เคยต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้หลงรัก และลงมือทำในสิ่งที่คนรอบตัวไม่เห็นด้วยไหม
หมอหวาย-นายแพทย์นิธิวัชร์ แสงเรือง คือคนที่เข้าใจความรู้สึกนั้นดี เขาคือผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่เคยไม่อยากเป็นแพทย์ สนใจด้านประวัติศาสตร์ และอยากเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์
แต่เพราะถูกอิทธิพลของค่านิยมสังคมกำหนดชะตาชีวิต ในช่วงวัยเด็กที่ยึดติดกับการปฏิบัติตามกรอบของสังคม หวายจึงตรากตรำเรียนให้ผ่านพ้นจนเป็นหมอเช่นทุกวันนี้ แม้ใจเคยคิดอยากเลิกเต็มที
โชคดี ระหว่างทางเขาค้นพบคุณค่าของวิชาชีพที่ตอบสนองใจของเขา และเติบโตเป็นแพทย์ที่ประยุกต์ใช้ความสนใจด้านสังคมของตัวเอง ผสมรวมเป็นส่วนหนึ่งของงานได้อย่างดี
นอกจากเลือกเดินทางไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียงที่มีแพทย์เพียง 2 คน หมอหวายคืออดีตหนึ่งในผู้ประสานงานของเครือข่ายอาสา RSA (Referral System for Safe Abortion) ผลักดันบริการยุติการตั้งครรภ์สำหรับสตรีที่ท้องไม่พร้อม ให้กลายเป็นบริการทางการแพทย์ทั่วไป ขับเคลื่อนร่วมกับสหวิชาชีพและ NGO จนเกิดการแก้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้หญิงที่จำเป็นต้องทำแท้ง และตัวเขาเองไล่ลำดับกระบวนการยุติธรรมอันซับซ้อนได้อย่างช่ำชอง
แม้ยังห่างไกลจากการปรับให้การทำแท้งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาเหมือนในอีกหลายประเทศ และค่านิยมของสังคมไทยจะยังมองเป็นการกระทำผิดบาปชั่วร้ายอยู่บ้าง แต่ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตามหลักสิทธิมนุษยชน
คุณอาจไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวนี้ตามความเชื่อที่ยึดถือ หมอหวายเองก็เคยต่อต้านเหมือนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่หลังจากเห็นความไม่สมบูรณ์พร้อมของระบบสาธารณสุข รับฟังผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมหลากหลายวัยและอาชีพ นายแพทย์รุ่นใหม่วัย 34 ปีผู้นี้ เปลี่ยนความคิดและอาสาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ทำงานนอกเหนือหน้าที่ที่กำหนด ท่ามกลางค่านิยมสังคมที่ขัดแย้ง
เพราะอะไร เราขอชวนคุณมาอ่านความคิดนอกห้องตรวจของหมอหวาย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนในสังคม
เคยไม่อยากเป็นหมอ.. แต่เมื่อเป็นแล้ว จะเป็นหมอที่ดี
“ผมเรียนหมอทั้งที่ไม่เคยมีความฝันนี้อยู่ในหัวเลย” หมอหวายเริ่มบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมา “ จริงๆ ชอบด้านสังคม แต่คนนึกภาพไม่ออกว่าจบไปจะทำงานอะไรและอยากให้เรียนหมอ ตอนนั้นเราเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบมาก สังคมคิดว่าอะไรดี เราก็ทำสิ่งนั้น”
เมื่อไม่ใช่ความฝันของตัวเอง ช่วงปีแรกของการเรียนที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นห้วงเวลาแห่งความทุกข์ มีอาการคือไม่ชอบสิ่งที่เรียน และไม่รู้ว่าเรียนไปใช้กับอะไร แต่หวายค้นพบสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ทำให้เขาสู้ต่อ
“กิจกรรมอาสาครับ” เขาตอบช่วงเวลาพิเศษนอกเวลาเรียนที่ช่วยยึดโยงเขากับเพื่อนหลากหลายคณะ ไปออกค่าย ทำงานกับชุมชนที่ต่างจังหวัด โดยระหว่างวัน หวายเรียนที่พญาไท ตกเย็นก็เดินทางไปทำงานอาสาที่โรงพยาบาลศิริราช ซึมซับวัฒนธรรมที่แตกต่าง และมีแรงใจใช้ชีวิตต่อจากประโยชน์ที่ได้สร้าง
เมื่อขึ้นปี 4 หวายเริ่มได้สัมผัสชีวิตคนไข้จริงๆ และนำความรู้ที่เรียนมาใช้งาน เขาจึงเริ่มเห็นคุณค่าและรู้สึกตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น
“สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตผมคือการทำให้ตัวเองมีประโยชน์ ในเมื่อเลือกเป็นหมอแล้ว เราก็อยากจะเป็นหมอที่ดี ดูแลรักษาคนยามเจ็บป่วยได้”
เมื่อเรียนจบ เขาเลือกไปใช้ทุนที่จังหวัดน่าน ในยุคสมัยที่ยังไม่ได้รับความนิยมและสะดวกสบายในการเดินทางเหมือนทุกวันนี้ เพราะศึกษามาก่อนแล้วว่าน่านมีแพทย์ที่เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ เช่น นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านที่ทำงานหนักและดูแลเอาใจใส่บุคลากรอย่างดี เป็นแบบอย่างที่น่าเคารพและปฏิบัติตาม
ต่อมาไม่นาน หวายได้รับการเสนอให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันติสุข เพราะบุคลากรขาดแคลน จึงได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ด้านบริหารตั้งแต่อายุยังน้อย
“ตอนนั้นมีหมออยู่สองคนในโรงพยาบาล ดูแลประชากรหมื่นกว่าคนในสามตำบล สลับกันอยู่เวรคนละสิบห้าวัน ดูแลเฉลี่ยหกสิบถึงแปดสิบคนต่อวัน การออกไปทำงานเชิงรุกก็ยาก เพราะงานตั้งรับก็หนัก” หมอหวายเล่าสถานการณ์ของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่พบเห็นได้ทั่วไป
ไม่ใช่การบ่นว่า แต่ช่วยฉายภาพให้เห็นความเป็นอยู่ของวิชาชีพในบริบทชุมชน พวกเขาต้องทำงานเกินกรอบเวลาที่แพทยสภากำหนดไว้เสมอจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ
ส่วนตัวหมอหวายเอง เขายินดีทำตามอุดมการณ์ที่มีอยู่แล้ว ภายหลัง เขามีโอกาสเข้าทำงานเป็นนักวิจัยที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) พกพาประสบการณ์จาก รพช. และความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมาด้วย แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตนเมื่อเทียบกับการรักษาผู้ป่วย จึงกลับมาปฏิบัติการที่น่านอีกครั้งช่วง COVID-19 เพื่อบริการประชาชนในช่วงเวลาสำคัญ
แพทย์เชื่อมสังคม
การมุ่งมั่นทำงานเป็นแพทย์ชุมชน ทำให้หวายเห็นปัญหาและเรื่องน่าพัฒนาของวงการสาธารณสุขไทยด้วยประสบการณ์ตรง
หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเข้าถึงบริการ ซึ่งเป็นปัญหาของทั้งคนเมืองและชนบท
“ในต่างจังหวัด คนอาจรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ แต่ไม่รู้จะไปให้ถึงสิทธิ์ได้อย่างไร ส่วนคนเมือง หลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ หรือรู้ แต่ไม่รู้ว่าต้องไปใช้ที่ไหน ทำอย่างไรบ้าง เพราะมีหลายผู้เล่นมากจนโกลาหล” หมอหวายเล่ามุมมอง
ในชนบท ปัญหาหลักมักเป็นเรื่องทางภูมิศาสตร์ ชาวบ้านบางคนอยู่กลางผืนป่าหรือบนดอยห่างไกลโรงพยาบาล ถ้าไม่มีรถหรือค่าเดินทาง ก็ต้องหาหนทางนานกว่าจะเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลได้ บางคนก็เสียชีวิตไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือ การทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่ระบบสาธารณสุขมีอยู่ให้เป็นระบบ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ อสม. หรือสุขศาลาที่ผ่านการฝึกหัดให้คนในพื้นที่ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นเป็น ไม่ต้องมาถึงโรงพยาบาล ความเป็นชุมชนทำให้ผู้คนพอรู้จักกันและเคาะประตูตามบ้านต่างๆ ได้ง่ายกว่า สิ่งที่หมอหวายพยายามทำร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ คือการเชื่อมต่อให้เป็นระบบที่เข้มแข็งขึ้น วางแผนจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น และเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นเมือง เพราะน่านเริ่มเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนอยากแวะเวียนมาแล้ว
ในขณะที่สังคมคนเมืองจะเผชิญปัญหาแตกต่างออกไป พวกเขาไม่อาจเข้าถึงบริการเคาะประตูคอนโดได้แบบ อสม. ในต่างจังหวัด ต้องลงทะเบียนระบบต่างๆ มากมายด้วยข้อมูลเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โครงสร้างพื้นฐานที่ยังคล้ายคลึงกับเมื่อหลายสิบปีก่อนอาจพอบริการผู้ป่วยในสภาวะปกติ แต่เมื่อเจอ COVID-19 หลายฝ่ายเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจนและควรร่วมแก้ไขกันต่อไป
อีกหนึ่งเรื่องคือ เมื่อเข้าถึงการบริการแล้ว การรักษาเป็นแบบมุ่งหวังให้ผู้ป่วยหายจากโรค
ฟังดูถูกต้องแล้ว แต่หลายครั้งแพทย์ไม่ได้มีผู้ป่วยในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอยู่ในความคิด อาจเกิดจากระบบที่บีบคั้นให้ต้องรีบรักษาผู้ป่วยจำนวนมากในเวลาอันสั้น หรือตัวบุคคลที่ศึกษาจนเชี่ยวชาญในโรคด้านหนึ่งลึกมากๆ จนเผลอลืมนึกถึงองค์รวมของชีวิตมนุษย์
เพราะการรักษาผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงทำให้เขาหายจากโรคที่เป็นอยู่ทางกายภาพเท่านั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านจิตใจและสังคมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตด้วย
“จริงๆ ไม่แปลก ถ้าเป็น Specialist ด้านใดมาก เราจะลงลึกเรื่อยๆ เป็นปกติ แต่บางทีก็จะทำให้เลนส์เราแคบลง ยิ่งความรู้ด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่หมอรู้มากกว่าคนไข้ และคนไข้ต้องทำตาม ถ้าไม่ระวัง มันจะเป็นการเสริมอัตตาให้พองขึ้น อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่ฟังใคร ไม่เข้าใจความเชื่อมโยงรอบตัว”
หวายยอมรับว่าเขาไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการรักษาที่สุด เลยพยายามใช้มุมมองเรื่องสังคมที่ตัวเองสนใจและทักษะการสร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา นอกจากอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว เขายังออกเดินทางไปเรียนรู้ชีวิตผู้คน เช่น ตระเวนเยี่ยมบ้านผู้ป่วย และไปคุยกับผู้ชุมนุมทางการเมืองฝ่ายต่างๆ
“ถ้าเราถอยออกมาจากเรื่องที่เราเห็นอยู่ทุกวัน เราจะเห็นชีวิตอีกมาก พอพ้นจากเขตโรงพยาบาลแล้ว มีเรื่องที่เราไม่รู้อยู่เต็มไปหมด เช่น เจอเคสต้องชันสูตรศพ เราเรียนมาว่าต้องทำยังไง แต่พอมาทำจริง ต้องคุยกับตำรวจ ญาติ คนนี้คนนั้น วิธีการต่างกันหมด ไปคุยกับนายอำเภอ คนสายมหาดไทย ครู พระ ก็ต้องคุยคนละแบบ”
การมองเห็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพและความพยายามในการรักษาคนไข้แบบองค์รวมนี้ ทำให้หมอหวายมีคุณสมบัติพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจสำคัญต่อไป ซึ่งต้องข้องเกี่ยวกับชีวิตผู้คนจำนวนมากในสังคม
นั่นคือการยุติการตั้งครรภ์
อาสา RSA
แม้จะยังไม่เห็นดีเห็นงามทั้งใจกับการทำแท้ง ช่วง พ.ศ. 2555 หมอหวายมีโอกาสเข้ารับฟังบรรยายการบริการสุขภาพที่ช่วยอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์กำแหง จาตุรจินดา อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้เครื่องมือและวิทยาการใหม่
“ผมเคย Conservative มากและต่อต้านการทำแท้ง เพราะถูกปลูกฝังว่าต้องเป็นคนดี และการทำแท้งเป็นสิ่งที่ไม่ดี” หมอหวายเล่าถึงค่านิยมที่ถูกส่งต่อกันมาในสังคม และทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ห้องตรวจ เจ้าหน้าที่ห้องยา พยาบาล วิสัญญีแพทย์ หลีกเลี่ยงการยุ่งเกี่ยวกับบริการดังกล่าว นอกจากกฎหมายเดิมจะจำกัดกรอบการให้บริการไว้แคบแล้ว สังคมรอบข้างยังรุมประณาม กดดันทางจริยธรรมอีกด้วย
“แต่พอได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนคติจากอาจารย์หลายท่านและฟังชีวิตของผู้หญิง เราเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าเราเป็นเขา คงตัดสินใจแบบนั้นเหมือนกัน และเราไม่ใช่เจ้าของชีวิตใคร ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จะไปตัดสินชีวิตของเขา
“หน้าที่ของเราคือ ช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นในเส้นทางที่เขาเลือก ให้คำแนะนำ ข้อดีข้อเสีย แล้วเขาเป็นคนตัดสินใจเอง”
สาเหตุที่คนมายุติการตั้งครรภ์มีมากมาย อาจเกิดขึ้นเพราะถูกกระทำชำเราหรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการยินยอม ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ และไม่สามารถดูแลอีกหนึ่งชีวิตไหว ทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และอีกนานาประการตามเงื่อนไขชีวิต มีคนจากสารพัดอาชีพและช่วงวัย ไม่ใช่แค่วัยรุ่นอย่างที่คนคุ้นเคยกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ไหน แทบไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อมาทำแท้ง เพราะกระบวนการนั้นแสนทรมาน และพร้อมความเจ็บปวดกายใจ แม้ปัจจุบันจะมียาช่วยยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกกว่าแต่ก่อนก็ตามที
หากระบบไม่เอื้อ บางรายต้องหันไปทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกราว 80,000 คนต่อปี หรือคลอดลูกออกมา แต่ทอดทิ้งหรือเลี้ยงดูได้ไม่เต็มที่
“ที่ผ่านมาในไทย เราอ้างเรื่องบาปบุญกันเสียเยอะ ในขณะที่หลายประเทศ การทำแท้งถือเป็นสิทธิ์ในร่างกายของผู้หญิง ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเพียงแค่เหตุผลด้าน Socioeconomic ก็ทำแท้งได้เป็นเรื่องปกติเลย
“เพราะถ้าเขาไม่พร้อม โอกาสที่เด็กจะเกิดมาในสภาพที่ไม่เอื้อและสร้างปัญหาในอนาคตก็มีสูง ต้องยอมรับว่าสังคมเรายังไม่ได้มีระบบรัฐสวัสดิการดีเพียงพอจะโอบอุ้มคนเหล่านี้อย่างเท่าเทียม เรายังไม่ค่อยมีแนวคิดกันว่าเด็กคนหนึ่งที่เกิดมา ถือเป็นเด็กของสังคมที่ต้องดูแลร่วมกันด้วย”
แนวคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการร่วมสร้างเครือข่าย RSA ขึ้นมาใน พ.ศ. 2557 โดยสหวิชาชีพมาผนึกกำลังเพื่อให้คำปรึกษา ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ และประสานส่งต่อให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือดูแล โดยหวังว่าการยุติการตั้งครรภ์จะเป็นเหมือนหนึ่งในบริการสุขภาพทั่วไปที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึง ไม่ต่างอะไรกับการรักษาโรคหวัด ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
แม้มีเสียงรอบข้างไม่เห็นด้วย พ.ศ. 2558 หมอหวายตัดสินใจเข้าร่วม RSA ในบทบาทผู้ประสานงานเครือข่าย ชักชวนให้ผู้คนตามภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกบริการอาสานี้ รวมถึงดูแลคนไข้เอง
“เราเคยมีคนเข้ามาขอรับบริการ แล้วพยาบาลขอไม่ช่วยหรือรับเคสนี้ ซึ่งเข้าใจได้นะ บางคนโดนสังคมกดดันว่าทำให้เด็กตาย ถูกเรียกว่าเป็นหมอทำแท้ง แต่เราคิดว่าถ้าปล่อยไว้จะอันตราย คนที่มารับบริการเขาจะกังวลมาก บางคนต้องปกปิดคนอื่น เดินทางข้ามเขาสี่ห้าลูก หรือถูกหลอกมาก็มี เราต้องให้บริการ ดูแลพวกเขาทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เขามีชีวิตอยู่ต่อในสังคมได้” หมอหวายตอบสาเหตุที่เขาเลือกยืนหยัดทำสิ่งนี้ เมื่อเราเริ่มฟัง เราจะเห็นอะไรมากขึ้นกว่ากรอบเดิมที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ หมอหวายยังปฏิบัติงานเฉพาะกิจที่เข้ามาอีกด้วย
หนึ่งในนั้นคือ การร่วมเสนอแก้กฎหมาย
หมอกฎหมาย
“ในบางประเทศ การแก้กฎหมายเป็นไปได้เมื่อมีแพทย์ถูกจับ ถ้าหมอจะต้องเป็นคนคนนั้น หมอยินดี” คือคำพูดของแพทย์หญิงคนหนึ่งในเครือข่าย RSA ที่ถูกออกหมายจับ เพราะให้บริการทำแท้งปลอดภัยด้วยความเข้าใจสถานการณ์ของผู้รับบริการที่หัวหิน เมื่อ พ.ศ. 2561
คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากมวลชน โดยตำรวจพิจารณาจากกฎหมายที่ถูกใช้งานมานานราว 65 ปีที่ไม่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เหตุการณ์นี้จุดชนวนให้ RSA เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network) กลุ่มทำทาง และที่ปรึกษาทางกฎหมาย ร่วมกันยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
เดิมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ระบุไว้ว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งมีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 302 ระบุว่าแพทย์ที่ทำแท้งมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกเว้นในบางกรณีตามมาตรา 305
กล่าวโดยย่อคือ ผู้หญิงแทบไม่มีสิทธิ์ทำแท้ง และบุคลากรทางการแพทย์ต้องหวาดเกรง
“มันเป็นปัญหาที่กฎหมาย ในอดีต เราดูแบบอย่างกฎหมายมาจากต่างประเทศ แต่ตอนนี้ต่างประเทศเขาแก้กฎหมายให้อนุญาตทำแท้งกันหมดแล้ว เราเลยต้องศึกษารายละเอียดและยื่นเรื่องตามช่องทางที่มี คอยให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขและการแพทย์เข้าไป” หมอหวายกล่าว พร้อมเล่ากระบวนการยื่นเรื่องที่ยาวนานกว่า 2 ปีออกมาเป็นฉากๆ ต้องวางแผนอย่างมีชั้นเชิง ถกเถียง และร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ มากมายในการต่อสู้ครั้งนี้
ท้ายที่สุด คดีดังกล่าวถูกยกฟ้อง เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา อนุญาตให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และผู้หญิงที่อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ซึ่งเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ได้รับรอง สามารถทำแท้งได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่กำหนด
แม้ยังไม่ไปถึงปลายทางที่ปักธงไว้ แต่ก็ถือเป็นข่าวดีที่ชวนให้ลุกขึ้นสู้ต่อ
“ความจริงเราไม่อยากให้มีการกำหนดอายุครรภ์ด้วยซ้ำ แต่ศาลให้กำหนด เราเลยเสนอไปที่ยี่สิบสี่สัปดาห์ เพราะเป็นเวลาสูงสุดของการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ปรากฎว่าโดนต้าน ต่อรองกันไปมาจนเหลือสิบสองสัปดาห์ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข และหมอยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างสะดวกใจ
“แต่กฎหมายก็อาจเป็นแค่กระดาษ ถ้าไม่เกิดการบังคับใช้จริงและเปลี่ยนค่านิยมสังคม ตอนนี้หน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังมีอยู่ไม่มาก ต้องขยายเครือข่ายให้คนเข้าถึงกันต่อไป
“สุดท้าย เราอยากให้ความสำเร็จของเราคือการยุบเครือข่าย เพราะผู้หญิงเข้าถึงบริการได้ง่ายจากทุกที่แล้ว เราตั้งใจจะทำไปจนมันเป็นบริการปกติ ถึงวันนั้นค่อยเลิก” หมอผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนกฎหมายสำคัญกล่าว
แม้ตอนนี้เขาขอหยุดพักการทำงานกับ RSA ชั่วคราว จากความไม่พร้อมของสถานที่และจำนวนบุคลากร แต่ยืนยันว่าเมื่อจังหวะเหมาะสม เขายินดีให้บริการและร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสังคมตามเดิมอย่างแน่นอน
ลดอัตตา
“การทำงานตรงนี้ช่วยลดอัตตาของตัวเองลงไปได้เยอะมาก” หวายเล่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการเป็นส่วนหนึ่งของ RSA
“เมื่อก่อนเราอาจไม่ต้องง้อพยาบาล ทำงานตามมาตรฐานที่มี แต่พอเราทำงานนี้ พยาบาลคือส่วนสำคัญที่จะรับฟังเรื่องราวคนที่เข้ามาก่อนส่งต่อให้เรา ถ้าไม่มีเขา เราก็ทำงานไม่ได้ ทำให้เราหัดคุยและฟังเจ้าหน้าที่คนอื่นมากขึ้น เข้าใจความทุกข์ของเขาและช่วยกันทำงานเป็นทีม”
และไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์ หวายยังรวมถึงกลุ่มคนเบื้องหลังมากมายที่ช่วยขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
เช่น 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่คอยเป็นด่านหน้ารับเรื่องจากทางบ้าน มีเครือข่ายกับ NGO และกลุ่มขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของผู้หญิงต่างๆ เช่น Choices Network
“ถ้าไม่มีตัวเลือกและเครือข่ายผู้หญิง RSA ก็อาจไม่เกิด เพราะหมออาจไม่ได้รู้สึกว่าต้องสนใจปัญหาสังคมเหล่านี้ขนาดนั้น แต่คนที่เรียนด้านสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ และแอคทิวิสต์ที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้เขาช่วยผลักดันหมอให้คิดถึงเรื่องนี้ คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นพวกเขา แต่มีคนอยู่เบื้องหลังอีกเยอะที่เข้มแข็งและมีอุดมการณ์มากๆ ที่เราต้องขอบคุณที่เขายังทำตรงนี้อยู่”
ปัจจุบัน RSA ยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไป และในช่วง COVID-19 นี้ เครือข่ายพยายามผลักดันให้เกิดบริการ Telemedicine ช่วยให้คำปรึกษา รักษากันทางไกล เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้
“ยังมีคนไข้ทุกโรค ทุกอาการ ทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน เราต้องหาทางปรับตัวให้ได้ตามสถานการณ์ด้วย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีค่อนข้างไปถึงผู้คนแล้ว ก็คุยกันทางออนไลน์ ให้ส่งรูปอัลตราซาวนด์และรายละเอียดมา เราส่งยาและใบรับรองแพทย์ให้ ซึ่งต้องคิดวิธีที่จะไม่ทำให้เกิดภาระกับผู้หญิงด้วย เช่น ระบุว่าเป็นการนัดพบประจำเดือนผิดปกติ เพื่อให้เขาเข้าถึงได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ”
ส่วนหมอหวายเอง ภารกิจสำคัญตอนนี้คือการบริหารโรงพยาบาลและดูแลพี่น้องประชาชนในจังหวัดน่าน ด้วยความตั้งใจให้คนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพแบบองค์รวม
“เราเชื่อว่าหมอควรละตัวตน เคารพความเป็นมนุษย์ของคนไข้ ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแล้วให้เขามีโอกาสตัดสินใจเอง แม้สิ่งนั้นอาจขัดกับความรู้สึกของเราก็ตาม วันหนึ่งทุกคนต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองเป็นคนไข้ ไปหาหมอเหมือนกัน เราจะอยากเจอหมอแบบไหนล่ะ
“หมอไม่ได้อยู่สูงกว่าใคร ทุกคนเท่ากันหมด วิชาชีพอื่นๆ ก็อยู่เท่ากัน มีความสำคัญทุกฝ่าย ขาดใครไปเราทำงานไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเอาใจใส่กันและกัน” นายแพทย์วัย 34 ปี สรุปบทเรียนสำคัญ
เรารู้จักหมอหวายจากนักสังคมสงเคราะห์การแพทย์คนหนึ่งในเครือข่าย RSA ที่เอ่ยชื่นชมว่าทำงานในโรงพยาบาลมานานนับ 10 ปี การพบแพทย์เช่นเขาที่คอยให้คำแนะนำและอยู่เคียงข้าง ในวันที่คนรอบตัวไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำ ถือเป็นเรื่องพิเศษ
เป็นแพทย์ที่พยายามเข้าใจสังคม และมองคนไข้ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
ศึกษารายละเอียดการยุติการตั้งครรภ์ ตรวจสอบสถานบริการสุขภาพที่ปลอดภัยและคุยกับแพทย์อาสาในเครือข่าย RSA ได้ที่ www.rsathai.org