปลว่าเราให้ความสำคัญกับส้วมมาแต่ไหนแต่ไร

แต่ใน พ.ศ. 2561 ประเมินว่ามีห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร พร้อมใช้งานเพียงร้อยละ 60 ซึ่งถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ในต่างประเทศนั้น ยังถือว่ายังไม่มากพอ และการมีห้องน้ำสาธารณะเดี่ยวๆ โดยไม่ไปผูกติดกับสถานที่ที่ว่ามานั้นน้อยมากจนเราแทบนึกไม่ออก 

ส้วมโลก ไปถึงไหนแล้ว

เพื่อต่อสู้กับปัญหาห้องน้ำไม่พอใช้ ในเมืองใหญ่ของหลายประเทศมีการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะด้วยคอนเซปต์ใหม่ๆ อย่างเช่นที่นอร์เวย์ มาริต จัสติน เฮาเจน (Marit Justine Haugen) และ แดน โซฮาร์ (Dan Zohar) สร้างห้องสุขาในเมือง Uredd ระหว่างเส้นทางชมธรรมชาติ Helgelandskysten ที่สวยสลบจนกลายเป็นจุดชมวิวไปด้วย

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น
ภาพ : Lars Grimsby/Statensvegvesen

โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น หาห้องน้ำสาธารณะได้ง่ายมาก แทบจะมีทุกมุมถนน อย่างล่าสุด ชิเงรุ บัน (Shigeru Ban) ใช้กระจกสีที่ปรับใส-ทึบได้เอง มาแก้ปัญหาส้วมที่มืดทึบ อันตราย ซึ่งเหล่านี้คือวิธีใช้การออกแบบเป็นกลยุทธ์เรียกร้องให้คนหันมาสนใจความสำคัญของห้องน้ำสาธารณะและรักษาความสะอาดไปในตัว

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น
ภาพ : The Nippon Foundation

นอกจากนี้ การสำรวจโดย University College London ยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนและการเข้าถึงห้องน้ำสาธารณะเป็นตัวชี้วัดจำนวนคนใช้ขนส่งสาธารณะได้ โดยถ้าพูดกันตามหลักของการออกแบบผังเมืองแบบ New Urbanism ที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ ค.ศ. 1990 ในหลายประเทศตะวันตก การวางผังเมืองให้มีห้องน้ำสาธารณะที่น่าใช้และเข้าถึงได้ง่ายนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประชากรใช้เวลาในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และนำไปสู่การสร้างเมืองที่รองรับกิจกรรมอันหลากหลายและเกิดพื้นที่สาธารณะเพิ่ม

Yes!, NO-BOUNDARY Toilet

หนึ่งในโปรเจกต์ห้องน้ำสาธารณะที่เล่าอยากเล่าถึงยาวๆ อยู่ในประเทศทวีปเอเชีย แถมยังอยู่ในประเทศจีน ที่ที่ใครๆ ก็เคยยี้เรื่องส้วม

ตั้งแต่ ค.ศ. 2017 จีนได้มีโครงการปฏิวัติห้องน้ำให้มีมาตรฐานอย่างขะมักเขม้น คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นราว 64,000 แห่งให้เพียงพอต่อการใช้งาน โดยหลักๆ นอกจากเรื่องความสะอาดแล้ว ยังพยายามเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

NO-BOUNDARY Toilet ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมทางทิศเหนือของเมืองเซินเจิ้น ในเขตรอยต่อระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกับพื้นที่อยู่อาศัยบนถนน Beihuan และ Yiyuan

ส้วมสาธารณะแห่งนี้เป็นโปรเจกต์ของส่วนพัฒนาเมืองเขต Nanshan ออกแบบโดยบริษัท ZHUBO-AAO ดังนั้น แนวทางการออกแบบจึงพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างไร้ขอบเขตไปด้วย

การออกแบบอย่างไร้ขอบเขตแรก เป็นเรื่องการดีไซน์ที่ตั้งใจให้อยู่ร่วมกับต้นไม้เดิมในพื้นที่ประมาน 30 ตารางเมตร และจะไม่มีการรื้อถอดหรือตัดต้นไม้เลยสักต้น จึงใช้ต้นไม้เหล่านั้นมาแบ่งฟังก์ชันพื้นที่การใช้งาน หากมองจากมุมสูงจะเห็นความคดโค้ง หลบต้นไม้แต่ละต้นได้อย่างเจ๋ง และไม่มีการสร้างกำแพงสูงกั้น ลดปัญหาเรื่องความปลอดภัย ใช้แนวต้นไม้เดิมและผนังเตี้ยกั้นสัดส่วน

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น

การไร้ขอบเขตอย่างที่ 2 คือเปิดรับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขต โดยเน้นไปยังการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้กับการมองเห็นธรรมชาติ การวางแปลนจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านในซึ่งเป็นห้องน้ำแบบปิด หากแหงนหน้าขึ้นไปมองจะเป็นกระจกใส ข้อดีแรกช่วยเรื่องการเปิดรับแสง ลดใช้พลังงาน ส่วนอีกอย่างคือได้ใกล้ชิดธรรมชาติขณะปลดทุกข์ ส่วนด้านนอกเป็นโถฉี่กลางแจ้ง

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น
NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น

และการไร้ขอบเขตอย่างที่ 3 เป็นเรื่องของวัสดุที่ใช้กระจกแทนผนัง (8K Mirror Stainless Steel) เพื่อสะท้อนต้นไม้โดยรอบ และซ่อนตัวสถาปัตยกรรมไว้อย่างแนบเนียน มองเผินๆ ราวกับห้องน้ำนี้เป็นส่วนหนึ่งของสวน กลมกลืน ไม่เป็นมลพิษทางสายตา

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น

ออกแบบให้มีความเท่าเทียม

นอกจากการออกแบบให้ร่วมกับธรรมชาติเดิมแล้ว เขายังคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันของคนด้วย
NO-BOUNDARY Toilet ออกแบบโดยหลัก Universal Design เป็นห้องน้ำแบบไม่แบ่งเพศ ใช้งานได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้พิการ ที่น่ารักคือการดีไซน์ห้องผนังเตี้ยแยกสำหรับเด็กชาย ซึ่งเป็นการช่วยลดการกดน้ำที่มากเกินไป และช่วยให้เด็กเข้าห้องน้ำเองได้ ไม่ต้องทนเขินอายหากต้องเข้าไปพร้อมกับผู้ปกครอง และผู้ปกครองก็ยังมองเห็นลูกอยู่ในสายตาระหว่างรออยู่ในสวน เช่นเดียวกับห้องน้ำสำหรับเด็กหญิงที่อยู่ในโซนส้วม

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น
NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น

สุขาแห่งนี้ยังเป็น Smart Toilet มีการติดตั้ง Sensor IOT ต่างๆ สำหรับตรวจจับและแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ มีหน้าจอรายงานค่าคุณภาพอากาศและสภาพอากาศ และผู้มาใช้สแกน QR Code ไปแสดงความพึงพอใจในการใช้ห้องน้ำและพื้นที่สวนโดยรอบได้ด้วย

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น

หลังสร้างเสร็จใน ค.ศ. 2018 NO-BOUNDARY Toilet ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้มาตลอด และมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อวัน

การสร้างห้องน้ำสาธารณะ นอกจากเติมเต็มบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public Service) สำหรับการอยู่อาศัยในเมืองแล้ว ยังช่วยให้เมืองน่าอยู่จากการการสร้าง Public Space แบบใหม่ เกิดเป็นสวนหย่อมสาธารณะ (Pocket Park) ควบคู่กันไป 

ที่สำคัญ เป็น Soft Power ที่ช่วยปลูกฝังเรื่องมารยาทการใช้ห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะและการรักษาความสะอาดทั้งสถานที่ไปจนถึงจิตใจ สมกับเป็นที่ปลดทุกข์และสุขาดังชื่อ

NO-BOUNDARY Toilet เมืองจีนสร้างห้องน้ำสาธารณะในสวน โดยไม่ตัดต้นไม้สักต้น
ภาพ : Chao Zhang, John Siu, Junda Li, Yaomin Hu

ข้อมูลอ้างอิง

www.mooool.com/

www.archdaily.com/

www.bangkokbiznews.com/news/detail/916983

Greed, Clara. (2006). The role of the public toilet: Pathogen transmitter or health facilitator?. Building Services Engineering Research & Technology – BUILD SERV ENG RES TECHNOL. 27. 127-139. 10.1191/0143624406bt151oa. 

Washington, Kate. (2014). Go Before You Go: How Public Toilets Impact Public Transit Usage. McNair Scholars Online Journal. 8. 46-72. 10.15760/mcnair.2014.46. 

Bichard, J.-A., Hanson, J., & Greed, C. (2013). Access to the built environment/barriers, chains and missing links. University College London, London, England.

Writers

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Avatar

ปัณณ์ เสริมชัยวงศ์

โตมาในเมืองใหญ่ รักในการเดิน คอยมองหาเรื่องราวใหม่ๆ ให้เรียนรู้ในทุกวัน