ใกล้จะถึงวันคริสต์มาสกันแล้วครับ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการหาโบสถ์คริสต์งามๆ ชม เพราะจะเป็นช่วงที่โบสถ์คริสต์หลายแห่งมีการประดับประดาอย่างสวยงาม วันนี้เลยจะมานำเสนอสถาปัตยกรรมโบสถ์คริสต์งามๆ สักหลัง แต่โบสถ์คริสต์หลังนี้ไม่ได้อยู่วัดคริสต์แต่อย่างใด กลับมาอยู่ในวัดพุทธครับ ผมเชื่อว่าหลายคนรู้จักวัดนี้ แต่เอาเป็นว่าเราลองมาชมแบบละเอียดๆ กันสักหน่อยเป็นอย่างไรครับ กับ ‘วัดนิเวศธรรมประวัติ’

วัดนิเวศธรรมประวัติตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังพระราชวังบางปะอิน ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี 22 วันจึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2421 และมีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง 4 วัน 4 คืนด้วยกัน

โปรดให้ใช้สถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ฝรั่งโดยมีพระราชดำริว่า “ซึ่งทรงพระราชดำริให้สร้างโดยแบบอย่างเปนของชาวต่างประเทศ ดังนี้ ใช่จะมีพระราชหฤไทยเลื่อมไสนับถือสาสนาอื่นนอกจากพุทธสาสนั้นหามิได้ พระราชดำริห์ในพระราชประสงค์ จะทรงบูชาพระพุทธสาสนาด้วยของแปลกประหลาดแลเพื่อจะให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงชมเล่นเปนของประหลาด ไม่เคยมีในพระอารามอื่น แลเปนของมั่นคงถาวร ภอสมควร เปนพระอารามในหัวเมือง” ตัวสะกดแปลกๆ ที่ไม่เห็นนี้ไม่ใช่ภาษาชาวเน็ตหรือผมตั้งใจพิมพ์ให้ผิดแต่อย่างใด ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในจารึกของวัด ถ้าใครอยากอ่านข้อความฉบับเต็มสามารถไปชมได้ภายในพระอุโบสถของวัดนี้ครับ

สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นที่สุดของวัดแห่งนี้ก็คือพระอุโบสถของวัดที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบโกธิคทั้งภายนอกและภายใน แม้แต่กำแพงแก้วที่ตั้งหลักเสมาก็ยังใช้ลวดลายแบบตะวันตกเลยครับ ซึ่งแน่นอนว่าผู้วางแผนออกแบบวัดแห่งนี้ย่อมไม่ใช่ช่างชาวไทยอย่างแน่นอน แต่เป็นสถาปนิกชาวตะวันตกนาม โยอาคิม กราซี (Joachim Grassi) ลองคิดเล่นๆ นะครับ ถ้าผมไม่บอกว่าที่นี่เป็นวัดพุทธ ใครเห็นอาคารสีเหลืองผนังเจาะช่องหน้าต่างยอดแหลม มีหอระฆังยอดแหลมแบบนี้ ก็ต้องว่าที่นี่คือโบสถ์คริสต์แหงๆ จริงไหมครับ

วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

พอเข้าไปข้างในเราก็ยังเห็นว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าก็ยังเป็นศิลปะแบบตะวันตก ไม่ว่าจะงานตกแต่งภายใน บานประตูหน้าต่างประดับกระจกสลับสี ซุ้มเรือนแก้วประดิษฐานประติมากรรม แต่สิ่งที่ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านในคือ ‘พระพุทธนฤมลธรรโมภาส’ พระพุทธรูปประธานของวัดแห่งนี้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษญวรการ เป็นผู้ออกแบบ ปั้นหุ่น และหล่อ ขึ้นใน พ.ศ. 2420 และถือเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของพระองค์ท่าน พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปแบบกึ่งสมจริงแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระพุทธรูปนี้ไม่มีอุษณีษะและจีวรมีริ้วยับย่นอย่างสมจริง ขนาบสองฝั่งด้วยพระอัครสาวก พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ

วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

แต่ทั้งสององค์ไม่ใช่พระสาวกคู่เดียวที่อยู่ภายในพระอุโบสถหลังนี้ ยังมีพระสาวกอีก 6 องค์อยู่ตามแนวเสาโดยดีไซน์ของพระสาวกทั้ง 8 องค์เหมือนกันเป๊ะ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นใคร ง่ายมากครับ พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังนั้น ทั้งสององค์จะอยู่ขนาบพระพุทธรูปตามตำแหน่งนี้ ส่วนอีก 6 องค์นั้นให้ลองสังเกตด้านล่างของพระสาวก จะมีแผ่นจารึกที่ระบุชื่อ ทิศ และคำนมัสการของพระสาวกนั้นๆ เอาไว้แล้วครับ เพราะฉะนั้น อ่านเอาได้เลย แต่คุณต้องมีสกิลการอ่านอักษรขอมไทยก่อน ถึงจะอ่านคำนมัสการได้นะครับ

วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

ภายในพระอุโบสถยังมีของน่าสนใจอื่นๆ เช่น จารึกที่กล่าวถึงการสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติแห่งนี้ แต่ของสำคัญชิ้นหนึ่งที่อยู่ภายในพระอุโบสถหลังนี้ก็คือพลับพลาทรงฝรั่งขนาดกำลังดี ประดับรูปช้างเผือก 3 เศียร ซึ่งหมายถึงสยามเหนือ สยามกลาง สยามใต้ ซึ่งพบบนตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน พลับพลานี้เป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินครับ

แต่ไฮไลต์ของพระอุโบสถหลังนี้ยังไม่หมดเท่านี้ครับ ถ้าหันหลังกลับไปที่ทางเข้าแล้วแหงนหน้าขึ้นไปจะเห็นกระจกสียอดแหลมอยู่ใต้ Rose Window กระจกสีในกรอบวงกลมที่พบได้ทั่วไปตามโบสถ์คริสต์ทั่วไป ซึ่งกระจกสียอดแหลมนี้ทำเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือภาพเหมือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ครุยอย่างไทยประทับนั่งบนบัลลังก์ ด้านล่างมีจารึกระบุว่า ‘Chulalongcorn Rex Siamensis’ ซึ่งแปลว่า จุฬาลงกรณ์ กษัตริย์สยาม แต่เนื่องจากภาพมีขนาดไม่ได้ใหญ่มากทำให้จารึกยิ่งเล็กลงไปอีก ถ้าใครจะดูของจริงก็คงต้องพึ่งกล้องส่องทางไกลหรือเลนส์ซูมของกล้องถ่ายรูปสักหน่อยครับ ผมเลยขอนำมาให้ชมกันแบบชัดๆ ไปเลย

วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

ทีนี้เราลองออกไปชมข้างนอกบ้าง มีของน่าสนใจอีกหลายอย่างเลย เริ่มกันด้วยสุสานหลวงดิศกุลอนุสรณ์ ที่บรรจุอัฐิของราชสกุล ‘ดิศกุล’ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เจ้าจอมมารดาชุ่มในรัชกาลที่ 5 รวมทั้งหม่อมเจิม ดิศกุล และพระราชโอรส-ธิดาของพระองค์ ที่นี่ยังมีพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระตำหนัก 2 ชั้นสีเหลืองหลังคามุงกระเบื้องประดับลายฉลุซึ่งพระองค์ท่านประทับเมื่อครั้งที่ทรงผนวชและจำพรรษที่วัดแห่งนี้ ระหว่างที่ท่านประทับอยู่ที่นี่ท่านยังได้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือเด็กขึ้นที่วัดแห่งนี้ ทำให้ทรงนิพนธ์ตำรา แบบเรียนเร็วเล่ม 1 เพื่อใช้สอนนักเรียนที่โรงเรียนของวัด ปัจจุบันที่นี่เป็นพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ของพระองค์ท่านอีกด้วย

วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

จริงๆ ภายในวัดแห่งนี้ยังมีของดีให้ดูอีกเยอะแยะเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาแดดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ช่างอิตาลีนำมาจากเมืองมิลานและจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2421 หอพระพุทธรูปศิลาซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะขอมที่อัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หอพระคันธารราษฎร์ หรือแม้แต่หมู่กุฏิของวัดที่มีความหลากหลายและสวยงามแปลกตา เรียกได้ว่าถ้าใครไปชมพระราชวังบางปะอินแล้วมีเวลาเหลือ ที่นี่เป็นอีกที่หนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ แต่ถ้าจะให้ดี ควรชมทั้งสองที่ภายในวันเดียวกันเลยครับผม

วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดนิเวศธรรมประวัติอยู่ใกล้พระราชวังบางปะอิน เราสามารถไปชมวันเดียวกันกับพระราชวังปะอินได้เลยครับ โดยจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถบัสจากหมอชิต หรือรถไฟ ก็ได้ เลือกการเดินทางที่ท่านชอบได้เลย
  2. เนื่องจากวัดนิเวศธรรมประวัติตั้งอยู่บนเกาะ วิธีการเดียวที่จะไปถึงก็ยังต้องนั่งกระเช้าข้ามไป โดยกระเช้าสามารถนั่งได้ประมาณ 6-8 คน ใช้เวลาประมาณนาทีเดียวก็ถึงแล้วครับ
  3. ถ้าใครรู้สึกความเป็นตะวันตกในวัดพุทธที่วัดแห่งนี้ยังแปลกไม่พอ ผมขอแนะนำวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ อีกสักวัดหนึ่ง ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมภายนอกจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี แต่ภายในกลับใช้งานตกแต่งแบบโบสถ์คริสต์มาใช้ การผสมผสานนี้เจอแค่ที่นี่ที่เดียวเช่นกันครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ