“นี่คืองานดีไซน์และคราฟต์ซึ่งสง่างามและใช้งานได้ดีที่สุดที่โลกนี้เคยมีมา ว่าซั่น!” – ลุทวิก มีส แวนเดอโร (Ludwig Mies van der Rohe) สถาปนิกระดับตำนาน กล่าวไว้ประมาณนี้

หากวันนี้เราหยิบเอาเหล่า Cafe Hopper (ผู้ชอบตระเวนหาร้านคาเฟ่ลับ พร้อมกับสะพายกล้องขนาดเขื่องไปถ่ายรูปตามมุมต่างๆ ในร้านกาแฟ) ใส่ไทม์แมชชีน ย้อนไปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แล้วให้เขาถ่ายรูปร้านกาแฟ คาเฟ่โบราณ ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า ในรูปที่พวกเขาถ่ายกลับมาอวดเพื่อนๆ โซเชียลแคมของเขา อย่างน้อย 9 ใน 10 คาเฟ่ ต้องมีเก้าอี้ตัวนี้ติดอยู่ในรูปทุกมุมอย่างแน่นอน

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
No.14 Chair
ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
พ่อทุกเก้าอี้

เพียงแค่ ค.ศ. 1930 เก้าอี้ตัวนี้ก็ถูกขนานนามว่าเป็น เก้าอี้แห่งเก้าอี้ (The Chair of Chair) เก้าอี้ที่ขายดีที่สุดในโลก พ่อของเก้าอี้บิสโทรทุกสถาบัน พ่อของเก้าอี้โกปี๊ พ่อของเก้าอี้โชคโก เก้าอี้ตัวแรกในโลกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และเป็นเจ้าของมงกุฎสายสะพายอื่นๆ อีกมากมายในวงการเก้าอี้

คอลัมน์วัตถุปลายตาตอนนี้จะพาท่านย้อนไปคุ้ยประวัติของเก้าอี้ที่ได้สัมผัสแก้มก้นของมนุษย์โลกมามากมาย อย่าง No.14 Chair และคนที่คุณหลายๆ คนไม่รู้ว่าใครคือผู้ให้กำเนิดมัน อย่าง ไมเคิล โทเนต (Michael Thonet)

ติดกาว

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
ไมเคิล โทเนตและลูกชายทั้งห้า

ไมเคิล โทเนต ชาวเยอรมัน-ออสเตรีย เริ่มต้นอาชีพช่างไม้อิสระของตัวเองด้วยการหมกมุ่นกับ ‘กาว’ ถึงขั้นซื้อโรงงานผลิตกาวชื่อ Michelsmühle ผูู้ซึ่งต้องส่งกาวที่ใช้ในกระบวนการซ้อนผิวไม้ติดเข้าด้วยกัน และนายโทเนตก็พยายามวิ่งเต้นจดสิทธิบัตรของการดัดไม้และซ้อนกาวให้เป็นลิขสิทธิ์ของตัวเองแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ ค.ศ. 1837 จนถึง ค.ศ. 1841 แต่ก็ไม่มีประเทศไหนยอมมอบให้เขา

จนกระทั่ง ค.ศ. 1841 ที่เขาค้นพบเทคนิคการดัดไม้ให้เป็นรูปโค้งมนและมีน้ำหนักเบาด้วยการใช้ไอความร้อน ซึ่งเป็นการค้นพบที่เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ไปตลอดกาล เพราะช่างจะไม่ต้องกลึง แกะสลัก เสียเนื้อไม้ เหมือนรูปแบบการผลิตในวันวาน และรวมถึงทำความโค้งมนที่รองรับสรีระของผู้ใช้งานได้มากขึ้นอีกด้วย

จากเจ้าของโรงงานกาว ก็กลายสภาพมาเป็นเทพแห่งการดัดไม้ด้วยไอความร้อน ผู้เปลี่ยนแท่งไม้ทื่อๆ ตรงๆ ให้กลายเป็นงานศิลปะที่นั่งได้ และสร้างแรงบันดาลใจรวมถึงบทเรียนมากมายให้นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์จนถึงยุคปัจจุบัน

เข้าวัง

เจ้าชาย Klemens Welzen von Metternich (ใช่ ทุกชื่อในบทความนี้จะอ่านยากเยี่ยงนี่แล) มีความหลงใหลในสิ่งประดิษฐ์ขอโทเนต ถึงขั้นเชิญเขาไปนำเสนองานเฟอร์นิเจอร์ในวัง

แต่การเป็นคนคิดค้นสิ่งใหม่ในโลกไม่ได้หมายความว่าจะร่ำรวยเสมอไป ใช่ นั่นคือสัจธรรมของโลกใบนี้ที่โทเนตได้เรียนรู้ เนื่องจากบริษัท Boppard ของเขามีสถานะการเงินที่ลุ่มๆ ดอนๆ จนถึงขั้นต้องขายบริษัทไป และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เวียนนาแทน

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
โรงงานของโทเนต

ความฮึดสู้ของโทเนตเริ่มขึ้นอีกครั้ง จากการร่วมทำงานกับลูกชายทั้งสี่ของเขา ภายใต้ชื่อบริษัท Gebrüder Thonet Vienna ใน ค.ศ. 1850 นี้เอง ที่เขาเริ่มคิดเก้าอี้รุ่นแรก ซึ่งมีชื่อทื่อๆ ไม่ซับซ้อนว่า เก้าอี้หมายเลข 1 (No.1 Chair) หลังจากนั้น เก้าอี้ตัวนี้ก็ตระเวนกวาดรางวัล มงลงไปทั่วยุโรป และนั่นหมายถึงสถานะของบริษัทที่มั่นคงขึ้นของเขาและลูกชายทั้งสี่ด้วยเช่นกัน

มงลง

ถ้าหาก Adele ขี้เกียจคิดชื่ออัลบั้มตัวเองฉันใด ไมเคิล โทเนต ก็ขี้เกียจตั้งชื่อเก้าอี้ที่ตัวเองคลอดออกมาฉันนั้น เพราะหลายชิ้นที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นแค่ตัวเลข เรียงลำดับไปมา แบบที่ไม่ต้องคิดชื่อซับซ้อน ดูวันตกฟาก สร้างพรรณนาโวหารใดๆ

ถึงกระนั้น เลขศาสตร์ของโทเนตดำเนินมาถึงจุดพีกที่สุด เมื่อเก้าอี้ของเขาดำเนินมาถึงตัวที่ 14

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
องค์ประกอบที่น้อยแต่มาก

ไม้ 6 ชิ้น วงกลม 2 ชิ้น แท่ง 2 แท่ง และส่วนโค้ง 1 ชิ้น ยึดกันไว้ด้วยสกรู 10 ตัว และน๊อต 2 ตัว

นี่คือส่วนประกอบที่แสนจะเรียบง่ายของชิ้นส่วนของการทำเก้าอี้หมายเลข 14 ของโทเนต 

เก้าอี้หมายเลข 14 คือผลของการทดลองปีแล้วปีเล่า จากความพยายามของนักดัดไม้และนักสร้างเก้าอี้อย่างโทเนตที่จะสร้างเก้าอี้ที่สวย เบา สง่างาม และราคาไม่แพง ถึงขึ้นตั้งโจทย์ราคาไว้ที่ไวน์ดีๆ หนึ่งขวด แน่นอนว่าในความพยายามของโทเนตนั้น คนอื่นๆ ก็พยายามและล้มเหลวมากมายเช่นเดียวกับเขา

จนกระทั่ง ค.ศ. 1859 ที่เขาปล่อยเก้าอี้หมายเลข 14 ออกสู่ท้องตลาดในราคาไม่แพง ไม่แพงถึงขนาดผู้รากมากดีก็อยากได้ อาจารย์อนุบาลก็ซื้อได้สบายกระเป๋า และเมื่อผ่านไปจนถึง ค.ศ. 1930 เก้าอี้ตัวนี้ก็ทำยอดขายไปถึง 50 ล้านชิ้น! (ใช่ 50 ล้านชิ้น)

มันคือหลักฐานความสำเร็จของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่พิสูจน์ว่า การผลิตแบบ Mass Production ช่วยทำให้ข้าวของที่ครั้งหนึ่งเคยแพง เอื้อมไม่ถึง อยู่ในความครอบครองของไพร่ฟ้าตาดำๆ ธรรมดาๆ ที่รักในงานออกแบบที่ดี

โทเนตพิสูจน์ให้เห็นว่า ของที่ผลิตจากเทคโนโลยีและเครื่องจักรก็เซ็กซี่ได้ ซึ่งมันเซ็กซี่ตรงที่เข้าถึงทุกคนได้นี่แหละ

ก่อนกาล

หนึ่งในอีกหลายเหตุผลของความสำเร็จของเก้าอี้หมายเลข 14 นอกจากหน้าตาที่สะสวย คลาสสิก ไร้กาลเวลาของมันแล้ว ยังเป็นสมอง สมองของโทเนต ผู้คิดให้ชิ้นส่วนทั้งหลายเรียบง่าย มีจำนวนไม่มาก ประกอบได้ด้วยฝีมือช่างที่ไม่จำเป็นต้องเก่งระดับเทพ และในระบบการซื้อขายที่มีจำนวนมากนั้น โทเนตยังคิดค้นให้มีการแยกชิ้นส่วนแบนๆ เพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่งอีกด้วย

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
การขนส่งก่อนจะมี IKEA

ใช่ มันเหมือนระบบ Flat Pack ทุกวันนี้นั่นแล หลายคนเชื่อว่า เก้าอี้หมายเลข 14 ที่ถอดประกอบให้แบนได้ และประกอบขึ้นเองได้โดยไม่ซับซ้อนนั้น เป็นแม่แบบให้ระบบ Flat Pack อย่าง IKEA เช่นเดียวกัน

มันดูเหมือนงานออกแบบที่ใหม่และไม่มีวันเชย เพราะยังไม่มีใครทำได้ดีกว่า” แจสเปอร์ มอร์ริสัน (Jasper Morrison) นักออกแบบหัวก้าวหน้าชมเก้าอี้รุ่นนี้ไว้ เช่นเดียวกับนักสร้างสรรค์ระดับตำนานมากมาย

สภากาแฟ

หากวันนี้คุณเป็น Cafe Hopper ที่เดินสำรวจร้านกาแฟโบราณ สภากาแฟในย่านเมืองเก่า แถวเจริญกรุง เจริญนคร คุณก็จะพบเก้าอี้ไม้ดัดหน้าตาคุ้นๆ คล้ายเก้าอี้ในบทความนี้ แต่ภายใต้ชื่อเก้าอี้เชคโกบ้าง เก้าอี้โกปี๊บ้าง เก้าอี้ร้านโจ๊ก เก้าอี้สภากาแฟบ้าง – จงรู้ไว้ว่า ทุกตัวล้วนอยู่ภายใต้เงาของโทเนตทั้งสิ้น

ในฐานะคนที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ โทเนตเริ่มคำนึงถึงการสร้างระบบนิเวศของการใช้ไม้ และวัตถุดิบจากธรรมชาติ ถึงขั้นปลูกป่า เพาะพันธุ์ไม้ของตัวเองไว้ในเมือง Koritschan เพื่อกำหนดปริมาณและควบคุมการใช้ไม้ และ Life Cycle ของการตัดไม้ของตัวเอง หรือที่สมัยนี้เราเรียกว่า Carbon Footprint เมือง Koritschan กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน หรือเชโกสโลวาเกียในอดีต คำว่าเก้าอี้เชคโกตามร้านโกปี๊ จึงมีเงาของโทเนตแผ่คลุมอยู่ไม่มากก็น้อย

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
เก้าอี้รุ่นต่างๆ ของโทเนต 

ใน ค.ศ. 1869 สิทธิบัตรของการดัดไม้โค้งด้วยความร้อนของโทเนตหมดอายุการคุ้มครอง แน่นอนว่ามีคู่แข่งจำนวนมากมายที่รอก๊อปปี้และใช้เทคนิคนี้สร้างเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่นเดียวกัน บางเจ้าทำได้เร็วกว่า ถูกกว่า เช่น บริษัท Kohn ซึ่งใช้ป่าในประเทศเชโกสโลวาเกียเช่นเดียวกัน ทำให้ภาษาของเก้าอี้ไม้ดัดที่โทเนตเป็นผู้คิดค้น เริ่มมีความเพี้ยน หลากหลาย บ้างก็มองว่าเจือจาง บ้างก็มองว่าเข้มข้นขึ้น แต่ท้ายที่สุดใน ค.ศ. 1893 มีบริษัทในยุโรป ถึง 50 บริษัทที่ใช้เทคนิคการดัดไม้แบบโทเนตสร้างสรรค์สินค้าประเภทเดียวกัน

หากวันนี้คุณเดินไปบางโพธิ์ แหล่งค้าไม้และเก้าอี้ไม้แหล่งใหญ่ของประเทศเรา แน่นอนว่าคุณจะเจอสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายเก้าอี้หมายเลข 14 นี้ไม่มากก็น้อย (แต่ส่วนมากจะมาก) วางอยู่เต็มสองข้างทาง

บันดาลใจ

ถึงวันนี้ ดูราวกับว่าสมบัติทางความคิดของโทเนตจะเป็นสาธารณสมบัติของโลกแห่งการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไปแล้ว แต่ผู้เขียนเองก็ยังค้นพบงานชิ้นใหม่ๆ ในโลกงานออกแบบ ศิลปะ สถาปัตยกรรม ที่หยิบเอาเจ้าเก้าอี้หมายเลข 14 มาปัดฝุ่นใหม่ รื้อ ค้น เพื่อแสดงความเคารพต่อบิดาแห่งเก้าอี้ท่านนี้

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
เก้าอี้ที่ถูกเผาโดย Maarten Baas

เช่น Maarten Baas นักออกแบบชาวดัตช์ เอาเก้าอี้โทเนตตัวแท้ๆ มาเผาให้เกือบจะกลายเป็นถ่านสีดำ แล้วเคลือบเรซิ่นเก็บผิวไม้และความแข็งแรงไว้ หากเป็นนักออกแบบชาวไทยก็อาจจะมีโดนทัวร์ลงได้ เพราะดูเหมือนเป็นการทำลาย ในขณะที่เจ้า Maarten Baas มองว่าเป็นการย้อมสีไม้ด้วยไฟชนิดหนึ่งต่างหากล่ะ

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
SANAA Chair

สถาปนิกญี่ปุ่นหัวใหม่อย่าง SANAA ก็ใช้เส้นสายคร่าวๆ หวัดๆ ของความโค้งมนโทเนตในการออกแบบเก้าอี้ ใน The New Museum แต่ทำด้วยวัสดุที่เป็นโลหะแทน ในขณะที่ MUJI ก็ร่วมมือกับบริษัทโทเนต ออกแบบเก้าอี้คลาสสิกที่ราคาไม่แพง โดยใช้โมเดลระดับตำนานอย่างเก้าอี้หมายเลข 14 เป็นสารตั้งต้นมาแล้ว

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
MUJI x Thonet

Tomas Alonso นักออกแบบชาวสเปนถึงขั้นเอาชื่อเก้าอี้หมายเลข 14 มาหาร 2 แล้วตั้งชื่อ เก้าอี้หมายเลข 7 โดยเปลี่ยนแปลงเส้นสายการดัดไม้ให้มีความพิลึกกึกกือขึ้น แต่ยังคงทำมาจากเทคนิคดั้งเดิมของโทเนต

IKEA เจ้าแห่งการทำให้เก้าอี้มีราคาถูกและเข้าไปอยู่ได้ในทุกบ้านหยิบเก้าอี้หมายเลข 14 มาเปลี่ยนปก เพิ่มเพลงฉลองล้านตลับ แล้วตั้งชื่อมันว่า Olga และ Bjuran ถ้าใครอ่านบทความนี้มาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว มองปราดเดียวก็คงจะสังเกตเห็นอิทธิพลของ Thonet No.14 Chairได้อย่างไม่ยากเย็น

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
Olga

ตัวโปรดของผู้เขียนในการรื้อถอนและแสดงความเคารพกับความเป็นตำนานของเก้าอี้หมายเลข 14 น่าจะได้แก่ รุ่น Post Mundus ที่ มาติโน แกมเพอร์ (Martino Gamper) นักออกแบบตัวแสบชาวอิตาเลียน ได้ทำร่วมกันไว้กับบริษัทโทเนตใน ค.ศ. 2012 มันคือการเอาชิ้นส่วนของโทเนตมากลับหัวกลับหาง จากสิ่งที่เคยเป็นพนักก็กลายเป็นขารองรับน้ำหนัก สะท้อนกลับหัวกลับหาง กลับซ้ายกลับขวา Echo กันไปมา แต่ยังคงไว้ซึ่งเทคนิค เส้นสาย และจิตวิญญาณของโทเนตอย่างสมบูรณ์

ช่างไม้ผู้เปลี่ยนโลกเฟอร์นิเจอร์ตลอดกาลด้วย Chair No.14 เก้าอี้ขายดีที่สุดในโลกที่มีทุกคาเฟ่, The Chair of Chair, ไมเคิล โทเนต, Michael Thonet, ประวัติเก้าอี้ Chair No.14
Post Mundus โดย Martino Gamper

ส่วนใครที่เป็นสายเลขศาสตร์เหมือนผู้เขียน แล้วกำลังสงสัยว่าโทเนตได้สร้างเก้าอี้หมายเลข 13 ไว้ก่อนเก้าอี้หมายเลข 14 หรือไม่ หรือโทเนตเลือกที่จะข้ามเลขอัปมงคล (มงคลสำหรับบางคน) แล้วทำหมายเลข 14 เลยหรือไม่-คำตอบคือ ไม่ใช่ เก้าอี้หมายเลข 13 ของโทเนตถูกดัดพนักให้เป็นรูปหัวใจ แต่มันไม่ได้ขายดีเท่า ความเรียบง่ายของหมายเลข 14 เลยแม้แต่น้อย

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ